ThaiPublica > เกาะกระแส > ในทัศนะของเบอร์นี่ แซนเดอร์ “ฉันทานุมัติใหม่ของวอชิงตัน” ต่อจีน เป็นเรื่องที่อันตราย

ในทัศนะของเบอร์นี่ แซนเดอร์ “ฉันทานุมัติใหม่ของวอชิงตัน” ต่อจีน เป็นเรื่องที่อันตราย

18 กรกฎาคม 2021


รายงานโดย ปรีดี บุญซื่อ

ที่มาภาพ : https://www.economist.com/leaders/2021/07/17/bidens-new-china-doctrine

บทนำชื่อ Biden’s New China Doctrine ของนิตยสาร The Economist ฉบับ 17 กรกฎาคม 2021 กล่าวว่า คนที่มองโลกในแง่ดีคาดหวังมานานแล้วว่า การต้อนรับจีนเข้าเป็นส่วนหนึ่งของเศรษฐกิจโลก จะทำให้จีนกลายเป็น “หุ้นส่วนที่มีความรับผิดชอบ” (responsible stakeholder) และในที่สุดจะนำไปสู่การปฏิรูปการเมืองในจีน ในสมัยโดนัลด์ ทรัมป์ ได้โจมตีความคิดนี้ว่าคือความอ่อนแอ ส่วน โจ ไบเดน ได้เปลี่ยนท่าทีการโจมตีต่อจีน ให้พัฒนากลายเป็นลัทธิต่อต้านจีน ที่จะเป็นการต่อสู้ทางการเมืองระหว่าง 2 ระบบ ซึ่งผู้ชนะจะมีเพียงฝ่ายเดียวเท่านั้น

แนวคิดต่อจีนของโจ ไบเดนและที่ปรึกษา มีพื้นฐานความเชื่อที่ว่า จีนต้องการที่จะมีฐานะครอบงำ มากกว่าการที่จะอยู่ร่วมกัน ดังนั้น นโยบายของสหรัฐฯจะต้องสกัดกั้นความทะเยอทะยานของจีนในเรื่องนี้ สหรัฐฯจะทำงานร่วมกับจีนในเรื่องที่มีผลประโยชน์ร่วมกัน เช่น การเปลี่ยนแปลงสภาพอากาศ

แต่สหรัฐฯจะต่อต้านอำนาจอิทธิพลจีนในที่ต่างๆ แนวคิดนี้ยังหมายถึงการสร้างความแข็งแกร่งต่อสิ่งที่เป็นเรื่องภายในประเทศของสหรัฐฯ และการร่วมมือกับประเทศพันธมิตร เพื่อเสริมจุดแข็งทางเศรษฐกิจ เทคโนโลยี การทหาร และการทูต เป็นต้น

จุดอ่อนของลัทธิไบเดน

The Economist กล่าวว่า แนวคิดส่วนใหญ่ของโจ ไบเดนต่อจีน เป็นเรื่องสมเหตุสมผล แต่ประเด็นอยู่ที่ความหมายของคำว่า “ภัยคุกคาม” จากจีน การมองความสัมพันธ์สหรัฐฯกับจีน ออกมาในเชิงฝ่ายที่ชนะกับฝ่ายที่แพ้ ทำให้สหรัฐฯนำเสนอต่อประเทศต่างๆว่า ความขัดแย้งสหรัฐฯกับจีน เป็นการต่อสู้ระหว่างประชาธิปไตยกับอำนาจนิยม จุดนี้ทำให้สหรัฐฯมองข้ามไปว่า ประเทศพันธมิตรจะสูญเสียอะไร หากต้องหันหลังต่อจีน

แต่ไม่ว่าสหรัฐฯจะมีมาตรการอย่างไรต่อจีน ก็ไม่อาจไปขัดขวางไม่ให้จีนก้าวขึ้นมาเป็นประเทศที่มีขนาดเศรษฐกิจใหญ่สุดของโลก ขัดขวางการที่จีนกลายเป็นประเทศคู่ค้ารายใหญ่สุดของหลายสิบประเทศทั่วโลก เยอรมันยักษ์ใหญ่การส่งออกของยุโรปเอง ยังต้องการรักษาความสัมพันธ์ทางการค้ากับจีน ในการแถลงข่าวร่วมกับโจ ไบเดนที่ทำเนียบขาว นางแอนเกลา แมร์เคิ้ล นายกรัฐมนตรีเยอรมันกล่าวว่า มีหลายด้านที่จีนเป็นคู่แข่ง เรื่องการค้ากับจีนจำเป็นต้องอยู่บนพื้นฐานสนามแข่งขันที่เที่ยงธรรม

