ThaiPublica > เกาะกระแส > “สุวิทย์ เมษินทรีย์” ชี้ประเทศไทยถึงเวลาต้องขับเคลื่อน The Second Great Reform ภารกิจที่ No Pain, No Gain

“สุวิทย์ เมษินทรีย์” ชี้ประเทศไทยถึงเวลาต้องขับเคลื่อน The Second Great Reform ภารกิจที่ No Pain, No Gain

12 มีนาคม 2022


ดร.สุวิทย์ เมษินทรีย์ อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม

เมื่อเร็ว ๆ นี้ ดร.สุวิทย์ เมษินทรีย์ อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม ได้ทดลองสำรวจความคิดเห็นผู้บริหารระดับสูงทั้งในภาครัฐและเอกชน 40 รายเกี่ยวกับสภาพสังคมไทยในปัจจุบัน พบว่า เกือบทั้งหมด หรือ 92-94% ไม่เห็นด้วยกับคำกล่าวที่ว่า สังคมไทยเป็น Clean & Clear Society สังคมไทยเป็น Free & Fair Society ขณะที่ 61% ไม่เห็นด้วยว่า สังคมไทยเป็น Care & Share Society มีเพียง 15% ที่ค่อนข้างเห็นด้วยว่าสังคมไทยเป็น Care & Share Society และเมื่อมาถึงคำถามสำคัญ คือ อนาคตของประเทศไทยในอีก 5 ปีข้างหน้า จะไปในทิศทางใด ระหว่างอนาคตที่มืดมน (Bleak Future) กับอนาคตที่สดใส (Brighter Future) ผลสำรวจพบว่า ส่วนใหญ่ 63% เห็นว่าอนาคตมืดมนหรือค่อนข้างมืดมน มีเพียง 9% เห็นว่าอนาคตค่อนข้างสดใส ส่วนอีก 23% เห็นว่าอนาคตไม่แตกต่างจากสภาพที่เป็นอยู่ในปัจจุบัน

ดร.สุวิทย์ เห็นว่า ภายใต้พลวัตโลกที่เต็มไปด้วยความเสี่ยง วิกฤติ และภัยคุกคาม การขาดซึ่ง Clean & Clear, Free & Fair และ Care & Share ในสังคมไทยปัจจุบัน ได้ผลทำให้ผู้คนส่วนใหญ่คาดการณ์ว่าจะต้องเผชิญกับ “อนาคตที่มืดมน” อย่างน้อยในอีก 5 ปีจากนี้ไปอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้

เพราะสังคมไทยมีความบกพร่องในธรรมาภิบาลทั้งระบบ ทั้งการเป็นสังคมที่สะอาดและโปร่งใส (Clean & Clear), สังคมที่เสรีและเป็นธรรม (Free & Fair) จนส่งผลทำให้สังคมที่เกื้อกูลและแบ่งปัน (Care & Share) ไม่เกิดขึ้น

ขณะเดียวกัน ประเทศไทยกำลังเผชิญกับ “ทศวรรษแห่งความสูญเปล่า” (Thailand’s Lost Decades) สะท้อนผ่าน อัตราการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจที่ต่ำ ขีดความสามารถในการแข่งขันถดถอย การเผชิญกับวิกฤติซ้ำซากอยู่ตลอดเวลา ช่องว่างความเหลื่อมล้ำที่ถ่างมากขึ้น ความขัดแย้งที่มีแนวโน้มทวีความรุนแรงมากขึ้น

ฉะนั้น หากต้องการเปลี่ยน “อนาคตที่มืดมน” มาเป็น “อนาคตที่สดใส” ก็ต้องมาช่วยกันปรับเปลี่ยนจากสังคมที่ค่อนข้างจะไม่ Clean & Clear, Free & Fair และ Care & Share ในปัจจุบัน ไปสู่สังคมที่ Clean & Clear, Free & Fair และ Care & Share มากขึ้นในอนาคต ให้เร็วที่สุดเท่าที่จะทำได้ นั่นหมายถึง ความจำเป็นต้องมีการปรับเปลี่ยนขนานใหญ่อย่างเป็นระบบ ที่เรียกว่า “The Second Great Reform” ต่อจาก “The First Great Reform” ที่ได้ประสบความสำเร็จมาแล้วในสมัยล้นเกล้าฯ รัชกาลที่ 5

