ThaiPublica > Sustainability > Global Issues > Circular Economy : the Future We Create (3) เรียนรู้ประสบการณ์ระดับโลก-ถอดโมเดลองค์กรธุรกิจชั้นนำ

Circular Economy : the Future We Create (3) เรียนรู้ประสบการณ์ระดับโลก-ถอดโมเดลองค์กรธุรกิจชั้นนำ

21 กรกฎาคม 2018


การอภิปรายในหัวข้อ “The Success Cases of Circular Economy Business” (ภาพจากซ้ายไปขวา)นายธนวงษ์ อารีรัชชกุล กรรมการผู้จัดการใหญ่ ธุรกิจบรรจุภัณฑ์ เอสซีจี, นายเจฟฟ์ วูสเตอร์ Global Sustainability Director, บริษัท Dow Chemical,นายสุเรนทรา บาเด Country Leader, Dupont Industrial Bioscience ประเทศไทย,ดร.อองตวน เซอเตเน Diplomatic Advisor, Group Public Affairs Department Asia & Market Access จาก Michelin และผู้ดำเนินการอภิปราย

เมื่อวันที่ 9 กรกฎาคม 2561 เอสซีจี จัดงาน “SD Symposium 2018” ภายใต้แนวคิด “Circular Economy : The Future We Create” เป็นครั้งที่ 5 เพื่อให้สาธารณชนตระหนักถึงความสำคัญของการพัฒนาอย่างยั่งยืนในประเด็นต่างๆ โดยมีองค์กรชั้นนำระดับโลก ภาครัฐ ภาคประชาสังคม ผู้ประกอบการ SME สตาร์ทอัป ชุมชน ร่วมแลกเปลี่ยนมุมมองและต้นแบบความสำเร็จเพื่อขับเคลื่อนเศรษฐกิจหมุนเวียน (circular economy) โดยใช้ทรัพยากรเท่าที่จำเป็นให้มีประสิทธิภาพสูงสุดตั้งแต่กระบวนการผลิต การบริโภค จนถึงการนำกลับมาใช้เป็นวัตถุดิบ สู่การเติบโตอย่างสมดุลของธุรกิจ คุณภาพชีวิต และอนาคตโลกที่ยั่งยืน

กลยุทธ์ 4Rs ในองค์กรชั้นนำ

การอภิปรายในหัวข้อ “The Success Cases of Circular Economy Business” มี ดร.อองตวน เซอเตเน Diplomatic Advisor, Group Public Affairs Department Asia & Market Access จาก Michelin นายสุเรนทรา บาเด Country Leader, Dupont Industrial Bioscience ประเทศไทย นายเจฟฟ์ วูสเตอร์ Global Sustainability Director, บริษัท Dow Chemical และนายธนวงษ์ อารีรัชชกุล กรรมการผู้จัดการใหญ่ ธุรกิจบรรจุภัณฑ์ เอสซีจี เป็นผู้ร่วมอภิปราย

ดร.อองตวน เซอเตเน กล่าวว่า มิชลินเป็นที่รู้จักในนามของผู้ผลิตยางรถยนต์ โดยไทยเป็นประเทศหลักในการทำธุรกิจของบริษัทมากว่า 30 ปี โดยร่วมธุรกิจกับ SCG มีโรงงานทั้งหมด 6 แห่ง และมิชลินยังมีการดำเนินธุรกิจอื่นๆ อย่างหลากหลาย เช่น Michelin Guide

มิชลินให้ความสำคัญกับสังคมไทยด้านการพัฒนาและดูแลสิ่งแวดล้อม วันนี้ประเทศไทยกำลังเผชิญกับความท้าทาย ทั้งอากาศ ป่าไม้ สัตว์ป่า และสิ่งแวดล้อมอื่นๆ ทรัพยากรธรรมชาติกำลังลดลง มิชลินต้องเปลี่ยนแปลงการทำงานไปสู่เส้นทางแห่งความยั่งยืน

ระบบเศรษฐกิจหมุนเวียนเป็นเรื่องที่มิชลินให้ความสำคัญ โดยมองเป็นเป้าหมายที่ต้องบรรจุเป็น DNA และเป็นกลยุทธ์ของบริษัท ดังสโลแกนที่ว่า Better Way Forward ที่จะช่วยสร้างความยั่งยืนในทุกกระบวนการทำงานขององค์กร ตั้งแต่การผลิต การเลือกวัสดุในการผลิต จนถึงปลายทาง

เมื่อกล่าวถึงเศรษฐกิจหมุนเวียน ในปี 2050 จากการคาดการณ์ว่าจะมีปริมาณรถที่เพิ่มขึ้นนั้น นับเป็นเป้าหมายที่ท้าทายสำหรับผู้ผลิตอย่างมิชลิน โดยต้องนำกลยุทธ์ 4Rs : Reduce-Reuse-Renewable-Recycle มาใช้ในการออกแบบผลิตภัณฑ์แบบ eco design (การออกแบบที่เป็นมิตรกับระบบนิเวศ) ให้สามารถยืดอายุการใช้งาน อีกทั้งยังประหยัด และลดการผลิตขยะให้โลก ปัจจุบัน ในกระบวนการผลิต โรงงานทุกแห่งของมิชลินใช้แนวคิด recycle และ reuse มาใช้ในกระบวนการผลิตแล้วกว่า 2 ทศวรรษ

