ThaiPublica > คอลัมน์ > การสร้างองค์ความรู้ให้แก่สังคมเพื่อลดอันตรายจากยาเสพติด: ข้อสังเกตที่น่าสนใจจากหนังสือ High Price ของ ดร.คาร์ล ฮาร์ต

การสร้างองค์ความรู้ให้แก่สังคมเพื่อลดอันตรายจากยาเสพติด: ข้อสังเกตที่น่าสนใจจากหนังสือ High Price ของ ดร.คาร์ล ฮาร์ต

28 ธันวาคม 2016


ณัฐเมธี สัยเวช

screen-shot-2016-12-28-at-2-53-24-am

ตอนที่แล้ว ได้กล่าวถึงการเปลี่ยนแปลงสำคัญๆ ที่จะเกิดขึ้นจากการผ่านกฎหมายพระราชบัญญัติยาเสพติดให้โทษ (ฉบับที่..) พ.ศ. …. ซึ่งเป็นการแก้ไขเนื้อหาบางส่วนของพระราชบัญญัติยาเสพติดให้โทษ พ.ศ. 2522 โดยการเปลี่ยนแปลงดังกล่าวนั้นจะมีส่วนอย่างมากในการคืนความยุติธรรมให้กับผู้ต้องหาในคดียาเสพติด

อย่างไรก็ดี เมื่อพิจารณาถึงองค์ความรู้และเงื่อนไขต่างๆ ที่มีอยู่ในสังคมขณะที่มีการผ่านกฎหมายดังกล่าวแล้ว การเปลี่ยนแปลงดังกล่าวก็คงเป็นเพียงการเปลี่ยนแปลงในระดับยอดของภูเขาน้ำแข็ง ซึ่งยังยากจะมั่นคงและอาจมีการเปลี่ยนแปลงกลับไปเป็นดังเดิมด้วยปัจจัย 2 ประการ คือ 1. เป็นการผ่านกฎหมายภายใต้โครงสร้างการบริหารของรัฐบาลที่มาจากการรัฐประหาร ซึ่งในทางหลักการแล้ว แม้จะเห็นดีด้วยกับเนื้อหา แต่ก็ย่อมมีคนที่ตั้งกังขาถึงที่มาของความชอบธรรมในอำนาจบริหาร และ 2. ตลอดเวลาที่ผ่านมา การที่กระบวนการยุติธรรมสามารถกลายเป็นเครื่องมือในการสร้างความอยุติธรรมให้เกิดแก่ผู้ต้องหาในคดียาเสพติดได้นั้น เป็นเพราะทัศนคติของผู้คนในสังคมยังเป็นไปในทางที่หวาดกลัวจนกลายเป็นเกลียดชัง ทำให้มองผู้เกี่ยวข้องกับยาเสพติดเป็นความชั่วร้ายที่ต้องกำจัดออกไปจากสังคมอย่างเด็ดขาดมาเสมอ

และเมื่อสิ่งที่เป็นอยู่ตอนนี้ก็คือการที่ฐานทัศนคติในสังคมเป็นไปในทางดังกล่าว คือ ไม่ว่าจะเป็นฝ่ายที่เห็นด้วยหรือไม่เห็นด้วยกับการรัฐประหาร ก็ต่างมีผู้ที่มีความไม่เห็นด้วยกับการพยายามให้ความเป็นธรรมแก่ผู้ต้องหาในคดียาเสพติดอยู่เป็นจำนวนไม่น้อยด้วยกันทั้งนั้น ซึ่งความไม่เห็นด้วยอันแทบเป็นเอกฉันท์นี้เอง หากวันหนึ่งการเลือกตั้งเดินทางมาถึง และมีพรรคการเมืองเลือกชูนโยบายในการแก้ไขกฎหมายฉบับนี้ให้กลับไปจัดการเด็ดขาดกับผู้ต้องหาคดียาเสพติดอีก การเปลี่ยนแปลงนี้ก็อาจต้องวนกลับไปอยู่ในปริมณฑลของการอำนวยความยุติธรรมแบบตาต่อตาฟันต่อฟันเพื่อตอบสนองความกลัวของผู้คนในสังคมดังที่เคยเป็น

