ThaiPublica > Native Ad > ‘โรงไฟฟ้าจากเชื้อเพลิงขยะ’ ต้นแบบของไทยโดย GPSC ร่วมกับอบจ.ระยอง พัฒนาธุรกิจสู่ความยั่งยืน

‘โรงไฟฟ้าจากเชื้อเพลิงขยะ’ ต้นแบบของไทยโดย GPSC ร่วมกับอบจ.ระยอง พัฒนาธุรกิจสู่ความยั่งยืน

4 ธันวาคม 2021


นายศิริเมธ ลี้ภากรณ์ ประธานเจ้าหน้าที่ปฏิบัติการ GPSC

ในศตวรรษที่ 21 ที่โลกเต็มไปด้วยความท้าทายโดยเฉพาะการสร้างความยั่งยืนให้ธุรกิจ อันเนื่องมาจากผลกระทบจาก Climate Changes ทำให้อุตสาหกรรมพลังงานต้องปรับทิศทางการดำเนินงาน โดยให้ความสำคัญกับพลังงานสะอาดและพลังงานทางเลือกให้มากขึ้น ที่สำคัญคือการสร้างสมดุลระหว่าง ‘กำไร’ ‘สังคม’ และ ‘สิ่งแวดล้อม’ ไปพร้อมกัน

บริษัท โกลบอล เพาเวอร์ ซินเนอร์ยี่ จำกัด (มหาชน) หรือ GPSC แกนนำนวัตกรรมธุรกิจไฟฟ้า กลุ่ม ปตท. ได้พัฒนาโครงการโรงไฟฟ้าจากเชื้อเพลิงขยะ (Refuse Derived Fuel: RDF) ตามแนวทางการสร้างความยั่งยืนให้ธุรกิจ และเป็นต้นแบบการใช้พลังงานหมุนเวียน

นายศิริเมธ ลี้ภากรณ์ ประธานเจ้าหน้าที่ปฏิบัติการ GPSC อธิบายถึงโรงไฟฟ้าแห่งนี้ว่า โรงไฟฟ้า RDF มีกำลังการผลิต 9.8 เมกะวัตต์ ได้เดินเครื่องเชิงพาณิชย์ (COD) มาตั้งแต่เดือนพฤษภาคม 2564 เพื่อจำหน่ายไฟฟ้าให้กับการไฟฟ้าส่วนภูมิภาค (PEA) ภายใต้โครงการผลิตไฟฟ้าจากขยะชุมชน ในรูปแบบ Feed-in Tariff (FiT) ซึ่งถือเป็นโครงต้นแบบ เพื่อการบริหารการจัดการขยะแบบครบวงจรแห่งแรกในพื้นที่ จ.ระยอง ตอบสนองการเติบโตภาคอุตสาหกรรมในพื้นที่เขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก หรือ EEC รวมไปถึงการเติบโตในอนาคต
ทั้งนี้ GPSC อาศัยความได้เปรียบเชิงพื้นที่ เนื่องจากโรงไฟฟ้า RDF ตั้งติดกับศูนย์กำจัดขยะมูลฝอยรวมแบบครบวงจร จ.ระยอง เพื่อรับเชื้อเพลิง RDF มูลค่าลงทุน 2,217 ล้านบาท แบ่งการลงทุนเป็นโครงการโรงไฟฟ้าจากเชื้อเพลิง RDF ประมาณ 1,655 ล้านบาท และโรงงานผลิต RDF ประมาณ 562 ล้านบาท

นวัตกรรมพลังงานตอบโจทย์ ESG

“การลงทุนทั้งหมดนี้เป็นไปตามปณิธานของทางบริษัทฯ ที่ตั้งไว้ว่าเราจะดูแลสิ่งแวดล้อม สังคม และบริหารจัดการด้วยหลักธรรมาภิบาล ตามแนวทาง ESG (Environmental, Social and Governance)โดยคำนึงถึงความรับผิดชอบ 3 ด้านหลัก คือ สิ่งแวดล้อม สังคม การกำกับดูแล เป็นหลัก” นายศิริเมธ กล่าวถึงวัตถุประสงค์ของการลงทุนโรงไฟฟ้า RDF

