ThaiPublica > Sustainability > Global Issues > เอเชียแปซิฟิกเดินหน้าจัดการขยะพลาสติก – สำรวจการขับเคลื่อนแต่ละประเทศเปลี่ยนพฤติกรรมผู้บริโภค

เอเชียแปซิฟิกเดินหน้าจัดการขยะพลาสติก – สำรวจการขับเคลื่อนแต่ละประเทศเปลี่ยนพฤติกรรมผู้บริโภค

19 กันยายน 2018


ที่มาภาพ: https://asia.nikkei.com/Spotlight/Cover-Story/Asian-plastic-is-choking-the-world-s-oceans
หลายประเทศและภูมิภาคในเอเชีย-แปซิฟิก กำลังร่วมกันทำศึกลดขยะพลาสติกซึ่งกำลังเป็นที่วิตกกันมากถึงผลกระทบของขยะไมโครพลาสติกที่สร้างมลภาวะในทะเล และจากความเคลื่อนไหวของหลายประเทศได้แสดงให้เห็นถึงความตระหนักต่อผลเสียที่จะเกิดขึ้นกับสิ่งแวดล้อมจากขยะพลาสติกที่ไหลลงสู่ทะเล ประกอบกับหลายประเทศในภูมิภาคนี้เป็นประเทศที่ติดทะเล จึงเป็นเหตุผลสำคัญของเอเชีย-แปซิฟิกที่จะส่งเสริมการลดการใช้พลาสติก

การที่เอเชีย-แปซิฟิกหันมาเร่งดำเนินการจำกัดการใช้พลาสติกชนิดใช้แล้วทิ้ง เป็นผลจากคำเตือนเรื่องภัยไมโครพลาสติกที่เพิ่มขึ้นมาก ซึ่งไมโครพลาสติกนี้คือ เศษพลาสติกขนาดเล็กมากที่แตกตัวออกจากถุงพลาสติก หลอดดูดพลาสติก แต่ไม่ย่อยสลายและลอยตัวอยู่ในน้ำทะเล

ลมได้พัดพาขยะพลาสติกที่ทิ้งบนบกไปสู่แม่น้ำขณะที่กระแสน้ำฝนได้ทำให้ขยะพลาสติกไหลสู่ทะเล พลาสติกเหล่านี้ได้แตกออกเป็นชิ้นเล็กชิ้นน้อย ซึ่งมีขนาดเล็กกว่า 5 มิลลิเมตร และเข้าไปอยู่ในตัวปลาหรือหอยได้

นอกเหนือจากความเสียหายของระบบนิเวศทางทะเล แล้วไมโครพลาสติกยังมีอันตรายต่อสุขภาพของมนุษย์ที่บริโภคปลาและสัตว์น้ำประเภทอื่นๆ

รายงาน Single-Use Plastics: A Roadmap for Sustainabilit ของโครงการสิ่งแวดล้อมแห่งสหประชาชาติ (United Nations Environment Program) มีข้อมูลว่า ขยะที่ทิ้งกันส่วนใหญ่ในโลกเกิดในฝั่งเอเชีย ขณะที่อเมริกา ญี่ปุ่น สหภาพยุโรป เป็นผู้ผลิตบรรจุภัณฑ์พลาสติกรายใหญ่ของโลกเมื่อเทียบจากจำนวนต่อหัวประชากร

รายงานระบุว่า มี 67 ประเทศและเขตปกครองในโลกได้ออกกฎระเบียบสำหรับการใช้พลาสติก เช่น การห้ามใช้ หรือเก็บภาษีถุงพลาสติกชนิดใช้ครั้งเดียวและโฟม ประกอบด้วย 25 ประเทศในอัฟริกา ที่ออกกฎการใช้พลาสติก ส่วนในยุโรปมี 22 ประเทศ แต่ในเอเชียมีเพียง 8 ประเทศ และมี 5 ประเทศในโอเชียเนีย

ในเอเชีย การบังคับใช้กฎระเบียบค่อนข้างอ่อนแอ และยังคงมีการใช้พลาสติกชนิดใช้แล้วทิ้งกันแพร่หลายและไม่มีการจัดการที่เหมาะสม ขณะที่ในกลุ่มประเทศอุตสาหกรรม ความพยายามที่จะรีไซเคิลพลาสติกมีความคืบหน้า แต่ยังมีขยะพลาสติกในโลกราว 80% ที่ฝังกลบ และในสัดส่วนอีก 12% มีการเผา อีก 9% เท่านั้นที่นำไปรีไซเคิล

ประเทศในเอเชียที่ก่อปัญหาขยะพลาสติกจำนวนมากรวม จีน อินโดนีเซีย ไทย เวียดนามอยู่ด้วย ซึ่งปริมาณขยะพลาสติกที่ทิ้งในประเทศเหล่านี้อาจจะเพิ่มขึ้นในอีกหลายปีข้างหน้า หากเศรษฐกิจเติบโตแข็งแกร่งต่อเนื่อง

