ThaiPublica > สู่อาเซียน > ASEAN Roundup ต้นทุนการดำเนินงานในเวียดนามต่ำสุดอันดับ 2 ของเอเชีย

ASEAN Roundup ต้นทุนการดำเนินงานในเวียดนามต่ำสุดอันดับ 2 ของเอเชีย

16 มกราคม 2022


ASEAN Roundup ประจำวันที่ 9-15 มกราคม 2565

  • ต้นทุนการดำเนินงานในเวียดนามต่ำสุดอันดับ 2 ของเอเชีย
  • เวียดนามลดภาษีมูลค่าเพิ่มเหลือ 8% เริ่ม 1 ก.พ.
  • เวียดนามลดภาษีสรรพสามิตรถยนต์ไฟฟ้าเหลือ 3%
  • เวียดนามคาดมีสนามบิน 28 แห่งภายในปี 2030
  • มาเลเซียเปิดตัวโครงการ Digital Normad Hub เร่งเศรษฐกิจดิจิทัล
  • กลุ่มธนาคารยูโอบีเซื้อกิจการรายย่อยซิตี้กรุ๊ปใน 4 ประเทศ
  • ต้นทุนการดำเนินงานในเวียดนามต่ำสุดอันดับ 2 ของเอเชีย

    ที่มาภาพ:https://e.vnexpress.net/news/business/data-speaks/vietnam-operating-costs-among-asia-s-lowest-report-4414957.html

    เวียดนามมีต้นทุนการดำเนินงานต่ำที่สุดเป็นอันดับ 2 ในบรรดา 9 ประเทศในเอเชีย และได้รับการประเมินว่ามีศักยภาพสูงในการพัฒนาด้านโลจิสติกส์

    ต้นทุนการดำเนินงานขั้นต่ำรายเดือนสำหรับบริษัทผู้ผลิตในเวียดนามอยู่ที่ 79,280 ดอลลาร์ เทียบกับอันดับหนึ่งสิงคโปร์ที่ 366,561 ดอลลาร์ และอันดับสองไทยที่ 142,344 ดอลลาร์ ข้อมูลจากรายงานของ TMX ที่ปรึกษาด้านการพลิกโฉมธุรกิจในสิงคโปร์

    รายงานระบุว่า ต้นทุนการดำเนินงานขั้นต่ำในเวียดนามสูงกว่าของกัมพูชาซึ่งอยู่ที่ 65,313 ดอลลาร์เพียงประเทศเดียวเท่านั้น รายงานนี้คำนวณต้นทุนเฉลี่ยในการทำธุรกิจในฐานการผลิตยอดนิยม 9 แห่งในเอเชีย ได้แก่ กัมพูชา อินเดีย อินโดนีเซีย มาเลเซีย เมียนมา ฟิลิปปินส์ สิงคโปร์ ไทย และเวียดนาม

    ที่มาภาพ: https://e.vnexpress.net/news/business/data-speaks/vietnam-operating-costs-among-asia-s-lowest-report-4414957.html

    เวียดนาม ก็เช่นเดียวกับประเทศอื่นๆ อีกหลายประเทศ เช่น ไทยและฟิลิปปินส์ มีแหล่งแรงงานขนาดใหญ่และมีราคาจับต้องได้

    แม้เวียดนามจะมีโอกาสในการจ้างงานมากมาย แต่มีแรงงานที่มีทักษะสูงในหลายภาคส่วนน้อยกว่า โดยมีคะแนนความสามารถการแข่งขันด้านแรงงานประมาณ 35 คะแนน ขณะที่ฟิลิปปินส์และไทยได้ 40 คะแนน

    รายงานระบุว่า การเช่าคลังสินค้าในเวียดนามเท่ากับที่อื่นๆ อีก 8 ประเทศ

    รายงานยังระบุด้วยว่า เวียดนามเป็นประเทศเดียวในกลุ่ม “ศักยภาพสูง” ในแง่ของต้นทุนโลจิสติกส์

    โดยรวมความสามารถในการแข่งขันของประเทศ ของเวียดนามอยู่ในอันดับที่ 5 รองจากสิงคโปร์ มาเลเซีย อินเดีย และไทย

