ThaiPublica > เกาะกระแส > เกาะกระแสเศรษฐกิจ > “ประสาร ไตรรัตน์วรกุล” ชี้ไทยไม่ป่วยถึงขั้นวิกฤติ – ย้ำเสถียรภาพเศรษฐกิจเข้มแข็ง แต่การเติบโตยังท้าทาย

“ประสาร ไตรรัตน์วรกุล” ชี้ไทยไม่ป่วยถึงขั้นวิกฤติ – ย้ำเสถียรภาพเศรษฐกิจเข้มแข็ง แต่การเติบโตยังท้าทาย

31 มีนาคม 2015


S__7888989
ดร.ประสาร ไตรรัตน์วรกุล ผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย

เมื่อวันที่ 31 มีนาคม 2558 ดร.ประสาร ไตรรัตน์วรกุล ผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) เปิดเผยถึงภาวะเศรษฐกิจไทยว่ายังคงเห็นสัญญาณการฟื้นตัวอยู่ แม้มีความท้าทายเพิ่มเติมขึ้นบ้าง อาทิ เศรษฐกิจโลกชะลอตัวซึ่งกระทบการส่งออก อีกทั้งราคาพืชผลเกษตรตกต่ำส่งผลต่อรายได้ แต่มองว่าเสถียรภาพด้านเศรษฐกิจมหภาคยังคงเข้มแข็ง ไม่ว่าจะเป็นด้านต่างประเทศ หรือภายในประเทศไทย  ทั้งภาวะจ้างงาน อัตราเงินเฟ้อ ฐานะระบบธนาคารพาณิชย์ เงินสำรองทางการระหว่างประเทศ ทำให้แนวโน้มยังคงเห็นการฟื้นตัวแบบค่อยเป็นค่อยไป

ดร.ประสารกล่าวว่า ภาวะเศรษฐกิจโดยรวมยังดีอยู่ ไม่มีอาการล้ม อาจจะมีอาการเพียงขายของได้น้อยหรือไม่สามารถขยับราคาตามต้นทุนได้ ซึ่งต่างกับวิกฤติเศรษฐกิจปี 2540 ที่บริษัทล้มลง ต้องไล่คนออก และรัฐบาลได้เตรียมมาตรการบรรเทาความเดือดร้อนเกษตรกร เพื่อช่วยเหลือประชาชนที่ได้รับผลกระทบจากราคาพืชผลตกต่ำแล้ว

“เรื่องที่บอกว่าเราป่วยหนักสุดในภูมิภาค คงไม่ถึงขนาดนั้นหรอก อย่าไปมองโลกแง่ร้ายขนาดนั้น ความจริงตอนที่พูดเรื่องนี้ พูดเรื่องการรักษามากกว่า เวลานี้ภาวะเศรษฐกิจมันก็กระทบกับไปทั่วโลก เหมือนที่ผมเคยเปรียบเทียบเป็นทีมฟุตบอล เราอยู่ที่ 0-0 คงไม่มีใครมาทำประตูเราหรอก แต่เราก็ยิงประตูเขาไม่ได้ด้วย แต่ประเทศอื่นๆ อย่างกรีซตอนนี้ 0-15 คือเสียประตูไปแล้ว 15 หรือญี่ปุ่น 0-5 ตอนนี้อาจจะตีขึ้นมาเป็น 1-5 บ้างจากการส่งออกที่ดีขึ้น แต่ของเราไม่ได้ไม่เสียหรอก” ดร.ประสารกล่าว

กรณีที่การบริโภคภาคเอกชนเติบโตน้อยกว่าที่ ธปท. คาดการณ์ไว้ ดร.ประสารกล่าวว่าน่าจะยังฟื้นตัวขึ้นได้แบบค่อยเป็นค่อยไป ขณะที่ปัญหาหนี้ครัวเรือนไม่น่าเป็นห่วงมากนัก เพราะเริ่มเห็นแนวโน้มการชะลอตัวของหนี้ครัวเรือน ซึ่งต่างกับสถานการณ์ช่วงปี 2-3 ปีที่ผ่านมาที่หนี้เพิ่มขึ้นจากช่วงน้ำท่วมและนโยบายรถคันแรก และผู้ให้กู้ได้ระมัดระวังมากขึ้น

