เนื้อหาการบรรยายเป็นส่วนหนึ่งของการประชุมเชิงปฏิบัติการเพื่อขับเคลื่อนเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืนเชิงพื้นที่ (SDG Localization) ผ่านช่องทางออนไลน์ โดยมีข้าราชการและผู้นำความเปลี่ยนแปลงระดับท้องถิ่นทั่วประเทศเข้าร่วมรับฟัง จัดงานโดยสำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ หรือสภาพัฒน์ฯ
นักเศรษฐศาสตร์จาก UNDP เสนอโครงการการพัฒนาที่ยั่งยืนในจังหวัดภูเก็ตด้วยอุตสาหกรรมไมซ์ เน้นกระจายรายได้ให้เข้าถึงคนท้องถิ่น ควบคู่การรักษาสิ่งแวดล้อม ลบความเสี่ยงการพึ่งพิงต่างชาติ มองความท้าทายคืองบประมาณ ต้องสอดคล้องกับเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน
ดร.อนรรฆ เสรีเชษฐพงษ์ นักเศรษฐศาสตร์ด้านการพัฒนา โครงการพัฒนาแห่งสหประชาชาติ (UNDP) กล่าวว่า โครงการที่เกี่ยวข้องกับการพัฒนาที่ยั่งยืนโดย UNDP ครอบคลุมการทำงานทั้งสิ้น 48 จังหวัด โดยมีโครงการเด่นๆ ไม่ว่าจะเป็น โครงการกำจัดขยะที่เกาะสมุย, โครงการปรับเส้นทางลดประจำทางเพื่อลดการใช้น้ำมัน จังหวัดเชียงใหม่, โครงการใช้พลังงานแสงอาทิตย์ในตลาดสด จังหวัดขอนแก่น, โครงการเปลี่ยนปั๊มน้ำมันเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการใช้พลังงาน จังหวัดนครราชสีมา
ตัวอย่างหนึ่งที่ UNDP เข้าไปพัฒนาเชิงพื้นที่ และยกให้เป็นพื้นที่ต้นแบบคือจังหวัดภูเก็ต เนื่องจากวิกฤติโควิด-19 ทำให้เศรษฐกิจและแนวทางการพัฒนาภายในจังหวัดต้องหยุดชะงักลง ดังนั้น UNDP จึงเข้าไปพัฒนาโดยตั้งโจทย์ไว้ 3 ด้าน คือ ด้านการพัฒนาจังหวัดและพัฒนาแผนให้เป็นส่วนหนึ่งของแผนจังหวัด ถัดมาเป็นการประเมินทรัพยากรภายในพื้นที่ เช่น การส่งเสริมการลงทุนของภาคเอกชน หรือการร่วมทุนระหว่างภาครัฐและเอกชน ตลอดจนกองทุนด้านสิ่งแวดล้อมฯ และด้านสุดท้ายคือผลลัพธ์จากการพัฒนาและต่อยอดเป็นโครงการลงทุน (Flagship Projects) เพื่อสร้างอุตสาหกรรมใหม่
ก่อนเกิดวิกฤติโควิด-19 ภูเก็ตนับเป็นจังหวัดที่ประชากรมีรายได้ต่อหัว (GDP, GRP และ GPP) สูงกว่าหลายจังหวัด แต่มีปัญหาเรื่องโครงสร้างเศรษฐกิจที่ผูกกับภาคบริการเป็นหลัก ขณะเดียวกันภูเก็ตก็มีปัญหาสิ่งแวดล้อม อย่างปัญหาหลักมาจากความเจริญทางด้านการท่องเที่ยวทำให้สิ่งแวดล้อมทางทะเลได้รับผลกระทบอย่างรุนแรง การจราจรติดขัดจนเกิดมลพิษ รวมถึงการจัดการขยะและสุขอนามัยสาธารณะพัฒนาไม่ทันกับการท่องเที่ยวที่เติบโตอย่างรวดเร็ว
“เศรษฐกิจของภูเก็ตเหมือนศาลพระภูมิ หากเสานี้ล้มไปทั้งศาลก็ล้ม ภูเก็ตก็อยากจะออกจากโมเดลนี้เพื่อให้มั่นคงมากขึ้น ให้มีรากฐานจากหลายเสาหลัก ซึ่งต้องสร้างขึ้นมาใหม่”
เมื่อภูเก็ตเผชิญกับวิกฤติโควิด-19 ทำให้เศรษฐกิจถดถอยในหลายด้าน เห็นได้ชัดที่สุดคือรายได้เฉลี่ยต่อเดือนเมื่อเทียบระหว่างไตรมาส 2 ของปี 2562 กับปี 2563 พบว่ารายได้ลดลงเหลือ 9,400 บาท จากเดิมที่ 11,300 บาทส่วนกลุ่มที่ตกงานมากที่สุด 10 อันดับแรก คือ ธุรกิจให้เช่ารถ โรงแรมและที่พัก การขนส่งทางน้ำ การไฟฟ้า การขนส่งทางบก อาหารและเครื่องดื่ม การผลิตอาหาร บริการนำเที่ยว โลหะ ก่อสร้างและค้าส่ง-ค้าปลีก ตามลำดับ
