ThaiPublica > คอลัมน์ > Hellbound ลัทธินรก สาวกคลั่ง

Hellbound ลัทธินรก สาวกคลั่ง

30 พฤศจิกายน 2021


1721955

แม้ว่าต้นฉบับแรกสุดของ Jiok จะเป็นแอนิเมชัน 2 ตอนจบ (ภาคแรกปี 2002 ภาคสองปี 2004 เรื่องราวคนละเหตุการณ์แต่จุดเชื่อมกันคือมีเงาดำประหลาด 3 ตนปรากฏตัวออกมาฆ่าคน) ความยาวรวม 34 นาที แต่ต่อมามันถูกวาดลงเป็นเว็บตูนในปี 2019 โดย ชเว กยู-ซ็อก กระทั่งมันถูกดัดแปลงเป็น Hellbound (2021) ซีรีส์ Netflix ความยาว 6 ตอนจบ ที่เพิ่งสตรีมไปเมื่อ 19 พฤศจิกายนที่ผ่านมานี้เอง ล่าสุดยืนยันแล้วว่าจะมีซีซัน 2 ตามมาอย่างแน่นอน โดยทั้ง 3 ฉบับเป็นงานกำกับและเขียนบทของ ยอน ซาง-โฮ

นาทีนี้ชื่อของ ยอน ซาง-โฮ ไม่ใช่ผู้กำกับโนเนมอีกต่อไปแล้ว เพราะเขาคือผู้ปลุกผีสามีแห่งชาติ กงยู ดาราวัยแด๊ดดี้ที่แทบจะไม่มีผลงานอะไรโดดเด่นมากไปกว่า Coffee Prince (2007) จนกลับมาเจิดจรัสอีกครั้งในบทพ่อผู้พยายามฝ่าฝูงซอมบี้เพื่อช่วยลูกสาวบนรถไฟจากโซลไปปูซาน ในหนังเกาหลีทำเงินสูงสุดแห่งปี 2016 เรื่อง Train to Busan หนังแนวซอมบี้ที่หลายประเทศในภูมิภาคเอเชียพยายามจะสร้างให้มันกวาดรายได้สูงๆ อย่างที่ซอมบี้ฮอลลีวูดเคยทำได้ แต่ไม่มีใครเคยทำสำเร็จมาก่อนนอกจาก ยอน ซาง-โฮ ส่งผลให้ปีนั้นเขามีแอนิเมชันซอมบี้ลงโรงอีกเรื่องหนึ่งที่เล่าเหตุการณ์ก่อนหนังดังกล่าวใน Seoul Station (2016) และเหตุการณ์อีก 4 ปีต่อจากภาคแรกในหนัง Peninsula (2020)

ขณะที่ซีรีส์ Hellbound (2021) ที่ดัดแปลงจากเว็บตูน Jiok ของ ยอน ซาง-โฮ เอง กลายเป็นที่คาดหวังเพราะนอกจากมันคือผลงานของผู้กำกับจอมกวาดรายได้แล้ว มันยังมีเรื่องราวแฟนตาซีที่พูดถึงเหตุการณ์ประหลาด เมื่อมนุษย์บางคนได้รับสัญญาณจากสิ่งที่พวกเขาเรียกว่าทูตสวรรค์ หรืออาจเป็นยมทูต หรือมนุษย์ต่างดาวก็แล้วแต่ ปรากฏตัวออกมาระบุวันเวลาเสียชีวิต ก่อนที่บุคคลนั้นจะตายจริงๆ ในเวลาดังกล่าวด้วยฝีมือของตัวประหลาด 3 ตัว สิ่งนี้ต่อมาถูกกลุ่มลัทธิที่เรียกตัวเองว่า “สัจธรรมใหม่ (New Truth)” ตีความว่าคนเหล่านี้คือ “คนบาป” ที่กำลังจะ “ตกนรก” ซีรีส์นี้จึงมีประเด็นเกี่ยวกับลัทธิความเชื่อทางศาสนาขึ้นมาโดยทันที

