ThaiPublica > ข่าวประชาสัมพันธ์ (archive) > GPSC เปิดผลงานวิจัยแบตเตอรี่ เดินหน้าสู่การผลิตเชิงพาณิชย์ พัฒนานวัตกรรมพลังงาน เส้นทางสู่ผู้นำอาเซียน

GPSC เปิดผลงานวิจัยแบตเตอรี่ เดินหน้าสู่การผลิตเชิงพาณิชย์ พัฒนานวัตกรรมพลังงาน เส้นทางสู่ผู้นำอาเซียน

6 กันยายน 2019


ข่าวประชาสัมพันธ์

นายชวลิต ทิพพาวนิช ประธานเจ้าหน้าที่บริหารและกรรมการผู้จัดการใหญ่ GPSC

ทุกเส้นทางของการพัฒนาพลังงานทั่วโลก กำลังมุ่งหน้าสู่การใช้ “พลังงานทดแทน” เพิ่มขึ้น โดยเฉพาะการนำไปใช้เพื่อผลิตไฟฟ้า เพื่อทดแทนพลังงานที่มาจากฟอสซิล ซึ่งเป็นเหตุผลหลักของการเปลี่ยนแปลงครั้งสำคัญจากการเผชิญสภาวะที่โลกมีอุณหภูมิสูงขึ้น ทำให้สถาบันการวิจัยและพัฒนาเทคโนโลยีและนวัตกรรมในประเทศต่างๆ รวมทั้งไทย ได้พยายามคิดค้นเครื่องมือและเทคโนโลยีที่มีประสิทธิภาพสูงและราคาถูก เพื่อตอบสนองต่อการบริโภค ทั้งในภาคอุตสาหกรรม ภาคครัวเรือน และการขนส่ง

แม้ว่ากระแสการใช้พลังงานทดแทนของไทย กำลังเข้ามามีบทบาทสำคัญในภาคเศรษฐกิจทั้งระบบ เห็นได้จากการส่งเสริมของภาครัฐในการพัฒนาแหล่งผลิตพลังงานทางเลือกที่สะอาดและปลอดภัยต่อสิ่งแวดล้อม ที่สามารถนำมาใช้อย่างไม่มีวันหมด (renewable energy) ได้แก่ พลังงานแสงอาทิตย์ พลังงานลม พลังงานน้ำ พลังงานชีวมวล ซึ่งพลังงานทดแทนเหล่านี้ยังเป็นตัวช่วยลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกได้อย่างที่โลกต้องการ แต่แหล่งผลิตพลังงานเหล่านี้ไม่สามารถควบคุมการผลิตกระแสไฟฟ้าได้ตลอด 24 ชั่วโมง ด้วยข้อจำกัดจากการเป็นแหล่งเชื้อเพลิงจากธรรมชาติ ทำให้มีการเร่งคิดค้นเทคโนโลยีและนวัตกรรมพลังงานขึ้นมา ที่เรียกกันว่า ระบบกักเก็บพลังงาน หรือ energy storage system (ESS) ซึ่งเป็นอุปกรณ์ที่สามารถเปลี่ยนพลังงานไฟฟ้าไปกักเก็บไว้เพื่อการใช้งานในเวลาอื่นที่จำเป็นได้

ความก้าวหน้าของการนำนวัตกรรมพลังงานไฟฟ้ามาใช้ในประเทศไทยกำลังเกิดขึ้น และรอผลลัพธ์ที่จะกำลังจะตามมา หลังจากการเดินหน้าของ ปตท. ร่วมกับ GPSC หรือ บริษัท โกลบอล เพาเวอร์ ซินเนอร์ยี่ จำกัด (มหาชน) แกนนำธุรกิจไฟฟ้ากลุ่ม ปตท. ในการเดินหน้าโครงการ “วิจัยและพัฒนาโรงงานผลิตแบตเตอรี่ต้นแบบ (pilot plant) ด้วยเทคโนโลยีเซมิ-โซลิด (semi-solid)” เป็นนวัตกรรมกระบวนการผลิตแบตเตอรี่ลิเทียมไอออนแบบใหม่ของบริษัท 24 M Technology ประเทศสหรัฐอเมริกา ที่ GPSC เข้าไปร่วมลงทุนในการเดินหน้าพัฒนาโรงงานผลิตแบตเตอรี่ต้นแบบเพื่อพิสูจน์ความเป็นไปได้ของเทคโนโลยี ทั้งด้านเทคนิคและเชิงเศรษฐศาสตร์ เพื่อสร้างความเชื่อมั่นในการต่อยอดในการจัดตั้งโรงงานผลิตแบตเตอรี่ในเชิงพาณิชย์ต่อไป ความร่วมมือครั้งนี้กลายเป็นจุดเริ่มต้นครั้งสำคัญของไทย ที่จะได้เห็นโฉมหน้าของเทคโนโลยีระบบกักเก็บพลังงาน ที่คาดว่าจะสามารถนำมาใช้ได้ในไม่ช้า ด้วยกลยุทธ์การขับเคลื่อนธุรกิจ

