ThaiPublica > คอลัมน์ > ลีลาและสาระการทูตอาเซียน

ลีลาและสาระการทูตอาเซียน

28 ตุลาคม 2021


ที่มาภาพ : https://asean2021.bn/latestnewsdetails?id=92c59e40-392b-4f1a-9935-fe4ad1be693f

การประชุมสุดยอดอาเซียน 3 วันติดต่อกันได้สิ้นสุดไปแล้วที่กรุงบันดาเสรีเบกาวัน สมาชิกอาเซียนแต่ละประเทศได้โชว์ลีลาการทูตของตัวเอง

โดยในช่วงที่บรูไนเป็นประธานอาเซียนนี้ มีประเด็นวิกฤติในเมียนมาร์ โรคระบาดโควิด-19 และการฟื้นฟูเศรษฐกิจที่ประชาชนในภูมิภาคและทั่วโลกสนใจ จนเกือบลืมไปว่าการพบปะครั้งนี้มีการประชุมสุดยอดกับอีก 11 ประเทศคู่เจรจา มีทั้งสหรัฐอเมริกา จีน รัสเซีย อินเดีย ญี่ปุ่น ออสเตรเลีย องค์การสหประชาชาติ

ครั้งนี้ ประธานอาเซียนบรูไนได้ทำโทษเมียนมาร์โดยการไม่เชิญนายพลอาวุโสมิน อ่องหล่าย มาประชุมสุดยอดครั้งนี้ และได้เชิญเจ้าหน้าที่อาวุโสมาแทน แต่ทว่าในที่สุดรัฐบาลทหารเมียนมาร์สมัครใจไม่เข้าประชุม เพราะยืนยันว่าจะต้องเชิญระดับรัฐมนตรีอย่างต่ำเท่านั้น จึงเป็นปรากฎการณ์การเมืองที่ไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อนในประวัติศาสตร์อาเซียน

ปรากฏว่าการตัดสินใจครั้งนี้ได้รับเสียงสนับสนุนจากผู้นำคู่เจรจา ถ้าผู้นำเมียนมาร์เข้าประชุมสุดยอดครั้งนี้ ผู้นำสหรัฐอเมริกา ออสเตรเลีย อาจจะไม่เข้าร่วมด้วย ก็จะทำให้ท่านสุลตันฮาลซาเนล โบเกีย (Sultan Hassanal Bolkiah) เสียหน้า อย่าลืมว่าๅ 10 ปีก่อน ตอนที่บรูไนเป็นประธานอาเซียน อดีตประธานาธิบดีสหรัฐบารัค โอบามา สัญญาจะมาที่บรูไน แต่เบี้ยวไม่มาในนาทีสุดท้าย

ในหมู่ผู้นำอาเซียน ช่วงประชุมประชาคมโลก จะจับตามองผู้นำบางประเทศ โดยเฉพาะสิงคโปร์ นายกรัฐมนตรีลี เซียน ลุง มีท่าทีเหมือนเดิมคือถือว่าเสถียรภาพและความมั่นคงในภูมิภาคยังต้องการการคุ้มครองจากสหรัฐอเมริกาอยู่ โดยหวังว่าความขัดแย้งระหว่างสหรัฐอเมริกาและจีนคงไม่นำไปสู่สงครามประหัตประหารกัน จึงไม่น่าแปลกใจที่สิงคโปร์สนับสนุนภาคีความมั่นคงใหม่ระหว่างสหรัฐอเมริกา อังกฤษและออสเตรเลีย หรือ AUKUS (ออคัส)

มาเลเซียเพื่อนบ้านสิงคโปร์ มีท่าทีต่างกันมาก ในที่ประชุมสุดยอดเอเชียตะวันออกหรือ East Asia Summit นายกรัฐมนตรีมาเลเซียคนใหม่ อิสมาเอล ซาบรี ยาคอบ ออกมาวิจารณ์ว่าภาคีความมั่นคงใหม่นี้อาจจะทำให้มีการแข่งขันทางด้านอาวุธที่ดึงดูดมหาอำนาจนอกประเทศเข้ามายุ่งเกี่ยวกับสถานการณ์ในภูมิภาค

ส่วนประธานาธิบดีอินโดนีเซีย โจโก วีโดโด มีทัศนัคติแบบกลางๆเรียกร้องให้อาเซียนและออสเตรเลียเสริมสร้างความเข้าใจระหว่างกันให้มากขึ้นเพื่อหลีกเลี่ยงปัญหาความมั่นคงในอนาคต โดยการเปลี่ยนวัฒนธรรมของความขัดแย้งมาเป็นสันติภาพ

ถึงแม้ว่าอินโดนีเซียและมาเลเซีย ตำหนิออสเตรเลียที่เข้าภาคีออคัส แต่ก็ยังสนับสนุนให้ปรับระดับความสำคัญสถานภาพออสเตรเลียเป็น หุ้นส่วนยุทธศาสตร์แบบเต็มรูปแบบ (Comprehensive Strategic Partnership) ในที่สุดผู้นำอาเซียนได้ตัดสินใจยกระดับออสเตรเลีย

ส่วนนายกรัฐมนตรี พลเอกประยุทธ์ จันทรโอชา ของไทยเสนอความริเริ่มสามประเด็นที่จะรักษาความเป็นแกนกลางของอาเซียนอย่างยั่งยืน

    ก)ให้เสริมสร้างสัมพันธ์ที่เหนียวแน่นกับคู่เจรจาทั้งหลาย
    ข)ใช้แนวความคิดของอาเซียนเกี่ยวกับของอินโด-แปซิฟิก(Asean Outlook on the Indo-Pacific) เป็นกลไกส่งเสริมความร่วมมือกับประเทศต่างๆนอกภูมิภาค
    ค) อาเซียนต้องพยายามหาวิธีการใหม่ๆที่จะลดความตึงเครียดระหว่างจีนกับสหรัฐอเมริกา พร้อมดึงสองมหาอำนาจมาร่วมมือในการแก้ปัญหาระหว่างประเทศ เช่นภาวะโลกร้อน เป็นต้น

ที่ประชุมซัมมิท สมาชิกอาเซียนมีการเน้นประเด็นที่ต่างออกไป ครั้งนี้การประชุมสุดยอดอาเซียนไม่ได้มีการพูดคุยเรื่องเมียนมาร์ เพราะไม่มีตัวแทนเมียนมาร์เข้ามาประชุม ส่วนใหญ่ถ้อยแถลงผู้นำเป็นห่วงเรื่องผลกระทบโรคโควิดต่อการฟื้นฟูเศรษฐกิจและชีวิตความเป็นอยู่ของประชาชน และความมั่นคงในภูมิภาค

ถ้าจะให้คะแนนประธานอาเซียนปีนี้ก็คงได้แค่เกรดบี ถือว่าใช้ได้ เพราะบรูไน ไม่ได้ทำความเสียหายให้กับอาเซียน และการเป็นแกนกลางอาเซียน พยายามเดินตามฉันทามติอาเซียนและปฎิบัติตามกฎบัตรอาเซียนอย่างเคร่งครัด