ThaiPublica > Sustainability > Contributor > ความสัมพันธ์ของบริษัทระดับโลกกับปัญหาขยะอิเล็กทรอนิกส์

ความสัมพันธ์ของบริษัทระดับโลกกับปัญหาขยะอิเล็กทรอนิกส์

15 กุมภาพันธ์ 2021


พรพรหม วิกิตเศรษฐ์

ที่มาภาพ : https://www.apple.com

ปัจจุบันนี้ปฏิเสธไม่ได้ว่าผลิตภัณฑ์ iPhone ถือว่าเป็นหนึ่งในผลิตภัณฑ์ที่มีความนิยมมากที่สุดทั่วโลกและพอมีการเปิดตัวรุ่นใหม่ทุกๆครั้งก็จะเป็นที่จับตามองอย่างมาก โดยเฉพาะรอบล่าสุดเมื่อเดือนตุลาคม 2563 ที่เปิดตัว iPhone 12

นอกเหนือจากเทคโนโลยีใหม่ๆและการออกแบบที่สวยหรู ประเด็นที่มีการพูดถึงอย่างมากคือการที่อุปกรณ์เสริมของรุ่นนี้มีแค่สายชาร์จ ไม่มีหัวปลั๊กและหูฟังเหมือนรุ่นก่อนๆ บริษัท Apple ให้เหตุผลว่าเป็นความตั้งใจในการช่วยรักษาสิ่งแวดล้อมเพราะจะทำให้ใช้แพคเกจจิ้งน้อยลงซึ่งจะช่วยต่อการลดรอยเท้าคาร์บอน (Carbon Footprint) จากการขนส่ง

ประเด็นนี้เลยกลายเป็นที่ถกเถียงอย่างมาก มีคนบางกลุ่มชื่นชมความพยายามของ Apple ในการทำตามเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืนที่องค์การสหประชาชาติกำหนด (UN Sustainable Development Goal) ในเป้าหมายที่ 12 “ความรับผิดชอบในการผลิตและบริโภค” (Responsible and Production)

แต่แน่นอนว่าก็มีข้อวิจารณ์มากมาย เช่นหน่วยงานคุ้มครองผู้บริโภคในรัฐเซาเปาโล ในประเทศบราซิล ได้ออกคำสั่งให้ Apple ต้องให้หัวชาร์จมาในกล่อง iPhone เพราะเหตุผลทางสิ่งแวดล้อมไม่มากพอ ซึ่งหากไม่ปฏิบัติบริษัทอาจต้องเจอค่าปรับสูงถึง 75,000 ยูโร หรือประมาณ 2.75 ล้านบาท

ที่มาภาพ : https://www.ifixit.com/News/9580/fix-your-iphone-battery-yourself

นอกเหนือจากนั้น วันที่ 26 พ.ย. 2563 รายงานจากคณะกรรมการตรวจสอบสิ่งแวดล้อมของรัฐสภาสหราชอาณาจักร (Environmental Audit Committees – EAC) ออกมาว่าบริษัท Apple มีส่วนเกี่ยวข้องกับปัญหาขยะอิเล็กทรอนิกส์ในโลก
รายงานนี้ได้ตั้งข้อสังเกตว่า Apple นั้นวางแผนออกแบบผลิตภัณฑ์ให้มีอายุการใช้งานสั้นกว่าที่ควร อีกทั้งยังป้องกันไม่ให้ผู้บริโภคแยกชิ้นส่วนผลิตภัณฑ์เพื่อการซ่อมแซมด้วยตนเอง ซึ่งนำไปสู่ต้นทุนการซ่อมผลิตภัณฑ์ที่สูง และในเมื่อมีค่าใช้จ่ายในการซ่อมแซมสูง ผู้บริโภคเลยมักจะตัดสินใจเปลี่ยนผลิตภัณฑ์แทนเลย

