ThaiPublica > เกาะกระแส > นายกฯ เคลียร์ปมทำร้ายหมอ ย้ำอย่าฟังความด้านเดียว-มติ ครม.ปลดล็อกลูกจ้างรายวันภาครัฐร่วม “เราชนะ” ได้

นายกฯ เคลียร์ปมทำร้ายหมอ ย้ำอย่าฟังความด้านเดียว-มติ ครม.ปลดล็อกลูกจ้างรายวันภาครัฐร่วม “เราชนะ” ได้

15 กุมภาพันธ์ 2021


พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม
ที่มาภาพ: www.thaigov.go.th

นายกฯ เคลียร์ปมทำร้ายหมอ ย้ำอย่าฟังความด้านเดียว -ยันจักรยาน 2 คัน แจ้ง ป.ป.ช.แล้ว-ไม่ห้ามเอกชนนำเข้าวัคซีน แต่ต้องฉีดตามแผนรัฐบาล -มติ ครม.ปลดล็อกลูกจ้างรายวันภาครัฐเข้าร่วม “เราชนะ” ได้–ขยายเวลาปลอดหนี้-กู้สินเชื่ออาชีพอิสระไม่ต้องผ่อน 1 ปี

เมื่อวันที่ 15 กุมภาพันธ์ 2564 ที่ทำเนียบรัฐบาลมีการประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) ผ่านระบบวิดีโอคอนเฟอร์เรนซ์ โดยมี พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม เป็นประธาน

เคลียร์ปมทำร้ายหมอ ย้ำอย่าฟังความด้านเดียว

พล.อ. ประยุทธ์ ตอบคำถามถึงความกังวลที่มีการจุดกระแสเรื่องเจ้าหน้าที่ได้ทำร้ายผู้ชุมนุมและทีมแพทย์อาสา และอาจมีการเคลื่อนไหวที่หน้ารัฐสภาในวันอภิปรายไม่ไว้วางใจว่า ยืนยันว่าตนจะให้เจ้าหน้าที่ทำงานอย่างเต็มที่ในการทำหน้าที่ตามกฎหมายด้วยความละมุนละม่อม ขณะเดียวกันก็ฝากเตือนไปยังผู้ที่ก่อเหตุด้วย เนื่องจากตามพยานหลักฐานในกล้องวงจรปิดต่างๆ มีจำนวนมากให้เห็นชัดเจน ว่ามีการปฏิบัติอะไรต่อเจ้าหน้าที่

“ต้องเห็นใจเจ้าหน้าที่ต้องทำงานด้วยความระมัดระวัง เขาก็มีชีวิตจิตใจเหมือนกัน เพราะฉะนั้นถ้าเราใช้ความรุนแรงตอบโต้กันไปมาก็รังแต่จะให้เกิดความรุนแรงเกิดขึ้นต่อไปซึ่งไม่เป็นผลดีต่อประเทศชาติและประชาชนโดยรวม”

ต่อกรณีคำถามนายกรัฐมนตรีในฐานะผู้กำกับดูแลเจ้าหน้าที่ตำรวจ จะชี้แจงและแสดงความเสียใจต่อกรณีตำรวจทำร้ายร่างกายทีมแพทย์อย่างไร พล.อ. ประยุทธ์ กล่าวว่า ตนบอกไปแล้วว่ามีการทำร้ายเจ้าหน้าที่ด้วย ในส่วนของการยืนยันว่าเป็นทีมแพทย์หรือไม่ก็ให้ไปพิสูจน์ทราบมา ซึ่งตอนนี้ก็อยู่ในกระบวนการสอบสวนอยู่ ขออย่าบิดเบือนหรือฟังความด้านเดียว ทุกคนต้องเคารพกฎหมายหมด

เมื่อถามถึงการนัดหมายชุมนุมในวันที่ 17 และ 20 กุมภาพันธ์นี้ ซึ่งเป็นช่วงการอภิปรายไม่ไว้วางใจ พล.อ. ประยุทธ์ กล่าวว่า ตนคิดว่าอย่ามีการเคลื่อนไหวในทางปลุกระดมหรือปลุกปั่นเพราะไม่เกิดประโยชน์อะไรกับประเทศชาติ ในเวลานี้ประเทศชาติมีปัญหาอยู่ทางเรื่องโควิด-19 และเรื่องปัญหาต่างๆ มากมายจึงไม่ควรเพิ่มความขัดแย้งให้มากยิ่งขึ้น เพราะฉะนั้นกระบวนการทำงานเป็นเรื่องของรัฐสภา เป็นเรื่องของรัฐบาลที่ต้องชี้แจงในการอภิปรายไม่ไว้วางใจ ขอให้ประชาชนเฝ้าฟังรอฟังอยู่ที่บ้านดีกว่ามาประท้วงกัน เพื่อจุดมุ่งหมายอะไรหลายคนคงพอจะทราบอยู่แล้ว

พล.อ. ประยุทธ์ ตอบคำถามถึงการอภิปรายไม่ไว้วางใจในข้อกล่าวหาที่เกี่ยวข้องกับสถาบัน จะมีการประชุมลับหรือไม่ ว่า ตนคงไม่ต้องตอบเรื่องความกังวลเกี่ยวข้องอะไรต่างๆ สถาบันในสภานั้นมันควรหรือไม่ควรก็ไปว่ากันมา เป็นเรื่องของสมาชิกและเป็นเรื่องที่สภาจะต้องดำเนินการให้อยู่ภายใต้รัฐธรรมนูญและกฎหมายที่เกี่ยวข้องทุกประการ

เตือนกลุ่ม รปห.เมียนมาแฝงตัว ขอให้ระวังทุกมิติ

ต่อกรณีมีกลุ่มเรียกร้องประชาธิปไตย ต่อต้านรัฐประหารในเมียนแฝงตัวร่วมชุมนุมในพื้นที่ปทุมวันและสนามหลวง พล.อ. ประยุทธ์ ระบุว่า ตนขอเตือนว่าขอให้ใช้ความระมัดระวังให้มากที่สุด ในฐานะมิตรประเทศในฐานะอาเซียนต้องระมัดระวังในทุกมิติทุกประเด็น ต้องรับความความคิดเห็นจากหลายแหล่ง ว่าจะดำเนินการได้มากน้อยเพียงใดอย่างไร

สวน “ทักษิณ” แค่เคารพ กม.ก็แก้จนได้

พล.อ. ประยุทธ์ ตอบคำถามถึงกรณีนายทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี ออกมาแนะนำให้แก้ปัญหาความยากจนด้วยการแก้รัฐธรรมนูญ ว่า ตนถือว่าสิ่งที่กล่าวมาอาจจะไม่ใช่การแก้จนด้วยการแก้รัฐธรรมนูญ แค่เพียงเคารพกฎหมายที่มีอยู่ให้ได้มากที่สุดในเวลานี้ทุกอย่างก็สามารถเดินหน้าไปได้ ส่วนการแก้ไขรัฐธรรมนูญก็ว่ากันไปตามกระบวนการของรัฐสภา ทั้งนี้จะแก้อะไรก็ตามนโยบายและเจตนารมณ์ของตนในฐานะหัวหน้ารัฐบาลก็คือการที่จะต้องแก้ปัญหาของประชาชนให้ได้มากที่สุด