แต่ละปีขยะพลาสติกที่ไหลลงทะเลมีปริมาณสูงถึง 8 ล้านตัน หากไม่มีกระบวนการจัดการที่มีประสิทธิ ภาพ เพื่อลดปริมาณขยะพลาสติกที่ไหลลงทะเล ภายในปี 2050 ปริมาณขยะจะล้นทะเลและมากกว่าจำนวนปลาในทะเล ถ้าเทียบเป็นน้ำหนักออกมา และเมื่อไหลลงน้ำแล้ว พลาสติกที่ย่อยสลายไม่ได้นี้จะถูกกระแสน้ำในมหาสมุทรพัดพาไปไกล

การกำจัดขยะพลาสติกไม่มีเรื่องง่ายและยังไม่มีวิธีใดที่มีประสิทธิภาพที่จะกำจัดได้หมด ดังนั้นการลดการใช้ในชีวิตประจำวันจึงมีความสำคัญอย่างยิ่ง

ประเทศและองค์กรนานาชาติที่หันให้ความสำคัญเพื่อจัดการกับปัญหานี้เพิ่มจำนวนมากขึ้น ในเดือนพฤษภาคม คณะกรรมาธิการสหภาพยุโรปได้เสนอหลักเกณฑ์ใหม่เพื่อให้แนวปฏิบัติในการลดการใช้ถุงพลาสติกชนิดใช้แล้ว 10 ประเภททั่วทั้งอียู

อย่างไรก็ตาม หากไม่มีการดำเนินการจากแต่ละประเทศและการรณรงค์ให้เป็นแคมเปญระดับโลกจากองค์กรนานาชาติที่ต้องอาศัยความร่วมมือระหว่างประเทศและข้อตกลงร่วมกันในบางด้านแล้ว ผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมจากขยะพลาสติกก็จะเสียหายมากขึ้นไปอีก

  • โลกจับมือเร่งแก้ขยะพลาสติก (ตอนที่1) : เคนยาใช้กฎหมายแรงสุด – ไต้หวันเดินหน้าสู่ Plastic-free Island
  • โลกจับมือเร่งแก้ขยะพลาสติก (ตอนที่ 2): จีนห้ามนำเข้าขยะรีไซเคิล – อังกฤษประกาศแผน 25 ปี – EU วางยุทธศาสตร์ใหม่
  • เอเชียยืนแถวหน้าของโลกจัดการขยะ

    แม้หลายประเทศเป็นผู้ทิ้งขยะพลาสติก อีกหลายประเทศของเอเชียก็ให้ความสำคัญกับปัญหาขยะ มีการจัดการกับมลภาวะขยะพลาสติกในระดับแถวหน้าของโลก แต่ก็มีบางประเทศที่ไม่ประสบความสำเร็จเท่าที่ควร

  • บังกลาเทศเป็นประเทศแรกของโลก
  • ในปี 2002 ได้ห้ามใช้ถุงพลาสติกที่ผลิตจากโพลีเอทิลีนซึ่งเป็นสาเหตุสำคัญทำให้ท่อน้ำอุดตันและเกิดน้ำท่วมหนักในปี 1988 และ 1998 หลังจากที่พบว่ามีการใช้กันมาถึงวันละมากกว่า 9 ล้านใบเฉพาะในเมืองหลวงและมีเพียง 10% เท่านั้นที่นำไปฝังกลบและทิ้งในพื้นที่สำหรับทิ้งขยะ ส่วนที่เหลือไม่มีการจัดการที่ดี มาตรการนี้ในช่วงแรกได้รับการตอบรับอย่างดีทั่วประเทศเพราะรัฐบาลยังมีมาตรการลงโทษหากฝ่าฝืนด้วยโทษปรับสูงสุดถึง 71 ดอลลาร์และจำคุกสูงสุดนาน 6 เดือน แต่ข้อมูลของ UNEP พบว่าในปีหลังๆ การใช้ถุงพลาสติกในบังกลาเทศเริ่มเพิ่มขึ้นในตลาดสินค้าอาหาร เนื่องจากปัญหาในการบังคับใช้และขาดทางเลือกอื่นที่มีประสิทธิภาพ

  • จีนผลิตถุงพลาสติกย่อยสลายในน้ำ
  • มีการดำเนินการทั้งในระดับรัฐบาลท้องถิ่นและรัฐบาลกลาง โดในปี 1999 รัฐบาลได้สั่งห้ามผลิตและใช้ภาชนะใส่อาหารขนิดใช้ครั้งเดียว แต่การห้ามนั้นไม่มีการบังคับใช้อย่างมีประสิทธิภาพทำให้ต้องยกเลิกข้อห้ามในปี 2013