แต่จะทำอย่างไรให้ประเทศไทยหลุดพ้นจากทศวรรษแห่งความสูญเปลาได้ ดร.สุวิทย์ เริ่มจาก ปัจจัยสำคัญที่ทำให้ประเทศไทยยังเป็นสังคมที่ไม่ใช่ Clean & Clear, Free & Fair และ Care & Share เป็นเพราะไทยติดอยู่ใน “วงจรอุบาทว์เชิงซ้อน” มาเป็นเวลายาวนาน

เริ่มต้นจากวงจรอุบาทว์แรก คือ การมีประชาธิปไตยเทียม ทำให้เกิดการประท้วงต่อต้าน จนเกิดการก่อการปฏิวัติรัฐประหาร กลับกลายมาเป็นประชาธิปไตยเทียม กลายเป็นวงจรอุบาทว์ซ้ำซาก วงที่ 1 ที่เริ่มเกิดขึ้นในช่วงปี 2490 ต่อเนื่องยาวนาน จวบจนถึงปัจจุบัน โดยระบอบประชาธิปไตยเทียม ส่วนใหญ่จะขับเคลื่อนด้วยนโยบายประชานิยมที่มุ่งหวังชนะการเลือกตั้ง เพื่อให้ก้าวขึ้นมาเป็นแกนนำในการจัดตั้งรัฐบาล แล้วก็วนกลับมาทำให้เกิดเป็นประชาธิปไตยเทียม กลายเป็นวงจรอุบาทว์ วงที่ 2 เป็นวงจรที่เห็นเด่นชัดขึ้นในห้วง 2 ทศวรรษที่ผ่านมา

ขณะเดียวกัน นโยบายประชานิยม ก่อให้เกิดระดับการพึ่งพิงของประชาชนที่มากขึ้น ยิ่งพึ่งพิงมากขึ้นเท่าไหร่ ระดับความเหลื่อมล้ำก็ยิ่งมากขึ้นเท่านั้น ความเหลื่อมล้ำทำให้ขาดโอกาสในการเข้าถึงทรัพยากรต่างๆ เมื่อเข้าถึงได้ยากก็ต้องจมปลักอยู่กับความยากจนต่อไป เมื่อยิ่งยากจน ก็ยิ่งง่วนอยู่กับประเด็นปากท้องและปัญหาเฉพาะหน้า ยิ่งทำให้ต้องติดกับดักของนโยบายประชานิยม เกิดเป็นวงจรอุบาทว์ วงที่ 3

เมื่อระดับการพึ่งพิงของประชาชนยิ่งมากขึ้นเท่าไหร่ ก็ยิ่งไปเสริมระบบอุปถัมภ์และอำนาจนิยม ที่ยังฝังตัวหยั่งลึกอยู่ในสังคมไทยให้แข็งแกร่งมากขึ้น ส่งผลให้อำนาจการผูกขาดทั้งทางการปกครองและเศรษฐกิจเพิ่มมากขึ้น เกิดการพัฒนารูปแบบการกีดกันและเอารัดเอาเปรียบอย่างเป็นระบบ ส่งผลทำให้ระดับการพึ่งพิงของประชาชนยิ่งเพิ่มมากขึ้น เกิดเป็นวงจรอุบาทว์ วงที่ 4

ขณะที่ อำนาจการผูกขาดทั้งการปกครองและเศรษฐกิจที่เข้มข้น ได้ไปครอบงำกลไกของระบบราชการ ทำให้ระบบราชการเกิดการผิดเพี้ยน จากระบบราชการที่ยึดประชาชนเป็นศูนย์กลางและเน้นระบบคุณธรรมอย่างที่ควรจะเป็น กลายเป็นระบบราชการที่เอื้อระบบทุนนิยมพวกพ้อง เสริมให้ระบบอุปถัมภ์และอำนาจนิยมมีความเข้มที่มากขึ้น กลายเป็นวงจรอุบาทว์ วงที่ 5

นอกจากนี้ รูปแบบการกีดกันและการเอารัดเอาเปรียบที่ทำกันอย่างเป็นระบบ ทำให้เกิด “แรงต้าน” ต่อการเปลี่ยนแปลงในกลุ่มคนที่ได้รับประโยชน์ ในขณะที่ประชาชนส่วนใหญ่ที่เสียเปรียบต้องง่วนอยู่กับประเด็นปากท้องและปัญหาเฉพาะหน้า ทำให้เกิด “แรงเฉื่อย” ต่อการเปลี่ยนแปลง ทั้งแรงต้านและแรงเฉื่อยต่อการเปลี่ยนแปลงนี้ได้ส่งผลให้ “เมื่อโลกเปลี่ยน แต่ไทยไม่ยอมปรับ” หรือหากจะมีการปรับบ้าง ก็ปรับในอัตราที่ช้ากว่าการเปลี่ยนแปลงของโลก

