ThaiPublica > คนในข่าว > ‘ดร.รุ่ง มัลลิกะมาส’ กับแนวคิดธปท. “ภูมิทัศน์ใหม่ภาคการเงินไทย” สมดุล – ยืดหยุ่น – ยั่งยืน

‘ดร.รุ่ง มัลลิกะมาส’ กับแนวคิดธปท. “ภูมิทัศน์ใหม่ภาคการเงินไทย” สมดุล – ยืดหยุ่น – ยั่งยืน

9 เมษายน 2022


ดร.รุ่ง มัลลิกะมาส ผู้ช่วยผู้ว่าการ สายนโยบายสถาบันการเงิน ธปท.

เมื่อเดือนกุมภาพันธ์ 2565 ที่ผ่านมา ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ได้เผยแพร่ “เอกสารภูมิทัศน์ใหม่ภาคการเงินไทยเพื่อเศรษฐกิจดิจิทัลและการเติบโตอย่างยั่งยืน” หรือ “Financial Landscape Consultation Paper” ต่อสาธารณชนบนเว็บไซต์ ธปท. พร้อมกับเปิดช่องทางในการรับฟังความคิดเห็นและมุมมองทุกมิติ เพื่อนำไปสู่การพัฒนาและออกแบบ “แนวนโยบายภูมิทัศน์ใหม่ภาคการเงินไทย” ที่มุ่งตอบสนองบริบทของเศรษฐกิจดิจิทัลและการเติบโตอย่างยั่งยืนของเศรษฐกิจการเงินไทย โดยอาจกล่าวได้ว่า ผลจากการรับฟังครั้งนี้จะเป็นหนึ่งในแรงขับเคลื่อนให้เกิดการตกผลึกความสมดุลของ ธปท. ในการปรับแนวทางการกำกับดูแลกลุ่มธุรกิจทางการเงินของธนาคารพาณิชย์ที่ทำธุรกิจเกี่ยวกับดิจิทัล นับเป็นความเคลื่อนไหวสำคัญแรกที่กลั่นกรองจากกระบวนการรับฟังหลังการเปิดตัวเอกสารฯ ดังกล่าว

ดร.รุ่ง มัลลิกะมาส ผู้ช่วยผู้ว่าการ สายนโยบายสถาบันการเงิน ธปท. มาบอกเล่าเจตนารมณ์ในการเปิดรับฟังความคิดเห็น และ “จินตภาพ” ของภูมิทัศน์ใหม่ภาคการเงินไทย ตลอดจนเป้าหมายและแนวทางการกำกับดูแลภาคการเงินไทย เพื่อประโยชน์สูงสุดแก่ประชาชนและระบบเศรษฐกิจการเงินไทย ในบทสัมภาษณ์ FINANCIAL LANDSCAPE CONSULTATION PAPER สารตั้งต้นสู่ “สมดุล – ยืดหยุ่น – ยั่งยืน” เพื่อภูมิทัศน์ใหม่ภาคการเงินไทย ในBOT พระสยาม MAGAZINE ที่เผยแพร่ผ่านเว็บไซต์ธปท.

แรงผลักดันสู่ “Financial Landscape Consultation Paper”

ธปท. ตระหนักถึงความสำคัญของกระแสการเปลี่ยนแปลงของโลก โดยเฉพาะกระแสดิจิทัลและความยั่งยืนที่เกิดขึ้นอย่างรวดเร็วและรุนแรง ส่งผลต่อภาคการเงินไทย อันจะนำมาซึ่งโอกาสในการพัฒนาบริการทางการเงิน แต่ก็มาพร้อมกับความเสี่ยงต่อเสถียรภาพระบบการเงิน และอาจซ้ำเติมปัญหาความเหลื่อมล้ำให้รุนแรงขึ้น ดังนั้น เพื่อเตรียมความพร้อมในการรองรับการเปลี่ยนแปลงอย่างเท่าทัน ธปท. จึงจัดทำเอกสาร “ภูมิทัศน์ใหม่ภาคการเงินไทยเพื่อเศรษฐกิจดิจิทัลและการเติบโตอย่างยั่งยืน (Financial Landscape Consultation Paper)” เผยแพร่สู่สาธารณชน เพื่อนำเสนอ “จินตภาพ” เกี่ยวกับภูมิทัศน์ใหม่ภาคการเงินไทย พร้อมกับนำเสนอแนวคิดในการกำกับดูแลภายใต้ภูมิทัศน์ใหม่นั้น

