ThaiPublica > คอลัมน์ > การอุดหนุนสินค้าประมง (Fishery Subsidies)

การอุดหนุนสินค้าประมง (Fishery Subsidies)

21 มีนาคม 2022


วิชาญ ศิริชัยเอกวัฒน์

ที่มาภาพ : https://chinadialogueocean.net/8991-china-wto-fishing-subsidies-deadline/

มีแฟนๆ นักอ่าน ขอให้ผมเขียนเรื่อง “การอุดหนุนสินค้าประมง (Fishery Subsidies)” ให้ได้อ่านกันหน่อย เพราะมีชาวประมงไทยหลายคนสงสัยว่าเรื่องนี้คืออะไร มีผลกระทบต่อการทำประมงเหมือนกับเรื่อง IUU fishing หรือไม่ และที่สำคัญ ประเทศไทยเข้าข่ายที่มี “การอุดหนุนสินค้าประมง” กับเขาด้วยหรือไม่

เรื่อง “การอุดหนุนสินค้าประมง” เป็นประเด็นที่เวทีการค้าระหว่างประเทศมีการหยิบยกขึ้นมาเจรจากันมานานนับสิบปีแล้ว โดยเฉพาะอย่างยิ่งในเวทีการค้าโลก เนื่องจากเห็นว่าการใช้มาตรการอุดหนุนการทำประมงของรัฐบาลประเทศต่างๆ อาจเป็นปัจจัยกระตุ้นให้มีการจับสัตว์น้ำมากเกินขนาด (overfishing) จนอาจส่งผลกระทบต่อระบบนิเวศทางทะเล จุดเริ่มต้นของประเด็นนี้ เกิดจากการประชุมรัฐมนตรีองค์การการค้าโลก WTO ครั้งที่ 4 ที่เมืองโดฮาร์ ประเทศการ์ตา เมื่อปี พ.ศ. 2544 ที่ต้องการให้มีการจัดทำกฎระเบียบเกี่ยวกับ “การอุดหนุนสินค้าประมง” ของประเทศสมาชิกให้มีความชัดเจน โดยคำนึงถึงความโปร่งใส และความสามารถในการบังคับใช้ จึงได้มีการจัดทำข้อตกลง “ปฏิญญารัฐมนตรีโดฮา (Doha Ministerial Declaration, 2001)” ขึ้น

4 ปีต่อมาในคราวประชุมรัฐมนตรีองค์การการค้าโลก ครั้งที่ 6 เมื่อปี พ.ศ. 2548 ได้มีการออก “ปฏิญญารัฐมนตรีฮ่องกง” กำหนดให้มีการเจรจาจัดทำกฎระเบียบการอุดหนุนประมง ครอบคลุมถึงการห้ามอุดหนุนประมงบางประเภทที่นำไปสู่การทำประมงเกินศักยภาพ (overcapacity) และการทำประมงเกินขนาด รวมทั้งให้มีการปฏิบัติที่เป็นพิเศษและแตกต่าง (special and differential treatment : S & DT) แก่ประเทศกำลังพัฒนา หรือประเทศพัฒนาน้อยกว่า และประเทศพัฒนาน้อยที่สุด (least developed country : LDC ตามข้อกำหนดขององค์การสหประชาชาติจะต้องมีลักษณะ

1. มีรายได้มวลรวมประชาชาติเฉลี่ย 3 ปี น้อยกว่า 1,025 ดอลลาร์สหรัฐ

2. ทรัพยากรมนุษย์อ่อนแอในด้านโภชนาการ สุขภาพ ความรู้ และการรู้หนังสือของผู้ใหญ่

3. ความอ่อนแอทางเศรษฐกิจ เช่น ความไม่แน่นอนของผลผลิตทางการเกษตร ร้อยละของประชากรที่ต้องพลัดถิ่นเพราภัยธรรมชาติ) โดยตระหนักถึงความจำเป็นในการพัฒนา การลดความยากจน ชีวิตความเป็นอยู่ และความมั่นคงทางอาหารร่วมด้วย

เนื่องจากรัฐบาลประเทศที่พัฒนาแล้วทั้งหลาย มีการความพร้อมในด้านงบประมาณที่จะอุดหนุนการทำประมงในเกือบจะทุกรูปแบบ ในขณะที่รัฐบาลของประเทศกำลังพัฒนาหรือพัฒนาน้อยที่สุด ไม่มีปัญญา (กำลังทรัพย์) ในการให้การอุดหนุนที่เท่าเทียม (ในแต่ละปี มีการประเมินว่าประเทศต่างๆ ทั่วโลก มีการอุดหนุนสินค้าประมงในวงเงินประมาณ 15,000-35,000 ล้านเหรียญสหรัฐ) ทำให้ประเทศที่มีระดับการพัฒนาที่น้อยกว่า ไม่สามารถแข่งขันในทางการตลาดที่เป็นธรรมได้ เพราะต้องแบกรับกับสภาพต้นทุนการจับปลาที่สูงกว่าประเทศที่พัฒนาแล้ว (ที่มีการอุดหนุนโดยรัฐ)

ที่มาภาพ : https://chinadialogueocean.net/en/governance/8991-china-wto-fishing-subsidies-deadline/

อย่างไรก็ตาม ด้วยระดับการพัฒนา ผลประโยชน์และสถานะทางเศรษฐกิจที่แตกต่างกันระหว่างประเทศที่พัฒนาแล้วกับประเทศที่มีระดับการพัฒนาที่น้อยกว่า ส่งผลให้การดำเนินการตามปฏิญญารัฐมนตรีฯ ทั้งสองฉบับไม่สามารถขับเคลื่อนไปสู่ข้อยุติที่ชัดเจน เป็นรูปธรรมได้ และถูกทิ้งร้างไปนานกว่า 10 ปี แบบที่ว่าเกือบจะลืมกันไปแล้ว จนกระทั่งในปี พ.ศ. 2558 องค์การสหประชาชาติ ได้ประกาศวาระการพัฒนา (Agenda 2030) โดยกำหนด “ชุดเป้าหมายการพัฒนาอย่างยั่งยืนของสหประชาชาติ (UN Sustainable Development Goals)” ไว้รวม 17 ประการ 169 เป้าประสงค์ เพื่อให้ประเทศสมาชิกขององค์การสหประชาชาตินำไปใช้เป็นกรอบการพัฒนาทางสังคม เศรษฐกิจ และสิ่งแวดล้อมของโลก ให้เหมาะสมกับบริบท ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมภายในประเทศ ให้บรรลุเป้าหมาย แล้วเสร็จภายในปี พ.ศ. 2573 ซึ่งในชุดเป้าหมายดังกล่าว มีเป้าหมายสำคัญที่เกี่ยวข้องกับการประมง และสิ่งแวดล้อมทางทะเล คือ เป้าหมายที่ 14 “สิ่งมีชีวิตในน้ำ (Life Below Water)” ว่าด้วย “การอนุรักษ์ และใช้ประโยชน์จากมหาสมุทร ทะเล และทรัพยากรทางทะเลอย่างยั่งยืน” โดยเป้าประสงค์ข้อที่ 14.6 ระบุให้ประเทศสมาชิกห้ามการอุดหนุนภาคการประมงที่นำไปสู่การจับสัตว์น้ำมากเกินกำลังการผลิต และมากเกินขนาด รวมทั้งยกเลิกการอุดหนุนที่จะนำไปสู่การทำ IUU fishing ภายในปี พ.ศ. 2563