แล้วหากคอหนังหรือซีรีส์เกาหลีสังเกต จะพบว่านับตั้งแต่หลังปี 2014 เกาหลีสร้างหนังและซีรีส์เกี่ยวกับประเด็นลัทธิประหลาดออกมาอย่างต่อเนื่อง เช่น

หนัง: The Priests (2015) The Wailing (2016) House of Disappeared (2017) The Divine Fury (2019) Svaha: The Sixth Finger (2019) The 8th Night (2021) ฯลฯ
ซีรีส์: Save Me (2017) Children of A Lesser God (2018) The Guest (2018) Save Me 2 (2019) Hometown (2021) ฯลฯ

เกิดอะไรขึ้นในปี 2014

จากซีรีส์และหนังหลายเรื่องในปัจจุบันที่เล่นปมประเด็นลัทธิศาสนาประหลาด เมื่อย้อนกลับไปจะพบว่ามันเริ่มมีดกดื่นหลังปี 2014 ปัจจัยสำคัญ หนังสือพิมพ์ในย่านเอเชียแปซิฟิก The Diplomat ฉบับ มิถุนายน ปี2014 ระบุว่า “โศกนาฏกรรมเรือเซวอลอัปปางได้เพิ่มบทใหม่แก่หน้าประวัติศาสตร์อันน่าอึดอัดใจของเกาหลีเกี่ยวกับลัทธิต่างๆ”

บทความยังระบุต่อไปว่า “เป็นเวลากว่า 6 สัปดาห์ที่ลัทธิคริสเตียนอันคลุมเครือที่ถูกกล่าวหาอย่างกว้างขวางว่ามีส่วนเกี่ยวข้องกับเหตุการณ์เรือจมในเดือนเมษายนที่คร่าชีวิตผู้คนไปกว่า 300 คน ยู บยอง-อึน ผู้ก่อตั้งลัทธิ Salvation Sect เป็นเจ้าของเรือลำนี้โดยพฤตินัย และกลายเป็นบุคคลที่เกาหลีต้องการตัวมากที่สุดในเวลานี้ โดยทางการเสนอเงินรางวัลสูงถึงห้าแสนดอลลาร์สหรัฐสำหรับผู้ให้ข้อมูลนำจับเขาและครอบครัว ที่ถูกกล่าวหาในกรณีทุจริตและการจัดการที่ไม่ดี มีการดัดแปลงเรือข้ามฟากเซวอลอย่างผิดกฎหมาย ซึ่งอัยการศาลอินชอนได้กล่าวว่าเป็นสาเหตุสำคัญที่ทำให้นักเรียนมัธยมปลายกว่า 300 ชีวิตบนเรือมีอันต้องเสียชีวิต” ต่อมาในวันที่ 12 มิถุนายนปีเดียวกันนั้นได้มีการพบศพปริศนาในทุ่งบ๊วยเมืองซุนชอน กระทั่งในเดือนกรกฎาคมจึงสามารถยืนยันด้วยดีเอ็นเอได้ว่าศพดังกล่าวเป็นนายยู บยอง-อึน แต่ไม่สามารถระบุสาเหตุการณ์ตายได้เนื่องจากสภาพศพเน่าเปื่อยเกินไป

