ThaiPublica > Sustainability > Global Issues > ทำไมการเลือกกินเฉพาะอาหารที่ผลิตในท้องถิ่นอาจไม่ได้ช่วยลดโลกร้อนอย่างที่เราเคยเข้าใจ?

ทำไมการเลือกกินเฉพาะอาหารที่ผลิตในท้องถิ่นอาจไม่ได้ช่วยลดโลกร้อนอย่างที่เราเคยเข้าใจ?

17 กุมภาพันธ์ 2020


ที่มาภาพ: https://skift.com/2020/01/13/carbon-footprint-impact-extends-way-beyond-flights-across-all-of-a-vacation-new-study/

ก๊าซเรือนกระจกในโลก 1 ใน 4 มาจากกระบวนการผลิตอาหาร

การเลือกกินอาหารอย่างเหมาะสมจึงอาจจะช่วยลดคาร์บอนฟุตพริ้นต์(carbon footprint)  และหนึ่งในคำแนะนำที่หลายคนอาจเคยได้ยินมาก็คือการกินอาหาร “ควรกินอาหารที่ผลิตในท้องถิ่น”  แต่เมื่อเร็วๆนี้มีงานวิจัยที่ค้นพบว่า ในความเป็นจริงแล้ว  ในกระบวนการผลิตอาหารนั้น ขั้นตอนการขนส่งมีส่วนปล่อยก๊าซเรือนกระจกในสัดส่วนที่น้อยมาก หากเทียบกับขั้นตอนอื่นๆ และยังมีผลการศึกษาพบด้วยว่า “ชนิดของอาหาร” ต่างหากที่มีส่วนสำคัญต่อการสร้างคาร์บอนฟุตพริ้นต์ (carbon footprint)

Joseph Poore และ Thomas Nemecek ได้สำรวจและเก็บข้อมูลจากฟาร์มเชิงพาณิชย์มากกว่า 38,000 แห่งใน 119 ประเทศ และตีพิมพ์ผลการศึกษาในวารสาร Science เมื่อปี 2018  ระบุว่า จากการเปรียบเทียบการปล่อยก๊าซเรือนกระจกของการผลิตอาหารชนิดต่างๆ 29 ชนิด ตั้งแต่เนื้อสัตว์ไปจนถึงผักผลไม้ พบว่า การผลิตเนื้อวัวมีการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสูงที่สุด และการผลิตถั่วมีการปล่อยก๊าซเรือนกระจกน้อยที่สุด ขณะที่หากพิจารณาปริมาณก๊าซเรือนกระจกที่เกิดในขั้นตอนต่างๆ ตลอดห่วงโซ่การผลิต พบว่า เกิดจากการใช้ที่ดินมากที่สุด ส่วนการขนส่งและบรรจุภัณฑ์มีส่วนปล่อยก๊าซเรือนกระจกน้อย ซี่งก๊าซเรือนกระจกจากภาคการเกษตรมีทั้งคาร์บอนไดออกไซด์ และก๊าซอื่นๆ เช่น มีเทน และไนตรัสออกไซด์

แล้วกระบวนการผลิตอาหารประเภทไหนที่เกิดคาร์บอนฟุตพริ้นต์มากที่สุด…

จากผลการศึกษานี้พบว่า การผลิตอาหารแต่ละชนิดมีการปล่อยก๊าซเรือนกระจกในปริมาณที่แตกต่างกันมาก โดยในภาพรวม การผลิตอาหารประเภทเนื้อสัตว์ทำให้เกิดคาร์บอนฟุตพริ้นต์มากกว่าการผลิตอาหารประเภทพืช เช่น การผลิตเนื้อวัว 1 กิโลกรัม ปล่อยก๊าซเรือนกระจกเทียบเท่าคาร์บอนไดออกไซด์ 60 กิโลกรัม การผลิตแกะและชีส สร้างก๊าซเรือนกระจกมากกว่า 20 กิโลกรัมต่อปริมาณอาหาร 1 กิโลกรัม การผลิตไก่ปล่อยก๊าซเรือนกระจก 6 กิโลกรัม และเนื้อหมูสร้างก๊าซเรือนกระจก 7 กิโลกรัม ส่วนการผลิตถั่ว 1 กิโลกรัม ปล่อยก๊าซดังกล่าวเพียง 1 กิโลกรัมเท่านั้น

