ThaiPublica > ประเด็นร้อน > COVID-19 พลิกโลก > ธนาคารโลกมองเศรษฐกิจประเทศกำลังพัฒนาเสี่ยง ‘Hard Landing’

ธนาคารโลกมองเศรษฐกิจประเทศกำลังพัฒนาเสี่ยง ‘Hard Landing’

12 มกราคม 2022


เศรษฐกิจประเทศกำลังพัฒนามีความเสี่ยงที่จะ Hard Landing หรือตกลงอย่างรวดเร็วหรือ จากการแพร่ระบาดไวรัสโควิด -19 รวมไปถึงเงินเฟ้อ หนี้ และความเหลื่อมล้ำ เพราะทำให้ความไม่แน่นอนสูงขึ้น

หลังจากการฟื้นขึ้นอย่างแข็งแกร่งในปี 2564 เศรษฐกิจโลกกำลังเข้าสู่ภาวะชะลอตัวอย่างชัดเจนท่ามกลางภัยคุกคามใหม่ ๆ จากสายพันธุ์ต่าง ๆ ของไวรัสโควิด -19 และเงินเฟ้อที่สูงขึ้น ภาระหนี้ และความเหลื่อมล้ำของรายได้ที่อาจส่งผลกระทบต่อการฟื้นตัวในประเทศเศรษฐกิจเกิดใหม่และประเทศกำลังพัฒนา จากการประเมินของรายงานแนวโน้มเศรษฐกิจโลก Global Economic Prospects ฉบับล่าสุดของธนาคารโลก

การเติบโตของเศรษฐกิจทั่วโลกคาดว่าจะชะลอตัวลงอย่างเห็นได้ชัดจาก 5.5% ในปี 2564 เป็น 4.1% ในปี 2565 และ 3.2% ในปี 2566 เนื่องจากความต้องการที่อั้นไว้น้อยลง และมาตรการสนับสนุนทางการคลังและการเงินทั่วโลกลดลง

การแพร่กระจายอย่างรวดเร็วของสายพันธุ์โอไมครอน บ่งชี้ว่า การระบาดมีแนวโน้มที่จะส่งผลกระทบต่อกิจกรรมทางเศรษฐกิจต่อเนื่องในระยะสั้น นอกจากนี้ เศรษฐกิจของประเทศหลักที่ชะลอตัวอย่างชัดเจน ทั้งสหรัฐอเมริกาและจีน จะส่งผลกระทบต่ออุปสงค์ภายนอก ของประเทศเศรษฐกิจเกิดใหม่และประเทศกำลังพัฒนา

ในช่วงเวลาที่รัฐบาลในประเทศกำลังพัฒนาจำนวนมากมีข้อจำกัดในการดำเนินนโยบายสนับสนุน การระบาดของไวรัสโควิด -19 ระลอกใหม่ ปัญหาคอขวดในห่วงโซ่อุปทานที่ยังมีอยู่ และความกดดันด้านเงินเฟ้อ และความเปราะบางทางการเงินที่เพิ่มขึ้นในวงกว้างของโลกอาจเพิ่มความเสี่ยงให้กับเศรษฐกิจตกลงอย่างรวดเร็วหรือ Hard Landing

“เศรษฐกิจโลกกำลังเผชิญกับไวรัสโควิด -19 เงินเฟ้อ และความไม่แน่นอนของนโยบายไปพร้อมกัน จากการใช้จ่ายของรัฐบาลและนโยบายการเงินแบบที่ไม่เคยทำมาก่อน ความเหลื่อมล้ำที่เพิ่มขึ้นและความท้าทายด้านความมั่นคงเป็นภัยต่อประเทศกำลังพัฒนาโดยเฉพาะ” นายเดวิด มัลพาส ประธานธนาคารโลกกล่าว

“การนำประเทศต่างๆ ไปสู่เส้นทางการเติบโตตามที่ต้องการ ต้องมีการดำเนินการระหว่างประเทศร่วมกันและการดำเนินนโยบายระดับชาติอย่างครอบคลุม”

การชะลอตัวจะเกิดขึ้นพร้อมกับอัตราการเติบโตที่แตกต่างกันมากขึ้นระหว่างประเทศที่พัฒนาแล้วกับประเทศเศรษฐกิจเกิดใหม่และประเทศกำลังพัฒนา

การเติบโตทางเศรษฐกิจของประเทศที่พัฒนาแล้วคาดว่าจะลดลงจาก 5% ในปี 2564 เป็น 3.8% ในปี 2565 และ 2.3% ในปี 2566 ซึ่งเป็นอัตราการเติบโตระดับปานกลาง แต่มากพอที่จะฟื้นฟูผลผลิตมวลรวมและการลงทุนให้กลับไปที่ระดับก่อนการระบาดในประเทศกลุ่มนี้