นี่เป็นกลยุทธ์สำคัญของ GPSC ที่สอดคล้องกับแนวทางพัฒนาธุรกิจสู่ความยั่งยืน ซึ่งเป็นรากฐานสู่เป้าหมายการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ของบริษัทฯ ตามแนวทางการพัฒนาที่ยั่งยืนของประเทศไทยและสหประชาชาติในการพัฒนาระบบไฟฟ้า

สร้างคุณค่าของเหลือทิ้ง เป็นโมเดลบริหารจัดการ ‘ขยะ’ ครบวงจร

ด้วยอานิสงส์ของพื้นที่อีอีซีที่ครอบคลุมถึงจังหวัดระยอง ทำให้ตัวจังหวัดเติบโตอย่างต่อเนื่อง แต่ผลที่ตามมาคือปริมาณขยะที่เพิ่มขึ้นตามการเติบโตในพื้นที่ด้วย จังหวัดระยองมีปริมาณขยะชุมชนทั้งหมด 1,000 – 1,200 ตันต่อวัน ประชากรตามทะเบียนบ้านประมาณ 800,000 คน บวกกับประชากรแฝงและแรงงานต่างด้าวกว่า 1.6 ล้านคน

ในอดีตขยะเหล่านี้เข้าสู่หลุมฝังกลบ การเผา ขยะบางส่วนจึงถูกกำจัดไม่ถูกวิธี และสร้างมลพิษทางอากาศ จากปัญหาดังกล่าวทำให้ GPSC เป็นพันธมิตรกับองค์การบริหารส่วนจังหวัดระยองหรือ อบจ.ระยอง เพื่อวางยุทธศาสตร์การแก้ปัญหาขยะร่วมกัน

เดิมที GPSC มีข้อจำกัดเรื่องการรวบรวมขยะ ส่วนอบจ.ระยองมีข้อจำกัดด้านงบประมาณการจัดการขยะ แต่เมื่อทั้งสององค์กรมาจับมือร่วมกันผ่านพ.ร.บ.ร่วมทุน จึงเกิดเป็นโมเดลบริหารจัดการขยะครบวงจร โดยอบจ.ระยองจะเป็นผู้รวบรวมขยะจากชุมชน ซึ่งครอบคลุมส่วนขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น (อปท.) ในจังหวัดจำนวน 67 แห่ง เพื่อป้อนขยะชุมชนเข้าสู่โรงงานผลิต RDF ด้วยกำลังการผลิตที่ GPSC สามารถนำมาคัดแยกขยะในปริมาณ 500 ตันต่อวัน หรือ 170,000 ตันต่อปี

โรงไฟฟ้าจากเชื้อเพลิงขยะของ GPSC มีเทคโนโลยีที่สำคัญ ไม่ว่าจะเป็น

  • เทคโนโลยีเตาเผาไหม้แบบตะครับเคลื่อนที่ (Moving Grate) ที่มีอุณหภูมิ 850-1,100 องศาเซลเซียส
  • ลำเลียงขยะ RDF ด้วยสายพานระบบปิด
  • ติดตั้งเครื่องตรวจวัดคุณภาพอากาศแบบต่อเนื่องตลอด 24 ชั่วโมง
  • มีการรายงานป้ายแสดงผลคุณภาพสิ่งแวดล้อม (Emission Display Board) บริเวณด้านหน้าโรงงาน

“โรงไฟฟ้าจากเชื้อเพลิง RDF เป็นโมเดลของการบริหารจัดการขยะครบวงจรแห่งแรก ในระยอง ที่นำมาสู่การต่อยอดและแก้ไขปัญหาขยะของชุมชน สามารถลดพื้นที่ฝังกลบขยะได้อย่างมีประสิทธิภาพ และเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม” นายศิริเมธกล่าว