เมื่อมองลึกไปที่ขั้นตอนต่างๆ ของการผลิตอาหาร พบว่า…

ก๊าซเรือนกระจกส่วนมากจะถูกปล่อยออกมาจากขั้นตอนการใช้ที่ดิน และขั้นตอนอื่นๆ ของการทำเกษตรกรรม เช่น การใช้ปุ๋ยทุกชนิด การเกิดก๊าซมีเทนในท้องวัว ซึ่งก๊าซเรือนกระจกที่เกิดจากขั้นตอนการใช้ที่ดินและการทำเกษตรกรรมมีสัดส่วนมากกว่า 80% ของคาร์บอนฟุตพริ้นต์ทั้งหมดที่เกิดในการผลิตอาหาร

ส่วนขั้นตอนการขนส่งมีก๊าซเรือนกระจกเกิดขึ้นน้อยกว่า 10% และจะยิ่งน้อยกว่านั้นมากหากแหล่งปล่อยก๊าซมีขนาดใหญ่ เช่น สัดส่วนการปล่อยก๊าซเรือนกระจกในขั้นตอนการขนส่งฝูงวัวอยู่ที่ 0.5% ของก๊าซจากกระบวนการผลิตอาหาร

ขณะเดียวกัน การศึกษาข้อมูลคาร์บอนฟุตพริ้นต์ของอาหารในกลุ่มสหภาพยุโรป (อียู) ได้ข้อสรุปว่า การขนส่งอาหารมีส่วนปล่อยก๊าซเรือนกระจกเพียง 6% เท่านั้น โดยอาหารกลุ่มนม เนื้อสัตว์ และไข่ มีส่วนในการปล่อยก๊าซคิดเป็น 83%

กินอาหารผลิตในท้องถิ่นลดก๊าซเรือนกระจกได้แค่ไหน?

หากพิจารณาจากยอดรวมการปล่อยก๊าซเรือนกระจกแล้ว การกินเนื้อวัวหรือเนื้อแกะท้องถิ่นไม่ได้ต่างจากจากการกินเนื้ออิมพอร์ตเท่าไหร่ เพราะการขนส่งมีส่วนต่อการปล่อยก๊าซเรือนกระจกไม่ถึง 1% ของก๊าซเรือนกระจกที่เกิดจากการผลิตเนื้อวัว ดังนั้น การกินเนื้อท้องถิ่นหรือเนื้ออิมพอร์ตก็มีผลน้อยมากต่อคาร์บอนฟุตพริ้นต์โดยรวม เพราะสิ่งที่มีผลต่อคาร์บอนฟุตพริ้นต์มากที่สุด คือ “ประเภทของอาหาร” คือ เนื้อวัว ไม่ได้ขึ้นอยู่กับ “แหล่งผลิต”

ประเด็นนี้  Christopher Weber และ Scott Matthews เคยทำการศึกษาเรื่องระยะทางขนส่งอาหารและตัวเลือกอาหารของครัวเรือนในสหรัฐอเมริกาที่มีผลต่อสภาพอากาศ และได้เผยแพร่ผลการศึกษาในวารสารEnvironmental Science & Technology ว่า การกินอาหารประเภทไก่ ปลา ไข่ หรืออาหารที่ทำจากพืช ทดแทนเนื้อวัวและผลิตภัณฑ์นม ในปริมาณที่ให้แคลอรี่เท่ากัน เป็นเวลา 1 วันต่อสัปดาห์ ช่วยลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกได้มากกว่าการซื้ออาหารทั้งหมดจากแหล่งผลิตท้องถิ่น

