ThaiPublica > คอลัมน์ > CPI 2018 ต่อต้านคอร์รัปชันในทุ่งลาเวนเดอร์

CPI 2018 ต่อต้านคอร์รัปชันในทุ่งลาเวนเดอร์

18 กุมภาพันธ์ 2019


Hesse004

เป็นธรรมเนียมของทุกปีไปแล้ว ทันทีที่องค์กรความโปร่งใสสากล (Transparency International) หรือ TI ประกาศผลการจัดอันดับความโปร่งใสของประเทศต่างๆ ทั่วโลก…สื่อมวลชน นักลงทุน นักวิชาการ และผู้สนใจติดตามปัญหาการทุจริตคอร์รัปชัน ต่าง “จับจ้อง” ว่าปีนี้สถานการณ์ความโปร่งใสของประเทศเราจะได้ค่าคะแนนความโปร่งใสเท่าใด ดีขึ้น หรือแย่ลง

สำหรับประเทศไทย ค่าดัชนี Corruption Perceptions Index (CPI) ปี ค.ศ. 2018 อยู่ที่ 36 คะแนน จากคะแนนเต็มร้อย ลดลงจากปีก่อน 1 คะแนน ขณะที่อันดับเราร่วงลงมา 3 อันดับ จาก 96 มาอยู่ที่ 99 จากทั้งหมด 180 ประเทศ

…ปีนี้ คะแนน CPI ไทยเท่ากับฟิลิปปินส์

ผลสอบความโปร่งใส 2018 ไม่น่าแปลกใจนัก เพราะประเทศที่ได้ค่าคะแนน CPI สูงๆ ยังเกาะกลุ่มกันเหมือนเดิม คือ เดนมาร์ก (88) นิวซีแลนด์ (87) ฟินแลนด์ (85) และสิงคโปร์ (85)…ส่วนกลุ่ม “รั้งท้าย” ก็ยังไม่เปลี่ยนแปลงเช่นกัน โซมาเลีย ได้คะแนนต่ำสุด 10 คะแนน รองบ๊วยมีสองประเทศ คือ เซาท์ซูดาน และซีเรียได้ 13 คะแนน

หลายประเทศพัฒนาตัวเองด้านความโปร่งใส จัดการปัญหาคอร์รัปชันได้ดีขึ้นอย่างผิดหูผิดตา ตัวอย่างที่น่าสนใจ คือ หมู่เกาะโซโลมอนไอส์แลนด์ (Solomon Islands) ที่ค่า CPI เพิ่มขึ้นถึง 5 คะแนน จาก 39 เป็น 44 คะแนน

ปัจจัยความสำเร็จที่ทำให้โซโลมอนไอส์แลนด์ได้ค่าคะแนน CPI สูงขึ้น คือ การผ่านกฎหมายสิทธิในการเข้าถึงข้อมูลข่าวสารของรัฐ (Right to Information Act) รวมทั้งกฎหมายการปราบปรามการทุจริตอีกสองฉบับ ซึ่งกฎหมายเหล่านี้ถูกผลักดันโดยองค์กรภาคประชาสังคมที่เข้มแข็งอย่าง Transparency Solomon Islands (TSI)

ที่มาภาพ : https://web.facebook.com/TransparencySI/photos/a.1138122539678408/1151492745008054/?type=3&theater

TSI มีส่วนอย่างมากในการขับเคลื่อนให้หมู่เกาะเล็กๆ นี้เกิดความโปร่งใสในช่วงหลายปีที่ผ่านมา

บทบรรณาธิการของหนังสือพิมพ์ The Solomon Star ได้เขียนยกย่อง TSI โดยเฉพาะการนำของประธาน TSI “หญิงเหล็ก” ที่ชื่อ Ruth Liloqula ได้ช่วยผลักดันให้เกิดการปฏิรูปกฎหมายการต่อต้านทุจริตจนเกิดมรรคเกิดผล

อย่างไรก็ดี Liloqula ไม่ได้ใช้เวลาแค่ปีสองปีจะผลักดันเรื่องนี้ แต่เธอใช้เวลาหลายปีและใช้ช่องทางต่างๆ มาสนับสนุนให้เกิดกระแสการตื่นตัวที่จะต่อต้านทุจริตในประเทศ โดยเฉพาะบทบาทของสื่อโซเชียลมีเดียที่ “กดดัน” ให้เจ้าหน้าที่รัฐต้องลงมือทำงานจัดการกับเรื่องอื้อฉาวทั้งหลาย

