ThaiPublica > ประเด็นร้อน > COVID-19 พลิกโลก > สธ.แจ้งเตือนโควิดฯระดับ 4 แนะปิดสถานที่เสี่ยง-ชะลอเดินทางข้าม จว.

สธ.แจ้งเตือนโควิดฯระดับ 4 แนะปิดสถานที่เสี่ยง-ชะลอเดินทางข้าม จว.

6 มกราคม 2022


นายแพทย์เกียรติภูมิ วงศ์รจิต ปลัดกระทรวงสาธารณสุข

สธ.ยกระดับการแจ้งเตือนโควิดฯจาก 3 เป็น 4 หลังพบ “โอมิครอน” ระบาดแพร่ระบาดอย่างรวดเร็ว แนะปิดสถานที่เสี่ยง-ชะลอการเดินทางข้ามจังหวัด-ทำงานที่บ้าน ขอความร่วมมือสถานประกอบการปฏิบัติตามมาตรการสาธารณสุขอย่างเคร่งครัด ปชช.หมั่นตรวจ ATK ทุก 3 วัน

สถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดต่อเชื้อไวรัสโคโรน่า 2019 (โควิด-19) วันที่ 6 มกราคม 2565 พบมีผู้ติดเชื้อรวม 5,775 ราย จำแนกเป็น ผู้ป่วยจากระบบเฝ้าระวัง 5,323 ราย ผู้ป่วยจากการค้นหาเชิงรุก 160 ราย ผู้ป่วยภายในเรือนจำง 77 ราย ผู้ป่วยมาจากต่างประเทศ 215 ราย ผู้ป่วยสะสม 2,216,387 ราย (ตั้งแต่ 1 เมษายน 2564) ผู้ป่วยกำลังรักษา 37,968 รายและมีผู้ป่วยหายป่วยกลับบ้านแล้ว 2,673 ราย ส่งผลให้ตัวเลขรวมหายป่วยสะสม 2,158,076 ราย และผู้เสียชีวิตเพิ่ม 11 ราย

นายแพทย์เกียรติภูมิ วงศ์รจิต ปลัดกระทรวงสาธารณสุข กล่าวว่า จากสถานการณ์โควิดฯวันนี้มีผู้ป่วยติดเชื้อ 5,775 คน ถือว่ามีอัตราการแพร่ระบาดเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็วในจำนวนนี้ประมาณ 95% มีอาการไม่รุนแรง ส่วนใหญ่มีอาการไอ และมีไข้เพียงเล็กน้อย แต่ก็ต้องไม่ประมาท เพราะหากปล่อยให้มีผู้ป่วยติดเชื้อเพิ่มขึ้นเป็นจำนวนมาก ก็จะมีโอกาสที่จะทำให้มีผู้เสียชีวิตเพิ่มขึ้นตามไปด้วย ดังนั้น กระทรวงสาธารณสุข ขอเสนอให้ยกระดับมาตรการแจ้งเตือน จากเดิมอยู่ที่ระดับ 3 เพิ่มเป็นระดับที่ 4 เป็นข้อแนะนำของกระทรวงสาธารณสุข ซึ่งอาจจะมีมาตรการต่างๆตามมา เช่น ปิดสถานที่เสี่ยง ที่ทำให้เกิดการแพร่ระบาดของเชื้อโรค และจำกัดการเดินทางต่างๆ เช่น ให้ทำงานที่บ้าน หรือ Work From Home หรือ จำกัดการเดินทางข้ามจังหวัด หากพี่น้องประชาชนมีความจำเป็นต้องเดินทางในช่วงนี้ให้ชะลอออกไปก่อน รวมทั้งจำกัดการรวมกลุ่ม การทำกิจกรรมต่างๆ รวมทั้งสถานประกอบการต้องปฏิบัติตามมาตรการของกระทรวงสาธารณสุขอย่างเคร่งครัด ทั้งการรักษาระยะห่าง สวมหน้ากากอนามัย ล้างมือ ทั้งผู้ให้บริการและผู้มาใช้บริการต้องฉีดวัคซีนครบถ้วน และจัดเตรียมแอลกอฮอล์ไว้ให้ผู้มาใช้บริการล้างมือ และหลีกเลี่ยงการอยู่ร่วมกันในสถานที่ปิดเป็นเวลานาน อาจทำให้เกิดการติดเชื้อได้ ทางกระทรวงสาธารณสุขขอความร่วมมือให้ประชาชน ตรวจ ATK ทุก 3 วัน หรือ ทุกสัปดาห์ก็จะเป็นการดี ยืนยันว่าเชื้อไวรัส สายพันธุ์โอมิครอนมีอาการไม่รุนแรงประมาณ 95% ในเบื้องต้นจะมีอาการไอ และมีไข้เล็กน้อย ซึ่งแตกต่างจากไวรัส 2 สายพันธุ์