    ก่อนปี 2008 จีนมีการใช้ถุงพลาสติกในจีนสูงถึง 3 พันล้านใบต่อวัน และกลายเป็นขยะวันละมากกว่า 3 ล้านตันต่อปี จากนั้นในปี 2008 รัฐบาลจีนห้ามใช้ถุงพลาสติกที่บางกว่า 25 ไมครอน ส่วนถุงที่หนากว่านี้จะเก็บภาษี รวมทั้งส่งเสริมให้ใช้ถุงผ้า แต่ก็ยกเว้นให้สำหรับใช้ถุงพลาสติกสำหรับใส่อาหารประเภทเนื้อสัตว์ดิบ หรือก๋วยเตี๋ยวน้ำ

    หลังจากใช้กฎหมายบังคับครบ 1 ปีปริมาณถุงพลาสติกที่ห้างสรรพสินค้าสินค้าให้ลูกค้าลดลงเฉลี่ย 70% ลดการใช้ถุงพลาสติกลงได้ 40,000 ล้านใบ และเมื่อครบ 7 ปีปริมาณถุงพลาสติกที่ใช้ตามห้าง สรรพสินค้า และซูเปอร์มาร์เก็ตลดลง 2 ใน 3 หรือลดการใช้ลง 1.4 พันล้านใบ อย่างไรก็ตาม ในชนบทและพื้นที่เกษตรยังมีการใช้ถุงพลาสติกเป็นปกติ เพราะไม่มีการบังคับมากนัก

    ในระดับท้องถิ่น มณฑลจี้หลินในทางตะวันออกเฉียงเหนือของจีน แหล่งผลิตข้าวโพดและผลิตภัณฑ์จากข้าวโพดรายใหญ่ ซึ่งมีผลให้เกิดขยะชีวภาพ ได้ห้ามใช้ถุงพลาสติกและภาชนะใส่อาหารประเภทที่ไม่ย่อยและเป็นชนิดใช้ครั้งเดียวเมื่อปี 2015 และส่งเสริมการแปรรูปขยะชีวภาพจากข้าวโพดเป็นพลาสติกที่ย่อยสลายได้

    จีนยังได้เดินหน้าจัดการกับขยะพลาสติกต่อเนื่อง โดยเมื่อต้นปี 2018 ได้ห้ามการนำเข้าขยะพลาสติก ซึ่งยังไม่สามารถประเมินผลกระทบต่ออุตสาหกรรมรีไซเคิลของโลกได้ และล่าสุดในวันที่ 3 สิงหาคม บริษัทกว่างตง โพลีแมต (Guangdong Polymat) ของจีนที่ร่วมกับบริษัท โซลูแบก (Solu Bag) ของชิลี ได้เปิดตัวถุงพลาสติกชนิดละลายน้ำได้ขึ้น หลังจากการประกาศห้ามใช้ถุงพลาสติกของชิลีมีผลบังคับใช้

    ถุงพลาสติกชนิดย่อยสลายในน้ำได้นี้ผลิตจากโพลีไวนิลแอลกอฮออล์ (โพลิเมอร์สังเคราะห์ที่ไม่มีสารพิษ ไม่มีกลิ่น และละลายน้ำได้) ละลายน้ำในเวลา 5 นาที ไม่มีกลิ่น ไม่มีพิษ และนิยมใช้ผลิตอุปกรณ์สำหรับกีฬาตกปลาน้ำจืด

    ในการแถลงข่าว ผู้บริหารได้ดื่มน้ำที่ถุงละลายไปแล้ว เพื่อแสดงให้เห็นว่ามีความปลอดภัย

    ที่มาภาพ: https://twitter.com/cgtnofficial/status/1028530691225468928

    คาดว่าถุงพลาสติกละลายน้ำได้นี้จะผลิตออกสู่ตลาดได้ภายในสิ้นปีนี้ในเมืองฉิงหยวน มณฑลกว่างตง ซึ่งอยู่ห่างกวางโจวเพียง 1 ชั่วโมงหากเดินทางด้วยรถยนต์

    นอกจากนี้จีนยังใช้วิธีการจูงใจผู้บริโภคให้ตระหนักถึงความสำคัญของการรีไซเคิล โดยในกรุงปักกิ่งได้มีการติดตั้งเครื่องจำหน่ายบัตรโดย สารพิเศษจำนวน 34 ตู้ที่สถานีรถไฟใต้ดิน เมื่อผู้โดยสารนำขวดพลาสติกเปล่าใส่ลงในช่อง เครื่องจะทำการอ่านมูลค่าพลาสติกเพื่อตีออกมาเป็นเงินตั้งแต่ 5-15 เซนต์และจะจ่ายเงินค่าโดยสาร

  • ไต้หวัน ผู้นำด้านจัดการพลาสติกของเอเชีย
  • ไต้หวันขึ้นชื่อว่าเป็นผู้นำในการจัดการกับขยะพลาสติกของเอเชีย เพราะดำเนินการอย่างจริงจังต่อเนื่องมานาน และล่าสุดต้นปี 2018 ได้ประกาศวิสัยทัศน์เป็น Plastic-Free Island จะห้ามการใช้ผลิตภัณฑ์พลาสติกแบบใช้ครั้งเดียวภายในปี 2030 ทั้งถุงช้อปปิ้ง จานรองแก้ว หลอดดูด ผู้บริโภคจะต้องจ่ายค่าปรับหากพบว่าใช้ผลิตภัณฑ์เหล่านี้ โดยจะเริ่มมาตรการนี้ในปี 2025