ขณะที่นายมนตรี ชนะชัยวิบูลวัฒน์ ที่ปรึกษานายกองค์การบริหารส่วนจังหวัดระยอง กล่าวว่า จังหวัดระยองได้มีการกำหนดยุทธศาสตร์การพัฒนาสิ่งแวดล้อมควบคู่ไปกับการพัฒนาด้านการเกษตร อุตสาหกรรม และการท่องเที่ยว ทำให้อบจ.ระยองเอง มียุทธศาสตร์การพัฒนาท้องถิ่นซึ่งสอดคล้องกับแผนการพัฒนาจังหวัด นำมาสู่พิจารณาร่วมกันว่าจังหวัดระยองต้องมีการแก้ปัญหาสิ่งแวดล้อมโดยเฉพาะปัญหาขยะ

“ด้วยเหตุนี้ ขยะที่เกิดขึ้นในแต่ละวันของจังหวัดระยอง จากสถิติที่ทางกรมควบคุมมลพิษได้ศึกษาไว้ จะเกิดขยะขึ้น 1.3 กิโลกรัมต่อคนต่อวัน ด้วยเหตุนี้เราต้องเตรียมการรองรับคนที่จะย้ายเข้ามาทำงานในจังหวัดระยอง จากการดำเนินโครงการ EEC เป็นแผนในอีก 20 ปีข้างหน้า ตามที่เราคาดว่าจะมีผู้มาใช้บริการท่าอากาศยานอู่ตะเภาไม่ต่ำกว่า 60 ล้านคนต่อปี” นายมนตรีกล่าว

ชุมชนบ้านไผ่ รีไซเคิลพลาสติก สร้างรายได้ให้ชุมชน

อย่างไรก็ตาม ขยะบางประเภทที่ตกค้างตามชุมชนต่างๆ จะถูกจัดการภายในชุมชน โดยมี GPSC เข้ามาส่งเสริมและสนับสนุนถ่ายทอดองค์ความรู้ในการบริหารจัดการขยะอย่างครบวงจร ทั้งในรูปแบบการ Recycle Upcycling เป็นผลิตภัณฑ์ที่สามารถนำไปใช้ในชีวิตประจำวัน และจัดจำหน่ายเป็นสินค้าประจำชุมชน โดยการพัฒนาการแปรรูปผลิตภัณฑ์จากขยะ

ตัวอย่างที่เห็นได้ชัดคือชุมชนบ้านไผ่ หมู่ 1 ตำบลหนองตะพาน อำเภอบ้านค่าย จังหวัดระยอง ซึ่งมีคนในชุมชนมากกว่า 1,000 คน ได้นำขยะพลาสติกมาแปรรูปเป็นสิ่งของเครื่องใช้ในชีวิตประจำวัน เช่น นำขวดพลาสติกชนิดขุ่นมาทำเป็นกระถางหรือถังใส่ของ นำอลูมิเนียมจากกระป๋องน้ำอัดลมไปทำเป็นกระเป๋า กระทั่งนำหลอดพลาสติกไปทำความสะอาดและแปรรูปเป็นไส้หมอนแทนปุยนุ่น

โดยก่อนหน้านี้ ชาวบ้านในชุมชนบ้านไผ่จัดตั้งวิสาหกิจชุมชนธนาคารขยะออมทรัพย์บ้านไผ่ เมื่อวันที่ 12 ธันวาคม 2556 ในรูปแบบธนาคารขยะเพื่อสร้างการออมเงินให้กับสมาชิกในชุมชน แต่ขยะในอดีตที่ไม่ได้สร้างคุณค่ามากพอ ทำให้ GPSC เข้ามาพัฒนาโครงการโรงไฟฟ้าพลังงานเชื้อเพลิงจากขยะชุมชน ทำให้ชุมชนบ้านไผ่เป็นหนึ่งในชุมชน 67 แห่ง ในจังหวัดระยอง ที่จะมาสู่การผลิตเป็นเชื้อเพลิง RDF ที่สามารถสร้างความมั่นคงในระบบพลังงาน และยังมีผลพลอยได้จากขยะอินทรีย์ในการนำมาทำเป็นปุ๋ยให้กับเกษตรกรในพื้นที่