“การที่โลกเปลี่ยนแต่ไทยไม่ปรับ ทำให้ประชาชนจำนวนไม่น้อย โดยเฉพาะอย่างยิ่งเยาวชน มองไม่เห็นอนาคตของตนเอง มองประเทศไทยมีอนาคตที่มืดมน จนเกิด “แรงส่ง” ที่ต้องการการเปลี่ยนแปลง ผลคือ แรงส่ง แรงต้าน และ แรงเฉื่อยต่อการเปลี่ยนแปลง ทำให้เกิดการปะทะกันระหว่างกลุ่มอำนาจเก่ากับกลุ่มอำนาจใหม่ ระหว่างผู้ปกครองและผู้ถูกปกครอง และระหว่างคนรุ่นเก่ากับคนรุ่นใหม่ ตามมาด้วยการประท้วงต่อต้าน และไปเสริมให้เกิดวงจรอุบาทว์ในวงที่ 1 ในที่สุด วงจรอุบาทว์เชิงซ้อนนี้ ทำให้ประเทศไทยถูกมองว่า มีระบบเศรษฐกิจการเมืองที่มีการกีดกันและเอารัดเอาเปรียบกันอย่างเป็นระบบ มีการกระจุกตัวของอำนาจ ความมั่งคั่งและโอกาส หรือ Extractive Politics & Economy”

โดย Extractive Politics ที่เห็นได้ชัด เช่น การเมืองการปกครองถูกกำกับควบคุมโดยกลุ่มคนจำนวนไม่มาก ไม่กี่กลุ่ม ทั้งทางตรงและทางอ้อม การดำรงอยู่ของเครือข่ายระบบอุปถัมภ์และอภิสิทธิ์ชน มีกลุ่มผลประโยชน์ที่มีอิทธิพล ดำเนินธุรกิจสีเทา ในลักษณะที่ผิดกฎหมาย มีการควบคุมสื่อ ตลอดจนเสรีภาพในการแสดงออกของประชาชน ฯลฯ

ขณะที่ Extractive Economy คือ ตกอยู่ภายใต้ระบอบทุนนิยมสามานย์ที่มี “การสมรู้ร่วมคิด” ระหว่างกลุ่มนายทุนและชนชั้นปกครอง มีการผูกขาด และต่อต้านขัดขวางการแข่งขันอย่างเสรีและเป็นธรรม มีการเอารัดเอาเปรียบผู้ใช้แรงงานอย่างเป็นระบบ มีการเพิกเฉยละเลยต่อผลกระทบที่มีต่อสาธารณะจากการดำเนินงาน ฯลฯ

โดยผลสำรวจความเห็นที่ออกมามีความเห็นที่สอดคล้องกัน คือ 93% เห็นด้วยอย่างยิ่งหรือค่อนข้างเห็นด้วย ว่า ประเทศไทยยังคงมีระบบการเมืองแบบ Extractive Politics และ 87% เห็นด้วยอย่างยิ่งหรือค่อนข้างเห็นด้วย ว่า ประเทศไทยยังคงมีระบบเศรษฐกิจแบบ Extractive Economy

ฉะนั้น โจทย์ใหญ่ของประเทศไทยขณะนี้ คือการปรับเปลี่ยนประเทศไทยจาก Extractive Politics & Economy ไปสู่ประเทศที่มี Inclusive Politics & Economy เปลี่ยนสังคม เพื่อตัวกู มาเป็นสังคม เพื่อพวกเรา

การที่จะทำเช่นนี้ได้ จำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องผลักดันให้เกิด “The Second Great Reform” เพื่อให้ระบบเศรษฐกิจการเมืองไทยมีความเท่าเทียม ความเป็นธรรม มีการกระจายตัวของอำนาจ ความมั่งคั่งและโอกาส และให้สามารถหลุดพ้นจากการจมปลักอยู่ในทศวรรษแห่งความสูญเปล่า ด้วยการก้าวข้ามกับดักประเทศที่มีรายได้ปานกลาง กับดักความเหลื่อมล้ำ และกับดักความขัดแย้ง รวมทั้งทำให้ความมั่นคงและความมั่งคั่งอย่างยั่งยืน ที่ไม่ใช่แค่วาทกรรมทางการเมือง แต่ต้องเป็นเจตจำนงร่วมของคนไทยทุกคนที่จะต้องบรรลุให้ได้ผ่าน “The Second Great Reform”