การประชุมรัฐมนตรีองค์การการค้าโลก ครั้งที่ 11 ณ กรุงบัวโนสไอเรส อาร์เจนตินา ในปี พ.ศ. 2560 จึงได้มีการหยิบยกประเด็น “การอุดหนุนสินค้าประมง” กลับขึ้นมาเจรจากันใหม่อีกครั้ง และมีมติให้ประเทศสมาชิกองค์การการค้าโลก เร่งเจรจาจัดทำความตกลงเรื่อง “การอุดหนุนประมง” ให้แล้วเสร็จภายในปี 2562 เพื่อให้สามารถบรรลุเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืนของสหประชาชาติ

SDGs ที่เกี่ยวข้องกับการประมง และ “การอุดหนุนสินค้าประมง”

“17 เป้าหมายการพัฒนาอย่างยั่งยืนของสหประชาชาติ (UN Sustainable Development Goals)”

เป้าหมายการพัฒนาอย่างยั่งยืนของสหประชาชาติ (UN Sustainable Development Goals) ที่เกี่ยวข้องกับการประมง และ “การอุดหนุนสินค้าประมง”

“การพัฒนาที่ยั่งยืน” เป็นโจทย์ที่มีการกล่าวถึงในเวทีโลกมาหลายทศวรรษ จนกระทั่งในปี พ.ศ. 2558 (ค.ศ. 2015) ประเทศสมาชิกองค์การสหประชาชาติ 193 ประเทศ (รวมทั้งประเทศไทย) ได้บรรลุข้อตกลงและร่วมลงนามรับรองวาระ “การพัฒนาที่ยั่งยืน ค.ศ. 2030 (2030 Agenda for Sustainable Development)” โดยกำหนดชุดเป้าหมายการพัฒนาไว้ 17 เป้าหมาย (goals) 169 เป้าประสงค์ (targets) ที่เชื่อมโยง และเกื้อหนุนกันใน 5 มิติ คือ (1) การพัฒนาคน (people) (2) การปกป้องรักษาสิ่งแวดล้อม (planet) (3) เศรษฐกิจและความมั่นคง (prosperity) (4) สันติภาพและความยุติธรรม (peace) และ (5) ความเป็นหุ้นส่วนการพัฒนา (partnership) โดยมีจุดมุ่งหมายเพื่อการนำไปสู่อนาคตที่ดีและยั่งยืนยิ่งขึ้นสำหรับมวลมนุษยชาติ โดยที่จะไม่ทิ้งใครไว้ข้างหลัง

เป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน หรือ SDGs ที่เกี่ยวข้องกับการประมงโดยตรง คือ เป้าหมายที่ 14 “สิ่งมีชีวิตในน้ำ” ที่ว่าด้วย “การอนุรักษ์ และใช้ประโยชน์จากมหาสมุทร ทะเล และทรัพยากรทางทะเลอย่างยั่งยืน (Conserve and sustainably use the oceans, seas and marine resources for sustainable development)” ซึ่งประกอบด้วยเป้าประสงค์ รวม 10 ข้อ ได้แก่

14.1 ป้องกันและลดมลพิษทางทะเลและมหาสมุทร ทุกประเภท โดยเฉพาะอย่างยิ่งมลพิษจากกิจกรรมบนบก รวมทั้งขยะ ของเสีย และมลพิษทางน้ำที่เกิดจากสารอาหารในทะเลและมหาสมุทร ให้บรรลุผลภายในปี พ.ศ. 2568 (ค.ศ. 2025)

14.2 จัดการและคุ้มครองระบบนิเวศทางทะเลและมหาสมุทรอย่างยั่งยืน เพื่อหลีกเลี่ยงผลกระทบเชิงลบที่สำคัญ รวมทั้งเสริมสร้างความเข้มแข็งในการปรับตัวของระบบนิเวศ และดำเนินการในการฟื้นฟูเพื่อนำไปสู่การมีทะเลและมหาสมุทรที่อุดมสมบูรณ์ ภายในปี พ.ศ. 2563 (ค.ศ. 2020)

14.3 ลดและแก้ไขผลกระทบของความเป็นกรดของทะเลและมหาสมุทร รวมทั้งขยายความร่วมมือทางวิทยาศาสตร์ในทุกระดับ

14.4 ควบคุมการจับและขจัดการประมงที่เกินกำลังการผลิต การทำประมงที่ผิดกฎหมาย ขาดการรายงาน และไร้การควบคุม (IUU) การใช้เครื่องมือประมงที่ทำลายทรัพยากรและระบบนิเวศ ตลอดจนดำเนินการตามแผนการจัดการที่กำหนดจากฐานข้อมูลทางวิทยาศาสตร์ เพื่อฟื้นฟูประชากรสัตว์น้ำในระยะเวลาที่สั้นที่สุดที่จะเป็นไปได้ อย่างน้อยที่สุดให้อยู่ในระดับที่สามารถจับสัตว์น้ำได้อย่างยั่งยืนสูงสุด ตามลักษณะทางชีววิทยาของสัตว์น้ำชนิดนั้นๆ ภายในปี พ.ศ. 2563 (ค.ศ. 2020)

14.5 อนุรักษ์พื้นที่ทางทะเลและชายฝั่งให้ได้อย่างน้อยร้อยละ 10 ของพื้นที่ โดยให้สอดคล้องกับกฎหมายภายในประเทศและระหว่างประเทศ และอยู่บนพื้นฐานของข้อมูลทางด้านวิทยาศาสตร์ที่ดีที่สุดที่มีอยู่ ภายในปี พ.ศ. 2563 (ค.ศ. 2020)

ที่มาภาพ : https://www.weforum.org/agenda/2020/11/overfishing-is-a-social-injustice-to-end-it-we-need-to-eliminate-harmful-fisheries-subsidies-world-fisheries-day

14.6 ห้ามการอุดหนุนภาคการประมงในบางรูปแบบที่จะนำไปสู่การทำประมงที่เกินกำลังการผลิต และการทำประมงมากเกินขนาด ขจัดการอุดหนุนที่นำไปสู่การประมงแบบ IUU รวมทั้งห้ามนำการอุดหนุนแบบใหม่มาใช้ โดยตระหนักว่าขบวนการเจรจาด้านการอุดหนุนภาคการประมงภายใต้ WTO ต้องมีการบูรณาการการปฏิบัติเป็นพิเศษแก่ประเทศกำลังพัฒนา และประเทศพัฒนาน้อยที่สุด ให้เกิดผลภายในปี พ.ศ. 2563 (ค.ศ. 2020)

14.7 เพิ่มผลประโยชน์ทางเศรษฐกิจให้แก่กลุ่มประเทศหมู่เกาะขนาดเล็กที่กำลังพัฒนา และประเทศพัฒนาน้อยที่สุด จากการใช้ทรัพยากรทางทะเลและมหาสมุทรอย่างยั่งยืน โดยการจัดการประมง การเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำ และการท่องเที่ยวที่ยั่งยืน ให้เกิดผลภายในปี พ.ศ. 2573 (ค.ศ. 2030)

14.a เพิ่มพูนความรู้ทางวิทยาศาสตร์ พัฒนาขีดความสามารถในการวิจัย และการถ่ายทอดเทคโนโลยีทางทะเลและมหาสมุทร โดยคำนึงถึงหลักเกณฑ์และแนวทางของคณะกรรมาธิการสมุทรศาสตร์ระหว่างประเทศว่าด้วยการถ่ายทอดเทคโนโลยีทางทะเลและมหาสมุทร เพื่อฟื้นฟูความอุดมสมบูรณ์ของทะเลและมหาสมุทร และทำให้ความหลากหลายทางชีวภาพทางทะเลมีส่วนช่วยในการพัฒนาในประเทศกำลังพัฒนา โดยเฉพาะอย่างยิ่ง กลุ่มประเทศที่เป็นเกาะ และประเทศพัฒนาน้อยที่สุด

