ThaiPublica > Sustainability > Global Issues > Climate Change ส่งผล แคลิฟอร์เนียเจอวิกฤติน้ำ

Climate Change ส่งผล แคลิฟอร์เนียเจอวิกฤติน้ำ

7 พฤษภาคม 2022


ที่มาภาพ : https://edition.cnn.com/2022/05/04/us/california-drought-water-restrictions-climate/index.html

ข้อมูลล่าสุดจาก US Drought Monitor แสดงให้เห็นว่า ภาวะแห้งแล้งในพื้นที่ส่วนใหญ่ของทางตะวันตกเฉียงใต้ของสหรัฐฯได้เลวร้ายลงในช่วงสัปดาห์ที่ผ่านมาซึ่งทำให้วิกฤติการณ์น้ำในภูมิภาครุนแรงยิ่งขึ้นและทำให้เกิดไฟป่าหลายจุดที่ทำลายสถิติในหลายรัฐ

รายงานระบุว่า พื้นที่กว่า 98% ของทางตะวันตกเฉียงใต้ประสบกับภาวะแห้งแล้งในสัปดาห์นี้ โดยระดับน้ำที่กักเกํบในอ่างเก็บน้ำต่ำกว่าปกติในรัฐทางตะวันตกทั้งหมด ยกเว้นในวอชิงตัน

ในแคลิฟอร์เนีย ทั้งรัฐประสบกับภาวะแห้งแล้ง อ่างเก็บน้ำที่ใหญ่ที่สุดของรัฐสองแห่ง ได้แก่ ทะเลสาปแชสต้า(Shasta) และทะเลสาบโอโรวิลล์( Oroville) อยู่ที่ “ระดับต่ำขั้นวิกฤติ”

รัฐแคลิฟอร์เนียพึ่งพาน้ำฝนในฤดูหนาวที่ทับถมเป็นทุ่งหิมะ(snowpack) บนเทือกเขาเซียร์รี เนวาดา ซึ่งจะค่อยๆ ละลายในฤดูใบไม้ผลิและไหลสู่อ่างเก็บน้ำ แต่ปริมาณน้ำในทุ่งหิมะของรัฐแคลิฟอร์เนียในปีนี้อยู่ที่ 4% ของระดับปกติในช่วงปลายฤดูหนาว

ในแคลิฟอร์เนียตอนใต้ เจ้าหน้าที่สำนักงานน้ำประจำเขตได้ประกาศจำกัดการใช้น้ำเมื่อสัปดาห์ที่แล้ว โดยเรียกร้องให้ภาคธุรกิจและผู้อยู่อาศัยในบางพื้นที่ของเขต(county) ลอสแองเจลิส เวนทูรา และซานเบอร์นาดิโน ให้ลดการรดน้ำกลางแจ้งให้เหลือหนึ่งวันต่อสัปดาห์ เริ่มตั้งแต่วันที่ 1 มิถุนายน

“นี่คือวิกฤติ ซึ่งไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อน” อเดล เฮกคาลิล ผู้จัดการทั่วไปของ Metropolitan Water District of Southern Californiaกล่าว “เราไม่เคยประกาศให้ทำอะไรแบบนี้มาก่อน และเพราะว่าเราไม่เคยเห็นสถานการณ์เช่นนี้มาก่อน เราจึงไม่มีน้ำเพียงพอต่อความต้องการตามปกติสำหรับผู้คน 6 ล้านคนที่อาศัยอยู่ในพื้นที่ที่พึ่งพาโครงการน้ำของรัฐ”

วิกฤตการณ์น้ำที่เกิดจากภัยแล้งไม่ได้จำกัดอยู่แค่ในแคลิฟอร์เนีย ในลุ่มน้ำรีโอแกรนด์ อ่างเก็บน้ำเอเลเฟนท์บัตต์ในนิวเม็กซิโกมีประมาณ 13% ของความจุอ่าง ในลุ่มแม่น้ำโคโลราโด ทะเลสาบพาวเวลล์(Powell)มีน้ำเพียง 24% ในขณะที่ทะเลสาบมี้ด(Mead)อยู่ที่ 31% จากข้อมูลในรายงานของ Bureau of Reclamation

