ThaiPublica > คอลัมน์ > 5 หนังสือที่ต้องอ่านก่อนตาย

5 หนังสือที่ต้องอ่านก่อนตาย

7 มกราคม 2022


ไตรรงค์ บุตรากาศ

ผมโชคดีที่รักการอ่านหนังสือตั้งแต่เด็ก ไม่รู้ว่านิสัยนี้มากจากไหน จากที่เห็นพ่อนั่งอ่านหนังสือพิมพ์ตอนเช้าหน้าบ้านวันหยุด มีเพื่อนน้อยเนื่องจากย้ายโรงเรียนบ่อย แต่ความรักการอ่านหนังสือของผมขนาดที่สามารถนอนอ่านนิยายจีนในหนังสือพิมพ์ได้ตั้งแต่ประถม 3 ยืมหนังสือจากห้องสมุดไปอ่านเกือบทุกวันจนครูบรรณารักษ์ถามว่าเอาไปได้อ่านจริงไหม อ่านแม้แต่ในเวลาเรียน โดยซ่อนไว้ในเก๊ะลิ้นชัก ตอนที่อยู่มัธยมปลายที่ต้องอ่านหนังสือนอกเวลาและทำวิจารณ์ ผมพบว่าอ่านเกือบทุกเล่มแล้ว แม้แต่หนังสือเรียนของลูกพี่ลูกน้องพวก มานะ มานี ปิติ ชูใจ ผมเอาของเขามาอ่านจนหมด เนื่องจากหลักสูตรที่ผมเรียนนั้นเป็นหลักสูตรเก่ารุ่นสุดท้ายซึ่งสำหรับผมนั้นค่อนข้างน่าเบื่อ
ผมเริ่มอ่านหนังสือแนวธุรกิจ ประวัติชีวิต , how-to, ประวัติศาสตร์ ตั้งแต่เริ่มเข้ามหาวิทยาลัย และอ่านมาจนปัจจุบัน ในวันที่หนังสือที่ซื้อมีมากกว่าหนังสือที่อ่านได้ในแต่ละปี แต่มีหนังสือบางเล่มที่เนื้อหายังคงอ้อยอิ่งอยู่ในความทรงจำ ดังที่จะเล่าให้ฟังดังต่อไปนี้นะครับ

1. McDonald’s: BEHIND THE ARCHES, John F. Love.

เป็นหนังสือภาษาอังกฤษเล่มแรกที่อ่าน และอ่านในเวลาที่แปลกที่สุด คือ ตอนที่ผมไปเรียนที่ญี่ปุ่น ประเทศที่ไม่มีใครพูดภาษาอังกฤษ (ในขณะนั้น และเรียก McDonald’s ว่า มัคคุ โดนะรุโด) ผมเป็นคนต่างชาติ ที่ไม่ได้อ่านหนังสือภาษาญี่ปุ่น และก็ไม่ใช่ภาษาไทย และพกหนังสือไปด้วยพร้อมดิกชันนารีอังกฤษ-ไทย ไปอ่านด้วยทั้งที่ โรงเรียน ในรถไฟ และสวนสาธารณะ (โปรดสังเกตสภาพหนังสือเก่ามาก และเต็มไปด้วยลายมือเขียนคำแปล)

Ray Kroc เซลล์แมนขายเครื่องทำมิลก์เชก อายุ 52 แปลกใจที่ร้านขายแฮมเบอร์เกอร์แห่งหนึ่งสั่งเครื่องทำมิลก์เชกซึ่งเป็นธุรกิจที่กำลังแย่ถึง 10 เครื่อง จึงตัดสินใจเดินทางไปดูด้วยตัวเอง เพื่อยืนยันว่าร้านค้าไม่ได้สั่งผิด แล้วก็ตกหลุมรักการผลิตและการจัดการที่มีประสิทธิภาพ รวมทั้งรสชาติเบอร์เกอร์ที่ดีได้มาตราฐานในทุกๆ ชิ้นในราคาที่ถูกแสนถูกของสองพี่น้องตระกูลแมคโดนัลด์

