ThaiPublica > คอลัมน์ > สำรวจกลไกการสร้างความโปร่งใสและต่อต้านทุจริตของกลุ่มประเทศอินโดจีน (ตอนที่ 1)

สำรวจกลไกการสร้างความโปร่งใสและต่อต้านทุจริตของกลุ่มประเทศอินโดจีน (ตอนที่ 1)

27 ตุลาคม 2021


ดร.สุทธิ สุนทรานุรักษ์

    ชิมก่อนปรุง Taste before seasoning

  • กลไกการสร้างความโปร่งใสและต่อต้านทุจริตนับเป็นปัจจัยสำคัญของการพัฒนาประเทศเพราะช่วยลดต้นทุนต่าง ๆ ในการดำเนินชีวิต การทำธุรกิจ ช่วยเพิ่มประสิทธิภาพและส่งเสริมขีดความสามารถทางการแข่งขัน…ทั้งหมดที่ว่ามานี้ล้วนเป็นหลักการสากลที่ดี แต่ในทางปฏิบัติแล้วเป็นอีกเรื่องหนึ่ง
  • บทความนี้มุ่งนำเสนอบทสำรวจโดยสังเขปเกี่ยวกับกลไกการสร้างความโปร่งใสและต่อต้านทุจริตของสี่ประเทศในภูมิภาคอินโดจีน ได้แก่ สปป. ลาว กัมพูชา เมียนมาร์ และเวียดนาม ด้วยทั้งสี่ประเทศนี้มีศักยภาพสูงที่จะพัฒนาเศรษฐกิจแบบก้าวกระโดดอย่างรวดเร็ว
  • บทความนี้เป็นบทความขนาดยาว โดยตอนที่หนึ่ง ผู้เขียนนำเสนอภาพรวมของสถานการณ์ความโปร่งใสของทั้งสี่ประเทศแถบอินโดจีนผ่าน Corruption Perception Index ย้อนหลังห้าปี (2016-2020) โดยค่าดัชนี CPI เฉลี่ยของทั้งสี่ประเทศอยู่ที่ 28.35 คะแนน นับว่าน้อยมาก สะท้อนภาพปัญหาและความท้าทายในการป้องกันและปราบปรามทุจริตของกลุ่มประเทศเหล่านี้

ปัจจุบันสูตรสำเร็จการพัฒนาเศรษฐกิจมักเริ่มต้นจากการตั้งเป้าหมายของการพัฒนาโดยกำหนดเป้าหมายตัวเลขเศรษฐกิจมหภาค ทั้งตัวเลข GDP อัตราการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจ การรักษาเสถียรภาพทางเศรษฐกิจ การดูแลเรื่องค่าเงิน อัตราแลกเปลี่ยน อัตราดอกเบี้ย การควบคุมเงินเฟ้อ การว่างงานที่ลดลง เป็นต้น

อย่างไรก็ดี ปัจจัยหนึ่งที่นักเศรษฐศาสตร์พัฒนาควรให้ความสำคัญมากขึ้น คือ กลไกการสร้างความโปร่งใสและทำความเข้าใจกับการต่อต้านทุจริต ผ่านตัวชี้วัดต่าง ๆ โดยเฉพาะ Corruption Perceptions Index (CPI) ซึ่งเป็นดัชนีวัดระดับการรับรู้การทุจริตในสังคมที่จัดทำกันมาตั้งแต่ปี ค.ศ. 1995

แนวคิดรวบยอดของเรื่องนี้ คือ การสร้างสังคมด้วยความโปร่งใส (Transparency) ให้เกิดขึ้นได้จริง ไม่ใช่เป็นแค่วาทกรรม ที่จับต้องไม่ได้

…”ความโปร่งใสที่เป็นรูปธรรม” นำมาซึ่งการตรวจสอบ/ถ่วงดุล ความโปร่งใสยังนำมาซึ่งกระบวนการมีส่วนร่วมของประชาชนในการช่วยสอดส่องดูแลเงินงบประมาณแผ่นดิน ทรัพย์สินของรัฐ และท้ายที่สุด ความโปร่งใสทำให้เกิดกระบวนการสร้างความรับผิดชอบ (Accountability)

ความโปร่งใสช่วยลดต้นทุนการพัฒนาเศรษฐกิจ ลดต้นทุนการดำเนินชีวิตให้กับประชาชนที่ไม่ต้องจ่ายสินบนให้กับเจ้าหน้าที่รัฐทุกครั้งที่ต้องพึ่งพาบริการภาครัฐ… ลดต้นทุนให้กับนักธุรกิจที่ไม่ต้องฮั้วประมูลเพื่อได้งาน หรือติดสินบนนักการเมืองหรือผู้บริหารประเทศในการให้สัมปทาน