นายชวลิต ทิพพาวนิช ประธานเจ้าหน้าที่บริหารและกรรมการผู้จัดการใหญ่ GPSC กล่าวไว้ว่า “โอกาสการลงทุนที่จะเกิดขึ้น พร้อมนำ GPSC ก้าวสู่ธุรกิจนวัตกรรมไฟฟ้าแห่งอนาคต เพื่อมุ่งไปสู่ new S-curve เป็นการพัฒนาเทคโนโลยีที่จะใช้เทคโนโลยีขั้นสูง มีความจำเป็นต้องใช้เม็ดเงินจำนวนมาก เพราะมีทั้งโอกาสและความเสี่ยงควบคู่กันไป แต่ว่าถ้าไม่ตัดสินใจในการพัฒนาเทคโนโลยีที่เป็น new S-curve นี้ ประเทศไทยและ GPSC อาจจะตกรถไฟก็ได้ เพราะฉะนั้น บริษัทฯ ให้แนวทางว่าควรเกาะติด และต้องเดินหน้าไปอย่างระมัดระวัง เป็นขั้นตอน หากประสบความสำเร็จก็จะต้องดำเนินการไปกับพันธมิตร ซึ่งเราก็ต้องพิจารณาในเรื่องของ pilot plant เพื่อเตรียมการพัฒนาธุรกิจต่อไป”

ทั้งนี้ ศักยภาพของเทคโนโลยีแบตเตอรี่ตัวนี้ในช่วงแรก จะเป็นแบตเตอรี่ที่นำไปใช้กับการบริหารจัดการพลังงานภายในอาคาร บ้านเรือน โรงงานอุตสาหกรรม และ 24M เตรียมพัฒนาต่อยอดไปสู่แบตเตอรี่ที่ใช้ในวงการอุตสาหกรรมยานยนต์ ซึ่งขณะนี้ บริษัท 24 M Technology อยู่ระหว่างวิจัยและพัฒนาแบตเตอรี่ให้เก็บความจุของกระแสไฟฟ้าได้มากขึ้นและมีน้ำหนักเบา เหมาะกับอุตสาหกรรมยานยนต์ ซึ่ง ปตท. และ GPSC ให้ความสำคัญกับแบตเตอรี่ทั้ง 2 แบบ คือทั้งแบบใช้ในอาคาร และใช้ในรถยนต์ขับเคลื่อนด้วยไฟฟ้า (EV)

ชี้ให้เห็นว่า ทั้ง ปตท. และ GPSC พร้อมที่จะก้าวเข้าสู่เส้นทางการเป็นผู้ผลิตแบตเตอรี่ และเป็นผู้พัฒนาระบบ energy management solution provider โดยการผนวกเทคโนโลยีด้านบริหารจัดการ เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการใช้พลังงานที่นำไปสู่การลดต้นทุนด้านพลังงานให้กับทุกภาคส่วน ซึ่งเป็นผลจากปัจจัยต่างๆ ของการเปลี่ยนแปลงด้านการผลิต และการใช้พลังงานทั่วโลก ที่กำลังมองหาเทคโนโลยีใหม่ๆ เพื่อมาอุดช่องว่างของการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานทดแทน ให้มีความสมบูรณ์มากยิ่งขึ้น ซึ่งเป็นจิ๊กซอว์ตัวสุดท้ายของอุตสาหกรรมนี้ นั่นคือ แบตเตอรี่ที่มีคุณภาพสูงทั้งทางด้านประสิทธิภาพ ในขณะที่มีต้นทุนต่ำ

แน่นอนว่า การเดินทางของ ปตท. และ GPSC ที่กำลังมุ่งไปสู่การเป็นผู้ผลิต และรุกตลาดนวัตกรรมพลังงานของภูมิภาคอาเซียน จะเกิดขึ้นได้จากการศึกษาปัจจัยและองค์ประกอบต่างๆ 3 ด้านด้วยกัน ได้แก่

1. การพิสูจน์เทคโนโลยีการผลิตการกักเก็บ (storage) ที่มีอยู่ว่าสามารถตอบสนองต่อการจ่ายไฟเข้าระบบภายในสถานประกอบการ หรือตัวอาคารได้อย่างรวดเร็ว โดยร่วมกับ ปตท. ทำการศึกษาเทคโนโลยี และโซลูชั่นต่างๆ เพื่อพิสูจน์และใช้เป็นต้นแบบ (first footprint)

2. การตอบสนองของตลาดของผู้บริโภค (demand response) จะเป็นคำตอบของต้นทุนการผลิตในอนาคต เนื่องจากผู้บริโภคสามารถเปลี่ยนสถานะเป็นได้ทั้งผู้ผลิตไฟฟ้าและผู้ใช้ไฟฟ้าในเวลาเดียวกันจากนโยบายส่งเสริมของรัฐบาลในการรับซื้อไฟฟ้าโซลาร์จากภาคประชาชน

3. เทคโนโลยีทางด้านสารสนเทศ ไม่ว่าการนำระบบ AI และ blockchain เข้ามาผสมผสานกับระบบการผลิตไฟฟ้า ซึ่งจะทำให้เกิดระบบ deep learning หรือ big data ขึ้นในระบบการซื้อขายไฟฟ้าอย่างมีประสิทธิภาพ เพราะประชาชนสามารถซื้อขายไฟฟ้าผ่านระบบมิเตอร์ 2 ทาง ทั้งมิเตอร์ซื้อไฟฟ้า และมิเตอร์ขายไฟฟ้า หรือการซื้อขายไฟฟ้าระหว่างผู้ประกอบการ (P2P)

ด้วยกลยุทธ์และทิศทางของการเดินหน้าบนเส้นทางของนวัตกรรมพลังงานยุคใหม่ จึงเป็นก้าวที่ท้าท้ายของ GPSC ที่จะต้องแสวงหาและพิสูจน์เทคโนโลยีขั้นสูง เพื่อตอบโจทย์การใช้พลังงานทดแทนที่มีเสถียรภาพมากยิ่งขึ้น และสามารถสร้างความมั่นคงในระบบการจ่ายไฟได้อย่างยั่งยืน