พรพรหม วิกิตเศรษฐ์
ในปัจจุบันผลกระทบจากภาวะ “โลกรวน” มีความรุนแรงมากขึ้น เนื่องจากการเพิ่มขึ้นของก๊าซเรือนกระจกในชั้นบรรยากาศที่ส่งผลต่อการเปลี่ยนแปลงสภาพอากาศอย่างเห็นชัด เช่น อากาศหนาวเมื่อช่วงต้นเดือนเมษายนที่ผ่านมา หรือผลกระทบต่อภัยพิบัติที่รุนแรงขึ้นและเกิดบ่อยขึ้น มีการประมาณการว่าในช่วงปี พ.ศ. 2573 มีโอกาสเกิดน้ำท่วมใหญ่ในรอบ 10 ปี ในพื้นที่กรุงเทพฯ กว่า 96% และอาจก่อให้เกิดความเสียหายทางเศรษฐกิจกว่า 16.85 ล้านล้านบาท
นอกจากนั้น ตามการคาดการณ์ระดับน้ำทะเลจะหนุนสูงขึ้น ซึ่งส่งผลให้สัดส่วนของน้ำเค็มจากทะเลมีปริมาณสูงขึ้นในระบบน้ำประปา และส่งผลต่อคุณภาพน้ำสำหรับการอุปโภคบริโภคของประชาชน โดยกลุ่มคนที่จะได้รับผล กระทบมากที่สุดจากเหตุการณ์ “โลกรวน” คือ กลุ่มผู้มีรายได้ตํ่าในกรุงเทพฯ จำนวนกว่า 2 ล้านคน ที่ขาดโครงสร้างพื้นฐานในการดูแลป้องกันตนเอง รวมถึงไม่มีต้นทุนมากพอในการฟื้นตัวจากผลกระทบนั้น
นอกจากนี้ แหล่งที่มาของก๊าซเรือนกระจกไม่ว่าจะมาจากการขนส่งหรือพลังงาน ก็มีส่วนสำคัญต่อการปล่อยฝุ่น PM2.5 โดยในปี พ.ศ. 2564 ประชาชนได้รับผลกระทบจาก PM2.5 ต่อสุขภาพเทียบเท่ากับการสูบบุหรี่มากถึง 1,261 มวนต่อคนต่อปี
การวิจัยของคณะกรรมการระหว่างรัฐบาลว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงภูมิอากาศ (IPCC) ได้ทำการศึกษาและพบว่า “ความแตกต่างของอุณหภูมิเพียง 0.5 องศาเซลเซียสจะช่วยยับยั้งผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศได้ รวมถึงปกป้องความหลากหลายทางชีวภาพด้วย” ดังนั้น การป้องกันไม่ให้อุณหภูมิเพิ่มขึ้นแม้เสี้ยวองศานั้นมีค่าสำหรับทุกชีวิตบนโลกใบนี้
กรุงเทพฯ คือต้นตอของปัญหา
ปัจจุบัน กรุงเทพฯ มีการทำแผนแม่บทกรุงเทพมหานครว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ โดยใช้เป็นเครื่องมือในการติดตามและสำรวจการปล่อยก๊าซเรือนกระจกโดยรวมของกรุงเทพฯ โดยในปี พ.ศ. 2561 กรุงเทพฯ มีสถิติการปล่อยก๊าซเรือนกระจกกว่า 43.71 ล้านตัน ซึ่งเป็นจำนวนเทียบเท่ากับ “ไฟลต์บินไป-กลับ กรุงเทพฯ-โตเกียว เกือบ 20,000 เที่ยว” หรือ “การใช้รถยนต์ 59 ล้านคันต่อปี” หรือ “การเผาป่ากว่า 2,580,000 ไร่”
จากการสำรวจ พบว่ากิจกรรมที่มีการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสูงสุด 5 อันดับแรกในกรุงเทพฯ ได้แก่ (1) การขนส่งทางถนน จำนวน 26.71% (2) การใช้พลังงานในธุรกิจการค้าและหน่วยงานรัฐ จำนวน 23.42% (3) การใช้พลังงานในอุตสาหกรรมการผลิตและการก่อสร้าง จำนวน 21.73% (4) การใช้พลังงานในที่พักอาศัย 13.99% และ (5) การจัดการของเสียด้วยวิธีฝังกลบ 10.95%
ทั้งนี้ในแผนแม่บทฯ ยังได้คาดการณ์อีกว่า หากไม่มีการดําเนินมาตรการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก (business as usual — BAU) อย่างจริงจัง จะเกิดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกเพิ่มขึ้นอีกประมาณ 10 ล้านตันต่อปีในปี พ.ศ. 2573