ดร.รุ่งกล่าวว่า นอกจากเพื่อสื่อสารหลักการและทิศทางที่ ธปท. อยากเห็นในภูมิทัศน์ใหม่ภาคการเงินไทยแล้ว เอกสารฯ นี้ยังเป็นเสมือน “กลไก” สู่การเปิดกว้างรับฟังและแลกเปลี่ยนมุมมองความเห็นกับ “ผู้เกี่ยวข้อง” ในทุกมิติ เพื่อให้ทิศทางและแนวนโยบายการปรับภูมิทัศน์ภาคการเงินไทยตอบโจทย์ความต้องการของแต่ละภาคส่วนได้อย่างเหมาะสมและเป็นรูปธรรม 

“จริง ๆ แล้ว มีหลายเรื่องที่เป็นเรื่องสำคัญในระบบเศรษฐกิจการเงิน แต่ในเอกสารฯ นี้ เราขอไฮไลต์เรื่องที่คิดว่าสำคัญสูงสุดและเป็นการเปลี่ยนแปลงกระแสหลัก ได้แก่ เทคโนโลยีดิจิทัลและความยั่งยืน ความท้าทายทั้ง 2 ด้านผลักดันให้ ธปท. ต้องปรับตัวในแง่ของการกำกับดูแลให้มีความยืดหยุ่น เท่าทันกับโอกาสและความเสี่ยงที่จะเกิดขึ้น ทั้ง 3 เรื่องนี้จึงเป็นเรื่องหลักที่เราอยากหารือกับทุกคนที่เกี่ยวข้องเพื่อนำไปสู่วิสัยทัศน์และแนวทางเดินร่วมกัน” ดร.รุ่งกล่าว

สำหรับด้านเทคโนโลยีดิจิทัล ดร.รุ่งขยายความว่า การเปลี่ยนแปลงด้านดิจิทัลที่รวดเร็วและเป็นพลวัต นำมาซึ่ง “โอกาส” ในการใช้ประโยชน์จากเทคโนโลยีดิจิทัลและข้อมูลมาพัฒนานวัตกรรมและบริการทางการเงิน เพื่อตอบโจทย์ผู้ใช้บริการได้ดียิ่งขึ้น และลดช่องว่างในการเข้าถึงบริการทางการเงินของประชาชน แต่เทคโนโลยีก็มาพร้อม “ความเสี่ยง” ทั้งต่อผู้ใช้บริการ ผู้ให้บริการ และเสถียรภาพของระบบการเงินโดยรวม ดังนั้น จึงจำเป็นต้องมีกระบวนการกำกับดูแลที่สมดุล

“ความท้าทายในเรื่องดิจิทัล คือ การใช้โอกาสอย่างเหมาะสม ถูกที่ ถูกเวลา เพื่อตอบโจทย์ธุรกิจในโลกดิจิทัลที่เวลาไม่รอใคร ขณะเดียวกัน ก็ต้องควบคุมความเสี่ยงด้วยหลักคิดในเรื่องความรับผิดชอบและความยั่งยืน ส่วนความท้าทายของ ธปท. อยู่ที่การรักษาสมดุลระหว่างการพัฒนานวัตกรรมกับการกำกับดูแลความเสี่ยงอย่างเหมาะสม”

“ถนนสายนี้ยังอีกยาวไกลมาก โดยเฉพาะเรื่องความยั่งยืน ซึ่งลำพัง ธปท. ไม่อาจทำได้สำเร็จ แต่เราก็มีความหวังที่อยากเห็นภาคการเงินเป็นส่วนหนึ่งในการขับเคลื่อนให้เกิดความยั่งยืนในระบบเศรษฐกิจการเงินและในการพัฒนาประเทศ”

