ThaiPublica > เกาะกระแส > ประชุมร่วม คสช.-ครม. สั่งแก้ กม.ผลประโยชน์ทับซ้อน “ปรีดิยาธร” แจงผลงานเศรษฐกิจ 1 เดือน

ประชุมร่วม คสช.-ครม. สั่งแก้ กม.ผลประโยชน์ทับซ้อน “ปรีดิยาธร” แจงผลงานเศรษฐกิจ 1 เดือน

7 ตุลาคม 2014


เมื่อวันที่ 7 ตุลาคม 2557 ที่สโมสรกองทัพบก วิภาวดี มีการประชุมร่วมระหว่างคณะรัฐมนตรี ( ครม. ) และคณะรักษาความสงบเรียบร้อยแห่งชาติ (คสช.) เป็นครั้งแรก หลังคณะรัฐมนตรีได้รับการโปรดเกล้าฯ แต่งตั้ง 1 เดือน และจากนี้ไปจะมีการประชุมเดือนละ 1 ครั้ง เพื่อรายงานความคืบหน้าการทำงานของ ครม. ซึ่งเป็นไปตามรัฐธรรมนูญฉบับชั่วคราว พ.ศ. 2557

ม.ร.ว.ปรีดิยาธร เสนอผลงานเศรษฐกิจ 8 ด้าน

พล.ต. สรรเสริญ แก้วกำเนิด รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี แถลงความคืบหน้าการแก้ปัญหาเศรษฐกิจ ของ ครม. ซึ่งนำเสนอโดย ม.ร.ว.ปรีดิยาธร เทวกุล รองนายกรัฐมนตรี รายงานผลการดำเนินงานด้านเศรษฐกิจที่รัฐบาลได้ดำเนินการมาแล้ว และที่กำลังดำเนินการ รวมทั้งที่จะดำเนินการในอนาคต ให้ที่ประชุมร่วม 2 ฝ่าย ทั้ง ครม. และ คสช. รับทราบจำนวน 8 เรื่อง

พล.ต. สรรเสริญ แก้วกำเนิด รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี แถลงความคืบหน้าการแก้ปัญหาเศรษฐกิจ ของ  ครม. ที่มาภาพ : http://www.thaigov.go.th/th/media-centre/
พล.ต. สรรเสริญ แก้วกำเนิด รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี แถลงความคืบหน้าการแก้ปัญหาเศรษฐกิจ ของ ครม.
ที่มาภาพ : http://www.thaigov.go.th/th/media-centre/

เรื่องแรก มาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจที่ ครม. เห็นชอบไปในสัปดาห์ที่แล้ว ได้แก่ มาตรการเพื่อการสร้างงานโดยเร่งรัดการเบิกจ่ายงบประมาณที่ค้างท่อและปีปัจจุบันและมาตรการเพิ่มรายได้ให้ผู้มีรายได้น้อยด้วยการจ่ายเงินช่วยเหลือให้ชาวนาไร่ละ 1,000 บาท ไม่เกิน 15 ไร่

ทั้งนี้ นายกรัฐมนตรีได้สั่งการให้ ม.ร.ว.ปรีดิยาธรไปหารือกับธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) วางหลักเกณฑ์และชี้แจงให้สังคมมีความสบายใจเรื่องการจ่ายเงินให้ชาวนาได้รับเงินอย่างเต็มเม็ดเต็มหน่วย ภายหลังจากที่มีข้อมูลบางส่วนระบุว่าเจ้าของที่นาหลายแห่งซึ่งอาจจะเป็นเจ้าหนี้ของชาวนา ให้ชาวนานำเงินมาแบ่งให้ 7,500 บาท นายกรัฐมนตรีจึงต้องการให้เงินถึงมือชาวนาอย่างแท้จริง จึงให้ ธ.ก.ส. ช่วยวางหลักเกณฑ์ก่อนที่จะถึงวันที่เริ่มจ่ายเงินให้กับชาวนาในวันที่ 20 ต.ค. นี้

