ThaiPublica > คอลัมน์ > “เจ้านาย” ชอบ WFO

“เจ้านาย” ชอบ WFO

16 ธันวาคม 2021


วรากรณ์ สามโกเศศ

WFH (work-from-home หรือทำงานจากบ้าน) เป็นวิธีการทำงานใหม่ของทั่วโลกในช่วงการระบาดของโควิด-19 แต่เมื่อเห็นว่ามนุษย์พอจะกำราบมันได้แล้ว คำถามก็เกิดขึ้นว่าต่อนี้ไปจะทำงานกันอย่างไร จะเน้น WFH เหมือนเดิมซึ่งเป็นที่พอใจของพนักงานส่วนใหญ่หรือจะเน้น WFO (work-from-office หรือทำงานที่ออฟฟิศ) คล้ายแต่ก่อน การสำรวจในโลกตะวันตกพบว่าผู้บริหารส่วนมากต้องการให้กลับไปทำงานแบบเก่า สิ่งที่น่าสนใจก็คือเหตุผลของการชอบแบบออฟฟิศมากกว่า

บางคนบอกว่าควรเปลี่ยน WFH เป็น WAH (work-at-home หรือทำงานที่บ้าน) เพราะเห็นภาพชัดเจนกว่า บ้างก็บอกว่าควรเป็น WFA (work-from-anywhere หรือทำงานที่ไหนก็ได้) ก็แล้วแต่จะว่ากันไปตามใจชอบ แต่ที่แน่ ๆ ก็คือเป็นการทำงานที่ไม่ใช่ที่ออฟฟิศอย่างที่เคยเป็นมากว่า 200 ปีในโลก

ในช่วงการระบาดคนที่น่าเห็นใจมากที่สุดก็คือพ่อแม่ (ที่หนักกว่าก็คือพ่อหรือแม่เลี้ยงเดี่ยว) ที่มีลูกอยู่ในวัยต่ำกว่าวัยรุ่น โดยเฉพาะในวัยเรียนอนุบาลหรือช่วงชั้นที่หนึ่ง (ประถม 1-3) ซึ่งเรียนออนไลน์ที่บ้านและตัวเองต้องทำงานแบบ WFH ในขณะเดียวกันด้วย ไหนจะต้องเหลือบมองดูลูกให้แน่ใจว่านั่งเรียนอย่างเป็นสุข สัญญาณอินเทอร์เน็ตไม่มีปัญหา มีการเรียนรู้ที่มีประสิทธิภาพเท่าที่พอไปได้และตนเองก็ต้องประชุมออนไลน์ไปด้วยในเวลาเดียวกัน คนเหล่านี้โล่งอกมากเมื่อโรงเรียนเปิดและให้ไปเรียนที่โรงเรียน

เราต้องยอมรับกันว่า WFH แบบออนไลน์ที่มาถึงแบบไม่คาดฝันนั้นทำให้การทำงานปั่นป่วนไปหมดเพราะไม่ได้เตรียมการไว้ทั้งที่ WFH ผ่านเทคโนโลยีไอที (เป็นการผสมของเทคโนโลยีโทรคมนาคมกับเทคโนโลยีคอมพิวเตอร์) นั้นมีมานานแล้วถึงแม้จะไม่สมบูรณ์นักก็ตาม ปัจจัยที่ทำให้ WFH ประสบความสำเร็จนั้นมีอยู่ด้วยกันไม่น้อยกว่า 5 ปัจจัย ดังต่อไปนี้