สำหรับประเด็นด้านความยั่งยืน ดร.รุ่งกล่าวว่า ภูมิทัศน์ใหม่ภาคการเงินไทยจะต้องให้ความสำคัญกับความยั่งยืนด้านสิ่งแวดล้อมและความยั่งยืนทางเศรษฐกิจอย่างมาก โดยแรงผลักดันมาจากทั้งปัญหาเรื้อรังที่เกิดขึ้นมานานแล้ว ไม่ว่าจะเป็นปัญหาหนี้ครัวเรือน หรือปัญหาความเหลื่อมล้ำ และยังมีความท้าทายใหม่ที่เข้ามาพร้อมกับความเสี่ยงและโอกาสของประเทศไทยหรือของโลก โดยเฉพาะเรื่องการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ (climate change)

“ยกตัวอย่างความยั่งยืนด้านสิ่งแวดล้อม ปัจจุบันความเสี่ยงจากโลกร้อนกลายเป็นความเสี่ยงสำคัญ โดยเฉพาะสำหรับประเทศไทย มีการจัดอันดับโดยองค์กร Germanwatch ให้ไทยเป็นประเทศที่จะได้รับผลกระทบจากภาวะโลกร้อนมากที่สุดเป็นอันดับ 9 ของโลก จากทั้งหมด 180 ประเทศ ฉะนั้น เราจะไม่จริงจังกับปัญหานี้ไม่ได้แล้ว และเราอยากให้ภาคการเงินเป็นส่วนหนึ่งของการทำให้ระบบเศรษฐกิจการเงินไทยปรับตัวไปสู่เส้นทางแห่งความยั่งยืนด้านสิ่งแวดล้อมได้เร็วและราบรื่นขึ้น”

นัยของ “เอกสาร” คือภาพสะท้อนการปรับตัวของ ธปท.

ดร.รุ่งกล่าวว่า ภายใต้ภูมิทัศน์ใหม่ภาคการเงินไทย ความมุ่งหวังของ ธปท. คือ อยากเห็นภาคการเงินใช้เทคโนโลยีเพื่อพัฒนาบริการทางการเงินที่ตอบโจทย์ความต้องการของผู้ใช้บริการอย่างทั่วถึงและเป็นธรรม รับมือกับความเสี่ยงรูปแบบใหม่ ๆ ได้อย่างเท่าทัน ไม่ส่งผลกระทบต่อไปยังระบบเศรษฐกิจการเงินและผู้บริโภคในวงกว้าง จึงอยากเห็นภาคธุรกิจและครัวเรือนปรับตัวเข้าสู่เศรษฐกิจการเงินดิจิทัลและรับมือกับความเสี่ยง โดยเฉพาะด้านสิ่งแวดล้อมได้อย่างยั่งยืน

เพื่อบรรลุเป้าหมายดังกล่าว นอกจากการปรับตัวของผู้ให้บริการและผู้ใช้บริการทางการเงิน ในฐานะผู้กำกับดูแลภาคการเงิน ธปท. ก็ต้องปรับตัวให้เท่าทันกระแสการเปลี่ยนแปลง ภายใต้หลักความสมดุลระหว่างการสนับสนุนนวัตกรรมกับการบริหารความเสี่ยงได้อย่างเหมาะสม และปรับแนวคิดให้มีความยืดหยุ่นเพื่อสามารถปรับเปลี่ยนให้เหมาะสมกับสถานการณ์ที่เปลี่ยนแปลงเร็วขึ้น และไม่สร้างภาระแก่ผู้ให้บริการมากเกินจำเป็น แต่ก็ต้องไม่ย่อหย่อนใน “หลักการ” โดยเฉพาะมิติของการคุ้มครองประโยชน์ของประชาชนและการดูแลเสถียรภาพของระบบการเงิน

ดร.รุ่งอธิบายว่า ในการเปิดโอกาสให้ภาคการเงินใช้ประโยชน์จากเทคโนโลยีและข้อมูล ธปท. ใช้หลักการ “3 Open” ได้แก่ 