อย่างไรก็ตาม ม.ร.ว.ปรีดิยาธรได้ชี้แจงในที่ประชุมว่าการจ่ายเงินจำนวนดังกล่าวจะจ่ายเงินให้กับชาวนาที่มีการขึ้นทะเบียนเกษตรกรไว้ โดยเป็นข้อมูลใหม่ที่มีความทันสมัยและมีการเปรียบเทียบกับข้อมูลเก่าโดยการขึ้นทะเบียนของชาวนาในปีนี้ดำเนินการมาตั้งแต่เดือน ก.ค. และจะสิ้นสุดในเดือน พ.ย. 2557

เรื่องที่ 2 การแก้ไขปัญหายางพารา ม.ร.ว.ปรีดิยาธรชี้แจงว่ากำลังจะมีข่าวดีใน 1-2 วันนี้ โดยจะมีผู้เข้ามาซื้อยางในสต็อกที่รัฐบาลมีอยู่เกือบทั้งหมดและได้ราคาสูงกว่าราคาตลาดด้วย

ที่ 3 การเตรียมการเพื่อรองรับเศรษฐกิจดิจิทัล จำเป็นต้องออกกฎหมายเพิ่มเติมและปรับปรุงกฎหมายที่มีอยู่เดิมรวม 13 ฉบับ ขณะนี้ได้ยกร่างกฎหมายร่างแรกเสร็จแล้ว 13 ฉบับ ที่ประชุมได้มอบหมายให้นายวิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี รับร่างแรกไปทั้งหมด เพื่อให้นักกฎหมายของสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกาปรับปรุงแก้ไขเป็นร่างสุดท้ายก่อนนำเสนอ ครม. และสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) ต่อไป

เรื่องที่ 4 การปรับปรุงโครงสร้างภาษี โดยร่างพระราชบัญญัติภาษีมรดกและภาษีการให้จะนำเสนอ สนช. ภายในเดือน ต.ค. 2557 ส่วนภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้างและเรื่องยกเลิกสิทธิประโยชน์ทางภาษีของกองทุนรวมอสังหาริมทรัพย์จะนำเสนอ ครม. ภายในเดือน พ.ย. 2557 ก่อนเสนอ สนช. ในเดือน ธ.ค. 2557

ส่วนเรื่องที่ 5 การปรับขึ้นราคาเชื้อเพลิงบางประเภท ได้รายงานที่ประชุมว่า ได้มีการทยอยปรับขึ้นราคาเชื้อเพลิงให้สอดคล้องกับต้นทุนและปรับกองทุนน้ำมันและเชื้อเพลิงให้สมดุลยิ่งขึ้น ซึ่งกระทรวงพลังงานได้ประกาศขึ้นราคาเอ็นจีวีและแอลพีจีไปแล้ว ในประเด็นนี้ พล.อ. ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ได้ให้ความเห็นเพิ่มเติมว่า การปลูกพืชพลังงานควรยกเป็นวาระสำคัญของรัฐบาล และดำเนินการเรื่องพลังงานทดแทนอย่างจริงจัง เช่น เรื่องไบโอดีเซล ให้เพิ่มการใช้น้ำมันปาล์มที่ 20% โดยยังมีความต้องการปาล์มน้ำมันอีก 2 ล้านไร่ หากดำเนินการจริงจังจะได้ส่งเสริมการปลูกปาล์มต่อไป

เรื่องที่ 6 เนื่องจากมีผู้ยื่นขอประทานบัตรและอาชญาบัตรเหมืองแร่ค้างอยู่จำนวนมากหลายปีแล้ว มีผลทำให้กิจกรรมสำรวจแร่หยุดไป กระทรวงอุตสาหกรรมจึงได้ออกใบอนุญาตคำขออาชญาบัตรและประทานบัตรเหมืองแร่ที่ค้างอยู่ 101 แปลง จะช่วยให้กิจกรรมด้านเหมืองแร่เริ่มต้นต่อไปได้

เรื่องที่ 7 กระทรวงคมนาคมได้เจรจายืดอายุการขึ้นราคารถไฟฟ้าใต้ดินสายสีน้ำเงินถึงสิ้นเดือน ธ.ค.2557 และตกลงกับตัวแทนผู้ขับแท็กซี่ให้คงราคาค่าโดยสารเบื้องต้นที่ 35 บาท แต่ยินยอมให้ปรับราคาขึ้นตามระยะทางให้เพิ่มเร็วขึ้นและขณะนี้กระทรวงคมนาคมได้เตรียมแผนเร่งประมูลรถไฟฟ้าในกรุงเทพฯ และที่จะเชื่อมกับเมืองบริวาร เพื่อให้ประมูลได้มากสุดในปี 2558 เพื่อป้องกันการกระทำที่จะไม่โปร่งใสในอนาคต หรือการล็อบบี้วิ่งเต้นในภายหลัง

