ThaiPublica > Sustainability > Headline > บจ. ไทยครองแชมป์เข้าดัชนี DJSI สูงสุดในอาเซียนต่อเนื่องเป็นปีที่ 8

บจ. ไทยครองแชมป์เข้าดัชนี DJSI สูงสุดในอาเซียนต่อเนื่องเป็นปีที่ 8

15 พฤศจิกายน 2021


ตลาดหลักทรัพย์ฯ เผยบริษัทจดทะเบียนไทย (บจ.) พัฒนาการดำเนินงานด้านความยั่งยืนต่อเนื่องโดดเด่นระดับโลก ในปี 2564 นี้ บจ. ไทย 24 แห่ง ได้รับคัดเลือกเป็นสมาชิกของดัชนีความยั่งยืนดาวโจนส์ (Dow Jones Sustainability Indices: DJSI) ได้แก่ ADVANC, AOT, BANPU, BDMS, BJC, BTS, CPALL, CPF, CPN, DELTA, EGCO, HMPRO, IRPC, IVL, KBANK, MINT, PTT, PTTEP, PTTGC, SCB, SCC, TOP, TRUE และ TU ในจำนวนนี้ บจ. ที่ได้รับการคัดเลือกเข้าใหม่ในปีนี้คือ BDMS, BJC, DELTA โดยประเทศไทยเป็นประเทศที่มี บจ. ได้รับคัดเลือกสูงสุดในอาเซียนต่อเนื่องเป็นปีที่ 8 แสดงถึง บจ. ไทยมุ่งมั่นให้ความสำคัญกับการดำเนินธุรกิจอย่างสมดุลทั้งธุรกิจและสังคม สร้างความเชื่อมั่นในสายตาผู้ลงทุนทั้งในและต่างประเทศ

นายภากร ปีตธวัชชัย กรรมการและผู้จัดการ ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย เปิดเผยว่า ตลาดหลักทรัพย์ฯ ส่งเสริมตลาดทุนไทยให้เกิดการพัฒนาที่ยั่งยืนอย่างต่อเนื่อง โดยคำนึงถึงสิ่งแวดล้อม สังคม และ บรรษัทภิบาล (Environmental, Social, Governance: ESG) เพื่อการเติบโตอย่างสมดุล สอดคล้องวิสัยทัศน์ของตลาดหลักทรัพย์ฯ ในการพัฒนาตลาดทุนเพื่อทุกภาคส่วน “To Make the Capital Market ‘Work’ for Everyone” ซึ่ง บจ. ไทยได้รับเชิญให้เข้าร่วมประเมินความยั่งยืนในระดับสากลเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องตั้งแต่ปี 2561 ในปีนี้ 24 บจ. ไทยได้รับการยอมรับในระดับโลกให้เป็นสมาชิกของดัชนีความยั่งยืน DJSI ซึ่งเป็นจำนวนสูงสุดในอาเซียนต่อเนื่องเป็นปีที่ 8 และเพิ่มขึ้นจากปีที่แล้ว 3 บจ. สะท้อนถึงความมุ่งมั่นและการให้ความสำคัญของ บจ. ในการดำเนินงานด้านความยั่งยืน

ดร.ภากร ปีตธวัชชัย กรรมการและผู้จัดการ ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย

“การดำเนินธุรกิจโดยยึดหลักความยั่งยืนนอกจากส่งผลดีต่อสังคมและสิ่งแวดล้อมแล้ว ยังเป็นกลไกการบริหารความเสี่ยงช่วยเสริมศักยภาพธุรกิจให้แข็งแกร่ง ซึ่งปัจจุบัน บจ. ไทยนำกลยุทธ์ด้านความยั่งยืนมาบริหารจัดการธุรกิจเพื่อนำองค์กรก้าวผ่านวิกฤตต่าง ๆ การที่ บจ. ไทยได้รับคัดเลือกเป็นสมาชิกของดัชนีความยั่งยืน DJSI โดยมีจำนวนเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง สะท้อนให้เห็นว่าธุรกิจให้ความสำคัญทั้งการสร้างผลประกอบการที่ดีควบคู่ไปกับการดำเนินงานด้าน ESG โดยให้ความสำคัญในการระบุความเสี่ยงที่เกิดขึ้นใหม่ (Emerging Risk) ที่รอบด้านมากขึ้นทั้งความเสี่ยงด้านสภาพภูมิอากาศ (Climate Risk) และความเสี่ยงด้านสิทธิมนุษยชน (Human Rights Risk) ในองค์กรและห่วงโซ่อุปทาน ซึ่งทั่วโลกได้ให้ความสนใจเป็นอย่างมาก อีกทั้งมีการเปิดเผยข้อมูลด้านความยั่งยืนเพิ่มมากขึ้นซึ่งสอดคล้องกับการประเมินความยั่งยืนของ DJSI ที่ให้ความสำคัญกับการเปิดเผยข้อมูลของบริษัทและเป็นไปตามกระแสความต้องการข้อมูลด้านความยั่งยืนเพื่อนำไปใช้ในการวิเคราะห์และตัดสินใจลงทุน อีกทั้งกระแสการลงทุนอย่างยั่งยืนเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องทั้งในประเทศและต่างประเทศ การเข้าสู่ดัชนี DJSI จะช่วยเพิ่มความน่าสนใจของตลาดทุนไทยและความน่าเชื่อถือในสายตาของผู้ลงทุนทั้งในและต่างประเทศ ซึ่งปัจจุบันกองทุนรวมไทยมีความสนใจการลงทุนในหุ้นที่เติบโตยั่งยืน โดยในปีนี้มีกองทุน ESG Fund ถึง 60 กองทุน มูลค่าสินทรัพย์สุทธิรวมกว่า 57,021 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 96% จากต้นปี 2564 นอกจากนี้รายงานจาก UN Principles for Responsible Investment: PRI ยังพบว่า 82% ของผู้ลงทุนสถาบันนำปัจจัยด้าน ESG เข้าสู่กระบวนการคัดเลือกและติดตามหุ้นที่ลงทุนอีกด้วย” นายภากรกล่าว

บจ. ไทย 24 แห่งที่ได้รับคัดเลือกเป็นสมาชิกของดัชนีความยั่งยืน DJSI ได้แก่ ADVANC, AOT, BANPU, BDMS, BJC, BTS, CPALL, CPF, CPN, DELTA, EGCO, HMPRO, IRPC, IVL, KBANK, MINT, PTT, PTTEP, PTTGC, SCB, SCC, TOP, TRUE และ TU ในจำนวนนี้ บจ. ที่ได้รับการคัดเลือกเข้าใหม่ในปีนี้คือ BDMS, BJC, DELTA และมี 12 บจ. อยู่ในดัชนีกลุ่ม DJSI World ซึ่งเป็นบริษัทชั้นนำระดับโลกที่มีศักยภาพทั้งในด้านขนาดและผลการประเมินความยั่งยืน ได้แก่ ADVANC, AOT, CPALL, CPN, DELTA, IVL, KBANK, PTT, PTTEP, PTTGC, SCB และ SCC