ประเทศเศรษฐกิจเกิดใหม่และกำลังพัฒนา คาดว่าการเติบโตจะลดลงจาก 6.3% ในปี 2564 เป็น 4.6% ในปี 2565 และ 4.4% ในปี 2566

ภายในปี 2566 ประเทศเศรษฐกิจก้าวหน้าทั้งหมดจะฟื้นตัวอย่างเต็มที่และเติบโตตามศักยภาพ แต่ผลผลิตมวลรวมของประเทศเศรษฐกิจเกิดใหม่และประเทศกำลังพัฒนา จะยังคงต่ำกว่าระดับก่อนการระบาด 4% สำหรับประเทศที่เปราะบางจำนวนมาก จะลดลงมากกว่านี้อีก ผลผลิตมวลรวมของประเทศที่เปราะบางและได้รับผลกระทบจากความขัดแย้งจะต่ำกว่าระดับก่อนการระบาด 7.5% และผลผลิตมวลรวมของรัฐเกาะเล็กๆ จะต่ำกว่าก่อนการระบาด 8.5%

ในขณะเดียวกัน เงินเฟ้อที่เพิ่มสูงขึ้น ซึ่งกระทบต่อแรงงานที่มีรายได้ต่ำ มีผลให้การดำเนินนโยบายการเงินมีข้อจำกัด เงินเฟ้อทั่วโลกและในประเทศพัฒนาแล้วอยู่ที่ระดับสูงสุดนับตั้งแต่ปี 2551 ในประเทศเศรษฐกิจเกิดใหม่และประเทศกำลังพัฒนา เงินเฟ้อเพิ่มขึ้นไปที่ระดับสูงสุดนับตั้งแต่ปี 2554 ประเทศเศรษฐกิจเกิดใหม่และกำลังพัฒนาจำนวนมากได้ยุติมาตรการสนับสนุนเพื่อควบคุมแรงกดดันด้านเงินเฟ้อก่อนการฟื้นตัวเต็มที่

รายงาน Global Economic Prospects ฉบับใหม่ ยังมีการวิเคราะห์ที่ให้ข้อมูลเชิงลึกล่าสุดเกี่ยวกับอุปสรรคที่เกิดขึ้นใหม่ 3 ข้อต่อการฟื้นตัวอย่างยั่งยืนในประเทศกำลังพัฒนา

ข้อแรก ภาระหนี้ ด้วยการเปรียบเทียบความคิดริเริ่มระดับนานาชาติล่าสุดเพื่อจัดการกับหนี้ที่ไม่ยั่งยืนในประเทศกำลังพัฒนา หรือ กรอบ G20 Common Framework กับการริเริ่มที่ร่วมกันก่อนหน้านี้เพื่อผ่อนปรนการชำระหนี้และบรรเทาหนี้ การวิเคราะห์ชี้ว่าโควิด-19 ส่งผลให้หนี้ทั่วโลกให้อยู่ในระดับสูงสุดในรอบครึ่งศตวรรษ แม้ภาพรวมของเจ้าหนี้จะซับซ้อนมากขึ้นเรื่อยๆ แต่พบว่าการริเริ่มเพื่อการบรรเทาหนี้ร่วมกันในอนาคตให้สำเร็จนั้นจะเผชิญกับอุปสรรคที่สูงขึ้น การใช้บทเรียนจากการปรับโครงสร้างในอดีตกับกรอบ G20 Common Framework จะเพิ่มประสิทธิภาพและหลีกเลี่ยงข้อบกพร่องที่พบจากความคิดริเริ่มก่อนหน้านี้

มารี ปันเกสตู กรรมการผู้จัดการ ด้านนโยบายและความร่วมมือการพัฒนาของธนาคารโลกกล่าวว่า “การตัดสินใจของผู้กำหนดนโยบายในอีกไม่กี่ปีข้างหน้าจะเป็นตัวกำหนดทิศทางของทศวรรษหน้า” “สิ่งสำคัญในตอนนี้คือต้องให้มีการฉีดวัคซีนในวงกว้างและเท่าเทียมกันมากขึ้น เพื่อให้สามารถควบคุมการระบาดใหญ่ได้ แต่การรับมือกับความถดถอยของความคืบหน้าในการพัฒนา เช่น ความเหลื่อมล้ำที่เพิ่มขึ้น จะต้องได้รับการสนับสนุนอย่างต่อเนื่อง ในช่วงเวลาที่มีภาระหนี้สูง ความร่วมมือระดับโลกจะมีความสำคัญในการช่วยขยายทรัพยากรทางการเงินของประเทศกำลังพัฒนา เพื่อให้สามารถบรรลุการพัฒนาที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม มีความสามารถในการปรับตัว และการพัฒนาที่ทั่วถึง”