จากนั้นเองที่มีการเปิดโปงขุดคุ้ยอย่างมากมาย ไม่ว่ากรณีการตายของนายยู ที่ไม่สามารถระบุได้ว่าเป็นการฆ่าตัวตาย หรือฆาตกรรม ซึ่งหากเป็นการฆาตกรรมก็อาจเกี่ยวพันกับอีกหลายฝ่าย ไม่ว่าจะประเด็นทางการเมือง ใครเป็นผู้อนุญาตให้นายยูสามารถดัดแปลงเรือได้โดยไม่ถูกตรวจสอบทางกฎหมาย รวมถึงกิจการอื่นๆ ของเขา เช่น โรงงานผลิตเครื่องใช้ไฟฟ้า โรงงานทำของเล่น โรงงานผลิตเครื่องสำอาง ที่เคยถูกตรวจสอบเรื่องการใช้สารตะกั่วเกินขนาด ไปจนถึงเชื่อว่านายยูน่าจะมีส่วนเกี่ยวข้องกับกรณีฆ่าตัวตายหมู่ที่โอแดยังในปี 1987 ที่สาวกผู้คลั่งเรื่องวันสิ้นโลก 33 รายได้รวมตัวกันฆ่าตัวตายพร้อมกัน แต่สภาพศพคือถูกมัดมือและปาก ซึ่งไม่สามารถระบุได้ว่าเป็นการฆ่าตัวตายหรือถูกฆ่าตายกันแน่ และไปๆ มาๆ กลายเป็นว่านายยูและครอบครัวเป็นผู้ผูกขาดเพียงรายเดียวสำหรับกิจการเรือข้ามฟากจากอินชอน ไปเกาะเชจู รวมไปถึงธุรกิจข้ามชาติในอเมริกา ฮ่องกง และฝรั่งเศส ที่เชื่อได้ว่าเครือข่ายธุรกิจที่โยงใยกว้างใหญ่มูลค่ามหาศาล น่าจะมีผู้มีอำนาจทางการเมืองและในแวดวงธุรกิจอีกหลายรายเกี่ยวข้อง แต่ไม่อาจสาวไปถึงได้

เรื่องราวซับซ้อนของนายยูยังไม่จบเท่านั้น เมื่อสื่อขุดคุ้ยไปถึงองค์กรเพื่อเด็กนามว่า Ahae ต่อมาในปี 2009 นายอะแฮ (ภาษาเกาหลีโบราณแปลว่าเด็ก) ได้ปรากฏตัวตนว่าเป็นนักถ่ายภาพปริศนา ที่ต่อมามีการปลอมชื่อออกมาในนาม คีธ เอช.ยู ได้ทำการแสดงผลงานภาพถ่ายศิลปะที่อ้างว่าเป็นการเฝ้าถ่ายภาพจากหน้าต่างบานเดียวกัน ชื่อชุด Through My Window โดยออกเงินจัดแสดงทั้งหมดในหลากหลายประเทศ เช่น ปราก, นิวยอร์ก, ลอนดอน และพิพิธภัณฑ์ลูฟร์ ในปารีส ไปจนถึงพระราชวังแวร์ซาย จนมีคนตั้งข้อสังเกตว่าค่าใช้จ่ายทั้งหมดมาจากเงินบริจาคของสาวกลัทธิ Salvation (การรอดพ้น) ที่นายยูเป็นเจ้าลัทธิและมีความเชื่อหลักซึ่งถูกอธิบายโดยศาสนาจารย์ ทาร์ก จี-อิล แห่งมหาวิทยาลัยบูซานเพรสไบทีเรียนว่า “ลัทธินี้เชื่อว่าหากคุณสารภาพบาปเพียงครั้งเดียว พระเจ้าจะปลดปล่อยคุณจากสภาพคนบาป คุณจะไม่ต้องตกนรกอีกเลย แม้ว่าคุณจะทำผิดซ้ำแล้วซ้ำเล่า แต่พระเจ้าจะให้อภัยคุณและคุณจะได้ไปสวรรค์”