ทั้งหมดเป็นการต่อยอดสร้างสรรค์ผลิตภัณฑ์ที่ได้จากไอเดียคนรุ่นใหม่ อีกทั้งยังมีมีสมาคมเพื่อนชุมชนเข้าร่วมสนับสนุนภายใต้โครงการธรรมศาสตร์โมเดล เช่น การออกแบบ หมอนหลอดรีไซเคิลให้มีความทันสมัยและสวยงามมากขึ้น เพื่อเพิ่มโอกาสในการขายให้กับชุมชน
ในอนาคตโมเดลนี้จะขยายไปร่วมมือกับวิทยาลัยสารพัดช่างจังหวัดระยอง เพื่อร่วมกันพัฒนาเครื่องจักรรีไซเคิลที่ได้รับการถ่ายทอดจาก Precious Plastic องค์กรระดับโลก มาเป็นต้นแบบในการพัฒนาเครื่องจักร ช่วยสร้างมูลค่าเพิ่มจากขยะในชุมชน

นายศิริเมธ กล่าวถึงความร่วมมือกับวิสาหกิจชุมชนว่า “GPSC พร้อมที่จะยกระดับชุมชนบ้านไผ่ให้เป็นชุมชนต้นแบบด้านการจัดการขยะครบวงจรแล้วขยายไปยังชุมชนต่างๆ ให้สามารถนำขยะไปใช้ประโยชน์ ไม่ว่าจะเป็น การรีไซเคิลขยะ การ Upcycle สู่ผลิตภัณฑ์ที่สร้างสรรค์จากขยะพลาสติก”

ตัวอย่างที่เกิดขึ้นสะท้อนให้เห็นถึงการบริหารจัดการขยะภายในชุมชนอย่างครบวงจร และยกระดับผลิตภัณฑ์ชุมชน ให้สามารถสร้างรายได้ให้กับชุมชน ประกอบกับการศึกษาความเป็นไปได้ในการนำขยะชุมชนมาแปลงเป็นเชื้อเพลิง เพื่อจำหน่ายให้กับโรงไฟฟ้าขยะชุมชนของบริษัทฯ นำไปสู่เป้าหมายการลดปริมาณขยะจนกลายเป็นศูนย์ในที่สุด

เปลี่ยนมายเซ็ทขยะไม่มีมูลค่า ผ่านศูนย์การเรียนรู้ฯ

ภายใต้โครงการนี้ ยังมีพื้นที่ “ศูนย์การเรียนรู้ แปลงขยะเป็นพลังงาน” (GPSC Waste to Energy Learning Center) ด้วยมูลค่าการลงทุนกว่า 12 ล้านบาท

นายศิริเมธกล่าวว่า ศูนย์การเรียนรู้ฯ จุดประสงค์เพื่อกระตุ้นให้เกิดการเรียนรู้และเห็นคุณค่าของการคัดแยกตั้งแต่ระดับครัวเรือน ไปจนถึงระดับชุมชน สร้างความตระหนักรู้ให้คนเข้าใจคุณค่าและมูลค่าของขยะทั้งหมด สอดคล้องกับเทรนด์ Lifelong Learning หรือการเรียนรู้ตลอดชีวิตได้ในอีกทางหนึ่งด้วย

โดยศูนย์การเรียนรู้ฯ ได้จัดทำแบบจำลองนวัตกรรมการคัดแยกขยะชุมชน และเกมส์จำลองต่างๆ เพื่อให้เกิดความเข้าใจถึงวิธีการดำเนินการของโรงไฟฟ้าจากเชื้อเพลิง RDF อีกด้วย