“มันมีกำหนดการมีวิธีการมีกฎหมายครบถ้วนทุกประการ ก็อยู่ในขั้นตอนการดำเนินการต่อไป ซึ่งรัฐบาลก็สนับสนุนให้มีการแก้ไข จะแก้ไขอย่างไรก็สุดแล้วแต่รัฐสภา เพราะฉะนั้นที่ผ่านมาท่านก็เห็นว่ารัฐธรรมนูญมีมาหลายฉบับ และได้แก้ปัญหาในเรื่องของการทุจริตผิดกฎหมายได้บ้างหรือเปล่าผมก็ไม่รู้เหมือนกัน เพราะฉะนั้นวันนี้สิ่งที่ผมขอร้องก็คือให้ทุกคนเคารพกฎหมายที่มีอยู่ในปัจจุบันและเข้าใจกันในเรื่องของการแก้กฎหมายว่าจะแก้กันไปเพื่ออะไรเพื่อใคร”

พล.อ. ประยุทธ์ กล่าวต่อไปว่า วันนี้ก็มีหลายมาตรการที่ได้มีการผ่อนคลายมีการสนับสนุนวงเงินต่างๆ เพื่อให้เข้าถึงทั้งในภาคประชาชนและภาคธุรกิจต่างๆ ทั้ง สตาร์ทอัป เอสเอ็มอี ต่างๆ ได้มีการปลดล็อคในหลายอย่างแล้ว ซึ่งต้องทยอยดำเนินการตามข้อมูลที่มีอยู่ ตามความเดือดร้อน ต้องทำอย่างรัดกุม

“มันอาจจะลำบากสักนิดนึงสำหรับประชาชนก็ขอให้มีความคุ้นชินในเรื่องเหล่านี้ด้วย เรื่องของการใช้แอปพลิเคชัน เรื่องของกระเป๋าตัง เหล่านี้คือการเดินหน้าของประเทศในอนาคตอันใกล้นี้ ทุกประเทศเขาเดินหน้ากันหมดแล้วท่านจะไม่ยอมปรับเปลี่ยนเลยก็คงไม่ได้ แต่สิ่งสำคัญที่ผมเน้นอย่างที่สุดคือลงถึงมือประชาชนอาจจะยากสักนิดก็ต้องพยายามกันนิดนึง”

โอดถูกกล่าวหาทำเศรษฐกิจแย่ ขอให้ดูทั่วโลกเป็นอย่างไร

พล.อ. ประยุทธ์ กล่าวต่อไปว่า ในเรื่องเศรษฐกิจแน่นอนว่าประเทศไทยได้รับผลกระทบ อาจจะกระทบมากกระทบน้อยในบางเซกเตอร์ บางสาขา แต่สรุปว่ากระทบทั้งหมด ซึ่งรัฐบาลก็ต้องช่วยเหลือดูแลตรงนี้ แต่งบประมาณมีจำกัด กติกา กฎหมายต่างๆ นั้นรัดกุม เพราะฉะนั้นก็พยายามที่จะหามาตรการที่ทำให้ทุกคนได้เข้าถึง วันนี้ก็มีมาตรการที่เสนอมาใน ครม. ด้วยในการที่จะปรับในเรื่องของวงเงินซอฟต์โลนต่างๆ ก็ขอให้ติดตามเรื่องนี้ต่อไป

สถานการณ์ด้านเศรษฐกิจก็ต้องไปพิจารณาดูว่าระยะแรกที่มีการแพร่ระบาดเศรษฐกิจเป็นอย่างไรเพราะการแพร่ระบาดระลอก 2 เป็นอย่างไรหากอยู่ในขณะนี้ ดูด้วยความเป็นธรรมจะเห็นว่าผลกระทบในรอบที่ 2 นั้นน้อยกว่ารอบที่ 1 ใช่หรือไม่ ซึ่งถ้าในระยะที่ 2 สามารถคุมได้และส่งเสริมในเรื่องของไม่ว่าจะซอฟต์โลน หรือมาตรการช่วยเหลือประชาชน ตนเห็นว่าจะทำให้เศรษฐกิจดีขึ้นได้

“หลายคนกล่าวอ้างว่าผมทำให้เศรษฐกิจแย่ลง ก็ต้องดูด้วยว่าเศรษฐกิจระดับโลกนั้นเป็นอย่างไร เศรษฐกิจภูมิภาคเป็นอย่างไร ประเทศรอบบ้านเป็นอย่างไร หลายอย่างเราดีขึ้นกว่าเขา เพราะฉะนั้นก็อยู่ที่ความร่วมมือของพวกเรา ทั้งประชาชน ทั้งส่วนราชการ และหน่วยราชการ รวมถึงฝ่ายการเมืองด้วย อย่าเอาปัญหาเหล่านี้มาทำให้เกิดปัญหาทางการเมือง มันจะทำให้บริหารไม่ได้แล้วใครจะได้รับผลเสีย ก็คือประชาชน ประเทศชาติที่เป็นที่รักของทุกคน ทุกคนอาศัยอยู่ในบนผืนแผ่นดินนี้จะทำอย่างไรให้แผ่นดินนี้สงบ ทุกคนต้องช่วยกัน”

เตือน ปชช.ไม่ต้องรีบลงทะเบียน “เราชนะ”

พล.อ. ประยุทธ์ กล่าวว่า ตนทราบมาว่าประชาชนที่ไม่มีสมาร์ทโฟนเดินทางไปลงทะเบียน “เราชนะ” ณ สำนักงานสาขาของธนาคารกรุงไทยจำนวนมาก จนเกิดความแออัด ขอให้ทยอยกันมาไม่จำเป็นต้องรีบดำเนินการภายในวันแรก เนื่องจากได้กำหนดกรอบเวลาไว้แล้ว

“คือมันมีเวลาอยู่แล้วไม่จำเป็นจะต้องมากันในวันแรกก็ได้ มันแน่นเกินไปและขีดความสามารถในการที่จะดูแลตรงนี้ เนื่องจากไม่ได้ใช้ระบบออนไลน์ แต่ต้องมีการติดต่อพบปะเพื่อตรวจสอบเอกสารหลักฐาน ซึ่งต้องใช้เวลามากพอสมควร วันหนึ่งอาจจะไม่ได้มากนัก ซึ่งหากทยอยกันมาก็จะไม่คับคั่ง เส้นมีเวลาเพราะได้กำหนดช่วงเวลาไว้แล้วถ้าไม่พอก็สามารถขยายอีกได้ถ้าจำเป็น”

ทั้งนี้ ในวันนี้ตนได้สั่งให้กระทรวงการคลังไปดูแลในเรื่องนี้แล้ว ขอประชาชนให้ระมัดระวังใส่หน้ากากอนามัย ปฏิบัติตามมาตรการเว้นระยะห่าง ทำสิ่งเหล่านี้คู่ขนานไปกับการได้รับวัคซีน และหากได้รับวัคซีนแล้วก็ยังคงต้องใช้หน้ากากอยู่ เพื่อความปลอดภัยในระยะยาว

ไม่ห้ามเอกชนนำเข้าวัคซีน แต่ต้องฉีดตามแผน รบ.

