ThaiPublica > เกาะกระแส > สหรัฐฯ เคลียร์ปมทุ่มสร้างกงสุลเชียงใหม่ เพิ่มอำนาจในภูมิภาคอินโด-แปซิฟิก?

สหรัฐฯ เคลียร์ปมทุ่มสร้างกงสุลเชียงใหม่ เพิ่มอำนาจในภูมิภาคอินโด-แปซิฟิก?

30 มีนาคม 2022


สำนักงานกงสุลใหญ่ประจำจังหวัดเชียงใหม่ แห่งใหม่ ของสหรัฐอเมริกา

สหรัฐเคลียร์ปมทุ่มงบสร้างกงสุลเชียงใหม่ ไม่มีนัยทางการเมืองในภูมิภาคอินโด-แปซิฟิก ขณะที่นักวิชาการแนะจับตาใช้ภาคเหนือเป็นยุทธศาสตร์ สกัดการขยายอิทธิพลของจีน

การก่อสร้างสำนักงานกงสุลใหญ่ประจำจังหวัดเชียงใหม่ แห่งใหม่ ของสหรัฐอเมริกา ที่ใช้งบประมาณกว่า 280 ล้านเหรียญ หรือเกือบ 9,000 ล้านบาท บนพื้นที่ขนาด 16 ไร่ติดถนนซูเปอร์ไฮเวย์ของเชียงใหม่ ซึ่งตัวอาคารเน้นผสมผสานความเป็นวัฒนธรรมล้านนา และเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม อาจจะเป็นสัญลักษณ์ที่มีความหมายมากกว่าสำนักงานแห่งใหม่ และถูกตั้งข้อสังเกตว่าอาจจะเป็นหนึ่งในยุทธศาสตร์อินโด-แปซิฟิก ที่ถือเป็นยุทธศาสตร์สำคัญของสหรัฐฯ ที่จะกลับมาดูแลความสัมพันธ์กับประเทศแถบลุ่มแม่น้ำโขงอีกครั้ง ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของ “ยุทธศาสตร์ต้านจีน” หรือไม่

สหรัฐฯ เคลียร์ปมเพิ่มอำนาจในภูมิภาค

ในการพบปะสื่อมวลชนเพื่อแถลงถึงความคืบหน้าในการก่อสร้างกงสุล เมื่อเร็วๆ นี้นายฌอน เค. โอนีลล์ กงสุลใหญ่สหรัฐอเมริกา ประจำจังหวัดเชียงใหม่ ได้ชี้แจงข้อสงสัยต่างๆ ในหลายประเด็น โดยยืนยันว่าการสร้างสถานกงสุลฯ แห่งใหม่ไม่ใช่การลงทุนที่สหรัฐอเมริกาทำเพื่อเพิ่มอำนาจในภูมิภาคนี้ตามที่มีข่าวลือออกมาจากหลายฝ่าย แต่เป็นการพัฒนาการให้บริการ เพื่อรับรองผู้ที่มาติดต่อราชการทั้งชาวไทยและชาวอเมริกันใน 15 จังหวัดภาคเหนือของประเทศไทย จำนวนกว่า 12 ล้านคน ให้มีประสิทธิภาพ มีความสะดวกสบาย มีเทคโนโลยีที่ทันสมัยมากขึ้น

กงสุลใหญ่สหรัฐอเมริกา ประจำจังหวัดเชียงใหม่ อธิบายเหตุผลที่ทำให้ต้องย้ายจากที่ทำการเดิมที่เป็นบ้านเรือนไทยโบราณและมีความสำคัญทางประวัติศาสตร์ว่า แม้พวกเราจะมีความภูมิใจที่ใช้เป็นสถานที่แห่งนี้ที่ใช้เป็นสถานที่ทำงานมานานกว่า 72 ปี แต่สถานที่แห่งนี้ก็ไม่ได้ออกแบบมาเพื่อเป็นออฟฟิศตั้งแต่ต้น

และเมื่อ 2-3 ปีที่ผ่านมา เราตระหนักว่าได้อยู่ที่ทำงานชั่วคราวมานานแล้ว จึงเวลาที่เหมาะสมก็ต้องย้ายไปสู่สถานที่ทำงานใหม่ ที่ออกแบบเพื่อเป็นอาคารออฟฟิศที่ทันสมัย มีเทคโนโลยีใหม่ มีมาตรฐานความปลอดภัยและเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมมากขึ้น