ทั้งนี้ หัวใจสำคัญของ The Second Great Reform อยู่ที่การสร้าง “พื้นที่ร่วม” (Common Ground) ให้เกิดขึ้น เพื่อให้เกิด “เจตจำนงร่วม” (Common Goals) ของประชาชนทุกภาคส่วน เมื่อมีเจตจำนงร่วม “พลังร่วม” (Collective Action) ในการขับเคลื่อนประเทศไปข้างหน้าจึงจะเกิดขึ้น การสร้าง “พื้นที่ร่วม” “เจตจำนงร่วม” และ “พลังร่วม” ประสบผล เพื่อสร้าง “สังคมของพวกเรา” ขึ้นมาได้ หมายถึงจะต้องมี สัญญาประชาคมชุดใหม่ ที่มุ่งไปสู่การสร้าง สังคมของพวกเรา รวมทั้งต้องมี เครื่องยนต์ขับเคลื่อนการเติบโตชุดใหม่ ที่มุ่งสู่ การเติบโตอย่างทั่วถึงและยั่งยืน

สำหรับสัญญาประชาคมชุดใหม่ที่มุ่งไปสู่สังคมของพวกเราได้ จะอยู่ภายใต้เงื่อนไขสำคัญ คือ

การสร้างสังคมที่ Clean & Clear, การสร้างสังคมที่ Free & Fair, การสร้างสังคมที่ Care & Share ให้เกิดขึ้น โดยสังคมที่ Clean & Clear จะเกิดขึ้นได้ ต้องเปลี่ยนจาก Rule by Law ในสังคมของพวกกู ให้เป็น Rule of Law ในสังคมของพวกเรา คือ เป็นสังคมที่ยึดมาตรฐานเชิงคุณธรรมจริยธรรม มากกว่าเพียงแค่มาตรฐานเชิงกฎหมาย

สังคมที่ Free & Fair คือ จะต้องลดทอนผลประโยชน์ส่วนเกิน (Rent) ที่ตกอยู่กับกลุ่มอภิสิทธิ์ชน มาเป็นการเปิดกว้างให้ทุกคนมีสิทธิ์เข้าถึงได้ ทั้งสิทธิ์และทรัพยากรในรูปแบบต่างๆ เป็น Open Access ไม่ใช่ Limited Access เหมือนที่เป็นอยู่ในปัจจุบัน

และสังคมที่ Care & Share คือ จะต้องลดทอนการดำรงอยู่ของความเป็นชนชั้นทางสังคม ทั้งที่มีอยู่ในเชิงโครงสร้างหรือในเชิงพฤติกรรม ไปสู่ การสร้างระบบที่ส่งเสริมการเลื่อนไหลของผู้คนในสังคม (Social Mobility) เพื่อเปลี่ยนการสัมผัสได้ถึงแปลกแยกและการกีดกัน เป็น การตระหนักรู้และยอมรับถึงความแตกต่างและการมีส่วนร่วม เป็นการเปลี่ยน “สังคม 2 ขั้ว” ที่กำลังเผชิญอยู่ในปัจจุบัน ให้เป็น สังคมที่มีความปรองดองสมานฉันท์อย่างแท้จริงในที่สุด

เมื่อสังคมใหม่ที่มี Clean & Clear, Free & Fair และ Care & Share จะทำให้ประชาชน มีพื้นที่ร่วม เมื่อมีพื้นที่ร่วม ก็มีโอกาสที่จะสร้างเจตจำนงร่วม และ พลังร่วมก็จะเกิดขึ้นได้ไม่ยาก

โดยสัญญาประชาคมชุดใหม่ ที่จะสร้างสังคม Clean & Clear, Free & Fair และ Care& Share ให้เกิดขึ้น จะมี 7 หมุดหมายสำคัญ คือ

