ThaiPublica > คอลัมน์ > โอลิมปิกที่น่าสงสาร

โอลิมปิกที่น่าสงสาร

16 กรกฎาคม 2021


วรากรณ์ สามโกเศศ

ที่มาภาพ : https://en.wikipedia.org/wiki/2020_Summer_Olympics#/media/File:New_national_stadium_tokyo_1.jpg

ไม่มีการแข่งขันโอลิมปิกครั้งใดในประวัติศาสตร์ที่แปลกประหลาดและหาความแน่นอนแทบไม่ได้เลยเท่ากับโอลิมปิกที่ญี่ปุ่น ซึ่งจะจัดขึ้นระหว่าง 23 กรกฎาคม ถึง 8 สิงหาคม 2021 ที่โตเกียว วันเวลาของการจัดใกล้เข้ามาแล้ว มีหลายสิ่งที่น่าจับตาและน่าคิด

โอลิมปิกสมัยใหม่เริ่มจัดขึ้นในปี ค.ศ. 1896 ที่กรุงเอเธนส์ ประเทศกรีก แหล่งกำเนิดของการแข่งขันโอลิมปิกยุคโบราณเมื่อ 2 พันปีก่อน ผู้จัดตกลงกันว่าจะจัดทุก ๆ

4 ปี มีเพียง 3 ครั้งในประวัติศาสตร์ของการจัดสมัยใหม่ คือ ค.ศ. 1916, 1940, 1944 ที่เลื่อนการแข่งขันออกไปเนื่องจากสงครามโลกครั้งที่ 1 และ 2 แต่ไม่เคยมีครั้งใดที่มีการยกเลิกหรือเลื่อนการแข่งขันเพราะโรคระบาด

ใน ค.ศ. 1924 กีฬาโอลิมปิกที่จัดกันถูกเรียกว่า “กีฬาโอลิมปิกฤดูร้อน” เมื่อเริ่มมี “กีฬาโอลิมปิกฤดูหนาว” ขึ้น ทั้งสองการแข่งขันจะจัดในปีเดียวกันทุก ๆ 4 ปี จนกระทั่งถึงปี 1992 กีฬาฤดูหนาวก็เริ่มในปี 1994 และจัดทุก ๆ 4 ปี หลังจากนั้น ทั้งหมดนี้หมายความว่า “โอลิมปิกฤดูร้อน” จะจัดก่อน “โอลิมปิกฤดูหนาว” 2 ปี

“กีฬาโอลิมปิกฤดูร้อน” ครั้งนี้ซึ่งเป็นครั้งที่ 32 วางแผนจัดที่โตเกียวในปี 2020 และกีฬา “โอลิมปิกฤดูหนาว” จัดในปี 2022 ที่กรุงปักกิ่ง เมื่อกีฬาฤดูร้อนถูกเลื่อนไปเป็นปี 2021 ในปีถัดไปจึงได้ดู กีฬาฤดูหนาว ซึ่งไม่เคยมีมาก่อนที่กีฬาโอลิมปิกเกิดขึ้นในปีที่ต่อเนื่องกัน

“โควิด 19” ทำให้ทุกอย่างเป็นไปได้ทั้งนั้น เมื่อก่อนเราฉีดยากันมานับร้อย ๆ เข็มในชีวิต ไม่เคยสนใจหรือรู้จักชื่อบริษัทผู้ผลิตวัคซีน เมื่อก่อนไม่เคยคิดประชุมกันทางไกล อะไร ๆ ก็ต้องเดินทางไปร่วมประชุมกัน เมื่อก่อนเด็กไม่ต้องเรียนที่บ้านเหมือนปัจจุบัน(บางคนมี 3 อุปกรณ์ในเวลาเดียวกันคือแล็บทอปไว้ดูครู มือถือเครื่องหนึ่งไว้เล่นเกมส์ อีกเครื่องไว้แชทกับเพื่อน )เมื่อก่อนเราเพียงใส่หน้ากากที่มองไม่เห็นเมื่อพบหน้ากัน ปัจจุบันต้องใส่หน้ากากอนามัยอีกชั้นหรือสองชั้นทับลงไป เมื่อก่อนไปไหนมาไหนไม่เคยระวังสังเกตละอองฝอยของน้ำลายออกจากปากของคู่สนทนา เมื่อก่อนตะลอน ๆ ออกจากบ้านไม่เคยอยู่กับครอบครัว บัดนี้ต้องเจอหน้ากัน 24 ชั่วโมง ฯลฯ

ญี่ปุ่นต่อสู้ฝ่าฟันแข่งขันเป็นเจ้าภาพมาอย่างหนักกว่าจะเข้ารอบสุดท้ายโดยแข่งกับสเปนและตุรกีเมื่อปี 2013 เมื่อชนะก็ดีใจกันสุด ๆ ทั่วประเทศ โดยหารู้ว่ามันเป็น “ปีศาจแปลงร่าง” มา (Devil in Disguise) เพราะนอกจากรัฐบาลและภาคเอกชนต้องลงทุนไปกว่า 12,000 ล้านเหรียญ (400,000 ล้านบาท) แล้ว การเลื่อนครั้งนี้ทำให้ต้องสูญเสียไปอีกเป็นเงิน 5,800 ล้านเหรียญ (193,000 ล้านบาท) และถ้าหากยกเลิกต้องสูญเสียอีกประมาณ 41,500 ล้านเหรียญ (1,383,000 ล้านบาท)