พล.อ. ประยุทธ์ กล่าวถึงกรณีวัคซีนโควิดฯ ว่า โดยยืนยันว่าจะได้รับลอตแรก 200,000 โดส ในช่วงสัปดาห์สุดท้ายปลายเดือนกุมภาพันธ์นี้แน่นอน เตรียมการฉีด 3 วันก็สามารถเริ่มฉีดเข็มแรกได้ ส่วนวันในการเตรียมการฉีดซึ่งได้มีการกำหนดกลุ่มในการฉีดไว้แล้ว แต่ละชนิดของวัคซีนจะมีข้อบัญญัติไว้ชัดเจนว่าจะควรฉีดในกลุ่มไหน อายุเท่าไร ทั้งนี้เพื่อไม่ให้เกิดผลกระทบๆ ขอให้รอฟังอีกสักนิดโดย ศบค. (ศูนย์บริหารสถานการณ์แพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019) จะชี้แจงให้ทราบต่อไป

“วัคซีนลอตที่ 2 จำนวน 800,000 โดส ลอตที่ 3 อีก 1 ล้านโดส จะตามมา ส่วนนึงก็จะมาฉีดเข็มที่ 2 ให้กับผู้ที่ฉีดไปในระยะแรก ที่เหลือจะให้เป็นระยะที่หนึ่งของคนอีกจำนวนหนึ่ง ในตรงนี้ก็คงพิจารณาให้ครอบคลุม ผมได้แนะนำไปขอให้ดูในส่วนของพื้นที่เสี่ยงเป็นหลัก นอกจากบุคลากรทางการแพทย์แล้วก็ยังมีประชาชนกลุ่มเสี่ยงทั้งแรงงานด้วย รวมถึงพื้นที่ท่องเที่ยวด้วย ซึ่งเมื่อได้รับวัคซีนส่วนหนึ่งที่ได้รับการตรวจสอบแล้วก็จะมีความปลอดภัยในระดับหนึ่ง ส่วนที่เหลือคงต้องรอจนกว่าจะฉีดให้ครบ ขอให้ทุกคนสวมหน้ากากอนามัย และใช้มาตรการเว้นระยะห่าง ก็จะเป็นการป้องกันได้ในระดับที่ดีพอสมควร”

พล.อ. ประยุทธ์ กล่าวต่อไปว่า ในส่วนของแอสตร้าเซนเนก้าจำนวน 26 ล้านโดส จะเข้ามาในปลายเดือนพฤษภาคม และอีก 36 ล้านโดสก็จะตามมา ซึ่งจะต้องกำหนดเป้าหมายในการฉีดให้ต่อเนื่องกันสอดคล้องต้องกัน

สำหรับเรื่องความก้าวหน้าในการขึ้นทะเบียนหมดซีนวันนี้ทางองค์การอาหารและยา (อย.) ได้ขึ้นทะเบียนให้กับแอสตร้าเซนเนก้าแล้ว ส่วนวัคซีนจากซิโนแวคกำลังดำเนินการ ยืนยันว่าสามารถขึ้นทะเบียนได้ทันก่อนที่วัคซีนลอตแรกจะเข้ามา ส่วนที่กำลังมาขอขึ้นทะเบียนได้แก่ วัคซีนของ บริษัท จอห์นสันแอนด์จอนห์สันกำลังอยู่ในขั้นตอนส่งเอกสารมาซึ่งยังไม่ครบในส่วนของบริษัทไฟเซอร์และไบออนเทค และบริษัท โมเดอร์นา ได้มีการพูดคุยกันแต่ยังไม่ได้ส่งเอกสารมา ซึ่งไทยพร้อมเปิดรับความร่วมมือกับทุกฝ่าย ยืนยันไม่ปิดกั้นใครทั้งสิ้น

“ทั้งหมดนั้นเป็นเคสที่เรียกว่า emergency use คือใช้ในสถานการณ์ฉุกเฉิน เพราะว่าจำเป็นที่ใครจะขอนำเข้าก็ต้องมาขอ อย.และที่สำคัญที่สุดต้องฉีดตามแผนฉีดวัคซีนของรัฐที่กำหนดไว้ในขั้นต้น ซึ่งอาจมีภาคเอก หรือชนโรงพยาบาลเอกชนสั่งมาได้ เพื่อเป็นทางเลือกให้กับประชาชนที่มีรายได้สูงหรือผู้ที่ต้องการจะฉีดวัคซีนให้เร็วขึ้น แต่ต้องอยู่ในแผนการฉีดวัคซีนของรัฐต้องอยู่ในข้อกำหนดว่าเป็นกลุ่มใดอย่างไร เพื่อความปลอดภัยของบุคคลโดยรัฐบาลมุ่งเน้นในเรื่องตรงนี้ส่งเสริมความปลอดภัยเป็นหลัก”

ยันทรัพย์สินจักรยานหรู 2 คัน แจ้ง ป.ป.ช.แล้ว

พล.อ. ประยุทธ์ ตอบคำถามถึงกรณีที่นาย เรืองไกร ลีกิจวัฒนะ อดีตสมาชิกวุฒิสภา และอดีตสมาชิกพรรคเพื่อไทย ร้องต่อคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจรติแห่งชาติ (ป.ป.ช.) ในกรณีไม่แจ้งบัญชีจักรยานหรู ว่า ตนจำได้ว่าตนแจ้งไปแล้ว ปัจจุบันมีเพียงแค่ 2 คัน ยืนยันว่าแจ้งไปแล้ว

มติ ครม. มีดังนี้

ผศ. ดร.รัชดา ธนาดิเรก รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี, นายอนุชา บูรพชัยศรี โฆษกประสำนักนายกรัฐมนตรี และนางสาวไตรศุลี ไตรสรณกุล รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี (ซ้าย-ขวา)
ที่มาภาพ: www.thaigov.go.th

เปิดลงทะเบียน “ม33 เรารักกัน” 21 ก.พ.-7 มี.ค.นี้

นายอนุชา บูรพชัยศรี โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เผยคณะรัฐมนตรีเห็นชอบโครงการ ม33 “เรารักกัน” ของสำนักงานประกันสังคม กระทรวงแรงงาน กรอบวงเงิน 37,100 ล้านบาท สำหรับ กลุ่มผู้ประกันตนมาตรา 33 จำนวน 9.27 ล้านคน รายละเอียดดังนี้

  • สัญชาติไทย
  • เป็นผู้ประกันตนมาตรา 33 หรือเคยเป็นผู้ประกันตนมาตรา 33 เมื่อวันที่ 19 มกราคม 2564 (วันที่ถูกตัดสิทธิจากโครงการ “เราชนะ”)
  • ไม่ถือบัตรสวัสดิการแห่งรัฐและไม่ได้รับสิทธิโครงการเราชนะ
  • ไม่มีเงินฝากในสถาบันการเงินรวมกันทุกบัญชีเกิน 500,000 บาท ณ วันที่ 31 ธันวาคม 2563

โดยการช่วยเหลือ จะได้รับสนับสนุนโอนเงินผ่านแอปพลิเคชัน “เป๋าตัง” เป็นรายสัปดาห์ในเดือนมีนาคม-เมษายน 2564 จำนวนไม่เกิน 4,000 บาทต่อคน เพื่อใช้จ่ายซื้อสินค้าและบริการกับร้านค้าเดียวกันกับโครงการเราชนะในช่วงเดือนมีนาคม-พฤษภาคม 2564