ในอนาคต ยานพาหนะจะฉลาดขึ้น จะมีการใช้ไบโอเมทริกซ์ในการออกแบบ และใช้ไบโอดีเกรดเอเบิลเป็นวัตถุดิบในกระบวนการผลิต มิชลินจึงต้องพัฒนายางรถยนต์ให้ตอบโจทย์ โดยใช้วัสดุที่มาจากธรรมชาติ สำหรับมิชลินนั้น ระบบเศรษฐกิจหมุนเวียนจึงหมายถึงนวัตกรรมและการเติบโตอย่างยั่งยืน

สำหรับความท้าทายของการนำเศรษฐกิจหมุนเวียนมาใช้จริงนั้น เริ่มต้นที่ DNA ของมิชลิน Better Way Forward โดยต้องประเมินการเกิดผลกระทบในกระบวนการผลิตตั้งแต่เริ่มต้นหาวัตถุดิบ จนถึงปลายทาง ซึ่งเป็นกระบวนการการทำงานที่เป็นระบบของมิชลิน

นายสุเรนทรา บาเด กล่าวว่า DuPont ทำงานบนพื้นฐานของการร่วมมือกันระหว่างพันธมิตร โดยเชื่อว่าการร่วมมือกันทำให้ DuPont ประสบความสำเร็จ ปัจจุบันจึงร่วมมือกับบริษัทหลายแห่ง เช่น home care company ที่ช่วยให้สามารถออกแบบผลิตภัณฑ์ที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมและประหยัดพลังงาน การเปลี่ยนแปลงของ DuPont ไปสู่การทำงานในระบบเศรษฐกิจหมุนเวียนนั้นเริ่มต้นจากการใช้วัสดุที่มาจากชีวภาพโดยใช้นวัตกรรมในการขับเคลื่อนเพื่อให้สามารถตอบตอบโจทย์นี้ได้

ล่าสุด DuPont ได้ร่วมมือกับบริษัทผู้ผลิตไบโอพลาสติก ทำให้สามารถผลิตพลาสติกแบบใหม่ นอกจากนั้น recycle and renewable เป็นเรื่องที่ DuPont ให้ความสำคัญ เพื่อใช้ทรัพยากรให้เกิดประสิทธิภาพสูงสุด โดยปัจจุบัน DuPont ใช้เทคโนโลยีไบโอแมทโพลิเมอร์ ซึ่งนับเป็นการพัฒนาของ DuPont ที่สามารถนำวัตถุดิบตั้งต้นในสัดส่วน 27% ไปรีไซเคิลได้ นับเป็นตัวอย่างของแนวคิดการใช้นวัตกรรมบนพื้นฐานเศรษฐกิจหมุนเวียน และช่วยให้การบริหารจัดการขยะทำได้อย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้นเช่นกัน

ปัจจุบันที่มีขยะจากเศษอาหารมากมายเหลือทิ้ง DuPont ได้ทำงานร่วมกับผู้ผลิตอาหารสัตว์เพื่อพัฒนาอาหารที่จะช่วยเสริมคุณภาพของปศุสัตว์ให้ดียิ่งขึ้น ตามหลักด้านความยั่งยืนข้อ 12 : Food Waste นอกจากนั้น DuPont ได้ให้ความสำคัญกับการออกแบบและการพัฒนาบรรจุภัณฑ์ ทั้งนี้ ความสำเร็จจะเกิดขึ้นได้ต้องอาศัยความร่วมมือจากทุกภาคส่วน ทั้งรัฐบาล เอ็นจีโอ ผู้บริโภค เพื่อนร่วมองค์กร และเพื่อนในอุตสาหกรรม

สำหรับความท้าทายของการนำเศรษฐกิจหมุนเวียนมาใช้จริงนั้น DuPont เชื่อว่านวัตกรรมจะสร้างการเติบโตให้กับทุกคน โดยเริ่มต้นจากการปรับเปลี่ยนมุมมองในการซื้อสินค้าของผู้บริโภค ซึ่งจะนำไปสู่การเปลี่ยนแปลงด้านพฤติกรรม การร่วมมือกันของแต่ละภาคส่วน จะทำให้ทุกคนหันมาสนใจเรื่องนี้ ซึ่งไม่จำเป็นต้องรอการขับเคลื่อนจากภาครัฐ แต่เอกชนก็สามารถเป็นผู้นำ ทำให้ผู้บริโภคเห็นความสำคัญของสินค้าที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมได้เช่นกัน

นายเจฟฟ์ วูสเตอร์ กล่าวว่า ปัจจุบันต้องยอมรับว่าเราเหลือทรัพยากรไม่เพียงพอต่อความต้องการของคนทั้งโลกแล้ว ซึ่งประเด็นนี้สำคัญมาก และไม่เพียงแต่สังคมหรือบริษัทที่ต้องตระหนัก แต่เป็นเรื่องที่สังคมโลกต้องให้ความสำคัญ ในฐานะภาคเอกชน Dow Chemical ให้ความสำคัญเรื่องเศรษฐกิจหมุนเวียนมาเป็นระยะเวลานาน โดยได้ถอดบทเรียนเพื่อให้เป็นประโยชน์ต้ององค์กรอื่นๆ ได้นำไปปรับใช้ เช่น การกำหนดเป้าหมายด้านความยั่งยืน 2025 และทิศทางการดำเนินการ การออกแบบกระบวนการผลิต การออกแบบผลิตภัณฑ์ การออกแบบและผลิตบรรจุภัณฑ์ที่สามารถรีไซเคิลและนำกลับมาใช้ใหม่ได้ การทำงานร่วมกับพันธมิตร กระบวนการทำงานที่มีนวัตกรรม และการใช้เทคโนโลยีและการดำเนินธุรกิจบนแนวทางความยั่งยืน

