ThaiPublica > ประเด็นร้อน > เชื่อมโลกให้ไทยแล่น > ปตท.ยกระดับ “วังจันทร์วัลเลย์” สู่ Innovation – Smart City หนุนโครงการ EECi

ปตท.ยกระดับ “วังจันทร์วัลเลย์” สู่ Innovation – Smart City หนุนโครงการ EECi

6 กรกฎาคม 2019


นายชาญศิลป์ ตรีนุชกร
ประธานเจ้าหน้าที่บริหารและกรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท ปตท. จํากัด (มหาชน)

หลังจากที่รัฐบาลได้มีนโยบายที่จะผลักดันพื้นที่ชายฝั่งทะเลด้านตะวันออกให้กลายเป็นศูนย์กลางเศรษฐกิจ การค้า และการลงทุนในภูมิภาคเอเชีย โดยประกาศยกระดับพื้นที่ชายฝั่งทะเลด้านตะวันออก 3 จังหวัด ได้แก่ จังหวัดฉะเชิงเทรา, ชลบุรี และระยอง ให้เป็นเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (EEC) ตามยุทธศาสตร์ขับเคลื่อนเศรษฐกิจ “ไทยแลนด์ 4.0” และกำหนดให้พื้นที่ “วังจันทร์วัลเลย์” จังหวัดระยอง ซึ่งตั้งอยู่บนที่ดินของบริษัท ปตท. จํากัด (มหาชน) ประมาณ 3,455 ไร่ ให้เป็นโครงการนำร่องเมืองอัจฉริยะ หรือ “smart city” ภายใต้เขตนวัตกรรมระเบียงเศรษฐกิจภาคตะวันออก (EECi@Wangchan Valley) มีเป้าหมายที่จะพัฒนานวัตกรรมใหม่ๆ หรือ innovation platform รองรับอุตสาหกรรมเป้าหมาย (new S-curve) โดยนำผลงานวิจัยทางด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีขั้นสูง นำมาพัฒนาต่อยอดในเชิงพาณิชย์ เพื่อสนับสนุนภาคอุตสาหกรรมที่อยู่ในโครงการ EEC ของรัฐบาล

เมื่อช่วงปลายเดือนมิถุนายน 2562 นายชาญศิลป์ ตรีนุชกร ประธานเจ้าหน้าที่บริหารและกรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท ปตท. จํากัด (มหาชน) พร้อมผู้บริหารของบริษัท ปตท. ได้นำคณะสื่อมวลชนไปศึกษาดูงานเมืองอัจฉริยะที่ประเทศออสเตรียและประเทศฝรั่งเศส ทั้งนี้ เพื่อนำมาประยุกต์ใช้กับโครงการ EECi วังจันทร์วัลเลย์ ซึ่งตามแผนงานของบริษัท ปตท. กำหนดเปิดตัวอย่างเป็นทางการช่วงไตรมาสที่ 4 ปี 2562 หรืออย่างช้าในช่วงไตรมาสแรกของปี 2563 หลังจากนั้น ปตท.และคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน จะเดินทางไปโรดโชว์ที่ประเทศญี่ปุ่น, เกาหลีใต้, จีน และยุโรป เพื่อเชิญชวนนักลงทุนต่างชาติเข้ามาลงทุนในพื้นที่วังจันทร์วัลเลย์ ต่อไป

นายชาญศิลป์กล่าวว่า ปกติภูมิอากาศของประเทศในแถบยุโรปส่วนใหญ่จะมีอากาศหนาวเย็น แต่การเดินทางมาศึกษาดูงานครั้งนี้ ทั้งคณะต้องเผชิญกับคลื่นความร้อน ซึ่งมีอุณหภูมิสูงถึง 38-40 องศาเซลเซียส ดังนั้น นักวิจัยและนักวิทยาศาสตร์ของประเทศยุโรปจึงพยายามคิดค้นวิธีที่จะอยู่กับโลกที่มีอุณหภูมิสูงขึ้น หลายประเทศในแถบนี้จึงหันมาให้ความสำคัญกับการออกแบบและพัฒนาเมืองอัจฉริยะ หรือ smart city กันอย่างจริงจัง โดยให้ความสำคัญกับการบริหารจัดการพลังงานและสิ่งแวดล้อมอย่างเป็นระบบและมีประสิทธิภาพ วางแผนการก่อสร้างระบบสาธารณูปโภคและโครงสร้างพื้นฐานที่ผสมผสานกับเทคโนโลยีที่ทันสมัย