ในรายงานแจ้งว่าปัจจุบันสหราชอาณาจักรเป็นประเทศที่มีจำนวนขยะอิเล็กทรอนิกส์มากที่สุดเป็นอันดับสองรองจากนอร์เวย์ ในปี 2017 จำนวนขยะอิเล็กทรอนิกส์ทั่วโลกมีจำนวนมากถึง 44.7 ล้านตัน โดย 9 ใน 10 ถูกกำจัดอย่างไม่ได้มาตรฐาน เช่น การฝังกลบ, เผาทิ้ง, ค้าขายโดยผิดกฎหมาย นอกเหนือจากนั้นทาง Basel Action Network เผยข้อมูลว่าทุกๆปีทางสหภาพยุโรปส่งออกขยะอิเล็กทรอนิกส์ถึง 1.3 ล้านตันซึ่งประเทศที่มีส่วนในเรื่องนี้มากที่สุดคือสหราชอาณาจักร

ปลายทางของขยะอิเล็กทรอนิกส์หนีไม่พ้นประเทศในทวีปเอเชียโดยเฉพาะในอาเซียน เมื่อก่อนไทยเราก็เป็นอันดับต้นๆแต่นานมานี้เมื่อเดือนตุลาคม รัฐบาลประกาศแบนการนำเข้าสินค้าอิเล็กทรอนิกส์ 148 ชนิด โดยมีโทษสูงสุดคือจำคุกถึง 10 ปี ถือว่าเป็นข่าวดีอย่างยิ่ง

วันนี้โลกให้ความสนใจอย่างมากเกี่ยวกับประเด็นขยะอิเล็กทรอนิกส์ เหตุผลสำคัญเพราะว่าขยะอิเล็กทรอนิกส์นั้นประกอบไปด้วยวัสดุต่างๆมากถึง 60 ชนิด ซึ่งการเกิดปฏิกิริยาเคมีจากวัสดุข้างในมีความอันตรายสูง หากมีการกำจัดอย่างผิดวิธีจะมีผลกระทบต่อผู้คนได้จากการเกิดสารพิษเจือปนในเนื้อดิน

แต่ในความอันตรายนั้นก็มีโอกาสอยู่เช่นกัน ขยะอิเล็กทรอนิกส์ทั่วโลกนั้นมีมูลค่าสูงถึงประมาณ 62.5 ล้านดอลลาร์ มีทอง,เงิน,ทองแดง,แพลตตินัมและธาตุหายาก (REEs) เป็นส่วนประกอบ ซึ่งวัสดุเหล่านี้มีความต้องการสูงแถมยังมีความสำคัญต่อระบบเศรษฐกิจที่ปราศจากคาร์บอน หรือ carbon-free economy ของอนาคต การทิ้งวัสดุเหล่านี้เปล่าๆโดยไม่มีการนำกลับมาใช้ใหม่(Reuse) และแปรรูปมาใช้ใหม่ (Recycle) จะทำให้เสียโอกาสไปอย่างมหาศาล

Philip Dunne สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรและประธาน EAC กล่าวว่า “การที่ไม่มีโอกาสนำวัสดุล้ำค่าเหล่านั้นกลับมาได้ก่อให้เกิดปัญหาใหญ่เนื่องจากวัสดุเหล่านั้นเป็นส่วนประกอบสำคัญสำหรับพลังงานหมุนเวียน (Renewable Energy) อาทิเช่น พลังงานลม, แผงโซล่าเซลล์ และ แบตเตอรี่รถยนต์ไฟฟ้า”

ที่มาภาพ : https://www.ifixit.com/News/31548/the-10-things-likely-to-go-wrong-when-fixing-a-phone-or-laptop

ทาง EAC มีข้อเสนอในการแก้ปัญหาที่สำคัญหลายประเด็น ซึ่งแม้ข้อเสนอนี้จะเจาะจงไปที่รัฐบาลสหราชอาณาจักรแต่จะเป็นประโยชน์อย่างยิ่งสำหรับรัฐบาลไทยที่จะศึกษาข้อเสนอเหล่านี้และนำมาใช้แก้ปัญหาภายในประเทศ