ดังนั้น สิ่งที่ผู้สนับสนุนการแก้ไขกฎหมายดังกล่าวควรจะต้องเร่งทำต่อไปก็คือ การเร่งสร้างองค์ความรู้ที่ถูกต้องเกี่ยวกับยาเสพติด หรือก็คือการสร้างทักษะสังคมเพื่อลดอันตราย (drug education: social skills for harm reduction) เพื่อเป็นการทบทวนไปพร้อมๆ กันว่า ภาพความเข้าใจเกี่ยวกับยาเสพติดที่เรามีอยู่นั้น แท้จริงแล้วถูกต้องเพียงไหน ที่เห็นและฟังมาหรือกระทั่งประสบด้วยตัวเอง แท้จริงแล้วถูกต้องเป็นจริงตามกระบวนการทดลองวิจัยหาคำตอบอย่างเป็นวิทยาศาสตร์แค่ไหน ซึ่งเหล่านี้นั้น นอกจากจะนำไปสู่การสลายมายาคติต่างๆ เกี่ยวกับยาเสพติดและผู้ที่เกี่ยวข้องกับยาเสพติดที่มีอยู่เดิม ก็ยังช่วยเพิ่มเติมทักษะวิธีคิดที่เราจะนำไปใช้กับเรื่องอื่นๆ ในโลกใบนี้ได้ด้วย

เมื่อช่วงกลางปีที่ผ่านมา ผมได้มีโอกาสไปสัมภาษณ์ ดร.คาร์ล ฮาร์ต (Carl Hart) ศาสตราจารย์ด้านจิตเวชและจิตวิทยา มหาวิทยาลัยโคลัมเบีย ประเทศสหรัฐอเมริกา (สัมภาษณ์ในไทยนะครับ ไม่ใช่บินไปหาเขาถึงที่) เกี่ยวกับพิษภัยของเมทแอมเฟตามีน หรือก็คือสารซึ่งเป็นส่วนประกอบหลักของยาบ้านั่นเอง (อ่านรายละเอียดได้ที่นี่ครับ)

การพบเจอกับ ดร.คาร์ล ฮาร์ต ทำให้ผมได้รู้จักหนังสือของเขาที่ชื่อ High Price ซึ่ง ดร.คาร์ล ฮาร์ต เขียนหนังสือเล่มนี้ขึ้นเพื่อพยายามแก้ไขความใจผิดต่างๆ ที่มีต่อยาเสพติดและผู้ใช้ยาเสพติด เพื่อผู้ที่ใช้ยาเสพติดจะได้รับการปฏิบัติที่เป็นธรรมทั้งทางกฎหมายและทางสังคม

หลังจากอารัมภบทสั้นๆ ถึงการทดลองทางวิทยาศาสตร์เกี่ยวกับการใช้แอมเฟตามีน (เดี๋ยวจะเล่าต่อไปครับ ว่าเขาทดลองอะไรกัน) ดร.คาร์ล ฮาร์ต เริ่มต้นบทแรกด้วยภาพความรุนแรงในครอบครัวในคืนหนึ่งเมื่อครั้งเขายังเด็ก ค่ำคืนที่พ่อเมาสุราอย่างหนักจนมีปากเสียงกับแม่ แล้วเอาค้อนทุบหัวแม่จนแน่นิ่งไป

คุณแม่ของ ดร.คาร์ล ฮาร์ต ไม่ได้เสียชีวิตจากเหตุการณ์ครั้งนั้น แต่ด้วยเรื่องเล่านั้น สิ่งีท่เราและ ดร.คาร์ล ฮาร์ต เห็นไปพร้อมๆ กันก็คือภาพชินตาที่เราต่างก็มีมาพอๆ กัน นั่นก็คือ การเสพยาเสพติดนำไปสู่การใช้ความรุนแรงในครอบครัว (คงยังไม่ลืมกันใช่ไหมครับว่า แม้จะถูกกฎหมาย แต่สุราเองก็ถือเป็นยาเสพติดเช่นกัน)