    เวียดนามมีคะแนนที่ดีขึ้นในสภาพแวดล้อมทางธุรกิจ อย่างไรก็ตาม ด้วยคะแนนความสามารถด้านแรงงานที่ต่ำกว่า เป็นการบ่งชี้ถึงความท้าทายสำหรับบริษัทต่างๆ ที่มองหาบุคลากรที่มีความสามารถมีความพร้อม ธุรกิจอาจจะต้องพิจารณาลงทุนในการฝึกอบรมและพัฒนา” รายงานระบุ

    ที่มาภาพ: https://e.vnexpress.net/news/business/data-speaks/vietnam-operating-costs-among-asia-s-lowest-report-4414957.html

    เวียดนามลดภาษีมูลค่าเพิ่มเหลือ 8% เริ่ม 1 ก.พ.

    เวียดนามจะ ลดภาษีมูลค่าเพิ่มสำหรับสินค้าและบริการจำนวนมากจากปัจจุบัน 10% เป็น 8% ตั้งแต่วันที่ 1 กุมภาพันธ์นี้

    พระราชกฤษฎีกาการลดภาษีเพื่อส่งเสริมการฟื้นตัวของเศรษฐกิจที่ได้รับอนุมัติจากรัฐสภาจะช่วยให้สามารถนำค่าใช้จ่ายในการป้องกันโรคระบาดมาลดหย่อนได้ด้วย

    การปรับลดภาษีมูลค่าเพิ่มจะส่งผลให้สูญเสียรายได้ 49.4 ล้านล้านด่อง (มากกว่า 2.1 พันล้านดอลลาร์) จากการประเมินของกระทรวงการคลัง ส่วนค่าใช้จ่ายที่นำไปลดหย่อนได้จะทำสูญเสียเงินได้ 2 ล้านล้านด่อง

    อัตราภาษีมูลค่าเพิ่มที่ลดลงจะไม่มีผลบังคับใช้กับโทรคมนาคม เทคโนโลยีสารสนเทศ บริการทางการเงิน การธนาคาร หลักทรัพย์ การประกันภัย อสังหาริมทรัพย์ โลหะและผลิตภัณฑ์โลหะสำเร็จรูป เหมืองแร่ (ไม่รวมถ่านหิน) โค้ก โรงกลั่นปิโตรเลียม เคมีภัณฑ์และผลิตภัณฑ์เคมีและสินค้าและ บริการที่ต้องเสียภาษีสรรพสามิต

    เวียดนามลดภาษีสรรพสามิตรถยนต์ไฟฟ้าเหลือ 3%

    สมัชชาแห่งชาติเมื่อวันอังคาร(11 ม.ค.) ได้ลงมติให้ลดภาษีสรรพสามิตสำหรับรถยนต์ ไฟฟ้าที่ใช้แบตเตอรี่เหลือ 3% เป็นเวลา 5 ปี

    โดยมีผลตั้งแต่วันที่ 1 มีนาคม ภาษีสำหรับรถยนต์ไฟฟ้าที่ใช้แบตเตอรี่ประเภทต่างๆ (BEV) จะลดลงมาที่ระดับ 3-12%จากระดับปัจจุบันและมีผลจนถึง 28 กุมภาพันธ์ 2027 และในปี 2027 อัตราภาษีจะกลับสู่ระดับปัจจุบันที่ 5-15%

    คณะกรรมการประจำของสมัชชาแห่งชาติกล่าวว่า การให้สิทธิประโยชน์จูงใจเร็วกว่าประเทศในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้อื่น ๆ เพื่อดึงดูดนักลงทุน จะสร้างโอกาสที่ดีสำหรับบริษัทของเวียดนามในการผลิต BEV สำหรับตลาดทั้งในและต่างประเทศ ซึ่งหลายบริษัทกำลังเตรียมที่จะเริ่มผลิต BEV

    “รถยนต์ไฟฟ้าเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมและเหมาะสำหรับการใช้งานจริง” นายวู ฮอง ทันห์(Vu Hong Thanh)ประธานคณะกรรมการเศรษฐกิจของสมัชชาแห่งชาติกล่าว