    (1) Open Competition เปิดกว้างให้มีการแข่งขันมากขึ้น เพราะเชื่อว่าการที่เปิดให้มี “ผู้เล่น” มากขึ้นจะทำให้เกิด “ความเก่ง” ที่หลากหลาย สามารถต่อยอดตอบโจทย์ผู้รับบริการได้มากขึ้น โดยขณะที่เปิดกว้างให้ผู้เล่นใหม่เข้ามา ก็ต้องขยายขอบเขตหรือเพิ่มความยืดหยุ่นให้ผู้เล่นเก่าเพิ่มขึ้น
    (2) Open Infrastructure เปิดกว้างให้ผู้เล่นต่าง ๆ เข้าถึงโครงสร้างพื้นฐานด้วยต้นทุนที่เหมาะสมและอย่างเท่าเทียม บนเงื่อนไขสำคัญคือ การเชื่อมต่อโครงสร้างพื้นฐานของผู้เล่นรายนั้นต้องไม่ทำให้มาตรฐานความปลอดภัยของโครงสร้างฯ และระบบการเงินย่อหย่อนลง และ 
    (3) Open Data เปิดกว้างให้มีการใช้ประโยชน์จากข้อมูล โดยผลักดันให้เกิดกลไกที่ผู้ใช้บริการทางการเงินสามารถส่งข้อมูลของตนที่อยู่กับผู้ให้บริการแต่ละแห่งไปยังผู้ให้บริการรายอื่นได้สะดวกมากขึ้น และมีการเชื่อมต่อฐานข้อมูลของภาคการเงินกับแหล่งอื่นมากขึ้นเป็นลำดับ โดยเฉพาะฐานข้อมูลผู้ใช้บริการที่อยู่กับภาครัฐ เพื่อให้เกิดการใช้ประโยชน์จากการเข้าถึงและแลกเปลี่ยนข้อมูลกันมากขึ้น อันจะนำไปสู่การพัฒนานวัตกรรมและบริการทางการเงินที่ตอบโจทย์ผู้ใช้บริการได้ดีขึ้น ไปจนถึงการตอบโจทย์ของประเทศ ทั้งในมิติของการเติบโตของเศรษฐกิจมหภาค ระบบเศรษฐกิจการเงินที่มั่นคงแข็งแรงขึ้น และการลดความเหลื่อมล้ำในการเข้าถึงบริการทางการเงิน

“จริง ๆ แล้ว จุดยืนของ ธปท. ยังคงเหมือนเดิม คือเน้นหลักคุณภาพและความยั่งยืนมากกว่าความเร็ว เพราะต้องดูแลประชาชนและเสถียรภาพของระบบ แต่ที่เพิ่มเติมคือ เราพร้อมปรับเปลี่ยนให้การกำกับดูแลเป็นไปอย่างสมดุลและยืดหยุ่นมากขึ้น และพร้อมรับฟังข้อคิดเห็นจากภาคส่วนต่าง ๆ ส่วนหนึ่งเป็นเพราะบริบทที่เปลี่ยนแปลงเร็ว หลายเรื่อง ธปท. เองก็อาจจะไม่รู้ ฉะนั้น ก็ต้องฟังให้มากขึ้น การเผยแพร่เอกสารฯ ฉบับนี้ต่อสาธารณชนจึงสะท้อนการปรับวิธีคิดของ ธปท.

“เดิมการจัดทำ Financial Sector Masterplan ที่ผ่านมา คนที่เราพูดคุยแลกเปลี่ยนด้วยเยอะคือกลุ่มสถาบันการเงิน เพราะเป็น ‘ผู้เล่น’ หลักในระบบเศรษฐกิจและเรารู้ตัวตนดี แต่วันนี้ ‘ผู้เล่น’ มีมากหน้าหลายตา มีบางคนที่เราไม่รู้จัก บางคนที่เรายังมองตัวตนไม่เห็นด้วยซ้ำ แต่เราก็ไม่ปิดกั้นตัวเองจากการได้ยิน ได้รับฟังจากคนที่เราอาจจะยังไม่รู้ว่าเขาเป็นใคร เปิดกว้างรับฟังความคิดเห็นจากทุกคน ไม่ใช่แค่กลุ่มผู้เล่นเดิม แต่เรารับฟังหมดทั้งบุคคลธรรมดา นักวิชาการ กรรมาธิการ องค์กร หน่วยงาน กระทรวง ทบวง กรม หรือมูลนิธิ ​ใครก็ได้ที่อาจอยากบอกเราในบางเรื่องในฐานะผู้ใช้บริการ