  • ออสเตรเลีย-นิวซีแลนด์เริ่มห้ามปี 2019
  • ในออสเตรเลีย รัฐควีนส์แลนด์และรัฐทางตะวันตกได้เริ่มห้ามการใช้ถุงพลาสติกแบบใช้แล้วทิ้งในเดือนกรกฎาคม ส่วนรัฐวิกตอเรีย ที่ตั้งของเมืองเมลเบิร์น ประกาศที่จะเริ่มใช้มาตรการเดียวกันในปี 2019

    ส่วนนิวซีแลนด์ เมื่อวันที่ 10 สิงหาคม 2561 นายกรัฐมนตรีนิวซีแลนด์ นางเจซินดา อาร์เดิร์น ได้แสดงให้เห็นถึงความเร่งด่วนและขนาดของปัญหา โดยกล่าวว่า “ทุกปีในนิวซีแลนด์เราใช้ถึงพลาสติกชนิดใช้แล้วทิ้งถึงร้อยล้านกว่าใบ ซึ่งขยะจำนวนมากจากภูขาขยะถุงพลาสติกนี้ ได้ไหลลงไปทะเล ที่ทำลายชายฝั่งอันสวยงาม มีผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมทางทะเล เป็นสาเหตุของผลกระทบต่อสิ่งมีชีวิตทางทะเล และทั้งหมดนี้อาจจะไม่เกิดก็ได้ หากผู้บริโภคและธุรกิจเลือกทางเลือกที่ดีกว่า”

    นายกรัฐมนตรีนิวซีแลนด์ยังได้เชิญให้ประชาชนเสนอความคิดเห็นที่มีต่อการกำหนดวันเริ่มต้นกระบวนการลดการใช้ถุงพลาสติกและการกำหนดระยะเวลาให้ปรับตัว รัฐบาลนิวซีแลนด์จะศึกษาในรายละเอียดและกำหนดเวลาที่ชัดเจนทั้งการเริ่มต้นและระยะเวลาปรับตัว หลังจากการทำประชาพิจารณ์

    นายกรัฐมนตรีนิวซีแลนด์ เจซินดา อาร์เดิร์น ที่มาภาพ: https://asia.nikkei.com/Spotlight/Environment/Asian-economies-join-the-anti-plastic-crusade

  • อินเดีย ภาคประชาชนขับเคลื่อน
  • ปี 2016 อินเดียได้ประกาศใช้มาตรการแบบเดียวกับจีน คือห้ามใช้ถุงพลาสติกที่บางกว่า 25 มิลลิเมตร แต่ยกเว้นถุงพลาสติกที่ย่อยสลายได้ ต่อมาเดือนมิถุนายน 2018 นายกรัฐมนตรี นเรนทระ โมดี ประกาศแผนที่จะห้ามใช้ถุงพลาสติกชนิดใช้ครั้งเดียวภายในปี 2022

    แต่สิ่งที่มีผลต่อการจัดการขยะพลาสติกของอินเดียคือ การเริ่มต้นของภาคประชาชน ที่จุดประกายโดยอาฟรอซ ชาห์ นักกฎหมายและนักอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมหนุ่มจากนครมุมไบ ที่ทนไม่ได้เมื่อเห็นชายหาด Versova อันสวยงามและมีป่าชายเลนอุดมสมบูรณ์กลายเป็นที่ทิ้งขยะ จึงได้ร่วมกับเพื่อนบ้านวัย 84 ปีทำความสะอาดชายหาดในเดือนตุลาคม 2015 และได้กลายมาเป็นแรงบันดาลใจให้กับอาสาสมัครอีกหลายพันคนมาร่วมกันทำความสะอาดชายหาดในวันที่อาฟรอซเรียกว่า มีนัดกับมหาสมุทร

    อาฟรอซเริ่มเดินเคาะประตูบ้านชาวบ้านที่อยู่ในย่านนั้นพร้อมให้ข้อมูลถึงผลกระทบจากเศษขยะในทะเล ในเวลาเพียง 2 ปี ด้วยการใช้สองเมือง ผสมกับรถแทร็กเตอร์และอุปกรณ์ขุด อาสาสมัครเหล่านี้สามารถกำจัดขยะได้ถึง 13,000 ตัน ส่วนใหญ่เป็นพลาสติก และส่งผลให้ปี 2018 นี้เป็นครั้งแรกในรอบมากกว่า 20 ปีที่เต่าหญ้าซึ่งเป็นเต่าพันธุ์หายากกลับมาวางไข่ที่ชายหาดนี้อีกครั้ง