    ผู้ผลิตรถยนต์ VinFast ได้ร่วมมือกับบริษัทจีนในการวิจัยและผลิตแบตเตอรี่รถยนต์ไฟฟ้า ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของวิสัยทัศน์ที่จะเป็นแบรนด์ระดับโลก

    เวียดนามคาดมีสนามบิน 28 แห่งภายในปี 2030

    ที่มาภาพ: https://en.vietnamplus.vn/vietnam-expects-to-have-28-airports-by-2030/220756.vnp

    เวียดนามคาดว่าจะมี สนามบินทั้งหมด 28 แห่งซึ่งรวมทั้งสนามบินนานาชาติ 14 แห่งภายในปี 2030 ตามแผนแม่บทการพัฒนาสนามบินทั่วประเทศในช่วงปี 2021-2030 โดยมีวิสัยทัศน์ยาวไปถึงปี 2050

    ภายใต้แผน ซึ่งได้นำเสนอนายกรัฐมนตรีฝ่าม มิงห์ จิ๋งห์ ให้พิจารณาอนุมัติ ท่าอากาศยานโดยรวม จะให้บริการผู้โดยสารได้ประมาณ 275.9 ล้านคน และรองรับสินค้าได้ประมาณ 4.1 ล้านตันต่อปี

    กระทรวงคมนาคมจะจัดลำดับความสำคัญการลงทุนในสนามบินหลักบางแห่ง เช่น สนามบินนานาชาติโหน่ย บ่าย ในฮานอย และสนามบินนานานาชาติเตินเซินเญิ้ต ในโฮจิมินห์ซิตี้ ยกระดับและใช้สนามบิน 22 แห่งในปัจจุบันเต็มศักยภาพ และสร้างเพิ่มอีก 6 แห่ง ได้แก่ ลองแถ่ง, ลายเจิว , ซาปา, กว๋างนิญ และฟานเถียต

    ภายในปี 2050 จำนวนสนามบินทั่วประเทศคาดว่าจะเพิ่มขึ้นเป็น 31 แห่ง รวมทั้งสนามบินนานาชาติ 14 แห่ง

    นายกรัฐมนตรีฝ่าม มิงห์ จิ๋งห์ ขอให้กระทรวงคมนาคมทบทวนการวางแผนสร้างสนามบิน ดา นังและชูไล เพื่อหลีกเลี่ยงการใช้ทรัพยากรอย่างสิ้นเปลือง และจัดทำแผนให้เสร็จสิ้นโดยเร็วเพื่อขออนุมัติต่อไป

    มาเลเซียเปิดตัวโครงการ Digital Normad Hub เร่งเศรษฐกิจดิจิทัล

    ที่มาภาพ: https://www.theedgemarkets.com/article/malaysia-launch-two-flagship-initiatives-catalyse-digital-economy-investment-opportunities

    มาเลเซียได้เปิดตัว 2 โครงการริเริ่มที่จะขับเคลื่อนและเร่งเศรษฐกิจดิจิทัลตลอดจนโอกาสในการลงทุนในมาเลเซียและภูมิภาค

    รัฐมนตรีกระทรวงการสื่อสารและมัลติมีเดีย ตัน สรี อันนัวร์ มูซา กล่าวว่า โครงการที่หนึ่งคือโครงการ DE Rantau ซึ่งมุ่งสร้างมาเลเซียให้เป็น Digital Nomad Hub ยอดนิยม เพื่อกระตุ้นการปรับตัวรับดิจิทัลและเพื่อส่งเสริมการเคลื่อนย้ายมืออาชีพทางดิจิทัลและการท่องเที่ยวทั่วประเทศ

    โครงการที่สอง คือโครงการ Malaysia Digital Trade ซึ่งตั้งขึ้นเพื่อขับเคลื่อนการทำงานร่วมกันและมาตรฐาน รวมทั้งแนวทางการกำกับดูแลให้สอดคล้องกันมากขึ้น เพื่ออำนวยความสะดวกทางการค้าภายในและข้ามพรมแดน