นายอนุชากล่าวเพิ่มเติมว่า วงเงิน 37,100 ล้านบาทจะใช้จ่ายจากเงินกู้ โดยมีสำนักงานประกันสังคม กระทรวงแรงงาน เป็นหน่วยงานรับผิดชอบ มีแผนจะเปิดให้ลงทะเบียนผ่านเว็บไซต์ www.ม33เรารักกัน.com ในช่วง 21 กุมภาพันธ์ – 7 มีนาคม 2564 คัดกรองผู้ได้รับสิทธิจากฐานข้อมูลของภาครัฐต่างๆ ช่วงวันที่ 8-14 มีนาคม 2564 กดใช้งานและกดยืนยันตัวตนผ่านแอปพลิเคชัน “เป๋าตัง” ช่วงวันที่ 15 -21 มีนาคม 2564 และจะจ่ายเงินช่วยเหลือผ่านระบบการชำระเงินอิเล็กทรอนิกส์โดยภาครัฐ (g-Wallet) แอปพลิเคชันเป๋าตังของผู้ประกันตนที่ได้รับสิทธิในช่วงวันที่ 22, 29 มีนาคม และ 5, 12 เมษายน 2564 จำนวน 1,000 บาท/สัปดาห์ไม่เกิน 4,000 บาท/คน

ซึ่งผู้ประกันตนที่ได้รับสิทธิสามารถใช้จ่ายเงินผ่าน “เป๋าตัง” ในร้านค้าที่เข้าร่วมโครงการ “ม.33 เรารักกัน” และร้านค้าในโครงการเราชนะ ได้ ตั้งแต่วันที่ 22 มีนาคม – 31 พฤษภาคม 2564 คาดว่าจะกระตุ้นการใช้จ่ายเงินหมุนเวียนในระบบเศรษฐกิจและกระจายรายได้ให้แก่ผู้ประกอบการรายย่อยด้วย

  • ครม.เคาะ “ม33 เรารักกัน” เริ่มลงทะเบียนรับ 4,000 บาท 21 ก.พ. – 7 มี.ค.นี้
  • ขยายเวลาปลอดหนี้-กู้สินเชื่ออาชีพอิสระไม่ต้องผ่อน 1 ปี

    นายอนุชากล่าวว่า ครม. มีมติเห็นชอบปรับปรุงมาตรการการเงินเพื่อดูแลและเยียวยาผลกระทบจากเชื้อไวรัสโควิด-19 ขยายระยะเวลาปลอดเงินต้นและดอกเบี้ยในโครงการสินเชื่อเพื่อเป็นค่าใช้จ่ายสำหรับผู้มีอาชีพอิสระที่ได้รับผลกระทบจากไวรัสโควิด-19 วงเงินสินเชื่อ 40,000 ล้านบาท โดยธนาคารออมสินและธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) สนับสนุน (ธนาคารออมสิน 20,000 ล้านบาท และ ธ.ก.ส. 20,000 ล้านบาท) จาก 6 เดือน เป็นรายกรณีไม่เกิน 12 เดือน ขยายระยะเวลากู้จากเดิมที่ให้กู้ไม่เกิน 2 ปี 6 เดือน เป็น 3 ปี

    นายอนุชา กล่าวต่อไปว่า การขยายหลักเกณฑ์ดังกล่าว จะช่วยประชาชนที่ได้รับผลกระทบจากการระบาดของโควิด-19 ระลอกใหม่ ที่ไม่สามารถชำระหนี้ได้ตามกำหนดและอาจส่งผลต่อประวัติสินเชื่อในระบบเครดิตบูโร รวมทั้งยังอยู่ภายใต้กรอบงบประมาณชดเชยเดิมตามที่คณะรัฐมนตรีได้มติไว้แล้วจึงไม่ก่อให้เกิดภาระด้านงบประมาณ

    นอกจากนี้ คณะรัฐมนตรียังเห็นชอบ โครงการสินเชื่อดอกเบี้ยต่ำ SMEs มีที่ มีเงิน สำหรับธุรกิจท่องเที่ยว โดยมีกลุ่มเป้าหมาย คือ ผู้ประกอบการ SMEs ในภาคธุรกิจท่องเที่ยวและสาขาธุรกิจที่เกี่ยวเนื่อง (supply chain) ที่มีที่ดินว่างเปล่า และ/หรือที่ดินและสิ่งปลูกสร้างที่มีเอกสารสิทธิเป็นโฉนดที่ดิน ใช้ที่ดินว่างเปล่าและหรือที่ดินและสิ่งปลูกสร้างที่มีเอกสิทธิ์ที่มีเอกสารสิทธิ์เป็นโฉนดที่ดินเป็นหลักประกันและไม่ต้องผ่านการตรวจสอบข้อมูลเครดิตบูโร

    โดยธนาคารออมสินจะสนับสนุนสินเชื่อดอกเบี้ยต่ำวงเงินรวม 10,000 ล้านบาท ให้วงเงินสินเชื่อต่อรายย่อยไม่เกินร้อยละ 70 ของราคาประเมินที่ดินของทางราชการ สูงสุดไม่เกิน 10 ล้านบาท สำหรับบุคคลธรรมดาและสูงสุดไม่เกิน 50 ล้านบาทสำหรับนิติบุคคลระยะเวลากู้ 3 ปี ปีแรกอัตราดอกเบี้ยร้อยละ 0.10 ต่อปี โดยสามารถยื่นขอสินเชื่อตั้งได้ตั้งแต่วันที่คณะรัฐมนตรีมีมติเห็นชอบ (15 กพ. 2564) ถึงวันที่ 30 มิถุนายน 2564 หรือจนกว่าวงเงินโครงการจะหมด พร้อมยังอนุมัติ 600 ล้านบาท เพื่อชดเชยให้กับธนาคารออมสินในการดำเนินโครงการด้วย

    “วัตถุประสงค์ของโครงการสินเชื่อดอกเบี้ยต่ำ SMEs มีที่ มีเงิน สำหรับธุรกิจท่องเที่ยว ช่วยเสริมสภาพคล่องกิจการท่องเที่ยว รวมทั้งเพื่อไถ่ถอนจากการขายฝากเอกชนที่ทำสัญญาขายฝาก ทำให้ผู้ประกอบยังสามารถรักษาธุรกิจและการจ้างงานไว้ได้” นายอนุชากล่าว

    ปลดล็อกลูกจ้างรายวันภาครัฐร่วม “เราชนะ” ได้

    นายอนุชากล่าวว่า ครม. อนุมัติ แนวทางเปิดรับลงทะเบียนโครงการ “เราชนะ” กลุ่มที่ต้องการความช่วยเหลือเป็นพิเศษ และที่ไม่สามารถใช้วงเงินผ่านแอปพลิเคชัน “เป๋าตัง” รวมทั้งเห็นชอบกลุ่มลูกจ้างตามสัญญาจ้างเหมาบริการ ลูกจ้างรายวันของส่วนราชการหรือรัฐวิสาหกิจ และอาสาสมัครต่างๆ ที่ผ่านเกณฑ์คุณสมบัติสามารถเข้าร่วมโครงการได้ ทั้งนี้ เพื่อให้ได้ใช้สิทธิอย่างทั่วถึงและเท่าเทียมเช่นเดียวกับกลุ่มอื่นๆ