ปัจจุบัน Dow Chemical ตระหนักถึงการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศของโลกด้วยเช่นกัน จึงได้มีความพยายามคิดหาทางออก โดยเริ่มต้นคิดจากภาพใหญ่และคิดหาทางแก้เพื่อแก้ปัญหาโดยไม่ให้เกิดผลกระทบกับโลกและธุรกิจ

ที่ผ่านมา พลาสติกถูกกล่าวหาว่าเป็นภัยร้าย Dow Chemical จึงได้พัฒนารูปแบบการใช้พลาสติก โดยมีแนวคิดเรื่องการรีไซเคิลพลาสติกผ่านการบริหารจัดการที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม โดยทำงานร่วมกับองค์กรที่มีความเชี่ยวชาญ สำหรับประเทศไทยที่เริ่มต้นทำงานเรื่องดังกล่าว การสื่อสารกับผู้บริโภคเป็นเรื่องสำคัญ

สำหรับความท้าทายของการนำเศรษฐกิจหมุนเวียนมาใช้จริงนั้น Dow Chemical มีเป้าหมายที่จะผลักดันให้ 6 โครงการสำเร็จภายในปี ค.ศ. 2025 โดยมีการเริ่มนำบรรจุภัณฑ์ที่ลูกค้าใช้แล้วมารีไซเคิล อีกทั้งยังมีโครงการอื่นๆ ที่ทำเพื่อสร้างประโยชน์ให้กับสังคมโดยมุ่งทำให้เกิดประโยชน์จริง ที่สำคัญคือ ไม่ใช่แค่คิด แต่ต้องลงมือทำด้วย

นายธนวงษ์ อารีรัชชกุล กล่าวว่า เศรษฐกิจหมุนเวียนของธุรกิจบรรจุภัณฑ์ เอสซีจี ไม่ใช่เรื่องใหม่ ในการดำเนินธุรกิจ ผู้ประกอบการจะใช้กระดาษรีไซเคิลมาใช้ในการผลิตอยู่แล้ว แต่ยิ่งไปกว่านั้น เพื่อเป็นการลดการใช้วัตถุดิบ SCG ได้เสริมเรื่องการใช้นวัตกรรมและเทคโนโลยีในการลดความหนาของกระดาษลงร้อยละ 20-25 ในขณะเดียวกันก็ยังคงความทนทานและความแข็งแรงของกระดาษได้

ด้านการออกแบบก็เป็นเรื่องสำคัญ โดยต้องออกแบบให้เหมาะสมกับการใช้งานที่แตกต่างกันไป เช่น พาเลตกระดาษสามารถนำมาใช้แทนพาเลตไม้ได้ รับน้ำหนักได้มากถึง 800 กิโลกรัม (เวทีการจัดงานในวันนี้ก็ใช้กระดาษเป็นโครงสร้าง) หลังจากใช้ไปแล้วก็สามารถนำกลับไปรีไซเคิลเป็นบรรจุภัณฑ์ได้อีก กระบวนการนี้นับเป็นส่วนหนึ่งที่ตอบโจทย์เศรษฐกิจหมุนเวียน

นอกจากนั้น SCG ได้พัฒนาแอปพลิเคชันบนมือถือที่ช่วยเชื่อมต่อกับลูกค้าและคู่ค้า ไม่ใช่เพื่อความสะดวกเพียงอย่างเดียว แต่แพลตฟอร์มดิจิทัลนี้จะช่วยเพิ่มประสิทธิภาพของการเก็บข้อมูลด้วย การพัฒนานี้ต้องใช้ความร่วมมือจากทุกภาคส่วน SCG เพียงผู้เดียวไม่สามารถทำให้สำเร็จได้ ซึ่งในอนาคต SCG จะสามารถพัฒนาต่อยอดเรื่องนี้ต่อไปได้

อย่างไรก็ตาม สิ่งที่ต้องเริ่มทำคือการสร้างจิตสำนึกและการตระหนักรู้ของคนให้รู้จักการคัดแยกขยะ ผนวกกับเร่งปลูกฝังความคิดเรื่องความยั่งยืน โดยจะมีภาครัฐ ภาคเอกชน สื่อ และสังคม เป็นผู้สนับสนุน และหากทุกภาคส่วนร่วมทำงานไปพร้อมกัน เชื่อเป็นอย่างยิ่งว่า เศรษฐกิจหมุนเวียนในประเทศไทยจะเกิดขึ้นได้

สำหรับความท้าทายของการนำเศรษฐกิจหมุนเวียนมาใช้จริงนั้น สิ่งสำคัญที่สุดอยู่ที่ความคิดของคน การสร้างความตระหนักรู้ และสื่อสารเพื่อสร้างความเข้าใจและให้เห็นความสำคัญ ทั้งหมดนี้ ลำพังเพียงคนเดียวไม่สามารถทำได้ทั้งหมด ความร่วมมือกันถือเป็นเรื่องสำคัญ สำหรับการดำเนินงานด้านเศรษฐกิจหมุนเวียนของ SCG ต้องเริ่มจากการสร้างความเข้าใจให้ทุกคนเข้าใจทิศทางการทำงานที่ตรงกัน หากทำได้ก็จะช่วยให้สามารถบริหารจัดการทรัพยากรได้ดีขึ้น

