ThaiPublica > คอลัมน์ > อย่าอ่อนใจกับมะเร็งตับอ่อน

อย่าอ่อนใจกับมะเร็งตับอ่อน

6 กันยายน 2018


วรากรณ์ สามโกเศศ

ผู้เขียนสนใจเรื่องมะเร็งตับอ่อน ตั้งแต่สตีฟ จ็อบส์ ตายเพราะโรคนี้ สงสัยว่ามันมีสาเหตุมาจากอะไร ทำไมคนรวยขนาดมีทั้งอำนาจ มีเงินซื้อยา มีโอกาสอยู่ในโครงการทดลองยาใหม่ล่าสุด แต่ก็ไม่รอด เมื่อได้พบข้อเขียนใน The New York Time เมื่อเร็วๆ นี้ จึงขอนำมาเล่าสู่กันฟังเพราะน่าสนใจ เนื่องจากมีโอกาสเกิดกับคนบางกลุ่มมากกว่าคนอีกกลุ่มอย่างผิดสังเกต ลองมาดูกันว่าท่านอยู่ในกลุ่มเสี่ยงใด

สำหรับสถิติในสหรัฐอเมริกานั้นมะเร็งตับอ่อน (pancreatic cancer) เป็นเพียงร้อยละ 3 ของคนที่เป็นมะเร็งทั้งหมด จึงถือได้ว่าเป็นได้ยากมาก แต่กระนั้นก็ตามนับวันมีคนอเมริกันเป็นโรคนี้กันมากขึ้นทุกที ที่น่ากลัวมากก็คือเมื่อเป็นแล้วตายเกือบทุกราย ไม่ปรากฏอาการจนโรคไปไกลกว่าจะรักษาได้ ประการสำคัญเมื่อรู้ว่าเป็นก็เหลือเวลาเป็นเดือนที่จะมีชีวิตอยู่

ลองดูสถิติในสหรัฐอเมริกา ในปีนี้คาดว่าจะมีคนเป็นมะเร็งตับอ่อน 55,440 คน (ชาย 29,200 คน หญิง 26,240 คน) และตาย 44,330 คน จนเป็นอันดับ 4 ของการตายจากมะเร็ง (เรียงอันดับ คือ มะเร็งปอด ลำไส้ใหญ่ และนม) เพียงร้อยละ 6 ของคนที่เป็นมะเร็งตับอ่อนเท่านั้นที่มีชีวิตรอดในช่วงเวลา 5 ปีข้างหน้า และที่รอดส่วนใหญ่เป็นพวกที่พบว่าเป็นในระยะแรกและพบโดยบังเอิญ เช่น จากการตรวจโรค หรือผ่าตัดเรื่องอื่น

ตับอ่อนมีขนาดประมาณยาว 7 นิ้ว กว้าง 1.5 นิ้ว อยู่ด้านหลังตอนบนของช่วงท้อง มีหน้าที่สำคัญ 2 อย่างคือ (1) ปล่อย enzymes เข้าไปในลำไส้เพื่อการย่อยอาหาร และ (2) ผลิตฮอร์โมน insulin และ glucagon ซึ่งควบคุมระดับน้ำตาลและกรดไขมันในร่างกาย

ปัจจัยที่ก่อให้เกิดความเสี่ยงในการเป็นมะเร็งตับอ่อนซึ่งอยู่เหนือการควบคุมก็คืออายุที่มากขึ้น มีชาติพันธุ์เป็นคนผิวดำในอเมริกา มีเชื้อชาติยิวที่มีชื่อเรียกว่า Ashkenazi (ยิวทั่วไปที่กระจายอยู่ทั่วยุโรปและสหรัฐอเมริกา) และมีญาติใกล้ชิด เช่น พ่อแม่ หรือพี่น้องพ่อแม่เดียวกันเป็นโรคนี้