    สำหรับแนวทางช่วยเหลือผู้ที่ลงทะเบียน “เราชนะ” ที่ไม่สามารถใช้วงเงินสนับสนุนผ่านแอปพลิเคชัน “เป๋าตัง” เปิดรับลงทะเบียนสำหรับกลุ่มที่ต้องการความช่วยเหลือเป็นพิเศษ ระหว่างวันที่ 15-25 กุมภาพันธ์ 2564 ณ สาขาธนาคารกรุงไทย จำกัด (มหาชน) หรือจุดบริการที่ธนาคารกรุงไทยฯ กำหนดด้วยตนเอง กรณีกลุ่มที่ไม่สามารถเดินทางไปลงทะเบียน ณ หน่วยรับลงทะเบียนด้วยตนเองได้ จะมีหน่วยเคลื่อนที่รับลงทะเบียนเพื่ออำนวยความสะดวกในการลงพื้นที่ด้วย โดยต้องพิสูจน์และยืนยันตัวตนผู้ลงทะเบียนด้วยการเสียบบัตรประจำตัวประชาชน (dip chip) ผ่านเครื่องรูดบัตรอิเล็กทรอนิกส์ (electronic data capture: EDC) ซึ่งธนาคารกรุงไทยจะประกาศผลผ่านเว็บไซต์ www.เราชนะ.com หรือสาขาธนาคารกรุงไทยฯ ที่รับลงทะเบียนประสานแจ้งผู้ได้รับสิทธิ์ให้หน่วยงานในจังหวัดดำเนินการแจ้งประชาชนต่อไป

    ผู้ได้สิทธิจะได้รับวงเงินช่วยเหลือไม่เกิน 7,000 บาทในระยะเวลา 2 เดือน (มกราคม-กุมภาพันธ์ 2564) โดยสามารถใช้จ่ายวงเงินผ่านบัตรประจำตัวประชาชนแบบสมาร์ทการ์ดในการซื้อสินค้าหรือชำระค่าบริการจากร้านธงฟ้า ร้านค้าที่เข้าร่วมโครงการคนละครึ่ง และร้านค้าที่เข้าร่วมโครงการเราชนะ และใช้จ่ายได้จนถึงวันที่ 31 พฤษภาคม 2564

    ผ่านแผนกำจัดขยะพลาสติก เลิกใช้ “ถุง-กล่องโฟม-หลอด” ในปี 65

    นายอนุชา กล่าวต่อว่า ที่ประชุมคณะรัฐมนตรีวันนี้ เห็นชอบ ร่างแผนปฏิบัติการด้านการจัดการขยะพลาสติก ระยะที่ 1 (2563-2565) เพื่อเป็นกรอบและแนวทางการดำเนินงานร่วมกันจากทุกภาคส่วนในการป้องกันและแก้ไขปัญหาขยะพลาสติกที่สำคัญและต้องเร่งดำเนินการให้เกิดผลเป็นรูปธรรมในช่วง 3 ปีแรก (ปี 2563-2565) ภายใต้ Roadmap การจัดการขยะพลาสติก 2561-2573

    ร่างแผนปฏิบัติการด้านการจัดการขยะพลาสติก ระยะที่ 1 (2563-2565) มี 2 เป้าหมาย คือ การลด เลิกใช้พลาสติกเป้าหมาย ได้แก่ ถุงพลาสติกหูหิ้วความหนาน้อยกว่า 36 ไมครอน กล่องโฟมบรรจุอาหาร แก้วพลาสติกความหนาน้อยกว่า 100 ไมครอน หลอดพลาสติก ด้วยการใช้วัสดุทดแทนที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม ทั้งหมด ภายในปี 2565 ยกเว้นการใช้กรณีจำเป็น ได้แก่ การใช้ในเด็ก คนชรา ผู้ป่วย เป็นต้น

    เป้าหมายที่ 2 คือ การนำพลาสติกเป้าหมาย 7 ชนิด เช่น ถุงพลาสติกหูหิ้วอื่นๆ ขวดพลาสติก ถาด/กล่องอาหาร กลับไปใช้ประโยชน์เข้าสู่ระบบเศรษฐกิจหมุนเวียน (circular economy) ไม่น้อยกว่าร้อยละ 50 ของพลาสติกเป้าหมายภายในปี 2565 ผ่าน 3 มาตรการ ได้แก่ มาตรการลดการเกิดขยะพลาสติก ณ แหล่งกำเนิด โดยการสร้างแรงจูงใจให้ผู้ประกอบการ รับผิดชอบของเสียที่เกิดจากสินค้าของตนเอง ผลักดันให้มีการปรับปรุงพัฒนามาตรฐานการออกแบบเชิงนิเวศเศรษฐกิจ มาตรการลด เลิกใช้พลาสติก ณ ขั้นตอนการบริโภค เสริมสร้างจิตสำนึกของประชาชนในการบริโภคที่เหมาะสม โดยเฉพาะการลด เลิกใช้พลาสติกแบบใช้ครั้งเดียว (SUP) ที่มีผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม และมาตรการจัดการขยะพลาสติกหลังการบริโภค เพิ่มประสิทธิภาพการนำขยะพลาสติกกลับมาใช้ประโยชน์เข้าสู่ระบบเศรษฐกิจหมุนเวียน ส่งเสริมให้ประชาชนลดและคัดแยกขยะ

    ร่างแผนปฏิบัติการด้านการจัดการขยะฯ ยังคงยึดกรอบแนวคิดหลักการจัดการพลาสติกตลอดวงจรชีวิต (life cycle) หลักการ 3r ด้วยการลดการใช้ (reduce) การใช้ซ้ำ (reuse) และการนำมาแปรรูปใช้ใหม่ (recycle) เน้นการมีส่วนร่วมจากภาครัฐ ภาคเอกชน (public private partnership) และการมีส่วนร่วมของผู้ผลิต (responsible consumption and production) ด้วย” นายอนุชากล่าว

    รับทราบค่าจ้างแรงงานฝีมือ 13 สาขา 415-675 บาท/วัน

    นายอนุชากล่าวว่า ครม. มีมติรับทราบ ประกาศคณะกรรมการค่าจ้าง เรื่อง อัตราค่าจ้างตามมาตรฐานฝีมือ (ฉบับที่ 10) ลงวันที่ 5 มกราคม 2564 ตามมติคณะกรรมการค่าจ้างชุดที่ 21 โดยให้มีผลบังคับใช้หลังจากวันที่ประกาศในราชกิจจานุเบกษาแล้ว เก้าสิบวันเป็นต้นไป

