ThaiPublica > Sustainability > Global Issues > Thailand SDGs Forum 2017#3 UNDP มองอนาคตไทยกับความท้าทายในการสร้างสภาพแวดล้อมด้านความยั่งยืน

Thailand SDGs Forum 2017#3 UNDP มองอนาคตไทยกับความท้าทายในการสร้างสภาพแวดล้อมด้านความยั่งยืน

22 กันยายน 2017


“เมื่อวันที่ 7 กันยายน 2560 ที่ผ่านมา สำนักข่าวออนไลน์ไทยพับลิก้าและมูลนิธิมั่นพัฒนา ร่วมกันจัด
งาน Thailand SDGs Forum 2017#3: Positioning Thailand on SDGs Map
ณ ห้องประชุมบอลรูม 2-3 โรงแรมคอนราด กรุงเทพฯ”

นายมาร์ติน ฮาร์ท-แฮนเซ่น รองผู้แทนโครงการพัฒนาแห่งสหประชาชาติ (UNDP)

นายมาร์ติน ฮาร์ท-แฮนเซ่น รองผู้แทนโครงการพัฒนาแห่งสหประชาชาติ (UNDP) ปาฐกถาพิเศษ “Looking forward: SDGs and the development of Thailand” ในเวที Thailand SDGs Forum 2017#3: Positioning Thailand on SDGs Map ที่จัดขึ้นโดยสำนักข่าวออนไลน์ไทยพับลิก้าและมูลนิธิมั่นพัฒนาในวันที่ 7 กันยายน 2560 มีสาระสำคัญ ดังนี้

ประเทศไทย ผู้นำในการเข้าสู่การพัฒนาที่ยั่งยืน

“ผมรู้สึกเป็นเกียรติอย่างยิ่งที่ได้มีโอกาสมากล่าวปาฐกถาในหัวข้อสำคัญ คือ อนาคตของประเทศไทย”

SDGs 2030 ซึ่งมี 17 เป้าหมาย เป็นเป้าหมายที่ครบถ้วนในทุกด้านของการพัฒนา แต่การนำเป้าหมายมาปฏิบัติให้เป็นรูปธรรมนั้น ประเด็นสำคัญคือการทำความเข้าใจที่ถ่องแท้ ถึงความเชื่อมโยงของการปฏิบัติและเป้าหมาย รวมทั้งต้องสามารถวัดผลได้ว่า ทุกภาคส่วนของสังคมต้องมีบทบาท รัฐบาลเองก็มีบทบาทเช่นกัน แต่การดำเนินการจากรัฐบาลเพียงฝ่ายเดียวไม่สามารถที่จะก้าวไปสู่เป้าหมายได้ หากต้องการที่จะบรรลุเป้าหมาย  ต้องอาศัยภาคเอกชน สังคม พลเมืองทุกคน ร่วมกันรับผิดชอบ และมีบทบาทสำคัญในการขับเคลื่อนไปสู่เป้าหมาย

รัฐบาลไทยได้มีการดำเนินการในหลายด้านในการก้าวเข้าสู่เป้าหมายความยั่งยืน  ที่ผ่านมาประเทศไทยได้อยู่บนเส้นทางความยั่งยืนมาก่อนหน้านี้แล้วอย่างเห็นได้ชัด คือ “การพัฒนาโดยยึดหลักหลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงที่พระบาทสมเด็จพระจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 9 ได้ทรงเป็นต้นแบบ จึงกล่าวได้ว่า การพัฒนาที่ยั่งยืนนี้ได้เข้ามาเป็นส่วนหนึ่งของประเทศไทยและอยู่ในดีเอ็นเอของคนไทยทุกคน และด้วยทัศนคติที่ว่านี้ จึงเห็นประเทศไทยมีความก้าวหน้าในการเข้าสู่การพัฒนาเพื่อบรรลุเป้าหมายความยั่งยืน”