“ที่น่าสนใจมีอยู่ 2 เมือง คือ เมือง Aspern Seestadt ประเทศออสเตรีย ที่นี่ก็มีการจัดทำโครงการ Smart City บนพื้นที่ 1,500 ไร่ ซึ่งอยู่ห่างจากกรุงเวียนนาประมาณ 15 กิโลเมตร โดยมีบริษัท Siemens เป็นแกนนำในการพัฒนาด้านนวัตกรรมผ่านศูนย์ Smart City Research เชื่อมโยงกับอาคารที่อยู่อาศัย สำนักงาน บริการทางด้านวิทยาศาสตร์ วิจัยและพัฒนาแก่ภาคธุรกิจ ส่วนที่ Aspern Smart City จะเน้นเรื่องระบบคมนาคมขนส่ง คล้ายกับโครงการพัฒนาพื้นที่เชิงพาณิชย์สถานีรถไฟบางซื่อของการรถไฟแห่งประเทศไทย”

Aspern Smart City เมืองเวียนนา ประเทศออสเตรีย
ที่มาภาพ: www.tovatt.com/
Grenoble Innovation for Advanced New Technologies: GIANT
เมืองเกรอโนเบิล ประเทศฝรั่งเศส
โครงการ GIANT Innovation PARK

สำหรับ smart city ที่มีลักษณะใกล้เคียงกับโครงการวังจันทร์วัลเลย์ มากที่สุดจะอยู่ที่เมืองเกรอโนเบิล (Grenoble) ประเทศฝรั่งเศส ที่นี่มีจุดเริ่มต้นจากอุตสาหกรรมหนักคล้ายกับโครงการ EEC ของรัฐบาล ต่อมาถูกพัฒนาขึ้นเป็น smart city โดยให้ความสำคัญกับเรื่องการพัฒนานวัตกรรมพลังงานทดแทน ทั้งพลังงานลม, โซลาร์เซลล์, ขยะ และของเสียต่างๆ ทั้งหมดถูกนำมาใช้ในการผลิตกระแสไฟฟ้า โดยมีบริษัท Schneider Electric เป็นผู้ดูแลในเรื่องของนวัตกรรม รวมทั้งมีการวางระบบเซ็นเซอร์ตรวจวัดอุณหภูมิ และปริมาณการใช้พลังงานได้ทุกพื้นที่อย่างมีประสิทธิภาพ

การออกแบบตัวอาคารที่อยู่อาศัย หรือสำนักงานของที่เมืองเกรอโนเบิลคำนึงถึงหลักธรรมชาติเป็นสำคัญ ยกตัวอย่าง ช่วงกลางคืนมีอากาศหนาวเย็นกว่าช่วงกลางวัน สถาปนิกก็ออกแบบตัวอาคารให้สามารถกักเก็บอากาศเย็นเอาไว้ภายในตัวอาคาร ส่วนน้ำฝน, น้ำที่บริโภคแล้ว และของเสียต่างๆ ถูกเก็บไว้ในใต้ถุนของตัวอาคาร เพื่อหล่อเลี้ยงตัวอาคารให้เกิดความเย็น ช่วยประหยัดการใช้พลังงาน ส่วนขยะก็มีการคัดแยก ส่วนหนึ่งนำไปรีไซเคิลกลับมาใช้ใหม่ และอีกส่วนหนึ่งนำไปใช้ผลิตกระแสไฟฟ้า หรือ ที่เรียกว่า “zero waste” ทุกอย่างถูกวางแผนไว้อย่างเป็นระบบ ปัจจุบันประเทศฝรั่งเศสตั้งเป้าหมายที่จะใช้พลังงานทดแทนผลิตกระแสไฟฟ้าแทนพลังงานนิวเคลียร์ให้ได้ 100% ภายในปี 2050

นอกจากนี้ เมืองเกรอโนเบิลยังเป็นศูนย์รวมของหน่วยงานวิจัย และสถาบันการศึกษาชั้นนำของฝรั่งเศส หรือ ที่เรียกว่า “Grenoble Innovation for Advanced New Technologies” (GIANT Innovation Campus) คอยความช่วยเหลือและสนับสนุนด้านการวิจัยและพัฒนาแก่ผู้ประกอบการอุตสาหกรรมอย่างครบวงจร จนทำให้เกรอโนเบิลได้รับการจัดอันดับจากนิตยสาร Forbes ให้เป็นเมืองที่มีความคิดสร้างสรรค์อันดับที่ 5 ของโลก ที่มุ่งเน้นความเป็นเลิศทางด้านการพัฒนานวัตกรรม สาขาไมโครและนาโนเทคโนโลยี (Minatec), พลังงานและสิ่งแวดล้อม, ชีวศาสตร์ และเทคโนโลยีชีวภาพ