การวิเคราะห์ส่วนที่สอง ได้ประเมินผลของวัฏจักรราคาสินค้าโภคภัณฑ์ทั้งขาขึ้นและขาลงต่อประเทศเศรษฐกิจเกิดใหม่และประเทศกำลังพัฒนา ซึ่งส่วนใหญ่ต้องพึ่งพาการส่งออกสินค้าโภคภัณฑ์เป็นอย่างมาก พบว่าวัฏจักรเหล่านี้ผันผวนมากเป็นพิเศษในช่วงสองปีที่ผ่านมา ราคาสินค้าโภคภัณฑ์ทรุดตัวลงจากการระบาดของโควิด-19 จากนั้นสูงขึ้น ในบางช่วงก็แตะระดับสูงสุดเป็นประวัติการณ์ในปีที่แล้ว การพัฒนาเศรษฐกิจมหภาคทั่วโลกและปัจจัยด้านอุปทานสินค้าโภคภัณฑ์จะยังคงทำให้วัฏจักรในตลาดสินค้าโภคภัณฑ์แกว่งตัวแรงต่อเนื่อง

สำหรับสินค้าโภคภัณฑ์หลายประเภท วัฏจักรเหล่านี้อาจจะรุนแรงขึ้นจากผลของการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศและการเปลี่ยนผ่านของพลังงานจากเชื้อเพลิงฟอสซิล การวิเคราะห์ยังแสดงให้เห็นว่าการปรับขึ้นของราคาสินค้าโภคภัณฑ์ตั้งแต่ช่วงทศวรรษ 1970 มีแนวโน้มว่าจะขึ้นต่อเนื่องมากกว่าที่จะอ่อนตัวลง จึงสร้างโอกาสที่สำคัญสำหรับการเติบโตที่แข็งแกร่งและยั่งยืนยิ่งขึ้นของประเทศส่งออกสินค้าโภคภัณฑ์ หากมีวินัยในการดำเนินนโยบายในช่วงขาขึ้นเพื่อได้รับประโยชน์อย่างเต็มที่

การวิเคราะห์ส่วนที่สาม ประเมินผลกระทบของโควิด -19 ต่อความเหลื่อมล้ำทั่วโลก พบว่าการระบาดใหญ่ทำให้ความเหลื่อมล้ำทางรายได้ทั่วโลกสูงขึ้น และเป็นส่วนหนึ่งทำให้ความเหลื่อมล้ำที่ลดลงได้ในช่วงสองทศวรรษที่ผ่านมากลับเพิ่มขึ้น และยังทำให้ความเหลื่อมล้ำในด้านอื่นๆ สูงขึ้น ทั้งในด้านความพร้อมของวัคซีน การเติบโตทางเศรษฐกิจ การเข้าถึงการศึกษาและการดูแลสุขภาพ และการสูญเสียงานและรายได้ที่สูงขึ้น โดยเฉพาะในกลุ่มผู้หญิงและแรงงานที่มีทักษะต่ำและนอกระบบ แนวโน้มนี้มีความเป็นไปได้จะทิ้งรอยแผลเป็นทางเศรษฐกิจไว้ได้ ตัวอย่างเช่น การสูญเสียทุนมนุษย์อันเนื่องมาจากการศึกษาที่หยุดชะงัก และส่งผลต่อเนื่องข้ามรุ่นได้

ไอฮัน โคเส ผู้อำนวยการกลุ่ม Prospects Group ของธนาคารโลกกล่าวว่า “จากการคาดการณ์ว่าการเติบโตของผลผลิตมวลรวมและการลงทุนจะชะลอตัวลง ความสามารถด้านนโยบายที่จำกัด และความเสี่ยงจำนวนมากที่มีผลต่อแนวโน้มเศรษฐกิจ ประเทศเศรษฐกิจเกิดใหม่และประเทศกำลังพัฒนาจะต้องวางนโยบายการเงินและการเงินอย่างรอบคอบ รวมทั้งต้องดำเนินการปฏิรูปเพื่อลบรอยแผลเป็นจากการระบาดใหญ่ การปฏิรูปเหล่านี้ควรมีเป้าหมายเพื่อส่งเสริมการลงทุนและทุนมนุษย์ ลดความเหลื่อมล้ำทางรายได้และความไม่เท่าเทียมกันทางเพศ และรับมือกับความท้าทายของการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ”