ThaiPublica > สู่อาเซียน > ASEAN Roundup อินโดนีเซียคุมเข้มส่งออกน้ำมันปาล์ม

ASEAN Roundup อินโดนีเซียคุมเข้มส่งออกน้ำมันปาล์ม

13 มีนาคม 2022


ASEAN Roundup ประจำวันที่ 5-12 มีนาคม 2565

  • อินโดนีเซียคุมเข้มส่งออกน้ำมันปาล์ม กระทบอุปทานโลก
  • สิงคโปร์ยกเลิกประทับตราหนังสือเดินทาง ใช้ e-Pass แทน
  • มาเลเซียดึง FDI สูงเป็นประวัติการณ์ปี 64
  • กัมพูชารับ FDI รวม 4.35 พันล้านดอลลปี 64โต 22%
  • ฮุนเซนอนุมัติเลื่อนใช้ภาษี capital gains จนถึงปี 2567
  • กัมพูชายังไม่หลุดบัญชีเทา FATF
  • อินโดนีเซียคุมเข้มส่งออกน้ำมันปาล์ม กระทบอุปทานโลก

    ที่มาภาพ: https://www.arabnews.com/node/2039176/business-economy

    นายมูฮัมหมัด ลุตฟี รัฐมนตรีกระทรวงการค้ากล่าวว่า อินโดนีเซียจะ จำกัดการส่งออกน้ำมันปาล์มตั้งแต่วันพฤหัสบดี(10 มี.ค.) เพื่อเพิ่มอุปทานภายในประเทศ เนื่องจากทางการพยายามควบคุมราคาน้ำมันปรุงอาหารที่พุ่งสูงขึ้น

    อินโดนีเซียซึ่งเป็นผู้ผลิตและส่งออกน้ำมันปาล์มรายใหญ่ที่สุดของโลก กำหนดให้บริษัทต่างๆ นำน้ำมันปาล์มดิบและโอเลอีนที่วางแผนจะส่งออกมาจำหน่ายในประเทศ 30% เพิ่มขึ้นจาก 20% ในปัจจุบัน ภายใต้โครงการที่เรียกว่า Domestic Market Obligation (DMO) โดยจะบังคับใช้หลักเกณฑ์ใหม่นี้เป็นเวลาอย่างน้อย 6 เดือน

    มาตรการห้ามส่งออกที่เข้มงวดขึ้นจะดึงน้ำมันพืชออกจากตลาดโลกมากขึ้นอีกจากที่อุปทานได้รับผลกระทบอยู่แล้วจากการรุกรานยูเครนของรัสเซีย เพระายูเครนเป็นซัพพลายเออร์รายใหญ่ของน้ำมันเมล็ดดอกทานตะวันทั่วโลก

    “เราเพิ่มสัดส่วนของ DMO นี้เพื่อให้ทุกภาคส่วนของอุตสาหกรรมน้ำมันสำหรับประกอบอาหารในประเทศสามารถเดินหน้าได้ต่อเนื่อง” นายลุตฟีกล่าวในการแถลงข่าว

    การเพิ่มสัดส่วนการจำหน่ายในประเทศเป็น 30% จะมีผลบังคับใช้อย่างน้อย 6 เดือน “หลังจากนั้นเราสามารถทบทวนว่าจำเป็นต้องขยายหรือปรับเปลี่ยนเพิ่มเติมหรือไม่”

    นอกจากจำกัดปริมาณการส่งออกแล้ว รัฐบาลยังได้กำหนดราคาสูงสุดสำหรับน้ำมันปาล์มดิบ(CPO) และโอเลอินที่ขายให้กับโรงกลั่นในประเทศและกำหนดเพดานราคาขายปลีกไว้ด้วย