ทั้งนี้ การประกาศรายชื่อสมาชิกในกลุ่ม DJSI ในครั้งนี้จะมีผลตั้งแต่วันที่ 22 พฤศจิกายน 2564 โดยมีการทบทวนและประกาศรายชื่อสมาชิกในกลุ่ม DJSI ในช่วงเดือนกันยายนของทุกปี

เนื่องจาก BTS ได้เป็นสมาชิกของดัชนี DJSI ในปี 2564 จึงได้รับการคัดเลือกให้อยู่ในรายชื่อหุ้นยั่งยืน THSI (Thailand Sustainability Investment) ประจำปี 2564 ซึ่งเป็นไปตามหลักเกณฑ์การคัดเลือกหุ้นยั่งยืน THSI ของตลาดหลักทรัพย์ฯ

เอสซีจี บริษัทยั่งยืนระดับโลก 18 ปีต่อเนื่องจาก DJSI

นายรุ่งโรจน์ รังสิโยภาส กรรมการผู้จัดการใหญ่ เอสซีจี

เอสซีจี ได้รับการประเมินและจัดอันดับในดัชนีความยั่งยืน Dow Jones Sustainability Indices หรือ DJSI ให้เป็นบริษัทยั่งยืนระดับโลก ประเภท DJSI World และ DJSI Emerging Markets ในสาขาอุตสาหกรรมวัสดุก่อสร้าง (Construction Materials) ในปี 2564 ต่อเนื่องเป็นปีที่ 18 โดยเอสซีจี เป็นองค์กรแรกในอาเซียนที่ได้รับเลือกให้เป็นสมาชิกตั้งแต่ปี 2547

เอสซีจี มุ่งมั่นพัฒนาคุณภาพชีวิตที่ดีในวันนี้ และส่งต่อโลกใบนี้ที่ดียิ่งขึ้นให้คนรุ่นต่อไป เพื่อบรรลุเป้าหมายความยั่งยืนของโลก ด้วยการดำเนินธุรกิจไปพร้อมกับกลยุทธ์ ESG (Environmental, Social, Governance) อย่างสมดุล ตามคำมั่นสัญญา “Passion for Better”

Dow Jones Sustainability Indices หรือ DJSI คือ ดัชนีวัดความยั่งยืนที่ใช้ประเมินผลบริษัทที่เป็นกลุ่มผู้นำด้านการดำเนินธุรกิจอย่างยั่งยืน หรือประเมินประสิทธิผลการดำเนินธุรกิจตามแนวทางการพัฒนาอย่างยั่งยืนของบริษัทชั้นนำ ทั้งในด้านบรรษัทภิบาลและเศรษฐกิจ สิ่งแวดล้อม และสังคม นับเป็นดัชนีวัดความยั่งยืนดัชนีแรกของโลก เริ่มดำเนินการมาตั้งแต่ปี 2542 โดยสถาบันการลงทุนและกองทุนต่าง ๆ จากทั่วโลกใช้เป็นข้อมูลประกอบการลงทุน เพราะมีความเชื่อมั่นว่าบริษัทที่อยู่ใน DJSI จะสามารถสร้างคุณค่าที่ยั่งยืนในระยะยาว และเติบโตอย่างมั่นคงพร้อมกับผู้มีส่วนได้เสียทุกกลุ่ม

ปตท.สผ. ติดอันดับดัชนี DJSI ต่อเนื่องเป็นปีที่ 8

นายมนตรี ลาวัลย์ชัยกุล ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท ปตท.สำรวจและผลิตปิโตรเลียม จำกัด (มหาชน)

ปตท.สผ. ได้รับคัดเลือกให้เป็นสมาชิกในกลุ่มดัชนีความยั่งยืนดาวโจนส์ หรือ Dow Jones Sustainability Indices (DJSI) ระดับโลก ต่อเนื่องเป็นปีที่ 8 ในกลุ่มธุรกิจน้ำมันและก๊าซ ประเภทธุรกิจขั้นต้นและธุรกิจครบวงจร (World Oil and Gas Upstream & Integrated Industry)

นายมนตรี ลาวัลย์ชัยกุล ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท ปตท.สำรวจและผลิตปิโตรเลียม จำกัด (มหาชน) หรือ ปตท.สผ. กล่าวว่า “นับเป็นอีกหนึ่งความภาคภูมิใจที่ ปตท.สผ. ได้รับเลือกให้เป็นสมาชิก DJSI ในปีนี้ และยังได้รับการประเมินในระดับดีเยี่ยม (Best in Class) ในหลายหัวข้อ ซึ่งสะท้อนให้เห็นถึงความมุ่งมั่นของ ปตท.สผ. และพนักงานทุกคนในการดำเนินงานภายใต้กรอบแนวคิดด้านการพัฒนาอย่างยั่งยืนของบริษัท ซึ่งเราเชื่อว่าหากการดำเนินธุรกิจอยู่บนรากฐานของการกำกับดูแลกิจการที่ดี มีการเติบโตอย่างแข็งแกร่ง และคำนึงถึงคุณค่าในระยะยาวต่อผู้มีส่วนได้เสียทุกฝ่าย รวมทั้ง เตรียมพร้อมรับมือกับความท้าทายต่าง ๆ ในอนาคต จะทำให้เราประสบความสำเร็จในการสร้างความยั่งยืนให้กับบริษัทไปพร้อม ๆ กับเสริมสร้างความมั่นคงทางพลังงานให้กับประเทศ และสังคมโดยรวม”

ดัชนีความยั่งยืนดาวโจนส์ หรือ DJSI เป็นดัชนีประเมินความยั่งยืนที่ได้รับการยอมรับระดับสากล ซึ่งใช้วัดประสิทธิผลการดำเนินธุรกิจตามแนวทางการพัฒนาอย่างยั่งยืนของ 7,000 บริษัทชั้นนำทั่วโลก โดยการคัดเลือกสมาชิกในกลุ่มดัชนี DJSI จะพิจารณาจากผลประกอบการที่ดี ควบคู่ไปกับการดำเนินงานด้านสังคม และด้านสิ่งแวดล้อม ทั้งนี้ DJSI เป็นดัชนีหลักซึ่งกองทุนที่ให้ความสำคัญกับความยั่งยืนจะอ้างอิงถึงเพื่อใช้ประกอบการพิจารณาการลงทุน

ไทยพาณิชย์ติด 4 ปีซ้อน

นายเสถียร เลี้ยววาริณ รองผู้จัดการใหญ่อาวุโส ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร กลุ่มงานกลยุทธ์องค์กร ธนาคารไทยพาณิชย์ จำกัด (มหาชน)