“BMA Net Zero”: คาร์บอนคุมได้ กทม. ปลอดคาร์บอน
เนื่องจากประเด็นเรื่องการควบคุมคาร์บอนได้รับความสนใจมากขึ้นในปัจจุบัน จึงมีหลายเมืองและหลายประเทศได้ออกมาตรการต่างๆ เพื่อการรับมือประเด็นข้างต้น โดยเฉพาะการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก จึงถือเป็นโอกาสสำคัญที่ กทม. (กทม. ในกรณีนี้หมายถึงองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นของกรุงเทพฯ) จะเข้ามาเป็นหนึ่งในผู้เล่นหลักที่จะเข้ามาสร้างความเปลี่ยนแปลง หรือ “game changer” ในพื้นที่เมืองหลวงของประเทศ เพื่อเป็นพื้นที่นำร่องในการสร้างความเปลี่ยนแปลง และสร้างแรงกระเพื่อมในการแก้ปัญหาด้านสิ่งแวดล้อม โดยเริ่มจากพื้นที่กรุงเทพฯ และขยายไปสู่พื้นที่อื่นๆ ในประเทศไทย
นโยบาย “BMA Net Zero” หรือ “คาร์บอนคุมได้ กทม. ปลอดคาร์บอน” เริ่มต้นจากแนวคิดที่ว่า กทม. ในฐานะองค์กร มีทรัพย์สินมากมาย ทั้งอาคาร หรือยานพาหนะต่าง ๆ ที่อยู่ภายใต้สังกัดและความรับผิดชอบ ซึ่งเท่ากับว่ามีการปล่อยก๊าซเรือนกระจก หรือ “carbon footprint” ที่สูง โดยถ้าหาก กทม. ต้องการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกอย่างเป็นรูปธรรม ตั้งเป้าให้การปล่อยสุทธิเป็นศูนย์ (net zero) ภายในปี พ.ศ. 2573 ก็สามารถเริ่มมาตรการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกจากทรัพย์สินต่างๆ ของตัวเองได้ ซึ่งจะทำให้ กทม. กลายเป็นพื้นที่ต้นแบบที่สามารถสร้างแรงจูงใจให้กับหน่วยงานอื่นๆ ทั้งภาครัฐและเอกชน
Roadmap สู่นโยบาย BMA Net Zero: “คำนวณ-ลด-ชดเชย”
หัวใจของนโยบาย “BMA Net Zero” คือหลักการ “C-R-O” ที่ย่อมาจาก…
1. C คือ Calculate (คำนวณ) — การคำนวณปริมาณการปล่อยก๊าซเรือนกระจกอย่างเป็นระบบ ซึ่งจะมีประโยชน์ต่อการกำหนดเป้าหมาย และการสร้างการตระหนักรู้
2. R คือ Reduce (ลด) — การลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกด้วยการเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมและปรับเปลี่ยนโครงสร้างพื้นฐานของหน่วยงานที่เกี่ยวข้องและผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย
3. O คือ Offset (ชดเชย) — การชดเชยปริมาณของก๊าซเรือนกระจกที่ไม่สามารถดำเนินการลดปริมาณได้ ผ่านการปลูกต้นไม้เพื่อดูดซับก๊าซเรือนกระจก รวมถึงสนับสนุนกิจกรรมและโครงการที่ดีต่อสิ่งแวดล้อม เพื่อมาหักล้างกับการปล่อยก๊าซเรือนกระจกที่ยังหลงเหลืออยู่ หรือคาร์บอนเครดิต
“Calculate” — คำนวณปริมาณก๊าซเรือนกระจกที่ กทม. รับผิดชอบโดยตรง
การคำนวณปริมาณการปล่อยก๊าซเรือนกระจก กทม. ต้องวิเคราะห์ปริมาณการปล่อยก๊าซฯ ขององค์กรในสังกัดของ กทม.