ไม่ว่าจะเป็นการดื้อรั้น ตื๊อไม่หยุด กัดไม่ปล่อย ในที่สุด Ray Kroc ก็สามารถโน้มน้าวใจให้สองพี่น้องที่มีประสบการณ์ไม่ดีกับการขายแฟรนไชส์มาแล้วยอมให้แฟรนไชส์กับเขา แต่เรื่องราวต่อจากนี้ไม่ได้ง่ายดายอย่างที่ success story ทั้งหลายมักเล่ากัน แต่ผ่านการพยายามอย่างแสนสาหัสเพื่อให้มีกำไร การขัดแย้งอย่างรุนแรงกับพี่น้องแมคโดนัลด์ในการปรับปรุงสูตร การต่อรองค่าแฟรนไชส์ การกำเนิดเฟรนช์ฟรายที่ไม่ได้ทำจากมันฝรั่งสดอีกต่อไป การคิดใหม่จากการโฟกัสไปที่การพัฒนาที่ดิน การขยายสู่ต่างประเทศ และความลุ่มหลงในความเป็นเลิศของ Ray Kroc ขนาดเดินเก็บขยะตลอดทางเดินที่ไปสู่ร้านของเขา

Ray Kroc ใช้เล่ห์เหลี่ยมทางกฎหมายและทางการค้าเพื่อบีบบังคับพี่น้องตระกูลแมคโดนัลด์ยอมโอนสิทธิการค้าทั้งหมดของ McDonald เป็นของเขาแต่เพียงผู้เดียวโดยได้เงินเพียงน้อยนิด และไม่มีสิทธิแม้แต่จะใช้ชื่อตระกูลของตัวเองในการตั้งชื่อร้านเบอร์เกอร์ที่ตัวเองเป็นคนประดิษฐ์คิดค้นกรรมวิธีการผลิตที่แสนมีประสิทธิภาพได้ต่อไปตลอดชีวิต

ไม่ว่า success story ของ Ray Kroc จะมาจากเล่ห์เหลี่ยม กลโกง หรืออะไรก็ตาม น่าแปลกที่ผู้ก่อตั้งธุรกิจที่เป็นตำนานเหล่านั้น เช่น บิล เกตส์, สตีฟ จอบส์, เจฟฟ์ เบโซส เป็นต้น ล้วนมักมีคุณลักษณะร้ายๆ แบบนี้ไม่ทางใดก็ทางหนึ่ง หรือมันเป็นแค่ต้นทุนที่ติดมาด้วยกับความชาญฉลาดของคนเหล่านั้นและเราทำได้แค่ยอมรับ

แต่มีสิ่งหนึ่งที่ตำนานเหล่านี้มีเหมือนกันอย่างไม่ต้องสงสัย คือ passion หรือความหลงใหลในสิ่งที่เขาทำ ถึงระดับหมกมุ่นที่จะทำมันให้ดีขึ้นตลอดเวลา ด้วยต้นทุนอะไรก็ได้ ชีวิตด้านไหนก็ได้ และชื่อเสียงแบบไหนก็ได้ เพื่อไปให้ถึงที่ตั้งความหวังไว้

เรื่องราวของ McDonald ได้ถูกทำเป็นภาพยนตร์แล้ว โดยใช้ชื่อว่า The Founder นำแสดงโดยดาราคุณภาพอย่าง ไมเคิล คีตัน ทำออกมาได้ดีทีเดียว แต่หากจะเข้าถึงการเรียนรู้อย่างการสร้างธุรกิจให้ใหญ่ขึ้นมา การพัฒนาความรู้และการสร้างองค์กร อ่านหนังสือย่อมได้รายละเอียดครบสมบูรณ์กว่าเยอะครับ

2. Alexander The Great, ART OF STRATEGY, The Timeless Leadership Lessons of History’s Greatest Empire Builder, Partha Bose

ไม่ว่าการรบในสนามจริง ที่มีชีวิตคนเป็นเดิมพัน หรือสนามธุรกิจที่มีเงินเป็นพัน เป็นหมื่นล้าน การวางกลยุทธ์ได้ถูกนำมาใช้ตั้งแต่อดีตกาล และ Alexander The Great ได้แสดงถึงการเป็นผู้เชียวชาญด้านกลยุทธ์ และยุทธวิธีอย่างแท้จริง ตั้งแต่หลายพันปีที่แล้ว