การอภิปรายในหัวข้อ Global Sharing ซึ่งมีนายเจฟฟ์ วูสเตอร์ Global Sustainability Director, บริษัท Dow Chemical และดอกเตอร์ทิเน รอร์วิก Innovative & Technology Director – Europe, Chemical Business เอซีจี,นายคอร์ต ไอเซิร์นฮาเกน Senior Vice President & Managing Director จาก Lux Research, นายเคส ราเดอ เอกอัครราชทูตเนเธอร์แลนด์ประจำประเทศไทย และมีนายเบรนเดน เอดเกอร์ตัน Circular Economy Director จาก WBCSDผู้ดำเนินรายการ (ภาพจากซ้ายมาขวา)

แชร์ประสบการณ์เนเธอร์แลนด์

สำหรับการอภิปรายในหัวข้อ Global Sharing ซึ่งมี นายเคส ราเดอ เอกอัครราชทูตเนเธอร์แลนด์ประจำประเทศไทย นายคอร์ต ไอเซิร์นฮาเกน Senior Vice President & Managing Director จาก Lux Research นายเจฟฟ์ วูสเตอร์ Global Sustainability Director, บริษัท Dow Chemical และดอกเตอร์ทิเน รอร์วิก Innovative & Technology Director – Europe, Chemical Business เอซีจี และมีนายเบรนเดน เอดเกอร์ตัน Circular Economy Director จาก WBCSD

นายเบรนเดน เอดเกอร์ตัน เริ่มนำเข้าสู่การอภิปรายด้วยการให้ข้อมูลว่า จากงานวิจัยพบว่า 97% บอกว่า เศรษฐกิจหมุนเวียนมีความสำคัญมากขึ้นกว่า 3 ปีที่ผ่านมา และ 93% บอกว่าเป็นเรื่องสำคัญสำหรับการเติบโตและความสำเร็จในอนาคต โดยสิ่งที่เป็นปัจจัยขับเคลื่อนเศรษฐกิจหมุนเวียน คือ ปัจจัยภายนอก ได้แก่ ลูกค้า กฎระเบียบ กฎหมาย และความเห็นประชาชน ส่วนปัจจัยภายใน คือ ผู้บริหาร การพัฒนาอย่างยั่งยืน และกลยุทธ์ขององค์กร

การขับเคลื่อนให้เกิดแนวคิดเศรษฐกิจหมุนเวียน ขั้นแรก องค์กรต้องมองเห็นความสำคัญเรื่องการพัฒนาอย่างยั่งยืน ขั้นที่ 2 ผู้บริหารต้องมองเห็นความสำคัญ ขั้นที่ 3 ต้องมีการกำหนดทิศทางการนำไปปรับใช้ในองค์กร และขั้นที่ 4 แต่ละหน่วยงานต้องมีความเข้าใจและรับไปปฏิบัติ โดยการดำเนินการส่วนใหญ่จะเริ่มจากจุดเล็กๆ แล้วนำมาขยายผล จากนั้นเมื่อสำเร็จ กระบวนการทำงานจะขึ้นสู่ระดับสูงขึ้น เพื่อให้องค์กรนำไปต่อยอดธุรกิจและเป็นกระบวนการที่จะนำไปใช้ในหน่วยธุรกิจ แล้วบูรณาการเข้าไปในยุทธศาสตร์ขององค์กร

“เราต้องคิดว่าจะนำแนวคิดนี้ไปใช้ในการทำงานอย่างไร และต้องทำให้ธุรกิจเป็นการหมุนเวียนทางเศรษฐกิจให้ได้ โดยจากงานวิจัยระบุว่า หลายองค์กรเริ่มมองเรื่องนี้อย่างมีนัยสำคัญตั้งแต่ปี 2017 โดยเริ่มวิเคราะห์ตัวเองว่ามีปัจจัยอะไรบ้างที่ทำให้เกิดเศรษฐกิจหมุนเวียน ส่วนหนึ่งคือแต่ละองค์กรต้องการสร้างรายได้มากขึ้น ลดต้นทุน ทำให้เกิดความคุ้มค่าทางธุรกิจ และลดความเสี่ยงของธุรกิจได้ด้วย” นายเบรนเดนกล่าว

นายเคส ราเดอ เอกอัครราชทูตเนเธอร์แลนด์ประจำประเทศไทย กล่าวว่า ปัจจุบันยังไม่เห็นเศรษฐกิจหมุนเวียนถูกพูดถึงในประเทศไทยสักเท่าไหร่ ต้องขอแสดงความยินดีกับความคิดริเริ่มที่จะนำเรื่องนี้ขึ้นมาในประเทศไทย และขอแบ่งปันมุมมองและประสบการณ์จากยุโรป ภาวะโลกร้อนเป็นเรื่องที่กระตุ้นให้ต้องหันมาใส่ใจ จากการเห็นในแอนตาร์กติกาที่น้ำแข็งเริ่มละลาย ระดับน้ำทะเลที่เพิ่มขึ้นมากกว่าครึ่งเมตร คาดว่าจะเพิ่มอีก 24-30 เซนติเมตร ในปี 2065 และคาดว่าจะสูงขึ้นอีก 40-63 เซนติเมตร ในปี 2100 เทียบกับระดับปี 1986-2005

การวัดผลคาร์บอนไดออกไซด์ในชั้นบรรยากาศวันนี้อยู่ที่ระดับ 411 ppm ในเดือนพฤษภาคมที่ผ่านมา ซึ่งจากการศึกษาพบว่า ถ้ายังคงใช้ทรัพยากรในการผลิตแบบนี้ ก็มีความเสี่ยงที่ทรัพยากรจะหมดโลก