ธนาคารไทยพาณิชย์ (SCB) ได้รับคัดเลือกเป็นสมาชิกในดัชนีความยั่งยืนดาวโจนส์ (Dow Jones Sustainability Indices หรือ DJSI) ในกลุ่มดัชนีโลก (World Index) และดัชนีตลาดเกิดใหม่ (Emerging Markets Index) ประจำปี 2564 หมวดธุรกิจธนาคาร ต่อเนื่องเป็นปีที่ 4 จากธนาคารทั่วโลกที่ได้รับเชิญเข้าร่วมการประเมินจำนวนทั้งสิ้น 168 แห่ง

นายเสถียร เลี้ยววาริณ รองผู้จัดการใหญ่อาวุโส ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร กลุ่มงานกลยุทธ์องค์กร ธนาคารไทยพาณิชย์ จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า “การที่ธนาคารไทยพาณิชย์ได้รับคัดเลือกเป็นสมาชิกในดัชนีความยั่งยืนดาวโจนส์ (Dow Jones Sustainability Indices หรือ DJSI) ประจำปี 2564 ต่อเนื่องเป็นปีที่ 4 สะท้อนถึงความสามารถในการบริหารจัดการความมุ่งมั่นด้านความยั่งยืนทั้งมิติเศรษฐกิจ สังคม และสิ่งแวดล้อมท่ามกลางช่วงเวลาที่ท้าทาย ภายใต้กรอบยุทธศาสตร์ 3 เสาหลัก ‘SCB’ ประกอบด้วย การเงินที่ยั่งยืน (Sustainable Finance) สังคมแห่งคุณค่า (Creating Social Impact) และสิ่งแวดล้อมเพื่ออนาคต (Better Environmental Future) บนพื้นฐานการกำกับดูแลกิจการที่ดีและการดูแลบุคลากร โดยธนาคารได้นำเทคโนโลยีดิจิทัลมาช่วยเสริมสร้างการเปลี่ยนแปลงเชิงบวก ซึ่งมีส่วนสำคัญในการพัฒนาผลการดำเนินงานความยั่งยืน โดยเฉพาะการยกระดับการเงินที่ยั่งยืนและการส่งเสริมการเข้าถึงบริการทางการเงินอย่างทั่วถึง”

ไทยพาณิชย์มีความมุ่งมั่นและทุ่มเทในการพัฒนาความยั่งยืนให้เกิดทั้งระบบ โดยอาศัยแนวทาง ‘3C’ ได้แก่ ความมุ่งมั่น (Commitment) การปรับปรุงพัฒนาอย่างต่อเนื่อง (Continuous Improvement) และความร่วมมือ (Collaboration) เพราะการทำคนเดียวจะไม่เกิดแรงส่ง จึงต้องประสานความร่วมมือทั้งภายในและภายนอกองค์กร เพื่อสร้างระบบนิเวศธุรกิจ (Business ecosystem) ให้เติบโตไปพร้อมกัน ทั้งนี้ สิ่งสำคัญที่ผลักดันให้เกิดความยั่งยืนมาจากจิตสำนึกของพนักงาน (Mindset) ซึ่งเป็นจุดเริ่มต้นเล็ก ๆ แต่เป็นพลังที่ยิ่งใหญ่ในการทำให้องค์กรมีความคล่องตัวและยืดหยุ่นต่อการทำธุรกิจอย่างยั่งยืนในยุคดิจิทัล

นายเสถียรกล่าวเพิ่มเติมว่า แนวโน้มการเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นอยู่ตลอดเวลา ทำให้ธนาคารจำเป็นต้องปรับตัวอย่างรวดเร็ว แต่ไม่ว่าจะปรับเปลี่ยนกลยุทธ์ โครงสร้างองค์กร วิธีการทำงาน หรือรูปแบบการทำธุรกิจไปอย่างไร สิ่งที่จะไม่มีวันเปลี่ยนแปลง คือ การทำธุรกิจที่คำนึงถึงสิ่งแวดล้อม แบ่งปันช่วยเหลือสังคม และมีธรรมาภิบาลสูงสุดตามแนวคิด ESG (Environmental, Social, Governance) เพื่อผลักดันให้ทุกก้าวเดินของไทยพาณิชย์ไปสู่การเป็นองค์กรไทยที่มีบทบาทด้านความยั่งยืนในระดับภูมิภาค เป็นเสาหลักในการช่วยเหลือสังคม และดูแลรักษาโลกใบนี้เพื่อลูกหลานของเราต่อไป ตามพันธกิจ “การดำรงอยู่ของเราเพื่ออนาคตที่ยั่งยืนของทุกคน”

ซีพี ออลล์ ผู้นำอันดับ 1 กลุ่ม Food & Staples Retailing 5 ปีซ้อน

นายธานินทร์ บูรณมานิต ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บมจ.ซีพี ออลล์

ผลการประเมินประสิทธิผลการดำเนินธุรกิจตามแนวทางการพัฒนาอย่างยั่งยืนของบริษัทชั้นนำระดับโลก โดย S&P Dow Jones Indices และ RobecoSAM ประจำปี 2021 ปรากฏว่า บริษัท ซีพี ออลล์ จำกัด (มหาชน) ผู้บริหารเซเว่น อีเลฟเว่น และเซเว่น เดลิเวอรี่ ได้รับคัดเลือกเป็นสมาชิกของดัชนีความยั่งยืนดาวโจนส์ (Dow Jones Sustainability Indices) หรือ DJSI อุตสาหกรรม Food & Staples Retailing กลุ่มดัชนี DJSI Emerging Markets ต่อเนื่องเป็นปีที่ 5 (2017-2021) และกลุ่มดัชนี DJSI World ต่อเนื่องเป็นปีที่ 4 (2018-2021) และยังเป็นผู้นำอุตสาหกรรม (Industry Leader) ดังกล่าวอีกด้วย ถือเป็นสิ่งที่การันตีถึงการบริหารธุรกิจให้เติบโต ไปพร้อมกับการสร้างคุณค่าแห่งความยั่งยืนในทุกมิติตลอดระยะเวลากว่า 30 ปีที่ผ่านมา

ดัชนีความยั่งยืนดาวโจนส์ หรือ DJSI ถูกพัฒนาขึ้นในปี 1999 เป็นตัวชี้วัดที่ผู้ลงทุนสถาบันทั่วโลกให้การยอมรับ และใช้เป็นข้อมูลในการลงทุน เพื่อเลือกลงทุนอย่างมีความรับผิดชอบ กลั่นกรองมาจากการใช้ข้อมูลเชิงลึกที่โปร่งใสมีประสิทธิภาพผ่านแบบประเมินด้านความยั่งยืน Corporate Sustainability Assessment (CSA) โดยครอบคลุมใน 3 ด้านหลัก ได้แก่ สิ่งแวดล้อม (Environmental) สังคม (Social) และธรรมาภิบาลและเศรษฐกิจ (Governance & Economic) มีบริษัทชั้นนำเข้ารับการประเมินกว่า 8,000 แห่ง คิดเป็นร้อยละ 90 ของมูลค่าตลาดทุนโลก