    การปรับเปลี่ยนแปลงนโยบายล่าสุดอาจจะดึงน้ำมันปาล์มได้ประมาณ 100,000 ตันต่อเดือนจากตลาดโลก นาย อนิลกุมาร บากานี หัวหน้าฝ่ายวิจัยของ Sunvin Group นายหน้าซื้อขายน้ำมันพืชในมุมไบ

    ราคาปาล์มล่วงหน้าของมาเลเซียพุ่งขึ้น 10% หลังจากการประกาศของอินโดนีเซีย

    อินโดนีเซียจำกัดการส่งออกครั้งแรกในปลายเดือนมกราคม หลังจากราคาน้ำมันประกอบอาหาร ซึ่งทำจากน้ำมันปาล์มดิบบริสุทธิ์ เพิ่มขึ้นมากกว่า 40% เมื่อต้นปี ท่ามกลางราคาโลกที่พุ่งสูงขึ้น

    แม้นโยบายจำกัดการส่งออกจะเพิ่มอุปทานภายในประเทศ แต่ผู้บริโภคยังคงร้องเรียนว่าน้ำมันประกอบอาหารยังคงขายในราคาที่สูงกว่า 14,000 รูเปียะห์ ต่อลิตรในตลาดดั้งเดิม ผู้ตรวจการแผ่นดินของอินโดนีเซียระบุ

    ในขณะเดียวกันที่ซูเปอร์มาร์เก็ต น้ำมันสำหรับประกอบอาหารใกล้จะหมดสต็อค แม้ร้านค้าปลีกส่วนใหญ่จะกำหนดโควตาไว้ที่ 2 ลิตรต่อผู้ซื้อหนึ่งรายก็ตาม

    ร้านค้าบางแห่งถึงกับขอให้ผู้ซื้อจุ่มนิ้วลงในหมึก เพื่อทำเครื่องหมายว่าพวกเขาได้ซื้อตามโควต้ารายวันแล้ว

    นายลุตฟีกล่าวว่า ทางการต้องการให้ราคาน้ำมันสำหรับประกอบอาหารสอดคล้องกับมาตรการจำกัดใหม่ก่อนเริ่มรอมฎอนในเดือนเมษายน

    นายซาเทรีย ซัมบิยานโทโร นักเศรษฐศาสตร์จาก Bahana Securities ตั้งคำถามว่า การควบคุมราคาจะมีประสิทธิภาพหรือไม่

    “เมื่อมองจากด้านอุปทาน การควบคุมราคาจะทำให้ผู้ผลิตจะไม่ผลิตน้ำมันสำหรับประกอบอาหารได้” ซาเทรียกล่าวเสริมว่า ในด้านอุปสงค์ ผู้บริโภคอาจจะกักตุนสินค้าและอาจส่งผลให้เงินเฟ้อพุ่งสูงขึ้น

    นายลุตฟีกล่าวว่า ข้อกำหนดใหม่จะมีผลบังคับจนกว่าน้ำมันสำหรับประกอบอาหารจะมีจำหน่ายในตลาดในประเทศ และไม่ได้จำหน่ายในราคาที่สูงกว่าราคาขายปลีกสูงสุดที่รัฐบาลกำหนด

    GAPKI กลุ่มปาล์มรายใหญ่ที่สุดของอินโดนีเซีย ประหลาดใจกับ โดยการดำเนินการครั้งล่าสุด เนื่องจากกลุ่มได้เรียกร้องให้รัฐบาลไม่ปรับเปลี่ยนกฎเกณฑ์จนกระทั่งหลังเดือนรอมฎอน นายโตการ์ สิตังกัง รองประธาน GAPKI กล่าวในการประชุมกลุ่มอุตสาหกรรมในกรุงกัวลาลัมเปอร์

    นับตั้งแต่อินโดนีเซียเริ่มจำกัดการส่งออกปาล์มเมื่อปลายเดือนมกราคม กระทรวงการค้าได้ออกใบอนุญาตให้ส่งออกได้ 2.77 ล้านตัน นายลุตฟีกล่าวและคาดว่ายอดขายภายในประเทศจะอยู่ที่ประมาณ 573,890 ตัน

