ThaiPublica > คอลัมน์ > 5 คลิปที่คุณต้องดูก่อนตาย

5 คลิปที่คุณต้องดูก่อนตาย

1 ธันวาคม 2021


ไตรรงค์ บุตรากาศ

ฝ่ายสื่อสารองค์กรไลน์มาหาเมื่อวันเย็นวันเสาร์หลายอาทิตย์ว่า “นี่เธอเขียนเรื่องอะไรสนุกๆ ให้หน่อยนะ ไว้ลง weekend อะไรก็ได้เรื่องที่ไม่เกี่ยวกับงาน ที่ทำช่วงเสาร์อาทิตย์น่ะ ” ตามที่บริษัทเริ่มมี ผมยังอึ้งๆ อยู่ว่าจะเขียนอะไรดี ในเมื่อตอนเช้าเพิ่งประชุมรอบพิเศษกับทีมการเงินไป หลายสัปดาห์ก็ทำเรื่องแผนธุรกิจกันยันเย็นวันอาทิตย์ ถ้าไม่เกี่ยวกับงาน ก็น่าจะเป็นเรื่องไปตลาดซื้อกับข้าวให้ลูก ซื้อไข่กับข้าวสารเพราะหมดพอดี หรือตัดต้นไม้หน้าบ้าน แต่ยังไม่ทันตอบอะไรมาก ทักษะที่ยอดเยี่ยมแบบฝ่ายสื่อสารองค์กรก็ทำให้ผมตกปากรับคำไปเรียบร้อยแล้ว

แต่ถ้าจะเขียนเรื่องจริง ทำนองซื้อไข่ ข้าวสาร ขนมลูก ไอ้ว่าจะเขียนเรื่องสนุกๆ ให้คลายเครียด คงจะทำให้เครียดไปกันใหญ่ เลยตั้งใจจะเอาเรื่องที่อยู่ในความทรงจำมานานแล้วมาเล่าให้ฟังด้วยกัน เป็นคลิปที่เคยดูมานานแล้วและรู้สึกดีๆ มาเป็นกำลังใจและอาหารสมองพวกเราก็แล้วกันครับ (มีสปอยล์นะครับ)

Marc spelman ที่มาภาพ : Bristish Got talent
1. Britain’s Got Talent 2018 – Marc Spelman (1st Golden Buzzer)

ถ้ามีคนให้คุณสุ่มหยิบไพ่จากสำรับ หมุนรูบิกไปมั่วๆ จิ้มตัวอักษรอะไรก็ได้ในหนังสือ หรือเลือกชอล์กสีอะไรก็ได้จากกล่อง แล้วเขาบอกว่าเขารู้ว่ามันคือไพ่อะไร หน้ารูบิก ตัวอักษร หรือชอล์กสีอะไร คุณจะเรียกมันว่าเมจิก แต่หากเขาบอกว่าเขาเดาถูกตั้งแต่เมื่อ 2 เดือนที่แล้วแล้ว นี่อาจจะมากกว่าเมจิก ไม่ว่าคุณจะเรียกมันว่าปาฏิหาริย์ พรหมลิขิตหรืออะไรก็ตาม Marc Spelman ได้ยกระดับการแสดงมายากลขึ้นไปอีกขั้น เขาผสานกลง่ายๆ อย่างการเดาไพ่ หรือตัวอักษร กับเรื่องจริงที่ชะตาชีวิตเล่นตลกกับครอบครัวของเขา

หลังจากทำ IVF มากว่า 5 ปี ภรรยาของเขาเริ่มตั้งครรภ์บุตรสาวคนแรก แต่ในขณะเดียวกันก็พบว่าภรรยาของเขาเป็นมะเร็งในขณะที่ตั้งครรภ์ไปด้วย ทั้งลูกและภรรยาของเขาต้องฝ่าฟันการบำบัดด้วยคีโมไปด้วยกันจนถึงวันลูกสาวของเขาคลอดออกมาได้อย่างปลอดภัย และโฮมวิดีโอที่เขาบันทึกสิ่งต่างๆ ที่เกี่ยวกับลูกสาวไว้ตั้งแต่ 2 เดือนที่แล้ว เฉลยทุกๆ อย่างที่กรรมการเลือกมาได้อย่างถูกต้องทุกประการ