ภาพเหตุการณ์ในลักษณะดังกล่าว มักทำให้ยาเสพติดที่เกี่ยวข้องในกรณีนั้นๆ ตกเป็นผู้ร้าย เป็นต้นเหตุหนึ่งเดียวที่ทำให้เกิดเรื่องร้ายๆ ขึ้น

ทว่า ดร.คาร์ล ฮาร์ต ก็ไม่ได้รีบด่วนสรุปเช่นนั้นครับ เขาอธิบายในหนังสือว่า จากการสังเกตรวบรวมปัจจัยที่เกี่ยวข้องของเขา เขาพบรูปแบบการ “ดื่มหนัก” ของพ่อ ว่าจะเกิดขึ้นเฉพาะในวันหยุดสุดสัปดาห์ แต่หากเป็นวันทำงานแล้วจะไม่มีการดื่มเลย ดร.คาร์ล ฮาร์ต เล่าว่า พ่อของเขาเป็นคนแอฟริกันอเมริกัน (คนผิวดำ) คนหนึ่งจากที่มีเพียงสองคนในที่ทำงาน ทั้งพ่อของเขากับคนผิวดำอีกคนยังทำงานกันคนละแผนก เมื่อผนวกกับการเหยียดผิวที่ยังคงมีอยู่อย่างเป็นระบบในย่านที่ตนอาศัยอยู่แล้ว ดร.คาร์ล ฮาร์ต พบว่า การดื่มหนักในช่วงวันหยุดสุดสัปดาห์ของพ่อเขานั้น เป็นการผ่อนคลายความตึงเครียดจากความโดดเดี่ยวทางสังคมวัฒนธรรม (social and cultural isolation)

การค้นพบดังกล่าว อาจเป็นการตั้งสมมติฐานโดยไม่ได้ผ่านการทดลองเพื่อพิสูจน์ว่าถูกต้องหรือไม่ แต่ในเชิงของการใช้ความคิดกับเรื่องที่เห็น ผมคิดว่าเป็นประเด็นที่น่าสนใจอยู่ไม่น้อย เพราะนั่นคือการตั้งคำถามอย่างต่อเนื่องไปเป็นลำดับ ไม่หยุดแค่คำตอบที่ได้จากภาพจำที่มีในสังคม การตั้งคำถามอย่างต่อเนื่องโดยไม่หยุดง่ายๆ นี้จำเป็นอย่างมากต่อการแก้ปัญหาต่างๆ เพราะจริงๆ แล้วคำตอบที่เรามีอยู่เดิมอาจไม่ใช่สาเหตุที่แท้จริง เช่น ในกรณีความรุนแรงในครอบครัวของ ดร.คาร์ล ฮาร์ต หากสมมติฐานของเขาเป็นจริง เราจะเห็นว่า สุราหรือสิ่งเสพติดไม่ใช่สาเหตุที่แท้จริงของความรุนแรงในครอบครัว สาเหตุที่แท้จริงคือการเหยียดผิวอย่างเป็นระบบที่ทำให้คนผิวดำต้องแบกรับความตึงเครียดทางสังคมวัฒนธรรมไว้ตลอดเวลา และสุราคือตัวกระตุ้น ที่ทำให้ความตึงเครียดเหล่านั้นระเบิดออกมาเป็นความรุนแรง

ยิ่งไปกว่านั้น เราก็พอจะทราบกันอยู่ว่ามีคนจำนวนมากที่ดื่มสุรา แต่ก็ไม่ใช่ทุกคนที่ดื่มสุราแล้วจะก่อความรุนแรงขึ้น ดังนั้น การดื่มสุราก็ไม่จำเป็นต้องก่อให้เกิดความรุนแรงเสมอไป คือมีโอกาสแน่ๆ แต่ไม่ได้หมายความว่าเป็นสาเหตุที่แท้จริงทุกกรณีไป