“ในอดีต ภายใต้ Financial Sector Masterplan เรามักบอกว่าเราอยากเห็นอะไร เช่น จะให้ใบอนุญาตธนาคารประเภท ก. จำนวนกี่แห่ง กับ ‘ใคร’ ที่มีคุณสมบัติดังนี้ แต่ใน Financial Landscape Consultation Paper เราลดสัดส่วนของ ‘การบอก’ เพื่อจะรับฟังมากขึ้น ด้วยการบอกว่า เรามีเป้าหมายเช่นไร และจะไปถึงด้วยแนวทางอย่างไรแบบกว้าง ทุกคนเห็นด้วยหรือไม่ ถ้าไม่เห็นด้วย บอกมาสิว่าเราจะไปถึงจุดนั้นได้อย่างไร หรือถ้าเห็นด้วย คุณมีแนวทางที่ชัดเจนขึ้นหรือยกระดับให้ดีขึ้นอยากมานำเสนอไหม ฉะนั้น การออกเอกสารฯ ครั้งนี้ สะท้อนให้เห็นว่าเรารับฟังมากขึ้นและหลากหลายขึ้น”

ดร.รุ่งมองว่า…

เอกสารฯ ฉบับนี้มีความเป็น “living document” กล่าวคือ ไม่แน่นิ่ง ไม่ตายตัว พร้อมทบทวน และปรับเปลี่ยนได้ เพื่อให้เหมาะกับสถานการณ์ที่เปลี่ยนแปลงเร็วขึ้น ซึ่งสะท้อนถึง “ความคิด” ของ ธปท. ด้วยเช่นกัน

“แนวทางกำกับธุรกิจสินทรัพย์ดิจิทัล” ผลึกจากการรับฟัง

ระยะเวลา 28 วันที่เผยแพร่เอกสารฯ ผ่านเว็บไซต์ ธปท. มีผู้ตอบความเห็นตอบกลับมามากกว่า 200 ราย ซึ่ง ดร.รุ่งมองว่าเหนือความคาดหมาย ทั้งเรื่องของจำนวนและคุณภาพของความเห็น เธอยกตัวอย่างมุมมองเกี่ยวกับการเข้าถึงโครงสร้างพื้นฐานทางการเงินของผู้ให้บริการ ทุกคนเห็นด้วยที่ ธปท. ให้ความสำคัญในการเปิดกว้างให้มีการเข้าถึงอย่างเท่าเทียม ควบคู่กับการรักษามาตรฐานเรื่องความมั่นคงและความปลอดภัยของระบบการเงิน

“ทุกโครงสร้างพื้นฐานกลางของประเทศต้องให้ความสำคัญกับความมั่นคงของโครงสร้างและความปลอดภัยของทุกคนที่ใช้โครงสร้างฯ นั้น เหมือนทางด่วน เหตุที่ขับขี่รถจักรยานยนต์ขึ้นไปไม่ได้ เพราะจะเป็นอันตรายกับทั้งผู้ขี่จักรยานยนต์เอง และผู้ขับรถคนอื่น ความมั่นคงปลอดภัยของระบบและโครงสร้างพื้นฐานทางการเงินจะเท่ากับความแข็งแกร่งของผู้เล่นที่อ่อนแอสุดในวงของการเชื่อมต่อ ที่เรียกว่า ‘weakest link’ ฉะนั้น ธปท. จะหย่อนมาตรฐานให้กับ weakest link ไม่ได้ ถ้าเขายังไม่ได้มาตรฐานมากเพียงพอที่จะเข้ามาเชื่อมต่อโครงสร้างฯ เราอาจหาแนวทางอื่นให้เขาได้ประโยชน์จากโครงสร้างฯ แต่ต้องไม่ใช่การเชื่อมต่อตรง จนกว่าจะเสริมเกราะป้องกันความเสี่ยงและพัฒนามาตรฐานจนเทียบเท่าหรือสูงกว่าคนอื่นที่อยู่ในวง”

ดร.รุ่งเล่าว่า ความคิดเห็นที่ได้รับกลับมาในแต่ละประเด็นจะมีจำนวนไม่เท่ากัน ประเด็นที่สาธารณชนให้ความสนใจมากและตอบกลับมาเยอะ เช่น “ธนาคารรูปแบบใหม่บนช่องทางดิจิทัล (virtual bank)” และ “สินทรัพย์ดิจิทัล (digital asset)” ซึ่งกระบวนการถัดไปคือ การเพิ่มความชัดเจนในการออกเกณฑ์กำกับดูแลแต่ละเรื่อง และรับฟังความเห็นต่อเกณฑ์เหล่านั้นอีกครั้ง โดยแต่ละเรื่องจะใช้เวลาไม่เท่ากัน สำหรับเกณฑ์กำกับดูแลกิจการที่ประกอบธุรกิจ virtual bank และ digital asset น่าจะอีกไม่นาน เพราะ ธปท. มีการคิดมาก่อนและรับฟัง “ผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย” ในเรื่องนี้มาระดับหนึ่งแล้ว​