    อย่างไรก็ตาม อินเดียยังต้องดำเนินการอีกหลายด้านเพื่อจัดการกับปัญหาขยะพลาสติก แม้จะประสบความสำเร็จในการกำจัดขยะและฟื้นฟูชายฝั่ง เพราะผลการศึกษาพบว่าขยะพลาสติกในมุมไบส่วนใหญ่มาจากการทิ้งขยะของประชาชนลงในลำธารทั้ง 9 สาย กระแสน้ำและกระแสลมก็พัดพาขยะลงสู่ทะเล โดยเฉพาะในหน้ามรสุม

    ที่มาภาพ: http://www.mumbaidreamcity.com/afroz-shah-suspends-mumbai-beach-clean-up/

    ความสำเร็จในการฟื้นฟูชายหาดในมุมไบ อาจจะเป็นเครื่องมือที่มีพลังในการที่สร้างความผูกพันกับสิ่งแวดล้อมในเชิงบวกให้กับชุมชน แต่เพื่อให้สิ่งเหล่านี้มีความต่อเนื่องและยั่งยืนและให้ได้ผล จำเป็นที่จะต้องแยกแยะให้ได้ว่าสาเหตุของปัญหาคืออะไรและก็จัดการแก้ไขที่ต้นเหตุ จากหลายตัวอย่างของหลายประเทศพบว่าได้ใช้การปรับปรุงระบบจัดการขยะให้ดีขึ้นและสร้างการรับรู้ตระหนักถึงผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมให้กับชุมชน

    อาเซียนบริโภคโตจนจัดการไม่ทัน

    รายงานของธนาคารโลก เรื่อง Planet over Plastic: Addressing East Asia’s Growing Environmental Crisis ที่เผยแพร่ในวันที่ 8 มิถุนายน 2018 ซึ่งเป็นวันมหาสมุทรโลก (World Ocean Day) ให้ข้อมูลว่า จีน อินโดนีเซีย ฟิลิปปินส์ และเวียดนาม ซึ่งอยู่ในกลุ่มเอเชียตะวันออก เป็นประเทศที่ทิ้งขยะพลาสติกมากกว่าภูมิภาคอื่นของโลก

    โดย 80% ของขยะที่ไหลลงทะเลมาจากการทิ้งขยะบนผืนดินไหลผ่านแม่น้ำและสายน้ำ ลงสู่แม่น้ำโขงตอนล่างที่ไหลผ่านประเทศไทย ลาว กัมพูชา และเวียดนาม เพราะเกิดจากระบบการจัดการขยะที่ไม่มีประสิทธิภาพ แม่น้ำแยงซีเกียงของจีนพัดพาขยะพลาสติกราว 55% ของปริมาณขยะพลาสติก 2.75 ล้านตันที่ไหลสู่มหาสมุทรแต่ละปี เช่นเดียวกับแม่น้ำในอินโดนีเซียที่พัดพาขยะพลาสติกลงสู่ทะเลจำนวนมาก

    ความเสียหายต่อเศรษฐกิจที่เกิดจากขยะพลาสติกมีจำนวนมหาศาล เพียงปีเดียวระบบนิเวศทางทะเลของโลกได้รับความเสียหายถึง 13 พันล้านดอลลาร์ ขณะที่กลุ่มประเทศ APEC ประเมินความเสียหายต่อการท่องเที่ยว การประมง และการเดินเรือของภูมิภาคนี้ไว้ราว 1.3 พันล้านดอลลาร์

    ปัจจัยหลักก็คือการจัดการกับขยะแข็งที่ไม่เพียงพอ เช่นเดียวกับการจัดกับแบบแผนของการบริโภค การผลิต การขยายตัวของเมือง การเติบโตของเศรษฐกิจ แต่ก็มีโอกาสอีกมากที่จะประสานกันและหาทางแก้ไข ซึ่งองค์กรในภูมิภาคสามารถร่วมมือกันและกระตุ้นความสนใจ รวมทั้งศักยภาพทางการเงินของภาคเอกชนซึ่งช่วยให้เกิดการประหยัดต่อขนาดทั้งด้านต้นทุน เทคโนโลยี และความรู้

    ทางด้านรายงาน Tackling Asia’s plastic problem ให้ข้อมูลที่สอดคล้องกับธนาคารโลกว่า 5 ประเทศในเอเชีย คือ จีน ไทย อินโดนีเซีย เวียดนามและฟิลิปปินส์สร้างขยะพลาสติกรวมกันมากกว่าครึ่งหนึ่งของขยะพลาสติกในโลก

    รายงานนี้จัดทำขึ้นเพื่อสรุปข้อมูลจากการเสวนาปิดที่จัดขึ้นโดยองค์การกองทุนสัตว์ป่าโลกสากล (World Wide Fund for Nature: WWF) ในสิงคโปร์เมื่อเดือนมกราคมที่ผ่านมาถึงแนวทางที่จะจัดการกับขยะพลาสติก ที่กำลังกลายเป็นปัญหาใหญ่ของหลายประเทศ เพราะการบริโภคเพิ่มมากขึ้นจนเกินความสามารถที่จะจัดการกับขยะที่ล้นเมือง ซึ่งผู้ที่เข้าร่วมเสวนามีทั้งผู้นำในระดับรัฐบาล ภาคธุรกิจและภาคสังคม