ทีนี้ ถ้าลองย้อนกลับมามองในประเทศไทย กรณีของยาบ้า ที่เรามักเห็นภาพข่าวคนเสพยาบ้าแล้วมีอาการคุ้มคลั่งทำร้ายตนเองและผู้อื่น คำถามที่น่าสนใจก็คือ แทนที่เราจะสรุปทันทีว่า “เสพยาบ้า=คุ้มคลั่ง” เราได้เคยตั้งคำถามหรือสืบสาวไปถึงปูมหลังของผู้ที่ใช้ยาบ้าในกรณีเหล่านั้นไหมว่า มีอะไรเป็นปัจจัยประกอบ หรือเป็นสาเหตุต้นทางที่แท้จริง ที่ทำให้เขาต้องใช้ยาบ้าไปจนถึงระดับที่ทำให้เกิดอาการประสาทหลอนแบบนั้น

ที่พูดนี่ไม่ได้หมายความว่าคนเราเสพยาบ้ายังไงก็ไม่คุ้มคลั่งนะครับ เพราะถ้าเสพเข้าไปมากๆ ติดต่อกันนี่ยังไงคุณก็คุ้มคลั่งแน่ๆ ก็แค่อดนอนวันสองวันคนเรายังหงุดหงิดเลย แต่ที่อยากชวนคิดคือ เราเคยตั้งคำถามไหมว่า ทำไมเขาเสพจนหลอน เพราะจริงๆ แล้วแม้การเสพยาบ้าจะทำให้ประสาทหลอนได้ แต่ก็ไม่ได้หมายความว่าการเสพยาบ้าจะทำให้ประสาทหลอนแน่ๆ เนื่องจากขึ้นอยู่กับหลายปัจจัย ทั้งปริมาณที่เสพ เสพร่วมกับยาเสพติดชนิดอื่นด้วยหรือไม่ สภาวะทางจิตดั้งเดิมก่อนเสพเป็นเช่นไร แล้วเสพเข้าไปเป็นปริมาณเท่าไหร่ภายในเวลาเท่าใด มันมีระยะทางระหว่าง “ยาบ้า” กับ “อาการประสาทหลอน” อยู่พอสมควรครับ ไม่ใช่เสพเข้าไปปุ๊บปั๊บก็ประสาทหลอนทันที เพราะถ้าทันควันทันด่วนแบบนั้นจริง และถ้าเสพยาบ้าแล้วมีแต่จะต้องคุ้มคลั่งเท่านั้น เมื่อพิจารณาจากข้อมูลของสำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามยาเสพติด (ป.ป.ส.) ที่ระบุว่าคนไทยเกือบ 2 ล้านคน ต้องใช้ยาบ้าประมาณ 3-4 พันล้านเม็ดต่อปี ตอนนี้ เราก็คงได้เห็นคนเกือบ 2 ล้านคนนั้นคุ้มคลั่งอยู่ตามท้องถนนเต็มบ้านเต็มเมืองแล้วล่ะครับ

นี่เป็นปัญหาประการหนึ่งของการใช้เหตุผลแบบ “อุปนัย” (induction) ครับ คือสิ่งที่เราพบบ่อยๆ นั้นไม่ได้หมายความว่าเป็นข้อมูลที่เพียงพอจะสร้างข้อสรุปที่แท้จริงของเรื่องนั้นๆ และยังเป็นปัญหาในเรื่องของการใช้ตรรกะ ที่คนมักเผลอไผลเข้าใจไปว่า “สิ่งที่มีความสัมพันธ์เกี่ยวข้องกัน” (relation) นั้นคือ “สิ่งที่เป็นเหตุผลของกันและกัน” (causation) ซึ่งจริงๆ แล้วไม่จำเป็น ดังเช่นในกรณีของคนที่เสพยาบ้าจนคุ้มคลั่ง การเสพยาบ้ากับความคุ้มคลั่งมีความสัมพันธ์กันแน่นอน แต่เราไม่สามารถสรุปได้ทันทีนะครับว่าเพียงเสพยาบ้าเข้าไปแล้วอย่างไรก็ต้องคุ้มคลั่ง การจะสรุปเช่นนั้นไม่สามารถทำได้ผ่านการนั่งดูผ่านสื่อ แต่คือต้องผ่านการทดลอง ศึกษา ค้นคว้า วิจัย อย่างเป็นระบบ