“โอกาสย่อมมาพร้อมความเสี่ยง เทคโนโลยีก็เช่นกัน แต่แนวคิดที่ว่า ‘ถ้าเสี่ยงแล้วห้ามไปเสียทั้งหมด’ ก็อาจไม่ใช่แนวคิดในการกำกับดูแลที่ดีกับบริบทปัจจุบัน ถ้าเทคโนโลยีนั้นสร้างประโยชน์ต่อระบบเศรษฐกิจอย่างชัดเจน และมีวิธีบริหารความเสี่ยงได้อย่างเหมาะสม ธปท. ก็จะไม่ปิดกั้นทั้งหมดหรือปิดกั้นในทันที หากแต่จะร่วมเรียนรู้ หรือแม้กระทั่งสนับสนุนและสร้างโอกาสให้สิ่งนั้นเติบโตอย่างยั่งยืนต่อไป เสมือนการกำหนดรั้วกั้นให้แคบหน่อยในช่วงแรก มีประตูเว้นไว้ให้เป็นทางออก แล้วค่อย ๆ ผ่อนคลาย ขยับรั้วออก จนในที่สุดรั้วอาจไม่จำเป็นหากมีเครื่องมืออื่นที่ทดแทนได้”

จากความตื่นตัวของภาคธุรกิจและประชาชนในเรื่องสินทรัพย์ดิจิทัล ผลักดันให้ ธปท. ศึกษาทั้งโอกาสและความเสี่ยง ทั้งมิติของความเหมาะสมในการใช้เป็นสื่อการชำระเงินและความเสี่ยงที่จะถูกใช้เป็นเครื่องมือการฟอกเงิน และมิติการเข้ามาประกอบธุรกิจสินทรัพย์ดิจิทัลของธนาคารพาณิชย์ โดยเฉพาะในประเด็นความเสี่ยงต่อความมั่นคงและความเชื่อมั่นของธนาคารเอง และความเสี่ยงที่อาจถูกส่งผ่านไปยังลูกค้าเงินฝากและประชาชน พร้อมทั้งศึกษาแนวคิดและประสบการณ์ของผู้กำกับดูแลในต่างประเทศ เพื่อนำมาประยุกต์ปรับใช้ภายใต้บริบทของภาคการเงินไทย

ในที่สุด ธปท. ก็ตกผลึกและออกประกาศแนวทางการกำกับดูแลกลุ่มธุรกิจการเงินของธนาคารพาณิชย์ที่ทำธุรกิจสินทรัพย์ดิจิทัล เมื่อวันที่ 23 มีนาคมที่ผ่านมา โดยได้ปรับปรุงเกณฑ์ของธนาคารพาณิชย์ให้มีความยืดหยุ่นมากขึ้นในการประกอบธุรกิจ อาทิ ยกเลิกเพดานการลงทุนในธุรกิจ FinTech จากที่เคยกำหนดไว้ที่ 3% ของเงินกองทุน และให้กลุ่มธนาคารพาณิชย์ลงทุนในกิจการเกี่ยวกับสินทรัพย์ดิจิทัลได้ภายใต้เพดานที่ 3% ของเงินกองทุนไปก่อน แต่หากสามารถยกระดับมาตรฐานของกิจการสินทรัพย์ดิจิทัลให้เป็นไปตามที่ ธปท. กำหนดได้ จะอนุญาตให้ไม่ต้องนับเงินลงทุนของกิจการนั้นในเพดานการลงทุน