    สิงคโปร์ยกเลิกประทับตราหนังสือเดินทาง ใช้ e-Pass แทน

    ที่มาภาพ: https://www.changiairport.com/en/airport-guide/departing/automated-immigration-gates-T4.html
    สิงคโปร์จะ ยกเลิกการประทับตราหนังสือเดินทางสำหรับผู้ที่เดินทางเข้าแบบระยะสั้น และจะออก e-Pass แทน

    สำนักงานตรวจคนเข้าเมืองและด่านตรวจ (Immigration & Checkpoints Authority :ICA) เปิดเผยเมื่อวันศุกร์ (11 มี.ค.) ว่า ชาวต่างชาติที่เดินทางเข้าสิงคโปร์ด้วยบัตรผ่านแดนระยะสั้นจะไม่ต้องประทับตราหนังสือเดินทางอีกต่อไป แต่จะมีการออกบัตรผ่านแดนอิเล็กทรอนิกส์ (e-Passes) แทนการประทับตรา

    การปรับเปลี่ยนครั้งนี้ “เป็นส่วนหนึ่งของการดำเนินการของ ICA เพื่อให้การผ่านด่านตรวจคนเข้าเมืองปลอดภัย และราบรื่นยิ่งขึ้น ในขณะที่สิงคโปร์ทยอยเปิดพรมแดนอีกครั้ง” เจ้าหน้าที่กล่าวในการแถลงข่าว

    บัตรผ่านแดนอิเล็กทรอนิกส์ได้มีการออกที่สนามบินชางงีตั้งแต่เดือนตุลาคม 2564 และจะออกที่ด่านตรวจทั้งหมดตั้งแต่วันศุกร์

    บัตรผ่านแดนจะถูกส่งไปยังอีเมลที่ผู้เดินทางระบุไว้ในบัตรขาเข้าหลังจากผ่านด่านตรวจคนเข้าเมืองแล้ว โดยจะมีรายละเอียดของบัตรผ่านแดนที่ได้รับ รวมทั้งจำนวนวันสูงสุดที่จะเข้าพักและวันสุดท้ายของการเข้าพักในสิงคโปร์

    ICA ได้เปิดตัวพอร์ทัลให้สอบถามข้อมูล ซึ่งผู้เดินทางเข้าสามารถตรวจสอบประวัติการเข้าสิงคโปร์แบบระยะสั้นของตัวเองได้

    “ด้วยการนำ e-Pass มาใช้อย่างเต็มรูปแบบ นักท่องเที่ยวต่างชาติทุกคนที่ใช้บัตรผ่านแดนระยะสั้นจะไม่ต้องกังวลกับการหนังสือเดินทางมีหน้าไม่พอที่จะรองรับการประทับตราตรวจคนเข้าเมืองอีกต่อไป” ICA กล่าว

    “นักท่องเที่ยวต่างชาติยังมีความสะดวกในการดึงข้อมูล e-Pass ของพวกเขาผ่านทาง e-Pass Inquiry Portal ของ ICA บนแพลตฟอร์ม e-Service ของ SG Arrival Card ได้ตลอดเวลา

    มาเลเซียดึง FDI สูงเป็นประวัติการณ์ปี 64

    ที่มาภาพ:https://www.thestar.com.my/business/business-news/2022/03/08/malaysia039s-fdi-inflows-highest-since-2006
    มาเลเซียดึงดูดการลงทุนที่ได้รับอนุมัติจำนวน 306.5 พันล้านริงกิตสำหรับภาคการผลิต บริการ และภาคหลักในปี 2564 ซึ่งสูงที่สุดนับตั้งแต่ปี 2549

