ThaiPublica > สู่อาเซียน > เจาะลึกกฎหมายการลงทุนฉบับใหม่ของกัมพูชา

เจาะลึกกฎหมายการลงทุนฉบับใหม่ของกัมพูชา

1 มกราคม 2022


ที่มาภาพ: https://www.khmertimeskh.com/101290/economy-grow-6-9-percent-2018-nbc/

วารสารรายเดือน EXIM E-NEWS ปีที่ 16 ฉบับที่ 12 ประจำเดือนธันวาคม 2564 รายงาน กฎหมายการลงทุนฉบับใหม่ของกัมพูชา เพิ่มแม่เหล็กดึงการลงทุนจากต่างประเทศ

รัฐบาลกัมพูชาประกาศใช้กฎหมายการลงทุนฉบับใหม่เมื่อวันที่ 15 ตุลาคม 2564 โดยมุ่งหวังให้เป็นกลไกในการเสริมสร้างบรรยากาศที่เอื้อต่อการลงทุนเพื่อเป็นแม่เหล็กดึงดูดการลงทุนโดยตรงจากต่างประเทศ (Foreign Direct Investment : FDI) เข้าประเทศเพิ่มขึ้นท่ามกลางกระแสเศรษฐกิจและการลงทุนโลกที่กำลังฟื้นตัวจากวิกฤต COVID-19 เช่นเดียวกับเศรษฐกิจกัมพูชาที่มีแนวโน้มฟื้นตัวอย่างแข็งแกร่ง สอดคล้องกับที่ IMF คาดการณ์ว่าเศรษฐกิจกัมพูชาจะขยายตัวได้เฉลี่ยกว่า 6% ต่อปีในช่วงปี2565-2569 จากที่ขยายตัวราว 1.9% ในปี 2564 จึงนับเป็นโอกาสที่ดีของผู้ประกอบการไทยที่สนใจขยายการลงทุนไปกัมพูชาในการทำความเข้าใจสาระสำคัญของกฎหมายการลงทุนฉบับใหม่เพื่อให้การลงทุนเป็นไปอย่างราบรื่นและสามารถใช้สิทธิประโยชน์จากกฎหมายฉบับใหม่ได้อย่างเต็มที่

กฎหมายการลงทุนฉบับใหม่…เอื้อประโยชน์แก่นักลงทุนมากขึ้น

กฎหมายการลงทุนฉบับใหม่มุ่งตอบโจทย์การเสริมสร้างบรรยากาศการลงทุนและดึงดูด FDI ให้เพิ่มขึ้น ด้วยการลดระยะเวลาในการขออนุมัติส่งเสริมการลงทุน ตลอดจนการให้สิทธิประโยชน์ที่มากขึ้นสำหรับโครงการที่ได้รับการส่งเสริมการลงทุน โดยมีรายละเอียดที่น่าสนใจ ดังนี้
ลดขั้นตอนและเวลาการอนุมัติส่งเสริมการลงทุน

  • กฎหมายใหม่ : กำหนดให้ Council for the Development of Cambodia (CDC เป็นหน่วยงานภาครัฐของกัมพูชามีหน้าที่พิจารณาและอนุมัติโครงการที่ได้รับส่งเสริมการลงทุนในกัมพูชาคล้ายกับ BOI ของไทย) ออกใบรับรองการจดทะเบียน (Registration Certificate : RC) เพียงครั้งเดียว โดย CDC จะพิจารณาอนุมัติร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องและออกใบอนุญาตต่าง ๆ แก่โครงการลงทุนให้แล้วเสร็จภายใน 20 วันทำการ นอกจากนี้ ยังอนุญาตให้นักลงทุนยื่นใบแจ้งความประสงค์ขออนุมัติส่งเสริมการลงทุนเบื้องต้นทางออนไลน์ได้
  • กฎหมายเดิม : กำหนดให้ CDC ออกใบรับรองการจดทะเบียนที่มีเงื่อนไข (Conditional Registration Certificate : CRC) สำหรับข้อเสนอโครงการลงทุนที่ผ่านการเห็นชอบเบื้องต้น หลังจากนั้น CDC จะออกใบรับรองการจดทะเบียนขั้นสุดท้าย (Final Registration Certificate : FRC) เมื่อ CDC และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องพิจารณาอนุญาตและออกใบอนุญาตต่าง ๆ ให้แก่โครงการลงทุน โดยกำหนดให้การพิจารณาทั้งหมดต้องแล้วเสร็จภายใน 31 วันทำการ
  • เพิ่มสิทธิประโยชน์ทางภาษีด้านการลงทุน
    กฎหมายใหม่กำหนดสิทธิประโยชน์ทางภาษีด้านการลงทุนแก่โครงการที่ได้รับอนุมัติส่งเสริมการลงทุน (Qualified Investment Projects : QIPs) ดังนี้
    1) Basic Incentive : สิทธิประโยชน์ทางภาษีพื้นฐานที่โครงการ QIPs จะได้รับ โดยสามารถเลือกรับสิทธิประโยชน์ทางภาษีที่สำคัญได้จาก 2 ทางเลือก ดังนี้