“ธปท. เชื่อว่าการปรับเกณฑ์ดังกล่าว จะเอื้อให้ธุรกิจในภาคการเงินสามารถปรับตัวได้เท่าทันการเปลี่ยนแปลงของเทคโนโลยี และดำเนินธุรกิจให้เติบโตอย่างยั่งยืน ระบบการเงินก็จะได้ประโยชน์จากการแข่งขันในการพัฒนาบริการให้มีประสิทธิภาพ เพิ่มการเข้าถึงบริการทางการเงินของประชาชน และทำให้ธุรกิจสินทรัพย์ดิจิทัลในประเทศมีมาตรฐานเป็นที่ยอมรับภายใต้การบริหารความเสี่ยงที่ดี และผู้บริโภคได้รับการคุ้มครองอย่างเหมาะสม สอดคล้องกับผลลัพธ์ที่ทุกฝ่ายคาดหวังและผลการรับฟังความเห็นต่อแนวนโยบายภูมิทัศน์ใหม่ฯ”

“เสียงสะท้อน” และการปรับแนวคิดของ ธปท. ในภูมิทัศน์ใหม่ฯ

ดร.รุ่งเล่าว่า มีหลายความเห็นตอบกลับมาในเชิงเสนอแนะเกี่ยวกับการทำงานของ ธปท. ในทำนองว่า ไม่อยากให้ ธปท. “อนุรักษ์นิยม (conservative)” มากจนเกินไป หากมีบริการทางการเงินใดที่ผู้ให้บริการฯ จะทำและน่าจะเป็นประโยชน์กับประเทศชาติและระบบเศรษฐกิจการเงิน แต่ ธปท. มองว่ามีความสุ่มเสี่ยง ก็อยากให้ ธปท. เปิด “sandbox” เพื่อให้ทุกฝ่าย รวมทั้ง ธปท. ได้เข้ามาทดลองและเรียนรู้ร่วมกันภายใต้ความเสี่ยงที่สามารถจำกัดและจัดการได้

“ธปท. ค่อนข้างจะเน้นเรื่องเสถียรภาพของระบบเศรษฐกิจการเงินเป็นพันธกิจหลักของเรา ที่ผ่านมา ทั้ง ธปท. และคนอื่น ๆ อาจรู้สึกว่า เราตีความ ‘เสถียรภาพ’ เป็นผู้เล่นที่มีความแข็งแกร่งดั่งหินผา ล้มไม่ได้ แต่ปัจจุบัน ความเสี่ยงที่เข้ามาเป็นความเสี่ยงที่เราไม่คาดคิด และพลิกผันสถานการณ์ได้ตลอด ฉะนั้น ความแข็งแกร่งดั่งหินผาอาจไม่ใช่ความปรารถนาสูงสุด แต่เสถียรภาพที่แท้จริงภายใต้ภูมิทัศน์ใหม่ฯ อาจเป็นเรื่องของความสามารถในการปรับตัวต่อสถานการณ์ที่เปลี่ยนแปลงเร็วขึ้น และความยืดหยุ่นของผู้เล่นในการคว้าโอกาสสร้างรายได้ใหม่ ๆ ธุรกิจใหม่ ๆ และโอกาสในการเติบโตอย่างยั่งยืน ธปท. จึงให้ความสำคัญกับคุณลักษณะนี้มากขึ้น ซึ่งคนที่จำเป็นต้องมีความยืดหยุ่นตามไปด้วยก็คือองค์กรกำกับดูแล เพราะถ้า ธปท. มีการกำกับดูแลแบบแข็งทื่อ (fixed) คนที่ถูกกำกับก็จะแข็งตัวตามไปด้วย”

“จุดยืนของ ธปท. ยังคงเหมือนเดิม คือเน้นหลักคุณภาพและความยั่งยืนมากกว่าความเร็ว เพราะต้องดูแลประชาชนและเสถียรภาพของระบบ แต่ที่เพิ่มเติมคือ เราพร้อมปรับเปลี่ยนให้การกำกับดูแลเป็นไปอย่างสมดุลและยืดหยุ่นมากขึ้น และพร้อมรับฟังข้อคิดเห็นจากภาคส่วนต่างๆ”