ฉันทานุมัติใหม่ของวอชิงตัน

ส่วนเบอร์นี่ แซนเดอร์ส (Bernie Sanders) สมาชิกวุฒิสภาสหรัฐฯเขียนบทความชื่อ Washington’s Dangerous New Consensus on China ลงใน Foreign Affairs ว่า ปัญหาท้าทายของโลกที่สหรัฐฯเผชิญอยู่ เช่น การเปลี่ยนแปลงสภาพอากาศ การแพร่ระบาดของโรค การขยายตัวของอาวุธนิวเคลียร์ ความเหลื่อมล้ำทางเศรษฐกิจ การก่อการร้าย ปัญหาคอร์รัปชัน และการเมืองระบบอำนาจนิยม ล้วนเป็นปัญหาที่ประเทศเดียวไม่สามารถแก้ไขได้ ต้องอาศัยความร่วมมือจากนานาประเทศ รวมทั้งจากจีน

ดังนั้น จึงเป็นเรื่องที่น่ากังวลและอันตราย ที่แนวคิดฉันทานุมัติใหม่ที่กำลังเกิดขึ้นอย่างรวดเร็วในวอชิงตัน ที่มีทัศนะมองความสัมพันธ์สหรัฐฯกับจีน ว่าเป็นการต่อสู้ทางเศรษฐกิจและทางทหาร ในแบบที่มีฝ่ายพ่ายแพ้และฝ่ายที่ชนะ หากทัศนะแบบนี้มีอำนาจครอบงำขึ้นมา ก็จะสร้างบรรยากาศทางการเมือง ที่ความร่วมมือระหว่างประเทศกลายเป็นเรื่องที่ยากลำบาก

เมื่อ 20 ปีที่แล้ว ผู้นำสหรัฐฯ ทั้งจากสองพรรคการเมืองใหญ่ และบริษัทอเมริกัน ล้วนสนับสนุนให้จีนได้รับฐานะประเทศที่มีความสัมพันธ์ปกติทางการค้าถาวร หรือ Permanent Normal Trade Relations (PNTR) หอการค้าสหรัฐฯ สมาคมผู้ผลิตสหรัฐฯ และผู้นำด้านนโยบายต่างประเทศ ล้วนเห็นว่า ฐานะ PNTR ที่ให้กับจีน จะทำให้บริษัทสหรัฐฯ สามารถรักษาความได้เปรียบ เพราะสามารถเข้าถึงตลาดที่กำลังเติบโตของจีน

แต่ทุกวันนี้ แนวคิดในกลุ่มผู้นำในวอชิงตันกลับสวิงมาอีกขั้วหนึ่ง ผู้นำวงการต่างๆในสหรัฐฯมองว่า การพุ่งขึ้นมาเป็นมหาอำนาจของจีน เป็นภัยต่อสหรัฐฯ เหมือนกับภัยคุกคามจากสหภาพโซเวียตในยุคสงครามเย็น นาย Kurt Campbell ที่ดูแลนโยบายเอเชียของรัฐบาลไบเดนกล่าวว่า ช่วงเวลาการมีความเกี่ยวพันของสหรัฐฯกับจีน ถือว่าสิ้นสุดลงแล้ว การก้าวต่อไปข้างหน้า แนวคิดนำของสหรัฐฯจะเป็นเรื่องของการแข่งขัน

เบอร์นี่ แซนเดอร์ส ที่มาภาพ : https://www.facebook.com/berniesanders/photos/a.124956147559398/1222883677766634

อย่าเชื่อในความคิดที่ผิดๆ

เบอร์นี่ แซนเดอร์ส กล่าวว่า เมื่อ 20 ปีที่แล้ว กลุ่มคนชั้นนำทางเศรษฐกิจและการมืองของสหรัฐฯคิดผิดพลาดมาแล้วเกี่ยวกับจีน ปัจจุบัน ฉันทานุมัติวอชิงตันมีการเปลี่ยนแปลงใหม่ แต่ก็จะผิดพลาดอีกเช่นเคย

