ThaiPublica > Sustainability > Headline > Environment Action: Coca-Cola เปิดตัว PlantBottle ขวดพลาสติกจากพืช 100%

Environment Action: Coca-Cola เปิดตัว PlantBottle ขวดพลาสติกจากพืช 100%

17 พฤศจิกายน 2021


ภาพต้นแบบจาก https://packagingeurope.com/coca-cola-unveils-prototype-bottle-made-from-plant-based-sources/

Coca-Cola ร่วมมือกับพันธมิตรด้านเทคโนโลยีสร้างขวดต้นแบบ ทำมาจาก Plant-Based 100%

เส้นทางของบรรจุภัณฑ์ที่ยั่งยืนของบริษัท Coca-Cola ได้ก้าวผ่านความสำเร็จครั้งยิ่งใหญ่ ในเดือนตุลาคมที่ผ่านมาบริษัทได้เปิดตัวขวดเครื่องดื่ม (ไม่รวมฝาและฉลาก) ที่ผลิตจากพลาสติกจากพืช 100% เป็นครั้งแรก ด้วยเทคโนโลยีที่พร้อมสำหรับการใช้งานในเชิงพาณิชย์ ซึ่งขวดต้นแบบนั้นมีมานานกว่าทศวรรษหลังจากที่บริษัทได้เปิดตัว PlantBottle™ ที่เป็นขวดพลาสติก PET รีไซเคิลได้ขวดแรกของโลก ซึ่งผลิตจากวัสดุจากพืชถึง 30% และผลิตมาในจำนวนจำกัดประมาณ 900 ขวด

“เราทำงานร่วมกับพันธมิตรด้านเทคโนโลยีมาหลายปีเพื่อพัฒนาเทคโนโลยีที่เหมาะสมสำหรับสร้างขวดจากวัสดุจากพืช 100% โดยมีเป้าหมายเพื่อลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ให้ต่ำที่สุดเท่าที่จะทำได้ และเป็นเรื่องน่าตื่นเต้นที่เราได้มาถึงจุดที่เทคโนโลยีเหล่านี้มีอยู่จริงและสามารถขยายได้โดยผู้มีส่วนร่วมในห่วงโซ่คุณค่า” แนนซี่ ฉวน หัวหน้าเจ้าหน้าที่ด้านเทคนิคและนวัตกรรมของบริษัท Coca-Cola กล่าว

PET เป็นพลาสติกที่รีไซเคิลมากที่สุดในโลก ประกอบด้วย 2 โมเลกุล คือ โมโนเอทิลีนไกลคอล (monoethylene glycol หรือ MEG) ประมาณ 30% และกรดเทเรฟทาลิก (terephthalic acid หรือ PTA) ประมาณ 70% ซึ่ง PlantBottle™ รุ่นแรกเริ่มที่ถูกเปิดตัวในปี 2009 ประกอบด้วย MEG จากอ้อย แต่ PTA มาจากน้ำมันมาจนถึงปัจจุบัน ซึ่งบรรจุภัณฑ์ PlantBottle™ มีรูปลักษณ์ การใช้งาน และสามารถรีไซเคิลได้เหมือนกับ PET แบบดั้งเดิม แต่ส่งผลกระทบต่อโลกและทรัพยากรน้อยกว่า

โดยขวดต้นแบบที่ผลิตจากพืชรุ่นใหม่ของ Coca-Cola ทำมาจากพาราไซลีนจากพืช (Plant-based paraxylene หรือ bPX) แล้วเปลี่ยนเป็นกรดเทเรฟทาลิกจากพืช (plant-based terephthalic acid: bPTA) โดยใช้เทคโนโลยีใหม่ของ Virent ถือว่าเป็นวัสดุบรรจุภัณฑ์เครื่องดื่มชนิดแรกที่เกิดจาก bPX ที่ผลิตในระดับการทดลอง เทคโนโลยีใหม่นี้เป็นสัญญาณของการเปลี่ยนแปลงที่ชี้ให้เห็นถึงความเป็นไปได้ในเชิงพาณิชย์ของวัสดุชีวภาพ โดย bPX สำหรับขวดชนิดนี้ถูกผลิตด้วยน้ำตาลจากข้าวโพด ผ่านกระบวนการให้ความยืดหยุ่น

