ThaiPublica > Sustainability > Global Issues > อาเซียนประกาศแผนปฏิบัติการระดับภูมิภาครับมือมลพิษจากพลาสติก

อาเซียนประกาศแผนปฏิบัติการระดับภูมิภาครับมือมลพิษจากพลาสติก

28 พฤษภาคม 2021


สมาคมประชาชาติแห่งเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ (อาเซียน) เปิดตัว แผนปฏิบัติการระดับภูมิภาคอาเซียนสำหรับการขจัดขยะในทะเล(ASEAN Regional Action Plan for Combating Marine Debris) ในประเทศสมาชิกอาเซียน (2564 – 2568) ซึ่งวางยุทธศาสตร์ร่วมกันที่เน้นการแก้ปัญหาได้อย่างต่อเนื่องเพื่อจัดการกับขยะพลาสติกในทะเลทั่วทั้งภูมิภาค

แผนปฏิบัตินี้ประกาศใช้ก่อนวันสิ่งแวดล้อมโลกในวันที่ 5 มิถุนายนและวันมหาสมุทรโลกในวันที่ 8 มิถุนายน และแผนปฏิบัติการนี้ถือเป็นก้าวสำคัญของอาเซียนซึ่งแสดงถึงความมุ่งมั่นร่วมกันอีกครั้งและชัดเจนยิ่งขึ้น ผ่านการดำเนินการในระดับภูมิภาค ซึ่งสอดคล้องกับวาระแห่งชาติในการจัดการกับความท้าทายด้านสิ่งแวดล้อม

พลาสติกคิดเป็นประมาณ 80% ของขยะทะเลทั้งหมดในมหาสมุทร สมาชิกอาเซียน 6 ใน 10 ประเทศมีขยะพลาสติกมากกว่า 31 ล้านตันในหนึ่งปี

ขณะที่หลายคนมีส่วนร่วมในความพยายามระดับชาติในการต่อสู้กับขยะพลาสติก แต่ความท้าทายนี้ไม่มีพรมแดน ระบบลำน้ำ แนวชายฝั่งที่เชื่อมต่อกัน และการค้าระหว่างประเทศด้านผลิตภัณฑ์พลาสติกและขยะพลาสติก ทำให้การคุกคามของขยะในทะเลรุนแรงขึ้นทั้งภูมิภาค การเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็วของพลาสติกแบบใช้ครั้งเดียว และอุปกรณ์ป้องกันส่วนบุคคล(personal protective equipment)ในช่วงวิกฤติโควิด-19 ได้เพิ่มแรงกดดันให้กับประเทศต่างๆที่ดำเนินการจัดการขยะพลาสติกในทะเล

“ทะเลและชายฝั่งของเรามีความสำคัญต่อชีวิตและการดำรงชีวิตของเรา อย่างไรก็ตามทะเลและชายฝั่งตกอยู่ภายใต้แรงกดดันมหาศาล โดยเฉพาะจากมลพิษจากพลาสติกในทะเล ซึ่งจะทำร้ายสุขภาพของมนุษย์และทำลายอุตสาหกรรมการท่องเที่ยวและการประมงที่มีความสำคัญ ด้านเศรษฐกิจต่อภูมิภาคนี้” ดาโต๊ะลิม จ๊อก ฮอย เลขาธิการอาเซียนกล่าว “แผนปฏิบัติการระดับภูมิภาคอาเซียนในการจัดการกับขยะทางทะเลในประเทศสมาชิกอาเซียน เป็นพันธสัญญาของการตอบสนองของเราและการรับมือต่อความท้าทายในอนาคต โดยมีจุดมุ่งหมายเพื่อสนับสนุนนโยบายระดับภูมิภาค แพลตฟอร์ม และการจัดสรรทรัพยากรเพื่อเสริมการดำเนินการของประเทศ”

แม้จะมีความท้าทาย แผนปฏิบัติการระดับภูมิภาคจะถูกนำไปใช้ในอีก 5 ปีข้างหน้า โดยเน้นถึงโอกาสมากมายสำหรับประเทศสมาชิกในการเร่งความร่วมมือและประยุกต์ใช้แนวทางแก้ไขระยะยาวที่เกี่ยวข้องกับการใช้พลาสติกและการจัดการพลาสติก แผนดังกล่าวประกอบด้วยการดำเนินการในระดับภูมิภาค 14 ข้อใน 4 เสาหลักของการสนับสนุนและการวางแผนนโยบาย การวิจัย นวัตกรรมและการเสริมสร้างขีดความสามารถ การตระหนักรู้ของสาธารณะ การศึกษาและการเผยแพร่ประชาสัมพันธ์ และการมีส่วนร่วมของภาคเอกชน