ขณะที่จากการวิเคราะห์ข้อมูลการใช้จ่ายของผู้บริโภค พบว่า การบริโภคอาหารของครัวเรือนอเมริกันทั่วไปจะสร้างก๊าซเรือนกระจกปีละประมาณ 8 ตันเทียบเท่าคาร์บอนไดออกไซด์ ซึ่งการขนส่งอาหารมีส่วนปล่อยก๊าซเพียง 5% เท่านั้น หมายความว่า หากกินอาหารที่ผลิตในท้องถิ่นทั้งหมด ก็จะลดคาร์บอนฟุตพริ้นต์ได้สูงสุดแค่ 5% เท่านั้น

แต่หากงดกินเนื้อวัวและผลิตภัณฑ์นม และหันมากินไก่ ปลา หรือไข่ ทดแทนเพียง 1 วันต่อสัปดาห์ จะลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกได้ 0.3 ตันเทียบเท่าคาร์บอนไดออกไซด์ และหากกินอาหารจากพืชแทนจะลดการปล่อยก๊าซได้ 0.46 ตันเทียบเท่าคาร์บอนไดออกไซด์

พูดได้ว่า หากงดกินเนื้อวัวและผลิตภัณฑ์นมสัปดาห์ละครั้งจะลดการปล่อยก๊าซได้เท่ากับการกินอาหารที่ผลิตในท้องถิ่น

นอกจากนี้ยังมีบางกรณีที่การกินอาหารท้องถิ่นทำให้เกิดก๊าซเรือนกระจกมากกว่าเดิม เพราะโดยส่วนใหญ่ ประเทศต่างๆ จะสามารถปลูกและเก็บเกี่ยวพืชได้ในฤดูใดฤดูหนึ่งเท่านั้น แต่ถ้าผู้บริโภคต้องการอาหารดังกล่าวทั้งปี ก็มี 3 ทางเลือกหลัก คือ นำเข้าอาหารจากต่างประเทศ ปลูกพืชโดยต้องใช้พลังงานสูง เช่น ปลูกพืชในเรือนกระจก เพื่อให้มีผลผลิตทั้งปี หรือยืดอายุอาหารด้วยการเก็บในตู้เย็นหรือถนอมอาหารด้วยวิธีอื่น ซึ่งการนำเข้าอาหารจากต่างประเทศจะสร้างคาร์บอนฟุตพริ้นต์น้อยที่สุด

อย่างไรก็ตาม แม้การขนส่งอาหารจะมีส่วนก่อให้เกิดก๊าซเรือนกระจกน้อย แต่หากเป็นการขนส่งโดยเครื่องบินก็จะปล่อยก๊าซเรือนกระจกสูงมาก ตามปกติการขนส่งโดยเครื่องบินจะปล่อยก๊าซเรือนกระจกเทียบเท่าคาร์บอนไดออกไซด์สูงกว่าการขนส่งทางเรือถึง 50 เท่า ต่อตันกิโลเมตร ซึ่งโดยทั่วไป อาหารกลุ่มที่ต้องขนส่งทางอากาศจะเป็นผักและผลไม้บางชนิด เช่น หน่อไม้ฝรั่ง และเบอร์รี่ ดังนั้น หากต้องการช่วยลดคาร์บอนฟุตพริ้นต์ ก็ควรหลีกเลี่ยงอาหารที่มีอายุวางจำหน่ายสั้นมาก หรือต้องขนส่งระยะไกลในเวลาอันรวดเร็วเพื่อรักษาความสดของอาหาร

จากข้อมูลข้างต้น จะเห็นได้ว่า หากต้องการช่วยโลกลดคาร์บอนฟุตพริ้นต์ การเลือกชนิดอาหารที่กินมีผลมากกว่าการเลือกกินเฉพาะอาหารที่ผลิตในท้องถิ่น เพราะแค่กินเนื้อวัวและนมให้น้อยลง หันมากินไก่ หมู หรืออาหารจากพืชทดแทนก็ช่วยลดคาร์บอนฟุตพริ้นต์ได้มากกว่าแล้ว

เรียบเรียงจาก :https://ourworldindata.org/food-choice-vs-eating-local?fbclid=IwAR3ZNTQjswyhNyrTBZRgPy0i1yr93JIhoIqamGNCrp7MBA8ms3JgzJVgNY4#note-2