“นอกจากนี้ ประเทศไทยยังมีบทบาทในการเป็นผู้นำในการเจรจาร่วมกำหนดกรอบวาระพัฒนาในการประชุมสมัชชาสหประชาชาติ ณ นครนิวยอร์ก  ในเดือนกันยายน 2015 รวมทั้งสำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ซึ่งจัดทำแผนยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี ยังได้บรรจุเป้าหมายการพัฒนาอย่างยั่งยืนที่ผสมผสานกับหลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงไว้ด้วย และในปีที่ผ่านมาคณะรัฐมนตรีได้ให้ความเห็นชอบในการที่จะส่งเสริมการนำหลักเศรษฐกิจพอเพียงมาใช้สร้างความยั่งยืนในทุกระดับในทุกพื้นที่ของประเทศ

เมื่อเดือนที่ผ่านมา ประเทศไทยเป็นหนึ่งใน  43 ประเทศที่ร่วมรายงานความคืบหน้าการดำเนินงานตามวาระการพัฒนาที่ยั่งยืนของสหประชาชาติ ในระดับชาติโดยสมัครใจ (Voluntary National Review: VNR) ในการเวทีการประชุมนานาชาติ ซึ่งน่าชื่นชมต่อการดำเนินการของรัฐบาลในการที่จะขับเคลื่อนเข้าสู่เป้าหมายความยั่งยืนทั้ง 17 เป้าหมายที่มีความคืบหน้าในระดับชาติ รวมทั้งคณะทำงานที่มีความเป็นผู้นำ สะท้อนว่า ประเทศไทยมีบทบาทและเป็นผู้นำสำคัญในการขับเคลื่อนไปสู่เป้าหมาย

การรวมพลังผลักดันความยั่งยืนทั้งจากรัฐบาล ภาคเอกชน สังคม มีความสำคัญอย่างมาก ขณะนี้รัฐบาลได้วางโรดแมปเป้าหมายความยั่งยืนทั้ง 17 ข้อ ทั้งในระยะสั้น ระยะปานกลาง และระยะยาว ซึ่ง UNDP ก็ภาคภูมิใจที่ได้มีส่วนสนับสนุนการทำงานนี้ โดยเฉพาะในส่วนของเป้าหมาย 17 ข้อ ขณะที่พันธมิตรอื่นได้มีส่วนร่วมในด้านอื่น โดยรวมแล้วรัฐบาลไทยได้มีการเตรียมการเพื่อเข้าสู่ความยั่งยืนทั้ง 17 เป้าหมาย ทั้งการจัดตั้งคณะกรรมการเพื่อขับเคลื่อน มีการกำหนดยุทธศาสตร์และมีการวางแผนไว้เรียบร้อยแล้ว แม้ว่าจะมียุทธศาสตร์และแผนงานแล้ว แต่หากไม่มีการนำไปใช้ ยุทธศาสตร์และแผนงานนั้นก็ไม่มีค่า รวมทั้งยังมีสิ่งที่ต้องดำเนินการอีกมาก

งานด้านหนึ่งที่รัฐบาลจะต้องดำเนินการเพิ่มขึ้น การสร้างสภาพแวดล้อมที่เอื้ออำนวยที่จะส่งผลให้มีการนำยุทธศาสตร์และแผนไปปฏิบัติซึ่งรวมไปถึงการทบทวนการบังคับใช้กฎหมายและกฎเกณฑ์ ทั้งยังมีสิ่งที่จะต้องทำอีกมากเพื่อให้งานมีผล

“รัฐบาลไทยได้ดำเนินการไปมากมายในการวางพื้นฐานของประเทศไทยให้อยู่บนเส้นทางความยั่งยืน เข้าสู่เป้าหมาย SDGs ซึ่งสะท้อนว่ารัฐบาลได้รับผิดชอบในส่วนของตัวเองไปแล้ว แต่ยังมีอุปสรรคอีกหลายอย่าง ที่ต้องจัดการและแก้ไข”

