ThaiPublica > Sustainability > Global Issues > สหรัฐอเมริกา ผู้ก่อขยะพลาสติกในทะเลรายใหญ่สุดของโลก

สหรัฐอเมริกา ผู้ก่อขยะพลาสติกในทะเลรายใหญ่สุดของโลก

7 ธันวาคม 2021


สหรัฐฯ ควรจัดทำยุทธศาสตร์ระดับชาติภายในสิ้นปี 2022 เพื่อลดการมีส่วนร่วมในการเพิ่มขยะพลาสติกในมหาสมุทรทั่วโลก

รายงานฉบับใหม่จาก สถาบันวิทยาศาสตร์วิศวกรรม และการแพทย์แห่งชาติ ( National Academies of Sciences, Engineering and Medicine) ระบุว่า สหรัฐฯ ควรจัดทำยุทธศาสตร์ระดับชาติภายในสิ้นปี 2022 เพื่อลดการมีส่วนร่วมในการเพิ่มขยะพลาสติกในมหาสมุทร รวมไปถึงการลดปริมาณขยะมูลฝอยในประเทศลง

รายงานยังเสนอแนะให้สหรัฐฯ จัดตั้งระบบประสานงานและขยายระบบติดตามมลพิษพลาสติกระดับประเทศ เพื่อให้เข้าใจขนาดและแหล่งที่มาของปัญหาขยะพลาสติกในสหรัฐฯ รวมทั้งลำดับความสำคัญในการลดและการจัดการ และประเมินความคืบหน้าในการจัดการกับปัญหาดังกล่าว

รายงาน Reckoning with the U.S Role in Global Ocean Plastic Waste สรุปว่า ขยะพลาสติกในสหรัฐฯ มีกระจายไปทั่วและเพิ่มขึ้น ในแต่ละปีทั่วโลกมีขยะพลาสติกอย่างน้อย 8.8 ล้านตันไหลลงสู่มหาสมุทรในโลก เทียบเท่ากับการทิ้งรถขนขยะพลาสติกลงทะเลทุกๆนาที และในปี 2016 สหรัฐฯ ทิ้งสขยะพลาสติกมากกว่าประเทศอื่นๆ และมากกว่าประเทศสมาชิกสหภาพยุโรปทั้งหมดรวมกัน

ขยะพลาสติกส่งผลกระทบร้ายแรงต่อคุณภาพของมหาสมุทร สัตว์ทะเล และชุมชน รายงานระบุว่า หากไม่มีการเปลี่ยนแปลงแนวทางปฏิบัติในปัจจุบัน พลาสติกจะยังคงสะสมอยู่ในมหาสมุทรและส่งผลเสียตามมา

รายงานระบุว่า กระบวนการรีไซเคิลและโครงสร้างพื้นฐานที่มีในปัจจุบันไม่เพียงพอ ในการจัดการกับความซับซ้อนและปริมาณของขยะพลาสติกที่เพิ่มขึ้นได้ และขยะพลาสติกส่วนใหญ่จะถูกกำจัดในหลุมฝังกลบ แม้ระบบการจัดการขยะมูลฝอยของสหรัฐฯ จะมีความก้าวหน้าโดยรวม คณะกรรมการที่เขียนรายงานนี้ สรุปว่ามีทั้งความจำเป็นและโอกาสในการขยายและพัฒนาการจัดการขยะมูลฝอยในเขตเทศบาลในสหรัฐฯ เพื่อให้จัดการกับขยะพลาสติกได้ดียิ่งขึ้น และให้บริการแก่ชุมชนและภูมิภาคอย่างเท่าเทียมกัน อย่างมีประสิทธิภาพและประหยัด

“ขยะพลาสติกเป็นวิกฤติสิ่งแวดล้อมและสังคมที่สหรัฐฯ จำเป็นต้องจัดการตั้งแต่แหล่งต้นทางจนถึงทะเล” มากาเร็ต สปริง ประธานคณะกรรมการ และหัวหน้าฝ่ายอนุรักษ์และวิทยาศาสตร์ของพิพิธภัณฑ์สัตว์น้ำ Monterey Bay Aquarium กล่าวและว่า “ขยะพลาสติกของสหรัฐมีผลกระทบมากมาย ส่งผลกระทบต่อชุมชนในประเทศและชายฝั่ง, สร้างมลพิษในแม่น้ำ, ทะเลสาบ, ชายหาด, อ่าวและทางน้ำของเรา, สร้างภาระทางสังคมและเศรษฐกิจให้กับประชากรที่เปราะบาง, คุกคามสิ่งมีชีวิตทางทะเลและสัตว์ป่า, และน้ำที่ปนเปื้อน ที่มนุษย์ต้องใช้เป็นอาหารและการดำรงชีวิต”