อาจกล่าวได้ว่า CPI ที่เพิ่มขึ้น 5 แต้ม ความสำเร็จเกิดจากการการร่วมมือร่วมใจ “บูรณาการ” ลงมือทำงานกันจริงจัง ไม่ใช่แค่โชว์วาทกรรมต่อต้านคอร์รัปชัน หรือเขียนแต่คำสวยหรูไว้ในแผนยุทธศาสตร์การต่อต้านทุจริต

Ruth Liloqula หญิงแกร่งแห่งวงการปราบทุจริตในโซโลมอนไอส์แลนด์
ที่มาภาพ : http://www.sibconline.com.sb/wp-content/uploads/2014/04/Ruth-Liloqula.jpg

ค่า CPI เป็นค่าดัชนีสากลที่อ้างอิงจากแหล่งที่มาหลายแหล่ง ด้วยเหตุนี้ CPI จึงถูกจัดให้เป็น second hand index ทุกวันนี้ ดัชนีดังกล่าวนับว่าส่งแรงสั่นสะเทือน สะท้อนปัญหาและสถานการณ์คอร์รัปชันไปได้ทั่วโลก

Transparency International ให้ความสำคัญกับการสร้างความโปร่งใส ต่อต้านคอร์รัปชันโดยเน้นเรื่องความเข้มแข็งของสถาบันหลักๆ ในระบอบประชาธิปไตย โดยเฉพาะองค์กรที่ทำหน้าที่ตรวจสอบถ่วงดุลการใช้อำนาจของรัฐที่ต้องไม่ถูกแทรกแซงจากภาคการเมือง ฝ่ายบริหาร ขณะเดียวกันการเปิดโอกาสให้ภาคประชาชนเข้ามามีส่วนร่วมทางการเมืองเป็นอีกปัจจัยหนึ่งที่ทำให้ค่า CPI นั้นสูงขึ้น

การสร้างกลไกสภาพแวดล้อมทางกฎหมายเพื่อสร้างความโปร่งใสและต่อต้านทุจริตเป็นเรื่องจำเป็นของโลกยุคใหม่ที่เน้นเรื่องความเป็นประชาธิปไตย ความโปร่งใส ความรับผิดชอบ และการมีส่วนร่วมของประชาชนซึ่งได้กลายเป็นหลักการบริหารราชการแผ่นดินของรัฐสมัยใหม่ไปแล้ว

อย่างไรก็ดี ลำพังเพียงการวางระบบที่ดีคงไม่สำเร็จแน่ หากขาดการบังคับใช้กฎหมายที่จริงจัง ไม่เลือกข้างปฏิบัติ สองมาตรฐาน หรือตีความกฎหมายกันแบบ “ศรีธนญชัย”

ที่กล่าวมาทั้งหมดนี้ ไม่ใช่เป็นการต่อต้านคอร์รัปชันใน “ทุ่งลาเวนเดอร์” ที่ทุกอย่างจะต้องสวยงามไปเสียหมด เพราะในโลกความเป็นจริง ปัญหาคอร์รัปชันเป็นเรื่องซับซ้อน เต็มไปด้วยเหตุผลและความไร้เหตุผลอยู่ในตัวมันเอง

หากแต่การวางระบบการจัดการปัญหาคอร์รัปชันที่เข้มแข็งผ่านการบังคับใช้กฎหมายที่จริงจังต่างหากที่เป็นสิ่งที่ “มาตรฐานสากล” นั้นวางเป็นหลักการพื้นฐานไว้

มิเช่นนั้นแล้ว ต่อให้มีระบบที่ดีเพียงใด แต่การบังคับใช้กฎหมาย “ไร้หลักการ” การต่อต้านคอร์รัปชันก็เป็นเพียงแค่ pseudo anti-corruption หรือต่อต้านคอร์รัปชันแบบกำมะลอกันต่อไป