เทคโนโลยีอันก้าวล้ำอย่างที่ 2 บริษัท Coca-Cola เป็นเจ้าของร่วมกับ Changchun Meihe Science & Technology ปรับปรุงกระบวนการผลิต bMEG ให้มีประสิทธิภาพมากขึ้นและยังทำให้มีความยืดหยุ่นในวัตถุดิบมากขึ้น ซึ่งหมายความว่าสามารถใช้วัสดุหมุนเวียนได้หลากหลายชนิดขึ้น โดยทั่วไป bMEG ผลิตโดยการเปลี่ยนอ้อยหรือข้าวโพดให้เป็นไบโอเอทานอล (bioethanol) ซึ่งเป็นตัวกลาง แล้วต่อมาจะถูกเปลี่ยนเป็นไบโอเอทิลีนไกลคอล (bioethylene glycol) ในปัจจุบันแหล่งน้ำตาลสามารถผลิต MEG ได้โดยตรง ทำให้กระบวนการง่ายขึ้น ซึ่ง UPM เป็นผู้ได้รับอนุญาตรายแรกของเทคโนโลยีนี้ และกำลังสร้างโรงงานเชิงพาณิชย์เต็มรูปแบบในเยอรมนีเพื่อแปลงวัตถุดิบไม้เนื้อแข็งที่ได้รับการรับรองและมาจากแหล่งที่ยั่งยืนจากโรงเลื่อยและอุตสาหกรรมไม้อื่นๆ ให้เป็น bMEG นับว่าเป็นก้าวสำคัญของการทำให้เทคโนโลยีกลายเป็นเชิงพาณิช

“ความท้าทายที่แท้จริงของการใช้ไบโอเอทานอลคือคุณกำลังแข่งขันกับเชื้อเพลิง” ดานา บรีด ผู้อำนวยการฝ่ายวิจัยและพัฒนาระดับโลก ด้านบรรจุภัณฑ์และความยั่งยืนของบริษัท Coca-Cola กล่าว

“เราต้องการโซลูชัน MEG รุ่นใหม่เพื่อรับมือกับความท้าทายนี้ แต่ยังสามารถใช้วัสดุเหลือใช้ทางการเกษตรได้ เช่น ของเสียจากป่าไม้หรือผลพลอยได้ทางการเกษตร เป้าหมายของเราสำหรับ PET จากพืชคือการใช้ผลิตภัณฑ์ที่เหลือทางการเกษตรเพื่อลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ ดังนั้น การผสมผสานเทคโนโลยีโดยพันธมิตรเพื่อการค้าจึงเหมาะสมอย่างยิ่งกับกลยุทธ์นี้”

ในปี 2015 Coca-Cola ได้เปิดตัวต้นแบบแรกของ PlantBottle™ ซึ่งทำมาจากพืช 100% ที่ Milan Expo ด้วยวิธีการผลิต bPX ในระดับห้องปฏิบัติการ โดยขวดที่ทำจากพืช 100% รุ่นใหม่นี้ถูกผลิตขึ้นโดยใช้เทคโนโลยีใหม่ในการผลิตสารชีวเคมีที่ใช้ผลิตขวดและพร้อมสำหรับการปรับขนาดเป็นเชิงพาณิชย์

ที่มาภาพ:https://www.usda.gov/sites/default/files/documents/Knutzen.pdf

“เป้าหมายของเราคือการพัฒนาโซลูชันที่ยั่งยืนสำหรับอุตสาหกรรมทั้งหมด เราต้องการให้บริษัทอื่นเข้าร่วมกับเราและก้าวไปข้างหน้าร่วมกัน เราไม่ได้มองว่าการรีไซเคิลหรือการหมุนเวียนเป็นสิ่งที่เราได้เปรียบทางการแข่งขัน” บรีดกล่าว

นับตั้งแต่เปิดตัว PlantBottle™ Coca-Cola ได้อนุญาตให้บริษัทที่ไม่ใช่คู่แข่งใช้เทคโนโลยีและแบรนด์ในผลิตภัณฑ์ของพวกเขา ตั้งแต่ Heinz Ketchup ไปจนถึงองค์ประกอบภายในรถยนต์ไฮบริดของ Ford Fusion ในปี 2018 บริษัทได้เปิดเผยทรัพย์สินทางปัญญา PlantBottle™ ให้กับคู่แข่งในอุตสาหกรรมเครื่องดื่มอย่างแพร่หลายเพื่อขยายอุปสงค์และลดราคาลง