สถานกงสุลเชียงใหม่ที่ใช้มานานกว่า 72 ปี

ส่วนข่าวลืออีกประเด็นที่ว่าสถานกงสุลเชียงใหม่ที่อยู่ระหว่างการก่อสร้างเป็นที่ซ่องสุมอาวุธยุทธโทปกรณ์ และมีลานจอดเฮลิคอปเตอร์นั้น นายฌอนปฏิเสธว่าข่าวดังกล่าวไม่เป็นความจริง สหรัฐฯ ไม่มีการก่อสร้างหรือการจัดเก็บอาวุธใดๆ หรือแม้แต่ลานจอดเฮลิคอปเตอร์ เพราะการก่อสร้างทุกอย่างไม่สามารถเป็นความลับได้ เนื่องจากอเมริกามีกงสุลใหญ่แห่งเดียวที่ จ.เชียงใหม่ และเป็น 1 ใน 5 ประเทศที่มีสถานกงสุลตั้งอยู่ที่เชียงใหม่ ขณะที่สหรัฐฯ มีกงสุลในเชียงใหม่มานานกว่า 72 ปีแล้ว เรื่องเหล่านี้จึงเป็นเรื่องที่ตรวจสอบได้

“น่าเสียดายที่คนไปสนใจในข่าวลือลักษณะดังกล่าว ทุกครั้งที่อเมริกาดำเนินการก่อสร้างสถานกงสุลใหม่ ไม่ว่าจะเป็นที่ไหน หรือประเทศใด ก็มักจะมีข่าวลือทำนองนี้ออกมาเสมอ จึงอยากให้สนใจการทำงานร่วมกันของเรา และเราเป็นประเทศที่เปิดเผยข้อมูลมาตลอด มีตัวอย่างแบบแปลนอาคารชัดเจน มีโมเดลการก่อสร้าง ซึ่งสิ่งต่างๆ เหล่านี้ไม่ใช่ความลับอะไรเลย” นายฌอนกล่าว

ขณะที่ความสัมพันธ์ระหว่างไทยกับสหรัฐฯ ก็มีมาอย่างยาวนาน โดยตลอด 72 ปีสหรัฐฯ ทำงานร่วมกับพันธมิตรชาวไทย ทำงานส่งเสริมด้านสาธารณสุข รวมไปถึงปัญหาสิ่งแวดล้อม เรื่องปัญหาฝุ่น โดยสหรัฐฯ ได้สนับสนุนไทยปกป้องสิ่งแวดล้อมบริจาคเงินกว่า 100,000 ดอลลาร์หรือ 3 ล้านบาท เพื่อช่วยทางการไทยในการต่อสู้กับไฟป่าและป้องกันมลพิษทางอากาศ

ส่วนในเรื่องการศึกษา ร่วมกับเทศบาลเมืองเชียงใหม่ในเรื่องการเรียนการสอนแบบ 2 ภาษาเพื่อให้เด็กในพื้นที่ได้มีโอกาสมากขึ้น ด้านเศรษฐกิจร่วมมือกับหน่วยงานในพื้นที่ทางภาคเหนือ เช่น ได้ร่วมมือกับหน่วยงานบังคับใช้กฎหมายของไทยหยุดผู้ค้ายาเสพติด ขบวนการค้ามนุษย์ตามแนวชายแดน และอาชญากรระหว่างประเทศที่พยายามปฏิบัติการในภาคเหนือของประเทศไทย

นายฌอน เค. โอนีลล์ กงสุลใหญ่สหรัฐอเมริกา ประจำจังหวัดเชียงใหม่ (ซ้าย) และนายไมเคิล โกรอาร์ค ผู้อำนวยการโครงการก่อสร้างสถานกงสุลใหญ่สหรัฐอเมริกา ประจำเชียงใหม่แห่งใหม่ (ขวา)

เปิดโมเดลกงสุลใหม่ไม่มีที่เก็บอาวุธ

ด้วยแรงบันดาลใจดั้งเดิมของบ้านทรงล้านนาของพื้นที่ภาคเหนือทำให้การออกแบบกงสุลแห่งใหม่จึงเป็นศิลปะร่วมสมัย โดยนายไมเคิล โกรอาร์ค ผู้อำนวยการโครงการก่อสร้างสถานกงสุลใหญ่สหรัฐอเมริกา ประจำเชียงใหม่แห่งใหม่ บอกว่า อาคารสำนักงานของกงสุลจะเป็นแบบร่วมสมัย ลักษณะสถาปัตยกรรมแบบล้านนาโบราณ ถอดแบบ “ศาลา” แบบล้านนา ซึ่งมีลักษณะเป็นระเบียงเปิดโล่งเพื่อใช้จัดงานที่เป็นทางการ โดยการใช้พื้นที่สาธารณะจะกั้นพื้นที่ส่วนต่างๆ ของอาคารออกจากกัน