    “Digital Nomad Hub เป็นการฉีกแนวจากแนวทางที่ยึดตามที่ตั้งภายใต้ MSC Malaysia และขณะนี้ก็ไม่ใช่แค่กัวลาลัมเปอร์หรือ Cyberjaya Super Corridor อีกแล้ว”

    “ถ้าเราต้องการส่งเสริม digital nomad (กลุ่มคนมีอาชีพผ่านระบบโทรคมนาคม) เราต้องมีสิ่งอำนวยความสะดวกในพื้นที่ โดยเฉพาะอย่างยิ่งหากต้องการส่งเสริมการท่องเที่ยวในสถานที่ต่างๆ เช่น สิปาดัน ลังกาวี หรือเตียวมัน”

    อันนัวร์กล่าวในงานแถลงข่าวหลังจากประกาศเปิดงาน สัปดาห์เศรษฐกิจดิจิทัลของมาเลเซียร่วมกับงาน Expo 2020 ที่ Dubai ในวันพุธ (12 ม.ค.)

    สำหรับโครงการ Digital Trade นายโมฮาดี้ร์ อาซิส ประธานเจ้าหน้าที่บริหารของ Malaysia Digital Economy Corporation (MDEC) กล่าวว่า วัตถุประสงค์หลักของโครงการนี้คือการสนับสนุนการค้าข้ามพรมแดน

    ความคิดริเริ่มนี้จะมีหลายรูปแบบ รวมถึงการมีระบบดิจิทัลที่สามารถทำธุรกรรมข้อมูลระหว่างประเทศตลอดจนข้อตกลงการค้าดิจิทัลที่มาเลเซียต้องยื่นขอเป็นสมาชิก เพื่อที่จะทำงานร่วมกับประเทศอื่นๆ ที่ได้ให้สัตยาบันในข้อตกลงเดียวกัน

    “เราต้องพิจารณาถึงความเชื่อถือข้ามพรมแดนในข้อมูลที่เรากำลังแบ่งปันกัน ในมาเลเซียและในฐานะส่วนหนึ่งของ Malaysia Digital เราจะเริ่มต้นด้วยโครงการด้วยใบแจ้งหนี้หรือ e-invoice ระดับประเทศ

    “โครงการระบุไว้ใน แผนแม่บทเศรษฐกิจดิจิทัล หรือ Malaysia Digital Economy Blueprint (MyDIGITAL) ซึ่งประกาศในเดือนกุมภาพันธ์ 2564 โดยเราจะพิจารณาการลดและลดการรั่วไหลของรายได้และรายได้ของรัฐบาลในขณะที่เราทำการค้า”

    นายอาซิสให้รายละเอียดเพิ่มเติมว่า ตามข้อมูลจาก MDEC และ Inland Revenue Board (IRB) รัฐบาลจะมีรายได้เพิ่มเติมที่เป็นไปได้อย่างน้อย 2.1 พันล้านริงกิต เมื่อมีการออกใบแจ้งหนี้อิเล็กทรอนิกส์ ซึ่งจะใช้เวลา 3-6 ขึ้นอยู่กับการค้าแต่ละประเทศ

    MDEC ตั้งเป้าที่จะดึงดูดการลงทุนมูลค่ากว่า 300 ล้านริงกิต

    กลุ่มธนาคารยูโอบีเซื้อกิจการรายย่อยซิตี้กรุ๊ปใน 4 ประเทศ

    มร.วี อี เชียง รองประธานกรรมการและประธานเจ้าหน้าที่บริหาร ธนาคารยูโอบี ที่มาภาพ: https://www.uobgroup.com/uobgroup/about/management/board-of-directors.page