นายธานินทร์ บูรณมานิต ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บมจ.ซีพี ออลล์ กล่าวว่า ตลอดระยะเวลา 33 ปี ซีพี ออลล์ มุ่งมั่นพัฒนาอย่างต่อเนื่อง เพื่อความสะดวก และความเป็นอยู่ที่ดีขึ้นของชุมชน สังคม แต่ละย่างก้าวของความสำเร็จ บริษัทฯ ไม่เพียงคำนึงถึงการพัฒนาธุรกิจสู่ความเป็นเลิศ แต่การพัฒนาอย่างยั่งยืนเพื่อสร้างความเข้มแข็งให้กับประเทศชาติ ประชาชน และองค์กร ตามค่านิยม 3 ประโยชน์ของเครือเจริญโภคภัณฑ์นั้นเป็นสิ่งที่ได้ยึดมั่นเสมอมา ซึ่งการยังคงได้รับคัดเลือกเป็นสมาชิก DJSI อย่างต่อเนื่อง จึงถือเป็นความภาคภูมิใจอันมาจากความร่วมมือร่วมใจ และเป็นภารกิจที่ทุกคนในองค์กรจะต้องรักษาเจตนารมย์อันดีนี้ไว้

“ด้วยปณิธานร่วมสร้างสรรค์และแบ่งปันโอกาสต่อกัน เราได้ส่งมอบโอกาสสู่สังคมไม่ว่าจะเป็น SME เกษตรกร กลุ่มเปราะบาง ภายใต้แนวคิดกองหนุนความรู้ กองหนุนความร่วมมือ และกองหนุนช่องทางขาย ขณะเดียวกันได้ให้อนาคตทางการศึกษาแก่เยาวชน และผู้ด้อยโอกาสผ่านโครงการสานอนาคตการศึกษา CONNEXT ED และทุนการศึกษาปัญญาภิวัฒน์ เพื่อเป็นการวางรากฐานให้พึ่งพาตนเองได้ ด้านสิ่งแวดล้อมเราดำเนินกลยุทธ์ 7 Go Green ซึ่งไม่เพียงแต่ภายในองค์กรเท่านั้น แต่ยังสร้างการมีส่วนร่วมทั้งกับคู่ค้า ลูกค้า และชุมชน เพื่อการลดการใช้พลาสติกอย่างเป็นระบบตั้งแต่ต้นน้ำจนถึงปลายน้ำ สำหรับด้านธรรมาภิบาลและเศรษฐกิจ เรามีการส่งเสริมธรรมาภิบาลตลอดห่วงโซ่อุปทานทั้งการสร้างแรงบันดาลใจในหมู่พนักงาน และสร้างความเปลี่ยนแปลงให้กับคู่ค้า เพื่อให้มั่นใจว่าคนของเรามีความซื่อสัตย์ ทุกกระบวนการโปร่งใสตรวจสอบได้ และตั้งแต่การแพร่ระบาดของโควิด-19 เราไม่เคยรีรอที่จะเข้าไปมีส่วนร่วมในการบรรเทาความเดือดร้อนในหมู่ผู้ได้รับผลกระทบ อีกทั้งสนับสนุนภารกิจที่เกี่ยวข้อง เพราะซีพี ออลล์ เป็นองค์กรที่อยู่เคียงคู่สังคมไทยในทุกวิกฤต ซึ่งผลพวงจากปัจจัยนี้ได้นำมาซึ่งชีวิตปกติวิถีใหม่ (New Normal) เราก็พร้อมปรับปรุงพัฒนาสินค้า และบริการเพื่อตอบสนองคนไทยให้ได้รับความสะดวก แต่สร้างความยั่งยืนสู่สังคมต่อไป” นายธานินทร์ กล่าวเสริม

สำหรับผลการประเมินประสิทธิผลการดำเนินธุรกิจตามแนวทางการพัฒนาอย่างยั่งยืนในปีนี้ ซีพี ออลล์ มีคะแนนรวมเพิ่มขึ้นจาก 82 คะแนน เป็น 86 คะแนน ด้านสิ่งแวดล้อม หัวข้อ Packaging เพิ่มจาก 77 เป็น 99 คะแนน GMO จาก 70 เป็น 100 คะแนน Sustainable Agricultural Practice จาก 52 เป็น 78 คะแนน ขณะที่ Environmental reporting และ Water Related Risks ยังรักษาคะแนนเต็ม 100 ไว้ได้เช่นเดิม ด้านสังคม หัวข้อ Labor Practice Indicators เพิ่มจาก 77 เป็น 89 คะแนน Talent Attraction & Retention จาก 55 เป็น 67 คะแนน ขณะที่ Social Reporting ,Human right และ Corporate Citizenship & Philanthropy ยังรักษาคะแนนเต็ม 100 ไว้ได้เช่นเดิม และด้านธรรมาภิบาลและเศรษฐกิจ หัวข้อ Privacy protection เพิ่มจาก 80 เป็น 100 คะแนน ขณะที่ Materiality, Customer Relationship และ Policy influence ยังรักษาคะแนนเต็ม 100 ไว้ได้เช่นเดิม

เอ็กโก กรุ๊ป ติด DJSI กลุ่มดัชนีตลาดเกิดใหม่ต่อเนื่องเป็นปีที่ 2

นายเทพรัตน์ เทพพิทักษ์ กรรมการผู้จัดการใหญ่ เอ็กโก กรุ๊ป

บริษัท ผลิตไฟฟ้า จำกัด (มหาชน) หรือ เอ็กโก กรุ๊ป ติดอันดับดัชนีความยั่งยืนดาวโจนส์ (Dow Jones Sustainability Indices – DJSI) กลุ่มดัชนีตลาดเกิดใหม่ (Emerging Markets Index) ประเภทสาธารณูปโภคไฟฟ้า (Electric Utilities) ประจำปี 2021 ติดต่อกันเป็นปีที่ 2 ตอกย้ำการดำเนินธุรกิจอย่างยั่งยืนตามหลัก ESG (Environmental, Social and Governance) มาอย่างต่อเนื่องตลอด 30 ปี ในฐานะผู้ผลิตไฟฟ้าเอกชนรายใหญ่รายแรกของประเทศไทย พร้อมเดินหน้าขับเคลื่อนธุรกิจสู่สังคมคาร์บอนต่ำ

นายเทพรัตน์ เทพพิทักษ์ กรรมการผู้จัดการใหญ่ เอ็กโก กรุ๊ป เปิดเผยว่า “S&P Dow Jones Indices