ก่อนที่จะได้ “ปีศาจ” ตัวนี้มา ญี่ปุ่นต้องสู้กับข้ออ้างที่ว่าควรให้โอกาสเป็นเจ้าภาพแก่ประเทศอื่นบ้าง เพราะญี่ปุ่นเคยเป็นเจ้าภาพจัดโอลิมปิกมาแล้วรวม 3 ครั้ง

ที่มาภาพ : https://en.wikipedia.org/wiki/2020_Summer_Olympics#/media/File:Tokyo_Ariake_Arena.jpg

“โอลิมปิกฤดูร้อน” หนึ่งครั้งที่โตเกียวในปี 1964 (ที่จริงญี่ปุ่นได้เป็นเจ้าภาพในปี 1940 แต่ถอนตัวเพราะสงครามโลก) และ “โอลิมปิกฤดูหนาว” 2 ครั้ง ที่ Sapporoในปี 1972 และที่ Nagano ในปี 1998
กว่าที่ญี่ปุ่นจะสามารถจัดโอลิมปิกครั้งนี้ที่ยังเรียกว่า “โอลิมปิกฤดูร้อน 2020” ได้นั้น (ถ้าสุดท้ายได้จัดจริง ๆ เพราะ “โควิด” ไม่เกรงใจใคร) รัฐบาลและผู้จัดต้องต่อสู้กับความเห็นของคนญี่ปุ่นที่ต่อต้านการจัดอย่างมาก เมื่อต้นเดือนมิถุนายนปีนี้ โพลระบุว่า 55% เห็นควรเลื่อนหรือยกเลิก ซึ่งก่อนหน้านั้นคือพฤษภาคมหลังจากการระบาดระลอกใหม่ในเดือนเมษายน ตัวเลขเดียวกันคือ 83% นอกจากนี้ 37% ขององค์กรเอกชนเห็นควรให้ยกเลิกและ 32% เห็นควรให้เลื่อน

น่าสงสารนายกรัฐมนตรีญี่ปุ่นคนปัจจุบันที่ตกเป็นผู้ที่ต้องตัดสินใจว่าจะจัดหรือยกเลิกทั้งที่ตนเองไม่ได้ มีส่วนร่วมในเรื่องนี้แต่แรก ไม่ว่าไปทางใดก็โดนหนักแน่นอน หากจัดเพื่อยืนยันคำมั่นสัญญาในระดับประเทศ และเพื่อไม่ให้การลงทุนสูญเปล่ามากเกินไป และไม่ว่าจะควบคุมผู้มาจากต่างประเทศประมาณ 10,000 คน อย่างเข้มงวดเพียงใด หากมีตัวเลขผู้ติดเชื้อเพิ่มขึ้นไม่ว่าจะมาจากสาเหตุใด(วงการแพทย์เชื่อว่าพุ่งขึ้นกว่าเดิมแน่)หรือหากมีเหตุการณ์กระจายเชื้อจากผู้มาเยือน รัฐบาลต้องรับไปเต็ม ๆ และหากทุกอย่างไปด้วยดีก็เสมอตัว

การได้รับเงินประกันคืนมาบ้าง หากไม่ได้จัดก็พออุ่นใจแต่จะสูญเสียโอกาสในการเปิดตัวเทคโนโลยีการใช้พลังงานจากก๊าซไฮโดรเจนที่วางแผนมายาวนาน ตลอดจนการแสดงเทคโนโลยีด้านต่าง ๆ ที่ก้าวหน้า และวัฒนธรรมญี่ปุ่นเพื่อส่งเสริมการท่องเที่ยวซึ่งเป็นนโยบายสำคัญ

ความไม่แน่นอนของการจัดรายการ เช่นในเรื่องคนดูในสนาม (ไม่ให้เกิน 10,000 คน หรือ 5,000 คน หรือไม่ให้มีเลย) การจัดสถานที่แข่งขันที่ใกล้คนดูบนถนน พิธีรับรางวัล ฯลฯ ทั้งหมดนี้ไม่มีใครตอบได้ ต้องรอดูสถานการณ์ไปก่อนทั้งสิ้น

บทเรียนเรื่องนี้ก็คืออย่าดีใจจนเกินไปเมื่อได้รับ “ปีศาจ” ที่แปลงร่างอันงดงามมาดังกรณีนี้ อย่าลืมว่ามีอีกด้านของเหรียญคือ “นางฟ้าแปลงร่าง” มาเสมอ (Blessing in Disguise) กล่าวคือบางสิ่งที่ได้รับอาจไม่ดี แต่แท้ที่จริงแล้วอาจมี “นางฟ้า” แฝงอยู่ข้างในก็เป็นได้

“โควิด19” ทำให้เราเข้มแข็งขึ้นทั้งใจและกาย และเป็นมนุษย์ที่สมบูรณ์กว่าเดิมจากการรู้สึกห่วงใยคนข้างเคียงมากขึ้น

หมายเหตุ : ตีพิมพ์ครั้งแรก คอลัมน์ “อาหารสมอง” นสพ.กรุงเทพธุรกิจ ฉบับวันที่อังคาร 13 ก.ค. 2564