Alexander ใช้ทุกรูปแบบที่กูรูทุกคนพูดถึงในวันนี้เมือพันปีที่แล้ว ตั้งแต่ 100 days mission หรือ การประกาศวิสัยทัศน์ทันทีที่ขึ้นครองราชย์ การ leverage strengths, shielding weakness, การโจมตีด้วยความเร็วที่เหลือเชื่อ และในหนทางที่คู่ต่อสู้คาดไม่ถึง (Alexander เคยนำทัพปีนข้ามเขาใน 1 คืน เพื่อลอบไปโจมตีกองทัพศัตรูที่ชะล่าใจว่าไม่มีใครจะมาโจมตีจากทางด้านนี้ได้), manage transition ผ่านการแต่งตั้งผู้สืบทอดหรือ successor ก่อนนำทัพไปยึดอาณาจักรต่อไป การกลืนเผ่าพันธุ์จากการแต่งงานกับราชวงศ์ที่เข้าไปยึดครอง การสร้าง forward supply base หรือ สร้างแหล่งอาหารและทรัพยากรตามเส้นทางการบล่วงหน้า

Alexander ผู้ซึ่งบัญชาการรบจากแนวหน้าเสมอ และหลายครั้งเข้าร่วมรบด้วยกับกองกำลังทหารม้าและสหายของเขา ไม่รอรายงานสถานการณ์อยู่ในแนวหลัง ขึ้นครองราชย์เมื่ออายุราว 20 ปี และเสียชีวิตเมื่ออายุ 32 ปี (สันนิษฐานว่าด้วยโรคไทฟอยด์ หรือมาลาเรีย) และทำสงครามเพื่อขยายอาณาจักรตลอดชีวิต

ไม่มีใครรู้ว่าหาก Alexander The Great มีชีวิตยืนยาวกว่านั้น โลกที่เราเห็นทุกวันนี้จะเปลี่ยนไปแบบไหน เมื่อเขาเสียชีวิต อาณาจักรที่เขายึดครองเกือบครอบคลุมแผ่นดินที่เป็นที่รู้จักในขณะนั้น จากยุโรป แอฟริกา เปอร์เซีย ไปจนถึงอินเดียตอนเหนือ และนิสัยในวัยหนุ่มของ Alexander ที่ชอบผสมผสานวัฒนธรรมของโลกดังที่เราจากงานศิลปะยุคโบราณต่างๆ โลกอาจจะเปลี่ยนไปจากที่เรารู้จักตลอดกาลก็เป็นได้

หนังสือเล่มนี้เหมาะกับผู้อยากเรียนรู้เกี่ยวกับกลยุทธ์ ยุทธวิธี ทั้งในโลกการรบจริงและโลกธุรกิจ และการขยายอาณาจักร และเคยทำเป็นภาพยนตร์เรื่อง ALEXANDER มาแล้ว แต่โดยส่วนตัวหนังไปนำเสนอเรื่องชีวิตส่วนตัวของเขาที่เป็น bisexual และทำให้เบี่ยงเบนจากการนำเสนอเป็นนักกลยุทธ์ นักรบ และวิสัยทัศน์ ซึ่งควรจะเป็นธีมหลักที่น่าสนใจมากกว่า

3. The Art of Seductions, Robert Green

มาดูหนังสือแนว dark side กันบ้าง แม้จะได้เอามาใช้ในชีวิตจริงบ้าง ได้บ้างไม่ได้บ้าง เพราะของพรรค์นี้ก็ขึ้นกับแคแรกเตอร์ของแต่ละคนด้วย The Art of Seductions หรือ ศิลปะแห่งการล่อลวง (ยั่วยวน โอ้โลม หรืออะไรที่ออกไปในทางนี้) พาคุณดำดิ่งเข้าสู่ศาสตร์มืดของการล่อลวงให้เหยื่อตกสู่หลุมพรางที่วางไว้ เพื่อจุดประสงค์อะไรสัก อย่าง เซ็กซ์ การยินยอม การให้ หรืออะไรบางอย่าง ผ่านการเล่าตัวอย่างของตัวละครคาสโนวา หรือเหตุการณ์ในประวัติศาสตร์ ที่ศาสตร์แห่งการล่อลวงที่นำมาใช้ในชีวิตจริงทั้งโลกการเมือง และความรัก

Art of Seduction แบ่งบุคคลิกของผู้ล่อลวงไว้ถึง 10 แบบ ทั้ง the Siren (ผู้เลอโฉม ปลดปล่อยคนรักจากโลกความเป็นจริงอันตึงเครียด), Rake (นักรัก รักก็รักสุดๆ แต่ก็มากรัก ต้องติดตามจึงได้รัก), coquette (โดมผู้จองหอง play hard to get เดี๋ยวรัก เดี๋ยวร้าย เดาใจไม่ออก แต่ไปไหนไม่พ้น), Chamer, Charismatic, ฯลฯ