    ในแถลงการณ์ สำนักคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (Malaysian Investment Development Authority:MIDA) รายงานการลงทุนที่ได้รับอนุมัติเพิ่มขึ้น 83% ในปี 2564 จาก 167.4 พันล้านริงกิตในปี 2563 โดยภาคการผลิตยังคงดึงดูดการลงทุนที่ได้รับอนุมัติสูงสุดในปี 2564 ด้วยมูลค่ารวม 195.1 พันล้านริงกิตรวม 702 โครงการ ธุรกิจไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์ (E&E) ได้รับอนุมัติการลงทุนสูงสุดมูลค่า 148 พันล้านริงกิตมาเลเซีย

    ส่วน การลงทุนโดยตรงจากต่างประเทศ (FDI) มาเลเซียดึงดูด FDI มูลค่ารวม 208.6 พันล้านริงกิตในปี 2564 เพิ่มขึ้นมากกว่า 3 เท่าจาก 64.2 พันล้านริงกิตในปี 2563

    การลงทุนโดยตรงจากต่างประเทศของมาเลเซียที่มีมูลค่า 208.6 พันล้านริงกิตคิดเป็น 68.1% ของการลงทุนที่ได้รับอนุมัติทั้งหมด ส่วนที่เหลืออีก 31.9% มาจากการลงทุนโดยตรงในประเทศที่ 97.9 พันล้านริงกิต

    อย่างไรก็ตาม การลงทุนโดยตรงในประเทศ (DDI) ลดลง 5% มาอยู่ที่ 97.9 พันล้านริงกิตในปี 2564 เมื่อเทียบกับ 103.2 พันล้านริงกิตในปีก่อนหน้า

    “การลงทุนโดยตรงจากเนเธอร์แลนด์ สิงคโปร์ สาธารณรัฐประชาชนจีน ออสเตรีย และญี่ปุ่นรวมกันคิดเป็น 88.9% ของ FDI ทั้งหมดที่อนุมัติในภาคการผลิต บริการ และภาคหลัก” MIDA ระบุ

    กัมพูชารับ FDI รวม 4.35 พันล้านดอลลปี 64โต 22%

    Sok Chenda Sophea, Secretary-General of the CDC ที่มาภาพ : https://www.khmertimeskh.com/501037592/cambodia-fdi-inflows-zoom-22-percent-at-4-35-billion-in-2021/
    รายงานแนวโน้มการลงทุนของอังค์ถัดในปี 2565 ระบุว่า ในไตรมาสที่สี่ในปี 2563 เริ่มเห็น FDI มีแนวโน้มสูงขึ้นทั่วโลกนับตั้งแต่ถดถอยในปี 2551 ซึ่งส่งผลให้ FDI ไหลไปทั่วโลก 1.65 ล้านล้านดอลลาร์ในปี 2564 เพิ่มขึ้น 77% จาก 929 พันล้านดอลลาร์ในปี 2563 โดยไหลเข้าเอเชียตะวันออกเฉียงใต้สุทธิ 184 พันล้านดอลลาร์ สูงกว่าระดับก่อนเกิดโรคระบาด 3 พันล้านดอลลาร์

    “อาเซียนกลับมามีบทบาทอีกครั้งในฐานะกลไกขับเคลื่อนการเติบโตของ FDI ในเอเชียและทั่วโลก โดยมีเงินไหลเข้าเพิ่มขึ้น 35.2% และช่วยเร่งการเติบโตทางเศรษฐกิจอย่างรวดเร็วของประเทศสมาชิก”

    รายงานของสภาเพื่อการพัฒนากัมพูชา (CDC) เมื่อวันพฤหัสบดีที่แล้ว กัมพูชาสามารถดึงเงินลงทุนจากต่างประเทศจำนวน 4.35 พันล้านดอลลาร์ในปี 2564 เพิ่มขึ้น 22% จากปีก่อนหน้า โดยจีน สหรัฐฯ และสิงคโปร์เป็นผู้ลงทุนรายใหญ่ที่สุดเรียงตามลำดับ