ปัจจัยทางสิ่งแวดล้อมเกิดการเปลี่ยนแปลงในหลากหลายมิติในช่วง 2 ทศวรรษที่ผ่านมา แม้ว่า GDP จะเติบโตซึ่งเป็นเรื่องที่ดี แต่นั่นหมายถึงการใช้ทรัพยากรในการผลิตมากขึ้นด้วย และการใช้ทรัพยากรที่มากมายขึ้นนั้น เป็นการใช้แล้วหมดไป เมื่อทรัพยากรมีอยู่จำกัดจึงต้องกลับมาดูเรื่องการบริหารจัดการกันให้ดีขึ้น

ปัจจุบันเรื่องน้ำท่วมเป็นเรื่องสำคัญที่หลายประเทศจับตามอง จากสภาวะโลกร้อนที่เริ่มส่งผลกระทบโดยทั่วกัน ทำให้ในอนาคตต้องเริ่มโฟกัสที่เศรษฐกิจหมุนเวียนและการพัฒนาอย่างยั่งยืน ซึ่งแม้จะเป็นนิยามที่เข้าใจไม่ง่าย แต่เป็นเรื่องที่ต้องทำให้เกิดขึ้น โดยการบริหารทรัพยากรอย่างยั่งยืนเพื่อส่งมอบไปสู่คนรุ่นหลัง สิ่งหนึ่งที่จะต้องทำคือต้องเปลี่ยนรูปแบบเศรษฐกิจจากเศรษฐกิจแบบเส้นตรงให้กลายเป็นเศรษฐกิจหมุนเวียน เปลี่ยนจากสังคมที่ใช้แล้วทิ้งมาเป็นสังคมที่นำกลับมาใช้ใหม่ และของเหลือใช้คือวัตถุดิบตั้งต้นคุณภาพเยี่ยมที่ไม่ควรมองข้าม

“หลายบริษัทในภาคอุตสาหกรรมของเนเธอร์แลนด์มองว่า ของเหลือใช้เหล่านี้เป็นวัตถุดิบที่สามารถทำเงินได้ และในเนเธอร์แลนด์ กระบวนการผลิตที่ใช้วัตถุดิบมารีไซเคิลนี้ ทำให้เริ่มนำเข้าขยะเหลือใช้จากต่างประเทศ” นายราเดอกล่าว

สำหรับกรณีของเนเธอร์แลนด์ซึ่งตั้งอยู่ในที่ต่ำกว่าระดับน้ำทะเล โดย 75% ของประชากรอาศัยในพื้นที่ต่ำกว่าระดับน้ำทะเล ขณะที่ 85% อุตสาหกรรมตั้งในพื้นที่ต่ำกว่าระดับน้ำทะเล ขณะที่ที่ตั้งของสนามบิน Schiphol ต่ำกว่าระดับน้ำทะเล 9 ฟุตและตั้งอยู่ที่ก้นทะเลสาบ อีกทั้งพื้นที่ที่ต่ำที่สุดของเนเธอร์แลนด์ก็ต่ำกว่าระดับน้ำทะเล 24 ฟุต

รัฐบาลเนเธอร์แลนด์มีการใช้โปรแกรมมากมายที่จะทำให้ระบบเศรษฐกิจหมุนเวียนเกิดขึ้นได้จริง โดยได้ริเริ่มนโยบายเหล่านี้ในเดือนกันยายน 2016 ประกอบด้วย นโยบายการนำวัตถุดิบกลับมาใช้ทั้งหมดในปี 2050 และตั้งเป้าหมายระยะยาวลดปริมาณวัตถุดิบขั้นต้นให้ได้ 50% ในปี 2030 โดยปัจจัยหลักที่จะผลักดันให้เกิดขึ้น คือ การออกแบบสินค้าต้องทำอย่างฉลาดด้วยการใช้วัสดุตั้งต้นที่น้อยลง (smart design: fewer resource) สินค้าต้องมีอายุการใช้งานที่ยืนยาวเพื่อลดปริมาณขยะในโลก (extend product life) และสินค้าที่ใช้งานแล้วต้องนำกลับมาใช้ได้อีกและต้องสามารถรีไซเคิลได้ (more better reuse: waste as raw material)

นายเคส ราเดอ เอกอัครราชทูตเนเธอร์แลนด์ประจำประเทศไทย

“มีการคาดการณ์ว่าภายในปี 2023 เศรษฐกิจหมุนเวียนในเนเธอร์แลนด์จะสร้างตลาดที่มีมูลค่ามากกว่า 7.3 พันล้านดอลลาร์ต่อปี และสร้างงานกว่า 54,000 ตำแหน่ง คนจะเริ่มตั้งราคาสินค้าเป็น true price คือ สินค้าและบริการต้องคิดราคาต้นทุนที่แท้จริง และต้องคิดแบบ natural capital accounting คือ ต้นทุนของการใช้อากาศ ใช้ทรัพยากรธรรมชาติที่ระบบเศรษฐกิจหมุนเวียนสามารถระบุต้นทุนแฝงเหล่านี้ได้” นายราเดอกล่าวและว่า ภาคเอกชนได้เริ่มกำหนดราคาด้วยวิธีการนี้มาได้ 2 ปีแล้ว

นโยบายนี้เริ่มต้นจาก 5 กลุ่มธุรกิจหลัก คือ สารอินทรีย์และอาหาร, พลาสติก, ภาคการผลิต, การก่อสร้าง และสินค้าอุปโภคบริโภค รวมทั้งมีการจัดตั้งกองทุนเพื่อปรับปรุงวิธีการจัดการกับขยะเหลือใช้ คัดแยกขยะ เพื่อนำกลับมาใช้งานอย่างเป็นรูปธรรม ไม่ว่าจะเป็นการนำมาทำเป็นพลังงานทางเลือกและอื่นๆ ทั้งนี้ ซึ่งจะทำให้กำจัดขยะหมดไป นอกจากนี้ยังส่งเสริมนวัตกรรมในการผลิต ปรับปรุงกระบวนการรีไซเคิลให้ดีขึ้น