แทนที่จะส่งเสริมคุณค่าของการค้าเสรีและการเปิดกว้างกับจีน กลุ่มคนชั้นนำกลับหันไปตีกลองรบในการที่จะทำสงครามเย็นครั้งใหม่ ที่เห็นจีนเป็นภัยต่อความเป็นความตายของสหรัฐฯ

ดังนั้น สิ่งสำคัญคือจะต้องท้าทายต่อฉันทานุมัติใหม่ของวอชิงตันนี้ เหมือนกับที่ตัว เบอร์นี่ แซนเดอร์ส เองเคยท้าทายต่อแนวคิดฉันทานุมัติเก่ามาแล้วว่า การย้ายฐานการผลิตจากสหรัฐฯไปจีน จะทำให้เกิดการแข่งขันที่วิ่งไปหาจุดต่ำสุด ในเวลา 20 ปีที่ผ่านมา การจ้างงานในสหรัฐฯหายไป 2 ล้านตำแหน่ง โรงงาน 4 หมื่นแห่งปิดกิจการลง ขณะที่บริษัทเอกชนกำไรหลายพันล้านดอลลาร์ แต่ค่าจ้างในสหรัฐฯหยุดชงันไม่ขยับตัว

เบอร์นี่ แซนเดอร์สกล่าวว่า นโยบายและการปฏิบัติของรัฐบาลจีนเองก็มีความผิดพลาดหลายอย่าง เช่น การขโมยเทคโนโลยี การกดขี่สิทธิเสรีภาพของแรงงานและสื่อมวลชน การปราบปรามที่เกิดในฮ่องกงและทิเบต การคุกคามต่อไต้หวัน หรือการปราบปรามต่อชาวอุยกูร์ เป็นต้น

แต่สหรัฐฯควรจะกดดันต่อจีนในปัญหาเหล่านี้ ผ่านเวทีการเจรจาระหว่างสองฝ่าย และผ่านองค์กรระหว่างประเทศ เช่น คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนของสหประชาชาติ สหรัฐฯจะยิ่งจะได้รับมีความน่าเชื่อถือและเกิดประสิทธิผลมากขึ้น หากการปกป้องสิทธิมนุษยชนนี้ ถูกนำไปใช้กับประเทศที่เป็นพันธมิตรของสหรัฐฯด้วย

การระดมนโยบายต่างประเทศไปรวมอยู่ที่การเผชิญหน้ากับจีน จะนำไปสู่ความล้มเหลวที่จะเปลี่ยนพฤติกรรมของจีน หลังเหตุการณ์โจมตี 9/11 กลุ่มคนชั้นนำสหรัฐฯรีบสรุปว่า การต่อต้านการก่อการร้ายคือแกนหลักของนโยบายต่างประเทศสหรัฐฯ แต่ 20 ปีที่ผ่านมา และงบประมาณที่หมดไป 6 ล้านล้านดอลลาร์ พิสูจน์แล้วว่า ความเป็นหนึ่งเดียวของคนในชาติ ถูกนำไปใช้ประโยชน์ เพื่อทำสงครามที่ไม่มีวันสิ้นสุด (forever war)

ทางออกข้างหน้า

เบอร์นี่ แซนเดอร์สกล่าวว่า เป็นเรื่องถูกต้องที่รัฐบาลโจ ไบเดน เห็นถึงการพุ่งขึ้นมาของระบอบการเมืองอำนาจนิยมว่า เป็นภัยใหญ่ที่หลวงต่อประชาธิปไตย แต่ความขัดแย้งที่สำคัญระหว่างประชาธิปไตยกับอำนาจนิยม ไม่ได้เกิดในเวทีระหว่างประเทศ แต่เกิดขึ้นภายในตัวประเทศนั้นเอง คือภายในสหรัฐฯ หากระบอบประชาธิปไตยจะเป็นฝ่ายชนะ ก็ไม่ได้เกิดขึ้นในสมรภูมิรบแบบดั่งเดิม แต่อยู่ที่ระบอบประชาธิปไตยสามารถให้คุณภาพชีวิตที่ดีแก่ประชาชน ได้มากกว่าจากระบอบอำนาจนิยม