    การที่มีส่วนแบ่ง FDI ในภูมิภาคนี้ ซึ่งส่วนใหญ่ประสบกับข้อจำกัดจากการระบาดใหญ่แม้จะเปิดประเทศอีกครั้งเมื่อเดือนพฤศจิกายนปีที่แล้ว สะท้อนให้เห็นศักยภาพในอนาคตทางเศรษฐกิจของกัมพูชา

    นายโศก เจนดา โสภี เลขาธิการ CDC กล่าวว่า รัฐบาลกำลังดำเนินการเพื่อฟื้นฟูเศรษฐกิจของกัมพูชาหลังโควิด จากที่รัฐบาลได้จัดทำและเปิดตัวกรอบยุทธศาสตร์และแผนงานสำหรับการฟื้นฟูหลังโควิด-19 ปี 2564-2566 ไปเมื่อวันที่ 22 ธันวาคม 2564 ซึ่งยุทธศาสตร์นี้ประกอบด้วย 3 เสาหลัก ได้แก่ การฟื้นฟู การปฏิรูป ความยืดหยุ่น”

    กรอบยุทธศาตร์เกี่ยวข้องกับประเด็นทางสังคมและเศรษฐกิจในวงกว้าง ไม่น้อยไปกว่าการขยายตัวทางเศรษฐกิจ “R ที่สองหมายถึงการปฏิรูป – การกระจายความเสี่ยงทางเศรษฐกิจ, การอำนวยความสะดวกทางการค้า, กฎหมายที่จะนำมาใช้เกี่ยวกับเขตเศรษฐกิจพิเศษและการใช้กฎหมายการลงทุนใหม่”

    รัฐบาลได้เปิดเสรีการลงทุนมากขึ้น ซึ่งได้รับความสนใจอย่างมากทั้งในระดับภูมิภาคและระดับโลก และมีเป้าหมายที่จะยกระดับมาตรฐานให้สูงขึ้นและสร้างสภาพแวดล้อมที่เอื้ออำนวยมากขึ้นสำหรับนักลงทุน

    ทั้งการพิจารณาออกกฎหมายการลงทุนที่ให้ต่างชาติเป็นเจ้าของ 100% ให้สิทธิประโยชน์ภาษีนิติบุคคลนานถึง 9 ปี (จากนั้นต้องจ่ายภาษีนิติบุคคลในอัตราสูงสุด 20%) การให้สิทธิหักลดหย่อนค่าใช้จ่ายด้านทรัพยากรบุคคลและสวัสดิการพนักงานได้ถึง 150% นำเข้าสินค้าทุนโดยไม่ต้องเสียภาษี และไม่มีข้อจำกัดในการส่งกำไรกลับประเทศ

    ถึงแม้เศรษฐกิจกัมพูชาได้ใช้เงินดอลลาร์ ซึ่งนักลงทุนต่างชาติเข้าถึงและคุ้นเคยมาจนถึงทุกวันนี้ รัฐบาลและโดยเฉพาะธนาคารกลางกำลังส่งเสริมการใช้สกุลเงินประจำชาติ (เรียล) ให้มากกว่าดอลลาร์

    หากเศรษฐกิจของกัมพูชาถูกครอบงำด้วยเงินดอลลาร์ และค่าเงินดอลลาร์สหรัฐต้องเผชิญกับความไม่แน่นอนและราคาผันผวนในอนาคต ก็อาจทำให้ประเทศมีความเสี่ยงที่จะได้รับผลกระทบอย่างมากที่อาจกระทบผลกำไรทางการเงินจากสถาบันในกัมพูชา

    ฮุนเซนอนุมัติเลื่อนใช้ภาษี capital gains จนถึงปี 2567

    ที่มาภาพ: https://www.phnompenhpost.com/business/hun-sen-approves-capital-gains-tax-deferral-until-2024