14.b จัดให้ชาวประมงพื้นบ้านขนาดเล็กสามารถเข้าถึงทรัพยากรทางทะเล และตลาด

14.c เสริมสร้างการอนุรักษ์และการใช้ประโยชน์พื้นที่ และทรัพยากรทางทะเลและมหาสมุทรอย่างยั่งยืน โดยการใช้กฎหมายระหว่างประเทศที่ระบุในอนุสัญญาสหประชาชาติว่าด้วยกฎหมายทะเล ซึ่งเป็นกรอบกฎหมายเพื่อการอนุรักษ์ และใช้ประโยชน์มหาสมุทร และทรัพยากรทางทะเลอย่างยั่งยืน ตามที่ได้อ้างไว้ในย่อหน้า 158 ของเอกสาร “อนาคตที่เราต้องการ หรือ The Future We Want” (เอกสารคำประกาศเกี่ยวกับการพัฒนาที่ยั่งยืน และเศรษฐกิจสีเขียวที่ได้รับการรับรองจากการประชุมองค์การสหประชาชาติ ว่าด้วยการพัฒนาที่ยั่งยืน เมื่อ ปี พ.ศ. 2555)

การที่เป้าประสงค์ข้อ 14.6 เป็นเรื่องที่เกี่ยวข้องกับการอุดหนุนสินค้าประมงโดยตรง จึงเป็นแรงกระตุ้นให้องค์การการค้าโลก WTO และประเทศต่างๆ หันกลับมาขึ้นโต๊ะเจรจาเพื่อหาข้อยุติเกี่ยวกับ “การอุดหนุนสินค้าประมง” กันอีกครั้งหนึ่ง

อย่างไรก็ตาม แม้ว่าที่ประชุมรัฐมนตรีองค์การการค้าโลก WTO ครั้งที่ 11 ในปี พ.ศ. 2560 ณ กรุงบัวโนสไอเรส อาร์เจนตินา จะมีมติให้ประเทศสมาชิก WTO เร่งเจรจาจัดทำความตกลงเรื่องการอุดหนุนประมงให้แล้วเสร็จภายในปี พ.ศ. 2562 เพื่อให้สามารถบรรลุเป้าประสงค์ 14.6 ได้ภายในเวลาที่กำหนด แต่ด้วยระดับการพัฒนาทางเศรษฐกิจของประเทศสมาชิกที่แตกต่างกัน ในขณะที่ประเทศที่พัฒนาน้อยกว่าต้องการสิทธิพิเศษให้การกำหนดกฎระเบียบ หรือนโยบายต่างๆ เกี่ยวกับการอุดหนุนประมงที่มีความยืดหยุ่น ประเทศที่พัฒนาแล้วกลับต้องการจำกัดขอบเขตของสิทธิพิเศษที่ประเทศกำลังพัฒนา (ประเทศพัฒนาน้อย) และประเทศพัฒนาน้อยที่สุดจะได้รับให้น้อยที่สุด

นอกจากนี้ WTO ยังอนุญาตให้ประเทศสมาชิกระบุตัวเองได้ว่าเป็นประเทศกำลังพัฒนาได้ (สหประชาชาติไม่มีอนุสัญญาที่กำหนดประเทศที่พัฒนาแล้ว หรือประเทศที่กำลังพัฒนา เพียงแต่บอกเป็นนัยว่า ประเทศที่กำลังพัฒนาไม่อยู่ในรายชื่อประเทศที่พัฒนาแล้วที่กำหนดไว้อย่างชัดเจน) ทำให้ประเทศที่มีการทำประมงขนาดใหญ่หลายประเทศระบุตัวเองว่าอยู่ในกลุ่มนี้ แม้แต่ประเทศจีนที่มีกองเรือประมงขนาดใหญ่ และมีศักยภาพในการจับสัตว์น้ำในอันดับต้นๆ ของโลก รวมทั้งเป็นผู้ส่งออกสินค้าสัตว์น้ำมากเป็นอันดับ 1 ของโลก ก็ยังระบุตัวเองว่าอยู่ในกลุ่มนี้ด้วย ประกอบกับปัญหาการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 จึงทำให้การเจรจาเป็นไปอย่างล่าช้า ส่งผลให้เงื่อนเวลาที่กำหนดไว้ในเป้าประสงค์ 14.6 ที่ระบุว่า ให้ดำเนินการให้แล้วเสร็จภายในปี พ.ศ. 2563 (ค.ศ. 2020)” นั้น ถูกเลื่อนออกไปด้วย

“การอุดหนุนสินค้าประมง (Fishery Subsidies)” คืออะไร

คราวนี้ คงต้องมาทำความเข้าใจกันครับว่า “การอุดหนุนสินค้าประมง” นั้นคืออะไร มีวิธีการและรูปแบบอย่างไรบ้าง

นิยามของ “การอุดหนุนสินค้าประมง”

เนื่องจากการเจรจาเรื่อง “การอุดหนุนสินค้าประมง” ในเวทีระหว่างประเทศ ยังไม่สามารถบรรลุข้อตกลงได้ การอธิบายความหมาย ของคำว่า “การอุดหนุนสินค้าประมง” จึงต้องอ้างอิงจากคำจำกัดความของคำว่า “การอุดหนุน” ที่ปรากฏในเอกสาร “ความตกลงเกษตร (Agreement on Agriculture)” และ “กฎระเบียบระหว่างประเทศเกี่ยวกับการให้การอุดหนุนสินค้าเกษตร และความตกลงว่าด้วยการอุดหนุนและมาตรการตอบโต้ (Agreement on Subsidies and Countervailing Measures)” ภายใต้องค์การการค้าโลก (WTO) ซึ่งจะใช้กับสินค้าทุกประเภท เว้นแต่จะมีการกำหนดไว้เป็นการเฉพาะในความตกลงเกษตร โดยมีผลบังคับใช้กับทุกประเทศที่เป็นสมาชิก WTO นับตั้งแต่ วันที่ 1 มกราคม พ.ศ. 2538

ทั้งนี้ จากเอกสารดังกล่าวโดยสรุป “การอุดหนุน (Subsidies)” หมายถึง “การที่รัฐให้ความช่วยเหลือ สนับสนุนภาคเอกชน ทั้งทางโดยตรง และทางอ้อม ในรูปแบบที่เป็นตัวเงิน หรือผลประโยชน์อื่นใดที่มิใช่ตัวเงิน และการให้การอุดหนุนดังกล่าวนั้นก่อให้เกิดประโยชน์ต่อผู้รับ”

การอุดหนุนของรัฐสามารถดำเนินการได้ในหลายรูปแบบ ได้แก่

1) การสนับสนุนเงินทุนโดยตรง เช่น เงินให้เปล่า เงินกู้อัตราดอกเบี้ยต่ำ เงินลงทุน เป็นต้น (นำเงินจากรัฐไปสนับสนุน)

2) การสนับสนุนด้านเงินทุนทางอ้อม เช่น การยกเว้นรายได้ หรือไม่จัดเก็บรายได้ (ภาษี อากร ค่าธรรมเนียม ฯลฯ) ที่เป็นของรัฐ รวมทั้งการค้ำประกันเงินกู้ (ทำให้รายได้ของรัฐหายไป)

