ThaiPublica > เกาะกระแส > เกาะกระแสนโยบายการเงิน > กนง. เอกฉันท์คงดอกเบี้ย 1.5% รับเศรษฐกิจไทยเสี่ยงขึ้น ผลปัจจัยภายนอก “เงินไหลเข้า-Brexit”

กนง. เอกฉันท์คงดอกเบี้ย 1.5% รับเศรษฐกิจไทยเสี่ยงขึ้น ผลปัจจัยภายนอก “เงินไหลเข้า-Brexit”

4 สิงหาคม 2016


นายจาตุรงค์ จันทรังษ์ ผู้ช่วยผู้ว่าการ สายนโยบายการเงิน ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ในฐานะเลขานุการ คณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.)
นายจาตุรงค์ จันทรังษ์ ผู้ช่วยผู้ว่าการ สายนโยบายการเงิน ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ในฐานะเลขานุการ คณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.)

เมื่อวันที่ 3 สิงหาคม 2559 นายจาตุรงค์ จันทรังษ์ ผู้ช่วยผู้ว่าการ สายนโยบายการเงิน ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ในฐานะเลขานุการ คณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) แถลงผลการประชุม กนง. ว่า เศรษฐกิจไทยในระยะข้างหน้าจะมีความเสี่ยงด้านต่ำเพิ่มขึ้นจากการประชุมครั้งก่อนเนื่องจากความไม่แน่นอนของเศรษฐกิจโลกที่เพิ่มขึ้น ขณะที่เงินเฟ้ออาจกลับเข้าสู่กรอบเป้าหมายช้ากว่าที่เคยประเมินไว้เล็กน้อยเพราะแรงกดดันจากราคาพลังงานที่อาจต่ำกว่าคาด

โดยเฉพาะประเด็น Brexit ซึ่งเกิดขึ้นภายหลังจากการประชุมครั้งก่อนหน้าเพียง 1 วัน นายจาตุรงค์กล่าวว่า แม้หลายฝ่ายจะคาดการณ์ว่าเหตุการณ์ดังกล่าวจะส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจโลกในระดับหนึ่ง แต่สำหรับประเทศไทยในระยะสั้นคาดว่าจะไม่ส่งผลกระทบมากนัก ขณะที่ใน 1-2 ปีข้างหน้าผลของ Brexit อาจจะกระทบต่อเศรษฐกิจยุโรปและโลกได้ ในระหว่างนี้ กนง. จึงยังจับตาดูปัจจัยดังกล่าวในฐานะความเสี่ยงที่อาจจะส่งผลต่อเศรษฐกิจไทย นอกจากนี้ ยังมีความเสี่ยงจากปัญหาภาคการเงินยุโรป, พัฒนาการทางการเมืองในต่างประเทศ และความเสี่ยงภาคการเงินของจีน

ขณะเดียวกัน ปัจจัยด้านเงินทุนเคลื่อนย้ายที่เพิ่มขึ้นก่อนหน้านี้ เป็นผลมาจากคนมีความเชื่อมั่น เนื่องจากไทยมีฐานะการเกินดุลบัญชีเดินสะพัด มีเงินสำรองระหว่างประเทศสูง มีหนี้ต่างประเทศต่ำ กนง. มองว่าอาจจะสร้างความเสี่ยงและความผันผวนในระยะข้างหน้าได้ เนื่องจากตลาดมักจะตอบสนองต่อข่าวค่อนข้างรวดเร็วมากขึ้น ขณะที่การแข็งค่าของค่าเงินบาทอาจจะกระทบต่อการฟื้นตัวเศรษฐกิจไทยโดยรวม อย่างไรก็ตาม ธปท. มีเครื่องมือพร้อมจะดูแล