เมื่อวันอังคาร(3 พ.ค.) รัฐบาลกลางประกาศว่า กำลังดำเนินการตามขั้นตอนฉุกเฉินอย่างที่ไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อน เพื่อเพิ่มระดับน้ำที่ทะเลสาบพาวเวลล์ ซึ่งเป็นแหล่งจ่ายน้ำให้กับผู้คนหลายล้านคน และเป็นแหล่งผลิตพลังงานให้กับบ้านเรือนและธุรกิจมากถึง 5.8 ล้านหลังใน 7 รัฐ ในขณะเดียวกัน ในทะเลสาบมี้ด ระดับน้ำต่ำมาก

เมื่อต้นเดือนมีนาคม นักวิทยาศาสตร์จาก องค์การบริหารมหาสมุทรและชั้นบรรยากาศแห่งชาติ (National Oceanic and Atmospheric Administration:NOAA) คาดการณ์ว่า สภาวะภัยแล้งจะขยายวงไปทางตะวันออกในฤดูใบไม้ผลินี้ และเลวร้ายลงในบางพื้นที่ ซึ่งเป็นสภาพการณ์ที่ขณะนี้ทำให้พื้นที่ทางตอนใต้จำนวนมากเสี่ยงที่จะเกิดไฟไหม้ลุกลามและเป็นอันตรายได้ตลอดเวลา NOAA รายงานเมื่อสองเดือนที่แล้วว่า “ภัยแล้งที่ยืดเยื้อและต่อเนื่องในฝั่งตะวันตกซึ่งมีเป็นไปได้สูงว่าฝนจะตกต่ำกว่าค่าเฉลี่ยนั้น เป็นสิ่งที่จะเกิดขึ้นในฤดูใบไม้ผลินี้”

ที่มาภาพ: https://edition.cnn.com/2022/05/05/us/california-west-drought-update-wildfires-climate/index.html

ภัยแล้งปัจจัยหนุนไฟป่า

รายงานของ US Drought Monitor ระบุว่า ในแคลิฟอร์เนียและทางตะวันตกเฉียงใต้ สภาพอากาศแห้งในช่วงสัปดาห์ที่ผ่านมา โดยมีลมแรงพัดทั่วทั้งภูมิภาค “สภาพลมแรงและแห้งแล้ง เป็นตัวเร่งสภาพอากาศที่ทำเกิดไฟไหม้รุนแรงขึ้นในรัฐแอริโซนาและนิวเม็กซิโก ซึ่งไฟป่าต้นฤดูขนาดใหญ่หลายจุดกำลังส่งผลกระทบต่อภูมิภาคนี้”

รัฐนิวเม็กซิโกประสบกับภัยแล้งที่รุนแรงที่สุดสองประเภทมากขึ้น คือ ภัยแล้งที่รุนแรงที่สุดและผิดธรรมชาติสุด และกินพื้นที่เพิ่มขึ้นมากกว่า 14,000 ตารางไมล์ ซึ่งใหญ่กว่ารัฐนิวเจอรซีย์ประมาณสองเท่า

สภาพที่แห้งแล้งทำให้รัฐนิวเม็กซิโกเผชิญไฟไหม้ครั้งใหญ่ที่สุดของปี 2022 ไฟป่า Hermits Peak และ Calf Canyon ที่ลุกลามและรวมตัวกันในสัปดาห์นี้ ได้เผาผลาญพื้นที่ไปแล้วกว่า 160,000 เอเคอร์ ซึ่งมากกว่าสองปีที่ผ่านมารวมกัน

ไฟป่าที่เกิดขึ้นทำให้ต้องมีการอพยพผู้คนหลายพันคนในทันที โดยรัฐส่วนใหญ่ตกอยู่ภาวะวิกฤติไฟป่าครั้งใหญ่