ดร.รุ่งกล่าวว่า เสียงสะท้อนจากผู้ตอบกลับเอกสารฯ หลายคนชื่นชมการปรับตัวของ ธปท. โดยเฉพาะการเปิดกว้างในการรับฟัง ขณะเดียวกัน ก็มีบางความเห็นที่แสดงความกังวลในแง่ของความไม่เท่าเทียมในด้านต่าง ๆ ของผู้เล่นรายเก่าและรายใหม่ ซึ่งอาจนำไปสู่การแข่งขันที่ไม่เป็นธรรม โดยย้ำว่า ธปท. มีจุดยืนในการทำงานคือ กำกับดูแลอย่างเท่าเทียมเพื่อให้เกิดการแข่งขันที่เป็นธรรมกับทุกฝ่ายและเกิดความยั่งยืนในระบบการเงิน อย่างไรก็ดี บางเรื่องมีประวัติศาสตร์ เช่น ผู้เล่นเก่ามีส่วนร่วมในการสร้างรากฐานของโครงสร้างพื้นฐานกลางในภาคการเงินไทยมาก่อน จึงต้องให้ความยุติธรรมโดยตอบแทนส่วนที่เขาลงทุนไปบ้าง แต่ในการตอบแทนนั้นต้องไม่มากเกินไปจนกลายเป็นเครื่องกีดกันหรือทำให้ผู้เล่นใหม่เสียเปรียบในการแข่งขัน

“สิ่งที่จะทำให้ทุกคนยังคงเชื่อมั่น ธปท. ทั้งที่บางคนอาจไม่เห็นด้วยกับเรา แต่อย่างน้อยเขายังนับถือในการทำงานของเรา ดิฉันมองว่ามาจาก หลักการ ‘คิดรอบ ตอบได้’ ซึ่งก่อนจะ ‘คิดรอบ’ ได้ เราต้องผ่านการรับฟังให้รอบก่อน เมื่อฟังจากผู้เกี่ยวข้องรอบด้านแล้ว ก็นำมาคิด สังเคราะห์ ตกผลึกทางความคิดของเรา และเนื่องจากประเด็นปัญหาในโลกปัจจุบันมีความซับซ้อนเพิ่มขึ้น เราต้องทำงานเป็น “ONE BOT” คือทุกฝ่าย ทุกสายงาน ต้องร่วมแรงร่วมใจกันคิดในหลากหลายมิติ จึงจะ ‘ตอบได้’ ว่าแนวคิดเหล่านั้นของ ธปท. ได้ผ่านกระบวนการคิดที่ครอบคลุมและมีการชั่งน้ำหนักมาอย่างถี่ถ้วนแล้ว เมื่อคิดรอบ ตอบได้แล้ว ในยุคนี้ ธปท. ยังจำเป็นต้องสื่อสารออกไปให้คนอื่นรู้เรื่องได้ด้วย”

เพื่อบรรลุเป้าหมายภายใต้ภูมิทัศน์ใหม่ฯ ดร.รุ่งกล่าวว่า ธปท. มีการปรับตัวในอีกหลากหลายด้านเพื่อให้เท่าทันกับกระแสการเปลี่ยนแปลงและการปรับตัวของผู้ให้บริการและผู้ใช้บริการทางการเงิน อาทิ การใช้ประโยชน์จากเทคโนโลยีและข้อมูลให้เกิดผลลัพธ์อย่างเป็นรูปธรรมมากขึ้น การปรับการทำงานให้มีความยืดหยุ่นและความคล่องตัวสูงขึ้น และการปฏิวัติความคิด โดยเฉพาะเรื่อง “การฟังมากกว่าบอก” ให้มากขึ้น

“อยากขอบคุณทุกความเห็นจากบุคคลและองค์กรที่ส่งกลับมา นี่เป็นกำลังใจที่ดีอย่างยิ่ง เพราะถือเป็นก้าวแรกของความร่วมมือที่หลายท่านยื่นมาให้เรา และขอบคุณคนใน ธปท. เองด้วย เพราะ ‘เอกสารภูมิทัศน์ใหม่ภาคการเงินไทยฯ’ มาจากหยาดเหงื่อและแรงสมองของคนจำนวนมากใน ธปท. แต่ถนนสายนี้ยังอีกยาวไกลมาก โดยเฉพาะเรื่องความยั่งยืน ซึ่งลำพัง ธปท. ไม่อาจทำได้สำเร็จ แต่เราก็มีความหวังที่อยากเห็นภาคการเงินเป็นส่วนหนึ่งในการขับเคลื่อนให้เกิดความยั่งยืนในระบบเศรษฐกิจการเงินและในการพัฒนาประเทศ” ดร.รุ่งกล่าวทิ้งท้าย