    สัดส่วน 1 ใน 4 ของปลาที่จับได้จากทะเลจะพบว่ามีเศษขยะพลาสติกปนเปื้อน ทั้งๆ ที่เป็นปัญหาที่เกิดขึ้นในผืนดิน ปริมาณ 3 ใน 4 ของขยะพลาสติกในท้องทะเลและมหาสมุทรไหลมาจากแม่น้ำ 10 สายในเอเชีย ในปริมาณที่สูงถึง 2.4 ล้านตันต่อปี ส่วนที่เหลือมาจากการทิ้งขยะลงทะเลโดยตรงหรือรั่วไหลจากแหล่งทิ้งขยะและจากการเผาขยะ

    วงเสวนาได้ถกเถียงถึงแนวทางที่เหมาะสมว่า ควรจะเป็นการใช้กฎหมายบังคับ ห้ามใช้หรือเก็บภาษี หรือควรปรับเปลี่ยนพฤติกรรมผู้บริโภค ซึ่งก็พบว่าปัจจุบันมีการใช้ทั้งสองแนวทาง โดยในโลกนี้มีประเทศที่ห้ามใช้ถุงพลาสติกมีจำนวน 22 ประเทศ และออสเตรเลียกำลังจะเริ่มดำเนินการหลังจากที่ทดลองในบางพื้นที่พบว่าสามารถลดมลภาวะขยะพลาสติกได้

    ส่วนการปรับเปลี่ยนพฤติกรรมผู้บริโภคนั้น การส่งเสริมด้วยหลัก 3 Rs คือ ลด (Reduce) นำกลับมาใช้ใหม่ (Reuse) และนำกลับมาแปรรูป (Recycle) ในประเทศพัฒนาแล้วค่อนข้างทำได้ยากเพราะไม่ได้อยู่ในความตระหนักของผู้บริโภค เนื่องจากมีระบบการจัดการกับขยะที่ดี เป็นประเทศที่สะอาด ทำให้ผู้บริโภคมีความรู้สึกว่าไม่เกี่ยวข้องกับตัวเอง เช่น สิงคโปร์ แม้จะมีการใช้ถุงพลาสติกจำนวนมาก แต่ก็ไม่คิดว่าขยะพลาสติกเป็นปัญหา

    ผู้ร่วมเสวนารายหนึ่งให้ความเห็นว่า การจัดการกับขยะควรที่จะสร้างแรงกระเพื่อมในทางบวก เพื่อให้การรีไซเคิลเข้าไปอยู่ในไลฟ์สไตล์ของผู้บริโภค ขณะที่การใช้กฎหมายทำให้คนปฏิบัติตามง่ายกว่า โดยผู้บริโภคควรที่จะเข้าใจและตระหนักถึงคุณค่าของพลาสติกในสถานะที่เป็นทรัพยากรชนิดหนึ่ง แต่การรีไซเคิลนั้นควรทำได้ง่าย สะดวกและได้ประโยชน์ ยกตัวอย่างเช่น โครงการ Container Deposit Schemes ในสหรัฐอเมริกาและออสเตรเลียที่ประสบความสำเร็จลดขวดพลาสติกบริเวณชายฝั่งลงได้ราว 40% (โครงการนี้ให้ประชาชนซึ่งนำขวดพลาสติกเครื่องดื่มมาทิ้งในที่ที่จัดไว้ให้แล้วจะได้เงินค่าขวดคืนไปจำนวนหนึ่ง ออสเตรเลียให้เงินคืน 10 เซนต์ เพิ่มขึ้นจาก 5 เซนต์เมื่อปี 2008)

  • สิงคโปร์ไม่ห้าม-รีไซเคิลต่ำ
  • รัฐบาลไม่ได้ห้ามการใช้หรือเก็บภาษีถุงพลาสติก เนื่องจากประชาชนส่วนใหญ่ 80% อาศัยในตึกสูง จำเป็นที่จะต้องใช้ถุงพลาสติกในการใส่ขยะเปียกเพื่อทิ้งลงมาทางช่องทิ้งขยะ แต่ก็ส่งเสริมให้ประชาชนจำกัดการใช้ถุงพลาสติก ใช้เท่าที่จำเป็น ส่วนขยะพลาสติกที่ไม่สามารถรีไซเคิลได้จะนำไปเผาเพื่อผลิตพลังงาน จึงเป็นเหตุผลว่าทำไมการรีไซเคิลในสิงคโปร์จึงมีอัตราต่ำเพียง 7%