ทีนี้ หลายคนอาจเถียงว่า ที่ผ่านมาก็มีผลการศึกษาทดลองตั้งมากมายที่บ่งชี้ว่าการเสพยาบ้าหรือการใช้เมทแอมเฟตามีนนั้นเป็นอันตรายอย่างแน่นอน ในกรณีเช่นนี้ ดร.คาร์ล ฮาร์ต ก็ได้ศึกษาและทำการทดลองวิจัยจนได้ข้อสังเกตไว้หลายประการในหนังสือ High Price ซึ่งจะขอยกตัวอย่างบางข้อไว้ดังต่อไปนี้ครับ

  1. สิ่งที่หนึ่งที่มักใช้ในการนำเสนอผลร้ายของแอมเฟตามีนก็คือการนำภาพสแกนสมองของผู้ใช้ยามาเทียบกับคนปรกติ ซึ่ง ดร.คาร์ล ฮาร์ต ตั้งข้อสังเกตว่า 1.) มีการถ่ายภาพสมองของผู้ทดลองทั้งสองกลุ่มเพียงครั้งเดียว ไม่มีการเปรียบเทียบแบบก่อนใช้และหลังใช้ในกลุ่มผู้ใช้ 2.) ผู้ที่ไม่ใช้เมทแอมเฟตามีนนั้นมีการศึกษาสูงกว่าผู้ที่ใช้ ซึ่งเป็นที่ยอมรับกันมานานแล้วว่า ผู้ที่มีการศึกษาสูงกว่าจะมีสมรรถภาพด้านความจำดีกว่า 3.) ไม่มีข้อมูลการเปรียบผลทดสอบด้านความทรงจำและการรู้คิดระหว่างกลุ่มผู้ที่ใช้และไม่ใช่เมทแอมเฟตามีน ซึ่งทั้งหมดนี้ทำให้เป็นการยากที่จะสรุปได้ว่าการใช้เมทแอมเฟตามีนทำให้สมองเสื่อมสมรรถภาพ
  2. ในการทดลองกับผู้ที่ใช้เมทแอมเฟตามีนเป็นประจำ หากไม่ได้รับเมทแอมเฟตามีน ผู้เข้ารับการทดลองจะนอนหลับประมาณ 8 ชั่วโมงในเวลากลางคืน ในขณะที่หากได้รับเมทแอมเฟตามีนปริมาณ 50 มิลลิกรัม (ปริมาณสูงสุดที่ใช้ในการทดลองกับมนุษย์) ผู้เข้ารับการทดลองจะนอนหลับประมาณ 6 ชั่วโมง ซึ่งเวลาอันแตกต่างกันเพียง 2 ชั่วโมงนี้หมายความว่า การเสพเมทแอมเฟตามีนไม่จำเป็นจะต้องทำให้เกิดการอดหลับอดนอนเป็นเวลานาน จนส่งผลให้เกิดการคุ้มคลั่งได้
  3. และในการทดลองที่ให้ผู้เข้ารับการทดลองซึ่งเป็นผู้ที่ใช้เมทแอมเฟตามีนเป็นประจำดังกล่าวเลือกระหว่างเมทแอมเฟตามีน 50 มิลลิกรัม กับเงินจำนวนหนึ่ง ดร.คาร์ล ฮาร์ต พบว่า เมื่อเพิ่มเงินไปจนถึง 20 ดอลลาร์ ผู้เข้ารับการทดลองจะหันมาเลือกเงินแทนเมทแอมเฟตามีน ซึ่งนั่นหมายความว่า แม้จะใช้เมทแอมเฟตามีนเป็นประจำ แต่ความสามารถในการคิดอย่างเป็นเหตุและผลก็ยังคงอยู่