นายกรัฐมนตรีแถลงข่าว ณ สโมสรกองทัพบก ที่มาภาพ : http://www.thaigov.go.th/th/media-centre/
นายกรัฐมนตรีแถลงข่าว ณ สโมสรกองทัพบก
ที่มาภาพ : http://www.thaigov.go.th/th/media-centre/

สำหรับเรื่องสุดท้าย ม.ร.ว.ปรีดิยาธรรายงานการขายข้าวว่า กระทรวงพาณิชย์ได้ขายข้าวอย่างสม่ำเสมอโดยในเดือน ส.ค. และ ก.ย. 2557 ขายได้ทั้งสิ้น 879,918 ตัน เป็นการขายระหว่างรัฐต่อรัฐไปยังจีน อินโดนีเซีย และฟิลิปปินส์ทั้งสิ้น 675,000 ตัน ขายให้กับองค์กรเอกชนที่มีคำสั่งซื้อจากต่างประเทศ 59,608 ตัน และขายโดยการประมูลทั่วไป 145,310 ตัน

นอกจากนี้ ม.ร.ว.ปรีดิยาธรยังให้ข้อมูลเพิ่มเติมว่า ยังมีข้าวที่จะขายให้อิหร่านอีกจำนวนหนึ่งด้วย และได้รายงานแผนที่จะยกระดับราคาข้าวของคณะกรรมการนโยบายและบริหารจัดการข้าว (นบข.) เพื่อให้สามารถปฏิบัติได้ทันฤดูกาลเก็บเกี่ยวนาปีของปีนี้ด้วย

พล.ต. สรรเสริญยังกล่าวด้วยว่า นายกรัฐมนตรีได้เน้นย้ำให้ทุกกระทรวงปฏิบัติงานโดยมีผลงานจับต้องได้ เพื่อมอบเป็นของขวัญปีใหม่ให้ประชาชน เช่น การสร้างโรงงานไฟฟ้าจากขยะ และการจัดซื้อรถเมล์ใช้เชื้อเพลิงเอ็นจีวีเป็นต้น ขณะเดียวกัน นายกรัฐมนตรียังให้ความสำคัญกับการประหยัดพลังงาน โดยให้เพิ่มทางจักรยานมากขึ้นทั้งในกรุงเทพฯ และต่างจังหวัด ให้สามารถใช้จักรยานเพื่อการออกกำลังกายและประหยัดเชื้อเพลิงได้จริง

พล.อ. ประยุทธ์ สั่ง ครม.-คสช. อย่าใช้อำนาจละเมิดสิทธิมนุษยชน

พล.ต. สรรเสริญ แก้วกำเนิด รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี แถลงว่า การพบปะหารือระหว่าง คสช. กับ ครม. เพื่อติดตามความคืบหน้า ว่าการปฏิบัติงานสัมฤทธิ์ผลแค่ไหนแล้ว โดย พล.อ. ประยุทธ์ได้ปรารภต่อที่ประชุมว่าขอให้ทุกภาคส่วนทั้ง ครม. และ คสช. ใช้อำนาจที่มีอยู่อย่างสร้างสรรค์ โดยเฉพาะกฎหมายพิเศษที่มีความจำเป็นบางประการต้องประสานกันอย่างใกล้ชิด ระมัดระวังไม่ให้ละเมิดสิทธิมนุษยชน สำหรับการจัดเสวนาต่างๆ ของประชาชน ที่ผ่านมามีการขออนุญาติ 2 ช่องทาง คือ ส่งตรงมายัง คสช. และอีกส่วนส่งไปที่นายกรัฐมนตรี หลังจากนี้ ถ้าส่งมาทางนายกฯ จะส่งต่อให้ คสช. พิจารณา ซึ่งหลักเกณฑ์ที่วางไว้คือ เน้นบรรยากาศการปรองดอง เรื่องใดสุ่มเสี่ยงจะระงับยับยั้งไว้ก่อน