…กลับมาดู CPI 2018 ในภูมิภาคอาเซียนกันต่อ

ปีนี้ สิงคโปร์ยังรักษาตำแหน่ง “แชมป์ความโปร่งใส” ตลอดกาล ไม่เฉพาะในอาเซียนท่านั้น แต่เป็นแชมป์เอเชียด้วย CPI สิงคโปร์อยู่ที่ 85 คะแนน โดยตั้งแต่ปี 2015 เป็นต้นมา ค่าความโปร่งใสของสิงคโปร์ขึ้นลงอยู่ระหว่าง 84-85 นับว่ายังรักษามาตรฐานความโปร่งใสได้อย่างสม่ำเสมอ

ตำแหน่งที่สองของอาเซียนเป็นของบรูไนที่ได้ค่าคะแนนความโปร่งใสเพิ่มขึ้นจากปีก่อน โดย CPI ปีนี้บรูไนขยับขึ้นมาอยู่ที่ 63 คะแนน เพิ่มขึ้นหนึ่งคะแนน

บรูไนมีหน่วยงานปราบปรามทุจริตเรียกว่า Anti-Corruption Bureau (ACB) สังกัดสำนักนายกรัฐมนตรี โดย ACB สร้างผลงานเด่นๆ ไว้หลายเรื่อง เช่น การจับอดีตนายตำรวจใหญ่ที่รับสินบนจากนักธุรกิจ

อันดับสามของอาเซียนเรื่องความโปร่งใสยังเป็นของมาเลเซีย

พลันที่อำนาจหลุดมือ “นาจิบ ราซัก” และครอบครัว ต้องเผชิญวิบากกรรมสารพัดคดีความเรื่องทุจริตที่เกี่ยวข้องกับกรณีกองทุนฉาว 1MDB…ค่า CPI ของมาเลเซียปีนี้เท่ากับ 47 คะแนน ไม่มีอะไรเปลี่ยนแปลงจากปีก่อน อันดับความโปร่งใสของโลกอยู่ที่ 61

ภายในกลุ่มอาเซียน ประเทศที่น่าจับตามองมากที่สุดในการแก้ไขปัญหาคอร์รัปชัน คือ “อินโดนีเซีย” ที่เอาจริงเอาจังกับเรื่องนี้มาหลายปีแล้ว จากเดิมที่เคยรั้งท้ายของโลก วันนี้อินโดนีเซียมีพัฒนาการแก้ปัญหา คอร์รัปชันได้อย่างน่าประทับใจ

อินโดนีเซีย ได้คะแนน CPI 38 คะแนน อันดับโลกขยับขึ้นมาอยู่ที่อันดับ 96

หลายปีที่ผ่านมา อินโดนีเซียเร่งปฏิรูปการต่อต้านทุจริตหลายด้าน เช่น เพิ่มค่าเบี้ยเลี้ยงให้ตำรวจชั้นผู้น้อยถึง 70% ให้ความสำคัญกับการแจ้งบัญชีทรัพย์สิน

…การทำงานของ KPK หรือ ป.ป.ช.อินโดนีเซีย มีความเข้มแข็งอย่างต่อเนื่องจากรุ่นสู่รุ่น ไม่มีคดีทุจริตแบบ “มวยล้มต้มคนดู” อย่างหน่วยงานปราบทุจริตบางประเทศทำ

นอกจากอินโดนีเซียแล้ว ฟิลิปปินส์ได้คะแนน CPI ดีขึ้นมาอีกครั้ง โดยเพิ่มขึ้นสองคะแนนจาก 34 เมื่อปีก่อน ปีนี้ได้ 36 คะแนนเท่ากับประเทศไทย

สำหรับประเทศที่เหลือในกลุ่มอาเซียน คือ สปป.ลาว เวียดนาม เมียนมา และกัมพูชา สถานการณ์ความโปร่งใสและการทุจริตคอร์รัปชันก็ยังเหมือนเดิม ไม่มีอะไรเปลี่ยนแปลงมากนัก

ท้ายที่สุด CPI 2018 ของภูมิภาคอุษาคเนย์ในภาพรวมนั้นสะท้อนให้เห็นถึงเส้นทางที่ยังอีกยาวไกลที่จะสร้างความโปร่งใส สร้างสังคมให้ปลอดการทุจริต อย่างไรก็ดี ใช่ว่าจะไม่มีความหวังกันเสียทีเดียว เพราะการเรียนรู้จากปัญหาทุกๆ ปีย่อมทำให้เราหาวิธีการที่เหมาะสมกับเราเอง