ขณะที่การออกเสียงประชามติเห็นชอบรัฐธรรมนูญในวันที่ 7 สิงหาคม 2559 นายจาตุรงค์กล่าวว่า ในระยะสั้นคงไม่มีผลกระทบ โดย กนง. ปรึกษากันถึงสถานการณ์รูปแบบต่างๆ ที่อาจจะออกมาว่าจะเป็นอย่างไรบ้าง ซึ่งสุดท้ายก็มองว่าอย่างน้อยคงไม่มีผลกระทบในระยะสั้น ซึ่งคงยังต้องติดตามว่าผลจะออกมาเป็นอย่างไร

โดยรวมจึงส่งผลให้ในการประชุม กนง. ครั้งนี้ เห็นว่าการรักษาขีดความสามารถในการดำเนินนโยบาย (policy space) ยังมีความสำคัญ เพราะในระยะข้างหน้าเศรษฐกิจไทยยังจะต้องเผชิญกับความไม่แน่นอนเพิ่มขึ้น โดยเฉพาะการฟื้นตัวของเศรษฐกิจโลกที่ยังเปราะบาง และความไม่แน่นอนของทิศทางการดำเนินนโยบายการเงินของประเทศอุตสาหกรรมหลักที่จะส่งผลให้เงินทุนเคลื่อนย้ายและอัตราแลกเปลี่ยนผันผวนมากขึ้น

“น้ำหนักของการประชุมครั้งนี้จะเป็นต่างประเทศเยอะ ซึ่งมีความไม่แน่นอนสูงมาก หลายๆ ครั้งที่ตลาดมองก็มองต่างกันมากว่าจะกระทบอย่างไร ส่วนที่ถามว่า กนง. กังวลเรื่องเสถียรภาพการเงินมากกว่าการเติบโตของเศรษฐกิจ จนคงดอกเบี้ยไว้แม้เศรษฐกิจจะเสี่ยงขึ้น ต้องบอกว่าความเสี่ยงยังเป็นความเสี่ยงอยู่ ขอรอดูข้อมูลให้มากขึ้นกว่านี้ แต่โดย Baseline ยังใกล้เคียงกับที่เคยประเมิน แม้เศรษฐกิจจะเสี่ยงมากขึ้น แล้วจริงๆ ภาวะการเงินผ่อนคลายพออยู่แล้วด้วย”

กังวล “ลงทุนเอกชน” ไม่ฟื้น กระทบความสามารถแข่งขัน

นายจาตุรงค์ยังกล่าวต่อไปถึงภาคเศรษฐกิจไทยว่ายังฟื้นตัวอย่างค่อยเป็นค่อยไป โดยมีแรงขับเคลื่อนหลักจากการใช้จ่ายภาครัฐที่ทำได้ต่อเนื่องตามคาด และภาคการท่องเที่ยวที่ขยายตัวดี ขณะที่การบริโภคภาคเอกชนขยายตัวได้ตามรายได้และความเชื่อมั่นของครัวเรือนในภาคเกษตรที่ปรับดีขึ้น แต่การลงทุนภาคเอกชนยังอยู่ในระดับต่ำ และการส่งออกสินค้ายังคงหดตัวตามเศรษฐกิจเอเชียที่ชะลอลงมากกว่าคาด

โดยการลงทุนของเอกชน กนง. ยังมองว่าต่ำเกินไปเป็นครั้งที่ 2 ของปีนี้และมีความกังวล เนื่องจากการลงทุนของเอกชนจะเป็นตัวช่วยยกระดับของเศรษฐกิจไทย เนื่องจากการลงทุนของไทยมักผูกกับการส่งออก การที่ภาวะเศรษฐกิจโลกในปัจจุบันกำลังอยู่ในช่วงของการปฏิรูปและลดกำลังการผลิต เพราะมีกำลังการผลิตส่วนเกินมากเกินไป สุดท้ายจึงส่งผลไปยังการส่งออกและการลงทุนของไทยให้ชะลอตัวตาม