อย่างแรกคือการออกกฎหมาย “สิทธิในการซ่อมแซม” หรือ “Right to Repair” ทางองค์กร iFixit (เว็บไซต์สอนการซ่อมแซมผลิตภัณฑ์) กล่าวว่าผู้บริโภคต้องมีสิทธิในการซ่อมสิ่งของของตัวเองได้อย่างอิสระแทนที่จะถูกจำกัดโดยผู้ผลิตสินค้า มีสิทธิในการเข้าถึงคู่มือการใช้และเครื่องมือตรวจเช็คอุปกรณ์ที่ทางบริษัทซ่อมบำรุงใช้ และมีสิทธิในการปลดล็อคและเจลเบรคซอฟแวร์ของอุปกรณ์

สหภาพยุโรปได้มีการเริ่มมาตรฐานการซ่อมขั้นต่ำ หรือ “Minimum Repairability Requirements” สำหรับสินค้าอุปกรณ์ไฟฟ้าที่ซื้อขายในตลาดอียูตั้งแต่โทรทัศน์ถึงเครื่องล้างจาน มาตรฐานนี้ผู้ประกอบการถูกกำหนดให้มีหน้าที่ที่จะต้องเก็บอะไหล่สำรองเป็นระยะเวลา 7 ถึง 10 ปีและสามารถจัดส่งถึงผู้บริโภคได้ภายใน 15 วันทำการ อีกทั้งต้องเปิดเผยข้อมูลการซ่อมแซมและรักษาแก่ช่างฝีมือทั่วไป

อย่างที่สองคือการลดภาษีมูลค่าเพิ่ม (VAT) ของค่าซ่อมผลิตภัณฑ์อิเล็กทรอนิกส์ ซึ่งจะช่วยลดต้นทุนค่าซ่อมและดึงดูดให้คนเลือกที่จะซ่อมอุปกรณ์แทนการซื้อชิ้นใหม่ นอกเหนือจากนั้นยังมีกลไกภาษีอื่นๆนอกเหนือจาก เช่น ในประเทศสวีเดน 50% ของค่าแรงการซ่อมอุปกรณ์สามารถลดหย่อนภาษีได้ หรือในประเทศออสเตรียค่าแรงเหล่านี้สามารถเบิกได้

อย่างสุดท้ายคือรัฐบาลควรบังคับให้ผู้ผลิตติดป้ายที่ให้ข้อมูลอายุการใช้งานของอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์แต่ละชนิดและกำหนด “Repairability Score” ดัชนีคะแนนความง่ายในการซ่อมอุปกรณ์ โดยดัชนีนี้จะถูกคำนวณจากการออกแบบอุปกรณ์ ราคาของอะไหล่อุปกรณ์ ความง่ายในการซ่อมอุปกรณ์ด้วยตนเอง และความสะดวกในการแปรรูปมาใช้ใหม่ (Recycle) และกำจัดขยะ (Waste Dismantlable)

ที่มาภาพ : https://www.ifixit.com/News/category/fixers/repair-stories

ถึงแม้วันนี้ประเทศไทยจะมีการห้ามนำเข้าขยะอิเล็กทรอนิกส์จากต่างประเทศแล้วแต่อย่าลืมว่าจำนวนขยะอิเล็กทรอนิกส์ในประเทศยังมีอีกมหาศาล ปัจจุบันอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์เป็นสิ่งพื้นฐานที่ทุกคนต้องใช้ในชีวิตประจำวันและปริมาณการใช้จะเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ การร่วมมือกันของผู้มีส่วนเกี่ยวข้องจึงจำเป็นอย่างยิ่ง โดยฝั่งผู้ผลิตต้องปรับธุรกิจของตนเองให้มีความรับผิดชอบในการผลิตมากขึ้น ฝั่งรัฐบาลต้องมีกฎเหมายและการบังคับใช้ที่ดี และฝั่งผู้บริโภคก็ต้องเริ่มตื่นตัวกับประเด็นนี้เพิ่มมากขึ้นเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมไปในทิศทางที่ถูกต้อง