ได้ประกาศรายชื่อและทบทวนรายชื่อบริษัทที่ได้รับคัดเลือกให้เป็นสมาชิก DJSI ประจำปี 2021 เมื่อวันที่ 13 พฤศจิกายน ที่ผ่านมา โดยเอ็กโก กรุ๊ป ได้รับคัดเลือกเป็นสมาชิก DJSI กลุ่มดัชนีตลาดเกิดใหม่ ประเภทสาธารณูปโภคไฟฟ้า ต่อเนื่องเป็นปีที่ 2 ความสำเร็จครั้งนี้สะท้อนการยอมรับในระดับโลก และความมุ่งมั่นของเอ็กโก กรุ๊ป ในการดำเนินธุรกิจตามแนวทางการพัฒนาอย่างยั่งยืน ภายใต้หลักการกำกับดูแลกิจการที่ดี ควบคู่กับการดูแลสิ่งแวดล้อมและการพัฒนาสังคม เพื่อสร้างคุณค่าเพิ่มให้กับผู้มีส่วนได้เสียมาอย่างต่อเนื่องตลอด 30 ปี ในฐานะผู้ผลิตไฟฟ้าเอกชนรายใหญ่รายแรกของประเทศไทย”

เอ็กโก กรุ๊ป มุ่งเดินหน้าขับเคลื่อนธุรกิจสู่สังคมคาร์บอนต่ำ เพื่อให้สอดรับกับทิศทางพลังงานโลกและ แผนพลังงานชาติ โดยตั้งเป้าหมายสู่ความเป็นกลางทางคาร์บอน (Carbon Neutrality) ภายในปี 2050 และเป้าหมายลดการปล่อยปริมาณก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ต่อหน่วยไฟฟ้าที่ผลิตได้ (Carbon Emission Intensity) 10% ภายในปี 2030 และได้กำหนดทิศทางในการดำเนินธุรกิจเพื่อการเติบโตอย่างยั่งยืน คือ “Cleaner, Smarter and Stronger” โดย Cleaner เป็นการมุ่งลงทุนในธุรกิจที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมและปรับปรุงกระบวนการทำงานให้มีประสิทธิภาพสูงสุดเพื่อลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ ในขณะที่ Smarter เป็นการสร้างความมั่นคงในระบบไฟฟ้าและการลงทุนในธุรกิจที่มีการเติบโตสูง ประเภท New S-Curve เพื่อให้ทันต่อเทคโนโลยีที่เปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว และ Stronger เป็นการสร้างผลตอบแทนสูงสุดให้แก่ผู้ถือหุ้นด้วยการหาพันธมิตรทางธุรกิจ เพื่อการเติบโตอย่างแข็งแกร่งและยั่งยืนร่วมกับผู้มีส่วน ได้เสียทุกภาคส่วน

ทั้งนี้ DJSI ถือเป็นดัชนีที่ใช้ประเมินประสิทธิผลการดำเนินธุรกิจตามแนวทางการพัฒนาอย่างยั่งยืนของบริษัทชั้นนำระดับโลก เพื่อให้มั่นใจว่าบริษัทมีการบริหารจัดการที่มีประสิทธิภาพในทุกมิติ ทั้งด้านเศรษฐกิจ สังคม สิ่งแวดล้อม และธรรมาภิบาล รวมทั้งเป็นดัชนีที่กองทุนต่างๆ จากทั่วโลกใช้เป็นเกณฑ์อ้างอิงในการพิจารณาการลงทุน โดยบริษัทที่ได้รับการรับรอง DJSI จะสามารถสร้างผลตอบแทนที่ดีและยั่งยืนให้แก่ นักลงทุน รวมถึงการสร้างคุณค่าระยะยาวให้แก่ผู้มีส่วนได้เสีย

ไทยยูเนี่ยนติดดัชนีความยั่งยืนดาวน์โจนส์ต่อเนื่องปีที่ 8

บริษัท ไทยยูเนี่ยน กรุ๊ป จำกัด (มหาชน) ติดดัชนีความยั่งยืนดาวน์โจนส์ต่อนื่องเป็นปีที่ 8 โดยได้การยอมรับในฐานะผู้นำธุรกิจอาหารทะเลระดับโลกที่ผลักดันให้เกิดความเปลี่ยนแปลงทั้งในธุรกิจของบริษัทและอุตสาหกรรมในวงกว้าง

ไทยยูเนี่ยนยังได้รับการจัดอันดับเป็นที่ 2 ของโลก ในดัชนีอุตสาหกรรมผลิตภัณฑ์อาหาร ซึ่งมีการประเมินผลงานด้านความยั่งยืนของบริษัทต่างๆ ทั่วโลกหลายพันแห่ง โดยได้รับคะแนนความยั่งยืนโดยรวมที่ 99 เปอร์เซ็นไทล์

ในหัวข้อหลักเรื่องธรรมาภิบาล และเศรษฐกิจและสิ่งแวดล้อม ไทยยูเนี่ยนได้รับคะแนนที่ 99 เปอร์เซ็นไทล์ นอกจากนี้ยังได้รับคะแนนที่ 100 เปอร์เซ็นไทล์ในหัวข้อมิติทางสังคม

บริษัทยังได้รับคะแนนที่ 100 เปอร์เซ็นไทล์ใน 13 หัวข้อคือ 1)การสรุปประเด็นที่มีนัยสำคัญ 2)การบริหารจัดการความเสี่ยงและภาวะวิกฤต 3)การบริหารจัดการลูกค้าสัมพันธ์ 4)การโน้มน้าวด้านนโยบาย 5)การบริหารจัดการห่วงโซ่อุปทาน 6)การบริหารจัดการด้านนวัตกรรม 7)สุขภาพและโภชนาการ 8)การรายงานด้านสิ่งแวดล้อม 9)นโยบายและระบบการจัดการด้านสิ่งแวดล้อม 10)ความเสี่ยงที่เกี่ยวข้องในเรื่องน้ำ 11)การรายงานด้านสังคม 12) การพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ และ 13) ความรับผิดชอบต่อสังคมและการช่วยเหลือเพื่อนมนุษย์

นายธีรพงศ์ จันศิริ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท ไทยยูเนี่ยน กรุ๊ป จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า “การบรรลุเป้าหมายด้านความยั่งยืนต้องอาศัยการทุ่มเทในการทำงานบวกกับความมุ่งมั่น เพราะสำหรับธุรกิจระดับโลกและอุตสาหกรรมอาหารทะเลยังคงมีความท้าทายเข้ามาเรื่อยๆ จึงนับเป็นเรื่องน่าภาคภูมิใจสำหรับไทยยูเนี่ยนที่ได้รับการจัดอันดับในดัชนีความยั่งยืนดาวน์โจนส์ ซึ่งสะท้อนให้เห็นไทยยูเนี่ยนมีการดำเนินธุรกิจโดยใช้ความยั่งยืนเป็นหัวใจสำคัญ และมีงานอีกมากมายที่บริษัทยังต้องสานต่อ บริษัทมีความมุ่งมั่นที่จะผลักดันอย่างต่อเนื่องเพื่อให้เกิดความเปลี่ยนแปลงที่จะเป็นประโยชน์ต่ออุตสาหกรรมอาหารทะเลโดยรวม

