ThaiPublica > เกาะกระแส > ไข่-เนื้อหมู-ไก่ แพงแค่ไหนยุค “ประยุทธ์”

ไข่-เนื้อหมู-ไก่ แพงแค่ไหนยุค “ประยุทธ์”

8 กุมภาพันธ์ 2022


กระทรวงพาณิชย์ รายงานดัชนีราคาผู้บริโภค(Consumer Price Index:CPI) หรือ ที่รู้จักกันว่าเงินเฟ้อทั่วไป เดือนธันวาคม 2564 เพิ่มขึ้น 2.17% จากช่วงเดียวกันปีก่อน ส่วนเงินเฟ้อพื้นฐานไม่รวมกลุ่มอาหารและพลังงานเพิ่มขึ้น 0.29% ส่งผลให้เฉลี่ยทั้งปี 2564 เงินเฟ้อทั่วไปเพิ่มขึ้น 1.23% ส่วนเงินเฟ้อพื้นฐานเฉลี่ยทั้งปีเพิ่มขึ้น 0.23%

สำนักงานนโยบายและยุทธศาสตร์การค้า(สนค.)กระทรวงพาณิชย์ ได้รายงานอัตราเงินเฟ้อเดือนมกราคม 2565 เมื่อเทียบกับเดือนเดียวกันของปีก่อน สูงขึ้น 3.23% เป็น การขยายตัวในอัตราที่เร่งขึ้น เมื่อหักอาหารสดและพลังงานออกแล้ว เงินเฟ้อพื้นฐานขยายตัวต่อเนื่องที่ 0.52%

หมวดอาหาร และเครื่องดื่มไม่มีแอลกอฮอล์สูงขึ้น 2.39% โดยมีปัจจัยส่าคัญจากการสูงขึ้นของสินค้าเกือบทุกกลุ่ม ได้แก่

    กลุ่มเนื้อสัตว์ เป็ดไก่ และสัตว์น้ำ 10.35%
    จากการสูงขึ้นของราคาเนื้อสุกร ไก่สด และกุ้งขาว กลุ่มไข่ และผลิตภัณฑ์นม 2.71%
    จากการสูงขึ้นของราคาไข่ไก่ ไข่เป็ด และนมสด กลุ่มเครื่องประกอบอาหาร 6.31%
    จากการสูงขึ้นของราคาน้ำมันพืช ซีอิ๊ว และกะปิ กลุ่มเครื่องดื่มไม่มีแอลกอฮอล์ 0.11%
    จากการสูงขึ้นของราคากาแฟ/ชา (ร้อน/เย็น) ชาส่าเร็จรูปพร้อมดื่ม และน้่าผลไม้กลุ่มอาหารบริโภคในบ้าน 1.40%
    จากการสูงขึ้นของราคากับข้าวส่าเร็จรูป ข้าวแกง/ข้าวกล่อง และก๋วยเตี๋ยว และกลุ่มอาหารบริโภคนอกบ้าน 1.02%
    จากการสูงขึ้นของราคาอาหารเช้า อาหารกลางวัน (ข้าวราดแกง) และอาหารเย็น (อาหารตามสั่ง)ในขณะที่มีสินค้าราคาลดลง ได้แก่กลุ่มข้าวแป้ง และผลิตภัณฑ์จากแป้ง -6.63%
    จากการลดลงของราคาข้าวสารเจ้า และข้าวสารเหนียว กลุ่มผักสด 0.67%
    จากการลดลงของราคาพริกสด ต้นหอม และมะนาว กลุ่มผลไม้สด-2.83% จากการลดลงของราคาฝรั่ง กล้วยหอม และกล้วยน้ำว้า

อาหารเป็นสินค้าจำเป็นต่อการดำรงชีพ ผู้คนหลายกลุ่มได้รับความเดือดร้อน จากราคาที่แพงขึ้น โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ‘ไข่ไก่’‘เนื้อหมู’ และ ‘เนื้อไก่’ ที่เกิดจากปัจจัยต่างๆ ไม่ว่าจะเป็น โรคของสัตว์เลี้ยงในฟาร์ม การทำ Contract Farming ระหว่างฟาร์มขนาดเล็กและอุตสาหกรรมขนาดใหญ่ ระบบกลไกตลาด การกักตุนสินค้า ยิ่งซ้ำเติมภาระค่าครองชีพของประชาชนที่ทุกข์ยากลำบากจากการระบาดของไวรัสโควิด-19 ที่ยิดเยื้อมากว่า 2 ปีแล้ว

สำนักข่าวออนไลน์ไทยพับลิก้า สำรวจราคาสินค้าอาหารประเภทเนื้อหมู เนื้อไก่ รวมไปถึงไข่ไก่อาหารพื้นฐานที่ต้องมีติดไว้ในครัวของคนทั่วไป ย้อนหลังเกือบ 3 ปีนับตั้งแต่การเข้าทำหน้าที่รัฐบาลประยุทธ์สมัยที่ 2 เดือนกรกฎาคม 2562

