ThaiPublica > เกาะกระแส > การพุ่งขึ้นมาของอินเดียในศตวรรษ 21 ชาติมหาอำนาจรายสุดท้ายของโลก

การพุ่งขึ้นมาของอินเดียในศตวรรษ 21 ชาติมหาอำนาจรายสุดท้ายของโลก

30 พฤศจิกายน 2021


รายงานโดย ปรีดี บุญซื่อ

ที่มาภาพ : incredible India campaign

Kurt Campbell ผู้อำนายการ Indo-Pacific ของรัฐบาลโจ ไบเดน ได้ไปกล่าวปราศรัยที่สถาบัน US Institute of Peace ว่า อินเดียจะเป็นศูนย์กลางการกำหนดอนาคตของเอเชีย ในศตวรรษที่ 21 อินเดียจะเป็นประเทศที่ทำหน้าที่เหมือนจุดรับน้ำหนัก ที่จะมีอิทธิพลสำคัญต่อการเปลี่ยนแปลงของโลก ส่วนเวียดนามจะเป็น “ประเทศที่เป็นตัวแปร” (swing state) ในอินโด-แปซิฟิก

อินเดียเป็นชาติมหาอำนาจหรือไม่?

หนังสือชื่อ Our Time Has Come (2018) เขียนไว้ว่า ที่ผ่านมา โลกเรายังไม่มีความเห็นเป็นเอกฉันท์ในประเด็นที่ว่า อินเดียเป็นชาติมหาอำนาจของโลกหรือไม่ แม้ในระยะ 10 ปีที่ผ่านมา อินเดียจะก้าวเข้ามาสู่การเป็นหนึ่งในกลุ่มประเทศที่มีขนาดเศรษฐกิจใหญ่สุดของโลก เมื่อมีการปฏิรูปเศรษฐกิจในปี 1991 เศรษฐกิจอินเดียใหญ่อันดับที่ 12 ของโลก ปี 2010 เลื่อนมาเป็นอันดับที่ 9 ปี 2015 ขึ้นมาอยู่อันดับที่ 7 รัฐบาลสหรัฐฯคาดว่า เศรษฐกิจอินเดียจะขึ้นมาอยู่อันดับ 3 ล้ำหน้าญี่ปุ่นในปี 2029

อินเดียมีประชากร 1.3 พันล้านคน สหประชาชาติคาดว่าในปี 2022 อินเดียจะกลายเป็นประเทศที่มีประชากรมากที่สุดของโลก และมากกว่าจีน โครงสร้างประชากรของอินเดียส่วนใหญ่อยู่ในวัยทำงาน ประชากรวัยทำงานระหว่างอายุ 15-64 ปี จะยังเติบโตจนถึงปี 2050 นักประชากรศาสตร์เรียกสภาพแบบนี้ว่า ดอกผลจากประชากร คือมีประชากรวัยทำงานจำนวนมาก ที่เลี้ยงดูประชากรสูงอายุที่จำนวนไม่มาก ญี่ปุ่น ยุโรปตะวันตก และจีน จะเป็นประเทศประชากรสูงอายุมากกว่า

คนชั้นกลางของอินเดียเริ่มแสดงพลังของผู้บริโภคออกมาแล้ว มีการคาดการณ์กันว่า คนชั้นกลางในอินเดียมีจำนวน 30-270 ล้านคน ขึ้นอยู่กับเกณฑ์ใช้วัดว่าหมายถึงการมีรายได้มากกว่าวันละ 10 ดอลลาร์ หรือรายได้ในครอบครัวปีหนึ่ง 340,000 รูปี (4,533 ดอลลาร์)

เมื่อปี 2007 McKinsey เคยพยากรณ์ว่า ในปี 2025 อินเดียจะมีคนชั้นกลางเกือบ 600 ล้านคน ธุรกิจยักษ์ใหญ่ เช่น Suzuki Honda Samsung และ LG จึงพุ่งเป้าไปที่คนชั้นกลางอินเดีย

ในด้านทหาร อินเดียมีกำลังทหารใหญ่อันดับ 3 ของโลก มีกำลังพล 1.4 ล้านคน และกำลังสำรอง 1.1 ล้านคน ปี 2016-2017 งบประมาณทหารอินเดียมากกว่า 52 พันล้านดอลลาร์ อินเดียยังมีพื้นฐานเทคโนโลยีที่ก้าวหน้า ในปี 2014 อินเดียประสบความสำเร็จในการส่งยานอวกาศไปโคจรรอบดาวอังคาร ใช้งบประมาณน้อยกว่างบสร้างภาพยนตร์ฮอลลีวูดเรื่อง Gravity

