ไตรรงค์ บุตรากาศ
ซีรีส์ Midnight Diner: Tokyo Stories ซึ่งฉายทาง Netflix ในขณะนี้ เปรียบเสมือนบทสะท้อนของสังคมที่ไม่ว่าจะเกิดวิกฤติอย่างไร คนที่มีหน้าที่ทำงานให้สังคม จะทำผิดพลาดครั้งแล้วครั้งเล่าขนาดไหน ใส่ใจชีวิตน้อยไปหรือไม่ หรือสร้างผลกระทบขนาดไหน การวิจารณ์ก็กลับกลายเป็นเรื่องผิดกฎหมาย คนลำบากลำบน ฆ่าตัวตายหนีเศรษฐกิจไปก็เยอะ แต่เมื่อมันได้แค่นี้ ชีวิตก็ยังคงต้องดิ้นร้นเพื่อให้ดำเนินต่อไปตามที่พอจะหาได้ ทำนอง life must goes on
Midnight Dinner ไม่ได้ใช้เรื่องราวที่เครียดมากขนาดนี้ในการดำเนินเรื่อง แต่เป็นเรื่องความเป็นไปในชีวิตคนเมือง Tokyo ที่ความเหงาแฝงอยู่ที่ทุกที่ทั้งหัวมุนถนน ที่ทำงาน บาร์เกย์ ถนนที่ผู้คนพลุกพล่าน และในทุกเวลา แม้ในห้วงความสุข สมหวัง ทุกข์ หวนระลึกในอดีตที่ไม่อาจกลับมา หรือการต้องดิ้นรนเพื่อก้าวต่อไปในอีกจังหวะของชีวิต ผมไม่ได้เปลี่ยนแนวมาวิจารณ์หนังนะครับ แต่ดูเรื่องนี้แล้วบางทีเราอาจมีความหมาย และสู้กับชีวิตที่มันโถมใส่เข้ามาหาเราอย่างไม่ยั้ง ด้วยความนิ่งและรับกับมันให้ได้ เพื่อให้ผ่านไปได้อีกขั้นหนึ่งของชีวิต
Midnight Diner เป็นเรื่องของร้านอาหารญี่ปุ่นเล็กๆ ซึ่งซ่อนตัวในซอกซอยแห่งหนึ่งในย่านชินจูกุ ชื่อ เมชิยะ (อ่านตามป้ายหน้าร้าน แปลตรงตัวคือ ร้านอาหาร นะครับ) มีเมนู แค่ 4 อย่าง เช่น ซุปหมู เบียร์ สาเก (อีกอย่างอ่านไม่ออกละครับ คืนคุณครูไปหมดละ) ที่เหลือลูกค้าอยากสั่งอะไรก็ได้ ถ้ามีของที่จะทำให้ได้ก็ทำให้หมด ซึ่งเป็นนโยบายประจำของ Master หรือเจ้าของร้าน ซึ่งทำเองทุกอย่างตั้งแต่ทำอาหาร เสิร์ฟ ล้างจาน เก็บร้าน ร้านเปิดตั้งแต่เวลาเที่ยงคืน ปิดเจ็ดโมงเช้า เพื่อรับลูกค้าหลังเที่ยงคืนในย่านชินจูกุ ที่มีหลากหลายมากกว่าที่คิด ตั้งแต่เจ้าของบาร์เกย์ นักเต้นระบำเปลื้องผ้า คนทำงานรอบดึก นักร้อง นักดนตรี นักวิจารณ์ นักแต่งเพลง หรือใครก็ตามที่แค่ไม่อยากกลับบ้าน รวมไปจนถึงยากูซ่า
เจ้าของหรือ Master (นำแสดงโดย คาโอรุ โคบายาชิ) ดูเป็นคนมีความหลังไม่น้อย ไม่ยุ่งเกี่ยวกับเรื่องลูกค้าถ้าไม่ได้ร้องขอ หรือบางครั้งร้องขอ แกก็ทำให้ในพื้นที่ที่ตัวเองทำได้เท่านั้น ไม่กลัวใคร แต่ก็ไม่อยากยุ่งกับใคร นิ่ง ขรึม ใจนักเลง แต่ก็มีน้ำใจ ซึ่งเป็นลักษณะลึกๆ ของผู้ใหญ่ญี่ปุ่นแบบ traditional มากๆ ผนวกกับแผลเป็นบนหน้าของแก ทำให้ดูเหมือนอดีตยากูซ่ากลับใจยังไงยังงั้น
อาหารที่แกทำจะเป็นอาหารง่ายๆ อย่างเหลือเชื่อ ทั้งข้าวแมว (ข้าวสวยญี่ปุ่นร้อน โรยด้วยเกล็ดปลาโอแห้ง) ราดโชยุ ข้าวโปะเนยที่อบให้ละลายด้วยความร้อนของข้าวเองแล้วราดโชยุ ยากิโซบะที่โปะด้วยไข่ดาว ปลาย่าง ไข่หวานย่าง ข้าวราดน้ำชา (โอชาทสึเกะ) ไข่ปลาคอตย่าง ราเมนก็เป็น instant ราเมน ไล่มาทุกเมนูจนจะจบ season แล้วเป็นเมนูแบบนี้จริงๆ