3) การจัดหา หรือให้สินค้า/บริการ และปัจจัยการผลิตที่นอกเหนือจากสาธารณูปโภคขั้นพื้นฐาน หรือการซื้อสินค้า

4)รัฐบาลจ่ายเงินหรือมอบหมายให้องค์กรหรือภาคเอกชนให้ความช่วยเหลือด้านการเงินตามข้อ (1) – (3) ที่กล่าวมาข้างต้นแทน

5) การสนับสนุนด้านรายได้และราคา ซึ่งการอุดหนุนที่กล่าวมานี้จะต้องเป็นการอุดหนุนที่ก่อให้เกิดประโยชน์ต่อผู้รับการอุดหนุน และเป็นการอุดหนุนที่ให้อย่างเฉพาะเจาะจง เช่น เฉพาะรายบริษัท ภาคอุตสาหกรรม ท้องที่หรือภูมิภาค การอุดหนุนการส่งออก การอุดหนุนทดแทนการนําเข้า เป็นต้น

6) การอุดหนุนที่ไม่ใช่การให้โดยเฉพาะเจาะจง หรือการอุดหนุนที่ให้โดยเฉพาะเจาะจงแต่มีเงื่อนไข เช่น การให้ความช่วยเหลือเพื่อการวิจัย ความช่วยเหลือที่ให้แก่ภูมิภาคด้อยโอกาสตามแผนพัฒนาภูมิภาคโดยต้องเป็นความช่วยเหลือที่ไม่เฉพาะเจาะจง ความช่วยเหลือเพื่อการสนับสนุน การปรับเปลี่ยนสิ่งอํานวยความสะดวกที่มีอยู่เดิม เพื่อให้เป็นไปตามตามเงื่อนไขของสิ่งแวดล้อมใหม่ซึ่งกำหนดไว้โดยกฎหมาย

ที่มาภาพ : https://www.weforum.org/agenda/2020/11/overfishing-is-a-social-injustice-to-end-it-we-need-to-eliminate-harmful-fisheries-subsidies-world-fisheries-day

อย่างไรก็ตาม การให้การอุดหนุนของรัฐสมาชิกรัฐหนึ่งอาจสร้างความได้เปรียบในเชิงเศรษฐกิจ และการแข่งขันทางการค้าที่เหนือกว่าประเทศสมาชิกอื่นๆ ได้ WTO จึงมีการกำหนดมาตรการตอบโต้การอุดหนุนไว้ โดยจําแนกประเภทของการอุดหนุนออกเป็น 2 ประเภท คือ

    1) การอุดหนุนที่ห้ามใช้ (Prohibited Subsidies – Red light) ซึ่งถือเป็นการอุดหนุนที่ขัดต่อความตกลงฯ เช่น การอุดหนุนที่ขึ้นกับความสามารถในการส่งออก การอุดหนุนการส่งออกที่กําหนดให้ใช้สินค้าภายในประเทศมากกว่าสินค้านําเข้า เป็นต้น

    2) การอุดหนุนที่อาจถูกมาตรการตอบโต้ (Actionable Subsidies – Yellow light) เป็นการอุดหนุนที่รัฐบาลจะต้องใช้อย่างระมัดระวัง เพราะอาจถูกมาตรการตอบโต้ได้หากว่าการอุดหนุนที่ใช้นั้นก่อให้เกิดผลเสียหายต่อผลประโยชน์ของรัฐสมาชิกอื่น กล่าวคือ การทำให้เกิดความเสียหายต่ออุตสาหกรรมภายใน การทำให้ผลประโยชน์ของประเทศสมาชิกอื่นที่ได้ไม่ว่าจะทางตรงหรือทางอ้อมจากข้อผูกพันภายใต้ความตกลงทั่วไปว่าด้วยภาษีศุลกากรและการค้า หรือแกตต์ (GATT) ไร้ผลหรือเสื่อมประโยชน์ และการทำให้เกิดความเสื่อมเสียอย่างร้ายแรงต่อผลประโยชน์ของสมาชิกอื่น โดยในกรณีที่ประเทศสมาชิกได้รับผลกระทบจากการที่ประเทศสมาชิกอื่นใช้มาตรการการอุดหนุนที่อาจถูกมาตรการตอบโต้ ประเทศสมาชิกที่ได้รับความเสียหายสามารถขอหารือเพื่อหาข้อยุติได้ หากไม่สามารถหาข้อยุติได้ ก็สามารถส่งเรื่องให้องค์กรระงับข้อพิพาทขององค์การการค้าโลกพิจารณา หากปรากฏว่าการอุดหนุนดังกล่าวก่อให้เกิดผลเสียหายต่อผลประโยชน์ของประเทศสมาชิกอีกฝ่ายหนึ่ง ประเทศสมาชิกที่ให้การอุดหนุนก็จะต้องดําเนินการขจัดความเสียหายเหล่านั้น หรือยกเลิกการอุดหนุนนั้น

ตัวอย่างการอุดหนุนสินค้าประมงของประเทศในสหภาพยุโรปที่สำคัญ ในปี ค.ศ. 2007 หรือ พ.ศ. 2555 (กรณีของสเปนและฝรั่งเศส ในฐานะที่ได้ใช้เงินอุดหนุนสูงสุดในกลุ่มสหภาพยุโรป) ที่มาภาพ: https://web.archive.org/web/20120209230453/http://www.fishsubsidy.org/ES/2007
หมายเหตุ :ในปี ค.ศ. 2007 (พ.ศ. 2550) รัฐบาลประเทศสเปนมีการให้เงินอุดหนุนสินค้าประมงในรูปแบบต่างๆ คิดเป็นเงินไทยรวมประมาณ 1.14 แสนล้านบาท (อัตราแลกเปลี่ยนเฉลี่ยที่ 38 บาท/ยูโร) ในขณะที่รัฐบาลประเทศฝรั่งเศสมีการอุดหนุนสินค้าประมงในรูปแบบต่างๆ รวมประมาณ 2.16 หมื่นล้านบาท และยังคงมีการอุดหนุนในลักษณะนี้มาอย่างต่อเนื่องจนถึงปัจจุบัน

การอุดหนุนสินค้าประมงของประเทศไทย

หันกลับมาดูการอุดหนุนสินค้าประมงของประเทศไทยกันบ้าง ซึ่งผมพยายามที่จะนึกดูด้วยกรอบการอุดหนุนของสหภาพยุโรปข้างต้น จะพบว่าปัจจุบันประเทศไทยแทบจะไม่มีการอุดหนุนสินค้าประมงเลย เว้นแต่ที่เคยมีการดำเนินการมาตั้งแต่ในอดีต โดยมีทั้งที่ยุติการอุดหนุนแล้ว และยังคงมีการดำเนินการอยู่ เช่น

(1) การอุดหนุนราคา “ปลาโอ” เนื่องจากราคาปลาโอตกต่ำ โดยใช้เงินจากกองทุน “กองทุนสงเคราะห์เกษตรกร” ในวงเงินประมาณ 500 ล้านบาท เมื่อประมาณเกือบ 20 ปีก่อน

(2) การจัดจำหน่ายน้ำมันราคาถูก “น้ำมันม่วง” ให้กับเรือประมงขนาดเล็ก โดยใช้เงินจาก “กองทุนสงเคราะห์เกษตรกร” แต่โครงการเหล่านี้ได้สิ้นสุดไปนานแล้ว