แนะสร้างสภาพแวดล้อมใหม่ด้านความยั่งยืน

พันธมิตรที่สำคัญในการที่จะบรรลุเป้าหมายความยั่งยืน ได้แก่ ภาคเอกชน ภาคธุรกิจ ซึ่งการที่ภาคธุรกิจจะผูกพันอย่างเต็มที่และผูกพันอย่างแท้จริงในบทบาทที่จะผลักดันเป้าหมายความยั่งยืนนั้น การมอบสิทธิประโยชน์ก็มีความจำเป็น เพราะแน่นอนว่าสำหรับภาคเอกชนที่ประกอบธุรกิจ ก็ต้องคำนึงถึงประโยชน์ของธุรกิจ ย่อมคำนึงถึงการทำผลกำไร และการแข่งขัน ซึ่งเป็นเรื่องสำคัญอันดับแรกสำหรับธุรกิจ

การที่จะทำให้สภาพแวดล้อมเอื้ออำนวยอย่างเหมาะสมและดำรงอยู่ เพื่อให้ภาคเอกชนสามารถดำเนินบทบาทได้ การขจัดอุปสรรคบางด้านจึงมีความจำเป็น โดยที่อุปสรรคข้อหนึ่งต่อการเติบโตแบบยั่งยืน ซึ่งไม่ได้มีเฉพาะประเทศไทยเท่านั้น แต่เป็นอุปสรรคเรื่องที่รับรู้กันอย่างกว้างขวางในด้านพัฒนาเศรษฐกิจทั่วไปคือ การมีกำแพงทางเศรษฐกิจและกำแพงทางการเงิน ทั้งนี้ นักเศรษฐศาสตร์ทั่วโลกยอมรับว่าประเทศส่วนใหญ่ในโลกนี้มุ่งไปที่การสนับสนุนการเติบโตของเศรษฐกิจเป็นลำดับต้นๆ มากกว่าการให้ความสำคัญกับด้านสิ่งแวดล้อม ประชาชน

ฉะนั้น จำเป็นที่ต้องมีการปรับเปลี่ยนและยกระดับการทำงานจากการจัดสิ่งแวดล้อมว่าเป็นส่วนหนึ่งของเศรษฐกิจ มาสู่การจัดเศรษฐกิจให้เป็นส่วนหนึ่งของสิ่งแวดล้อม  นั่นหมายความว่า ยุทธศาสตร์ทางเศรษฐกิจต้องปรับกันใหม่เพื่อให้สภาพแวดล้อมเอื้ออำนวยและคงอยู่ การขาดสิทธิประโยชน์หรือการให้สิทธิประโยชน์ที่ไม่เพียงพอแก่ภาคเอกชนที่จะจูงใจให้มุ่งการพัฒนาที่ยั่งยืนนั้น จะทำให้เกิดปัญหาหรือความยุ่งยากขึ้นได้

นอกจากนี้ยังมีกำแพงด้านนวัตกรรม ทั้งๆ ที่นวัตกรรมและงานวิจัยที่จับต้องได้เป็นสิ่งที่จำเป็นต่อการพัฒนา อีกทั้งการลดกำแพงด้านนวัตกรรม งานวิจัยยังเป็นสิ่งจำเป็น สถาบันวิจัยและเศรษฐกิจต้องมีความสัมพันธ์ที่ใกล้ชิดกันมากขึ้น ซึ่งในส่วนนี้เกี่ยวข้องกับการถ่ายทอดความรู้

ลดกำแพงด้านสังคม ลดอุปสรรคการวัดผลและประเมินผล

กำแพงอีกด้านที่พบเห็นกันคือ ด้านสังคม ทั้งนี้ การเติบโตของประชากร ที่มีผลต่อการบริโภคและการผลิตที่ยั่งยืน ความมั่งคั่ง ซึ่งอุปสรรคหลักในการที่จะบรรลุเป้าหมายความยั่งยืนคือ การที่ยังไม่มีการเปลี่ยนแปลงที่มีนัยของพฤติกรรมของมนุษย์ ทำให้การเข้าสู่ความยั่งยืนนั้นเป็นไปได้ยาก  สาเหตุของกำแพงด้านสังคมคือ ความยากจน ความมั่งคั่งที่มีอย่างจำกัด ความเหลื่อมล้ำ และการมีปฏิสัมพันธ์ระหว่างสังคมกับรัฐบาล