ที่กล่าวมาเป็นเพียงหนึ่งลัทธิ แต่ความน่าสนใจของบทความได้เปิดโปงต่อไปอีกว่า บิดาของศาสนาจารย์ ทาร์ก คือหนึ่งในเหยื่อที่เคยถูกสังหารจากอีกลัทธิหนึ่งในปี 1994/ในปี 2009 ผู้นำลัทธิโพรวิเดนซ์หรือ Jesus Morning Star ถูกตัดสินลงโทษในข้อหาข่มขืนสาวกหญิง 4 คนของเขา/ปี 2014 ช่องออสเตรเลีย SBS ทำสารคดีแฉลัทธิของนายจอง เมียง-ซ็อก ที่สอนว่าสาวกหญิงของเขาทุกคนคือเจ้าสาว และบาปจะถูกชำระล้างหากได้ร่วมเพศกับเขา/โบสถ์แห่งความสามัคคี ถูกกล่าวหาเรื่องการใช้สารกระตุ้นบางอย่างช่วยในการล้างสมองสาวก/ลัทธิมูนนี่ (ที่มีสาขาในไทยด้วย) ของนายซัน เมียง-มูน (เสียชีวิตด้วยโรคปอดในปี 2012) ล้างสมองให้สาวกเชื่อว่าการแต่งงานโดยความรักแบบโรแมนติกเป็นบ่อเกิดแห่งความสำส่อนทางเพศ ทำให้ลัทธินี้จัดวิวาห์บริสุทธิ์โดยเจ้าลัทธิจะเป็นผู้จับคู่คลุมถุงชนมาวิวาห์หมู่/และล่าสุดในเหตุการณ์โควิด-19 ก็มีการยืนยันว่าคลัสเตอร์ระบาดหนักมาจากลัทธิชินชอนจี เชิร์ช ออฟ จีซัส ฯลฯ

ลัทธิ-ความเชื่อ-ศาสนา-การเมือง

“ตัวละครเหล่านี้เป็นคนที่เราเห็นกันในสังคม พวกเขามีความเชื่อมั่นและระดับอารมณ์ที่แตกต่างกัน ผู้ชมสามารถเชื่อมโยงกับตัวละครเหล่านี้ได้ขึ้นอยู่กับความเชื่อที่พวกเขาเลือกที่จะเชื่อ การดูการปะทะกันของความเชื่อเหล่านี้เป็นเรื่องสนุก มันทำให้เรามีโอกาสขบคิดเกี่ยวกับสังคมของเรา…คนเหล่านี้อาจมีอยู่ในประวัติศาสตร์เมื่อนานมาแล้ว เทวดาที่เรารู้จักนั้นมาจากจินตนาการของบรรพบุรุษของเราเอง” ยอน ซาง-โฮ ผู้กำกับ Hellbound กล่าว

ยอนไม่เพียงเล่าถึงลัทธิความเชื่อทางศาสนาเท่านั้น แต่เจ้าลัทธิ ผลประโยชน์ สาวก คำสอน ความภักดี เหล่านี้อาจตีความในแง่มุมทางการเมืองก็ได้ด้วย เมื่อมีอีสเตอร์เอ้กเล็กๆ ที่ตัวผู้กำกับหยอดเอาไว้ในฉากหนึ่ง คือภาพจิตรกรรมฝาผนังของเจ้าลัทธิผู้ล่วงลับ (แสดงโดย ยู อา-อิน) ที่จงใจจะวาดให้เหมือนภาพโฆษณาชวนเชื่อของท่านผู้นำตลอดกาลแห่งเกาหลีเหนือ คิม อิล-ซุง ที่แม้ท่านผู้นำ (และท่านเจ้าลัทธิ) จะเสียชีวิตไปนานแล้ว แต่ความเชื่อ ความภักดี จักดำรงอยู่ตลอดกาล ซึ่งซีรีส์ได้สะท้อนถึงความวุ่นวายผ่านการตีความจากเจ้าลัทธิไปสู่สาวก ไปสู่ความบ้าคลั่งจนเกินควบคุม และคนที่เรียกตนว่าเป็นคนดี สุดท้ายก็ตีความการกระทำของตนว่าเป็นความดีงามเสมอไป แม้สิ่งที่ทำจะชั่วร้ายสักแค่ไหนก็ตาม