(3) การจัดสร้างและปรับปรุงท่าเทียบเรือประมงในบางจังหวัด ซึ่งเกิดขึ้นเป็นครั้งคราว โดยในกรณีนี้ ผมเห็นว่าไม่น่าจะเข้าข่ายของ “การอุดหนุนสินค้าประมง” เนื่องจากเป็นหน้าที่ของรัฐในการจัดสร้างสิ่งอำนวยความสะดวกให้กับชาวประมงเป็นการทั่วไป เหมือนกับการสร้างถนน หรือสาธารณูปโภคอื่นที่รัฐมีหน้าที่ต้องจัดทำเพื่อให้บริการประชาชนเป็นการทั่วไป

(4) การชดเชยดอกเบี้ยในอัตราที่ต่ำกว่าปกติ (packing credit) จากธนาคารแห่งประเทศไทย กรณีของผู้นำเข้าวัตถุดิบสัตว์น้ำจากต่างประเทศมาเพื่อการผลิตและส่งออก โดยเฉพาะอย่างยิ่ง การนำเข้ากุ้ง และปลาทูน่า จากต่างประเทศมาแปรรูปเพื่อการส่งออก โดยธนาคารแห่งประเทศไทยได้เปิดโอกาสให้โรงงานแปรรูปสามารถจ่ายดอกเบี้ยธนาคารพาณิชย์ในอัตราที่ต่ำกว่าปกติ หากดำเนินการผ่านโครงการ “packing credit” กับธนาคารแห่งประเทศไทย (เข้าใจว่าในทุกวันนี้ ก็ยังมีการดำเนินการอยู่อย่างต่อเนื่อง)

(5) การอุดหนุนผู้ประกอบการประมงพื้นบ้าน โดย “การเปิดตลาด Fisherman Market” เพื่อให้ชาวประมงพื้นบ้านนำผลผลิตที่จับได้มาจำหน่ายให้กับผู้บริโภคได้โดยตรง ในช่วงเวลา 2-3 ปีที่ผ่านมา โดยกรมประมงเป็นผู้ดำเนินการจัดสรรงบประมาณเพื่อสนับสนุนกิจกรรมดังกล่าว ซึ่งกรณีนี้ หากพิจารณาว่าเป็นการช่วยเหลือชาวประมงก็อาจเข้าข่าย “การอุดหนุนสินค้าประมง” แต่หากพิจารณาว่า เป็นการช่วยเหลือกลุ่มผู้มีรายได้น้อย ที่ได้รับผลกระทบของวิกฤตโควิด-19 ของรัฐบาล ก็อาจไม่เข้าข่ายการอุดหนุนสินค้าประมง

ข่าวกรมประมงเปิดตลาด Fisherman Market ช่วยชาวประมงพื้นบ้านจำหน่ายสินค้าให้ผู้บริโภคโดยตรง ที่มาภาพ : https://kasettumkin.com/fishing/article_63867

เมื่อวันที่ 17 ธันวาคม 2564 กรมประมง เปิดตลาด Fisherman Market โซนด้านหน้าอาคาร FMC ในทุกวันศุกร์ของสัปดาห์ ให้ชาวประมงพื้นบ้านนำสินค้าและผลิตภัณฑ์สัตว์น้ำคุณภาพดี มีมาตรฐาน มาจัดจำหน่ายในราคาสุดพิเศษ เพื่อช่วยบรรเทาความเดือดร้อนจากการประกอบอาชีพ หลังประสบปัญหาด้านช่องทางการกระจายผลผลิต ที่ผลกระทบของวิกฤตโควิด-19 ซึ่งมีสินค้ามาวางจำหน่ายมากมายหลายรายการ เช่น ปลาแดดเดียว ปลาอินทรี ปลาทู ปลาแดง ปลาจวด ปลาหลังเขียว ปลาเห็ดโคนแช่แข็ง–แปรรูป หมึกสด–แห้ง หอยทอดกรอบปรุงรส ข้าวเกรียบหอยแมลงภู่ สาหร่ายพวงองุ่น ดอกเกลือ กะปิ และอาหารทะเลแปรรูปอื่นๆ เป็นต้น และนอกจากนี้ กรมประมงยังได้กำหนดให้มีการกระจายการจัดจำหน่ายสินค้าและผลิตภัณฑ์ประมงพื้นบ้านให้ครอบคลุมทุกชุมชนของ 23 จังหวัดชายทะเลอีกด้วย

(6) มีผู้ตั้งข้อสังเกตว่า “โครงการน้ำมันเขียว” ที่รัฐบาลไทยดำเนินการให้มีการจัดจำหน่ายน้ำมันโดยไม่เสียภาษี (และอากร) ให้กับเรือประมงในเขตต่อเนื่อง ถือเป็น “การอุดหนุนสินค้าประมง” หรือไม่ โดยส่วนตัวผมเห็นว่า ในประเด็นนี้ “ไม่เข้าข่ายการอุดหนุนสินค้าประมง” ตามนิยามของ “องค์กรการค้าโลก” เนื่องจาก

    (6.1)โครงการนี้ มิได้มีวัตถุประสงค์เพื่ออุดหนุนกิจการประมง แต่เป็นโครงการที่รัฐไทยจัดทำขึ้นเพื่อแก้ไขปัญหาของการค้าน้ำมันในทะเล ที่มีผู้ค้าน้ำมันซื้อน้ำมันดีเซลสำเร็จรูปจากประเทศสิงคโปร์และนำมาจำหน่ายให้กับเรือประมงไทยในราคาที่ถูกกว่าราคาน้ำมันในประเทศไทย (เนื่องจากไม่ได้นำเข้าจึงไม่ต้องเสียภาษี และส่งเงินเข้ากองทุนน้ำมัน) โดยจอดเรือจำหน่ายอยู่ในพื้นที่นอกราชอาณาจักร (นอกเขตอำนาจรัฐไทย) ซึ่งรัฐไทยเห็นว่าเป็นการไม่ถูกต้อง และเรียกน้ำมันเหล่านี้ เป็น “น้ำมันเถื่อน” ซึ่งข้อเท็จจริงในประเด็นนี้ คือ น้ำมันเหล่านี้ เป็น “น้ำมันที่ “ถูกกฎหมาย” ตามกฎหมายระหว่างประเทศ” แต่การดำเนินการของพ่อค้าน้ำมัน เป็นการใช้ช่องว่างของกฎหมายและอำนาจรัฐชายฝั่งที่กำหนดไว้ในอนุสัญญาสหประชาชาติว่าด้วยกฎหมายทะเล ค.ศ. 1982 ที่กำหนดให้รัฐชายฝั่งมีอำนาจในเรื่อง “สรรพสามิต” ได้เฉพาะในเขตอธิปไตยของตน (ไม่เกิน 12 ไมล์ทะเล) และอาจขยายออกไปในเขตต่อเนื่อง (อีก 12 ไมล์ทะเล) ได้ด้วย อย่างไรก็ตาม เรือประมงที่ซื้อและใช้น้ำมันดังกล่าว เมื่อนำเรือกลับเข้าฝั่งโดยที่ยังมีน้ำมันเหลืออยู่ในเรือ ก็จะมีปัญหาที่อาจเข้าข่ายต้องเสียภาษีได้ ขณะเดียวกัน ในช่วงเวลานั้น รัฐบาลต้องใช้จ่ายงบประมาณปีละกว่า 1,000 ล้านบาท ในการปราบปรามการค้าน้ำมันในทะเล และการนำน้ำมันที่ไม่เสียภาษีขึ้นมาจำหน่ายบนฝั่ง