ทั้งหมด เริ่มจาก “ตัวอาคาร” ได้แก่ ศาลาว่าการฯ 2 แห่ง, สำนักงานเขต 50 เขต, โรงเรียนในสังกัด 437 โรง, ศูนย์สาธารณสุข 69 แห่ง, ศูนย์กีฬา 12 แห่ง, ศูนย์เยาวชน 35 แห่ง และอื่นๆ โดยจะต้องคำนึงถึงมลพิษจากการใช้พลังงานไฟฟ้า การใช้แอร์ใช้ไฟ รวมถึงมลพิษที่ก่อโดยการเดินทางของผู้ใช้อาคาร
ส่วนยานพาหนะในสังกัด กทม. เช่น รถเก็บขยะ รถเทศกิจ รถรดน้ำต้นไม้ หรือรถของผู้บริหาร จำต้องคำนึงมุ่งเน้นไปที่มลพิษที่มาจากการเผาเชื้อเพลิงโดยตรง และ ต้องคำนวณถึงปริมาณและประเภทของเชื้อเพลิงที่ใช้ด้วยเช่นกัน นอกเหนือจาก “ตัวอาคาร” และ “ยานพาหนะ” ยังต้องคำนึงถึงกระบวนการจัดการขยะซึ่งเป็นแหล่งสำคัญของก๊าซมีเทน (CH4) ซึ่งควรนำผู้เชี่ยวชาญด้านการประเมินการปล่อยก๊าซเรือนกระจกมาช่วยวิเคราะห์ปริมาณการปล่อยและที่มาอย่างละเอียด
“Reduce” — ลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกจากกิจกรรมของ กทม. โดยตรง
หลังจากที่ได้คำนวนปริมาณการปล่อยก๊าซเรือนกระจกแล้ว ขั้นต่อไปคือการ “ลด” หรือการสนับสนุนวิธีการจัดหาอุปกรณ์ที่มีประสิทธิภาพทางพลังงาน และนำเทคโนโลยีต่างๆ มาใช้ เพื่อลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกที่เกิดจากกิจกรรมของ กทม. ได้อย่างมีประสิทธิภาพมากที่สุด โดยแต่ละภาคส่วนของทรัพย์สิน กทม. ต่างๆ ก็ต้องการแนวทางการจัดการที่ต่างกันไป
แบ่งออกเป็น 2 ส่วน คือ ส่วนภายในอาคาร และส่วนภายนอกอาคาร โดยรายละเอียดการจัดการตัวอาคารภายใน ประกอบไปด้วย 5 ส่วนสำคัญ ได้แก่
1. “การส่งเสริมให้ติดตั้งระบบพลังงานทดแทน” อย่างหลังคาโซลาร์เซลล์ หรือเครื่องพลังงานก๊าซชีวภาพ (ถ้าเหมาะสม)
2. “การส่งเสริมอุปกรณ์ประหยัดพลังงาน — Energy Efficiency” เพื่อการลดการใช้พลังงาน เช่น หลอดไฟ LED
3. อุปกรณ์ควบคุมอุณหภูมิอัจฉริยะ (Smart Thermostats)
4. กระจกทึบแสงหรือ หน้าต่างอัจฉริยะ (Smart Windows) เพื่อลดความร้อนในอาคาร
5. ระบบอัจฉริยะ (Smart System) เพื่อควบคุมการปิดระบบไฟฟ้าอัตโนมัตินอกเวลาราชการ และติดตั้งฉนวนกันความร้อนบนฝ้าเพดานของอาคาร เพื่อลดความร้อน 3-4 องศาเซลเซียส และยังช่วยประหยัดไฟจากเครื่องปรับอากาศได้มากถึง 47% เป็นต้น