    รัฐบาลได้ตัดสินใจที่จะเลื่อนเก็บภาษีกำไรจากการขายหรือ capital gains tax ออกไปจนถึงปี 2567 เพื่อฟื้นฟูและสนับสนุนการเติบโตทางเศรษฐกิจหลังเกิดโรคระบาด ตามประกาศของกรมสรรพากร กระทรวงเศรษฐกิจและการเงิน

    การตัดสินใจดังกล่าวมีขึ้นหลังจากกระทรวงยื่นคำขอเลื่อนการบังคับใช้ต่อนายกรัฐมนตรีฮุนเซนในเดือนมกราคม กรมสรรพากรจึงออกประกาศเมื่อวันที่ 9 มีนาคม ให้ขยายกำหนดเวลาในการประกาศใช้ภาษีกำไรจากการขายหุ้นออกไปอีก 2 ปี โดยกำหนดให้วันที่ 1 มกราคม 2567 เป็นวันที่ภาษีมีผลใช้บังคับอีกครั้ง

    CPL Real Estate ซีอีโอ นายเชง เข็งกล่าวว่า การเลื่อนเก็บภาษีกำไรจากการลงทุนเป็นการตัดสินใจที่ “ดีและทันเวลา” ของรัฐบาล และเป็น”แรงจูงใจเพิ่มเติม”กับนักธุรกิจ โดยเฉพาะในภาคอสังหาริมทรัพย์ ซึ่งได้รับผลกระทบอย่างหนักจากการล็อกดาวน์เพื่อควบคุมการระบาดในประเทศ

    โดยชี้ว่า การเติบโตของภาคอสังหาริมทรัพย์เริ่มชะลอตัวในปี 2563 และซบเซาในปี 2564 แต่ฟื้นตัวเพียงเล็กน้อยตั้งแต่ต้นปี 2565

    “ในเซกเม้นท์คอนโดมิเนียมได้รับผลกระทบมากที่สุด เพราะอสังหาริมทรัพย์ประเภทนี้ต้องพึ่งพาการขายให้กับชาวต่างชาติ เมื่อวิกฤติโควิด-19 เกิดขึ้น ประเทศถูกล็อกดาวน์ ทำให้คอนโดมิเนียมจำนวนมากขายไม่ออก การเลื่อนเวลาเก็บภาษีกำไรจากการขายมีส่วนช่วยภาคส่วนนี้อย่างมาก”

    นายฮง วานัก ผู้อำนวยการฝ่ายเศรษฐศาสตร์ระหว่างประเทศของ Royal Academy of Cambodia เห็นด้วยกับนายเข็งว่า การเลื่อนเก็บภาษีกำไรจากการขายส่งผลดีต่อนักธุรกิจจำนวนมากในธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ และยังช่วยผู้ที่ทำธุรกิจในภาคตัดเย็บเสื้อผ้าของประเทศอีกด้วย

    แม้สัมปทานภาษีอาจทำให้บางจังหวัดสูญเสียรายได้ แต่เก็มั่นใจว่ารัฐบาลจะมีแนวทางอื่นในการระดมเงินทุนระดับประเทศ และการเลื่อนเก็บภาษีมีผลโดยตรงต่อ “ยกระดับมาตรฐานการครองชีพและกิจกรรมทางเศรษฐกิจและสังคมอย่างเป็นขั้นเป็นตอนในช่วงวิกฤติโควิด-19”

    Capital gains tax มีผลกับกำไรที่ได้จากการขายหรือโอนทุน ของสินทรัพย์ 6 ประเภท ได้แก่ อสังหาริมทรัพย์ สัญญาเช่า สินทรัพย์เพื่อการลงทุน ใบอนุญาตประกอบธุรกิจและการสร้างแบรนด์ ทรัพย์สินทางปัญญาและสกุลเงินต่างประเทศในอัตราคงที่ 20% กฎหมายได้กำหนดให้จัดเก็บภาษีนี้ตั้งแต่มีการแก้ไขกฎหมายภาษีอากรโดยการออกกฎหมายว่าด้วยการจัดการทางการเงิน 2550