    1. การสร้างสังคมที่ง่ายต่อการเข้าถึงทรัพยากรต่างๆ ในต้นทุนที่สมเหตุสมผล (Accessibility & Affordability)
    2. การสร้างสังคมที่ปกป้องชีวิตและทรัพย์สินจากภัยคุกคามในรูปแบบต่างๆ (Protection)
    3. การสร้างสังคมที่เคารพในสิทธิ์และเสรีภาพของประชาชน (Freedom)
    4. การสร้างสังคมที่ยึดหลักธรรมาภิบาล เป็นที่ตั้ง (Governance)
    5. การสร้างสังคมที่เป็นธรรมและเท่าเทียม (Fairness)
    6. การสร้างสังคมแห่งโอกาส (Opportunity)
    7. การสร้างสังคมที่เอื้อต่อการปลดปล่อยศักยภาพของผู้คน (Growth for People)

ในด้านเครื่องยนต์เพื่อขับเคลื่อนการเติบโตชุดใหม่ (New Growth Engine) เนื่องจากโลกกำลังเปลี่ยน จนเกิดภูมิทัศน์ใหม่ที่เรียกหาความเท่าเทียมและยั่งยืน การพัฒนา เครื่องยนต์ที่จะขับเคลื่อนเศรษฐกิจไทยให้เติบโตในโลกหลังโควิด จึงมีความสำคัญ การออกแบบเครื่องยนต์ขับเคลื่อนชุดใหม่ จึงต้องหาวิธีการในการสร้างความเข้มแข็งจากภายใน ไปพร้อมกับเชื่อมประเทศไทยให้เข้ากับประชาคมโลกให้ได้ ต้องทำให้ทุกคนในประเทศเดินหน้าไปด้วยกัน โดยไม่ทิ้งใครไว้ข้างหลัง และเชื่อมโยงหลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงกับเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืนของสหประชาชาติ ซึ่งนำทั้ง 3 ส่วนมาถอดรหัส ก็จะพบ โมเดลเศรษฐกิจ BCG (Bioeconomy หรือเศรษฐกิจชีวภาพ; Circular Economy หรือเศรษฐกิจหมุนเวียน; Green Economy หรือเศรษฐกิจสีเขียว)

โมเดลเศรษฐกิจ BCG เป็นการนำจุดแข็งของประเทศไทย ทั้งเรื่องความหลากหลายทางชีวภาพ และความหลากหลายทางวัฒนธรรม ที่เป็นฐานของ BCG และนำมาสร้าง 4 อุตสาหกรรมหลัก คือ เกษตรและอาหาร พลังงานและวัสดุชีวภาพ สุขภาพและการแพทย์ และการท่องเที่ยว อุตสาหกรรมเชิงวัฒนธรรมและเศรษฐกิจสร้างสรรค์ ที่สำคัญ BCG สามารถตอบโจทย์ ความมั่นคงมนุษย์ขั้นพื้นฐาน โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ในห้วงที่ประชาคมโลกต้องกำลังเผชิญกับวิกฤตโลกร้อนที่กำลังคืบคลานมามากขึ้นเรื่อยๆ รวมถึงการเผชิญกับการระบาดของไวรัสโควิด 19 ในช่วงที่ผ่านมา ไม่ว่าจะเป็นความมั่นคงทางด้านอาหาร สุขภาพ พลังงาน ตลอดจนการมีรายได้ มีงานทำ

อย่างไรก็ตาม เนื่องจากประเทศไทยมีความหลากหลายเชิงชีวภาพและวัฒนธรรมที่กระจายและแตกต่างกันไปในแต่ละพื้นที่ การเปิดโอกาสให้แต่ละพื้นที่นำศักยภาพและคุณค่าที่มีอยู่ออกมา แปลงเป็นมูลค่าทางเศรษฐกิจ ไล่ตั้งแต่ระดับภาค ระดับกลุ่มจังหวัด ระดับจังหวัด ไปจนถึงระดับชุมชน จะทำให้เกิด “BCG เชิงพื้นที่” (Area-based BCG) ที่ตอบโจทย์การเติบโตอย่างทั่วถึง ด้วย BCG เชิงพื้นที่ จึงเป็นกุญแจสำคัญในการลดความเหลื่อมล้ำของรายได้และโอกาส ซึ่งเป็นหนึ่งในปัญหาใหญ่ที่ประเทศไทยกำลังประสบอยู่ ขณะเดียวกัน BCG ยังเปิดโอกาสให้ผู้ประกอบการในทุกระดับ ไม่ว่าจะเป็นผู้ประกอบการรายใหญ่ SMEs, Startups วิสาหกิจชุมชน สหกรณ์ ฯลฯ สามารถเข้ามามีส่วนร่วมในกระบวนการสร้างและแบ่งปันความมั่งคั่งร่วมกัน โมเดล BCG จึงเป็นแพลทฟอร์มสในการสร้างพื้นที่ร่วม เจตจำนงร่วม และ พลังร่วมของภาคส่วนต่างๆได้อย่างเป็นอย่างดี