สิ่งนี้คือเหตุผลที่ว่า ทำไมจึงต้องทำให้ประชาธิปไตยเกิดมีพลังขึ้นมาใหม่ ทำให้คนเชื่อมั่นในรัฐบาล โดยการจัดการในสิ่งที่เป็นความต้องการของคนทำงาน แต่ถูกละเลยมานานแล้ว ไม่ว่าจะเป็นการสร้างงานที่ค่าตอบแทนที่ดี พัฒนาโครงสร้างพื้นฐาน แก้ปัญหาวิกฤติสาธารณสุข ที่พักอาศัย การศึกษา และกระบวนการยุติธรรม สหรัฐฯทำสิ่งนี้ไม่ใช่เพราะจะทำให้สามารถแข่งกับจีนได้มากขึ้นเท่านั้น แต่ยังเป็นสนองความต้องการของคนอเมริกัน

แม้จะเป็นหน้าที่สำคัญของรัฐบาลสหรัฐฯ ที่จะสร้างความมั่นคงและมั่งคั่งให้แก่คนอเมริกัน แต่เราต้องยอมรับว่า ในยุคที่โลกเราเชื่อมโยงกันและกัน ความมั่นคงและมั่งคั่งของคนอเมริกัน ก็มีความเชื่อมโยงกับประชาชนทั่วโลก ดังนั้น สหรัฐฯจึงต้องทำงานร่วมกับประเทศที่มีฐานะร่ำรวยอื่นๆ ที่จะยกระดับมาตรฐานการครองชีพของประชาชนในโลก ลดความเหลื่อมล้ำทางเศรษฐกิจ ที่ถูกพลังอำนาจนิยมทุกแห่งนำไปใช้ประโยชน์ ในการสร้างอำนาจทางการเมืองของตัวเอง และบ่อนทำลายประชาธิปไตย

รัฐบาลไบเดนกำลังผลักดันให้โลกเรามีอัตราภาษีนิติบุคคล (minimum corporate tax) ขั้นต่ำ สิ่งนี้ถือเป็นก้าวแรกที่จะยุติการแข่งขันระหว่างประเทศต่างๆ ที่ต่างพยายามจะวิ่งไปสู่จุดต่ำสุด แต่สหรัฐฯควรจะคิดเรื่องใหญ่กว่านี้ คือค่าแรงขั้นต่ำของโลก (global minimum wage) ที่จะช่วยสร้างความเข้มแข็งแก่สิทธิแรงงานทั่วโลก ลดการเอาเปรียบของบริษัทข้ามชาติต่อแรงงานท้องถิ่น ทำให้ประเทศยากจนมีมาตรฐานชีวิตดีขึ้น เมื่อบูรณาการกับเศรษฐกิจโลก

เบอร์นี่ แซนเดอร์สกล่าวอีกว่า การที่คนอเมริกันจะรุ่งเรืองยิ่งขึ้นนั้น ประชาชนในโลกต้องเชื่อว่าสหรัฐฯคือพันธมิตรของพวกเขา ความสำเร็จของพวกเขาคือความสำเร็จของคนอเมริกันด้วย

รัฐบาลไบเดนทำในสิ่งที่ถูกต้องแล้ว โดยบริจาคเงิน 4 พันล้านดอลลาร์ให้แก่โครงการวัคซีน COVAX บริจาคควัคซีน 500 ล้านโดสให้แก่ประเทศต่างๆ และสนับสนุนองค์การอนามัยโลก ที่จะระงับใช้สิทธิบัตรของ WHO เพื่อให้ประเทศยากจน สามารถผลิตวัคซีนด้วยตัวเอง

เมื่อคนในโลกได้เห็นธงชาติอเมริกา ธงชาตินี้ควรจะอยู่ติดกับอุปกรณ์ช่วยเหลือชีวิตผู้คนในโลก ไม่ใช่เครื่องบินไร้คนขับ หรือว่าลูกระเบิดของสหรัฐฯ

เอกสารประกอบ
Biden’s new China doctrine, July 17, 2021, economist.com
Washington’s Dangerous New Consensus on China, Bernie Sanders, June 17, 2021, foreignaffairs.com