ดร.ประสารกล่าวถึงกรณีที่รัฐบาลจะยกเลิกกฎอัยการศึกและใช้มาตรา 44 ของรัฐธรรมนูญชั่วคราวแทน ว่าถ้ามีการยกเลิกกฎอัยการศึกจะช่วยสร้างความเชื่อมั่นในมิติแง่ข้อมูลข่าวสาร โดยเฉพาะกับต่างประเทศ แต่ฝ่ายความมั่นคงห่วงเรื่องความไม่สงบลักษณะของคลื่นใต้น้ำ จึงต้องมีเครื่องมือที่จัดการฉับพลันได้หากเกิดปัญหา ดังนั้น ถ้านำมาตรา 44 มาใช้จึงจำเป็นต้องอธิบายให้คนทั่วไปรับทราบว่าจะบังคับใช้ภายใต้เงื่อนไขอะไรบ้าง ซึ่งคนไทยพร้อมรับฟังอยู่แล้ว

สำหรับประเด็นกรมการบินพลเรือนของไทยไม่ผ่านมาตรฐานขององค์การการบินระหว่างประเทศ (ICAO) ทำให้เกิดการยกเลิกเที่ยวบินจากไทยไปญี่ปุ่น และประเทศอื่นๆ กำลังพิจารณายกเลิกตามมานั้นมองว่าผลกระทบแค่วงจำกัด แค่สายการบินบางแห่ง สะท้อนความเข้มแข็งของสถาบันต่างๆ ถือเป็นบทเรียนสำคัญที่ต้องตื่นตัวในการแก้ไขปัญหา และเข้าใจดีว่าหน่วยงานที่เกี่ยวข้องกำลังพยายามแก้ไข และรัฐเร่งเจรจากับรัฐบาลประเทศต่างๆ

S__4489218
ดร.รุ่ง มัลลิกะมาส ผู้อำนวยการอาวุโส ฝ่ายนโยบายเศรษฐกิจการเงิน ธนาคารแห่งประเทศไทย

ตัวเลขกุมภาพันธ์ทรงตัว – เงินเฟ้อติดลบ 6%

ในวันเดียวกัน ดร.รุ่ง มัลลิกะมาส ผู้อำนวยการอาวุโส ฝ่ายนโยบายเศรษฐกิจการเงิน ธปท. แถลงตัวเลขเศรษฐกิจเดือนกุมภาพันธ์ ปี 2558 ว่าเศรษฐกิจไทยยังฟื้นตัวอย่างช้าๆ โดยการใช้จ่ายภาครัฐ การท่องเที่ยว การผลิตสินค้าอุตสาหกรรม ที่ฟื้นตัวมากขึ้น ขณะที่การบริโภคภาคเอกชนและการลงทุนภาคเอกชนยังคงทรงตัวต่อเนื่องจากเดือนมกราคม การส่งออกสินค้ายังคงอ่อนแออยู่ และราคาน้ำมันโลกที่อยู่ในระดับต่ำส่งผลให้อัตราเงินเฟ้อทั่วไปติดลบเป็นเดือนที่ 2 แต่ยังไม่ถือว่าเป็นภาวะเงินฝืด เนื่องจากผลสำรวจของประชาชนส่วนใหญ่ยังมองว่าอัตราเงินเฟ้อจะอยู่ในระดับ 2-3% แม้จะมีสัดส่วนประชาชนจำนวนมากขึ้นที่มองว่าอัตราเงินเฟ้อในอีก 1 ปีข้างหน้าจะลดลงก็ตาม

ดร.รุ่งกล่าวเพิ่มเติมว่า ในภาคการท่องเที่ยวยังขยายดีต่อเนื่องและเป็นแรงขับเคลื่อนที่เศรษฐกิจที่สำคัญ โดยในภาพรวมค่าเฉลี่ย 2 เดือนแรกของปี 2558 ยังขยายตัว 22.6% ขณะที่ยอดการจองโรงแรมเพิ่มขึ้นจากเดือนมกราคมที่ 67.3% เป็น 71.9% ในเดือนกุมภาพันธ์ รวม 2 เดือนเฉลี่ยที่ 69.6% ส่วนตัวเลขนักท่องเที่ยวเบื้องต้นของเดือนมีนาคมจนถึงวันที่ 18 มีนักท่องเที่ยวจำนวน 1.5 ล้านคน ขยายตัว 26.8% จากช่วงเดียวกันของปีก่อน มาจากประเทศจีนและมาเลเซียเป็นหลัก ขณะที่กลุ่มนักท่องเที่ยวยุโรป ยังไม่มีทิศทางฟื้นตัว