ทั้งหมดที่กล่าวมานี้ ทำให้เห็นว่าประโยชน์ของความโปร่งใส คือ ช่วยลดต้นทุนการพัฒนาประเทศ…โดย “หลักการ” แล้วทุกคนรู้ซึ้ง เข้าใจ แต่โดย “วิธีการ” แล้วเป็นอีกเรื่องหนึ่ง

การสร้างกลไกความโปร่งใสและต่อต้านทุจริตนั้นไม่มีสูตรสำเร็จรูปตายตัว หากแต่ “วิธีการ” ขึ้นอยู่กับบริบทแต่ละประเทศ โดยเฉพาะประเทศกำลังพัฒนาทั้งหลาย ที่กระบวนการสร้างความโปร่งใสมีข้อจำกัดหลายเรื่อง

การสร้างความโปร่งใสทำได้ยากในสังคมที่มีอัตราการอุปถัมภ์สูง การสร้างความโปร่งใสทำได้ลำบากในสังคมที่เต็มไปด้วยเครือข่าย เพื่อนฝูงของผู้มีอำนาจที่เจ้าหน้าที่รัฐผู้ปราบปรามทุจริตทำได้เพียง “ลูบหน้า ปะจมูก”

…ไม่ใช่ว่าความโปร่งใสจะช่วยลดต้นทุนได้เพียงอย่างเดียว แต่การสร้างความโปร่งใสของทุกสังคมย่อมมีต้นทุนเช่นกัน

บทความนี้ ผู้เขียนสนใจกลไกการสร้างความโปร่งใสและต่อต้านทุจริตในกลุ่มประเทศภูมิภาคอินโดจีน (Indochina) ซึ่งในที่นี้ ผู้เขียนนำเสนอข้อมูลโดยสังเขปของสี่ประเทศ ได้แก่ สปป.ลาว กัมพูชา เมียนมาร์ และเวียดนาม

ศตวรรษที่ 21 นับเป็นศตวรรษที่เต็มไปด้วยความท้าทาย โดยเฉพาะในอนุภูมิภาคอินโดจีนแล้ว ยิ่งมีความท้าทายยิ่งนัก

สปป.ลาว และเวียดนาม มีบริบททางการเมืองการปกครองคล้ายกัน กล่าวคือ ยึดมั่นระบอบการปกครองแบบสังคมนิยม ทำให้พรรคคอมมิวนิสต์ของสองประเทศ ทั้งพรรคประชาชนปฏิวัติลาว (LPRP) และพรรคคอมมิวนิสต์เวียดนาม (Communist Party of Vietnam) ต่างมีอิทธิพลต่อทุกองคาพยพในสังคมไม่เว้นแม้แต่เรื่องการสร้างความโปร่งใสและต่อต้านทุจริต

ขณะที่เมียนมาร์ เพิ่งเกิดการรัฐประหารของพลเอกมิน อ่อง ลาย ผู้นำกองทัพ เมื่อเดือนกุมภาพันธ์ 2564 ที่ผ่านมา ทำให้การก่อร่างสร้างประชาธิปไตยในเมียนมาร์ต้องกลับมานับหนึ่งใหม่อีกครั้ง

…แน่นอนว่า เผด็จการทหารไม่ว่าจะอยู่ในรูปแบบใดก็ตาม มักเดินสวนทางกับกระบวนการสร้างความโปร่งใสอยู่แล้ว

สำหรับกัมพูชา รัฐบาลสมเด็จฮุนเซน ยังคงครองอำนาจต่อเนื่องยาวนานมาตั้งแต่ทศวรรษที่ 90 ทำให้การเมืองกัมพูชาแม้มีเสถียรภาพ แต่ปัญหาคอร์รัปชันของกัมพูชายังอยู่อันดับท้าย ๆ จากมุมมองของนานาชาติ (ดูตารางข้างล่าง)

จากตาราง แสดง Corruption Perceptions Index (CPI) ห้าปีย้อนหลัง (2016-2020) ของสี่ประเทศในแถบอินโดจีน ตัวเลขดังกล่าวทำให้เราเห็นสถานการณ์ความโปร่งใสของอนุภูมิภาคนี้ว่ายังอยู่ในระดับต่ำและน่ากังวล โดยเมื่อนำมาหาค่าเฉลี่ยของประเทศแถบอินโดจีนแล้ว พบว่า CPI อยู่ที่ 28.35

ตัวเลขเหล่านี้ไม่โกหกใคร เพราะสะท้อนภาพการพัฒนาประเทศที่ยังคงเผชิญปัญหาคอร์รัปชันในสังคม ตั้งแต่เรื่องติดสินบนเจ้าหน้าที่รัฐระดับเล็กสุด เรื่องความร่ำรวยแบบไม่สมเหตุสมผลของเหล่าอีลิทในประเทศ ไปจนถึงเรื่องความไม่ชอบมาพากลของการให้สัมปทานโครงการขนาดใหญ่