ไทยยูเนี่ยนติดดัชนีความยั่งยืนดาวน์โจนส์ในกลุ่มอุตสาหกรรมผลิตภัณฑ์อาหารอย่างต่อเนื่องเป็นปีที่ 8 โดยได้รับการจัดอันดับเป็นที่ 1 ของโลกในปี 2561 และ 2562 สำหรับในปีนี้นอกจากไทยยูเนี่ยนจะติดดัชนีความยั่งยืนดาวน์โจนส์เป็นปีที่ 8 แล้ว ยังได้รับการจัดอันดับจากดัชนี Seafood Stewardship Index (SSI) เป็นอันดับที่ 1 เป็นปีที่ 2 ติดต่อกัน ซึ่ง SSI ได้ประเมินบริษัทที่ดำเนินธุรกิจอาหารทะเลที่ใหญ่ที่สุดทั่วโลกทั้งหมด 30 บริษัท เพื่อเข้าใจว่าบริษัทเหล่านี้มีการทำงานด้านความยั่งยืนเพื่อตอบโจทย์เป้าหมายการพัฒนาอย่างยั่งยืนโดยองค์การสหประชาชาติมากน้อยเพียงใด

นายอดัม เบรนนัน ผู้อำนวยการกลุ่มด้านการพัฒนาที่ยั่งยืน ไทยยูเนี่ยน กรุ๊ป กล่าวว่า “ไทยยูเนี่ยนได้รับการยอมรับในฐานะผู้นำด้านความยั่งยืนมาอย่างยาวนาน เราสร้างมาตรฐานการทำงานที่สูงขึ้น เพื่อเป็นแบบอย่างให้กับอุตสาหกรรม ฝ่ายการพัฒนาที่ยั่งยืนของบริษัทยังคงทำงานอย่างต่อเนื่อง ริเริ่มโครงการใหม่ๆ ทั่วโลก เพื่อให้บริษัทยังคงเดินหน้าขับเคลื่อนให้เกิดความเปลี่ยนแปลง ทั้งการจัดหาวัตถุดิบอย่างมีความรับผิดชอบ ครอบคลุมถึงการพัฒนาบรรจุภัณฑ์ที่มีความยั่งยืนมากยิ่งขึ้น ตลอดจนมีส่วนช่วยในการจัดการการเปลี่ยนแปลงภูมิอากาศ ซึ่งการทำงานด้านความยั่งยืนของบริษัททั้งหมดสอดคล้องไปกับเป้าหมายของไทยยูเนี่ยนในการดูแลสุขภาพและความเป็นอยู่ที่ดีให้กับผู้คน ควบคู่ไปกับการดูแลทรัพยากรธรรมชาติให้กับท้องทะเล”

มาตรการด้านความยั่งยืนที่ไทยยูเนี่ยนได้เป็นผู้ริเริ่มและปฏิบัติได้แก่

  • ประกาศเป้าหมายการจัดหาทูน่าอย่างยั่งยืน ปี 2568
  • ประกาศรับผิดชอบค่าใช้จ่ายในการรับสมัครงานทั้งหมด ให้กับแรงงานข้ามชาติในโรงงานในประเทศไทย ตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม 2565 เป็นต้นไป
  • นโยบายบรรจุภัณฑ์ทั่วโลก ที่ไทยยูเนี่ยนยังตั้งเป้าหมายภายในปี 2568 ในการใช้บรรจุภัณฑ์ที่สามารถนำกลับมาใช้ซ้ำ รีไซเคิลและย่อยสลายได้ ทั้งหมด 100 เปอร์เซ็นต์สำหรับผลิตภัณฑ์ภายใต้แบรนด์ของบริษัท และ 30 เปอร์เซ็นต์สำหรับสินค้ารับจ้างผลิต
  • นโยบายการสูญเสียอาหารและขยะอาหาร
  • พัฒนานโยบายด้านการจัดการการเปลี่ยนแปลงภูมิอากาศ รวมถึงตั้งเป้าหมายการลดก๊าซเรือนกระจกบนพื้นฐานทางวิทยาศาสตร์ภูมิอากาศที่สอดคล้องกับเป้าหมายของข้อตกลงปารีส
  • นโยบายในการไม่ตัดไม้ทำลายป่า

สำหรับดัชนีความยั่งยืนดาวน์โจนส์นั้น ในแต่ละปี S&P Global Corporate Sustainability Assessment หรือ (CSA) จะทำการประเมินการทำงานด้านความยั่งยืนของบริษัทกว่า 8 พันแห่งทั่วโลก โดยมีเกณฑ์การประเมินในแต่ละอุตสาหกรรมและด้านการเงิน

กสิกรไทย ติด DJSI ดัชนีความยั่งยืนระดับโลก 6 ปีซ้อน

นางสาวขัตติยา อินทรวิชัย ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร ธนาคารกสิกรไทย

ธนาคารกสิกรไทยยึดตำแหน่งในดัชนีความยั่งยืนดาวน์โจนส์ ประจำปี 2564 หรือ Dow Jones Sustainability Indices (DJSI) 2021 ทั้งในระดับโลก (World) และกลุ่มตลาดเกิดใหม่ (Emerging Markets) ต่อเนื่องเป็นปีที่ 6 เป็นธนาคารแรกของไทย ด้วยคะแนนมิติธรรมาภิบาล-เศรษฐกิจอันดับหนึ่งของกลุ่มธนาคารทั่วโลก และมีคะแนนรวมทั้ง 3 มิติ คือ สิ่งแวดล้อม สังคม และธรรมาภิบาลและเศรษฐกิจ สูงที่สุดเป็นอันดับสองในกลุ่มธนาคารทั่วโลก และสูงเป็นอันดับหนึ่งในกลุ่มธนาคารภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ เป็นปีที่ 2 ติดต่อกัน ท่ามกลางความท้าทายจากการแพร่ระบาดของโควิด-19 พร้อมเดินหน้าร่วมผลักดันการพัฒนาอย่างยั่งยืนของประเทศและประชาคมโลก