    ที่มาภาพ: https://www.exim.go.th/eximinter/e-news/25002/1221_finance.html

    2) Additional Incentive : สิทธิประโยชน์เพิ่มเติมเพื่อสนับสนุนการใช้ปัจจัยการผลิตและวัตถุดิบในประเทศ การส่งเสริม R&D การพัฒนาขีดความสามารถของแรงงาน และการส่งเสริมสวัสดิภาพของแรงงาน ดังนี้

  • ยกเว้นภาษีมูลค่าเพิ่ม ซึ่งปกติเรียกเก็บในอัตรา 10% สำหรับการซื้อปัจจัยการผลิตและวัตถุดิบในประเทศตามประเภทที่กำหนด โดยจะมีการออกกฎระเบียบเพิ่มเติมเพื่อกำหนดปัจจัยการผลิตที่ได้รับการยกเว้นต่อไป
  • หักลดหย่อนภาษีพิเศษ 150% สำหรับค่าใช้ในการวิจะยและพัฒนา(R&D) และนวัตกรรม การพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ด้วยการฝึกอบมรมทักษะวิชาชีพแก่แรงงาน การบกระดับเครื่องจักรเพื่อปรับปรุงการผลิตและค่าใช้จ่ายอื่นๆที่มีส่วนส่งเสริมสวัสดิภาพแรงงาน อาทิ การก่อสร้างหอพัก และโรงอาหาร เป็นต้น
  • 3) Special Incentive : สิทธิประโยชน์พิเศษสำหรับโครงการลงทุนที่มีส่วนสำคัญต่อการพัฒนาเศรษฐกิจของประเทศโดยจะมีการกำหนดรายละเอียดประเภทของโครงการและสิทธิประโยชน์เฉพาะสำหรับโครงการดังกล่าวในกฎหมายลูกในระยะถัดไป

    ที่มาภาพ: https://www.exim.go.th/eximinter/e-news/25002/1221_finance.html

    เพิ่มสาขาธุรกิจ/อุตสาหกรรมที่ได้รับการส่งเสริมการลงทุน
    กฎหมายใหม่เพิ่มสาขาธุรกิจ/อุตสาหกรรมที่ได้รับการส่งเสริมการลงทุนเพื่อให้สอดคล้องกับกระแสการเปลี่ยนแปลงของเทรนด์โลกและนโยบายสนับสนุน SMEs ของรัฐบาล ได้แก่ ธุรกิจพลังงานสะอาดและโครงการลงทุนที่เกี่ยวข้องกับการลดภาวะโลกร้อน อุตสาหกรรมดิจิทัล ตลอดจนโครงการลงทุนที่มีส่วนสนับสนุนการเติบโตและพัฒนาธุรกิจ SMEs และโครงการลงทุนที่มีส่วนสนับสนุนการพัฒนาอุตสาหกรรมด้วยการใช้นวัตกรรมและ R&D เป็นต้น ซึ่งเพิ่มขึ้นจากกฎหมายฉบับเดิมที่เน้นการส่งเสริมการลงทุนในอุตสาหกรรมพื้นฐานของกัมพูชา ได้แก่ เกษตรกรรม อุตสาหกรรมเกษตร อุตสาหกรรมการท่องเที่ยว สิ่งทอและเครื่องนุ่งห่ม และอุตสาหกรรมเพื่อการส่งออก

    เพิ่มหลักประกันและการคุ้มครองการลงทุน
    กฎหมายใหม่กำหนดให้มีการชดเชยตามกฎหมายและการคุ้มครองทรัพย์สินทางปัญญาเพิ่มเติมจากข้อบทของกฎหมายเดิม เพื่อเสริมสร้างความเชื่อมั่นแก่นักลงทุน ดังนี้

    ที่มาภาพ: https://www.exim.go.th/eximinter/e-news/25002/1221_finance.html
    นักลงทุนต่างชาติและนิติบุคคลต่างชาติไม่มีสิทธิ์ถือครองที่ดินในกัมพูชา แต่สามารถทำสัญญาเช่าเพื่อใช้ประโยชน์ในที่ดินได้สูงสุด 50 ปี และต่ออายุได้อีก 50 ปี