แต่ตอนจบจะมีตัวละครในแต่ละตอนมาแนะนำทิปในการทำเมนูแสนง่ายแบบนี้ให้อร่อยวิเศษขึ้นมาได้ทุกเมนู นี่เป็นสไตล์ญี่ปุ่นแท้ๆ ที่ลุ่มหลงที่จะทำในสิ่งที่เรียบง่ายที่สุดให้วิเศษที่สุดขึ้นมาได้
แต่ด้วยอาหารที่แสนง่ายเหล่านี้ที่ Master ทำเพื่อปลอบโยน บาดแผลของผู้คนเหล่านี้ กลับได้ผูกร้อยตัวละครแต่ละคน ให้มาอยู่ที่นี่ มีชะตา หรือมีวาสนาร่วมกัน ไม่ว่าจะสั้นหรือยาว บนพื้นที่ร้านอาหารแบบนั่งเคาน์เตอร์รอบก็นั่งได้ไม่เกิน 10 ที่ เรื่องราวแต่ละเรื่องแม้จะเรียบง่ายเหมือนกันกับอาหารที่เขาทำ แต่ก็ทำให้เดาตอนจบแทบไม่ได้ทุกครั้งว่าเรื่องราวมันจะจบอย่างไร สุขหรือเศร้า เพียงแต่ไม่ว่าจะอย่างไร ร้านก็จะเปิดทุกวันเวลาเดิม เมนูง่ายๆ เหมือนเดิม ราวกับชีวิตที่ต้องดำเนินต่อไปตามครรลองของมัน แม้จะมี up and down หรือการผจญภัยเล็กๆ ในชีวิต
ตัวละครที่ผูกร้อยด้วยเมนูง่ายๆ บนพื้นที่เล็กๆ ขนาดนี้ มีตั้งแต่เจ้าของบาร์เกย์ (ตัวเองเป็นโอคามะ หรือกะเทย) ที่ชอบกินแต่ไข่หวานย่าง และแอบชอบหัวหน้าแก๊งยากูซ่าประจำถิ่น ที่สั่งแต่ไส้กรอกปลาหมึกทอด ซึ่งเป็นเมนูที่มีความหลังเป็นของกินที่คนรักในวัยรุ่นทำให้กิน
นักมวยสมัครเล่นที่ทำงานประจำไปด้วย ซึ่งแวะมากินเมนูหมูทอดราดไข่บำรุงกำลังทุกครั้งที่ชกชนะ และมุ่งมั่นให้ได้แชมป์เพื่อจะขอแต่งงานบนเวทีกับคนรักที่ทำงานที่บาร์และมีลูกติด 1 คน ที่มาเจอกันเพราะมากินเมนูประจำคือปลาย่างที่ร้านนี้ แต่สุดท้ายแพ้ก่อนไปถึงชิงแชมป์ แต่ไม่ว่าผลจะออกมาเป็นอย่างไร ทั้งสามชีวิตก็ผูกพันเป็นครอบครัวกันอยู่ดี และเปลี่ยนเมนูมาเป็นไก่ทอดราดหน้าไข่แทน (เมนูนี้ภาษาญี่ปุ่น เรียกว่า “โอยะโกะด้ง” แปลว่า “ข้าวหน้าพ่อแม่ลูก” คือ ไก่กับไข่อยู่ในเมนูเดียวกัน เป็นความหมายแฝงความเป็นครอบครัวกัน)
นักชิมวิจารณ์อาหารชื่อดัง ที่เริ่มเบื่อหน่ายต่อการชิมอาหารชั้นเลิศ ก็ยังไม่ได้มาตรฐานที่สูงส่งของแกอยู่ดี แต่กลับเป็นขาประจำของเมนู ข้าวสวยร้อนๆ โปะเนยราดโชยุ เพราะหากินที่บ้านไม่ได้เนื่องจากภรรยาทำแต่อาหารฝรั่ง (เขียนไปอยากกินไปครับ) ซึ่งเป็นเมนูที่พี่สาวทำให้กับคนรักที่เป็นนักดนตรีพร้อมกับตัวเองตอนสมัยวัยรุ่น และก็มาเจอกับอดีตคนรักของพี่สาวที่ปัจจุบันเป็นนักดนตรีวณิพก มากินเมนูนี้ที่นี่เช่นกัน และชวนให้นักดนตรีไปหาพี่สาวของตนเองที่ยังไม่ลืมความรักครั้งเก่าและครองตัวเป็นโสดมา ทั้งพี่สาวและนักดนตรีเองก็ยังไม่ลืมความรักครั้งเก่าเหมือนกัน