    อย่างไรก็ตาม ไม่มีข้อมูลว่ามีการห้ามใช้หรือเก็บภาษีพลาสติกรูปแบบอื่นที่ใช้ประโยชน์ได้น้อย และเป็นพลาสติกชนิดใช้แล้วทิ้ง ที่สร้างผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมอย่างมาก เช่น หลอดดูด ที่คนกาแฟ หรือแผ่นฟิล์มสำหรับหุ้มผลไม้ในซูเปอร์มาร์เก็ต

    ผู้ร่วมเสวนารายหนึ่งเสนอให้สิงคโปร์เก็บภาษีจากพลาสติกชนิดใช้แล้วทิ้ง เพราะเป็นพลาสติกที่ไม่จำเป็นเพื่อเป็นการให้ความรู้แก่ผู้บริโภค และตระหนักถึงผลกระทบของพลาสติกต่อสิ่งแวดล้อม จำเป็นที่ต้องลดการใช้

  • อินโดนีเซียตั้งเป้าลดขยะลง 70% ในปี 2025
  • ใช้ขวดพลาสติกจ่ายค่ารถบัส
  • เช่นเดียวกับหลายประเทศในโลก อินโดนีเซียได้ประกาศแผนลดขยะทางทะเล (National Marine Debris Action Plan) ซึ่งมีเป้าหมายที่จะลดขยะพลาสติกในทะเลลงให้ได้ 70% ภายในปี 2025 โดยประธานาธิบดีโจโค วิโดโด ประกาศว่าจะใช้จะงบประมาณราว 1 พันล้านดอลลาร์ในที่ประชุมกลุ่มประเทศ G-20

    อินโดนีเซียทิ้งขยะพลาสติกราว 187.2 ล้านตันต่อปี และกลายเป็นประเทศที่สร้างภาวะแวดล้อมทางทะเลรายใหญ่อันดับสองของโลก รองจากจีน เพราะแม่น้ำ 4 สายของอินโดนีเซียติดอยู่ใน 20 อันดับแรกของโลกที่แม่น้ำที่มีขยะพลาสติกมากสุด ซึ่งเกิดจากการบริหารจัดการที่ผิดพลาด

    งานวิจัยล่าสุดที่ตีพิมพ์ในวารสาร Nature Communications ระบุว่า แต่ละปีปริมาณขยะราว 1.15-2.41 ล้านตันไหลสู่ทะเลหรือมหาสมุทรมาจากแม่น้ำ ซึ่งในจำนวนนี้มาจากอินโดนีเซียถึง 200,000 ตัน ซึ่งถูกกระแสน้ำในแม่น้ำพัดพามา โดยเฉพาะจากพื้นที่ชวาและสุมาตรา

    ในพื้นที่หลายเมืองหลายจังหวัดของอินโดนีเซีย มีความเคลื่อนไหวภาคสังคมที่มุ่งให้ความรู้แก่ประชาชน เพื่อให้ตระหนักถึงผลเสียที่มีต่อสิ่งแวดล้อม ซึ่งมีผลกระทบต่อเนื่องต่อสุขอนามัยและความปลอดภัยของประชาชนเอง รวมทั้งได้มีการก่อตั้งโครงการ “Garbage Bank” เปิดให้ประชาชนที่นำขวดพลาสติกหรือถุงพลาสติกมาทิ้งนั้นได้รับผลกลับคืนเป็นเงิน ขณะเดียวกัน โครงการนี้ยังมอบทุนการศึกษาให้เด็กๆ ในชุมชนอีกด้วย

    ขณะที่ประเทศหมู่เกาะจำนวนหนึ่งได้ใช้วิธีการห้ามและเก็บภาษีถุงพลาสติกและขวดพลาสติก ตรี ไรสมะห์รินี นายกเทศมนตรีหญิงแห่งเมืองสุราบายาของอินโดนีเซีย เลือกใช้วิธีการปรับเปลี่ยนพฤติกรรมของผู้บริโภค โดยเดือนเมษายนที่ผ่านมาในวันเปิดตัวรถบัสปรับอากาศรุ่นใหม่สำหรับซิตี้ทัวร์ของเมือง ที่นอกจากสะดวกสำหรับการขึ้นลงทั้งผู้สูงวัย คนพิการ คนท้อง แล้ว ยังชักชวนให้ประชาชนใช้ขวดพลาสติกมาจ่ายค่ารถเมล์แทนการใช้เงินสดอีกด้วย เพียงแค่ใส่ขวดพลาสติก 3 ใบลงในถังที่เตรียมไว้ตามป้ายรถเมล์ที่กำหนด หรือจุดรับพลาสติกรีไซเคิลทั่วเมือง ก็จะได้รับตั๋วรถบัสไป

    นายกเทศมนตรีสุราบายาเปิดตัวซิตี้บัส ที่ใช้ขวดพลาสติกจ่ายค่ารถได้
    ที่มาภาพ: https://
    asiancorrespondent.com/2018/05/in-indonesia-commuters-pay-for-the-bus-with-plastic-waste/