    (6.2)เพื่อแก้ไขปัญหาดังกล่าว รัฐบาลไทยและสมาคมการประมงแห่งประเทศไทยได้มีการประชุมและหาทางออกร่วมกัน โดยนำเสนอ “โครงการน้ำมันเขียว” ขึ้น เพื่อทดแทนการใช้น้ำมันในทะเลที่มาจากสิงคโปร์ ด้วยการให้โรงกลั่นน้ำมันในประเทศไทยเป็นผู้ขายน้ำมันให้กับเรือ “Tanker” เอง และนำออกไปจำหน่ายในทะเล (นอกเขตราชอาณาจักรไทย) ให้กับเรือประมง โดยมีการปรับลดคุณภาพของน้ำมันบางส่วนลงและมีการเติม “Marker” สีเขียว เพื่อให้แตกต่างจากน้ำมันดีเซลที่ขายอยู่ทั่วไปในตลาด ป้องกันการนำมาใช้บนฝั่ง และกำหนดให้เรือ “Tanker” ที่จำหน่ายน้ำมันเขียวต้องมีการจดทะเบียนกับกรมสรรพสามิต ส่วน “เรือประมง” ที่มีสิทธิในการเติมน้ำมันเขียวจะต้องมีการจดทะเบียนเรือที่ถูกต้องกับกรมเจ้าท่าและมีใบอนุญาตทำการประมงที่ได้รับอนุญาตจากกรมประมง โดยสมาคมการประมงแห่งประเทศไทย จะมีการรับรองและออก “รหัสเรือ” ให้ เพื่อควบคุมการใช้อย่างเป็นระบบ โดย “น้ำมันเขียว” ได้รับยกเว้นให้ไม่ต้องเสียภาษีและเงินสมทบกองทุนน้ำมัน เนื่องจากน้ำมันเหล่านี้ เป็นน้ำมันที่จำหน่ายนอกเขตรัฐไทย (นอกเขต 12 ไมล์ทะเล) มิใช่เป็นการจำหน่ายในราชอาณาจักรที่ต้องเสียภาษี ขณะเดียวกันก็ทำให้รัฐบาลสามารถประหยัดงบประมาณในการปราบปรามได้ปีละกว่า 1,000 ล้านบาทด้วย ดังนั้น “โครงการน้ำมันเขียว” นี้ จึงมิใช่ “การอุดหนุนสินค้าประมง” อย่างที่หลายคนเข้าใจ เพราะรัฐมิได้มีการจ่ายเงินสมทบ/อุดหนุน หรือรัฐมิได้ยกเว้ยภาษีชดเชย หรือทำให้รัฐขาดรายได้ เพราะรัฐ “ไม่มีสิทธิ” ในการเก็บมาแต่ต้น อันเนื่องจากเขตอำนาจรัฐนั่นเอง

อย่างไรก็ตาม ในอนาคตอันใกล้ โครงการ “น้ำมันเขียว” นี้ อาจถือว่าเป็นการ “อุดหนุนสินค้าประมง” ได้ เนื่องจากกรมสรรพสามิตของไทย กำลังจะนำระบบติดตามเรือที่เรียกว่า ระบบ “AIS” มาใช้เพื่อติดตามพฤติกรรมของเรือประมงที่อยู่ในโครงการ “น้ำมันเขียว” โดยกรมสรรพสามิตจะเป็นผู้ออกเงินที่ใช้ในการจัดซื้ออุปกรณ์ AIS และบังคับติดตั้งให้กับเรือประมงที่อยู่ในโครงการฯ ทั้งหมดโดยไม่คิดค่าใช้จ่าย

อันที่จริง ในการติดตามเรือประมงนั้น ทุกวันนี้ เรือประมงทุกลำมีการติดตั้งระบบติดตามเรืออยู่แล้ว โดยใช้ระบบ “VMS” ซึ่งมีแม่ข่ายอยู่ที่กรมประมง โดยชาวประมงเป็นผู้ออกค่าใช้จ่ายเอง (ไม่เป็นการอุดหนุน) ประเด็นปัญหาของเรื่องนี้ จึงตอกย้ำให้เห็นถึงการทำงานของหน่วยงานของรัฐที่ขาดการบูรณาการ และความร่วมมือในการแบ่งปันข้อมูลกันระหว่างหน่วยงาน (ศักดิ์ศรีขององค์กร) อันเนื่องมาจากระบบราชการเอง

ทั้งนี้ ไม่รวมถึงระบบ “AIS” ที่ชาวประมงเคยท้วงติงมาก่อนแล้วว่ามีปัญหาเกี่ยวกับความเสถียรของระบบการทำงานด้วย และหากลองนึกภาพดูว่า หากหน่วยราชการอื่นที่เกี่ยวข้องกับการประมงทะเล เช่น กรมเจ้าท่า ตำรวจน้ำ หรือกรมแรงงาน ต้องการทราบตำแหน่งของเรือประมงว่ามีการกระทำความผิดที่อยู่ในความรับผิดชอบของตนบ้าง ว่าเรือนั้นกระทำความผิด ณ จุดใด โดยออกกฎหมายบังคับให้เรือประมงต้องติดอุปกรณ์ในระบบที่แตกต่างออกไป ในท้ายที่สุด ปัญหาและภาระต่างๆ ก็ย่อมตกอยู่กับชาวประมงอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้

ดังนั้น หากกรมสรรพสามิตยังต้องการบังคับติดตั้งระบบ AIS โดยติดตั้งให้เรือประมงฟรี ก็เท่ากับว่าประเทศไทยได้เปลี่ยน “โครงการน้ำมันเขียว” จาก “การไม่อุดหนุน” เป็น “การอุดหนุนสินค้าประมง” ตามนิยามของ WTO ไปโดยปริยาย หรือ “ทำสิ่งที่ไม่เป็นปัญหาให้เป็นปัญหาได้” นั่นเอง

การอุดหนุนสินค้าประมงในประเทศไทย โดยการเปรียบเทียบประเภทการอุดหนุนกับสหภาพยุโรป

ท่าทีของรัฐบาลไทยต่อการเจรจา “การอุดหนุนสินค้าประมง”

เมื่อกลางปีที่แล้ว (2564) ที่ประชุมคณะรัฐมนตรีมีมติเห็นชอบในหลักการกรอบเจรจาของไทยสำหรับการประชุมคณะกรรมการเจรจาการค้าระดับรัฐมนตรีขององค์การการค้าโลก (WTO) สมัยสามัญ ครั้งที่ 12 เรื่องการเจรจาจัดทำความตกลงว่าด้วยการอุดหนุนประมง ที่จะจัดประชุมออนไลน์ระหว่างวันที่ 30 พฤศจิกายน – 3 ธันวาคม 2564 ในในประเด็น (1) ห้ามให้การอุดหนุนการทำประมงที่ผิดกฎหมาย ขาดการรายงาน และไร้การควบคุม (IUU Fishing) (2) ให้การบริหารจัดการทรัพยากรสัตว์น้ำที่ดีเป็นปัจจัยหนึ่งที่ใช้ในการพิจารณาว่าประเทศสมาชิกสามารถให้การอุดหนุนแก่ภาคประมงได้ต่อไปหรือไม่ (3) ให้มีการปฏิบัติที่เป็นพิเศษและแตกต่างแก่ประเทศกำลังพัฒนา (รวมถึงประเทศไทย)