ด้านการผลิตสินค้าอุตสาหกรรม ขยายตัวได้ดีกว่าการผลิตภาคอื่นๆ ดัชนีการผลิตภาคอุตสาหกรรมขยายตัว 2.4% จากเดือนก่อนหน้า และเมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีที่แล้วจะขยายตัวได้ 3.6% ซึ่งถือว่าเป็นการเพิ่มขึ้นในรอบ 22 เดือน

การใช้จ่ายภาครัฐ ยังใกล้เคียงกับเดือนก่อน แม้การใช้จ่ายงบลงทุนจะเพิ่มขึ้นในด้านคมนาคมและชลประทาน แต่การใช้จ่ายประจำลดลง เนื่องจากได้เร่งเบิกจ่ายไปก่อนหน้านี้แล้ว ด้านฐานะการคลัง การจัดเก็บรายได้ยังไม่ดีขึ้นมากตามภาวะเศรษฐกิจที่ยังไม่ดี สะท้อนจากตัวเลขภาษีมูลค่าเพิ่มที่ต่ำกว่าระยะเดียวกันของปีก่อน ขณะที่การนำส่งรายได้เดือนนี้ขาดดุลเงินสด 9 พันล้านบาท เมื่อชดเชยกับเงินกู้เข้ามาอีก 7.6 หมื่นล้าน ส่งผลให้มีเงินคงคลังเพิ่มขึ้นจาก 1.16 แสนล้าน เป็น 1.83 แสนล้าน

ดร.รุ่งกล่าวอีกว่า การใช้จ่ายในประเทศของเอกชนยังคงทรงตัว จากกำลังซื้อของครัวเรือนเกษตรกรไม่ดีขึ้น เดือนกุมภาพันธ์ รายได้เกษตรกรหดตัวไป 12.5% เทียบกับช่วงเดียวกันของปีที่แล้ว เพราะราคาสินค้าเกษตรที่ยังตกต่ำ มาตรการการช่วยเหลือจากภาครัฐที่ปีนี้น้อยกว่าปีที่ผ่านมา และภาวะแล้ง ซึ่งทำให้ผลผลิตทางการเกษตรลดลง ประกอบกับปัญหาหนี้ครัวเรือนในระดับสูงและความเชื่อมั่นของเอกชนที่ลดลงเนื่องจากกังวลต่อภาวะเศรษฐกิจที่ฟื้นตัวช้า ยังเป็นข้อจำกัดที่สำคัญต่อการใช้จ่ายของเอกชน ทั้งสินค้าคงทนและไม่คงทน

เช่นเดียวกับการลงทุนเอกชนที่ยังทรงตัวจากเดือนก่อนหน้า เนื่องจากยังมีกำลังการผลิตเหลือ ประกอบกับการลงทุนในโครงสร้างพื้นฐานของภาครัฐยังอยู่ในระดับเริ่มต้น ทำให้หลายธุรกิจยังรอดูความชัดเจนของโครงการ แม้ภาวะการเงินจะเอื้อต่อการลงทุนก็ตาม ไม่ว่าจะเป็นธุรกิจวัสดุก่อสร้าง ธุรกิจรับเหมาก่อสร้าง ธุรกิจโทรคมนาคม ธุรกิจก่อสร้างภาครัฐ ธุรกิจพลังงาน ธุรกิจวางระบบสารสนเทศ ธุรกิจพลังงานทางเลือกเป็นต้น

ดร.รุ่งกล่าวว่า ภาคการส่งออกยังค่อนข้างอ่อนแอ โดยมีมูลค่าส่งออก 17,100 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ หดตัว -6% จากระยะเดียวกันของปีก่อน ทั้งนี้ ถ้าไม่คิดการนำเข้าทองคำการส่งออกเดือนกุมภาพันธ์จะหดตัว -4.3%  ขณะที่มูลค่าเฉลี่ย 2 เดือนแรกหดตัว -4.3% มาสาเหตุจากเช่น การถูกตัดสิทธิจีเอสพีของการส่งออกไปยังยุโรป, อุปสงค์จากจีนและอาเซียนที่ชะลอตัวลง เป็นต้น

อ่านเพิ่มเติม เมื่อวันที่ 20 มีนาคม 2558 ที่ผ่านมา ธปท. ได้ปรับตัวเลขเศรษฐกิจครั้งแรกของปี 2558