“ปริมาณขยะมูลฝอยและขยะทะเลที่เกิดขึ้นทั่วเอเชียตะวันออกเฉียงใต้กำลังเพิ่มสูงขึ้น ควบคู่ไปกับการขยายตัวของเมืองและชนชั้นการบริโภคที่เพิ่มมากขึ้น ผลกระทบในระยะยาวก็เริ่มเกิดขึ้น” นายวราวุธ ศิลปอาชา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงทรัพยากรแห่งชาติและสิ่งแวดล้อมไทยกล่าว

“แผนปฏิบัติการระดับภูมิภาคเพื่อการต่อสู้กับเศษขยะในทะเล ที่ต่อยอดจากปฏิญญากรุงเทพว่าด้วยการต่อสู้กับขยะทางทะเลในภูมิภาคอาเซียนและกรอบการดำเนินการด้านขยะทะเลของอาเซียน จะมีส่วนสำคัญในการช่วยให้อาเซียนบรรลุวิสัยทัศน์นี้และปกป้องสิ่งแวดล้อมทางทะเลที่สำคัญของภูมิภาคให้ยั่งยืนไปอีกหลายชั่วอายุคน การดำเนินการตามแผนปฏิบัติการระดับภูมิภาคนี้ การมีส่วนร่วมและการสนับสนุนจากผู้มีส่วนได้ส่วนเสียจากหลายภาคส่วนเป็นสิ่งสำคัญ”

แผนปฏิบัติการระดับภูมิภาคสนับสนุนความมุ่งมั่นโดยรวมของอาเซียน ในการจัดการกับความท้าทาย โดยการลดพลาสติกที่จะเข้าสู่ระบบ เพิ่มการจัดเก็บและรวบรวมและลดการรั่วไหล รวมทั้งสร้างมูลค่าสำหรับการนำขยะกลับมาใช้ใหม่ การดำเนินการยังรวมถึงแนวทางสำหรับประเทศต่างๆ ในการเลิกใช้พลาสติกแบบใช้ครั้งเดียว ประสานนโยบายระดับภูมิภาคเกี่ยวกับมาตรฐานการรีไซเคิลและบรรจุภัณฑ์พลาสติกและเสริมสร้างการวัดผลและการตรวจสอบขยะในทะเลในระดับภูมิภาค มาตรการที่ประสานกันเหล่านี้จะช่วยยกระดับแพลตฟอร์มนวัตกรรม การลงทุนและการฝึกอบรมระดับภูมิภาค

แผนปฏิบัติการระดับภูมิภาคจัดทำจากการหารือในวงกว้างกับตัวแทนจากอาเซียน ผู้เชี่ยวชาญด้านวิชาการระดับภูมิภาคและภาคเอกชน นอกจากนี้ยังมีการสนับสนุนโดยกลุ่มธนาคารโลกผ่าน PROBLUE กองทุนที่มีผู้บริจาคหลายรายที่ตั้งโดยธนาคารโลก ซึ่งสนับสนุนการพัฒนาและบูรณาการทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่งอย่างยั่งยืนและคุณภาพมหาสมุทร

“ขยะในทะเลเป็นความท้าทายที่ยิ่งใหญ่สำหรับเอเชียตะวันออกและแปซิฟิก และต้องการการดำเนินการร่วมกันที่เข้มแข็ง” นางวิกตอเรีย ควาวา รองประธานประจำภูมิภาคเอเชียตะวันออกและแปซิฟิกของธนาคารโลกกล่าว “ ธนาคารโลกมีความภาคภูมิใจที่ได้ให้การสนับสนุนสำนักเลขาธิการอาเซียนและประเทศสมาชิกอาเซียน ในการจัดทำแผนปฏิบัติการที่ครอบคลุมนี้ เพื่อเป็นกรอบในการดำเนินการร่วมกันและความรับผิดชอบ เรามุ่งมั่นที่จะสนับสนุนการนำไปใช้ให้ประสบความสำเร็จ”

ธนาคารโลกยังได้วิเคราะห์ สนับสนุนนโยบายและลงทุนอย่างครอบคลุมทั่วทั้งภูมิภาค ซึ่งรวมถึงผลการศึกษาที่เปิดตัวในเดือนมีนาคม 2564 เกี่ยวกับศักยภาพทางเศรษฐกิจของการหมุนเวียนของพลาสติกที่ยังมีอีกมาก โดยกว่ามูลค่าของพลาสติกในระบบสูญหายไปมากกว่าร้อยละ 75 เทียบเท่ากับ 6 พันล้านเหรียญสหรัฐต่อปีใน 3 ประเทศ เมื่อมีการทิ้งพลาสติกแบบใช้ครั้งเดียวแทนที่จะนำกลับมาใช้ใหม่และรีไซเคิล