มีการจัดแบ่งพื้นที่ใช้ประโยชน์สาธารณะ ที่เน้นชุมชนเป็นศูนย์กลาง เป็นระเบียงเปิดโล่งอยู่ใต้ร่มเงาของแผงกันแดด เพื่อให้ผู้เข้ามาใช้บริการสามารถมาใช้ประโยชน์ได้ โดยออกแบบเพื่อให้เป็นพื้นที่นั่งเล่นได้ใต้ร่มเงาของต้นไม้

ขณะที่พื้นที่สาธารณะเปิดโล่งและยกพื้นสูง โดยรอบพื้นที่จะปรับภูมิทัศน์ด้วยสีเขียวของต้นไม้ท้องถิ่นภาคเหนือทำให้เป็นอาคารที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม

ส่วนอื่นองค์ประกอบอื่นๆ ของอาคารจะเน้นระบบความปลอดภัย มีระบบควบคุมอาคารอัตโนมัติ และเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมด้วยการติดตั้งสุขภัณฑ์ประหยัดน้ำ กรอบอาคารที่ช่วยปรับลดอุณหภูมิภายใน โดยโครงสร้างรอบภายนอกอาคารจะใช้แผงบังแดด ทั้งหมดเพื่อรับกับการเปลี่ยนแปลงสภาพอากาศ

ผู้อำนวยการโครงการก่อสร้างสถานกงสุลใหญ่สหรัฐอเมริกาบอกว่า เป้าหมายการก่อสร้างครั้งนี้ เน้นเรื่องของความปลอดภัยและมาตรฐานการก่อสร้างที่จะได้รับการรับรองมาตรฐาน Leadership in Energy and Environmental Design (LEED®) ระดับ Silver ซึ่งเป็นมาตรฐานสากลในเรื่องความปลอดภัยและเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม

แปลนพื้นที่กงสุลใหม่สหรัฐ เชียงใหม่

นักวิชาการจับตา สหรัฐฯ เดิน “ยุทศาสตร์สกัดอิทธิพลจีน”

แม้สหรัฐฯ จะปฏิเสธเรื่องการสร้างกงสุลใหม่เป็นหนึ่งในยุทธศาสตร์ต้านจีน แต่ในมุมของนักวิชาการที่ศึกษาเรื่องสหรัฐอย่าง ผศ. ดร.ประพีร์ อภิชาติสกล อาจารย์ประจำภาควิชารัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ อุปนายกสมาคมอเมริกาศึกษาในประเทศไทย เห็นว่า การทุ่มงบประมาณเพื่อสร้างกงสุลสหรัฐฯ ประจำเชียงใหม่ มีเหตุผลมากกว่าเรื่องการขยายสถานที่การบริการที่สะดวกสบายปลอดภัยให้กับประชาชน

แต่เหตุผลหลักน่าจะมาจากยุทธศาสตร์ “อินโด-แปซิฟิก” ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของยุทธศาสตร์ที่ใช้สกัดกั้นการแพร่อิทธิพลของจีน โดยถือเป็นยุทธศาสตร์สำคัญที่สหรัฐฯ จะกลับมาดูแลความสัมพันธ์กับประเทศแถบลุ่มแม่น้ำโขง

“สหรัฐฯ คงไม่ออกมาพูดตรงๆ ว่าสิ่งเหล่านี้เป็นส่วนหนึ่งของยุทธศาสตร์อินโด-แปซิฟิก แต่สหรัฐฯ ได้ดำเนินงานผ่านการสร้างความร่วมมือกับประเทศในแถบบลุ่มน้ำโขงในลักษณะการสนับสนุนโครงการความร่วมมือต่างๆ จำนวนมากในพื้นที่ลุ่มน้ำโขง โดยเฉพาะในช่วงที่ ‘โจ ไบเดน’ เป็นประธานาธิบดีสหรัฐฯ แสดงให้เห็นว่า สหรัฐฯ สนใจฟื้นความสัมพันธ์กับประเทศแถบนี้ การตั้งกงสุลที่มีขนาดใหญ่ขึ้น จึงน่าจะมีความสำคัญทางยุธศาสตร์เช่นกัน”

ผศ. ดร.ประพีร์ อภิชาติสกล อาจารย์ประจำภาควิชารัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ อุปนายกสมาคมอเมริกาศึกษาในประเทศไทย