แยกแยะขั้นตอนไว้อย่างชัดเจนตั้งแต่ การเลือกเป้าหมาย (ความสำเร็จก็ขึ้นกับการเลือกเป้าหมายที่ถูกต้องด้วย) การสร้างความสนใจ ความไว้ใจและรู้สึกปลอดภัย ต้องรู้จักจังหวะรัก และจังหวะทิ้ง อย่ารักฝ่ายเดียว ต้องให้รู้วันที่จากไป ความรักคือความสุขและปลอดภัย แต่การล่อลวงคือ การผสมกันระหว่างความยินดีและความสับสน เมื่อขาดก็อยากได้ (desire) มีจุดอ่อนให้คนดูแลได้ อย่าแกร่งอย่างเดียว ผสมความสุขและความเจ็บปวดเมื่อจากไป (เพราะความเจ็บปวด เราจึงรู้จักความสุข) ให้รู้สึกว่ารักแท้ แต่รักไม่ได้ (ยิ่งห้าม ยิ่งต้องการ) และสุดท้ายเมื่อแฟนตาซีสิ้นสุด หนังสือยังแนะนำถึง Art of Anti-seduction เพื่อถอนมนตร์เสน่ห์ และถอนตัวก่อนจะถลำลึกไปสู่ขั้นต่อไปและเจ็บปวดกันทั้งสองฝ่าย

Art of Seduction อยู่ในชีวิตประจำวันทุกวันของพวกเรานะครับ ทั้งความรัก เซ็กซ์ การเมือง การงาน หรือธุรกิจ ไม่ว่าคุณจะเป็นคนใช้ หรือถูกใช้ ในทุกจังหวะของชีวิตนั่นเอง

4. The Millionaire Next Door, Thomas J. Stanley and William D. Danko

เป็นหนังสือธุรกิจเล่มแรกๆ ที่ผมอ่าน (กับ In Search of Excellence, Thomas J. Peter and Robert H. Waterman, Jr 2 ไม่แน่ใจว่าเล่มไหนเล่มแรก) หนังเล่มนี้เขียนไว้ตั้งแต่ปี 1995 ถึงงานวิจัยเพื่อค้นหาคนที่ความมั่งคั่งตั้งแต่ 1 ล้านดอลลาร์ขึ้นไปในสหรัฐอเมริกา และดูว่าคนกลุ่มนี้เป็นคนแบบไหน มักอาศัยอยู่ที่ใด และมีอะไรที่คนกลุ่มนี้มีเหมือนๆ กัน ผลการวิจัยค่อนข้างน่าทึ่งเพราะกลับพบคนกลุ่มนี้ในชนชั้นกลางมากกว่าคนชั้นสูงที่มักมีอาชีพการงานที่ดีและน่าจะร่ำรวยกว่าชาวบ้านหน้าตาธรรมดาเป็นอย่างมาก

คนกลุ่มนี้มักมีลักษณะเหมือนๆ กัน คือ ค่อนข้างเป็นคนขี้เหนียว ใช้เงินอย่างระมัดระวัง มีมาตรฐานการใช้ชีวิตอย่างเรียบง่าย และมักต่ำกว่าฐานะการเงินที่แท้จริงของตนเองเสมอๆ คนกลุ่มนี้มักลงทุนแต่เนิ่นๆ และจัดสรรเงินส่วนหนึ่งไว้ลงทุนก่อนเสมอ ไม่ใช่เพื่อใช้จ่าย ส่วนใหญ่ไม่ได้มีสมบัติตกทอดจากพ่อแม่ ทำอาชีพที่ไม่ได้ดูแฟนซีนัก แต่ก็มีโอกาสที่จะเติบโตต่อเนื่อง และเชื่อว่าการมีอิสระการเงินสำคัญกว่าการมีมาตราฐานการใช้ชีวิตที่หรูหรา