หนังลัทธิที่มาก่อนกาล

จริงๆ แล้ว Hellbound ไม่ใช่เรื่องแรกที่ยอนเล่าเกี่ยวกับลัทธิความเชื่อ เพราะก่อนหน้านี้ The Fake (2013) หนังแอนิเมชันทุนต่ำของเขา เจ้าของรางวัลแอนิเมชันยอดเยี่ยมจากเทศกาลหนัง Sitges ก็เคยเล่าเกี่ยวกับลัทธิเทียมเท็จที่สอนความเชื่อผิดๆ เรื่องการย้ายฝูงแกะจากในไบเบิล ล้างสมองให้คนทั้งหมู่บ้านยอมย้ายถิ่นฐานตัวเอง เพราะเจ้าลัทธิหวังจะฮุบเงินชดเชยจากทางการที่หมายที่ดินผืนนี้เพื่อสร้างเขื่อน คนชั่วถูกเชื่อว่าเป็นคนดี ขณะที่คนพยายามจะเปิดโปงกลับถูกมองว่าประพฤติผิดต่อพระเจ้า ภายหลังหนังเรื่องนี้ถูกดัดแปลงเป็นซีรีส์อีกเรื่อง คือ Save Me 2 (2019)

แต่ลัทธิเทียมเท็จไม่ใช่เพิ่งจะมาระบาดหนักในช่วงนี้

แม้เหตุการณ์ในปี 2014 จะเป็นชนวนที่ทำให้สื่อต่างๆ หันมาจับจ้องบรรดาลัทธิเทียมเท็จเหล่านี้ในช่วงนี้ แต่แท้จริงลัทธิสอนผิดมีมานานแล้ว ปีเตอร์ ดาลีย์ ผู้ศึกษากรณีเหล่านี้มาตั้งแต่ปี 2003 เล่าว่า “ในเกาหลีนับตั้งแต่ปี 1931 ภายใต้การปกครองของจักวรรดิญี่ปุ่น เกาหลีใช้ศาสนาเหมือนเป็นความหวัง ตีความราวกับพวกเขาคือยิว หรือชนชาติอิสราเอลที่พระเจ้าเลือกสรรให้เป็นผู้รอดจากการถูกกดขี่ข่มเหงไปยังดินแดนพันธสัญญา จนกระทั่งในปี 1997 ช่วงวิกฤติต้มยำกุ้งที่ส่งผลกระทบต่อหลายประเทศ แต่เกาหลีกลับเป็นประเทศเดียวที่รอดพ้นจากวิกฤติเศรษฐกิจนี้ได้ สิ่งนี้ยิ่งตอกย้ำความเชื่อเรื่องพระเจ้า โดยเฉพาะแนวคิดว่าเกาหลีคือประเทศที่พระเจ้าเลือกสรร ความเชื่อนี้เองแตกออกกลายเป็นลัทธิเทียมเท็จมากมายที่อาศัยช่องทางเพื่อหาผลประโยชน์ จากความหวังลมๆ แล้งๆ ของพวกสาวกในทางต่างๆ หลายคนเชื่อด้วยซ้ำว่าพระเมสสิยาห์ในไบเบิล หรือพระเจ้าองค์ถัดไปจะมาโปรดเป็นคนเกาหลีในดินแดนเกาหลี”

ประเด็นครึ่งหลังของ Hellbound พุ่งไปที่การถกเถียงเรื่องการตีความ แม้บรรดาลัทธิสอนผิดจะถูกชี้ชัดว่าตีความต่างไปจากไบเบิล จริงๆ แล้วนิกายทางศาสนาเองที่ใช้พื้นฐานทางพระคัมภีร์เดิมก็ตีความไบเบิลแตกต่างกันไป อย่างกรณีการไหว้รูปเคารพ ในบัญญัติ 10 ประการ ที่ระบุว่า “ห้ามทำรูปเคารพสำหรับตน” เพื่อหลีกเลี่ยงการตั้งคำถามนี้ ศาสนจักรได้เปลี่ยนข้อนี้ไปจากบัญญัติเดิม หรือกรณีความเชื่อเรื่องโลกกลม กาลิเลโอก็ถึงกับต้องสงสัยอย่างรุนแรงว่านอกรีต เมื่อหากตีความตามไบเบิลแล้ว โลกมีสัณฐานแบนและไม่เคลื่อนที่ จนผ่านไปนานกว่า 200 ปี ศาสนจักรถึงเพิ่งประกาศว่า กาลิเลโอ ไร้มลทินมัวหมอง

“มนุษย์เชื่อในสิ่งที่พวกเขาอยากจะเชื่อ”