  • อาเซียนประกาศแผนปฏิบัติการระดับภูมิภาครับมือมลพิษจากพลาสติก
  • ไทยลดใช้พลาสติกได้ผล อันดับประเทศขยะรั่วไหลสู่ทะเลดีขึ้น
  • เอเชียแปซิฟิกเดินหน้าจัดการขยะพลาสติก – สำรวจการขับเคลื่อนแต่ละประเทศเปลี่ยนพฤติกรรมผู้บริโภค
  • ยุทธศาสตร์ประเทศ

    รายงานเสนอแนะให้สหรัฐฯ กำหนดนโยบายและยุทธศาสตร์การวิจัยของรัฐบาลกลางที่สอดคล้อง ครอบคลุม และเกี่ยวข้องกับหลายหน่วยงาน เพื่อลดการมีส่วนร่วมในการทิ้งขยะพลาสติกที่มีผลต่อสิ่งแวดล้อมและมหาสมุทร ยุทธ์ศาสตร์นี้ควรจัดทำโดยกลุ่มผู้เชี่ยวชาญหรือคณะที่ปรึกษาภายนอก ภายในวันที่ 31 ธันวาคม 2022 และต้องประเมินการดำเนินการตามยุทธ์ศาสตร์ภายในวันที่ 31 ธันวาคม 2025

    รายงานระบุว่า การดำเนินการของสหรัฐฯ มาจนถึงปัจจุบัน ไม่สามารถแก้ไขปัญหาได้ด้วยวิธีใดวิธีหนึ่ง ดังนั้น ยุทธศาสตร์ระดับชาติจึงควรมีการดำเนินการจากภาครัฐ(intervention)ในทุกขั้นตอนของขยะพลาสติกที่ไหลลงสู่มหาสมุทร นอกจากนี้ยังควรต่อยอดจากความพยายามที่กำลังดำเนินการอยู่ ขยายขอบเขตให้ครอบคลุม และปรับใช้สิ่งที่ได้เรียนรู้ทั้งในสหรัฐอเมริกาและประเทศอื่นๆ

    การมีบทบาทเป็นผู้นำในการป้องกันมลพิษจากพลาสติกจะทำให้สหรัฐฯ กำหนดและมีอิทธิพลต่อการผลิต การออกแบบ และนวัตกรรมพลาสติกทั่วโลก และอาจสร้างโอกาสทางเศรษฐกิจใหม่ ๆ รายงานระบุ แม้รัฐบาลจะมีบทบาทสำคัญในการจัดทำยุทธศาสตร์ระดับชาติ แต่ความร่วมมือระหว่างผู้มีส่วนได้ส่วนเสียในระบบขยะพลาสติกก็มีความสำคัญ เช่นเดียวกับการติดตามผลและโครงการวิจัยที่เข้มแข็ง และการมีส่วนร่วมของสาธารณชนอย่างแข็งขัน

    รายงานเสนอแนะการดำเนินการจากภาครัฐ 6 ตอนในยุทธ์ศาสตร์ ดังนี้

  • ลดการผลิตพลาสติก โดยเฉพาะพลาสติกที่ไม่สามารถนำกลับมาใช้ใหม่ได้(reused) หรือไม่สามารถรีไซเคิลได้ ซึ่งจะช่วยลดความจำเป็นในการจัดการขยะ เช่น การกำหนดเพดานการผลิตพลาสติกบริสุทธิ์ระดับประเทศ
  • สร้างสรรค์การออกแบบและวัสดุ เพื่อพัฒนาวัสดุทดแทนที่ย่อยสลายได้เร็วขึ้น หรือสามารถนำกลับมาใช้ใหม่หรือรีไซเคิลได้ง่ายขึ้น เช่น การสนับสนุนจากรัฐบาลเพื่อความร่วมมือด้านการวิจัยและพัฒนา

  • ลดการสร้างขยะ โดยลดการใช้ผลิตภัณฑ์พลาสติกแบบใช้แล้วทิ้ง ที่มีจุดประสงค์เพื่อการใช้งานในช่วงเวลาสั้นๆ รวมถึงการจำกัดผลิตภัณฑ์และตั้งเป้าหมายสำหรับการรีไซเคิล ตัวอย่างเช่น การห้ามผลิตภัณฑ์เฉพาะตามระดับสารพิษหรือความจำเป็น
  • ปรับปรุงการจัดการขยะ รวมถึงโครงสร้างพื้นฐาน การเก็บรวบรวม การบำบัด การควบคุมการรั่วไหล และการบัญชี — ตัวอย่างเช่น กำหนดด้านกฎระเบียบจำกัด ขยะพลาสติกหรือไมโครพลาสติกที่ปล่อยลงสู่มหาสมุทรผ่านระบบลำน้ำ
  • ดักจับขยะในสิ่งแวดล้อม รวมทั้งจากขยะบนพื้น น้ำฝน หรือจากการไหลไปกองรวมกันตามแหล่งน้ำโดยตรง เช่น ระหว่างการลอกแม่น้ำหรือทำความสะอาดชายหาด
  • ลดการไหลลงสู่ทะเลให้เหลือน้อยที่สุด โดยกกำหนดเป้าหมายการไหลของพลาสติกจากเรือหรือแท่นขุดเจาะน้ำมัน ตัวอย่างเช่น เพิ่มการบังคับใช้สำหรับการทิ้งขยะในทะเล
  • ขยะพลาสติกสหรัฐฯในทะเล