    (1) ลักษณะงาน บางงาน WFH นั้นเป็นไปไม่ได้เลย เช่น บริการตัดผม ทำความสะอาด ขับรถรับจ้าง ทำกับข้าว งานไกด์ท่องเที่ยว งานของ รปภ. ฯลฯ WFH ใช้ได้กับงานเฉพาะอย่างเท่านั้น
    (2) ระบบการทำงาน ถ้าออฟฟิศไม่มีการจัดระบบการทำงานที่เชื่อมต่อถึงกันด้วยการใช้ระบบดิจิตัลแล้ว WFH ก็แทบเป็นไปไม่ได้
    (3) digitalization ซึ่งหมายถึงกระบวนการแปรเปลี่ยนข้อมูลเป็นรูปแบบดิจิตัลซึ่งมิใช่ digitization ซึ่งเป็นเพียงการเปลี่ยนข้อมูลอนาล็อกเป็นดิจิตัลเท่านั้น digitalization ขององค์กรเป็นหัวใจของ WFH ในความหมายที่เราพูดกัน ส่วน WFH แบบสมัยโบราณที่เอาแฟ้มและเอกสารกลับไปทำงานที่บ้านนั้นเป็นคนละประเด็น ถ้าออฟฟิศใดยังมีกระบวนทำงานส่วนใหญ่แบบโบราณแล้ว ถึงจะมี WFH แต่การทำงานก็ไม่มีประสิทธิภาพมากเพราะขาดเอกสาร การได้ทำงานที่บ้านก็เปรียบเสมือนได้พักผ่อน
    (4) สิ่งแวดล้อมและอุปกรณ์ WFH จะประสบความสำเร็จได้ก็ต่อเมื่อคนที่ทำงานที่บ้านนั้นมีอุปกรณ์ในการสื่อสารที่พร้อม มีสัญญาณอินเตอร์เน็ตที่มีคุณภาพ และที่บ้านมีสิ่งแวดล้อมอันเหมาะสมสำหรับการทำงาน ไม่มีสิ่งรบกวนใจจนขาดสมาธิ (5) การเข้าใจโลก ซึ่งหมายถึงมี mindset ที่สอดคล้องกับ WFH กล่าวคือมีศรัทธา เห็นความจำเป็น และมีความมุ่งมั่นที่จะรักษาคุณภาพของงานและผลิตภาพเช่นเดียวกับที่ทำงานที่ออฟฟิศ อีกทั้งพร้อมที่จะพัฒนาปรับตัวตามความจำเป็นที่เปลี่ยนแปลงอยู่ตลอดเวลา

ถ้าไม่หลอกตัวเอง เราคงต้องยอมรับกันว่าในช่วงเวลาระบาดที่ผ่านมา บ้านเราขาดปัจจัยหลายอย่างข้างต้นโดยเฉพาะ (2) (3) และ (4) จึงทำให้ WFH สำหรับหลายหน่วยงานและหลายคนกลายเป็น WH (working holiday หรือพักผ่อนแบบทำงานไปด้วย) หลังจากนี้ไปการปรับตัวครั้งใหญ่ต้องเกิดขึ้นเพราะหลีกเลี่ยง WFH ไม่ได้ดังนั้นจึงต้องทำให้มันมีประสิทธิภาพมากกว่าที่ผ่านมา

WFH นั้นมีทั้งคนชอบและไม่ชอบ มีการสำรวจระดับโลกพวกทำงานประเภทใช้ความรู้โดยบริษัทชื่อ Slack รายงานล่าสุดเดือนตุลาคม 2021 ระบุว่าผู้บริหารระดับสูงยังต้องการให้มีการทำงานที่ออฟฟิศมากกว่า WFH โดยร้อยละ 75 ของผู้บริหารต้องการให้ทำงานที่ออฟฟิศมากกว่า 3 วันต่อสัปดาห์ ในขณะที่เพียงร้อยละ 34 ของลูกน้องเท่านั้นที่ต้องการสิ่งเดียวกัน

