วรากรณ์ สามโกเศศ
ตั้งแต่ตื่นนอนจนเข้านอน มองไปทางไหนก็จะเห็นแต่สิ่งของที่ทำจากสารสังเคราะห์พลาสติก ไม่ว่าแปรงสีฟัน นาฬิกาปลุก ขวดน้ำ ถุงพลาสติก โทรศัพท์มือถือ ฯลฯ ทุกสิ่งที่มีส่วนประกอบของสารเคมีวันหนึ่งก็จะแตกสลายย่อยเป็นผงเล็กมากจนมองไม่เห็น กระจายอยู่ทุกหนทุกแห่ง ไม่ว่าในอากาศ อยู่ในอาหาร ผัก ผลไม้ เนื้อปลา ไก่ ฯลฯ ที่น่ากังวลก็คือยังไม่รู้ว่ามันมีผลเสียต่อสุขภาพของมนุษย์มากเพียงใด
microplastic (เส้นผ่าศูนย์กลางเล็กกว่าครึ่งเซนติเมตร) และ nano-plastic (หนึ่ง nano เท่ากับ 1 ส่วนหนึ่งพันล้านของเมตร) คือชิ้นส่วนของพลาสติกที่เล็กมากๆ จนมองไม่เห็นด้วยตาเปล่า ละอองพลาสติกเหล่านี้ที่อาจเป็นภยันตรายอย่างใหญ่หลวงแก่มนุษยชาติล้วนมาจากขยะพลาสติกที่กำลังล้นโลกโดยเฉพาะเอเชียอยู่ในปัจจุบัน
ในจำนวนแม่น้ำ 10 สายที่มีสภาวะมลพิษมากที่สุดในโลก (เรียงลงไปจากมากที่สุด คือ แยงซี คงคา สี ฮวงโห คลอส แบรนทัส แอมะซอน ปาสิก อิรวดี และโซโล) 8 สายอยู่ในเอเชีย (คลอสอยู่ในแอฟริกา แอมะซอนอยู่ในอเมริกาใต้) แม่น้ำ 10 สายนี้รวมกันปล่อยขยะพลาสติกถึง 1 ใน 4 ของโลกลงทะเลและมหาสมุทรในที่สุด (ทั้งโลกทิ้งขยะพลาสติกลงมหาสมุทร 8-13 ล้านตันต่อปี) ทำลายสิ่งมีชีวิตรวมกันมีมูลค่าปีละไม่ต่ำกว่า 13,000 ล้านเหรียญสหรัฐ
สถิติจากองค์กรระหว่างประเทศระบุว่า กว่าร้อยละ 80 ของขยะพลาสติกที่ทิ้งลงมหาสมุทรมาจากเอเชีย ซึ่งเป็นบริเวณที่เศรษฐกิจขยายตัวอย่างมากในรอบ 30 ปีที่ผ่านมา
เอเชียตะวันออกเฉียงใต้เป็นผู้ร้ายในเรื่องปล่อยขยะพลาสติกลงมหาสมุทรกลุ่ม Ocean Observatory ระบุว่าในปี 2017 จีน อินโดนีเซีย เวียดนาม ฟิลิปปินส์ และไทย รวมกันทิ้งขยะพลาสติกลงมหาสมุทรมากกว่าที่เหลือทั้งโลกรวมกัน
สาเหตุที่ขยะพลาสติกส่วนใหญ่ไปอยู่ในมหาสมุทรก็มาจากการที่ประเทศเหล่านี้ขาดความสามารถในการกำจัดขยะ ส่วนใหญ่ท้องถิ่นเป็นผู้ดำเนินการโดยมีทรัพยากรและความรู้จำกัดจึงกองทิ้งไว้หรือฝังกลบไม่ดี การเผาทำลายมีน้อยมาก เมื่อฝนตกโดยเฉพาะจากมรสุมก็จะทำให้ดินที่กลบไว้ถล่ม ฝนพัดพาขยะพลาสติกซึ่งมีอยู่มหาศาลลงสู่ลำคลอง ไหลลงสู่แม่น้ำ ทะเลและจบลงที่มหาสมุทร
สิงคโปร์เฉลี่ยใช้ถุงพลาสติก 13 ใบต่อคนต่อวัน และหลอดกาแฟพลาสติก 2.2 ล้านหลอดต่อวัน
ส่วนไทยใช้ถุงพลาสติก 8 ใบต่อคนต่อวัน เพียงแค่กรุงเทพฯ แห่งเดียวใช้ถุงพลาสติกไม่ต่ำกว่า 500 ล้านถุงต่ออาทิตย์ ในหนึ่งปีคนกรุงเทพฯ ใช้ประมาณ 26,000 ล้านถุง
ไทยมีขยะประมาณ 27 ล้านตันต่อปี จัดการกำจัดฝังกลบและเผาได้เพียง 2 ใน 3 ที่เหลือค้างสะสม มีการประเมินว่าขยะเหล่านี้ไหลลงทะเลไม่ต่ำกว่า 60,000 ตันต่อปีและส่วนหนึ่งในนี้คือพลาสติก