ในเรื่องนี้คนเอเชียจึงนับว่าเป็นคนโชคดีกว่าเพราะลักษณะทางพันธุกรรม อย่างไรก็ดี เรียกว่ายังโชคดีไม่มากเพราะการสูบบุหรี่มีส่วนร่วมในการเป็นปัจจัยเสี่ยง 20-25 เปอร์เซ็นต์ในการเป็นโรคนี้ (การสูบบุหรี่เป็นปัจจัยเสี่ยงที่กำลังลดลง) แต่ปัจจัยเสี่ยงตัวสำคัญที่พบของมะเร็งตับอ่อนคือความอ้วน เบาหวานชนิด 2 (ชนิด 1 มักเป็นแต่ยังเป็นเด็ก ส่วนชนิด 2 เกิดขึ้นในภายหลัง) และ metabolic syndrome (กลุ่มของเงื่อนไขซึ่งได้แก่ ความดันโลหิตสูง น้ำตาลในเลือดสูง ไขมันรอบเอวเกินพอดีหรือลงพุง ระดับไขมัน cholesterol และไขมัน triglyceride สูงผิดปกติ ทั้งหมดนี้เพิ่มความเสี่ยงในการเป็นโรคหัวใจและเกิดสโตรคและเบาหวาน)

มีงานวิจัยจำนวนมากที่เก็บข้อมูลขนาดใหญ่และพบว่ามีความชัดเจนของความเชื่อมโยงระหว่างมะเร็งตับอ่อนกับความอ้วนเกินพอดี (ดูค่า BMI หรือ Body Mass Index ซึ่งได้ค่ามาจากการเอาน้ำหนักเป็นกิโลกรัมตั้ง และหารด้วยความสูงเป็นเมตรยกกำลังสอง หากค่าเกินกว่า 30 ถือว่าอ้วนเกินพอดี) ยิ่ง BMI สูงเท่าใด ก็ยิ่งมีความเสี่ยงในการเป็นมะเร็งตับอ่อนมากเพียงนั้น งานวิจัยพบอีกว่า ความอ้วนเกินพอดีมีส่วนร่วมในการกระตุ้นให้เกิดมะเร็งตับอ่อนและทำให้โรคขยายตัว นักวิจัยพบอีกว่าความเสี่ยงในการเป็นโรคยิ่งมากขึ้นหากอ้วนเกินพอดีตั้งแต่อายุยังน้อย และเวลาอยู่รอดยิ่งสั้นลงสำหรับคนที่อ้วนเกินพอดีในขณะที่เป็นโรคอีกด้วย

ที่พูดมาทั้งหมดนี้ 2 ตัวที่โดดเด่นออกมาคือความอ้วนเกินพอดีกับโรคเบาหวานประเภท 2 (Type 2 diabetes) เบาหวานประเภท 1 เป็นสภาวการณ์เรื้อรังที่ตับอ่อนไม่ผลิต insulin หรือผลิตน้อยมาก ซึ่ง insulin เป็นฮอร์โมนที่จำเป็นของร่างกายในการแปรเปลี่ยนน้ำตาลในเลือด (glucose) ซึ่งเป็นผลพวงจากอาหารที่บริโภคให้เข้าไปสู่เซลล์เพื่อผลิตพลังงาน ส่วนเบาหวานประเภท 2 เกิดขึ้นเมื่อร่างกายของเรามีการต่อต้าน insulin (ร่างกายไม่ใช้มันอย่างที่ควรจะเป็น) ในตอนแรกร่างกายผลิต insulin ออกมามากเพื่อแปรน้ำตาลให้เข้าไปในเลือดเพื่อเข้าไปในเซลล์ แต่ในที่สุดก็ผลิต insulin ไม่ทันน้ำตาลในเลือดที่มีอยู่จึงมีน้ำตาลในเลือดหลงเหลืออยู่ และเปลี่ยนเป็นปัสสาวะจนมีมดขึ้นดังที่คนไทยเรียกว่า “เบาหวาน”

ในจำนวนคนที่เป็นเบาหวานทั้งหมดนั้น 90 เปอร์เซ็นต์ คือ ประเภท 2 ซึ่งสาเหตุสำคัญประกอบกันคือ ความอ้วนเกินพอดี การไม่ออกกำลังกาย พันธุกรรม และพฤติกรรมในการบริโภคอาหาร ที่น่ากลัวก็คือมันนำไปสู่ความต่อเนื่องกับการเป็นโรคอื่นๆ ด้วยเช่น หัวใจ สโตรค ไตวาย ฯลฯ