หนังสือได้รับการวิจารณ์อย่างล้นหลามมากแต่ก็เป็น international best seller ลักษณะของ millionaire ในยุคนั้น ดูจะต่างจากยุคนี้เป็นอันมาก ที่ซูเปอร์ billionaire มาจากสตาร์ทอัปดังๆ ประเภทหาช่องว่างทางการตลาด ผนวกเทคโนโลยี และ scale up แล้วก็รวยระดับโลกกันไปเลย (เรามักไม่ค่อยเห็นสตาร์ทอัปที่ล้มเหลว ทั้งๆที่บริษัทที่ล้มเหลวมีมากกว่าสำเร็จ) บางทีการแปลลักษณะคนในแต่ละยุคอาจจะต้องแปลกันด้วยบริบทที่ต่างกันไป อย่างการเป็น frugality คือ ตระหนี่ถี่เหนียว อาจจะเป็นแปลว่า ใช้เงินอย่างคุ้มค่า ใช้น้อยที่สุด ในคุณค่าที่มากที่สุด ซึ่งเราก็เห็นกันอยู่บ่อยๆในยุคนี้ ที่ผู้ก่อตั้งของสตาร์ทอัปที่รวยแล้ว มักมีแนวโน้มการบดคั้นคุณค่าจากพนักงานคนหนึ่งๆ ให้มากที่สุด ทั้งเรื่องประสิทธิภาพ และประสิทธิผล และคุณภาพของงาน

แต่ที่ชัดเจนที่สุดอันหนึ่ง คือ คนกลุ่มนี้ใช้เงินอย่างคุ้มค่าเสมอ และมักเป็นเพื่อการหาโอกาส การลงทุนใหม่ๆ ทั้งในธุรกิจตนเอง และหาดอกผลทั่วไป หามากใช้น้อย หรือใช้เพื่อให้ได้มาต่อ นั่นคือการสะสมความมั่งคั่งครับ

5. The Calvin and Hobbes, Tenth Anniversary Book, Bill Watterson

The Calvin and Hobbes เป็นการ์ตูนช่องแบบที่เราเห็นในหนังสือพิมพ์ (ยุคกระดาษ) เป็นเรื่องราวของเด็กน้อยที่ชื่อคาลวิน และสัตว์เลี้ยงของเขาที่เป็นเสือ ชื่อว่าฮอบบีส์ ทั้งสองมีความคิดเห็นที่ขัดแย้งกับโลกในมุมของผู้ใหญ่เกือบในทุกๆ ทาง และแสดงออกผ่านการเล่นแผลงๆ อย่างร้ายกาจร่วมกับเสือของเขาชนิดไปไหนไปกัน เพื่อประท้วงให้ผู้ใหญ่หรือใครก็ตามในสังคมรอบข้างที่ดูเหมือนจะยอมรับมาตรฐานสังคมไปซะหมด ให้หันมามองอีกทางเลือกหนึ่งในการใช้ชีวิตเสียบ้าง ไม่ว่าจะเป็นกับ พ่อ แม่ ซูซี เพื่อนนักเรียนผู้หญิง โม นักบุลลี่ประจำโรงเรียน มิสเวิร์มวูด คุณครูประจำโรงเรียน ซึ่งรวมไปถึงการแปลงร่างเป็น The Stupendous เพื่อเข้าไปในโลกไดโนเสาร์ ปราบสัตว์ประหลาดจากต่างดาว ซึ่งก็คือ มิสเวิร์มวูดในจินตนาการนั่นเอง

แต่ในหลายครั้ง คาลวินและฮอบบีส์ก็แค่นั่งนิ่งๆด้วยกันและประหลาดใจว่า แท้จริงแล้วโลกก็สวยงามนัก เพียงแค่นั่งสังเกตมันเท่านั้น หรือตกลงกับฮอบบีส์ที่จะนอนพร้อมกัน และสัญญาที่จะเข้าไปในฝันของกันและกัน เพื่อที่จะขยายเวลาเล่นสนุกต่อกันให้ยาวขึ้นอีกหน่อย เพื่อที่จะพบว่าไม่ว่าจะสัญญากันอย่างไรต่างคนต่างก็แยกย้ายกันหลับไปอยู่ดี

The Calvin and Hobbes เขียนขึ้นโดย บิล วัตเตอร์สัน ในฐานะโปรเจคส่วนตัว ในขณะที่ทำงานอยู่บริษัทโฆษณาเล็กๆ แห่งหนึ่งในซินซินแนติ โปรเจคการ์ตูนช่องของเขาถูกปฏิเสธโดยสำนักพิมพ์ต่างๆ ถึง 6 ครั้งก่อนที่ The Calvin and Hobbes จะถูกยอมรับในเดือนพฤศจิกายน 1985 และเขียนต่อเนื่องมาเป็นเวลา 10 ปี ก่อนที่เขาจะตัดสินใจหยุดเขียนไปเฉยๆ ทั้งๆ ที่ The Calvin and Hobbes ยังเป็นที่นิยมและถูกตีพิมพ์ซ้ำแล้วซ้ำเล่า โดยให้เหตุผลแก่ผู้อ่านว่าเขาความสนใจของเขาได้เปลี่ยนแปลงไป และอยากทำงานที่ไม่บีบคั้นด้วยเส้นตายและเวลา บิลปฏิเสธที่ให้ไลเซนส์แก่ผู้ใด และปฏิเสธที่ให้ลิขสิทธิ์แก่ผู้ใดในการทำเป็นสินค้าทุกชนิด โดยให้ความเห็นว่า นั่นอาจบั่นทอนหัวใจของการ์ตูนเรื่องนี้ไป แม้นั่นจะหมายถึงเงินอีกหลายร้อยล้านดอลลาร์ด้วย และนั่นเป็นสิ่งที่ทำให้เราไม่เคยเห็นสินค้าหรือตุ๊กตาลายการ์ตูนนี้เลย ไม่ว่าจะดังแค่ไหน