ส่วนอุปสรรคสุดท้ายคือ การมีระบบการวัดผลและการประเมินผล ปัญหาพื้นฐานคือการขาดระบบวัดผลที่เฉพาะลงไป รวมทั้งข้อมูลในการติดตามผล การจัดทำข้อมูลให้มีมาตรฐาน ซึ่งสิ่งที่ควรดำเนินการคือต้องเสริมสร้างกระบวนการการปรับปรุงให้มีพลวัตรและวัตถุประสงค์ ไม่ว่าจะเป็นการกำหนดวัตถุประสงค์หรือเพิ่มประสิทธิภาพให้ดีขึ้น รัฐบาลเองต้องให้ความสำคัญกับการประเมินผลกระทบต่อสังคมเศรษฐกิจในเชิงลึกมากขึ้น จากการดำเนินโครงการพัฒนาต่างๆ มากกว่าที่จะมุ่งไปที่ผลของโครงการ

ที่สำคัญ การวัดผลหรือการประเมินนั้นต้องเป็นข้อปฏิบัติที่ใช้ได้ง่าย เกิดจากความเห็นหรือข้อตกลงร่วมกันของสังคมในวงกว้าง ในการที่จะใช้ประเมินผลกระทบจากการบริหารงานของรัฐบาล โดยเฉพาะผลจากการดำเนินงานของภาคเอกชน ประเทศไทยได้ประกาศนโยบายเชิงวิสัยทัศน์ ไทยแลนด์ 4.0 ที่จะเดินไปพร้อมกันทั้งรัฐบาลและภาคประชาชน แต่กระนั้นก็ยังมีความท้าทาย โดยยังมีอีกหลายกรณีตัวอย่างที่ได้รับฟังมา ที่บางครั้งต้องประสบกับปัญหากฎหมาย ซึ่งสะท้อนว่าอุปสรรคข้อกฎหมายค่อนข้างใหญ่

UNDP สนับสนุนรัฐบาลให้ขจัดอุปสรรคเพื่อที่จะได้เห็นการเปลี่ยนแปลงอย่างแท้จริง และมีประโยชน์ต่อทุกคน แต่ทั้งนี้หน่วยงานรัฐ ภาคเอกชน และประชาชน ต้องมาร่วมกันหาทางแก้ไขพร้อมกับพัฒนากระบวนการ พัฒนาเครื่องมือในการประเมินผล ที่จะทำให้การทำธุรกิจในประเทศมีความง่าย เมื่อดูจากหัวข้อการปาฐกถาวันนี้แล้ว ก็พบว่ารัฐบาลไทยได้ดำเนินการไปมากมายในการวางพื้นฐานของประเทศไทยให้อยู่บนเส้นทางความยั่งยืน เข้าสู่เป้าหมาย SDGs ซึ่งสะท้อนว่ารัฐบาลได้รับผิดชอบในส่วนของตัวเองไปแล้ว  แต่ยังมีอุปสรรคอีกหลายอย่างที่ต้องจัดการและแก้ไข

“การพัฒนาที่ยั่งยืนไม่สามารถที่จะบรรลุได้หากไม่ร่วมกันทำ รัฐบาล ภาคเอกชน ประชาชน จะต้องมีความรู้ความเข้าใจว่าความยั่งยืนมีความสำคัญและมีความจำเป็นที่เกี่ยวข้องกับทุกส่วน ไม่ว่าจะเป็นด้านกฎหมาย ไลฟ์สไตล์ พฤติกรรม การที่จะผลักดันให้ความยั่งยืนเกิดขึ้นได้นั้น เราทุกคนต้องทำงานร่วมกัน เป็นพันธมิตรอย่างแท้จริง ระหว่างรัฐบาล สังคม นานาประเทศ และพลเมือง” รองผู้แทนโครงการพัฒนาแห่งสหประชาชาติ กล่าวในท้ายที่สุด