การศึกษาดูงานที่ออสเตรียและฝรั่งเศสจะนำมาประยุกต์ใช้กับโครงการ “วังจันทร์วัลเลย์” อย่างไรนั้น นายชาญศิลป์ กล่าวว่า โครงการวังจันทร์วัลเลย์ถือเป็น innovation platform ครั้งแรกของเมืองไทย โดย ปตท.เป็น 1 ใน 50 หน่วยงาน ที่ร่วมพยายามผลักดันให้โครงการนี้เกิดผลอย่างเป็นรูปธรรม ซึ่งที่ผ่านมาบริษัทเครือในเครือ ปตท.และพันธมิตรได้เข้ามาลงทุนในพื้นที่ EECi แล้วประกอบด้วย บริษัท ปตท.สำรวจและผลิตปิโตรเลียม จำกัด (มหาชน) หรือ PTTEP, บริษัท พีทีที โกลบอล เคมิคอล จำกัด (มหาชน) หรือ PTTGC, บริษัท ไออาร์พีซี จำกัด (มหาชน) หรือ IRPC, บริษัท โกลบอล เพาเวอร์ ซินเนอร์ยี่ จำกัด (มหาชน) หรือ GPSC, บริษัท ไทยออยล์ จำกัด (มหาชน) หรือ TOP และ บริษัท ปตท. น้ำมันและการค้าปลีก จำกัด (PTTOR) ร่วมกับพันธมิตรของ ปตท. ไม่ว่าจะเป็น ธนาคารไทยพาณิชย์, ธนาคารกสิกรไทย และบริษัท บางจาก คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) หรือ BCP เป็นต้น โดยมีเป้าหมายที่จะพัฒนาโครงการวังจันทร์วัลเลย์ให้เป็นเมืองประหยัดพลังงานต้นแบบของเมืองไทย ตอนนี้เริ่มก่อสร้างอาคาร ลงทุนวางระบบสาธารณูปโภคและโครงสร้างพื้นฐาน รวมทั้งสิ่งอำนวยความสะดวกต่างๆ เพื่อทำเป็นศูนย์รวม innovation hub ให้กับเมืองไทย และพร้อมสนับสนุนนักวิจัยและนักวิทยาศาสตร์ไทย ให้สร้างสรรค์นวัตกรรมใหม่ๆ เหมือนกับ GIANT Innovation Campus ของประเทศฝรั่งเศส

“ผมสอบถามเจ้าหน้าที่ที่ GIANT ว่ากว่าจะคิดค้นงานนวัตกรรมใหม่ๆ ได้ในแต่ละเรื่องใช้เวลานานแค่ไหน เจ้าหน้าที่ บอกว่าต้องใช้เวลา 6-10 ปี ผมคิดว่านักวิทยาศาสตร์หรือ วิศวกรของไทยเองก็ไม่แพ้ชาติใดในโลกนี้ ปัจจุบันมีนักวิทยาศาสตร์ไทยหลายคนไปทำงานให้กับบริษัทชั้นนำของโลก สามารถคิดค้นเทคโนโลยีใหม่ได้ และนำกลับมาขายให้กับคนไทย แต่ทำไมเราไม่ดึงคนเก่งๆ เหล่านี้กลับมาทำงานให้กับประเทศไทยบ้าง” นายชาญศิลป์ กล่าว

นายชาญศิลป์กล่าวต่อปตท.จะสนับสนุนโครงการนี้อย่างต่อเนื่องอีก 10 ปี ขณะนี้ได้จัดสรรงบประมาณเข้ามาลงทุนพัฒนาพื้นที่ EECi แล้วประมาณ 3,000 ล้านบาท และล่าสุดที่ประชุมบอร์ด ปตท.มีมติเห็นชอบให้จัดสรรงบประมาณมาสนับสนุนโรงเรียนกำเนิดวิทย์ (KVIS) และสถาบันวิทยสิริเมธี (VISTEC) ซึ่งตั้งอยู่ในพื้นที่ EECi ทำหน้าที่ผลิตบุคลากรทางด้านวิทยาศาสตร์ และเทคโนโลยี (STEM Education) ต่อไปอีก 10 ปี (ตั้งแต่ปี 2565-2574 )