The Calvin and Hobbes เป็นการ์ตูนที่มีเสน่ห์อารมณ์ขันแบบผู้ใหญ่ แต่ชวนให้เอ็นดูเหมือนเด็กๆ จอมดื้อและแสนซน ซึ่งสะท้อนผ่านจินตนาการของบิล วัตเตอร์สัน อดีตเด็กน้อยผู้รักสันโดษและเริ่มการเขียนการ์ตูนตั้งแต่ 8 ขวบ เคยถูกไล่ออกจากหนังสือพิมพ์ขณะที่ยังไม่ทันพ้นโปร ถูกปฏิเสธจากสำนักพิมพ์ถึง 6 ครั้ง และมีแนวคิดที่เป็นตัวของตัวเองสุดสุด The Calvin and Hobbes ทำรวมเล่มออกมาหลายเล่ม ซึ่งผมมีอยูจำนวนหนึ่งรวมถึง ฉบับครบรอบ 10 ปี นี้ซึ่งเล่าเรื่องราวระหว่างการเขียนการ์ตูนเรื่องนี้ในแต่ละธีมและเบื้องหลังไปพร้อมกัน ซึ่งทำให้ทราบเรื่องราวต่างๆ ในชีวิตของเขา ผ่านการผจญภัยของเจ้าหนูคาลวิน และเสือน้อยฮอบบีส์ ซึ่งแท้จริงคือเสือน้อยในจินตนาการจากตุ๊กตาเสือยัดนุ่นเพื่อนคู่ใจของคาลวินที่พกติดตัวไปด้วยกันตลอด

หนังสือคือขุมทรัพย์แห่งความรู้ และจินตนาการอย่างไม่มีที่สิ้นสุด ไม่ว่าจะเป็นรูปแบบหนังสือ อีบุ๊ก รวมถึงบทความต่างๆ มีหนังสืออีกมากมายหลายเล่มที่มีเรื่องราวที่ชวนฉงน ทึ่ง หรือช่วยยกระดับจิตวิญญาณและพลังสมองอีกมากที่อยากจะชวนอ่านมากกว่านี้ เช่น “Singapore Story” เขียน โดยนาย ลิว กวนยู เอง, “ICON” ประวัติของสตีฟ จอบส์ ที่เขาไม่ยอมรับ หรือแนวธุรกิจผสมดรามาอย่าง “How the Starbuck saved my life” (จากชีวิตจริงของอดีตนักโฆษณาวัย 60 ที่มาสุดทางของอาชีพเดิม และต้องเริ่มอาชีพใหม่ในร้านสตาร์บัคส์ เพื่อดูแลครอบครัวที่สอง และพบคุณค่าในชีวิตอีกครั้ง หนังสือเชียร์สตาบัคส์สุดๆ แต่ถ้านี่คือชีวิตจริง แล้วไงล่ะ), Ride of the Lifetime โดย Robert Iger(CEO Walt Disney) หรือการ์ตูนอีกเรื่องหนึ่งคือ “DILBERT” by SCOTT ADAMS การ์ตูนช่องตลกร้ายที่ล้อชีวิตคนทำงานออฟฟิศประเภทประเภทแทงข้างหลังทะลุหัวใจ อย่างตอน “Highly Defective People” หรือ “I can’t remember if we’re cheap or smart” ก็มีเรื่องราวและทัศนคติต่างๆเปิดให้เราคิดอะไรใหม่ๆ ได้อีกมาก เพียงแต่ค้นหา เริ่มหาหนังสือ ละสายตาจากมือถือ แล้วเริ่มอ่านหนังสือเล่มโปรดของคุณอีกสักครั้ง