เบาหวานประเภท 1 มีสาเหตุสำคัญจากการประกอบกันของพันธุกรรม ไวรัสบางตัว สิ่งแวดล้อม ฯลฯ มักปรากฏในวัยเด็ก มีโอกาสสูงที่จะเป็นโรคหัวใจ สโตรก ไตวาย ความดันโลหิตสูง ประสาทถูกทำลาย โรคเกี่ยวกับเหงือก ฯลฯ ทั้งประเภท 1 และ 2 นั้นสามารถควบคุมให้อยู่ในขอบเขตได้ด้วยยา และการเปลี่ยนแปลงพฤติกรรม เช่น ออกกำลังกาย หลีกเลี่ยงอาหารบางชนิด

นักวิจัยปัจจุบันพบว่า ความอ้วนเกินพอดีเป็นปัจจัยเสี่ยงตัวสำคัญยิ่งของการเกิดเบาหวานประเภท2 และโยงไปสู่มะเร็งตับอ่อน เมื่อร่างการต่อต้าน insulin ตับอ่อนก็ยิ่งผลิต insulin มากขึ้นๆ ซึ่งมันไปสนับสนุนการเติบโตของเซลล์ซึ่งอธิบายความเชื่อมโยงระหว่างเบาหวานและการเกิดมะเร็งตับอ่อน

อย่างไรก็ดีความสัมพันธ์มันซับซ้อนและวงการแพทย์ก็ยังไม่เข้าใจอย่างชัดแจ้งถึงการทำงาน แต่ก็พบว่า 50-80 เปอร์เซ็นต์ของคนเป็นมะเร็งตับอ่อนเป็นโรคเบาหวานด้วย (นักวิจัยบางกลุ่มบอกว่าเบาหวานอาจเป็นทั้งสาเหตุและผลของมะเร็งตับอ่อนก็เป็นได้ ไม่เป็นที่ชัดเจนว่าอะไรเป็นสาเหตุ แต่ที่รู้แน่คือมันเชื่อมโยงกัน) ข้อมูลการศึกษาจากยุโรปของคนเป็นเบาหวานประเภท 2 จำนวน 800,000 คน พบว่าการเป็นโรคเบาหวานประเภท 2 นั้นบ่อยครั้งมันเป็นสัญญาณขั้นต้นของมะเร็งตับอ่อนที่แอบซ่อนอยู่

ข้อสรุปก็คือมะเร็งตับอ่อนไม่เกิดบ่อยนัก คนไทยมีความเสี่ยงเป็นมะเร็งตับอ่อนไม่สูงเท่าคนบางชาติ ถ้าจะให้ความเสี่ยงน้อยลงก็จงหลีกหนีการมีน้ำตาลสูงในเลือดในระดับใกล้เป็นเบาหวานหรือเป็นเบาหวาน ซึ่งจะทำได้ก็ต้องหลีกให้ไกลความอ้วนเกินพอดี เข้าใกล้การออกกำลังกายสม่ำเสมอ กอดชิดกับการบริโภคอาหารที่เป็นประโยชน์ เช่น ผักและผลไม้ ประการสำคัญอยู่ให้ไกลอาหารและขนมหวาน ตลอดจนอาหารแป้งเป็นพิเศษ

ถ้าจะพูดอย่างปลงก็คือ ถึงแม้จะทำทั้งหมดดังกล่าวแล้ว ก็ไม่ได้หมายความว่าจะหนีมะเร็งตับอ่อนซึ่งเป็นมะเร็งที่เกิดได้ยากไปได้เพราะ life is random (ชีวิตคือการถูกสุ่ม) แต่อย่างน้อยก็ได้พยายามอย่างเต็มที่แล้ว

หมายเหตุ: ตีพิมพ์ครั้งแรกคอลัมน์ “อาหารสมอง” นสพ.กรุงเทพธุรกิจ ฉบับวันอังคารที่ 14 ส.ค. 2561