Marc Spelman ได้ยกระดับเมจิกไปอีกขั้น ผ่านการเอาอารมณ์สะเทือนใจเข้าไปใส่ในมายากลของเขา ชีวิตคนเราในทุกวันนี้เป็นเรื่องยาก ต้องฝ่าฟันอุปสรรคหลายต่อหลายอย่าง แต่เมื่อเราอดทนจนพ้นผ่านมาได้ เมื่อนั้นย่อมพบกับความสุข แม้เรื่องราวที่เกิดขึ้นในชีวิตของเขาไม่ได้เกี่ยวกับกลประการใดก็ตาม เขาผสมส่วนผสมที่ดูไม่เข้ากันนั้นได้อย่างลงตัว จนคนไม่ได้สนใจที่จะพยายามจับผิดกลของเขาอีกต่อไป

เพราะเรื่องที่เกิดขึ้นในชีวิตจริงของเขา โดยเฉพาะกับเด็กซึ่งเป็นลูกของเขา ก็พร้อมจะทำให้หัวใจของผู้ชมทุกคนรับทุกสิ่งที่เขานำเสนอ ไม่ว่ากลนั้นจะมีข้อบกพร่องหรือจับผิดได้โดยง่ายแค่ไหน ก็ไม่เป็นที่น่าจะสนใจอีกแล้ว

Marc Spelman ได้ผนวกสิ่งที่นักการตลาดถือเป็นขั้นสุดยอดของการขายสินค้าเข้ามาในกลของเขา ซึ่งทำให้คนซื้อโดยไม่สนใจเหตุผลอะไรเลย หรือ emotional factor นั่นเอง

Deshun wang ที่มาภาพ
: huffington Post

2. ข้าชื่อ “หวางเต๋อชุน” Deshun Wang – Artist and Catwalk Model

หวางเต๋อชุน คือ ชายวัย 80 ปี (ปัจจุบันนี้คงเกินไปหลายปีแล้ว) ที่เป็นที่รู้จักในฐานะนายแบบบนแคตวอล์กที่อายุมากที่สุด ด้วยร่างกายแข็งแรงและมีกล้ามเนื้อ เขาโด่งดังทางอินเทอร์เน็ตแทบจะชั่วข้ามคืน และเป็นนายแบบให้กับรีบอค และแสดงภาพยนตร์อีกหลายเรื่อง แต่ใครจะรู้ว่าเขาผ่านอะไรมาบ้างจนถึงวันนี้

หวางเต๋อชุนบอกว่า เขาใช้เวลาเกือบทั้งชีวิตเพื่อเตรียมตัวมาถึงวันนี้ เขาเริ่มชีวิตด้วยการเป็นคนงานโรงงานของกองทัพจีน หัดแสดงละครเมื่ออายุ 24 เริ่มเรียนภาษาอังกฤษเมื่ออายุ 44 เล่นละครใบ้เมื่ออายุ 49 ผ่านความล้มเหลว ไม่มีบ้าน ไม่มีอาหาร ไม่มีชื่อเสียง มาอยู่พักใหญ่ เขาเริ่มออกกำลังกายเมื่ออายุ 50 พออายุ 57 ก็เริ่มแสดงศิลปะมีชีวิต เริ่มเพาะกายเมื่ออายุ 70 ตอนนี้อายุ 80 เขายังมีความฝันอีกหลายอย่างต้องทำให้เสร็จ

คนที่จะขัดขวางคุณไม่ให้แสดงศักยภาพได้ คือ ตัวคุณเอง อย่าให้ตัวคุณเองเป็นข้ออ้างในความล้มเหลว และเมื่อถึงเวลาแสดงศักยภาพ จงเปล่งประกายให้ถึงที่สุด

หวางเต๋อชุนคือตัวอย่างเล็กๆ ในหมื่นล้านคนทั่วโลก ที่บอกว่าเวลาและอายุไม่ได้เป็นข้อจำกัดของศักยภาพและการประสบความสำเร็จของมนุษย์ เพียงแต่ว่าทางของเราอาจจะยาวกว่าของคนอื่น ซึ่งมากน้อยเท่าไหร่นั้นมันไม่ได้มีความสำคัญอะไรเลย เพราะหากเราไม่หยุดเปล่งประกาย เมื่อนั้นศักยภาพของเราย่อมถึงวันที่จะฉายแสงในที่สุด