นายราเดอกล่าวว่า บทบาทของภาครัฐเองก็มีความสำคัญ โดยต้องบังคับใช้กฎกติกาให้จริงจัง และต้องมีสิทธิประโยชน์ทางภาษีให้กับภาคเอกชนด้วยเพื่อจูงใจให้ทุกคนก้าวเข้ามาอยู่ในระบบเศรษฐกิจหมุนเวียน รวมทั้งสนับสนุนทางการเงิน ส่งเสริมด้านความรู้ ด้านนวัตกรรม และท้ายที่สุด ต้องมีความร่วมมือกันในระดับนานาชาติด้วย

“เรื่องนี้ถือเป็นเรื่องสำคัญที่ต้องอาศัยบทบาทของทุกคน (polder model) คือ ต้องร่วมมือกันทำ แต่ต้องทำในทุกระดับ จริงจัง และต้องตรวจตราในสิ่งที่ทำด้วยเพื่อให้เกิดประสิทธิภาพที่สุด ทุกคนต้องมาร่วมพูดคุยและหาวิธีการว่าตัวเองจะเข้าไปอยู่ในระบบเศรษฐกิจหมุนเวียนได้อย่างไรและจะต้องทำอะไรบ้าง” นายราเดอกล่าว

รัฐบาลเนเธอร์แลนด์ได้ริเริ่มโครงการ Holland Circular Hotspot ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของนโยบาย Nederland Circular 2050 ซึ่ง HCH เป็นแพลตฟอร์มที่เปิดให้ผู้มีส่วนได้ส่วนเสียทุกภาคส่วนทั้งรัฐ เอกชน สถาบันต่างๆ ทำงานร่วมกันเพื่อ เสริมสร้างความรู้เกี่ยวกับเศรษฐกิจหมุนเวียน การเปิดโอกาสให้เข้าร่วมในระบบเศรษฐกิจหมุนเวียนและเสริมสร้างการประสานงานทั่วโลก

นอกจากนี้ยังได้ส่งเสริมให้มีการริเริ่มเพื่อความยั่งยืนหลายด้าน โดยเปิดให้ธุรกิจ องค์กรต่างๆ และกลุ่มที่สนใจมีช่องทางที่เข้าถึงรัฐบาลเพื่อทำงานร่วมกันในประเด็นการเติบโตอย่างยั่งยืนและคำนึงถึงสิ่งแวดล้อม รวมทั้งลดอุปสรรคเพื่อให้โครงการที่ริเริ่มขึ้นนั้นตั้งต้นได้และพัฒนาต่อไปได้ โดยตั้งแต่เริ่มต้นในปี 2011 มี 200 โครงการที่ได้ร่วมลงนาม ซึ่งโครงการสำคัญคือ การเปลี่ยนรถบัสสาธารณะเป็นรถที่มีอัตราการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์เป็นศูนย์ในปี 2025 แม้เนเธอร์แลนด์มีรถบัสเพียง 5,000 คัน ขณะที่สายการบินแห่งชาติ KLM ตั้งเป้าที่จะเครื่องบินที่ใช้เชื้อเพลิงชีวภาพ

นอกจากนี้ ยังลดการใช้ถุงพลาสติกในเนเธอร์แลนด์ รัฐบาลเริ่มคิดเงินค่าถุง อาจจะไม่มาก แต่ทำให้คนรู้สึกว่ามีต้นทุน ซึ่งทำให้เกิดผลในมุมกว้างทั่วประเทศ ร้านสะดวกซื้อเองก็ต้องหันมาทำแคมเปญงดใช้ถุงพลาสติก ซึ่งท้ายที่สุดก็จะกลายเป็นนิสัยของประชาชนไปเอง หรือกระทั่งกระแสสินค้าออร์แกนิกส์ ผู้บริโภคก็ต้องตระหนักได้เองว่าเป็นสิ่งที่ดีและพวกเขายอมจ่ายมากขึ้นเพื่อให้ได้สินค้าที่ดี

Dow Chemical เน้นนวัตกรรม

นายเจฟฟ์ วูสเตอร์

นายเจฟฟ์ วูสเตอร์ กล่าวว่า ในปี 2005 เริ่มมีกระแสที่พูดถึงว่าเราจะทำอะไรเพื่อโลกได้บ้าง ในวันนั้น Dow Chemical จึงเริ่มเขียนพิมพ์เขียวขึ้นมาว่าธุรกิจจะทำอะไรเพื่อสังคมได้บ้าง เรารู้สึกว่าการบอกกล่าวเรื่องที่เราทำเพื่อโลกเป็นเรื่องที่ดี เพื่อช่วยกันสานต่อเพื่อพัฒนากลไกต่างๆ ร่วมกันในการสร้างนวัตกรรมและสร้างความยั่งยืนให้เกิดขึ้นจริง