“ทางตะวันตกเฉียงใต้ส่วนใหญ่มักจะเกิดไฟป่าสูงกว่าปกติในเดือนพฤษภาคมและมิถุนายน” National Interagency Fire Center รายงานในสัปดาห์นี้ ส่วนในที่อื่นๆ นั้น ราว 1 ใน 4 ของเท็กซัสอยู่ในภาวะแห้งแล้งเป็นพิเศษ นับว่ารุนแรงที่สุด และคิดเป็นพื้นที่ที่ใหญ่ที่สุดของรัฐตั้งแต่ปี 2014 นอกจากนี้ยังมีแนวโน้มว่าจะเลวร้ายลงอีกในอีกไม่กี่วันข้างหน้า เนื่องจากเท็กซัสกำลังเผชิญกับคลื่นความร้อนในช่วงต้นฤดู ขณะที่ผู้ให้บริการไฟฟ้า ERCOT เตือนว่าจะกดดันโครงข่ายไฟฟ้าในภูมิภาค

แต่ความแห้งแล้งมีผลดีบางด้าน โดยทั่วทั้งรัฐโอเรกอน พื้นที่ 4 แห่งซึ่งจัดว่าเป็นแขตแห้งแล้งกลับดีขึ้น อันเป็นผลมาจากพายุที่เกิดขึ้นเมื่อเร็วๆ นี้

นักวิทยาศาสตร์กล่าวว่าความแห้งแล้งยาวนานหลายปีของฝั่งตะวันตกเป็นสัญญาณที่ชัดเจนว่า วิกฤติสภาพภูมิอากาศส่งผลกระทบไม่เพียงแค่สภาพอากาศเท่านั้น แต่ยังรวมถึงแหล่งน้ำของชุมชน การผลิตอาหาร การผลิตไฟฟ้า และการดำรงชีวิตด้วย

สภาพปัจจุบันน่าเป็นห่วงเป็นพิเศษสำหรับหลาย ๆ คน เนื่องจากช่วงฤดูใบไม้ผลิเพิ่งเริ่มขึ้นเท่านั้น และความร้อนในฤดูร้อนอาจทำให้สภาพอากาศเลวร้ายลงได้ ในขณะที่โลกร้อนขึ้น ความแห้งแล้งและความร้อนจัดจะทำให้เกิดไฟป่าที่ร้ายแรงและทำให้วิกฤติน้ำรุนแรงขึ้น

Climate Change ของจริง

“เรารู้ดีว่าการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศจะมีผลต่อแหล่งน้ำของเรา และเราได้เตรียมการ แต่เราไม่รู้ว่ามันจะเกิดขึ้นอย่างรวดเร็วขนาดนี้” กลอเรีย เกรย์ ประธานคณะกรรมการบริหาร the Metropolitan Water Districtกล่าว

แผนที่ของรัฐบาลล่าสุดแสดงให้เห็นว่าทางตะวันตกเกือบทั้งหมดอยู่ในภาวะแห้งแล้ง และ 95% ของแคลิฟอร์เนียประสบภัยแล้งรุนแรงหรือรุนแรงสุด

อเดล จาก Metropolitan Water District ในทางตอนใต้ของรัฐแคลิฟอร์เนียกล่าวว่า “นี่เป็นเรื่องจริง นี่เป็นเรื่องร้ายแรง ไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อน”

แคลิฟอร์เนียไม่ได้เป็นรัฐเดียวที่น้ำในอ่างเก็บน้ำลดลง ทะเลสาบมี้ด อ่างเก็บน้ำที่ใหญ่ที่สุดในประเทศที่เกิดจากการสร้างเขื่อนฮูเวอร์บนแม่น้ำโคโลราโด ต้องการปั๊มใหม่เพื่อให้น้ำไหลไปยังลาสเวกัสได้

“การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ทำให้รูปแบบทางประวัติศาสตร์ทั้งหมดเปลี่ยนแปลงไปทั้งหมด” ดร.เจที รีเจอร์ให้สัมภาษณ์ CBS News

ฝั่งตะวันตกประสบภาวะแห้งแล้งถึง 22 ปี เนื่องจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศทำให้อากาศร้อนและแห้งมากขึ้น

“เราเพิ่งเริ่มเห็นผลกระทบแบบโดมิโนล้ม มันแห้งเหือดมาขึ้น เราเริ่มเห็นน้ำน้อยลงในอ่างเก็บน้ำของเรา และเกิดไฟป่าและในแคลิฟอร์เนีย เห็นผลต่อเนื่องอย่างที่คาดไว้”