    คณะกรรมการได้รับการขอให้ประเมิน การมีส่วนในขยะพลาสติกในมหาสมุทรทั่วโลกของสหรัฐฯ รวมถึงพลาสติกที่ผลิตในสหรัฐฯ และพลาสติกที่ผลิตในที่อื่นๆ ที่เข้าสู่กระแสขยะของสหรัฐฯ

    รายงานนำเสนอการประมาณการทางวิทยาศาสตร์หลายประการ แต่เตือนว่าไม่สามารถระบุการมีส่วนของสหรัฐฯ ได้อย่างแม่นยำ จากความไม่พร้อมของข้อมูล การติดตาม และการรายงานภายใต้กฎหมายที่มีอยู่ การประมาณการที่ทราบกันดีอยู่แล้ว แม้ค่อนข้างอนุรักษ์นิยม แต่สื่อถึงปัญหาใหญ่

    รายงานยังยืนยันว่า สหรัฐฯ มีส่วนในของเสียและการผลิตเกินขนาดเมื่อเทียบกับประเทศอื่นๆ การศึกษาก่อนหน้านี้พบว่าชาวอเมริกันทิ้งขยะมูลฝอยเฉลี่ย 4.5-6 ปอนด์ทุกวัน ซึ่งมากกว่าการทิ้งขยะ 2- 8 เท่าในหลายประเทศ ในปี 2016 สหรัฐฯทิ้งขยะพลาสติก 42 ล้านเมตริกตัน ซึ่งถือเป็นปริมาณขยะที่ใหญ่ที่สุดในประเทศอื่นๆ นอกจากนี้ การผลิตพลาสติกของสหรัฐฯ เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องทุกปีตั้งแต่ช่วงทศวรรษ 1960

    การติดตามและประเมินขยะพลาสติก

    การรวบรวมข้อมูลมีความสำคัญอย่างยิ่งต่อการทำความเข้าใจแหล่งที่มา ขอบเขต และรูปแบบของขยะพลาสติกในมหาสมุทร และการจัดลำดับความสำคัญในการป้องกัน การจัดการ และการกำจัด รายงานยอมรับว่าข้อมูลไม่พร้อม ตลอดจนศักยภาพในการบูรณาการและปรับปรุงระบบการตรวจสอบที่มีอยู่

    สหรัฐฯ ควรวางระบบติดตามและตรวจสอบเสริมหลายระบบเพื่อช่วยระบุแหล่งที่มาและพื้นที่มีปัญหา ทำความเข้าใจขนาดของปัญหาขยะพลาสติก และประเมินความคืบหน้าในการจัดการกับปัญหา

    รายงานระบุว่า โครงการติดตามและประเมินขยะทางทะเล(Marine Debris Monitoring and Assessment Project) ของ องค์การบริหารมหาสมุทรและชั้นบรรยากาศแห่งชาติ (National Oceanic and Atmospheric Administration) ควรทำการสำรวจแนวชายฝั่งระดับชาติทุก ๆ 5 ปี นอกจากนี้ หน่วยงานของรัฐบาลกลางที่มีอำนาจเหนือน่านน้ำชายฝั่งและพื้นที่ในประเทศ ควรจัดทำแผนงานการติดตามใหม่หรือปรับปรุงแผนเดิม ที่ประสานงานกันระหว่างหน่วยงานต่างๆ

    การศึกษาเชิงนโยบายนี้ดำเนินการโดยคณะกรรมการ United States Contributions to Global Ocean Plastic Waste ได้รับการสนับสนุนจาก National Oceanic and Atmospheric Administration

    สถาบันวิทยาศาสตร์ วิศวกรรมศาสตร์ และการแพทย์แห่งชาติเป็นสถาบันเอกชนที่ไม่แสวงหาผลกำไร ซึ่งให้การวิเคราะห์และคำแนะนำที่เป็นอิสระและเป็นกลางแก่ประเทศ ในการแก้ปัญหาที่ซับซ้อนและให้ข้อมูลการตัดสินใจนโยบายสาธารณะที่เกี่ยวข้องกับวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี และการแพทย์ สถาบันนดำเนินการภายใต้กฎบัตรรัฐสภาปี 1863 ของ สถาบันวิทยาศาสตร์แห่งชาติ(National Academy of Sciences) ซึ่งลงนามโดยประธานาธิบดีลินคอล์น