“หวางเต๋อชุน ชายผู้บ้าบิ่นจาก ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ”

Changpuek vs Rick Roufus ที่มาภาพ : Raddit

3. The fight that change history of Muay Thai – Changpuek Kietsongirt vs. Rick Roufus, 1988

เมื่อปลายศตวรรษที่ยี่สิบ มวยไทยไม่ได้เป็นที่รู้จักมากนักในวงการการต่อสู้โลก หลายครั้งที่ถูกดูหมิ่นเป็นการแสดงหรือไม่ก็เป็นการต่อสู้ที่ดูป่าเถื่อน การชกระหว่าง ช้างเผือก เกียรติทรงฤทธิ์ และริก รูฟัส ซึ่งเป็นแชมป์โลกคิกบ็อกซิงในตอนนั้น เป็นเรื่องที่คาดการณ์ว่าจะจบลงได้ง่ายเพราะความแข็งแกร่งระดับแชมป์โลกคิกบ็อกซิงผู้ไม่เคยแพ้ใคร ซึ่งคงจะตอกย้ำข้อสงสัยว่ามวยไทยไม่ได้เป็นศิลปะการต่อสู้ที่แท้จริงให้คลายข้อสงสัยได้

ช้างเผือกเปิดยกแรกมาไม่ดีเลย โดนต่อยนับถึงสองครั้ง โดยเฉพาะครั้งแรกส่งผลถึงกับกรามหัก และโดนต่อยลงไปนับอีกครั้ง กติกาการชกระหว่างมวยไทยและคิกบ็อกซิงในขณะนั้นคือไม่สามารถใช้ศอกและเข่าได้ และการที่ไม่รู้จักทางคู่ต่อสู้ น่าจะทำให้ช้างเผือกกะจังหวะไม่ถูกหลายหน สิ้นยกหนึ่ง สถานการณ์ไม่ดี ช้างเผือกสภาพร่างกายไม่พร้อมเพราะเจอมา 2 นับ แต่หัวใจเท่านั้นที่ยืนสู้ได้ต่อ และตัดสินใจมาใช้ในจุดแข็งที่ดีสุดที่ช้างเผือกและมวยไทยมีเหลืออยู่ คือการเตะ (โดยเฉพาะ low kick) ในขณะที่คิกบ็อกซิงมักจะเตะแบบคาราเต้ ซึ่งมีน้ำหนักแตกต่างจากการเตะแบบมวยไทย เพื่อแก้ไขสถานการณ์ที่ไม่มีอะไรจะเสียแล้วในขณะนั้น

ขึ้นยกสอง ช้างเผือกเริ่มด้วยการเตะ เตะ เตะ และเตะ ไปที่ขาของรูฟัส จากแค่เจ็บจนเริ่มออกอาการยืนไม่ไหว หลายครั้งเดินหนีโดยมีช้างเผือกไล่ตามเตะทั้งหน้าและหลังตลอด รูฟัสล้มลงและไม่สามารถลุกขึ้นยืนได้ต่อไปในยกที่สาม

leverage on strength ถือเป็นหนึ่งในกลยุทธ์ ที่เราเห็นในตำราธุรกิจหลายต่อหลายเล่ม และเพิ่งเคยเห็นการนำเข้ามาใช้ในวงการหมัดมวยอย่างชัดเจนที่สุดจากคลิปดังกล่าว ที่พลิกชะตาจากเกือบแพ้น็อก เป็นการน็อกแชมป์โลกคิกบ็อกซิงได้ในที่สุด

ปัจจุบัน โรงเรียนธุรกิจเริ่มกลับเข้าสู่อีกแนวหนึ่ง และเล่าถึงการ leverage on strength แต่เพียงอย่างเดียวอาจไม่ได้เป็นทางเลือกที่ดีที่สุดนัก โดยเฉพาะที่สถานการณ์เปลี่ยนไปมาในปัจจุบัน เพราะหากเราใช้แต่จุดแข็งตลอดเวลา ไม่ปรับปรุงจุดอ่อนเลย จุดอ่อนนั้นอาจสร้างปัญหาอย่างใหญ่หลวงให้กับเราได้เช่นกัน