นางสาวขัตติยา อินทรวิชัย ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร ธนาคารกสิกรไทย เปิดเผยว่า ธนาคารกสิกรไทยได้รับการคัดเลือกเป็นสมาชิกดัชนีความยั่งยืนดาวโจนส์ จัดทำขึ้นโดย S&P Global ประจำปี 2564 หรือ Dow Jones Sustainability Indices (DJSI) 2021 ซึ่งเป็นดัชนีวัดมาตรฐานการดำเนินธุรกิจอย่างยั่งยืนที่ได้รับการยอมรับจากบริษัทชั้นนำทั่วโลก ทั้งในกลุ่มดัชนีระดับโลก DJSI World และกลุ่มดัชนีตลาดเกิดใหม่ DJSI Emerging Markets สำหรับปี 2564 มีธนาคารชั้นนำทั่วโลกได้รับเทียบเชิญและเข้าร่วมจำนวน 340 แห่ง ทุกธนาคารจะต้องได้รับการประเมินการจัดการที่ยั่งยืนขององค์กรในมิติสิ่งแวดล้อม สังคม และธรรมาภิบาลและเศรษฐกิจ (Environmental Dimension, Social Dimension and Governance and Economic Dimension)

สำหรับผลการประเมินดัชนีความยั่งยืนดาวโจนส์ ประจำปี 2564 ธนาคารกสิกรไทยเป็นธนาคารแห่งแรกของไทยที่ได้รับคัดเลือกเป็นสมาชิกดัชนีความยั่งยืนดาวโจนส์ DJSI เป็นปีที่ 6 ติดต่อกัน ตั้งแต่ปี 2559 ถึง 2564 โดยปีนี้เป็น 1 ใน 24 ธนาคารชั้นนำที่ได้รับการคัดเลือกเป็นสมาชิกดัชนีด้านความยั่งยืนระดับโลก (DJSI World) และเป็น 1 ใน 14 ธนาคารที่ได้รับการคัดเลือกเป็นสมาชิกดัชนีด้านความยั่งยืนกลุ่มตลาดเกิดใหม่ (DJSI Emerging Markets) นอกจากนี้ ธนาคารกสิกรไทยได้รับคะแนนมิติธรรมาภิบาลและเศรษฐกิจสูงที่สุดเป็นอันดับที่ 1 ของกลุ่มธนาคารทั่วโลก และได้คะแนนรวมทั้ง 3 มิติ คือ สิ่งแวดล้อม สังคม และธรรมาภิบาลและเศรษฐกิจ สูงเป็นอันดับที่ 2 ในกลุ่มธนาคารทั่วโลก และสูงเป็นอันดับที่ 1 ในกลุ่มธนาคารภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ เป็นปีที่ 2 ติดต่อกัน

นางสาวขัตติยา กล่าวเพิ่มเติมว่า การได้รับคัดเลือกเข้าเป็นสมาชิกดัชนีความยั่งยืนดาวโจนส์ 6 ปีติดต่อกันดังกล่าว เป็นอีกหนึ่งหมุดหมายที่สะท้อนความสามารถของธนาคารในการเดินหน้าบนหลักการความยั่งยืนอย่างมั่นคงในทุกสถานการณ์ แม้ในช่วงปีที่ผ่านมานี้ การดำเนินธุรกิจเป็นไปท่ามกลางความท้าทายจากการแพร่ระบาดของโควิด-19 ธนาคารต้องปรับตัวอย่างรวดเร็วเพื่อให้ธุรกิจเดินหน้าต่อไป พร้อมกับการดูแลลูกค้าให้ผ่านพ้นช่วงวิกฤติและไปต่อได้ในภาวะปกติใหม่ ธนาคารกสิกรไทยยังคงรักษาหลักการเรื่องการดำเนินธุรกิจบนรากฐานของการเป็นธนาคารแห่งความยั่งยืนไว้เสมอ โดยประเมินโอกาสและความเสี่ยงด้านสิ่งแวดล้อม สังคม และธรรมาภิบาล เข้าไปอยู่ในทุกกระบวนการปฏิบัติงานของธนาคาร จนกลายเป็น กรีน ดีเอ็น เอ เพื่อประโยชน์สูงสุดของผู้มีส่วนได้ส่วนเสียทุกฝ่าย สร้างผลตอบแทนที่ยั่งยืน และเมื่อสิ้นเดือนตุลาคมที่ผ่านมา ธนาคารกสิกรไทยได้มีการประกาศความมุ่งมั่นในการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ (Net Zero Commitment) นับเป็นอีกก้าวสำคัญที่ตอกย้ำเจตนารมณ์อันแน่วแน่ของธนาคารในการเดินหน้าการสร้างความเปลี่ยนแปลงที่ดีกว่าและยั่งยืนให้เกิดขึ้นจริง พร้อมร่วมผลักดันให้เกิดการพัฒนาอย่างยั่งยืนของประเทศและประชาคมโลกให้เห็นผลอย่างเป็นรูปธรรมต่อไป

AIS ติดอันดับดัชนีความยั่งยืนระดับโลก DJSI ต่อเนื่องเป็นปีที่ 3

นายสมชัย เลิศสุทธิวงค์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร AIS

แนวทางการดำเนินธุรกิจอย่างยั่งยืนของ AIS นับว่าเป็นภารกิจสำคัญในระดับนโยบายที่มีการวางแนวทางอย่างชัดเจน ทั้งในด้านเศรษฐกิจ สังคม และสิ่งแวดล้อม ซึ่งมีความครอบคลุมทั้งในส่วนของการดำเนินธุรกิจที่เป็นธรรม โปร่งใสตามหลักธรรมาภิบาล การพัฒนานวัตกรรมและยกระดับคุณภาพสินค้าและบริการ รวมถึงสนับสนุนให้ชุมชนสามารถเข้าถึงเทคโนโลยีและใช้งานได้อย่างเหมาะสมเพื่อสร้างคุณภาพชีวิตที่ดีให้คนไทยด้วยเทคโนโลยีดิจิทัลที่มีมาตรฐานความปลอดภัยที่ดี นอกจากนั้น AIS ยังให้ความสำคัญกับการดูแลพนักงานให้มีศักยภาพพร้อมรับมือต่อการขยายตัวของธุรกิจอยู่ตลอดเวลา และใส่ใจสิ่งแวดล้อม โดยส่งเสริมการใช้พลังงานอย่างมีประสิทธิภาพเพื่อลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก และร่วมมือกับภาคส่วนต่าง ๆ ในการสร้างความตระหนักรู้เกี่ยวกับการจัดการขยะอิเล็กทรอนิกส์อย่างถูกวิธี ซึ่งกลยุทธ์ทั้งหมด ได้ถูกผลักดันจากพลังของชาวเอไอเอสตามกรอบด้านการสร้างความยั่งยืนให้กับองค์กร ที่ทำให้ AIS ได้รับการจัดอันดับในดัชนีความยั่งยืนดาวโจนส์ ทั้งในกลุ่มดัชนีโลกและดัชนีตลาดเกิดใหม่ (DJSI World and Emerging Markets Indices) ในปีนี้