ที่นำเสนอมาทั้งหมดนี้ ก็ไม่ได้หมายความว่าผมเชื่อ ดร.คาร์ล ฮาร์ต เขาทั้งหมดอย่างไม่มีข้อสงสัยนะครับ แต่ก็ต้องยอมรับว่าช่างแตกต่างจากความรู้ความเข้าใจที่มีอยู่เดิมจนต้องทบทวนตัวเอง และยิ่งไปกว่านั้น ในเชิงของการใช้ความคิดกับสิ่งต่างๆ เพื่อตัดสินใจว่าเราจะเชื่ออย่างไร ผมคิดว่าแนวทางเหล่านี้มีประโยชน์และจำเป็นอย่างมากในการสร้างองค์ความรู้ให้แก่สังคมเพื่อลดอันตรายจากยาเสพติด ซึ่งอันตรายที่ว่านี้ ก็ไม่ใช่แค่จากการใช้ยาเสพติด แต่ยังรวมถึงอันตรายจากทัศนคติที่มีต่อยาเสพติด อันจะส่งผลต่อแนวนโยบายการจัดการด้วย เพราะที่ผ่านมานั้น เราช่างเข้มข้นในเรื่องของการใช้กฎหมายลงโทษอย่างเด็ดขาดและรุนแรงด้วยชุดความเข้าใจหนึ่งที่เรามีต่อยาเสพติด ในขณะที่ข้อสังเกตจากหนังสือ High Price ของ ดร.คาร์ล ฮาร์ต นั้นกำลังบอกเราว่า ที่เราเชื่อกันจนสนับสนุนความเด็ดขาดรุนแรงทางกฎหมายที่ผ่านมา จริงๆ แล้วเราอาจจะเชื่อแบบผิดๆ หรืออย่างน้อยคือไม่ได้พิจารณาปัจจัยต่างๆ อย่างครบถ้วน มาโดยตลอดก็ได้

หมายเหตุ: ในวันที่ 5-6 มกราคม 2560 ดร.คาร์ล ฮาร์ต จะเดินทางมาร่วมบรรยายและตอบคำถามในการประชุมสร้างความรู้เท่าทันต่อพลวัตการควบคุมยาเสพติด ครั้งที่ 1 เรื่อง การสร้างองค์ความรู้ยาเสพติด (เมทแอมเฟตามีน): ทักษะสังคมเพื่อลดอันตราย (Drug Education: Social Skills for Harm Reduction) ณ ห้อง Ballroom BC ชั้น L โรงแรมเซ็นทารา แกรนด์ แอท เซ็นทรัลพลาซา ลาดพร้าว กรุงเทพมหานคร ซึ่งจัดขึ้นโดยสำนักกิจการในพระดำริพระเจ้าหลานเธอ พระองค์เจ้าพัชรกิติยาภา และภาคีเครือข่ายเที่ยวเกี่ยวข้อง และนอกจาก ดร.คาร์ ฮาร์ต แล้ว ในงานยังมีวิทยากรเข้าร่วมบรรยายและตอบคำถามในหัวข้อต่างๆ อีกหลายท่านครับ

ผู้สนใจเข้าร่วมรับฟังและแสดงความคิดเห็น สามารถติดต่อได้ที่
คุณจิรภา สินธุนาวา
โทรศัพท์: 0-8183-2793-4
อีเมล: [email protected]

หรือติดต่อที่โครงการกำลังใจ สำนักกิจการในพระดำริพระเจ้าหลานเธอ พระองค์เจ้าพัชรกิติยาภา
โทรศัพท์: 0 2141 5140-1

ทั้งนี้ สามารถเข้าร่วมโดยไม่เสียค่าใช้จ่ายใดๆ และมีการแปลภาษาไทยและภาษาอังกฤษบริการตลอดการประชุมครับ