ผศ. ดร.ประพีร์ ยังชี้ให้เห็นว่า สหรัฐฯ เริ่มให้ความสำคัญกับภูมิภาคแถบนี้ จะเห็นได้จากการเป็นแกนนำจับมือกับชาติพันธมิตรอย่างอินเดีย ญี่ปุ่น และออสเตรเลีย ในแผนความร่วมมือ Quad หรือ Quadrilateral Security Dialogue และพันธมิตร AUKUS หรือสนธิสัญญาออสเตรเลีย-สหราชอาณาจักร-สหรัฐอเมริกา ซึ่งเป็นความร่วมมือที่ถูกมองว่ามีขึ้นเพื่อตอบโต้การแผ่อิทธิพลของจีนในภูมิอาเซียนและทะเลจีนใต้

อย่างไรก็ตาม ผศ. ดร.ประพีร์ ไม่เชื่อว่าสหรัฐฯ จะมีการซ่องสุมอาวุธตามที่มีข่าวลือ แต่น่าจะเป็นเรื่องของการติดตามรวบรวมข้อมูลและข่าวสารในประเทศแถบลุ่มน้ำโขง เพื่อพัฒนาความร่วมมือในโครงการต่างๆ ร่วมกัน ซึ่งพื้นที่จังหวัดเชียงใหม่มีความเหมาะสมเพราะถือเป็นศูนย์กลางและอยู่ใกล้เคียงกับประเทศแถบนี้

ไม่แตกต่างจากความเห็นของ ดร.อักษรศรี พานิชสาส์น ผู้เชี่ยวชาญเศรษฐกิจจีนตั้งข้อสังเกตว่า มหาอำนาจทั้งสองประเทศ คือ ทั้งจีนและสหรัฐฯ ต่างให้ความสำคัญกับภาคเหนือของไทย มีหลายฝ่ายวิเคราะห์ในประเด็นสหรัฐอเมริกาอาจจะใช้ภาคเหนือของไทยเป็นฐานปฏิบัติการสอดแนมกองทัพจีน โดยมีเป้าหมาย พื้นที่มณฑลชิงไห่ (Qinghai) ซึ่งเป็นฐานปฏิบัติการของกองทัพจีน (PLA)

กองทัพจีนมีฐานปฏิบัติการสำคัญในการยิงขีปนาวุธของกองทัพจีนไปยังทะเลจีนใต้อยู่ที่มณฑลชิงไห่ ซึ่งจากแผนที่ประกอบพบว่า มณฑลชิงไห่อยู่แนวเดียวกับภาคเหนือของไทย

ดังนั้น ภาคเหนือของไทยจึงถือว่าเป็นพื้นที่เชิงยุทธศาสตร์สำหรับประเทศมหาอำนาจทั้งหลาย

นอกจากนี้ ในส่วนของจีนก็ให้ความสำคัญกับภาคเหนือของไทย โดยเฉพาะในพื้นที่ลุ่มแม่น้ำโขงที่กำลังจะทวีความสำคัญในเชิงยุทธศาสตร์มากขึ้นหลังจากที่จีนยุคสีจิ้นผิงได้ผลักดันกรอบความร่วมมืออนุภูมิภาค Lancang-Mekong Cooperation (LMC) หรือที่ไทยเรียกว่าความร่วมมือล้านช้างแม่โขง ซึ่งจีนริเริ่มขึ้นเอง เพื่อมาแทนที่กรอบ GMS หรือ Greater Mekong Subregion ที่ริเริ่มโดยธนาคาร ADB โดยมีญี่ปุ่นเป็นแกนนำ

ดร.อักษรศรี เห็นว่า การขยับ strategic move ของสองมหาอำนาจในจังหวัดเชียงใหม่ จึงชัดเจนว่า ภาคเหนือของไทยนับเป็น strategic location ที่ทั้งจีนและสหรัฐฯ ต้องการจะใช้เป็นพื้นที่สำคัญในการปฏิบัติการด้านความมั่นคงเชิงยุทธศาสตร์ ซึ่งฝ่ายความมั่นคงของไทยจำเป็นต้องรู้เท่าทันเกมของทั้ง 2 ชาติมหาอำนาจในประเด็นนี้ด้วย

สถานกงสุลใหญ่แห่งใหม่ได้เริ่มก่อสร้างแล้ว โดยจ้างแรงงานในท้องถิ่นกว่า 400 คนซึ่งตามแผนจะก่อสร้างเสร็จสิ้นในปี 2566 แต่ต้องจับตาว่าจะเป็นสัญญาณที่แสดงให้เห็นว่าสหรัฐฯ มีความมุ่งมั่นต่อพื้นที่ภาคเหนือของไทยในอนาคตอย่างไร