ในฐานะที่เป็นส่วนหนึ่งของวิสัยทัศน์ World Without Waste บริษัท Coca-Cola กำลังพยายามที่จะทำให้บรรจุภัณฑ์ทั้งหมดของบริษัทยั่งยืนมากขึ้น ซึ่งรวมถึงการใช้วัสดุรีไซเคิลและวัสดุหมุนเวียนให้เกิดประโยชน์สูงสุด ในขณะเดียวกันก็ลดการใช้วัสดุใหม่และวัสดุฟอสซิล

บริษัทได้ให้คำมั่นสัญญาว่าจะเก็บขวดกลับคืนให้ได้เท่ากับจำนวนทั้งหมดที่ขายไปภายในปี 2030 ดังนั้น จะไม่มีขวดที่กลายเป็นขยะและขวดเก่าจะถูกนำไปรีไซเคิลเป็นขวดใหม่ เพื่อทำให้บรรจุภัณฑ์สามารถนำกลับมาใช้ใหม่ได้ 100% และเพื่อให้แน่ใจว่า 50% ของบรรจุภัณฑ์มาจากวัสดุรีไซเคิล

นวัตกรรมนี้ช่วยสนับสนุนวิสัยทัศน์ World Without Waste โดยเฉพาะอย่างยิ่งเป้าหมายที่ประกาศเมื่อไม่นานมานี้ว่าจะลดการใช้พลาสติกใหม่ที่ผลิตจากน้ำมันลง 3 ล้านตันภายในปี 2025 โดยบริษัท Coca-Cola จะดำเนินการลดการใช้พลาสติกใหม่ที่ผลิตจากน้ำมันลง 20% ด้วยการลงทุนในเทคโนโลยีการรีไซเคิลใหม่ๆ เช่น การยกระดับการรีไซเคิล การปรับปรุงบรรจุภัณฑ์ให้น้ำหนักเบาขึ้น และรูปแบบธุรกิจทางเลือก อย่างเช่น ระบบรีฟิล ระบบจ่ายและกดเครื่องดื่ม ตลอดจนการพัฒนาวัสดุหมุนเวียนใหม่ๆ

ในยุโรปและญี่ปุ่น บริษัท Coca-Cola ร่วมกับพันธมิตรด้านการบรรจุขวดมีเป้าหมายที่จะเลิกใช้พลาสติก PET ใหม่ที่ผลิตจากน้ำมันในขวดพลาสติกทั้งหมดภายในปี 2030 โดยจะใช้เพียงแค่วัสดุรีไซเคิลหรือวัสดุหมุนเวียนเท่านั้น

อย่างไรก็ตาม แม้ว่าวัสดุของบรรจุภัณฑ์พลาสติกส่วนใหญ่จะมาจากการรีไซเคิล แต่วัสดุ “ใหม่” บางชนิดก็ยังคงมีความจำเป็นในการรักษามาตรฐานคุณภาพ เป็นเหตุผลว่าทำไม Coca-Cola ถึงลงทุนและขับเคลื่อนนวัตกรรมในการจัดหาวัตถุดิบด้วยเทคโนโลยีหมุนเวียน รวมถึงยกระดับเทคโนโลยีการรีไซเคิล ซึ่งการยกระดับเทคโนโลยีการรีไซเคิลหรือ “อัปไซเคิล (upcycle)” ก่อนหน้านี้ใช้กับพลาสติก PET ที่คุณภาพต่างๆ ไปจนถึงคุณภาพสูง รวมถึง PET ฟู้ดเกรด

“เรากำลังดำเนินการในขั้นตอนสำคัญเพื่อลดการใช้พลาสติก ‘ใหม่’ ที่ผลิตจากน้ำมัน ในขณะที่เรามุ่งมั่นไปสู่ระบบเศรษฐกิจหมุนเวียนและสนับสนุนเป้าหมายการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์สุทธิเป็นศูนย์ภายในปี 2050” ฉวนกล่าว “เรามองว่าพลาสติกที่ผลิตจากพืชมีบทบาทสำคัญในการผสม PET ในอนาคต ซึ่งสนับสนุนเป้าหมายของเราในการลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ ลดการใช้เชื้อเพลิงฟอสซิลใหม่ และช่วยส่งเสริมการเก็บรวบรวม PET เพื่อสนับสนุนระบบเศรษฐกิจหมุนเวียน”

ที่มา: https://www.coca-colacompany.com/news/coca-cola-expands-access-to-plantbottle-ip