ในฐานะผู้ผลิต เราเห็นโอกาสในธุรกิจอาหาร ตั้งแต่กระบวนการผลิตจนถึงรีไซเคิล เพราะในแต่ละปีมูลค่าของอาหารเหลือทิ้งคิดเป็นเงินมากกว่า 750,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐ จึงใช้นวัตกรรมเข้ามาพัฒนาสินค้าบรรจุภัณฑ์เพื่อรักษาคุณภาพของอาหารไว้ให้ได้ยาวนาน เพราะบรรจุภัณฑ์สามารถช่วยลดปริมาณอาหารเหลือทิ้งได้ถึง 50% เนื่องจากช่วยยืดระยะเวลาการวางจำหน่ายอาหารได้ถึงมากขึ้นถึง 10 เท่า อีกทั้งยังตอบโจทย์การเพิ่มคุณค่าให้กับลูกค้า รวมทั้งยังมีการวิจัยร่วมกับ Chu course เพื่อคิดค้นว่าการใช้พลาสติกจะเป็นมิตรสิ่งแวดล้อมได้อย่างไร

ดาวเคมิคัลมองว่า การผลิตสินค้าควรมีโซลูชันสำหรับแต่ละขั้นตอนให้สามารถทำงานด้วยกันได้ และมองเห็นประเด็นที่ขยะในประเทศถูกเก็บรวมกัน ดังนั้นจึงจำเป็นต้องแยกขยะ เพื่อให้สามารถนำไปขายหรือใช้ประโยชน์อื่นๆ เช่น การทำถนนได้

“เรายังมีการทำวิจัยว่าขยะพลาสติกมาจากไหนและจัดการได้อย่างไร และยังได้ตั้งงบประมาณไว้ 2.8 ล้านดอลลาร์ตั้งแต่ปี 2016 ถึงปี 2018 ในการแก้ปัญหาขยะทะเล โดยเข้าร่วมโครงการ Closed Loop Ocean” นายวูสเตอร์กล่าว

เมื่อมองคุณค่าของพลาสติกเปรียบเทียบกับวัสดุชนิดอื่นแล้ว สิ่งนี้มีข้อได้เปรียบอยู่หลายประการ เพราะพลาสติกใช้ค่าขนส่งถูกกว่าวัสดุชนิดอื่น ทำให้เกิดก๊าซเรือนกระจกน้อยในกระบวนการผลิต และความท้าทายคือการนำพลาสติกรีไซเคิลมาใช้ให้ได้ในอนาคต ซึ่งจะลดการเกิดก๊าซเรือนกระจกได้เช่นกัน แต่แม้จะมีประโยชน์ พลาสติกสร้างกระแสที่รุนแรงในโลกมากเช่นกัน เพราะมีการต่อต้านพลาสติกประเภทใช้แล้วทิ้ง (single-use plastic) ทำให้องค์กรมองการใช้งานของพลาสติกแบบเศรษฐกิจหมุนเวียน อย่างการทำ material recovery for the future ร่วมกับผู้ผลิตในอุตสาหกรรมอาหารทั่วโลก เพื่อนำพลาสติกที่รีไซเคิลแล้วกลับมาทำเป็นวัสดุใหม่แล้วบริจาค เช่น ทำเป็นโต๊ะเก้าอี้

ความท้าทายของการรีไซเคิลพลาสติกคือ มีการใช้วัสดุหลายอย่างผสมกันในการผลิตทำให้นำมารีไซเคิลได้ยาก รวมทั้งการเก็บและคัดแยกขยะก็ยังทำแบบไม่ถูกต้องอีกมาก ขณะที่พฤติกรรมผู้บริโภคในการทิ้งขยะก็เป็นอีกประเด็นหนึ่ง เนื่องจากยังขาดความรู้ความเข้าใจที่ถูกต้องในการแยกขยะทิ้ง และยังมีข้อจำกัดของตลาดสินค้ารีไซเคิล

สิ่งที่จะตอบโจทย์เหล่านี้ได้คือ นวัตกรรมที่ครบวงจร ตั้งแต่การคัดแยก การผลิต การจำหน่าย การใช้ และนำกลับไปใช้

ในแง่ของการทำธุรกิจต้องรู้ว่าจะเดินไปข้างหน้าอย่างไร ถ้ามองว่าการทำให้เกิดกระบวนการหมุนเวียนสร้างคุณค่าให้กับธุรกิจเราได้ เราต้องให้ความสำคัญเพราะมันไม่ได้แค่ให้ประโยชน์กับองค์กร แต่ยังสร้างประโยชน์โดยรวมให้กับสิ่งแวดล้อมและโลกด้วย

ถอดโมเดลวอลมาร์ต

นายคอร์ต ไอเซิร์นฮาเกน

นายคอร์ต ไอเซิร์นฮาเกน กล่าวว่า วันนี้มีความพยายามมองหานวัตกรรมใหม่ๆ ในตลาดที่กำลังเติบโต ระบบเศรษฐกิจใหม่ที่กำลังพุ่งทะยาน และด้วยเทคโนโลยีทำให้ไอเดียเศรษฐกิจหมุนเวียนเริ่มมีการพูดถึงกันมากขึ้น จากข้อมูลต่างๆ ที่วิเคราะห์ออกมา ถึงประโยชน์ของการสร้างระบบเศรษฐกิจหมุนเวียนให้เกิดขึ้นและใช้งานได้จริง ซึ่งมีตัวอย่างจากหลายธุรกิจที่ได้ลงมือแล้ว คือ วอลมาร์ต (Walmart) ธุรกิจค้าปลีกรายใหญ่ของสหรัฐ

วอลมาร์ตโมเดลจะเริ่มตั้งแต่ดีไซน์สินค้า นำมาผลิต ส่งมอบไปยังร้านค้าและผู้บริโภค ผ่านการใช้งาน นำกลับมาใช้ และรีไซเคิลเมื่อทิ้งวัตถุดิบ จนกระทั่งถึงการเป็นสินค้าที่ผ่านการใช้งาน ใส่นวัตกรรมเข้าไปได้ตลอดทาง