แต่กลุ่มที่ได้รับผลกระทบมากที่สุดคือ ผู้ขายบริการทางเพศ ที่รายได้ลดลงถึง 91.7% คนพื้นถิ่น 94.4% และผู้พิการ 73.3% ทั้งหมดมีรายได้ไม่พอกับค่าใช้จ่าย
จากปัญหาข้างต้นนำไปสู่การวางโมเดลใหม่ที่กระจายความเสี่ยงให้มากกว่าการท่องเที่ยว สร้างสมดุลกับการปรับเปลี่ยนโครงสร้างใหม่ ไม่พึ่งพาต่างประเทศเป็นหลัก และเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมมากขึ้น รายละเอียดแบ่งได้เป็น 3 ด้านใหญ่ และกลุ่มการพัฒนาเศรษฐกิจท้องถิ่นอีก 8 ด้าน
“ภูเก็ตเป็นหนึ่งในพื้นที่ที่ต้องอาศัยทรัพยากรทางการเงินจากหลายพื้นที่ ไม่ใช่แค่ภาครัฐอย่างเดียว กลับไปสู่แนวคิดว่าการพัฒนาเป็นหน้าที่ของทุกคน กระทั่งการเงินก็เป็นของทุกคน เพราะทรัพยากรของรัฐเหลือน้อยลง ส่วนกลางจัดสรรงบประมาณได้น้อย อย่างงบประมาณรายจ่ายลงทุนของภูเก็ตก็น้อยลงตั้งแต่ปี 2561”
ในปี 2564 ภูเก็ตตั้งงบประมาณผ่านแผนพัฒนาจังหวัดทั้งสิ้น 196 โครงการ มูลค่า 42,817 ล้านบาท และมี 32 โครงการ มูลค่า 304 ล้านบาทที่ได้รับการจัดสรรให้อยู่ในแผนพัฒนาจังหวัด แต่สุดท้ายได้รับงบประมาณ 10 โครงการ มูลค่า 120 ล้านบาท
เมื่อภูเก็ตได้รับงบประมาณไม่เพียงพอต่อความต้องการที่เสนอไปยังส่วนกลาง ทำให้จังหวัดต้องปรับแผนงานตามงบประมาณที่ได้รับภายในวงเงิน 120 ล้านบาท
ขณะเดียวกัน ‘วิสาหกิจชุมชน’ ในฐานะผู้ขับเคลื่อนโครงการที่เกี่ยวข้องกับการพัฒนาที่ยั่งยืน ไม่ได้รับงบประมาณในการดำเนินโครงการ แต่จะขอสินเชื่อจากสถาบันการเงิน โดยดร.อนรรฆ อธิบายเหตุผลที่สถาบันการเงินไม่อนุมัติสินเชื่อให้วิสาหกิจ เนื่องจากปัญหาหลักคือวิสาหกิจชุมชนส่วนใหญ่ประสบปัญหาการปรับโครงสร้างหนี้ ถัดมาคือเมื่อวิสาหกิจจะขอสินเชื่อก็ไม่มีหลักฐานแสดงรายได้ โดยเฉพาะหลักฐานทางบัญชีในช่วง ปี 2563-2564 หรือช่วงโควิด-19 นอกจากนี้วิสาหกิจยังติดเครดิตบูโร และไม่มีหลักทรัพย์ค้ำประกัน จนสุดท้ายไม่ได้รับงบประมาณสนับสนุนโครงการความยั่งยืนทั้งจากภาครัฐและเอกชน
อย่างไรก็ตาม ดร.อนรรฆ ย้ำว่าการทำให้ภูเก็ตเป็นเมืองยั่งยืนจะพึ่งเพียงภาควิสาหกิจไม่ได้ แต่ต้องอาศัยแรงจากภาครัฐและเอกชนให้เข้ามามีส่วนร่วม โดยมีกลไกสำคัญคือภาครัฐ ซึ่งเป็นผู้ดำเนินการตามแผนพัฒนาจังหวัดฯ เป็นผู้นำทั้งหมด
จากการเก็บข้อมูลและวิเคราะห์ศักยภาพพื้นที่ UNDP จึงเสนอว่าโครงการนำร่องในจังหวัดภูเก็ตควรจะเป็นในแนวทาง MICE (Meetings, Incentive Travel, Conventions, Exhibitions) กล่าวคือเน้นการท่องเที่ยวกลุ่มไมซ์ สร้างศูนย์การท่องเที่ยวสุขภาพที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม นอกจากนั้นต้องพัฒนาศักยภาพของผู้ประกอบการท้องถิ่นให้รองรับอุตสาหกรรมไมซ์
“ภูเก็ตไม่เคยมีศูนย์ประชุมใหญ่ๆ ที่รองรับคนได้เยอะมาก่อน เมื่อมีอีเวนต์ใหญ่ๆ ถูกพื้นที่อื่นแย่งไปหมด ดังนั้น การลงทุนศูนย์ประชุมจึงเป็นทางเลือกที่น่าสนใจ และตอนนี้ภูเก็ตเริ่มพัฒนาจุดแข็งเรื่องการรักษา ภูเก็ตมีโรงพยาบาลดีๆ ไม่แพ้กรุงเทพฯ ดังนั้นต้องต่อ ยอดให้เป็น Health and Wellness Center พร้อมกับการพัฒนาอุตสาหกรรมใหม่”