นิตยสาร The Economist ที่ตีพิมพ์ต่อเนื่องมา 178 ปี ให้ 3 คำอธิบาย ดังนี้

(1) ผู้บริหารมีความสุขกับสถานะของตน ได้เห็นลูกน้องนั่งทำงานเต็มออฟฟิศที่โต๊ะธรรมดา แต่ตนเองมีห้องใหญ่โตปูพรม เวลาประชุมก็นั่งหัวโต๊ะ พอเดินไปตรวจงานทีก็มีคนแห่แหนห้อมล้อม (ฟังดูคุ้น ๆ) แต่เมื่อมี WFH และประชุมออนไลน์แล้วสิ่งเหล่านี้ที่ทำให้รู้สึกว่ามีอำนาจก็หมดไปทันที

(2) ผู้บริหารเชื่อโดยบริสุทธิ์ใจว่าการมีปฏิสัมพันธ์ชนิดตัวเป็น ๆ ระหว่างคนทำงานด้วยกันเป็นสิ่งที่ดีขององค์กร WFH ทำให้ขาดความเป็นมนุษย์ ไม่ช่วยสร้างวัฒนธรรมองค์กร โดยเฉพาะอย่างยิ่งการ ซึมซับประสบการณ์กันในการบริหาร และการร่วมมือกันทำงาน ข้อกังวลนี้เป็นจริงเพราะโดยธรรมชาติมนุษย์ก็ทำงานกันเป็นไซโล (silo โรงเก็บสินค้าโดยเฉพาะผลิตภัณฑ์เกษตร) อยู่แล้ว เพียงแค่อยู่กันคนละชั้นของที่ทำงานก็ทำให้แปลกแยกแล้ว นับประสาอะไรกับการทำงานแบบ WFH เพราะคนยิ่งห่างกันทางกายก็ยิ่งห่างกันทางใจ

(3) ผู้บริหารทั้งหมดล้วนประสบความสำเร็จภายใต้ระบบเก่าแบบทำงานที่ออฟฟิศ จึงมีทางโน้มที่จะศรัทธาในระบบ WFH น้อยกว่าเป็นธรรมดา อีกทั้ง WFH เป็นระบบที่ยังไม่มีการพิสูจน์ว่าเป็นประโยชน์ต่อองค์กรอย่างแท้จริง สิ่งที่เห็นกันในตอนนี้ก็คือความสะดวกการลดลงของค่าโสหุ้ยในเรื่องการเดินทาง ค่าใช้จ่ายของออฟฟิศ เงินลงทุนในการสร้างออฟฟิศ ฯลฯ

เหตุผลอีกข้อของการชอบการทำงานแบบเดิมมากกว่าก็เพราะอาจรู้ว่าองค์กรยังไม่พร้อมกับ WFH ควรกลับไปทำงานที่ออฟฟิศและปรับกระบวนการทำงานก่อนที่จะเดินเส้นทางนี้อย่างจริงจังต่อไปก็เป็นได้

WFH นั้นเป็นปรากฏการณ์ใหม่ของโลกที่ไม่มีใครปฏิเสธได้ มันจะอยู่กับเราไปอีกนาน และก้าวหน้าไปถึงเสมือนอยู่ในห้องประชุมเดียวกัน (หากจำเป็น) แต่สิ่งที่ไม่ควรมองข้ามก็คือการพิจารณาปัจจัยที่ช่วยทำให้ WFH ประสบความสำเร็จยิ่งขึ้นโดยเฉพาะอย่างยิ่งในเรื่องระบบการทำงานและ digitalization ขององค์กร อีกทั้งเรื่องสิ่งแวดล้อมและอุปกรณ์ที่บ้านตลอดจน mindset ของผู้ทำงาน

หลังโควิดระบาด หากไม่สนใจและปรับเปลี่ยน WFH อย่างจริงจังแล้วก็อาจพบกับ working -holiday -at- office และ at-home ดังที่เป็นมาแล้วก็เป็นได้

หมายเหตุ : ตีพิมพ์ครั้งแรก คอลัมน์ “อาหารสมอง” นสพ.กรุงเทพธุรกิจ อังคาร 30 พ.ย. 2564