เริ่มออกแบบ ขั้นตอนนี้การใส่นวัตกรรมที่มีกลไกของความยั่งยืนเข้าไปจะช่วยให้สินค้าทำงานได้ดีขึ้น ไม่ใช่แค่เป็นสินค้าสีเขียว แต่สร้างมูลค่าทางเศรษฐศาสตร์ได้ ทำให้อยู่ได้นานขึ้น โอกาสของกระบวนการออกแบบที่จะใส่นวัตกรรมเข้าไปได้นั้นคือการมองหาวัสดุใหม่ๆ เข้ามาช่วยในการออกแบบตั้งแต่ต้น เช่น วัสดุชีวภาพ อย่างบรรจุภัณฑ์แบบนาโนหรือกระดาษนาโน หรือดูปองต์ ที่วิจัยเรื่องวัสดุสีเขียว นอกจากนั้น นวัตกรรมในกระบวนการผลิตยังทำให้เกิดมูลค่าเพิ่มในตัวสินค้า เช่น น้ำหนักเบา ขนส่งง่าย เกิดมูลค่าทางเศรษฐศาสตร์ อย่างการที่เราได้เห็นรถ OEM (original equipment manufacturer) ในโตโยต้า หรือฮอนด้าที่ใช้วัสดุธรรมชาติ natural composite ในการผลิตรถรุ่นใหม่ๆ ในปัจจุบัน

นวัตกรรมที่เกิดประโยชน์กับทั้งผู้ใช้และผู้ขาย คือ ทำให้ผู้ค้าได้ประโยชน์จากการใช้งานในเรื่องต้นทุนพลังงาน และการบริหารจัดการกำไรปลายทาง เช่น การสร้างบ้านประหยัดพลังงาน หรือโครงการ Concord Blue ที่นำขยะจากครัวเรือนมาเป็นพลังงาน หรือโคคาโคล่า กับขวด PET ใช้ biobase material

นวัตกรรมในการ recycle-reuse-repair คือ การยืดอายุของสินค้าก่อนจะถูกทิ้ง และมองว่าเราสามารถสร้างให้เกิดมูลค่าทางเศรษฐศาสตร์ได้หรือไม่ บางคนมองว่าปลายทางของการใช้งานสินค้าต่างๆ อยู่ที่ผู้บริโภค แต่ในบางครั้งสินค้ายังทำหน้าที่ของมันได้ต่อหรือกลับกลายมาเป็นวัสดุตั้งต้นสำหรับผลิตได้ใหม่เมื่อผ่านกระบวนการรีไซเคิล เช่น การผลิตชิ้นส่วนรีไซเคิลสำหรับเรือเอาไว้ซ่อมแซมส่วนสึกหรอเล็กๆ หรือ P&G และ TerraCycle ที่ร่วมมือกันช่วยลดการใช้พลาสติก โดยทำบรรจุภัณฑ์จาก 90% ของพลาสติกที่ถูกทิ้งโดยผู้บริโภค อีก 10% เป็นขยะพลาสติกจากทะเล

นวัตกรรมเป็นส่วนหนึ่งของการผลักดันระบบเศรษฐกิจหมุนเวียน และต้องขับเคลื่อนจากแรงกระตุ้นของสังคม รวมทั้งภาครัฐที่ต้องมีส่วนในการกำกับดูแล และทำให้นโยบายต่างๆ เกิดขึ้นได้จริง สุดท้ายผู้บริโภคเองต้องให้ความสนใจด้วย

ดร.ทิเน รอร์วิก (ที่2 จากซ้าย)

เอสซีจีมุ่งลดก๊าซคาร์บอน

ดร.ทิเน รอร์วิก กล่าวว่า เมื่อต้นปีนี้ภาพวาฬที่ตายในทะเลไทยทำให้เกิดกระแสตื่นตัวไปทั่วโลก มีรายงานว่าในอเมริกามีการทิ้งหลอดพลาสติกมากกว่า 500 ล้านชิ้นต่อวัน ซึ่งแน่นอนว่าพลาสติกมีประโยชน์แต่ก็เป็นปัญหาด้วย

จากการพูดคุยกับคนก่อตั้งโครงการ Tiny for the Ocean เพื่อช่วยกันกำจัดขยะพลาสติก และเข้าไปคุยกับ Adidas และ Adidas สนใจร่วมทำโครงการนี้ สะท้อนให้เห็นว่าทั้งภาครัฐ ประชาชน อุตสาหกรรม ต่างก็ส่งเสริมและผลักดันซึ่งกันและกัน

“วันนี้เรื่องระบบเศรษฐกิจหมุนเวียน สิ่งสำคัญที่สุดคือคำมั่นสัญญาของผู้บริหารองค์กร เพราะเป็นผู้กำหนดนโยบายและแนวทางในการทำงาน เช่นในธุรกิจปิโตรเคมีของเรามีเป้าหมายคือ พยายามลดคาร์บอนไดออกไซด์ในกระบวนการผลิตโพลิเมอร์ ถือเป็นความท้าทายที่ต้องใช้นวัตกรรมเข้ามาขับเคลื่อน นอกจากนั้น เราอาจมองไปที่งานด้านอื่นๆ อีก เช่น อาคารประหยัดพลังงาน หรือการก่อสร้างรูปแบบใหม่ที่จะทำให้การใช้ทรัพยากรเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ” ดร.ทิเนกล่าว