ด้านนางหงษ์ศรี เจริญวราวุฒิ ผู้อำนวยการโครงการพัฒนาพื้นที่วังจันทร์วัลเลย์ บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) ชี้แจงรายละเอียดของโครงการวังจันทร์วัลเลย์ ว่า ก่อนที่วังจันทร์วัลเลย์จะได้รับการคัดเลือกจากรัฐบาลให้เป็นเมืองอัฉริยะต้นแบบของเมืองไทย ช่วง 4-5 ปีที่ผ่านมา ปตท.ได้เข้าไปลงทุนพัฒนาพื้นที่วังจันทร์วัลเลย์ เริ่มจากการปลูกป่าสร้างพื้นที่สีเขียว ก่อสร้างโรงเรียนกำเนิดวิทย์ และสถาบันวิทยสิริเมธี หลังจากวังจันทร์วัลเลย์ ได้รับการประกาศให้เป็นเขตนวัตกรรมระเบียงเศรษฐกิจภาคตะวันออก (EECi) ปตท.ได้จัดสรรงบประมาณ 3,000 ล้านบาทเข้ามาลงทุนก่อสร้างอาคารและวางโครงสร้างพื้นฐาน โดยเชิญ พล.อ. ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี มาเป็นประธานพิธีเปิดหน้าดินโครงการก่อสร้าง EECi เมื่อวันที่ 27 กุมภาพันธ์ 2562 และได้มีการลงนามในสัญญาว่าจ้างบริษัท อิตาเลี่ยน ไทย ดีเวลล๊อปเม้นท์ (ITD) และบริษัท อิตัลไทย วิศวกรรม (ITE) ก่อสร้างโครงสร้างพื้นฐานของ EECi เมื่อวันที่ 8 พฤษภาคม 2562

ส่วนความคืบหน้าของโครงการ EECi ขณะนี้ได้มีการลงเสาเข็มก่อสร้างตัวอาคาร Intelligence Operating Center (IOC) ซึ่งเป็นหัวใจสำคัญของเมืองอัจฉริยะ ตัวอาคารของ IOC เราใช้ระบบตัว Greenbelt Designing Building เป็นระบบตรวจเช็คพลังงานต่างๆ มี KPI ตรวจจับการใช้พลังงานในตัวอาคาร อุณหภูมิ ในอาคารที่อยู่อาศัย สำนักงาน โดยผู้อาศัย หรือ ผู้เช่าพื้นที่ทุกคนที่อยู่ใน EECi จะเห็นประมาณการใช้น้ำ ใช้ไฟฟ้า ได้ตลอดเวลาผ่าน ซึ่งจะช่วยในเรื่องของการประหยัดพลังงาน คาดว่าจะมีการวางศิลาฤกษ์ในวันที่ 24 กรกฎาคม 2563

ในเร็วๆ นี้ ทาง ปตท.จะมีการลงนามกับบริษัท โกลบอล เพาเวอร์ ซินเนอร์ยี่ จำกัด (มหาชน) (GPSC) เพื่อจัดทำโครงการโซลาร์ฟาร์มและโซลาร์รูฟ ผลิตกระแสไฟฟ้า 2 เมกะวัตต์ ด้านเทคโนโลยีและนวัตกรรม ปตท.ได้มีการลงนามในบันทึกข้อตกลงร่วมกับบริษัท GE ประเทศสหรัฐอเมริกา เพื่อจัดตั้งศูนย์วิจัยและพัฒนานวัตกรรม Global Research Center และยังได้ลงนาม MOU กับบริษัทหัวเว่ย ร่วมกันจัดตั้งศูนย์วิจัยและพัฒนา Innovation Campus ของบริษัทหัวเว่ยด้วย

สำหรับการสร้างพื้นที่อยู่อาศัย (community zone) มีพื้นที่ประมาณ 100 ไร่ จะประกอบไปด้วยอาคารที่อยู่อาศัย โรงแรม โรงเรียนนานาชาติ ศูนย์การค้าและนันทนาการ โดยบริษัทหรือนิติบุคคลต่างชาติที่เข้ามาลงทุนในพื้นที่ EECi จะได้รับสิทธิยกเว้นภาษีเงินได้นิติบุคคลสูงสุดถึง 13 ปี ยกเว้นภาษีอากรขาเข้าเครื่องจักรและวัตถุดิบ สำหรับบุคคลธรรมดาเสียภาษีเงินได้ในอัตรา 17% ของเงินได้ ถือว่าต่ำที่สุดในเอเชีย ส่วนนักลงทุน นักวิทยาศาสตร์ และผู้เชี่ยวชาญจากต่างประเทศจะได้รับวีซ่าทำงาน 5 ปี (smart visa) ศูนย์บริการด้านการลงทุน การขออนุญาตนำเข้า-ส่งออกแบบเบ็ดเสร็จในจุดเดียว (one-stop service) เพื่ออำนวยความสะดวกแก่นักลงทุนทั่วโลก