อย่างไรก็ตาม ในสถานการณ์ฉุกเฉินแบบยกหนึ่งของช้างเผือก leverage on strength always make you survive ผมดูการต่อสู้นี้ทางทีวีตั้งแต่สมัยนั้น (อายุเท่าไหร่กันหนอ) ไม่น่าเชื่อว่าผมจำฝังใจมาโดยตลอด และเพิ่งได้มาพบว่า การต่อสู้ไฟต์นี้ถือเป็นการต่อสู้ที่ถือเป็นตำนานหนึ่งของมวยไทยและคิกบ็อกซิงโลก และทำให้นักสู้หลายๆ คนเข้ามาเรียนรู้มวยไทยอย่างเป็นจริงจังในเมืองไทย และสามารถต่อกรได้อย่างสมน้ำสมเนื้อกับมวยไทยในยุคปัจจุบัน

Dabbawala ที่มาภาพ : seven20hours.com

4. Dabbawalla: A Documentary Film – ดับบาวาลา คนส่งปิ่นโตแห่งมุมไบ

ทุกๆ วัน ดับบาวาลา หรือคนส่งปิ่นโต กว่า 5,000 คนจะนำส่งอาหารให้คนกว่า 200,000 คน ทั่วเมืองมุมไบ โดยเฉลี่ยคนหนึ่งจัดส่งกว่า 40 เถา โดยปราศจากแอปพลิเคชัน, แพลตฟอร์ม, แผนที่ GPS หรืออื่นใด มีเพียงโค้ด ตัวอักษร ตัวเลข และสีเท่านั้น ที่เป็นตัวแบ่งงาน เส้นทาง ของบริการอันซับซ้อนนี้ โดยมีค่าเฉลี่ยความผิดพลาดเพียง 1 ใน 16 ล้านครั้งเท่านั้น

อาชีพที่เก่าแก่กว่า 125 ปีนี้เริ่มในสมัยอินเดียยังเป็นอาณานิคมของอังกฤษ และสืบทอดมาจนปัจจุบัน แม้ในปัจจุบันนี้ ดับบาวาลาเริ่มเอาเทคโนโลยีมาใช้บ้าง เช่น เว็บไซต์และ SMS แต่พื้นฐานของการปฏิบัติการที่แม่นยำเช่นนี้ยังดำเนินไปแบบดั้งเดิมอยู่โดยปราศจากความรู้เกี่ยวกับ Six Sigma เลยแม้แต่น้อย

บางครั้งเราเอาเทคโนโลยีเป็นจุดตั้งต้นของการพัฒนากระบวนการ โดยปราศจากความเข้าใจว่าหากเราไม่สามารถเข้าใจแก่นแท้ของกระบวนการ หรือขาดเทคนิคที่ชัดเจนในการจัดการการปฏิบัติการเหล่านั้น เทคโนโลยีก็ไม่อาจคิดแทนเราได้เช่นกัน

ดับบาวาลาเป็นหนึ่งในกรณีศึกษาที่แสดงถึงข้อเท็จจริงข้อนี้ และเป็นกรณีศึกษาในมหาวิทยาลัยชั้นนำอย่าง Harvard Business School ที่เอามาสอนแก่นักศึกษาเช่นกัน

Susan Boyle ที่มาภาพ
: celebritian.com

5. Britain’s Got Talents: Susan Boyle, 2009

เป็นคลิปที่สองที่ประทับใจจากรายการนี้ และเชื่อว่าหลายคนน่าจะเคยผ่านตาหรือเคยได้ยินเพลงของเธอบ้างแล้วเป็นแน่ เป็นไปได้อย่างไรที่คุณป้าอายุ 47 ปีที่ผมเผ้าและการแต่งตัวเชยอย่างแสนสาหัส พกพาความมั่นใจแบบประหลาดๆ และอยากจะเป็นนักร้องอาชีพเหมือน Elain Page จะเพิ่งมาเริ่มเอาตอนนี้ (ซึ่งเธออธิบายในการสัมภาษณ์ตอนหลังว่าเธอต้องดูแลแม่ของเธอ เมื่อแม่ของเธอเสีย ความรู้สึกว่างเปล่าได้กระตุ้นเตือนให้เธอกลับมาตามล่าความฝันอีกครั้ง) ทุกๆ คนในห้องส่ง รวมทั้งกรรมการ โดยเฉพาะไซมอน ต่างดูถูกเธอ และคาดว่าจะเห็นการแสดงที่น่าสมเพชอีกครั้งหนึ่ง

