ThaiPublica > ข่าวประชาสัมพันธ์ > สกพอ.-สภาพัฒน์ฯ ชูผลสำเร็จแผนบูรณาการ-ต้นแบบความร่วมมือ ขับเคลื่อนเศรษฐกิจ-พัฒนาประเทศ

สกพอ.-สภาพัฒน์ฯ ชูผลสำเร็จแผนบูรณาการ-ต้นแบบความร่วมมือ ขับเคลื่อนเศรษฐกิจ-พัฒนาประเทศ

3 ธันวาคม 2021


ข่าวประชาสัมพันธ์

สกพอ.จับมือ สภาพัฒน์ฯ ชูผลสำเร็จแผนบูรณาการ-ต้นแบบความร่วมมือระหว่าง “ภาครัฐ-เอกชน-ท้องถิ่น-ประชาชน” ในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจ-พัฒนาประเทศอย่างเป็นรูปธรรม

สำนักงานคณะกรรมการนโยบายเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวัน (สกพอ.) หรือ อีอีซี ร่วมกับ สำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) จัดทำ แผนบูรณาการ อีอีซี เพื่อบูรณาการการพัฒนาเชิงพื้นที่อีอีซีอย่างเป็นระบบ โดยโครงการในงานแผนบูรณาการเป็นแผนภาพรวมเพื่อพัฒนาเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก ในกรอบระยะ 5 ปี ตามเป้าหมายแผนแม่บทภายใต้แผนยุทธศาสตร์ชาติ และ แผนปฏิรูปประเทศ ที่เป็นต้นแบบการสร้างการมีส่วนร่วม รัฐเอกชน ท้องถิ่น ประชาชน อย่างเป็นรูปธรรม ภายใต้แนวคิด “ร่วมคิด ร่วมลงทุน ร่วมพัฒนา” โดยที่ผ่านมา ตั้งแต่ ปี 2561-2565 ได้มีการขับเคลื่อนงานร่วมกันกว่า 14 กระทรวง 43 หน่วยงาน ได้รับอนุมัติงบประมาณ ถึง พ.ศ. 2567 แล้ว 82,000 ล้านบาท หรือ คิดเป็นร้อยละ 5 ของงบลงทุนที่ได้อนุมัติ ซึ่งปัจจุบันได้รับจัดสรรไปแล้วกว่า 70,000 ล้านบาท สามารถดึงดูดการลงทุนในอุตสาหกรรมเป้าหมาย และเกิดมูลค่าการออกบัตรส่งเสริมการลงทุนอุตสาหกรรมเป้าหมายจำนวน 924,734 ล้านบาท เกิดมูลค่าลงทุนจริงในพื้นที่อุตสาหกรรม รวมทั้งสิ้น 728,838 ล้านบาท

นอกจากนี้ ทำให้เกิดประโยชน์ทั้งด้านเศรษฐกิจ สังคม คมนาคม ขนส่ง และการท่องเที่ยว นำไปสู่คุณภาพชีวิตที่ดีของชุมชนคนในพื้นที่อีอีซี อาทิ โครงการโครงสร้างพื้นฐาน ปรับปรุงทางหลวงและทางหลวงชนบท 40 เส้นทาง การก่อสร้างสะพานชลมารควิถี 84 พรรษา การพัฒนาท่าเรือจุดเสม็ด ต้นแบบ 5G ในพื้นที่บ้านฉาง การพัฒนาทักษะบุคคลากร “อีอีซีโมเดล” สร้างคนตรงความต้องการ การเตรียมความพร้อมโครงสร้างพื้นฐานดิจิทัล ซึ่งคาดว่าจะสามารถดึงดูดนักลงทุนเข้าสู่พื้นที่อีอีซีกว่า 12,000 ล้านบาท ก่อให้เกิดรายได้ทางเศรษฐกิจและสังคมกว่า 37,000 ล้านบาท