    ธนาคารในเครือของ กลุ่มธนาคารยูโอบี ได้ทำข้อตกลงเพื่อเข้าซื้อกิจการลูกค้ารายย่อยของซิตี้กรุ๊ป ซึ่งรวมถึงสินเชื่อที่ไม่มีหลักประกันและมีหลักประกัน ธุรกิจบริหารความมั่งคั่ง และธุรกิจเงินฝากรายย่อย (ธุรกิจลูกค้ารายย่อย) ในอินโดนีเซีย มาเลเซีย ไทย และเวียดนาม (การเสนอซื้อกิจการ) และรวมไปถึงพนักงานธุรกิจลูกค้ารายย่อยของซิตี้กรุ๊ป การเสนอซื้อกิจการครั้งนี้จะช่วยเสริมความแข็งแกร่งและขยายขอบเขตธุรกิจของธนาคารยูโอบีในอาเซียน

    ธุรกิจลูกค้ารายย่อยของซิตี้กรุ๊ปมีสินทรัพย์สุทธิรวมทั้งสิ้นประมาณสี่พันล้านดอลลาร์สิงคโปร์ และฐานลูกค้าราว 2.4 ล้านราย ณ วันที่ 30 มิถุนายน 2564 และมีรายได้ประมาณ 0.5 พันล้านดอลลาร์สิงคโปร์ ในช่วงครึ่งปีแรกของปี 2564 หากไม่รวมค่าใช้จ่ายที่เกิดขึ้นจากการดำเนินธุรกรรมนี้ในครั้งเดียว การเสนอซื้อกิจการนี้คาดว่าจะช่วยเพิ่มกำไรสุทธิต่อหุ้น (EPS) ของธนาคาร และผลตอบแทนผู้ถือหุ้น (ROE) ของธนาคารยูโอบีได้ทันที

    การพิจารณาข้อเสนอเงินสดสำหรับการเสนอซื้อกิจการนี้จะคำนวณจากค่าพรีเมียมรวมซึ่งเทียบเท่ากับ 915 ล้านดอลลาร์สิงคโปร์ บวกกับมูลค่าสินทรัพย์สุทธิของธุรกิจลูกค้ารายย่อยเมื่อการโอนย้ายกิจการเสร็จสมบูรณ์ ธนาคารยูโอบีจะใช้ทุนส่วนเกินของธนาคารเพื่อการเสนอซื้อกิจการครั้งนี้ ซึ่งคาดว่าจะลดอัตราส่วนของเงินกองทุนขั้นที่ 1 (Common Equity Tier 1 หรือ CET1) ของธนาคารลง 0.7% เป็น 12.8% ตามสถานะเงินทุน ณ วันที่ 30 กันยายน 2564 ผลกระทบต่ออัตราส่วน CET1 คาดว่าจะมีไม่มากและจะยังอยู่ภายในข้อกำหนดด้านกฎระเบียบของหน่วยงานกำกับดูแล

    การเข้าซื้อกิจการในแต่ละประเทศจะเสร็จสมบูรณ์เมื่อได้รับความเห็นชอบจากหน่วยงานกำกับดูแลธนาคารตามเงื่อนไขของแต่ละประเทศ รวมถึงประเทศสิงคโปร์ โดยคาดว่าจะแล้วเสร็จระหว่างกลางปี 2565 ถึงต้นปี 2567 ขึ้นอยู่กับความคืบหน้าและผลของกระบวนการอนุมัติจากหน่วยงานกำกับดูแลธนาคาร ซิตี้กรุ๊ปจะทำงานร่วมกับยูโอบีและธนาคารในเครือ (รวมเรียกว่ากลุ่มธนาคารยูโอบี) อย่างใกล้ชิดเพื่อให้การโอนย้ายธุรกิจลูกค้ารายย่อย ทั้งในส่วนของลูกค้าและพนักงานเป็นไปอย่างราบรื่น

    มร.วี อี เชียง รองประธานกรรมการและประธานเจ้าหน้าที่บริหาร ธนาคารยูโอบี กล่าวว่า “การซื้อกิจการลูกค้ารายย่อยของซิตี้กรุ๊ปในสี่ประเทศ คือ อินโดนีเซีย มาเลเซีย ไทย และเวียดนาม นับเป็นโอกาสครั้งใหญ่ที่มาถึงในเวลาที่เหมาะสม ยูโอบีเชื่อในศักยภาพการเติบโตในระยะยาวของภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ และเรามีวินัยและอดทนรอในการเสาะหาโอกาสที่ใช่เพื่อการเติบโตทางธุรกิจ ในระหว่างการรอความเห็นชอบจากหน่วยงานกำกับดูแลธนาคาร เรามุ่งหวังที่จะโอนย้ายพอร์ตโฟลิโอธุรกิจที่มีคุณภาพของซิตี้กรุ๊ป และเตรียมต้อนรับทีมงาน รวมถึงสร้างคุณค่าให้กับฐานลูกค้า พนักงานและผู้มีส่วนเกี่ยวข้องต่างๆ ของเราที่ขยายใหญ่ขึ้น