อย่างไรก็ดี ใช่ว่าทั้งสี่ประเทศจะเมินเฉยละเลยเรื่องดังกล่าว ในทางกลับกัน ทั้งสี่ประเทศมุ่งมั่นที่จะแก้ปัญหาคอร์รัปชันอย่างเป็นรูปธรรม แม้ว่าต้องพบข้อจำกัด อุปสรรคต่าง ๆ มากมายทั้งปัญหาเชิงโครงสร้าง รากเหง้าทางวัฒนธรรม รวมถึงระบบราชการที่ไม่ยืดหยุ่นตอบสนองต่อการเปลี่ยนแปลงของโลกยุคใหม่

ทั้งสี่ประเทศล้วนจัดตั้งหน่วยงานรัฐขึ้นมาทำหน้าที่ต่อต้านคอร์รัปชัน ป้องกันและปราบปรามการทุจริต

เริ่มจาก สปป.ลาว ตั้ง State Audit Inspection and Anti-Corruption Authority (SIAA) เมื่อปี 2011 หลังจากที่ สปป.ลาว เผชิญปัญหาทุจริตรุนแรงขึ้นเรื่อยๆ SIAA ตั้งเป้าหมายวาง Road Map ตัวเลข CPI ในปี 2020 ไว้ว่าจะต้องทำให้ประเทศ สปป.ลาว ขยับจากอันดับสามหลักมาอยู่สองหลักให้ได้

แต่จนแล้วจนรอด การประกาศค่า CPI ปีล่าสุด 2020 ปรากฏว่า สปป.ลาว ได้คะแนน 29 จาก 100 คะแนน ยังอยู่อันดับที่ 134 ของโลก นับเป็นโจทย์ยากที่ให้ SIAA แก้ไขต่อไป

กัมพูชา เป็นประเทศที่มีค่า CPI ต่ำที่สุดในแถบอาเซียนและอินโดจีน ค่าเฉลี่ยห้าปีอยู่ที่ 20.6 อันดับล่าสุดอยู่ที่ 160 ปี 2006 รัฐบาลสมเด็จฮุนเซน ตั้งหน่วยงานที่ชื่อว่า Anti-Corruption Unit (ACU) ขึ้นทำหน้าที่ป้องกันและปราบปรามทุจริต เช่นเดียวกันรัฐสภากัมพูชาผ่านกฎหมาย Anti-Corruption Law เมื่อปี 2013

ข้อมูลที่น่าสนใจ คือ นโยบายต่อต้านคอร์รัปชันของกัมพูชาถูกกำหนดขึ้นโดย 11 อรหันต์ ที่อยู่ในสภาแห่งชาติเพื่อต่อต้านการทุจริต (National Anti-Corruption Council หรือ NACC)

แม้ว่ากัมพูชาจะได้ค่าคะแนน CPI น้อยมาก แต่ NACC และ ACU ได้สร้างการเปลี่ยนแปลงหลายเรื่อง อาทิ การวางแนวทางป้องกันการทุจริตการจัดซื้อจัดจ้างโดยส่งเจ้าหน้าที่ ACU เข้าไปสังเกตการณ์การประมูล การจัดซื้อจัดจ้างของรัฐในโครงการสำคัญ ๆ หรือ ผลักดันให้หน่วยงานรัฐประกาศเก็บค่าธรรมเนียมบริการภาครัฐให้ชัดเจน เป็นต้น

การให้ความสำคัญกับกลไกการสร้างความโปร่งใสและต่อต้านทุจริตของทั้ง สปป.ลาว และกัมพูชา สะท้อนให้เห็นความเอาจริงเอาจังกับเรื่องนี้เพื่อส่งสัญญาณต่อนักลงทุนต่างชาติว่า การทำธุรกิจภายในประเทศนั้นสามารถ “ลดต้นทุน” ที่มองไม่เห็นได้ระดับหนึ่ง

แต่อย่างไรก็ดี อาจมีบางธุรกิจหรืออุตสาหกรรมเท่านั้นที่กลไกการสร้างความโปร่งใสเหล่านี้ยังเอื้อมมือไปไม่ถึง

ในตอนต่อไป เราจะมาคุยกันต่อถึงบริบทความโปร่งใสและการต่อต้านทุจริตของสองประเทศที่เหลือ คือ เมียนมาร์ ยุคหลังซูจี และเวียดนามในยุคของนายเหวียน ฝู่ จ่อง ที่นั่งเป็นประธานประเทศต่อในสมัยที่สาม