ที่หนักไปกว่านี้ของเอเชียก็คือ e-waste หรือขยะจากอุปกรณ์ไอทีทั้งมวล ไม่ว่าสมาร์ทโฟน คอมพิวเตอร์ แบตเตอรี่ ตลอดจนอุปกรณ์ประกอบทั้งหลายซึ่งฉาบด้วยสารเคมี จีนเป็นประเทศที่นำเข้าจากยุโรปและอเมริกามาหลายปี เป็นลูกค้าใหญ่สุดของโลก ธุรกิจแยกชิ้นส่วนออกเป็นวัสดุเพื่อขายอีกต่อหนึ่งนั้น เป็นการเพิ่มขยะพลาสติกอย่างมาก ปัจจุบันจีนได้ห้ามนำเข้าเด็ดขาด ดังนั้นจึงมาทะลักเพิ่มที่ไทยและมาเลเซียเป็นพิเศษ ปัจจุบันทางการไทยห้ามนำเข้า e-waste ทั้งหมดแล้ว
ของใช้ทุกชิ้นที่มีส่วนประกอบของสารสังเคราะห์พลาสติกจะกลายเป็นละอองพลาสติกในที่สุด มันจะเลวร้ายมากยิ่งขึ้นสำหรับการย่อยสลายในมหาสมุทรเพราะจะทำลายสิ่งมีชีวิตโดยตรง (ปลากินถุงพลาสติกจนตาย) มีการคาดคะเนว่าหากสภาพเป็นเช่นนี้ ก่อนปี 2050 สิ่งมีชีวิตในทะเลไม่ต่ำกว่า 600 ชนิดจะถูกกระทบ วัสดุสังเคราะห์จากสารเคมีเหล่านี้จะไปอยู่ในห่วงโซ่อาหาร เมื่อมนุษย์กินเข้าไปไม่ว่าจะเป็นหอย ปู ปลา หรือสัตว์จากทะเล ก็จะไปอยู่ในร่างกาย มีการพบละอองพลาสติกในน้ำ เบียร์ น้ำผึ้ง หรือแม้แต่เกลือจากทะเล การสำรวจของกลุ่ม Greenpeace พบ micro-plastic ในน้ำแข็ง น้ำทะเล หิมะที่ขั้วโลกใต้ (Antarctica ซึ่งถือกันว่าแสนจะสุดโลก) อีกทั้งพบก้อนขยะน้ำแข็งอีกด้วย
ผลิตภัณฑ์ที่ทำจากพลาสติกหรือส่วนผสมของพลาสติกมีมานานแล้ว ผู้ที่ตั้งชื่อว่า plastic คือ Leo Bakelite ชาวอเมริกันผู้คิดค้นสร้างสารสังเคราะห์พลาสติกจากน้ำมันในปี 1907 ก่อนหน้านั้น ในปี 1897 มีผู้สร้างสารสังเคราะห์แนวพลาสติกจากวัสดุธรรมชาติ
พลาสติกกลายเป็นสิ่งที่มนุษย์ขาดไม่ได้เมื่อต่อมามีการผลิตสารใหม่ๆ ออกมาเป็นอันมากนับตั้งแต่หลังสงครามโลกครั้งที่หนึ่งคือ 1917 เป็นต้นมา โดยเฉพาะอย่างยิ่งในช่วงทศวรรษ 1940 และ 1950
พลาสติกที่ย่อยสลายได้เพราะมิได้เป็นสารสังเคราะห์ทั้งหมดก็มี แต่ตราบใดที่มีส่วนผสมพลาสติกแล้วก็หนีไม่พ้นการสร้าง micro และ nano plastic
การแก้ไขปัญหาสำคัญนี้ของโลกต้องมาจากการใช้พลาสติกน้อยลงหรือรีไซเคิลมากกว่าการกำจัดแบบเผาซึ่งช่วยสร้างภาวะโลกร้อน ที่ได้ผลที่สุดก็คือการบริโภคน้อยลง (การใช้เสื้อผ้าที่มีใยสังเคราะห์ผสมก็คือการเพิ่มละอองพลาสติก)
ปัญหาละอองพลาสติกแก้ได้ด้วยมนุษย์ด้วยกันเองเท่านั้น ถ้าบ้านเราเพียงใช้ถุงพลาสติกน้อยลงไปวันละ 2 ใบก็จะลดขยะพลาสติกลงไปวันละ 120 ล้านใบ ลดละอองพลาสติกซึ่งเริ่มมีหลักฐานว่ามีผลเสียต่อสุขภาพไปอีกมากมายจนลดภยันตรายที่อาจเกิดกับสุขภาพของตัวเราเองและลูกหลานไทยไปได้อย่างมหาศาล
หมายเหตุ: ตีพิมพ์ครั้งแรก คอลัมน์ “อาหารสมอง” นสพ.กรุงเทพธุรกิจ ฉบับวันอังคารที่ 28 ส.ค. 2561