นายกรัฐมนตรีได้ขอให้ทุกกระทรวง ทบวง กรม เก็บรวบรวมผลงานช่วง 3 เดือน ระหว่าง ต.ค.-ธ.ค. 2557 อย่างเป็นรูปธรรม จับต้องได้และช่วยกันชี้แจงต่อประชาชนถึงสิ่งที่ได้ทำไปว่ามีผลกระทบกับประชาชนอย่างไร ความเป็นอยู่ของประชาชนจะดีขึ้นอย่างไรบ้าง ทั้งนี้เพื่อเป็นของขวัญปีใหม่ให้ประชาชน ขณะเดียวกันนายกฯ ยังเห็นว่าทุกกระทรงทบวง กรม มีคณะกรรมการหลายคณะมากเกินไปอาจทำให้การประชุมในส่วนต่างๆ เกิดผลสัมฤทธิ์ยาก ดังนั้นขอให้ประเมินทบทวนตัดลดคณะกรรมการลงไปบ้าง และยังเป็นการประหยัดงบประมาณไปด้วย โดยได้มอบให้นายวิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี เข้าไปดูในรายละเอียด

ที่ประชุมร่วม 2 ฝ่าย ยังได้มอบหมายให้นายวิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี ไปดูงานของกรมประชาสัมพันธ์และ อสมท ขอให้ทั้ง 2 หน่วยงาน เสนอข่าวภาครัฐในเชิงรุก 3 ด้าน คือ 1. เผยแพร่ค่านิยม 12 ประการ 2. เสนอข่าวมติ ครม. โดยมีเนื้อหาสาระแต่ละเรื่องไม่ใช่เสนอเฉพาะหัวข้อ ต้องเสนอว่าแต่ละเรื่องมีผลกระทบกับประชาชนอย่างไร ประชาชนจะได้อะไรบ้าง 3. ให้เสนอข่าวการทำหน้าที่ที่เกี่ยวข้องกับ สปช. เสนอข่าวว่าได้ทำอะไรไปบ้าง รวมทั้งสะท้อนความเห็นของประชาชนกลับไปสู่ สปช. ด้วย

เห็นชอบปรับปรุงระเบียบข้าราชการการเมืองแก้ปมผลประโยชน์ทับซ้อน

ครม. มีมติเห็นชอบให้มีการปรับปรุงหลักการให้ข้าราชการการเมือง ตามพระราชบัญญัติระเบียบบริหารราชการการเมือง พ.ศ. 2535 และกรรมการผู้ช่วยรัฐมนตรีต้องไม่กระทำการใดๆ อันเป็นการกระทำที่เป็นการขัดกันแห่งผลประโยชน์ เนื่องจากในการจัดตั้งคณะรัฐมนตรีและผู้บริหารประเทศตำแหน่งอื่นๆ ในครั้งนี้ มีการขอให้ข้าราชการเข้าร่วมปฏิบัติหน้าที่ ดังนั้นจึงมีการยกเว้นการกระทำบางประการ แต่ต้องไม่มีผลประโยชน์ทับซ้อน เช่น ต้องไม่เป็นคู่สัญญาของรัฐ และรัฐวิสาหกิจ

ทั้งนี้ ครม. ได้เห็นชอบตามที่สำนักเลขาธิการคณะรัฐมนตรี (สลค.) เสนอ โดยเห็นชอบหลักการให้ข้าราชการการเมืองตามพระราชบัญญัติระเบียบข้าราชการการเมือง พ.ศ. 2535 และกรรมการผู้ช่วยรัฐมนตรีต้องไม่กระทำการใดๆ อันเป็นการกระทำที่เป็นการขัดกันแห่งผลประโยชน์ ดังนี้ 1. ต้องไม่ดำรงตำแหน่งกรรมการหรือที่ปรึกษาของรัฐวิสาหกิจ องค์การมหาชน หรือองค์กรอื่นของรัฐ เว้นแต่การเป็นกรรมการของทางราชการ และ