“EECi มีความสำคัญต่อโครงการ EEC ของรัฐบาลเป็นอย่างมาก หากไม่มี EECi เชื่อว่า Thailand 4.0 ไม่เกิด กล้าพูดอย่างนี้เพราะว่าไทยแลนด์ 4.0 จะเกิดได้ต้องมีนวัตกรรมใหม่ๆ เพื่อการยกระดับประเทศไทยผ่านนวัตกรรม ทางกระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีคิดค้นอุตสาหกรรมที่ใช้เทคโนโลยีขั้นสูงขึ้นมา 6 รายการ เพื่อนำไปสร้าง value added หรือ ต่อยอดให้กับอุตสาหกรรมเป้าหมายของประเทศไทย (S-curve) ซึ่งมีทั้งหมด 12 รายการ” นางหงส์ศรีกล่าว

นางหงส์ศรีกล่าวว่า อุตสาหกรรมขั้นสูงทั้ง 6 รายการที่กระทรวงวิทยาศาสตร์ฯ คัดเลือกเข้ามาอยู่ในโครงการ EECi เริ่มจากอุตสาหกรรมเกษตรแนวใหม่และไบโอเทค สืบเนื่องจากประเทศไทยเป็นประเทศเกษตรกรรม ประชากรส่วนใหญ่เป็นเกษตรกร หากสามารถยกระดับภาคการเกษตรขึ้นมาเป็น “เทคโนโลยีเกษตรสมัยใหม่” ได้ รวมทั้งอุตสาหกรรมไบโอฟีลและไบโอเคมิคอล ก็จะทำให้ประเทศไทยผ่านพ้นกับดักประเทศที่มีรายได้ปานกลางได้

จากการที่พื้นที่จังหวัดระยองส่วนใหญ่จะเป็นอุตสาหกรรมหนัก เรื่องของการพัฒนาแบตเตอรี่ที่มีคุณภาพสูงจึงมีความสำคัญที่จะนำไปใช้เป็นฐานของอุตสาหกรรมรถยนต์ไฟฟ้า, อุตสาหกรรมหุ่นยนต์, ปัญญาประดิษฐ์, การบินและอวกาศ และอุตสาหกรรมผลิตเครื่องมือแพทย์ นี่คืออุตสาหกรรมที่เป็นเป้าหมายใหม่ของประเทศไทย ในส่วนของกระทรวงวิทยาศาสตร์ฯ จึงเตรียมการจัดตั้งศูนย์กลางการวิจัยและนวัตกรรมด้านระบบอัตโนมัติ หุ่นยนต์ และระบบอัจฉริยะ (ARIPOLIS), ศูนย์กลางการวิจัยและนวัตกรรมด้านชีววิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีชีวภาพ (BIOPOLIS) และ ศูนย์กลางและฐานในการรังสรรค์นวัตกรรมจากเทคโนโลยีอวกาศและภูมิสารสนเทศ (SPACE KRENOVAPOLIS) ในส่วนของบริษัท ปตท.สำรวจและผลิตปิโตรเลียม ก็จะเข้ามาลงทุนก่อสร้างโรงงานผลิตหุ่นยนต์สำรวจขุดเจาะปิโตรเลียมใต้น้ำ คาดว่าจะแล้วเสร็จภายในปี 2563

“วันนี้วังจันทร์วัลเลย์พร้อมเป็นฐานนวัตกรรมของประเทศ มุ่งยกระดับคุณภาพของชีวิต ขับเคลื่อนชุมชนสังคมและเศรษฐกิจ สู่ความมั่นคงมั่งคั่งยั่งยืนตามนโยบายไทยแลนด์ 4.0 ด้วยแนวคิดบริหารจัดการเขตนิเวศนวัตกรรมด้วยระบบอัจฉริยะ หรือ smart natural innovation platform ตอบโจทย์วิถีการใช้ชีวิตในอนาคตที่มีความสะดวกสบาย และปลอดภัยภายใต้แนวคิดเมืองอัจฉริยะ ทั้งด้านเทคโนโลยี พลังงาน และสิ่งแวดล้อม” นางหงส์ศรีกล่าว

ป้ายคำ :