นักดนตรีหญิงเปิดหมวกเพลงลูกทุ่งญี่ปุ่น ที่รักในแนวทางเพลงนี้ทั้งที่ไม่ได้เป็นที่นิยมแล้วในสมัยนี้ แต่ยังเหนียวแน่นร้องเพลงตามสถานีขายซีดีเพลงของตัวเอง เพื่อวันหนึ่งจะมีคนเห็นแววของตัวเอง แวะมากินเมนูข้าวแมว (ข้าวโรยแผ่นปลาโอแห้ง) ตอนอีกครึ่งชั่วโมงก่อนร้านปิด และสุดท้ายมาเจอเซนเซ (อาจารย์) นักแต่งเพลงแนวนี้ ซึ่งเป็นลูกค้าประจำเช่นกัน จนเปิดตัวและเริ่มประสบความสำเร็จ แต่สุดท้ายป่วยด้วยโรคร้ายเสียก่อน
นักแสดงชายหนังโป๊ญี่ปุ่น แสดงหนังเอวีมาแล้วกว่า 400 เรื่อง มาเจอกับผู้ที่อยากเป็นลูกศิษย์เอาดีทางนี้ ในขณะที่ตัวเองแม้จะประสบความสำเร็จ แต่ลึกๆ แล้วก็เป็นอาชีพที่ตัวเองไม่ได้ภูมิใจนัก เพราะไม่ค่อยมีใครยอมรับได้มากนัก แม้แต่กับแม่ของตัวเอง
เด็กนักเรียนทุนส่งหนังสือพิมพ์ (ส่งหนังสือแลกค่าจ้าง และทุนการศึกษาในมหาวิทยาลัย ใครที่ไปญี่ปุ่นในยุคราวๆ กับผมนั้น จะรู้จักกันเป็นอย่างดีกับนักเรียนทุนประเภทนี้) ที่ไม่กล้าแม้จะรักผู้หญิงที่รักเขา เพราะผู้หญิงนั้นอยู่ในฐานะที่สูงส่งกว่ามาก ในสังคมยุคนี้ใครจะเชื่อว่าเป็นเรื่องจริง แต่มันมีจริงๆ นะครับ ผมเห็นตัวอย่างจริงๆ แม้แต่ในเมืองไทยเอง
ยังมีตัวละครอีกมากที่เป็นขาประจำ ไม่ว่าจะเป็นสามใบเถา หญิงสามคนที่แสวงหารักแท้อย่างแท้จริง แม้จะเลยวัยมาพอสมควรแล้ว และสั่งแต่ข้าวราดน้ำชาทุกๆ ครั้งที่มา
ตัวละครเหล่านี้กลับมาผูกพัน รู้จักกัน มีชะตาชีวิตร่วมกัน ไม่ว่าจะสั้นหรือยาว ด้วยเมนูง่ายๆ บนพื้นที่เล็กๆ ของร้าน Midnight Diner (เมชิยะ) ด้วยเรื่องราวต่างๆ ที่อาจจะมีสุข สมหวัง หรือแค่ episode อีกฉากของชีวิต ที่ดำเนินไป โดยมีตัวยืน คือ Master ซึ่งแกแสดงได้นิ่งจริงๆ และเป็นตัวหลักให้ตัวละครที่มีเรื่องราวหลากหลายเหล่านี้ผ่านเข้ามาโดยมีแกเป็นศูนย์กลาง
ไม่ว่าซีรีส์ชุดนี้จะมีเรียกขานกันว่าเป็นเรื่องแนวไหน feel good, life goes on หรือแนวใดๆ สิ่งที่ Midnight Diner บอกแก่คนดูคือ ชีวิตจะถาโถมเข้าใส่เราอย่างไร หากปล่อยให้มันดำเนินไป โดยเข้าไปยุ่งกับมันเท่าที่จะยุ่งได้ แต่เมื่อทำดีที่สุดแล้ว มันจะเป็นอย่างไร มันก็จะดำเนินต่อไป หากเราไม่หยุดมันไปเสีย (ประเทศญี่ปุ่นที่มีอัตราการฆ่าตัวตายต่อประชากรสูงสุด และคนเฒ่าคนแก่เสียชีวิตอย่างเดียวดายมากที่สุด)
Midnight Dinner เดิมเป็นหนังสือการ์ตูน ตั้งแต่ปี 2006 เคยนำมาทำเป็นซีรีส์โดยทีวีอาซาฮีตั้งแต่ปี 2009–2013 เคยถูกนำมาสร้างเป็นภาพยนต์ รวมถึงถูกซื้อไปรีเมกทั้งที่เกาหลี ไต้หวัน จีน ฮ่องกง โดยชุดที่กำลังฉายใน Netflix นี้ซื้อลิขสิทธิ์มาทำต่อในชื่อตอน Midnight Diner: Tokyo Story กำกับโดย โจจิ มัตทสึโอกะ นำแสดงโดยนักแสดงคนเดิม คาโอรุ โคบายาชิ นักแสดงคนเดิม ซึ่งสะท้อนเสน่ห์ที่ดูเรียบง่ายของซีรีส์เรื่องนี้นั่นเอง