หากพบการติดเชื้อให้โทร 1330 เพื่อขอคำแนะนำ โดยจะเน้นให้ผู้ที่ไม่มีอาการหรืออาการน้อยดูแลที่บ้านจะมีการจัดยาและเวชภัณฑ์ให้ และติดต่อระบบการแพทย์และสาธารณสุขได้ตลอดเวลา หากมีอาการมากขึ้นจะมีระบบส่งต่อโรงพยาบาลอย่างรวดเร็ว ทั้งนี้ หากทุกฝ่ายและประชาชนร่วมมือกัน เชื่อว่าจะสามารถชะลอการระบาดครั้งนี้และสามารถขับเคลื่อนประเทศไทยต่อไปได้

ด้าน ดร.ธนกร วังบุญคงชนะ โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวว่าสถานการณ์โรคโควิด-19 ทั่วโลกที่ได้รับรายงานผู้ติดเชื้อรายใหม่เกิน 1 ล้านคน สายพันธุ์ที่ระบาดใหญ่ คือ เดลต้า และโอมิครอน ส่วนในประเทศไทยเริ่มมีแนวโน้มจำนวนผู้ติดเชื้อเพิ่มสูงขึ้น ซึ่ง พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม ได้ขอความร่วมมือประชาชนให้ตระหนัก แต่อย่าตื่นตระหนก ทั้งนี้ ได้กำชับให้ทุกฝ่ายเตรียมความพร้อมรับมือเฝ้าระวังสถานการณ์การแพร่ระบาดการติดเชื้อโควิด-19 และโอมิครอนอย่างเข้มข้นแล้ว ในส่วนของประชาชนขอความร่วมมือ ผู้ที่ฉีดวัคซีนโควิด-19 ครบ 2 เข็มแล้ว ก่อนวันที่ 1 พฤศจิกายน 2564 ให้ไปรับการฉีดวัคซีนบูสเตอร์หรือเข็ม 3 ได้ที่สถานพยาบาลใกล้บ้าน ส่วนบุคลากรทางการแพทย์และเจ้าหน้าที่ด่านหน้า ประชาชนกลุ่มเสี่ยง ที่ฉีดเข็ม 3 แล้วเกิน 3 เดือน ให้เข้ารับเข็ม 4 ได้ เพื่อสร้างภูมิคุ้มกันรองรับการระบาดของสายพันธุ์โอมิครอน

ดร.ธนกร วังบุญคงชนะ โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี
ที่มาภาพ : www.thaigov.go.th

นอกจากนี้ ในส่วนของยังการเตรียมความพร้อม นายกรัฐมนตรีสั่งการให้หน่วยงานด้านสาธารณสุขเตรียมความพร้อมระบบสาธารณสุขเพื่อรองรับ ซึ่ง ขณะนี้ กรุงเทพมหานคร (กทม.) ได้เร่งเตรียมความพร้อมบุคลากร เตียงพยาบาล ยา เวชภัณฑ์ เครื่องมือทางการแพทย์ รวมถึงสถานที่รองรับผู้ป่วย โดยเฉพาะศูนย์พักคอยเพื่อส่งต่อ (Community Isolation) จำนวน 40 แห่ง ที่สามารถรับผู้ป่วยได้ถึง 5,066 เตียง ทั้งนี้ ศักยภาพเตียงใน กทม. โรงพยาบาล ล่าสุด มีจำนวนทั้งสิ้น 25,345 เตียง แบ่งเป็น รพ. หลัก 2,922 เตียง/ รพ. สนาม 2,898 เตียง/ Hospitel 19,525 เตียง ที่พร้อมให้บริการ แต่เพื่อความไม่ประมาท ขอให้ประชาชนปฏิบัติตนตามมาตรการทางสาธารณสุขอย่างเคร่งครัด พร้อมเข้ารับการฉีดวัคซีนโควิด-19 ตามกำหนด เพื่อป้องกันและลดอัตราการแพร่เชื้อหรือเสียชีวิต

ดร.ธนกร กล่าวต่อว่า การรับมือกับโควิด-19 ต้องดำเนินด้วยหลักการ โดยต้องทำให้เชื้อโควิด-19 อ่อนแรงและการสร้างภูมิคุ้มกัน โดยการฉีดวัคซีนเข็มกระตุ้นเข็ม 3 และ 4 ซึ่งมีการเตรียมความพร้อมไว้แล้ว ประกอบกับการจัดการสิ่งแวดล้อม ลดความเสี่ยง การรักษาดีขึ้น ทำให้ระบบสาธารณสุขรองรับได้และมียามากขึ้น อีกทั้งขอความร่วมมือประชาชนเฝ้าระวัง และป้องกันตนเองอย่างเคร่งครัดตามมาตรการ DMHTTA สวมหน้ากากอนามัย และหมั่นสังเกตอาการด้วย ทั้งนี้ รัฐบาลยืนยันดูแลผู้ป่วยโควิด-19 ครอบคลุมทุกสิทธิฟรี โดยไม่เสียค่าใช้จ่าย โดยผู้ป่วยโควิด-19 ทุกสิทธิ สามารถเข้ารับการรักษาได้ทั้งโรงพยาบาลรัฐและโรงพยาบาลเอกชน