ที่สำคัญ ด้วยการขับเคลื่อนผ่านการใช้องค์ความรู้ เทคโนโลยี และการจัดการสมัยใหม่ จะทำให้ BCG เป็นแพลตฟอร์มสำคัญในการปรับเปลี่ยนโครงสร้างจากระบบเศรษฐกิจเพิ่มมูลค่า เป็นระบบเศรษฐกิจสร้างมูลค่า หรือเปลี่ยนจากการ “ทำมากได้น้อย” เป็น การ “ทำน้อยได้มาก” ด้วยการเปลี่ยนการทำการเกษตรแบบดั้งเดิม มาเป็นเกษตรอัจฉริยะ เปลี่ยนจากการผลิตสินค้าโภคภัณฑ์เป็นสินค้าเชิงนวัตกรรม เน้นการพัฒนาอาหารแห่งอนาคต การพัฒนาเทคโนโลยีและอุปกรณ์ทางการแพทย์ นอกเหนือจากการยกระดับการบริการทางการแพทย์และสุขภาพ เน้นการพัฒนาพลังงานสะอาด พลังงานทางเลือก โดยเฉพาะอย่างยิ่งพลังงานชุมชน ตลอดจนการท่องเที่ยวที่เน้นจิตสำนึกและความรับผิดชอบ เป็นต้น รวมทั้ง BCG ยังเน้นการปรับเปลี่ยนโครงสร้างเศรษฐกิจครั้งใหญ่จากระบบเศรษฐกิจเชิงเส้นตรง (Linear Economy) เป็นเศรษฐกิจหมุนเวียน (Circular Economy) ที่เน้นการใช้ทรัพยากรที่มีอยู่อย่างจำกัดอย่างประหยัด ลดการสูญเสีย และมีการใช้ประโยชน์จากของเสีย เพื่อตอบโจทย์ความยั่งยืนอย่างเป็นรูปธรรมอีกด้วย

ดร.สุวิทย์ เห็นว่า สุดท้ายแล้ว BCG จะตอบโจทย์ และเป็นโมเดลเศรษฐกิจที่ช่วยส่งเสริมให้กระบวนการสร้างประชาธิปไตยทางเศรษฐกิจเกิดขึ้นได้อย่างเป็นรูปธรรม เมื่อกระบวนการสร้างประชาธิปไตยทางเศรษฐกิจเกิด กระบวนการสร้างประชาธิปไตยทางการเมืองก็จะเกิดขึ้นตามมา โดยเป็นกระบวนการประชาธิปไตยที่เกิดขึ้นจากภาคส่วนต่างๆ ไม่ใช่ประชาธิปไตยเทียมอย่างที่เป็นอยู่ในขณะนี้

BCG จึงเป็นโมเดลเศรษฐกิจที่เน้นการสร้างมูลค่า ความทั่วถึง และความยั่งยืน โดยมุ่งที่จะทำให้ประเทศไทยหลุดพ้นจาก กับดับประเทศรายได้ปานกลาง กับดักความเหลื่อมล้ำ และกับดักความขัดแย้งที่รุนแรง ไปพร้อม ๆ กัน

ทั้งหมดนี้ เป็นแผนภาพของ The Second Great Reform ทั้งด้านเศรษฐกิจ สังคม และการเมือง เป็น The Second Great Reform ที่เป็นภารกิจที่ยิ่งใหญ่ ที่ต้องใช้ “ความกล้าหาญ” ของความเป็นผู้นำ โดยผู้นำที่จะสามารถแบกรับภารกิจยิ่งใหญ่นี้ได้ ต้องมีวิสัยทัศน์เพื่อนำการเปลี่ยนแปลง เพราะเป็นภารกิจที่ “No Pain, No Gain” เพราะสำหรับประเทศไทย ถ้าไม่เจ็บ ก็จะไม่เติบโต

อ่านเพิ่มเติม คอลัมน์ “สุวิทย์ เมษินทรีย์”