ทั้งนี้ สาระสำคัญของร่างความตกลงดังกล่าว ประกอบไปด้วย 4 หัวข้อหลัก คือ (1) ห้ามการอุดหนุนประมงที่ให้แก่เรือประมงหรือผู้ประกอบการประมงหลังจากถูกตัดสินว่าทำประมงที่ผิดกฎหมาย ขาดการรายงาน และไร้การควบคุมเพื่อกำจัดปัญหาการทำประมงที่ผิดกฎหมาย ขาดการรายงาน และไร้การควบคุม (2) ห้ามให้การอุดหนุนประมงในพื้นที่ที่ทรัพยากรสัตว์น้ำร่อยหรอและไม่อยู่ในระดับที่ยั่งยืน (overfished stocks) เพื่อไม่ให้ทรัพยากรสัตว์น้ำในพื้นที่ดังกล่าวมีสภาพเสื่อมโทรมลงไปอีก (3) ห้ามให้การอุดหนุนประเภทที่นำไปสู่การทำประมงที่เกินศักยภาพ หรือการทำประมงที่เกินชนาด เช่น การอุดหนุนเพื่อปรับปรุงเรือประมง การอุดหนุนเพื่อปรับปรุงเครื่องมือทำการประมงจนมีศักยภาพในการจับสัตว์น้ำมากเกินไป การอุดหนุนค่าใช้จ่ายน้ำมันเชื้อเพลิง ซึ่งจะทำให้เรือประมงสามารถออกทำประมงและจับสัตว์น้ำได้มากเกินกว่าปกติ และ (4) ประเด็นอื่นๆ เช่น การปฏิบัติที่เป็นพิเศษและแตกต่างสำหรับประเทศกำลังพัฒนาและประเทศพัฒนาน้อยที่สุด (รวมถึงไทย) เช่น ยังคงให้การอุดหนุนแก่ประมงที่มีรายได้ต่ำ ขาดแคลนทรัพยากร ต่อไปได้อีก 2 ปี นับจากวันที่ความตกลงมีผลบังคับใช้ และการระงับข้อพิพาทภายใต้ความตกลง

อย่างไรก็ตาม ด้วยความกังวลในสถานการณ์การแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 WTO ได้เลื่อนการประชุมดังกล่าวออกไป จนกระทั่งเมื่อวันที่ 11 มีนาคมที่ผ่านมา นางอรมน ทรัพย์ทวีธรรม อธิบดีกรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศ เปิดเผยว่า “สมาชิกองค์การการค้าโลกได้เร่งผลักดันให้มีการเจรจาความตกลงว่าด้วยการอุดหนุนประมง ให้มีผลสรุปก่อนการประชุม MC12 กลางปีนี้ หวังช่วยสร้างโอกาสการค้าสินค้าประมงที่เท่าเทียมระหว่างประเทศพัฒนาแล้วและประเทศกำลังพัฒนา โดยกระทรวงพาณิชย์เชื่อว่า หากเจรจาสำเร็จจะช่วยให้ไทยส่งออกสินค้าประมงไปตลาดโลกได้มากขึ้น”

และยังเปิดเผยด้วยว่า “การประชุมรัฐมนตรีองค์การการค้าโลก ครั้งที่ 12 (MC12) ซึ่งคาดว่าจะจัดขึ้นในเดือนมิถุนายนนี้ โดยมี 3 ประเด็นหลักที่เป็นเป้าหมายของการจัดทำความตกลงฯ คือ (1) สมาชิก WTO จะต้องไม่ดำเนินมาตรการอุดหนุนประมงที่ผิดกฎหมาย ขาดการรายงาน และไร้การควบคุม หรือห้ามอุดหนุน IUU Fishing เพื่อแก้ไขปัญหา IUU (2) ไม่ดำเนินการอุดหนุนที่ทำให้ทรัพยากรสัตว์น้ำร่อยหรอและทำให้ทรัพยากรประมงหมดไป และ(3) ไม่ดำเนินการอุดหนุนที่นำไปสู่การทำประมงที่เกินศักยภาพ และเกินขนาด เช่น การอุดหนุนเพื่อปรับปรุงเรือหรือเครื่องมือทำการประมงที่ส่งผลให้เกิดการจับสัตว์น้ำมากเกินกว่าปกติ นอกจากนี้ สมาชิกอยู่ระหว่างหารือเพื่อจัดทำข้อยกเว้นให้สมาชิกยังคงสามารถให้การอุดหนุนต่อไปได้ในกรณีที่มีการบริหารจัดการทรัพยากรสัตว์น้ำที่ดี และเป็นการอุดหนุนประมงพื้นบ้านของประเทศกำลังพัฒนา”

อธิบดีกรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศ ยังกล่าวเพิ่มเติมว่า “จากรายงานของ WTO ที่จัดทำขึ้นในปี 2562 พบว่า ที่ผ่านมา สหภาพยุโรปมีการอุดหนุนประมงสูงเฉลี่ยปีละ 2,131 ล้านเหรียญสหรัฐ โดยจีน มีมูลค่า 855 ล้านเหรียญสหรัฐ และญี่ปุ่น มูลค่า 316 ล้านเหรียญสหรัฐ ซึ่งส่วนใหญ่เป็นการอุดหนุนเพื่อปรับปรุงการทำประมงให้ทันสมัย ภายใต้โครงการปรับปรุงเรือประมงและเทคโนโลยีในการทำประมง สำหรับไทยมีการอุดหนุนประมงเฉลี่ยปีละ 7.3 ล้านเหรียญสหรัฐ ซึ่งเป็นรูปแบบโครงการนำเรือประมงออกนอกระบบเพื่อการจัดการทรัพยากรประมงทะเลที่ยั่งยืน และโครงการพัฒนาอาชีพและเสริมสร้างความเข้มแข็งของชุมชนประมงพื้นบ้าน หากการเจรจาจัดทำความตกลงว่าด้วยการอุดหนุนประมงของ WTO ประสบผลสำเร็จ นอกจากจะช่วยปกป้องทรัพยากรสัตว์น้ำทางทะเลของโลกให้ยั่งยืนแล้ว ยังจะช่วยสร้างโอกาสการค้าสินค้าประมงที่เท่าเทียมกันระหว่างประเทศพัฒนาแล้วและประเทศกำลังพัฒนา รวมทั้งจะทำให้สมาชิก WTO ที่มีการอุดหนุนในระดับสูงต้องลดการอุดหนุนลง และทำให้ไทยสามารถแข่งขันการส่งออกสินค้าประมงไปตลาดโลกได้มากขึ้น” (ที่มา:https://www.ryt9.com/s/beco/3306642 )

ข้อกังวลเกี่ยวกับสาระสำคัญของร่างความตกลงว่าด้วยการอุดหนุนประมงกับประเทศไทย

ผมสนับสนุนกรอบความคิดดังกล่าวทั้งหมดครับ แต่มีความกังวลอยู่ 3 ประเด็น กล่าว คือ

1. ประเด็นความเข้าใจในคำนิยาม เจตนารมณ์ และเป้าหมายของ “การอุดหนุนสินค้าประมง” เพราะเรื่องนี้มีการเจรจากันมายาวนานกว่า 20 ปี ผ่านคณะรัฐมนตรีมากกว่า 10 คณะ อธิบดีกรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศ ที่เป็นเจ้าของเรื่องก็เกษียณอายุราชการไปหลายคนแล้ว รวมถึงหน่วยงานอื่นๆ ที่เกี่ยวข้องที่ข้าราชการก็เกษียณอายุ หรือหมุนเวียนเปลี่ยนหน้าที่กันไปตามระบบราชการ ดังนั้น เพื่อความเข้าใจที่ถูกต้อง ตรงกัน ผมเห็นว่า หน่วยงานที่เกี่ยวข้องกับประเด็น “การอุดหนุนสินค้าประมง” ทั้งหมด น่าจะมีการจัดประชุมซักซ้อมความเข้าใจ และเตรียมความพร้อมก่อนการประชุม MC12 กลางปีนี้