ขณะที่ประเด็นของการลงทุนโดยตรง หรือ FDI ที่ลดลงอย่างมากในครึ่งปีแรก ก่อนหน้านี้ในวันที่ 2 สิงหาคม 2559 ดร.วิรไท สันติประภพ ผู้ว่าการ ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) กล่าวว่าปริมาณ FDI ณ สิ้นเดือนมิถุนายน ปี 2559 ปรับตัวลดลง เป็นผลจากธุรกิจไทยเข้าซื้อกิจการในต่างประเทศในช่วงดังกล่าว มูลค่า 3,500 ล้านดอลลาร์สหรัฐ หรือคิดเป็น 130,000-140,000 ล้านบาท ซึ่งนับว่ามีมูลค่าค่อนข้างมาก ส่งผลให้มูลค่าการลงทุนโดยตรงจากต่างประเทศสุทธิลดลง

แต่การลดลงนี้ไม่ได้มีผลใดๆ ต่อกิจกรรมทางเศรษฐกิจ เพราะไม่ได้มีสาเหตุมากจากนักลงทุนต่างชาติถอนการลงทุนออกจากประเทศไทย ประกอบกับเมื่อเทียบสัดส่วน FDI กับช่วงเดียวกันปีก่อนยังมีสัดส่วน FDI ใกล้เคียงกัน

“ตัวเลขเอฟดีไอที่ลดลงเยอะนั้น เพราะมีรายการใหญ่ในดีลซื้อบิ๊กซีของธุรกิจไทยที่ต้องชำระเงินให้กับเจ้าของกิจการในต่างประเทศ มูลค่าราว 3,500 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ซึ่งมีผลให้ตัวเลขเอฟดีไอลดลงมา แต่เรื่องนี้ไม่กระทบต่อกิจกรรมเศรษฐกิจ เพราะมันเป็นตัวเลขสุทธิ อีกด้านมีปัจจัยเสริมจากการปล่อยกู้กันเองในเครือบริษัทที่ทำให้ปริมาณเอฟดีไอลดลงบางส่วน แต่ไม่ใช่ปัจจัยหลักที่ทำให้ตัวเลขลดลง” ดร.วิรไทกล่าว

FDI H2 2559

ในวันเดียวกัน นางรุ่ง มัลลิกะมาส ผู้อำนวยการอาวุโส ฝ่ายนโยบายเศรษฐกิจการเงิน ธปท. กล่าวว่า มูลค่าเอฟดีไอสุทธิช่วงครึ่งแรกของปี 2559 ที่ต่ำกว่าระยะเดียวกันปีก่อนมากและดูต่ำกว่าปกติ มีสาเหตุหลักมาจากการที่นักลงทุนไทยซื้อกิจการธุรกิจค้าปลีกในประเทศจากนักลงทุนต่างชาติในช่วงไตรมาส 1/2559 ที่ผ่านมา ซึ่งธุรกรรมดังกล่าวมีมูลค่าสูงและลงบัญชีเป็น FDI ไหลออก ทั้งนี้ หากไม่รวมรายการนี้ FDI สุทธิจะมีมูลค่าต่ำกว่าระยะเดียวกันปีก่อนไม่มาก

สำหรับการลดลงของ FDI ส่วนที่เหลือไม่น่ากังวล เพราะมีผลของฐานที่สูง เนื่องจากในช่วงต้นปี 2558 มี FDI รายการใหญ่เข้ามาเพิ่มทุนในธุรกิจโทรคมนาคม ซึ่งเป็นปัจจัยบวกพิเศษ ประกอบกับมีผลของสินเชื่อการค้าของกิจการในเครือ (Trade Credit) ที่ลดลง สอดคล้องกับมูลค่าการนำเข้าของไทยที่หดตัวในช่วงครึ่งแรกของปีนี้ ดังนั้น หากพิจารณาเฉพาะ FDI ขาเข้า ส่วนที่เป็นหุ้นทุน (equity) ซึ่งเป็นตัวชี้วัดปริมาณเม็ดเงินลงทุนใหม่ ยังคงมีอยู่ต่อเนื่อง