2. ต้องไม่เป็นคู่สัญญาหรือมีผลประโยชน์ใดๆ ขัดหรือแย้งกับส่วนราชการ รัฐวิสาหกิจ องค์การมหาชน หรือองค์กรอื่นของรัฐ ทั้งนี้ โดยให้มีผลภายใน 15 วัน นับแต่วันที่คณะรัฐมนตรีมีมติ

สำนักเลขาธิการคณะรัฐมนตรี โดยนายอำพน กิตติอำพน นำเสนอข้อเท็จจริงว่า โดยที่คณะรัฐมนตรีได้แถลงนโยบายต่อสภานิติบัญญัติแห่งชาติเมื่อวันศุกร์ที่ 12 กันยายน 2557 ซึ่งรัฐบาลได้แถลงต่อสภานิติบัญญัติแห่งชาติไว้ 11 ด้าน โดยเฉพาะด้าน 10 “การส่งเสริมการบริหารราชการแผ่นดินที่มีธรรมาภิบาลและการป้องกันปราบปรามการทุจริตและประพฤติมิชอบ” โดยกำหนดให้ปรับปรุงและจัดให้มีกฎหมายเพื่อให้ครอบคลุมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตประพฤติชอบ และการมีผลประโยชน์ทับซ้อนในภาครัฐทุกระดับ

กรณีของข้าราชการการเมืองและกรรมการผู้ช่วยรัฐมนตรีถือเป็นผู้มีหน้าที่ช่วยเหลือการปฏิบัติราชการของนายกรัฐมนตรี รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีในการอำนวยการบริหารราชการแผ่นดิน ดังนั้น เพื่อประโยชน์แห่งรัฐและเป็นไปตามนโยบายของคณะรัฐมนตรีที่แถลงต่อสภานิติบัญญัติแห่งชาติข้างต้น จึงเห็นควรให้ข้าราชการการเมืองและกรรมการผู้ช่วยรัฐมนตรีต้องไม่กระทำการใดๆ อันเป็นการกระทำที่เป็นการขัดกันแห่งผลประโยชน์ กล่าวคือ ต้องไม่กระทำการใดๆ อันเป็นการกระทำที่เป็นการขัดกันแห่งผลประโยชน์ โดยต้องไม่ดำรงตำแหน่งกรรมการหรือที่ปรึกษาของรัฐวิสาหกิจ องค์การมหาชน หรือองค์กรอื่นของรัฐ เว้นแต่การเป็นกรรมการของทางราชการ และต้องไม่เป็นคู่สัญญาหรือมีผลประโยชน์ใดๆ ขัดหรือแย้งกับส่วนราชการ รัฐวิสาหกิจ องค์การมหาชน หรือองค์กรอื่นของรัฐ

ตั้งกรรมการเพิ่ม 12 คน ในบอร์ดเอสเอ็มอี

คณะรัฐมนตรีมีมติเห็นชอบตามที่สำนักงานส่งเสริมวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมเสนอแต่งตั้งบุคคลเป็นกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิในคณะกรรมการส่งเสริมวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม จำนวน 12 คน ดังนี้ 1. หม่อมราชวงศ์ปรีดิยาธร เทวกุล 2. นายวิบูลย์ สงวนพงศ์ 3. นายสมศักดิ์ โชติรัตนะศิริ 4. นายมนัส แจ่มเวหา 5. รองศาสตราจารย์ สมภพ มานะรังสรรค์ 6. นายบุญทักษ์ หวังเจริญ 7. นายมานิต รัตนสุวรรณ ผู้แทนองค์การเอกชน 8. นางปิยะมาน เตชะไพบูลย์ ผู้แทนองค์การเอกชน 9. นายศิริชัย เลิศศิริมิตร ผู้แทนองค์การเอกชน 10. นายประพัฒน์ ปัญญาชาติรักษ์ ผู้แทนองค์การเอกชนซึ่งประกอบการในภูมิภาค 11. นายบุญธรรม ทิพย์ประสงค์ ผู้แทนองค์การเอกชนซึ่งประกอบการในภูมิภาค 12. นางศมน ชคัตธาดากุล ผู้แทนองค์การเอกชนซึ่งประกอบการในภูมิภาค ทั้งนี้ ตั้งแต่วันที่ 7 ตุลาคม 2557 เป็นต้นไป