2. การตีความของรัฐไทย ในประเด็นของที่เกี่ยวข้องกับ “การอุดหนุนสินค้าประมง” ของประเทศไทย ว่ามีการดำเนินการรูปแบบใดบ้างที่เข้าข่าย หรือไม่เข้าข่าย “การอุดหนุนสินค้าประมง” โดยเฉพาะในส่วนของเจ้าหน้าที่ผู้รับผิดชอบในการเจรจาที่ต้องทำความเข้าใจให้ชัดแจ้งว่า “อะไรคือการอุดหนุน” ตามคำจำกัดความที่ปรากฏในเอกสาร “ความตกลงเกษตร (Agreement on Agriculture)” และ “กฎระเบียบระหว่างประเทศเกี่ยวกับการให้การอุดหนุนสินค้าเกษตร และความตกลงว่าด้วยการอุดหนุนและมาตรการตอบโต้ (Agreement on Subsidies and Countervailing Measures)” ภายใต้องค์การการค้าโลก

เช่น กรณีของ “โครงการน้ำมันเขียว” ที่รัฐไทยอ้างว่าเป็นการช่วยเหลือชาวประมง (เพื่อจะเอาบุญคุณกับชาวประมง) จึงเข้าข่าย “การอุดหนุนสินค้าประมง” ส่งผลให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องหลายหน่วยงานเข้าใจผิด (ผู้บริหารที่มาดำรงตำแหน่งในภายหลัง) เห็นว่าเป็นการ “การอุดหนุนสินค้าประมง” เพราะรัฐบาลมีการ “ยกเว้นภาษี” ให้กับชาวประมง แต่แท้ที่จริงแล้ว รัฐมิได้ให้การอุดหนุนใดๆ เนื่องจากเขตที่มีการจำหน่ายน้ำมันนั้น เป็น “เขตต่อเนื่อง” มิใช่ “เขตทะเลอาณาเขต” ที่ถือเป็น “เขตอธิปไตย” หรือ “ราชอาณาจักร” ที่รัฐมีอำนาจในการ “เรียกเก็บหรือยกเว้นภาษี” ให้ได้ ซึ่งเมื่อเปรียบเทียบกับ “กรณีการยกเว้นภาษี (หรือคืนภาษี) น้ำมันให้กับเกษตรกรและชาวประมงของประเทศอื่น” จะมีความแตกต่างกันโดยสิ้นเชิง เพราะในประเทศอื่น เป็นการจำหน่ายน้ำมันบนฝั่ง (บนแผ่นดินของประเทศ) ที่อยู่ในข่ายต้องเสียภาษี แต่รัฐยกเว้นให้ เพื่อให้ชาวประมงนำออกไปใช้ในทะเล แต่ของไทยเป็นการจำหน่ายในพื้นที่ทางทะเล (ที่อยู่นอกเขตราชอาณาจักรไทย แม้จะยังเป็นเขตน่านน้ำไทยตามอนุสัญญาสหประชาชาติว่าด้วยกฎหมายทะเล ค.ศ. 1982 ก็ตาม) และใช้ในทะเล ดังนั้น หน่วยงานที่เกี่ยวข้องต่างๆ จึงต้องทำความเข้าใจให้ถูกต้องตรงกัน (รวมทั้งการเชิญชาวประมงให้เข้าร่วมประชุมด้วย) มิฉะนั้น จะเป็นปัญหาในการเจรจาและมีผลกระทบต่อชาวประมงไทยได้ในอนาคต

3. ประเด็น “การอุดหนุนสินค้าประมง” ของประเทศไทย ที่มีการดำเนินงานอยู่ ควรจะต้องมีการศึกษาให้ชัดแจ้ง ทั้งปัญหา และผลกระทบที่อาจเกิดขึ้นต่อการประกอบอาชีพและความอยู่รอดของการประมงไทย และชาวประมงทุกกลุ่ม

เพราะที่ผ่านมา รัฐมองแต่เพียงว่า “ชาวประมงพื้นบ้าน” คือกลุ่มที่ต้องดูแล จนลืมไปว่า “ชาวประมงพาณิชย์” ก็มีปัญหาที่รัฐจะต้องดูแลด้วยเช่นเดียวกัน

และที่สำคัญ การที่ “อธิบดีกรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศ” คาดหวังว่า “หากการเจรจาจัดทำความตกลงว่าด้วยการอุดหนุนประมงของ WTO ประสบผลสำเร็จ นอกจากจะช่วยปกป้องทรัพยากรสัตว์น้ำทางทะเลของโลกให้ยั่งยืนแล้ว ยังจะช่วยสร้างโอกาสการค้าสินค้าประมงที่เท่าเทียมกันระหว่างประเทศพัฒนาแล้วและประเทศกำลังพัฒนา รวมทั้งจะทำให้สมาชิก WTO ที่มีการอุดหนุนในระดับสูงต้องลดการอุดหนุนลง และทำให้ไทยสามารถแข่งขันการส่งออกสินค้าประมงไปตลาดโลกได้มากขึ้น” นั้น

ผมเห็นว่าเป็นสิ่งที่น่ากลัวครับ เพราะจริงอยู่ที่เมื่อประเทศที่มีศักยภาพในการอุดหนุนชาวประมงสูง (อย่างเช่นประเทศที่พัฒนาแล้ว) ถูกจำกัด “มิให้อุดหนุนต่อไปได้” ก็อาจะทำให้ชาวประมงของประเทศนั้นๆ มี “ต้นทุนที่สูงขึ้น” และมีศักยภาพใน “การแข่งขันที่ต่ำลง” ในขณะที่ประเทศไทยได้เปรียบ เพราะมี “ต้นทุนที่ต่ำกว่า” ทำให้มีศักยภาพใน “การแข่งขันที่สูงขึ้น” แต่ท่านคงลืมไปแล้วครับว่า “การบริหารจัดการการประมงทะเลของรัฐบาลไทยในช่วงที่ผ่านมา “ได้ทำลาย “กิจการประมงทะเล” อันเป็น “ต้นธาร” ของอุตสาหกรรมการส่งออกสินค้าประมงไปตลาดโลกจน “ล่มสลาย” ไปเกือบจะหมดแล้ว” และได้เปลี่ยนสถานะของประเทศไทยจาก “ประเทศที่ส่งออกสินค้าสัตว์น้ำสุทธิ” ไปเป็น “ประเทศที่นำเข้าสินค้าประมงสุทธิ” ไปเรียบร้อยแล้ว แล้วเราจะเอา “สินค้าประมง” ที่ไหนไปส่งออกไปยังตลาดโลกตามที่ท่านวาดฝันไว้ครับ

ดังนั้น จึงอยากให้รัฐบาลไทยได้เร่งจัดประชุมในเรื่องนี้เป็นการด่วน เพื่อรักษาผลประโยชน์ของชาติในเรื่องการประมงทะเลที่มีอยู่ไม่มากนัก ให้คงอยู่ต่อไปด้วยครับ