    การซื้อกิจการนี้เมื่อรวมกับจำนวนผู้บริโภคของยูโอบีในภูมิภาค จะเป็นการรวมตัวที่ทรงพลังในการขยายธุรกิจของกลุ่มธนาคารยูโอบี และก้าวสู่ตำแหน่งธนาคารชั้นนำระดับภูมิภาคได้อย่างรวดเร็ว”

    มร.ปีเตอร์ บาเบจ ประธานกรรมการบริหาร ซิตี้ เอเชียแปซิฟิก กล่าวว่า “พวกเรารู้สึกยินดีที่ได้ประกาศธุรกรรมนี้กับ ยูโอบี สถาบันทางการเงินชั้นนำของเอเชีย เรามั่นใจว่าธนาคารยูโอบีซึ่งมีวัฒนธรรมที่เข้มแข็งและศักยภาพของเครือข่ายธนาคารในภูมิภาคนี้ จะมอบโอกาสอันยอดเยี่ยมและเป็นบ้านอันมั่นคงให้แก่เพื่อนพนักงานของธุรกิจกลุ่มลูกค้ารายย่อยในอินโดนีเซีย มาเลเซีย ไทย และเวียดนาม การดำเนินการทางธุรกิจในครั้งนี้ จะทำให้เราสามารถเพิ่มการลงทุนในยุทธศาสตร์ที่เรามุ่งเน้นซึ่งรวมถึงเครือข่ายลูกค้าสถาบันของเราทั่วเอเชียแปซิฟิก เพื่อสร้างผลตอบแทนที่เหมาะสมที่สุดให้กับซิตี้”

    กลยุทธ์ธุรกิจรายย่อยของธนาคารยูโอบี ได้แก่การเจาะกลุ่มลูกค้ามั่งคั่งที่เพิ่มขึ้นในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ การรุกกลุ่มคนรุ่นใหม่ผ่าน UOB TMRW แพลตฟอร์มดิจิทัลของธนาคาร และให้บริการด้านการเงินผ่านช่องทางที่หลากหลาย (Omni-channel) เพื่อเพิ่มความมั่งคั่งอย่างต่อเนื่อง การเสนอซื้อกิจการนี้จะขยายเครือข่ายพันธมิตรของยูโอบีและเพิ่มขนาดธุรกิจลูกค้ารายย่อยในทั้งสี่ประเทศขึ้นเป็นสองเท่า เร่งให้บรรลุเป้าขยายฐานลูกค้าในภูมิภาคเร็วขึ้นถึงห้าปี

    ธุรกิจลูกค้ารายย่อยของซิตี้กรุ๊ปมีพนักงานประมาณ 5,000 คน ซึ่งรวมถึงผู้บริหารระดับสูงและทีมงานมากประสบการณ์ การเข้ามาร่วมงานกับธนาคารยูโอบีจะเสริมความแข็งแกร่งให้กับกลุ่มธนาคารยูโอบี

    กลุ่มธนาคารยูโอบีพร้อมที่จะต้อนรับลูกค้าและพนักงานของซิตี้กรุ๊ป ซึ่งจะได้รับข้อมูลความคืบหน้าของการเสนอซื้อกิจการในอีกไม่กี่เดือนข้างหน้า

    Credit Suisse (Singapore) Limited เป็นที่ปรึกษาทางการเงินให้กับกลุ่มธนาคาร ยูโอบีในการเสนอซื้อกิจการนี้ และ Allen & Overy LLP (สิงคโปร์) เป็นที่ปรึกษาทางกฎหมาย