“พื้นที่การพัฒนาในอนาคตต้องนอกเหนือไปจากภูเก็ตและป่าตอง ที่ผ่านมารายได้ในจังหวัดกระจุกตัวในตัวเมือง ภูเก็ตและป่าตอง แต่ถ้าโครงการไปเกิดขึ้นกับพื้นที่อื่นจะมีส่วนในการกระจายรายได้”
UNDP เสนอมาตรการด้านการเงิน การคลัง และการดึงดูดการลงทุนจากภาคเอกชน 5 ด้าน ดังนี้
- ส่งเสริมศักยภาพการจัดเก็บรายได้ โดยเฉพาะในระดับท้องถิ่น และจัดสรรการลงทุนเพื่อสนับสนุนเป้าหมายหลักในการฟื้นฟูภูเก็ต
- กองทุนเพื่อสังคมสำหรับภูเก็ต สามารถจัดตั้งได้เพื่อการฟื้นฟูในระยะสั้น
- ส่งเสริมการลงทุนจากภาคเอกชน รวมถึงการร่วมลงทุนระหว่างรัฐและเอกชนในโครงการการพัฒนาจังหวัด
- พิจารณาแหล่งทุนเพื่อการพัฒนาต่างๆ รวมถึงกองทุนระดับภูมิภาคเพื่อการฟื้นตัวจากโควิด-19 กองทุนเพื่อส่งเสริมการพัฒนาที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม (Climate and Green Funds)
- เริ่มจากจัดทำโครงการพัฒนาที่สอดคล้องกับเป้าหมายของจังหวัด และให้ผลตอบแทนที่เหมาะสมกับผู้ลงทุนไปพร้อมกัน
“การมีเป้าหมาย SDG เป็นพื้นฐานจะช่วยเปิดโอกาสการลงทุนมากขึ้น โอกาสได้รับทรัพยากรทางการเงิน ที่สำคัญคือไม่ได้ช่วยแค่สนับสนุน SDG แต่มันทำให้ได้ผลตอบแทนที่เหมาะสมกับผู้ลงทุนไปพร้อมกัน ไม่ได้หมายความว่าโครงการยั่งยืนจะไม่ได้กำไร”
หลักเกณฑ์ในการคัดเลือกโครงการเพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืนจะต้องมองควบคู่ไปกับหลักการพัฒนาเชิงพื้นที่ 6 ด้าน คือ
-
(1) การสร้างความตระหนักรู้ โดยเฉพาะการให้วิธีคิดว่าการสร้างการพัฒนาเป็นเรื่องของทุกคน ไม่ใช่หน่วยงานใดหน่วยงานหนึ่ง
(2) การสร้างระบบการขับเคลื่อนเชิงสถาบัน เนื่องจากในพื้นที่จะมีศูนย์กลางประสานงาน ทั้งภาครัฐและเอกชน ตลอดจนกลุ่มเยาวชนและกลุ่มผู้ที่ถูกทิ้งเบื้องหลัง เช่น ผู้พิการ ผู้ขับเคลื่อนความเสมอภาคทางเพศหรือคนชายขอบ
(3) การวางแผนอย่างเป็นองค์รวม ภายใต้แนวคิดว่า “ทำอย่างไรให้การพัฒนาที่ยั่งยืนเข้าไปอยู่ในแผนพัฒนาจังหวัดหรือพื้นที่ได้”
(4) การวางแผนด้านทรัพยากรการเงิน และทำให้การใช้งบประมาณสอดคล้องกับการพัฒนาพื้นที่มากที่สุด
(5) การขับเคลื่อนในทุกภาคส่วน โดยให้หน่วยงานเลือกตัวชี้วัดที่ต้องการขับเคลื่อนและเหมาะสมกับพื้นที่
(6) การติดตามและรายงานผล
ทั้งหมดต้องคำนึงถึงผลกระทบระยะสั้นไม่เกิน 5 ปี ผลกระทบระยะยาวภายใน 10 ปี โดย ดร.อนรรฆ ยกตัวอย่างการทำโครงการที่เริ่มจากประเด็นของพื้นที่ เช่น การพัฒนาผู้ประกอบการ การเสริมสร้างความเสมอภาคทางเพศ การเสริมสร้างความร่วมมือระหว่างพื้นที่ เป็นต้น
ขณะที่การดำเนินงานด้านความยั่งยืนด้านสังคมและสิ่งแวดล้อมมีหัวใจสำคัญคือ ประเด็นที่คนในพื้นที่มีส่วนร่วม ทั้งด้านรายได้และผลประโยชน์ระยะยาว ตลอดจนผลกระทบต่อทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม โดยเฉพาะประเด็นการปล่อยก๊าซเรือนกระจก