    กฎหมายการลงทุนใหม่…ส่งผลบวกต่อภาคอุตสาหกรรมและเศรษฐกิจกัมพูชา

    การประกาศใช้กฎหมายการลงทุนฉบับใหม่จะส่งผลบวกต่อทิศทางการลงทุน ภาคอุตสาหกรรม และเศรษฐกิจของกัมพูชาอย่างมีนัยสำคัญ รวมทั้งเป็นจังหวะที่ดีสำหรับผู้ประกอบการไทยในการใช้โอกาสนี้ขยายธุรกิจไปกัมพูชา

  • FDI มีแนวโน้มฟื้นตัวและจะกลับมาเป็นหนึ่งในเครื่องยนต์สำคัญที่ขับเคลื่อนเศรษฐกิจกัมพูชา หลังจากที่ FDI ของกัมพูชาหดตัวราว 1% ในปี 2563 เทียบกับที่ขยายตัวได้ราว 12% ในปี 2562 โดยสาเหตุหลักมาจากผลกระทบของ COVID-19 ซึ่งคาดว่ากฎหมายใหม่จะช่วยดึงดูด FDI (มีสัดส่วนราว 13% ของ GDP ในช่วงก่อนเกิดวิกฤต COVID-19) ผ่านการให้สิทธิประโยชน์การลงทุนที่เพิ่มขึ้น ตลอดจนการให้ความคุ้มครองด้านการลงทุนที่ชัดเจนมากขึ้น ซึ่งจะช่วยตอกย้ำความเชื่อมั่นแก่นักลงทุนต่างชาติในการขยายฐานการลงทุนมายังกัมพูชา
  • จุดประกายความหวังในการเพิ่มขีดความสามารถของภาคอุตสาหกรรม กฎหมายใหม่ให้สิทธิประโยชน์ในการส่งเสริมการลงทุนด้านนวัตกรรมและ R&D ตลอดจนอุตสาหกรรมใหม่ๆ รวมถึงการพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ ด้วยมุ่งหวังที่จะเพิ่มขีดความสามารถและสร้างความหลากหลาย (Diversify) ให้แก่ภาคอุตสาหกรรมของกัมพูชา จากเดิมที่สิ่งทอและเครื่องนุ่งห่มเป็นเพียงเสาหลักเดียวในภาคอุตสาหกรรมและมีบทบาทสำคัญในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจกัมพูชาในช่วงที่ผ่านมา อย่างไรก็ตาม ปัจจุบันอุตสาหกรรมดังกล่าวได้รับผลกระทบจากการถูกตัดสิทธิ์ EBA บางส่วนจาก EU และยังมีความเสี่ยงที่จะถูกตัดสิทธิ์เพิ่มเติมในระยะข้างหน้า
  • EBA คือสิทธิพิเศษทางภาษีที่ EU ให้กับประเทศพัฒนาน้อยที่สุด (Least Developed Country) ซึ่งรวมถึงกัมพูชา ทำให้กัมพูชาส่งออกไป EU ได้โดยไม่เสียภาษีและไม่มีโควตา ยกเว้นสินค้าที่เกี่ยวข้องกับอาวุธยุทโธปกรณ์

    การประกาศใช้ฎหมายการลงทุนฉบับใหม่นับเป็นการเสริมสร้างบรรยากาศการลงทุนให้ดียิ่งขึ้น และถือเป็นจังหวะที่ดีสำหรับผู้ประกอบการที่กำลังเตรียมพร้อมขยายการลงทุนไปกัมพูชา โดยเฉพาะการใช้กัมพูชาเป็นฐานการผลิตเพื่อส่งออกในอุตสาหกรรมที่ผู้ประกอบการไทยมีความเชี่ยวชาญ อาทิ เกษตรแปรรูป อาหารแปรรูป อิเล็กทรอนิกส์ และพลังงานทดแทน เมื่อประกอบกับนโยบายเร่งจัดทำ FTA เพื่อเปิดตลาดใหม่ของกัมพูชาก็จะยิ่งช่วยสนับสนุนศักยภาพในการเป็นฐานการผลิตเพื่อส่งออกของกัมพูชา นอกจากนี้ ผู้ประกอบการไทยยังมีโอกาสขยายการลงทุนเพื่อรองรับการขยายตัวทางเศรษฐกิจและความต้องการสินค้าและบริการในกัมพูชาที่กำลังเติบโต อาทิ ก่อสร้างและอสังหาริมทรัพย์ โรงไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์ และโลจิสติกส์ เป็นต้น