ที่มาภาพ : https://www.cfr.org/book/our-time-has-come

ภาวะย้อนแย้งคือจุดอ่อนของอินเดีย

หนังสือ Our Time Has Come บอกว่า แม้จะมีด้านที่กำลังรุ่งเรือง แต่ด้านที่เป็นจุดอ่อนของอินเดีย ก็ยังคงดำรงอยู่ ในช่วง 20 ปีที่ผ่านมา เศรษฐกิจเติบโตสูง แต่อินเดียก็ยังเป็นประเทศที่มีคนจนมากที่สุดในโลก สิ่งนี้คือภาพลักษณ์ที่ยังติดตาคนทั่วโลก ทั้งๆที่อินเดียจะประสบความสำเร็จในหลายด้าน ช่วงปี 2004-2012 การเติบโตของเศรษฐกิจ ทำให้คนอินเดียราว 162 ล้านคน หลุดจากภาวะยากจนที่สุด แต่คนอินเดียอีก 21.9% หรือ 262 ล้านคน ยังมีชีวิตต่ำกว่าเส้นความยากจนที่สุดของธนาคารโลก คือมีรายได้ต่ำกว่าวันละ 1.9 ดอลลาร์

รายได้เฉลี่ยต่อคนของอินเดียอยู่ที่ 1,700 ดอลลาร์ ทำให้อินเดียติดอันดับหนึ่งในประเทศยากจนที่สุดในโลก ประชากรมีอายุในช่วงเยาวชน มีสัดส่วนสูง ทำให้อินเดียต้องการการจ้างงานใหม่เดือนละ 1 ล้านงาน เพื่อรองรับแรงงานใหม่ๆเข้าสู่ตลาด

ความสำเร็จของอินเดียในเรื่องเทคโนโลยีสารสนเทศ (IT) ช่วยปิดบังจุดอ่อนอย่างหนึ่ง คือภาคอุตสาหกรรมการผลิตที่มีสัดส่วนเล็ก ทำให้ไม่สามารถสร้างการจ้างงานที่ดีในระยะเริ่มต้นแก่แรงงาน ภาคอุตสาหกรรมการผลิตนี้ เคยช่วยประเทศเอเชียตะวันออก ให้หลุดพ้นจากความยากจนมาแล้ว

อินเดียยังประสบปัญหาการขาดแคลนโครงสร้างพื้นฐาน เมืองต่างๆเผชิญกับการอพยพของคนชนบทเข้ามาอยู่ในเมือง ทำให้บริษัท McKinsey บอกว่า ทุกปี อินเดียจำเป็นต้องสร้างเมือง “แบบชิคาโก้” ใหม่ขึ้นมาปีละ 1 เมือง เพื่อรองรับการขยายตัวของเมือง ส่วนชนบทก็ขาดแคลนไฟฟ้า

ไม่มี “ห่วงโซ่อุปทานโลก” ในอินเดีย

หนังสือ Our Time Has Come เขียนอีกว่า เศรษฐกิจภาค IT ทำให้อินเดียเป็นวาระการตัดสินใจของธุรกิจยักษ์ใหญ่ของโลก แต่อุตสาหกรรมการผลิตของอินเดียไม่ได้สร้างชื่อเสียงระดับโลก เหมือนกับความรุ่งเรื่องในการผลิตของเอเชียตะวันออก บังคลาเทศ หรือเวียดนาม ช่วงทศวรรษ 1970 1980 และ 1990 อินเดียพลาดโอกาสการเปลี่ยนเศรษฐกิจ ที่จะอาศัยอุตสาหกรรมการผลิตเป็นตัวขับเคลื่อน

ที่มาภาพ : youtube.com

จนถึงเมื่อไม่นานมานี้ อุตสาหกรรมรถยนต์คือสัญลักษณ์ที่สะท้อนจุดอ่อนของอุตสาหกรรมอินเดียโดยรวม เป็นเวลาหลายสิบปี บริษัทรถยนต์ 2 แห่งของอินเดีย ผลิตรถยนต์ขายในตลาด คือรถ Ambassador ผลิตโดย Hindustan Motors และรถ Padmini ผลิตโดย Premier รถ Ambassador รูปทรงเป็นกล่องที่อาศัยต้นแบบของรถ Morris ปี 1956 รถ Ambassador จึงกลายเป็นสัญลักษณ์เศรษฐกิจที่ชะงักงันของอินเดียในอดีต แบบเดียวกับรถยนต์ Lada และ Trabant ที่เป็นสัญลักษณ์เศรษฐกิจชะงักงันของโซเวียตและเยอรมันตะวันออก

ภาคอุตสาหกรรมถือเป็นจุดอ่อนของเศรษฐกิจอินเดียมานานแล้ว ความรุ่งเรืองของธุรกิจ IT พิสูจน์แล้วว่า ไม่ได้ช่วยให้มีการจ้างงานมาก ในปี 2016 อุตสาหกรรม IT มีสัดส่วน 9.3% ของ GDP แต่จ้างงานเพียง 3.7 ล้านคน อุตสาหกรรมสิ่งทอดั้งเดิมมีสัดส่วน 2% ของ GDP แต่จ้างงานมากกว่า 45 ล้านคน