    ทั้งนี้ กลุ่มสาขาอาชีพ/สาขาอาชีพ ประกอบด้วย

    • กลุ่มสาขาอาชีพช่างอุตสาหการ ได้แก่ ช่างกลึง อัตราค่าจ้าง 460-630 บาท/วัน ช่างควบคุมเครื่องกลึง CNC อัตราค่าจ้าง 470-675 บาท/วัน ช่างควบคุมเครื่อง wire cut อัตราค่าจ้าง 480 บาท/วัน ช่างเชื่อมอาร์กโลหะด้วยมือ อัตราค่าจ้างในช่วง 465-630 บาท/วัน
    • กลุ่มสาขาอาชีพช่างไฟฟ้า อิเล็กทรอนิกส์และคอมพิวเตอร์ ได้แก่ ช่างไฟฟ้าภายนอกอาคารและช่างโทรคมนาคม (ไมโครเวฟและการสื่อสารดาวเทียม) อัตราค่าจ้าง 450 บาท/วัน ช่างควบคุมด้วยระบบโปรแกรมเมเบิลลอจิกคอนโทรลเลอร์ (programmable logic controller: PLC) อัตราจ้างระหว่าง 450 -540 บาท/วัน ช่างไฟฟ้าสำหรับอุตสาหกรรมการจัดประชุม การเดินทางเพื่อเป็นรางวัล และการแสดงสินค้า (meetings incentives conventions exhibitions: MICE) อัตราจ้าง 440 บาท/วัน และช่างติดตั้งระบบโซลาร์เซลล์ อัตราจ้าง 450 บาท/วัน
    • กลุ่มสาขาอาชีพช่างเครื่องกล ได้แก่ พนักงานควบคุมเครื่องจักรรถยกไฟฟ้า พนักงานควบคุมเครื่องจักรรถยกใช้เครื่องยนต์ อัตราค่าจ้าง 430 บาท / วัน ช่างตั้งศูนย์และถ่วงล้อรถยนต์ ช่างซ่อมรถจักรยานยนต์ อัตราค่าจ้าง 415 บาท/วัน

    ทั้งนี้ สาขาอาชีพพนักงานขับรถบรรทุก ได้มีการชะลอการออกประกาศฯ ไว้ก่อน เพื่อจัดทำมาตรฐานฝีมือแรงงานแห่งชาติ สาขาอาชีพพนักงานขับรถบรรทุกให้ครอบคลุมรถบรรทุกทุกประเภทก่อน จึงนำมาพิจารณากำหนดอัตราค่าจ้างตามมาตรฐานฝีมือต่อไป

    เห็นชอบแผนรักษาคุณภาพสิ่งแวดล้อมแห่งชาติ

    ผศ. ดร.รัชดา ธนาดิเรก รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวว่า ครม. มีมติเห็นชอบนโยบายและแผนการส่งเสริมและรักษาคุณภาพสิ่งแวดล้อมแห่งชาติ พ.ศ.2560-2580 ตามที่กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมเสนอ โดยกำหนดตัวชี้วัด ได้แก่

    1. สัดส่วนพื้นที่สีเขียวทุกประเภท เป็นร้อยละ 55 ของพื้นที่ประเทศ
    2. ทุกครัวเรือนมีน้ำดื่มที่ปลอดภัยและมีราคาที่สามารถหาซื้อได้
    3. สัดส่วนการใช้พลังงานต่อ GDP ลดลงร้อยละ 30 ภายในปี 2580
    4. ค่าฝุ่นละอองขนาดเล็ก (PM2.5 และ PM10) อยู่ในเกณฑ์มาตรฐาน
    5. การปล่อยก๊าซเรือนกระจกลดลงร้อยละ 20-25 จากปริมาณการปล่อยในกรณีปกติ ภายในปี 2573
    6. สัดส่วนพื้นที่สีเขียวในเมืองเป็นไปตามเกณฑ์ขององค์การอนามัยโลกที่ 9 ตร.ม./คน
    7. มีระบบบริหารจัดการสารเคมีที่คุ้มครองสุขภาพและความปลอดภัยของประชาชนและสิ่งแวดล้อม
    8. งบประมาณภาครัฐเพื่อการจัดการทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมเพิ่มขึ้น
    9. รายได้จากภาษีและค่าธรรมเนียมทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมเพิ่มขึ้น
    10. ดัชนีธรรมาภิบาลเพื่อสิ่งแวดล้อมอยู่ในระดับดีขึ้น
    11. มีองค์กรภาคประชาสังคมเข้ามามีบทบาทในการดูแลรักษาทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมเพิ่มขึ้น

    ขยายเวลาช่วยนายจ้าง-ส่งเงินเข้ากองทุนคนพิการเป็น 90 วัน

    ผศ. ดร.รัชดา กล่าวว่า ครม. มีมติอนุมัติหลักการแก้ไขกฎกระทรวงกำหนดจำนวนคนพิการที่นายจ้างหรือเจ้าของสถานประกอบการ และหน่วยงานของรัฐจะต้องรับเข้าทำงาน และจำนวนเงินที่นายจ้างหรือเจ้าของสถานประกอบการจะต้องนำส่งเข้ากองทุนส่งเสริมและพัฒนาคุณภาพชีวิตคนพิการ พ.ศ. 2554 และที่แก้ไขเพิ่มเติม

    สาระสำคัญคือ นายจ้างที่มีลูกจ้างตั้งแต่ 100 คนขึ้นไป (ไม่นับรวมลูกจ้างคนพิการที่มีอยู่เดิม) ต้องรับคนพิการเข้าทำงานไม่ว่าอยู่ในตำแหน่งใด จำนวน 1 คน ต่อลูกจ้าง 100 คน ถ้าเศษของ 100 คนนั้น เกิน 50 จะต้องรับคนพิการเพิ่มอีก 1 คน

    ผศ. ดร.รัชดา กล่าวต่อไปว่า กรณีที่ผู้ประกอบการไม่สามารถปฏิบัติตามเงื่อนไขได้ต้องส่งเงินเข้ากองทุนส่งเสริมและพัฒนาคุณภาพชีวิตคนพิการตามเงื่อนไขที่กำหนด และดำเนินการภายใน 90 วัน จากเดิม 45 วัน

    รับทราบข้อเสนอ กมธ.แก้ปัญหาครูล่วงละเมิดนักเรียน

    ผศ. ดร.รัชดา กล่าวว่า ครม. รับทราบผลการพิจารณา รายงานการพิจารณาศึกษา เรื่อง แนวทางป้องกันและแก้ไขปัญหาการข่มขืนกระทำชำเราและการล่วงละเมิดทางเพศ ของคณะกรรมาธิการวิสามัญพิจารณาศึกษาแนวทางป้องกันและแก้ไขปัญหาการข่มขืนกระทำชำเราและการล่วงละเมิดทางเพศ สภาผู้แทนราษฎร โดยมีข้อสรุปดังนี้

    1. เห็นควรให้มีการสร้างเจตคติและการระมัดระวังตนเอง สร้างกลไกการเฝ้าระวังร่วมกับเครือข่ายในระดับชุมชนและหน่วยงานภาครัฐ
    2. ให้คณะกรรมการพัฒนาการบริหารงานยุติธรรมแห่งชาติ (กพยช.) พัฒนาแนวทางปฏิบัติสอบถามข้อเท็จจริงจากผู้เสียหายให้เป็นแนวทางเดียวกัน
    3. ให้กระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม (ดศ.) รับไปพิจารณาศึกษาเกี่ยวกับการบูรณาการการส่งต่อเรื่องร้องทุกข์และการรับแจ้งเหตุ โดยจัดตั้งศูนย์รับเรื่องร้องทุกข์หรือแจ้งเหตุกลาง
    4. ให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องศึกษาวิจัยเพิ่มเติม
    5. ศึกษาประเด็นการฟ้องร้องเรียกค่าเสียหายทางแพ่งในคดีความผิดเกี่ยวกับเพศไม่ควรมีอายุความ และการกำหนดค่าเสียหายในลักษณะที่เป็นค่าเสียหายเชิงลงโทษ