    กัมพูชายังไม่หลุดบัญชีเทา FATF

    กัมพูชายังคงอยู่ใน บัญชีสีเทาของกลุ่มประเทศที่อยู่ภายใต้การตรวจสอบที่เพิ่มขึ้น ของ Financial Action Task Force (FATF) ซึ่งเป็นหน่วยงานเฝ้าระวังระดับโลกในปารีส เนื่องจากมีข้อบกพร่องในการดเำนินการต่อต้านการฟอกเงิน การจัดหาเงินทุนของผู้ก่อการร้าย และการจัดหาเงินทุนเพื่อการขยายจัดอาวุธที่มีอานุภาพทำลายสูง

    FATF กังวลอย่างมากว่า กัมพูชาไม่ปสบความสำเร็จในการดำเนินการตามแผนปฏิบัติการ ซึ่งหมดอายุไปแล้วในเดือนมกราคม 2564 และได้เรียกร้องให้กัมพูชา “แสดงให้เห็นถึงการดำเนินการตามแผนปฏิบัติการอย่างรวดเร็ว ให้เสร็จสิ้นภายในเดือนมิถุนายน2565” มิฉะนั้น FATF จะพิจารณาขั้นตอนต่อไป ซึ่งอาจรวมถึงการ “เรียกร้องให้สมาชิกและเรียกร้องให้เขตปกครองทั้งหมดใช้การตรวจสอบวิเคราะห์สถานะขั้นสูงกับความสัมพันธ์ทางธุรกิจและการทำธุรกรรมกับกัมพูชา”

    FATF ระบุในเดือนกุมภาพันธ์ 2562 ว่า กัมพูชาให้คำมั่นทางการเมืองระดับสูงที่จะทำงานร่วมกับ FATF และ APG เพื่อเสริมสร้างประสิทธิภาพของระบบด้านการป้องกันและปราบปรามการฟอกเงินและการต่อต้านการสนับสนุนทางการเงินแก่การก่อการร้ายการปกครอง(AML/CFT) และแก้ไขปัญหาข้อบกพร่องอื่นที่เกี่ยวข้อง

    “กัมพูชาควรดำเนินการอย่างเร่งด่วนเพื่อจัดการกับมาตรการที่เหลือในแผนปฏิบัติการอย่างเต็มที่ เนื่องจากแผนได้หมดอายุลงแล้ว กัมพูชาควรเดินหน้าดำเนินการตามแผนปฏิบัติการเพื่อแก้ไขข้อบกพร่องเชิงกลยุทธ์ รวมถึงการส่งต่อข้อมูลข่าวกรองทางการเงินไปยังหน่วยงานบังคับใช้กฎหมายที่เกี่ยวข้องกับอาชญากรรมที่มีความเสี่ยงสูง” แถลงการณ์ระบุ

    เมื่อวานนี้(11 มี.ค.) ได้มีการประชุมเพื่อติดตามและกระชับการทำงานเพื่อต่อต้านการฟอกเงินและการจัดหาเงินทุนของผู้ก่อการร้ายและการจัดหาเงินทุนสำหรับการสร้างเสริมอาวุธที่มีอำนาจทำลายล้างสูง เพื่อให้กัมพูชาหลุดพ้นจากบัญชีสีเทา

    ดร. อัน พร โมนิโรธ รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงเศรษฐกิจและการคลัง เป็นประธานการประชุมเพื่อหารือและหาแนวทางและช่องทางเพื่อให้แน่ใจว่าเป็นไปตามเงื่อนไขทั้งหมดเพื่อให้ ถอดกัมพูชาออกจากบัญชีสีเทา

    การประชุมยังมีนาย เกิต ริธ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรมแและเจ้าหน้าที่จากกระทรวงและสถาบันต่างๆ เข้าร่วม