นายสมชัย เลิศสุทธิวงค์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร AIS กล่าวว่า “AIS มีความมุ่งมั่นในการสร้างความยั่งยืนเพื่อสนับสนุนการขับเคลื่อนประเทศด้วยเศรษฐกิจดิจิทัลให้เกิดการพัฒนาและเติบโตร่วมกัน ซึ่งเราได้ดำเนินธุรกิจตามกรอบแนวทางการพัฒนาอย่างยั่งยืน ทั้งในเรื่องของ เศรษฐกิจ สังคมและสิ่งแวดล้อมโดยคำนึงถึงผู้มีส่วนได้เสียกับองค์กรอย่างรอบด้าน ผ่านการสร้างสินค้าบริการด้านดิจิทัลที่ช่วยยกระดับคุณภาพชีวิตและเสริมศักยภาพของธุรกิจให้เกิดขึ้นอย่างเป็นรูปธรรมสามารถนำไปใช้ได้จนเกิดผลลัพธ์ที่สร้างการเปลี่ยนแปลงได้จริง”

โดยแนวทางดำเนินธุรกิจตามกรอบแนวทางการพัฒนาอย่างยั่งยืน ทั้งในเรื่องของเศรษฐกิจ สังคมและสิ่งแวดล้อม มีกลยุทธ์การทำงานที่สอดคล้องกับบริบทของสังคม ทำให้ AIS สามารถดำเนินแนวทางต่างๆ ได้อย่างเป็นรูปธรรม ประกอบด้วย

ด้านเศรษฐกิจ ที่มีเป้าหมายใน 2 ด้านหลักที่ทำงานร่วมกับพันธมิตรกว่า 80 รายในปี 2020 ที่ผ่านมา คือ

1.การสร้างสินค้าและบริการผ่านนวัตกรรมด้านดิจิทัล และโครงข่าย AIS 5G เพื่อเป็นการยกระดับคุณภาพชีวิตของคนไทย

2.เสริมศักยภาพของภาคธุรกิจไปพร้อมกัน รวมถึงการพัฒนาระบบการป้องกันภัยไซเบอร์และการปกป้องข้อมูลส่วนบุคคลของลูกค้าให้มีมาตรฐานที่เชื่อถือได้

ด้านสังคม ที่ AIS ให้ความสำคัญกับการเสริมสร้างให้พนักงานมีความพร้อมรับมือต่อการเปลี่ยนแปลงรองรับการขยายตัวของธุรกิจในบริบทของ Digital Disruption ด้วยแนวคิด “FIT FUN FAIR” ที่เป็นวัฒนธรรมองค์กรที่สร้างให้เกิดความหลากหลายทางความคิด สนับสนุุนให้พนักงานพัฒนาศักยภาพเพื่่อตอบรับความท้าทายทางธุุรกิจและสร้างเป้าหมายการทำงานร่วมกัน อีกทั้งยังมุ่งสร้างคุณภาพความเป็นอยู่ให้กับสังคมไทยด้วยโครงสร้างพื้นฐานด้านดิจิทัล รวมถึงส่งเสริมการใช้เทคโนโลยีอย่างสร้างสรรค์ ปลอดภัยและเหมาะสมให้แก่คนไทย

ด้านสิ่งแวดล้อม ภายใต้การดำเนินการเพื่อลดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมมาอย่างต่อเนื่อง โดยมีโครงการหลัก 3 ด้าน ประกอบไปด้วย

  • การส่งเสริมการใช้พลังงานอย่างมีประสิทธิภาพ เช่น ติดตั้งอุปกรณ์วิทยุสถานีฐานที่สามารถใช้งานร่วมกันได้หลายเทคโนโลยี และปรับปรุงประสิทธิภาพของเครื่องจ่ายกระแสไฟฟ้า ขยายระบบ Virtual Machine Sever ที่ช่วยประหยัดพลังงาน การดำเนินการด้านนี้ทำให้ปี 2020 สามารถลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกได้ถึง 75,590 ตันคาร์บอน
  • การใช้พลังงานทางเลือกเพื่อลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก เพิ่มสัดส่วนการใช้พลังงานทางเลือกมาอย่างต่อเนื่อง โดยยอดรวม ณ ปี 2020 สามารถติดตั้งแผงโซล่าเซลล์บริเวณสถานีฐาน ไปแล้วกว่า 2,747 สถานีฐาน และติดตั้งที่ศูนย์ข้อมูลคอมพิวเตอร์ และชุมสายรวม 4 แห่ง ทำให้ผลลัพธ์ของการใช้พลังงานทางเลือกสามารถลดประมาณการปล่อยก๊าซเรือนกระจกได้ถึง 3,503 ตันคาร์บอน ในปี 2020
  • การลดปริมาณขยะ ชวนลูกค้าให้มีส่วนร่วมกับการช่วยสิ่งแวดล้อม ด้วยการลดใช้กระดาษเปลี่ยนมาใช้ e-bill แทน ซึ่งวันนี้เรามีผู้ใช้งานแบบ e-bill แล้วกว่า 6.7 ล้านราย รวมถึงสร้างความตระหนักถึงความสำคัญของการแยกขยะอิเล็กทรอนิกส์ หรือ E-Waste ที่วันนี้สามารถรวบรวม E-Waste ได้กว่า 234,463 ชิ้น ทำงานร่วมกับพาร์ทเนอร์สร้างจุดทิ้งกว่า 2,400 จุดทั่วประเทศ

“สำหรับการได้รับเลือกเป็นสมาชิกดัชนีความยั่งยืนดาวโจนส์ ทั้งในกลุ่มดัชนีโลกและดัชนีตลาดเกิดใหม่ หรือ DJSI World Index และ DJSI Emerging Markets Index ในปีนี้ ก็นับว่าเป็นกำลังใจและอีกหนึ่งเครื่องยืนยันถึงความตั้งใจในการทำงานของชาว AIS ที่ร่วมกันสร้างการเติบโตและความแข็งแรงของโครงสร้างพื้นฐานด้านดิจิทัลเพื่อคนไทยอย่างยั่งยืน โดย AIS ได้นำหลักเกณฑ์การประเมินองค์กรของ DJSI มาเป็นอีกส่วนหนึ่งในการวางแผนการดำเนินงานขององค์กรในด้านต่างๆ เพื่อให้พร้อมที่จะบริหารจัดการองค์กรอย่างยั่งยืน สร้างประโยชน์ให้แก่ผู้มีส่วนได้ส่วนเสียทุกกลุ่ม อย่างสอดคล้องกับมาตรฐานในระดับสากล ซึ่งในท้ายที่สุดจะเท่ากับสร้างประโยชน์ให้แก่ประเทศในภาพรวมด้วยเช่นกัน” นายสมชัย กล่าวทิ้งท้าย