    “ส่วนโทษขั้นปลดออกหรือไล่ออกอาจต้องมีการปรึกษาหารือกับสำนักงานก.พ. ส่วนประเด็นอื่นๆ ให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องรับไปพิจารณาต่อไป” ผศ. ดร.รัชดากล่าว

    เคาะราคาอ้อยขั้นสุดท้าย ตันละ 833 บาท

    ผศ. ดร.รัชดา กล่าวว่า ครม. มีมติเห็นชอบการกำหนดราคาอ้อยขั้นสุดท้ายและผลตอบแทนการผลิตและจำหน่ายน้ำตาลขั้นสุดท้าย ฤดูกาลผลิตปี 2562/2563 รวม 9 เขต รายละเอียด ดังนี้

    1. ราคาอ้อยขั้นสุดท้าย ณ ระดับความหวานที่ 10 ซี.ซี.เอส อัตราตันอ้อยละ 833.22 บาท
    2. กำหนดอัตราขึ้น/ลง ของราคาอ้อย ต่อ 1 หน่วย ซี.ซี.เอส เท่ากับ 49.99 บาทต่อ 1 หน่วย ซี.ซี.เอส
    3. ผลตอบแทนการผลิตและจำหน่ายน้ำตาลอ้อยขั้นสุดท้าย 09 บาทต่อตันอ้อย

    ยกเลิกประกาศพาณิชย์ คุมนำเข้า “พัดลม-หม้อหุงข้าว-หลอดไฟ”

    ผศ. ดร.รัชดา กล่าวว่า ครม. มีมติอนุมัติร่างประกาศกระทรวงพาณิชย์ โดยมีจุดประสงค์เพื่อยกเลิกประกาศกระทรวงพาณิชย์ เรื่อง กำหนดให้พัดลม หม้อหุงข้าว และหลอดไฟ เป็นสินค้าที่ต้องมีหนังสือรับรองและต้องปฏิบัติตามมาตรการจัดระเบียบในการนำเข้ามาในราชอาณาจักร พ.ศ. 2555 พ.ศ. …. เนื่องจากมาตรการนำเข้าสินค้าดังกล่าวมีกฎหมายควบคุมเฉพาะคือ พระราชบัญญัติมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม พ.ศ. 2511

    คมนาคมจับมือญี่ปุ่น แก้ปัญหารถติด

    นางสาวไตรศุลี ไตรสรณกุล รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวว่า ครม. เห็นชอบร่างบันทึกความร่วมมือระหว่างกระทรวงคมนาคมของไทยและกระทรวงที่ดิน โครงสร้างพื้นฐาน การขนส่งและการท่องเที่ยวแห่งญี่ปุ่น ด้านแผนงานนโยบายและเทคโนโลยีการจราจร (Memorandum of Cooperation on the Policy Planning and Technologies of Road Traffic)

    ความร่วมมือดังกล่าวจะเป็นกรอบความร่วมมือฉบับใหม่ แทนบันทึกความร่วมมือด้านความปลอดภัยทางถนน (Memorandum of Cooperation on Road Safety) ที่รัฐบาล 2 ประเทศดำเนินการในปี 2560-2562 ที่ต่อมาได้เปลี่ยนผู้รับผิดชอบฝ่ายญี่ปุ่นเป็นองค์การความร่วมมือระหว่างประเทศของญี่ปุ่น (JICA) ภายใต้โครงการ Capacity Improvement for Road Traffic Safety Institution and Implementation in Thailand ดำเนินการระหว่างปี 2563-2565 ซึ่งภายหลังจากได้รับความเห็นชอบจาก ครม. แล้ว กระทรวงคมนาคมจะประสานงานกับฝ่ายญี่ปุ่นเพื่อลงนามร่วมกันต่อไป โดยจะมีระยะเวลาความร่วมมือ 5 ปี นับจากวันที่ลงนาม

    ทั้งนี้ ความร่วมมือฯ ฉบับใหม่จะขยายขอบเขตดำเนินการระหว่างไทยและญี่ปุ่น ในด้านการพัฒนาแผนงานนโยบายและเทคโนโลยีการจราจร แนวทางการส่งเสริมโครงการในรูปแบบเอกชนร่วมลงทุนในกิจการของรัฐ (PPP) การศึกษาความเป็นไปได้ในการพัฒนาโครงการก่อสร้างอุโมงค์เพื่อแก้ไขปัญหาการจราจรของประเทศ

    ครอบคลุมถึงโครงการศึกษาความเหมาะสมการก่อสร้างทางลอดอุโมงค์ทางลอด (นราธิวาส-สำโรง) เพื่อแก้ไขปัญหาจราจรในกรุงเทพฯ แลกเปลี่ยนแนวปฏิบัติของญี่ปุ่นในด้านการดำเนินการและเทคโนโลยีการบำรุงรักษาถนนลอดอุโมงค์ ทางหลวงพิเศษและทางพิเศษ

    “สำหรับโดยรูปแบบความร่วมมือนั้น จะให้มีผู้เชี่ยวชาญจากส่วนต่างๆ ที่มีความรู้ ประสบการณ์หรือเทคโนโลยี/ผลิตภัณฑ์ด้านการจราจรเข้ามามีส่วนร่วม และจัดตั้งคณะกรรมการขับเคลื่อนโดยฝ่ายไทยจะมีผู้แทนระดับอธิบดีจากกระทรวงคมนาคมเป็นประธาน และมีผู้แทนของกระทรวงที่ดินฯ ของญี่ปุ่นเข้าร่วมและให้คำแนะนำ”

    ไฟเขียว “โครงการพลังสิบ” ทุ่ม 9,619 ล้าน ปั้นเด็กวิทย์-คณิต

    นางสาวไตรศุลี กล่าวว่า ครม. เห็นชอบให้กระทรวงศึกษาธิการดำเนินโครงการพลังสิบ เป็นเวลา 10 ปี ตั้งแต่ปีงบประมาณ 2564-2573 พร้อมอนุมัติกรอบวงเงินงบประมาณรายจ่ายของโครงการพลังสิบเป็นจำนวน 9,619.88 ล้านบาท เพื่อพัฒนาและส่งเสริมศักยภาพผู้เรียน ตลอดจนเป็นการสร้างโอกาสทางการศึกษาให้กับผู้เรียนที่มีความสนใจพิเศษด้านวิทยาศาสตร์ คณิตศาสตร์ และเทคโนโลยี ในทุกพื้นที่ นำไปสู่การสร้างและพัฒนาบุคคลให้เป็นกำลังสำคัญในด้านวิทยาศาสตร์ คณิตศาสตร์ เทคโนโลยี วิจัยและนวัตกรรม ซึ่งจะช่วยเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันของประเทศไทยตามยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี

    นอกจากนี้ยังให้สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) ปรับแผนค่าใช้จ่ายงบประมาณประจำปี2564 สำหรับเป็นค่าใช้จ่ายในการเตรียมการด้านบุคลากรและการพัฒนาโรงเรียนที่จะเข้าร่วมโครงการเพื่อให้สอดคล้องกับแผนการดำเนินงานของโครงการวิทยาศาสตร์พลังสิบ

    สำหรับโครงการพลังสิบนั้น เกิดจากความร่วมมือระหว่างสพฐ. สถาบันส่งเสริมวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี (สสวท.) โรงเรียนมหิดลวิทยานุสรณ์และเครือข่ายมหาวิทยาลัยในสังกัดกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) ร่วมกันจัดทำขึ้น โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อพัฒนาสมรรถนะนักเรียนทางด้านวิทยาศาสตร์ คณิตศาสตร์ และเทคโนโลยี ตั้งแต่ระดับชั้นประถมศึกษาปีที่ 4 จนถึงระดับชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 6 ผ่านกระบวนการของหลักสูตรและเครือข่ายการพัฒนาศักยภาพ มหาวิทยาลัย โรงเรียน ครูผู้สอน และนักเรียน

    ส่วนเป้าหมายของโครงการพลังสิบมีดังนี้คือ หลักสูตรวิทยาศาสตร์พลังสิบมีมาตรฐานและคุณภาพ สามารถเป็นต้นแบบในการจัดการเรียนรู้ด้านวิทยาศาสตร์ คณิตศาสตร์ และเทคโนโลยี โดยปรับรายวิชาเพิ่มเติมเน้นสมรรถนะผู้เรียนเป็นฐาน เพื่อเน้นบูรณาการความรู้ ลดความซ้ำซ้อนในการจัดรายวิชา เน้นทักษะกระบวนการแสวงหาความรู้และสร้างกระบวนการคิดได้ด้วยตนเองอย่างมีประสิทธิภาพ ผ่านกิจกรรมส่งเสริมทักษะการคิดแก้ปัญหา และการคิดอย่างสร้างสรรค์

    ทั้งนี้ มีเป้าหมายที่จะพัฒนาโรงเรียนที่เข้าร่วมโครงการให้มีคุณภาพ และมีศักยภาพเป็นโรงเรียนศูนย์ฝึกอบรมจำนวน 200 โรงเรียน แบ่งเป็นระดับประถมศึกษา 100 โรงเรียน และระดับมัธยมศึกษา 100 โรงเรียน เพื่อให้บริการทางวิชาการแก่โรงเรียนเครือข่ายอีกจำนวน 2,000 โรงเรียน หรืออัตราส่วน 1:10 รวมจำนวนโรงเรียนในโครงการทั้งสิ้น 2,200 โรงเรียน และพัฒนาครูในโรงเรียนที่เข้าร่วมโครงการมากกว่า 10,000 คนต่อปี พัฒนานักเรียนที่มีความสนใจด้านวิทยาศาสตร์ คณิตศาสตร์ และเทคโนโลยี อย่างเต็มศักยภาพมากกว่า 100,000 คนต่อปี นอกจากนี้ยังเปิดโอกาสให้นิสิต นักศึกษา ครุศาสตร์ ศึกษาศาสตร์ ได้ฝึกประสบการณ์วิชาชีพครูในโรงเรียนที่ร่วมโครงการด้วย

    มอบ ตปท.ดำเนินการตามสนธิสัญญาห้ามอาวุธนิวเคลียร์

    นางสาวไตรศุลีกล่าวว่า ครม. เห็นชอบร่างประกาศสำหรับสนธิสัญญาห้ามอาวุธนิวเคลียร์ และให้กระทรวงการต่างประเทศโดยคณะผู้แทนถาวรไทยประจำสหประชาชาติ ณ นครนิวยอร์ก จัดทำและนำส่งประกาศดังกล่าวต่อเลขาธิการสหประชาชาติ โดยหากมีการแก้ไขร่างประกาศในส่วนที่ไม่ใช่สาระสำคัญหรือขัดต่อผลประโยชน์ของไทย อนุมัติให้กระทรวงการต่างประเทศพิจารณาดำเนินการโดยไม่ต้องขอความเห็นชอบจาก ครม. อีก

    สำหรับร่างประกาศสำหรับสนธิสัญญาห้ามอาวุธนิวเคลียร์ดังกล่าว เป็นพันธกรณีที่ไทยต้องดำเนินการตามที่ได้ลงนามและให้สัตยาบันไปแล้วเมื่อวันที่ 20 กันยายน 2560 ซึ่งเป็นหนึ่งในสามประเทศแรกที่ได้ลงนามและให้สัตยาบัน และฮอนดูรัสเป็นรัฐผู้ให้สัตยาบันลำดับที่ 50 เมื่อวันที่ 24 ตุลาคม 2563 ส่งผลให้สนธิสัญญามีผลใช้บังคับเมื่อวันที่ 22 มกราคม 2564 ดังนั้นไทยจึงต้องเร่งเสนอร่างประกาศฯ เพื่อให้เป็นไปตามกรอบระยะเวลาที่กำหนดไว้ในสนธิสัญญาซึ่งกำหนดให้ไทยต้องนำส่งประกาศต่อเลขาธิการสหประชาชาติภายใน 30วัน ซึ่งตรงกับวันที่ 21กุมภาพันธ์ 2564

    “สาระสำคัญของร่างประกาศฯ คือ การแจ้งว่า ไทยไม่เคยเป็นเจ้าของและไม่เป็นเจ้าของครอบครอง หรือควบคุมอาวุธนิวเคลียร์หรือระเบิดนิวเคลียร์อื่นๆ รวมถึงไม่มีอาวุธนิวเคลียร์ หรือระเบิดนิวเคลียร์อื่นๆ ในอาณาเขตของราชอาณาจักรไทย หรือ ณ ที่ใดภายใต้เขตอำนาจหรือการควบคุมของราชอาณาจักรไทยที่รัฐอื่นเป็นเจ้าของ ครอบครอง หรือควบคุมด้วย”

    ตั้ง “ปิยะพันธ์ ปิงเมือง” นั่ง เลขาฯ ปปง.

    นางสาวไตรศุลีกล่าวว่า ครม. มีมติอนุมัติตามที่สำนักงานป้องกันและปราบปรามการฟอกเงินเสนอแต่งตั้ง พลตำรวจตรี ปิยะพันธ์ ปิงเมือง ให้ดำรงตำแหน่งเลขาธิการคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน แทนตำแหน่งที่ว่าง และส่งให้วุฒิสภาพิจารณาให้ความเห็นชอบก่อนคณะรัฐมนตรีนำความกราบบังคมทูลพระกรุณาโปรดเกล้าฯ แต่งตั้งตามมาตรา 57 (1) แห่งพระราชบัญญัติระเบียบข้าราชการพลเรือน พ.ศ. 2551 และมาตรา 42 แห่งพระราชบัญญัติป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน พ.ศ. 2542 และที่แก้ไขเพิ่มเติม

    อ่านมติ ครม. ประจำวันที่ 15 กุมภาพันธ์ 2564เพิ่มเติม