อย่างไรก็ตาม เมื่อเธอเริ่มร้องเพลงทุกคนก็หยุดชะงัก และขนลุกที่ได้ฟังเสียงที่ไพเราะและมีพลังระดับนี้ ทุกคนลุกขึ้นยืนปรบมือซึ่งแสดงถึงการให้เกียรติอย่างสูงสุด ไม่มีใครดูถูกเธออีกต่อไป

ซูซาน บอยล์ เป็นตัวอย่างหนึ่งของคนที่ไม่เคยหมดไฟที่จะตามหาความฝันและโอกาสที่จะปลดปล่อยศักยภาพของเธอให้เปล่งประกาย และไม่ว่าภาระหน้าที่ หรือจิตใจของเธอเอง ซึ่งสะท้อนผ่านรูปลักษณ์ภายนอก ที่ครอบงำเธอตลอดชีวิต จะรั้งการแสดงศักยภาพของเธอไว้อย่างไร เมื่อโอกาสมาถึง ซูซานก็ตัดสินใจที่จะลองดูสักครั้ง และหวังว่าอะไรอะไรมันจะดีขึ้นบ้าง และเธอทำได้ “I Dreamed A Dream.” คือเพลงที่เธอร้อง และมันมีเรื่องราวว่า

“ฉันฝันฝันหนึ่งเมื่อนานมาแล้ว
วันที่ชีวิตเต็มไปด้วยความหวัง และน่าเรียนรู้
ฉันฝันว่าความรักเป็นสิ่งนิรันดร์และพระเจ้าช่างแสนใจดี
ฉันยังเยาว์และไม่กลัวที่จะฝันถึงสิ่งต่างๆ อย่างไม่สิ้นสุด
ไม่เคยต้องกังวล เพราะไม่มีต้นทุนอะไรที่จะฝัน
แต่ในค่ำคืนหนึ่งที่ความจริงที่โหดร้ายปรากฏ
มันฉีกความฝันเป็นชิ้นๆ ให้เหลือไว้แต่ความอับอาย
ฉันยังฝันให้เขากลับมาอยู่ด้วยกัน
แต่ฝันบางฝันก็ไม่มีวันที่จะเป็นจริง และพายุบางพายุก็ไม่ยอมพัดผ่านไป
ฉันฝันถึงชีวิตที่ฉันอยากมี ซึ่งมันแตกต่างเหลือเกินจากความจริง
ที่ฆ่าความฝันของฉันอย่างนิรันดร์”

เพลงที่ซูซาน บอยล์ เลือกมาร้องเป็นเพลงเศร้านะครับ ที่แม้จะร้องได้หวานไพเราะเท่าไหร่ก็ตาม สะท้อนความฝันที่เกือบจะดับสูญไปแล้วเหมือนกับของตัวเธอเอง ยกเว้นในชีวิตจริง ซูซาน บอยล์ ฮึดสู้ขึ้นมาในช่วงเกือบท้ายของชีวิตและหวังว่าอะไรมันจะเปลี่ยนแปลงไปจากเดิมบ้าง และเธอก็ทำได้จริงๆ

หวังว่า 5 คลิปที่แนะนำ แม้จะไม่ต้องดูก่อนตาย ก็ไม่เป็นไรนะครับ แต่หวังว่าคงจุดพลังและเป็นกำลังใจให้สู้ต่อไปในชีวิตครับ

บางครั้งบทเรียนชีวิต การตลาด การบริหาร และแรงบันดาลใจ ก็แทรกอยู่ในจังหวะเล็กๆ ในชีวิต อย่างคลิปต่างๆ ที่เรามองผ่านตาไปอย่างฟุ่มเฟือย หวังว่าเราคงได้อะไรไปเพื่อต่อยอดเส้นทางของเราต่อไปในชีวิตครับ

ตอนต่อไป ถ้าหากยังมีโอกาสได้เขียนอยู่ จะมาแบ่งปันเรื่อง “5 หนังสือที่คุณต้องอ่านก่อนตาย”, “5 ภาพยนตร์ที่คุณต้องดูก่อนตาย” และ “5 speech ที่คุณต้องฟังก่อนตาย” ขอบคุณครับ