โดยอ้างอิงจากข้อมูลกรมการค้าภายใน พบว่า ราคาเฉลี่ยทั่วประเทศของไข่ไก่ เนื้อหมูและเนื้อไก่เพิ่มขึ้นหลายระลอกอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะช่วงต้นปี 2565 อย่างไรก็ตามในช่วงก่อนสถานการณ์โควิด-19 มีทั้งสถานการณ์ที่สินค้าล้นตลาด และขาดตลาดในเวลาเดียวกัน โดยราคาส่วนใหญ่จากทุกภูมิภาคยังทรงตัว เว้นแต่บางจังหวัดที่ราคาปรับตัวขึ้น-ลงตามพื้นที่ ขณะเดียวกันในช่วงที่เนื้อหมูราคาแพงขึ้น ผู้บริโภคก็บริโภคเนื้อไก่ทดแทน

ราคาไข่ไก่
ราคาไข่ไก่คละหน้าฟาร์ม, ราคาไข่ไก่เบอร์ 0 ไปจนถึง ราคาไข่ไก่เบอร์ 4 ปรับขึ้นเป็นระยะนับตั้งแต่เดือนสิงหาคม 2562 ขึ้น ส่งผลให้ราคาไข่ไก่คละหน้าฟาร์ม จาก 2.84 บาทต่อฟอง เดือนสิงหาคม 2562 มาอยู่ที่ 2.94 บาทต่อฟองในสัปดาห์ที่ 3 ของเดือนมกราคม 2565 (ข้อมูล ณ วันที่ 26 ม.ค.65) ส่วนราคาไข่ไก่เบอร์ 0 จนถึงราคาไข่ไก่เบอร์ 4 ตกในระดับ 3 บาทขึ้นไปต่อฟองถึงกว่า 4 บาทต่อฟอง

ราคาเนื้อหมู
ราคาลูกสุกร ที่เคยมีราคา 1,924 บาทต่อกิโลกรัมในเดือนสิงหาคม 2562 สูงขึ้นมาที่ 3,402 บาทต่อกิโลกรัมในสัปดาห์ที่ 3 ของเดือนมกราคม 2565

ราคาขายส่งสุกรมีชีวิตแพงขึ้นจาก 70.55 บาทต่อกิโลกรัม เป็น 109.14 บาทต่อกิโลกรัม ขณะที่ราคาขายปลีกเนื้อแดงเพิ่มจาก 138.96 บาทต่อกิโลกรัม เป็น 195.00 บาทต่อกิโลกรัม

ราคาเนื้อไก่
ราคาลูกไก่เนื้อ จาก 11 บาทต่อตัวเดือนสิงหาคม 2562 เป็น 11.16 บาทต่อตัวในสัปดาห์ที่ 3 ของเดือนมกราคม 2565 ราคาขายส่งไก่มีชีวิต จาก 39.30 บาทต่อกิโลกรัมแพงขึ้นเป็น 44.36 บาทต่อกิโลกรัม และราคาขายปลีกไก่สด เดือนสิงหาคม 2562 ขายกันที่ 70.07 บาทต่อกิโลกรัม ก็เพิ่มขึ้นมาที่ 74.62 บาทต่อกิโลกรัม

สถานการณ์ที่ข้าวของ มีราคาแพง นำไปสู่การตั้งคำถามถึงแนวทางการแก้ไขปัญหาจากรัฐบาล โดยเฉพาะบทบาทการควบคุมราคาสินค้าของ ‘กระทรวงพาณิชย์’ ภายใต้การนำของนาย ‘จุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์’ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์และรองนายกรัฐมนตรี รวมไปถึง ‘นายเฉลิมชัย ศรีอ่อน’ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ที่กำกับดูแล กรมปศุสัตว์ ซึ่งรับผิดชอบโดยตรงเรื่องการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสอหิวาต์หมู ที่ส่งผลกระทบต่อปริมาณเนื้อหมูในตลาด

ที่สำคัญ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ในฐานะหัวหน้าคณะรัฐบาลที่ทำหน้าที่บริหารประเทศ ต้องกำกับรัฐมนตรีที่รับผิดชอบบริหารงานให้เร่งหาทางแก้ไข เพื่อบรรเทาความเดือดร้อนของประชาชน โดยเฉพาะ กลุ่มคนรายได้น้อยที่มีค่าใช้จ่ายหลักคืออาหารถึง 49% รวมไปถึงธุรกิจขนาดเล็กที่ต้องแบกรับต้นทุนที่สูงขึ้น เพราะประวัติศาสตร์มีให้เห็นแล้วว่าราคาสินค้า “ขึ้น”แล้ว ไม่มี “ลง” แต่คะแนนนิยมของรัฐบาลถ้า “ลง” แล้วอาจจะไม่มี(วัน) “ขึ้น”