ทั้งนี้ แผนงานบูรณาการในปี 2566 เน้น “ขับเคลื่อนเศรษฐกิจ ยกระดับคุณภาพชีวิตอย่างบูรณาการและยั่งยืน” โดยกำหนดเป้าหมายการลงทุน 500,000 ล้านบาทต่อปี ซึ่งเป็นไปตามแผนการลงทุนอีอีซีในระยะ 5 ปีข้างหน้า (ปี 2565-2569) ของ สกพอ.ที่ปรับเป้าหมายการลงทุน เป็น 2.2 ล้านล้านบาทต่อปี โดยในปี 2566 ได้กำหนดแนวทางสำคัญภายใต้แผนงานบูรณาการ 4 แนวทางตามภารกิจที่สำคัญ ที่เชื่อมโยงส่งต่อการดำเนินงานร่วมกันในลักษณะ ต้นน้ำ กลางน้ำ และปลายน้ำ ได้แก่

    1) ต่อยอดโครงสร้างพื้นฐานระบบสาธารณูปโภค และระบบดิจิทัล เชื่อมโยงโครงสร้างพื้นฐานกับพื้นที่เศรษฐกิจอย่างไร้รอยต่อ ควบคู่การวางโครงข่ายดิจิทัลเพื่อดึงทุนเอกชน รองรับการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคม
    2) พัฒนาและยกระดับบุคลากร การศึกษา วิจัย และนวัตกรรม หลอมรวมการศึกษา พัฒนาทักษะบุคลากร สู่การปฏิบัติงานจริงในภาคอุตสาหกรรม และพัฒนาพื้นที่นวัตกรรม รองรับการวิจัยชั้นนำ พร้อมขยายผลเชิงพาณิชย์
    3) พัฒนาเมืองเพื่อยกระดับคุณภาพชีวิตอย่างยั่งยืน พลิกฟื้นเศรษฐกิจ สร้างระบบนิเวศเมืองด้วยการพัฒนาแหล่งท่องเที่ยวชุมชน เกษตรอัจฉริยะ สาธารณสุข เมืองน่าอยู่ และสิ่งแวดล้อม
    4) ดึงดูดการลงทุนอุตสาหกรรมเป้าหมายใหม่ ผลักดันการลงทุนในอุตสาหกรรมเทคโนโลยีขั้นสูง ที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม ขับเคลื่อนการลงทุนเศรษฐกิจหมุนเวียน เพิ่มขีดความสามารถการแข่งขันให้เศรษฐกิจเติบโตได้ในระยะยาว

การขับเคลื่อนแผนงานบูรณาการ อีอีซี ถือเป็นกลไกสำคัญในการพัฒนาพื้นที่อีอีซี ให้เป็นทิศทางและเป้าหมายเดียวกัน เพื่อให้เกิดการลงทุนจากภาครัฐและภาคเอกชน ในพื้นที่เขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก(ฉะเชิงเทรา,ชลบุรีและระยอง) และพื้นที่ที่เกี่ยวข้อง ก่อให้เกิดการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจและการขยายตัวของ GDP ทั้งในระดับพื้นที่และในภาพรวมของประเทศ เกิดการจ้างงานและสร้างรายได้ให้แก่ประชาชนทุกกลุ่ม เกิดการพัฒนาอย่างสมดุลและยั่งยืน ทั้งด้านอุตสาหกรรมเป้าหมาย 12 อุตสาหกรรมที่ใช้เทคโนโลยีชั้นสูงและเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม การพัฒนาภาคการเกษตรด้วยเทคโนโลยีสมัยใหม่ตามแนวคิด “การตลาดนำการผลิต” การท่องเที่ยวคุณภาพสูงที่มีการกระจายรายได้ไปยังชุมชนต่าง ๆ ทั่วถึง การพัฒนาการศึกษาด้วยแนวคิด Demand Driven ที่มุ่งตอบสนองความต้องการของอุตสาหกรรมเป้าหมาย รวมทั้งการพัฒนาเมืองน่าอยู่อัจฉริยะที่มีสิ่งแวดล้อมที่ดีและระบบสาธารณสุขที่พร้อมให้บริการอย่างเต็มศักยภาพ ช่วยให้ประเทศไทยสามารถหลุดพ้นจากกับดักรายได้ปานกลาง กลายเป็นประเทศพัฒนาแล้วที่ประชาชนมีคุณภาพชีวิตที่ดีอย่างแท้จริง