ส่วนนอกอาคาร นอกเหนือจากการติดตั้งโซลาร์เซลล์บนหลังคาอาคารแล้ว หลังคายังสามารถถูกปรับเปลี่ยนเป็นรูปแบบอื่นๆ ตัวอย่างเช่น “หลังคาสีเขียว — Green Roof” ที่สามารถใช้ปลูกพืชผัก สามารถดูดซับน้ำฝน (เพิ่มประสิทธิภาพการดูดซับน้ำฝนจาก 24-26% เป็น 74-80%) นอกเหนือจากจะช่วยลดความร้อนในอาคารได้แล้วยังสามารถเพิ่มพื้นที่สีเขียวและช่วยลดมลพิษในเมืองได้อีกด้วย หรือ “หลังคาสีขาว — White Roof” ที่ช่วยสะท้อนแสงแดด และช่วยลดอุณหภูมิของตัวอาคาร ซึ่งจะส่งผลให้ใช้พลังงานภายในตัวอาคารน้อยลง
การส่งเสริมการขนส่งและคมนาคมสะอาด เช่น การเปลี่ยนเป็นยานพาหนะต่างๆ ให้เป็นระบบไฟฟ้า EV หรืออย่างน้อยเป็น hybrid โดยมีตัวอย่างจากมีหลายเมืองที่เปลี่ยนรถเก็บขยะเป็นระบบไฟฟ้า นอกจากนั้น การเพิ่มการติดตั้งที่ชาร์จ EV หรือจุดแลกแบตเตอรี่ ในพื้นที่ของ กทม. ที่สามารถอำนวยสะดวกต่อประชาชน ไม่ว่าจะเป็นตามสำนักงานเขตหรือ ตามสวนสาธารณะต่างๆ นอกจากนั้น ก็คือการเพิ่มการติดตั้งที่ชาร์จ EV หรือจุดแลกแบตเตอรี่ ในพื้นที่ของ กทม.
ทั้งนี้อาจรวมถึงการนำร่องสนับสนุนการใช้รถสาธารณะไฟฟ้า หรือ EV Shuttle Bus สำหรับข้าราชการและลูกจ้าง กทม. ที่จะต้องเข้าไปทำงาน เป็นระบบ feeder เชื่อมโยงผู้โดยสารจากบริเวณรถไฟฟ้าสายหลักสู่อาคาร กทม. ต่างๆ เพื่อหลีกเลี่ยงการใช้รถยนต์โดยไม่จำเป็น หรือแม้แต่การสนับสนุนการทำงานจากที่บ้านก็ไม่ควรมองข้าม เพราะเป็นส่วนหนึ่งที่ช่วยลดการปล่อยก๊าซจากการลดการเดินทางคมนาคม
จุดบริการอาหารในหน่วยงานของ กทม. อาจปรับเปลี่ยนการจัดการขยะอาหารที่ย่อยสลายได้ให้ถูกวิธี เพื่อที่จะเสริมสร้างรายได้เสริมคืนกลับไปให้แก่เกษตรกร หรือการดูดก๊าซมีเทนจากหลุมฝังกลบเพื่อนำไปใช้เป็นพลังงาน โดยมีตัวอย่างที่ดำเนินการประสบความสำเร็จ อย่างที่เซาเปาโล ประเทศบราซิล ที่สามารถลดก๊าซเรือนกระจกได้ 76,429 ตันต่อปี และเปลี่ยนก๊าซเป็นพลังงานกว่า 20,000 MWh ต่อปี
Offset — ชดเชยก๊าซเรือนกระจกส่วนที่ยังเหลืออยู่