ในปี 2011 รัฐบาลอินเดียประกาศนโยบายเป็นทางการเรื่องอุตสาหกรรมการผลิต โดยตั้งเป้าให้การผลิตอุตสาหกรรมมีสัดส่วน 18-25% ของ GDP และสร้างงาน 100 ล้านงานภายใน 10 ปี เปรียบเทียบกับประเทศในเอเชีย จากข้อมูลธนาคารโลก อุตสาหกรรมมีสัดส่วนผลผลิตรวม 30% ของจีน 31% ของเกาหลีใต้ และ 28% ของไทย แต่จีนได้เปรียบที่รัฐวิสาหกิจมีสัดส่วนสูงในการผลิตภาคอุตสาหกรรม

แต่สัดส่วนอุตสาหกรรมต่อ GDP ของอินเดียก็ยังไม่เพิ่ม เมื่อผู้ผลิตชั้นนำของโลก มีการเคลื่อนย้ายการลงทุน ก็ไม่เกิดกระแสที่เข้ามาลงทุนในอินเดียเป็นจำนวนมาก เหมือนกับที่เคยเกิดขึ้นในจีน ไทย เวียดนาม และบังคลาเทศ การผลิตแบบ “ห่วงโซอุปทานโลก” ที่เป็นการบูรณาการระหว่างจีนกับประเทศเอเชียตะวันออก และเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ไม่เกิดขึ้นในอินเดีย

หนังสือ Our Time Has Come บอกว่า การที่อินเดียพยายามส่งเสริมการผลิตด้านอุตสาหกรรมมากขึ้น อาจจะไปสวนทางกับกระแสที่เกิดขึ้นทางด้านเทคโนโลยีและเศรษฐกิจ ที่กระทบต่อความเป็นไปได้ที่อินเดียจะอาศัยการพัฒนาอุตสาหกรรม เป็นตัวขับเคลื่อนเศรษฐกิจสู่ความรุ่งเรือง กระแสหนึ่งคือการผลิตด้วยระบบอัตโนมัติและเทคโนโลยี 3D ที่จะกระทบต่อระบบการผลิตแบบห่วงโซ่อุปทาน

อีกกระแสหนึ่งคือแนวคิดที่ Dani Rodrik ของมหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ดเรียกว่า “การลดการผลิตอุตสาหกรรมโดยที่ยังไม่ถึงเวลา” (premature deindustrialization) คือสัดส่วนการผลิตด้านอุตสาหกรรมในประเทศกำลังพัฒนาลดต่ำลง ก่อนที่ประเทศกำลังพัฒนาจะเป็นประเทศรายได้สูง สาเหตุส่วนหนึ่งมาจากการแข่งขันจากจีน

ที่มาภาพ : https://www.incredibleindia.org/content/incredible-india-v2/en/itineraries/48-hours/48-hours-in-delhi.html

แต่บริษัท McKinsey ก็เชื่อว่า ผลกกระทบอย่างเต็มที่ทางเทคโนโลยีต่ออินเดีย ยังต้องใช้เวลาอาจถึง 2 ทศวรรษหรือมากกว่านี้ ที่ระบบการผลิตอัตโนมัติจะส่งผลกระทบต่อการจ้างงานในบางประเทศ ค่าแรงต่ำของอินเดียยังเป็นปัจจัยสำคัญต่อการตัดสินใจของผู้ผลิต ดังนั้น อินเดียยังมีโอกาสที่จะอาศัยการพัฒนาอุตสาหกรรม มาเป็นปัจจัยการสร้างงาน ก่อนที่ระบบอัตโนมัติจะถูกนำมาใช้อย่างกว่างขวาง

ในปี 2015 รัฐบาลอินเดียประกาศ “ภารกิจทักษะแห่งชาติอินเดีย” (National Skill India Mission) เพื่อพัฒนาแรงงานอินเดีย ให้มีทักษะตามมาตรฐานโลก หากอินเดียสามารถสร้างบรรยากาศการลงทุนโดยรวม และสร้างโครงสร้างพื้นฐานด้านโลจิสติกส์ ที่เชื่อมโยงอย่างราบรื่นกับการผลิตของโลก อินเดียก็คงจะสามารถเดินหน้าไปสู่เส้นทางความรุ่งเรืองใหม่นี้

เอกสารประกอบ
India and Vietnam will define the future of Asia, says US official, November 20, 2021, asia.nikkei.com
Our Time Has Come: How India Is Making Its Place In the World, Alyssa Ayres, Oxford University Press, 2018.