ปัจจุบันศูนย์การเรียนรู้แปลงขยะเป็นพลังงานเปิดให้บริการเยี่ยมชมแล้ว โดยสามารถรองรับผู้เยี่ยมชมได้ครั้งละ 20-30 คน เปิดตั้งแต่ 09.00 – 16.00 น. อย่างไรก็ตามในสถานการณ์โควิด-19 ทำให้ศูนย์การเรียนรู้ฯ ปิดลงชั่วคราว

ภายในศูนย์การเรียนรู้ฯ แบ่งออกเป็น 4 พื้นที่ ดังนี้

  • โซน 1 พื้นที่รับชมหนังแอนิเมชั่น เพื่อทำความเข้าใจที่มา ชนิด และประเภท ของขยะต่างๆ ในชุมชน เพื่อนำไปผลิตเป็นเชื้อเพลิงหลัก
  • โซน 2 อุโมงค์ลำเลียง พื้นที่จำลองให้ความรู้สึกการลำเลียงขยะประเภทต่างๆ มายังศูนย์คัดแยกแห่งนี้ เพื่อการบริหารจัดการอย่างถูกวิธี โดยจัดแสดงผลข้อมูลปริมาณขยะ ประเภทต่างๆ ที่เกิดขึ้นในประเทศไทย รวมถึงระยะเวลาการย่อยสลายของขยะแต่ละประเภท
  • โซน 3 Trash to treasure บอร์ดนิทรรศขนาดใหญ่ สะท้อนให้เห็นถึงคุณค่าของขยะว่าเป็นสมบัติล้ำค่า ถ้าคัดแยกอย่างถูกวิธี จากขยะทั้ง 4 ประเภท ได้แก่ ขยะอินทรีย์ ขยะรีไซเคิล ขยะอันตราย และขยะทั่วไป ควบคู่ไปกับการนำเสนอชิ้นส่วนของขยะผ่านรูปแบบ Hologram และเกมส์แยกขยะลงถังให้ถูกประเภท
  • โซนสุดท้าย ในโซนนี้จะแสดงถึงกิจกรรมความรับผิดชอบต่อสังคม (CSR) ต่างๆ ที่บริษัทฯ ดำเนินการ อาทิ โครงการ “Zero Waste Village” ศูนย์การเรียนรู้การจัดการขยะของชุมชนบ้านไผ่ ต.หนองตะพาน อ.บ้านค่าย จ.ระยอง

อย่างไรก็ตาม GPSC ยังพัฒนาระบบการเยี่ยมชมรูปแบบนิทรรศการเสมือนจริง หรือ RDF Virtual Exhibition ที่เผยแพร่ข้อมูลด้านการจัดการขยะพลังงาน เป็นการเปิดประสบการณ์ท่องโลกทางดิจิทัลเสริมการเรียนรู้ของเยาวชน และประชาชนได้โดยไม่จำเป็นต้องเข้าเยี่ยมชมการผลิตจริงในโรงงาน ซึ่งคาดว่าจะพัฒนาแล้วเสร็จภายในเดือนธันวาคม 2564

ท้ายที่สุดนี้ นายศิริเมธมองว่า การลงทุนในโครงการดังกล่าวมีผลตอบแทนไม่สูงเมื่อเทียบกับการลงทุนด้านพลังงานอื่นๆ แต่สิ่งสำคัญคือพันธกิจของบริษัทที่เข้ามาสนับสนุนการบริหารจัดการของภาครัฐ ผ่านความร่วมมือกับท้องถิ่นจากอบจ.ระยอง เพื่อเป็นต้นแบบของการบูรณาการความร่วมมือระหว่างภาครัฐ ภาคเอกชน และภาคประชาชนอย่างแท้จริง