เมื่อพยายามลดก๊าซเรือนกระจกผ่านทุกวิถีทางเพื่อให้ถึงการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ กทม. จะต้องหาวิธี offset หรือ “ชดเชย” ก๊าซเรือนกระจกที่เหลือ ผ่านการส่งเสริมโครงการที่เก็บกักหรือดูดซับก๊าซเรือนกระจกโดยวิธีทางธรรมชาติ เช่น การเพิ่มพื้นที่สีเขียว หรือการเพิ่มป่าโกงกาง เป็นต้น จากการคำนวณพื้นที่สีเขียว 1 ไร่ จะสามารถปลูกต้นไม้ประมาณ 200 ต้น และสามารถดูดซับก๊าซเรือนกระจกได้ประมาณ 3 ตันต่อปี ทั้งนี้ ต้นยูคาลิปตัสจะมีประสิทธิภาพมากกว่า โดยสามารถดูดซับก๊าซได้ด้วยประมาณ 4 ตันต่อปี ส่วนการปลูกป่าชายเลนนั้นสามารถดูดซับได้ถึงเกือบ 6.5 ตันต่อปี
ยกเป็นตัวอย่างเช่น ถ้าสำนักงานเขตแห่งหนึ่งปล่อยก๊าซเรือนกระจกเทียบเท่ากับ 200 ตันต่อปี ก็จะต้องปลูกต้นไม้บนพื้นที่เกือบ 67 ไร่ เพื่อดูดซับก๊าซเรือนกระจกที่ทางสำนักเขตก่อขึ้น
นอกจากนั้น การซื้อคาร์บอนเครดิตก็จะเป็นอีกแนวทางหนึ่งที่น่าสนใจอย่างยิ่ง เนื่องจาก กทม. จะสามารถนำเครดิตที่ซื้อมาใช้เพื่อเป็นการชดเชย โดยไม่ต้องชดเชยผ่านการการปลูกต้นไม้ ผ่านการเข้าไปสนับสนุนโครงการด้านสิ่งแวดล้อม
ต่างๆ แต่แน่นอนว่าสิ่งสำคัญ คือ การประเมินและตรวจสอบโครงการนั้นๆ ว่าสามารถช่วยลดก๊าซเรือนกระจกตามข้อตกลงได้อย่างมีประสิทธิภาพหรือไม่ มากไปกว่านี้ ในอนาคตอาจจะต้องเริ่มทำโครงการที่สนับสนุนให้ชุมชนปลูกต้นไม่หรือทำโครงการด้านสิ่งแวดล้อม โดย กทม. จะเข้ามาซื้อคาร์บอนเครดิตเอง เพื่อเป็นการพัฒนาแบบ “สองเด้ง” ที่ช่วยส่งเสริมเรื่องสิ่งแวดล้อมและสร้างรายได้เสริมให้ชุมชนไปพร้อมๆ กัน
การเดินทางสู่สังคมปลอดคาร์บอนอย่างยั่งยืน
นโยบายอย่าง BMA Net Zero จะประสบความสำเร็จได้ โดยไร้ข้อกังขาว่าจะเป็นเพียงนโยบายในกระดาษได้นั้น กทม. จะต้องมีความตื่นตัวในการนำกระบวนการ C-R-O มาปรับใช้อย่างเร่งด่วนที่สุด โดยต้องมีการกำหนดแผนงานที่ชัดเจน และต้องสร้างหลักประกันว่า “นโยบายด้านสิ่งแวดล้อม” จะสามารถดำเนินการได้อย่างต่อเนื่อง ไม่ยึดโยงกับวาระของผู้ว่าราชการ กทม. ซึ่งผลสำเร็จของนโยบายนี้จะเป็นก้าวแรกที่สำคัญในการไปสู่สังคมปลอดคาร์บอน แต่การจะไปให้ถึงจุดนั้นได้อย่างแท้จริงนั้น ต้องอาศัยความร่วมมือของทุกภาคส่วนในการที่จะผลักดันสนับสนุน ชักชวน และดึงความความคิดเห็นจากภาคประชาชนมาปรับใช้ เพื่อนำแนวคิดจากหลักการ C-R-O ไปประยุกต์ใช้ให้เหมาะสมกับบริบทของตน แล้วเลขศูนย์ “Zero” นั้นก็จะไม่ไกลเกินเอื้อมอย่างแน่นอน