    ตรี ไรสมะห์รินี กล่าวว่า ประชาชนสามารถโดยสารรถบัสได้ฟรี 2 ชั่วโมง เพราะเป็นส่วนหนึ่งของเป้าหมายรัฐบาลที่ต้องการลดจำนวนรถยนต์เอกชนในท้องถนนลงจาก 75% ของรถที่วิ่งบนถนนทั้งหมดเป็น 50% เท่ากับรถสาธารณะ และยังสอดคล้องกับเป้าหมายของเมืองที่ต้องการแปรรูปพลาสติกเป็นผลิตภัณฑ์อื่นที่มีประโยชน์ใช้งานได้

    การนำรถบัสซึ่งเป็นเครื่องมือทางวัฒนธรรม มาใช้ในการจัดการกับประเด็นสิ่งแวดล้อมแทนการใช้กฎหมายบังคับ จะสร้างการรับรู้ให้กับประชาชน ตระหนักถึงความสำคัญในการรักษาสิ่งแวดล้อมได้ดีกว่า เพราะประชาชนไม่รู้สึกว่าถูกบังคับและจะนำไปสู่ความสมัครใจ

  • ใช้ขยะพลาสติกถมถนน
  • นอกจากการให้ความรู้แก่ประชาชนรวมทั้งการจัดตั้งโครงการนำร่องเก็บเงินจากการใช้ถุงพลาสติกแล้ว ในปี 2017 รัฐบาลอินโดนีเซียยังนำขยะพลาสติกมาทำถนน โดยได้ปั่นให้เป็นเส้น หลอมและผสมเข้ากับส่วนผสมอื่น ซึ่งจะช่วยปัญหาขยะค้างท่อระบายน้ำ หรือต้องจัดการฝังกลบ อย่างไรก็ตาม นักอนุรักษ์นิยมไม่เห็นด้วยกับวิธีนี้เพราะไม่ใช่เป็นการแก้ปัญหาอย่างแท้จริง เนื่องจากมองว่าปัญหาคือการใช้พลาสติกชนิดใช้แล้วทิ้งมากเกินไป

    อินโดนีเซียได้ทดลองใช้พลาสติกทำถนนเส้นแรก ที่มหาวิทยาลัยอุทยาน (Udayana) ที่บาหลี ความยาว 0.43 ไมล์ เมื่อวันที่ 29 กรกฎาคม 2017 และรัฐบาลยังได้ขยายไปสู่เส้นทางอื่น ในจาการ์ตา สุราบายา และเบกาสี

    โครงการนี้เป็นความร่วมมือระหว่างกระทรวงกิจการทางทะเลและกระทรวงมหาดไทยและเคหะ ซึ่งทำงานร่วมกับ Indonesian Plastic Recycling Association (Adupi) ในการเก็บรวบรวมขยะและจัดการแยกชยะใน 16 เมืองใหญ่ทั่วประเทศ ทุกๆ ความยาว 1 กิโลเมตร ที่มีความกว้าง 7 เมตร ต้องใช้พลาสติกผสมราว 2.5-5.5 ตัน

    คาดการณ์กันว่า ปี 2019 ขยะพลาสติกในอินโดนีเซียจะมีปริมาณ 9.52 ล้านตัน หรือ 14% ของขยะทั้งหมด ซึ่งเมื่อคำนวณจากพลาสติกที่ต้องใช้ต่อ 1 กิโลเมตรแล้ว ขยะพลาสติกในอินโดนีเซียจะทำถนนได้ถึง 190,000 กิโลเมตร

    ที่มาภาพ: https://news.mongabay.com/2017/08/plastic-fantastic-indonesia-plans-to-turn-waste-into-road-tar/

    ถนนที่มีส่วนผสมของพลาสติกยังมีเพิ่มอัตราการเกาะของพื้นผิวถนนด้วย เพราะเหนียวว่ายางมะตอยหรือแอสฟัลท์ ส่งผลให้เป็นถนนที่ราบเรียบมากขึ้นถึง 40%

    การใช้พลาสติกทำถนน ไม่ใช่เรื่องใหม่ เพราะ 15 ปีก่อนหน้าอินเดียได้นำแนวคิดนี้มาใช้แล้ว ส่งผลให้มีถนนพลาสติกความยาวราว 21,000 ไมล์ในอินเดีย และเป็นถนนที่มีความทนทานทั้งในช่วงน้ำท่วม หรือหน้าร้อน

    สำหรับประเทศอื่นๆ ที่มีที่ตั้งติดทะเลและประสบกับปัญหาขยะพลาสติกชายฝั่งก็ให้ความสำคัญกับการแก้ไขปัญหา โดยเวียดนามถือเป็นความสำคัญอันดับแรกที่จะลดขยะพลาสติก ส่วนในกัมพูชา ผู้ประกอบการได้ใช้ถุงพลาสติกที่ทำมาจากมันสำปะหลัง

    เรียบเรียงจาก asiancorrespondent,mongabay,seasia,thatsmags,eco-business,asia.nikkei