ThaiPublica > ประเด็นร้อน > ThaiPublica Note > ThaiPublica Note: ความเทาของคนไทย (ตอนที่ 2) – การลดทอนความเป็นอาชญากรรมของยาเสพติด

ThaiPublica Note: ความเทาของคนไทย (ตอนที่ 2) – การลดทอนความเป็นอาชญากรรมของยาเสพติด

5 ตุลาคม 2021


  • การมองตัวตนของยาเสพติดเป็นสีดำสนิทนำมาซึ่งการใช้มาตรการปราบปรามที่รุนแรง
  • มาตรการที่รุนแรงไม่สามารถแก้ไขปัญหายาเสพติดได้จริง และยังนำมาซึ่งปัญหาอื่นๆ ต่อไปด้วย
  • การใช้มาตรการรุนแรงในการปราบปรามยาเสพติดเคยนำมาซึ่งการฆ่าตัดตอนครั้งใหญ่ ทำให้เกิดปัญหาการลงโทษที่ไม่ตรงกับเจตนาการกระทำผิด ไม่ได้สัดส่วน และทำให้เกิดปัญหาคนล้นคุกด้วย

  • อ่าน ThaiPublica Note: ความเทาของคนไทย (ตอนที่ 1)

    “เมื่อวิธีการปราบใช้ไม่ได้ ก็ต้องกลับไปคิดว่าจะอยู่กับมันให้ได้ เราก็ต้องปรับเรื่องพวกนี้ เราควรจะคิดว่าจะให้คนเสพใช้ยาอย่างไร เช่น ให้คนที่ใช้ยาเสพติดเพื่อการบำบัด แต่ต้องอยู่ในระบบควบคุม ไม่ว่าจะสวิสเซอร์แลนด์ เนเธอร์แลนด์ หรือประเทศอื่นๆ หลายประเทศ เขาก็ประสบความสำเร็จกับแนวทางนี้ แต่การจับคนเสพยาไปอยู่ในคุก เอาคนป่วยไปอยู่ในคุก มันไม่ใช่ที่รักษา ไม่ใช่ที่บำบัด”

    พล.อ. ไพบูลย์ คุ้มฉายา
    รัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรม (ตำแหน่งในขณะนั้น)
    ให้สัมภาษณ์เมื่อวันที่ 16 มิถุนายน 2559
    ที่มา: เฟซบุ๊กแฟนเพจบีบีซีไทย

    5 ปีก่อน ทันทีที่คำให้สัมภาษณ์ดังกล่าวของ พล.อ. ไพบุลย์ คุ้มฉายา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรมในขณะนั้น เผยแพร่ออกสู่สาธารณะ สังคมก็ลุกเป็นไฟ

    เพราะแม้ยาเสพติดในสังคมไทยจะมีลักษณะเทาๆ คือมีตัวตนอยู่จริงและแพร่หลาย ไม่ว่าจะในแบบที่กฎหมายอนุญาตหรือไม่อนุญาต แต่ด้วยทัศนคติหลักๆ ที่ปลูกฝังมาในสังคมแล้ว โดยเฉพาะเมื่อแยกไม่ออกจากแนวคิดทางศีลธรรม ตัวตนของยาเสพติดมีสีดำสนิท เรียกว่าเป็นสิ่งผิดไปเสียทุกมิติ

    คำสัมภาษณ์ดังกล่าวจึงเป็นการหักดิบมโนทัศน์ทางศีลธรรมที่เสพติดกันมา กล่าวคือ จากที่ยาเสพติดเป็นภัยร้ายอันยอมลดราวาศอกให้ไม่ได้และต้องกำจัดให้หมดสิ้น ก็กลายเป็นสิ่งที่ต้องมาเรียนรู้ถึงการอยู่ร่วมกัน เฉกเช่นการสมานฉันท์กับเพื่อนบ้านที่ทะเลาะกันจะเป็นจะตายมานานนม

    อันที่จริงแล้ว เนื้อแท้ในใจความของรัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรมในขณะนั้นไม่ได้หมายความว่าต่อจากนี้ทิศทางต่อยาเสพติดของไทยจะเป็นไปในทางที่ให้ผลิต ซื้อ-ขาย เสพ ได้อย่างอิสระและถูกต้องตามกฎหมายหรือ legalization แต่คือการลดทอนความเป็นอาชญากรรมของยาเสพติด ซึ่งก็คือ decriminalization

    การลดทอนความเป็นอาชญากรรมของสิ่งใดๆ หมายความว่า สิ่งนั้นยังเป็นผิดกฎหมายอยู่ แต่โทษทัณฑ์จากการกระทำผิดในเรื่องนั้นจะลดน้อยลง

    ความพยายามลดทอนความเป็นอาชญกรรมของยาเสพติดในไทยนั้น เกิดขึ้นจากการตระหนักถึงความจริงที่ว่า แม้จะใช้การปราบปรามอย่างเด็ดขาดผ่านทางกฎหมายที่มีบทกำหนดโทษไว้รุนแรงมานาน แต่สุดท้าย ก็ไม่อาจทำให้ยาเสพติดหมดไปจากสังคมได้เสียที นอกจากนี้ ข้อกฎหมายที่เข้มงวดเพราะต้องการให้เกิดผลในทางป้องปราม สร้างความเข็ดหลาบ หรือกระทั่งกำจัดให้หมดไปนั้น นอกจากจะไม่ได้ผลแล้ว ยังนำมาซึ่งปัญหาประการอื่นๆ อันส่งผลกระทบต่อสังคมโดยรวม

    การจัดการกับยาเสพติดแบบเอาช้างสารมาชนกัน เชือกหนึ่งคือยาเสพติด อีกเชือกคือกฎหมายที่รุนแรง กลับให้ผลเป็นการแหลกลาญของหญ้าแพรกที่เรียกว่าสังคม

    การแหลกลาญนั้นเกิดขึ้นในหลายมิติของสังคมทีเดียว โดยใน พ.ศ. 2546 เมื่อทักษิณ ชินวัตร นายกรัฐมนตรีในขณะนั้น ประกาศนโยบายทำสงครามกับยาเสพติด การสื่อสารนโยบายที่คล้ายให้ใช้ความรุนแรงกับผู้เกี่ยวข้องกับยาเสพติดได้ ทำให้ฝ่ายปฏิบัติเข้าใจว่าการจะบรรลุเป้าหมายนี้มีเพียง 2 วิธี คือ หากไม่จับกุม ก็ต้องมีการเสียชีวิต (ข้อสรุปจากรายงานของคณะกรรมการอิสระตรวจสอบ ศึกษา และวิเคราะห์ การกำหนดนโยบายปราบปรามยาเสพติดให้โทษและการนำนโยบายไปปฏิบัติจนเกิดความเสียหายต่อชีวิต ร่างกาย ชื่อเสียง และทรัพย์สินของประชาชน หรือ คตน. ที่ก่อตั้งขึ้นในปี พ.ศ. 2550) และสุดท้าย ภายใต้การดำเนินนโยบายเพียง 3 เดือน คตน. พบว่ามีจำนวนคดีฆาตกรรมผู้เกี่ยวข้องกับยาเสพติดทั้งสิ้น 1,187 คดี มีผู้เสียชีวิต 1,370 คน และคดีที่มีการวิสามัญฆาตกรรมอีก 35 คดี มีผู้เสียชีวิต 41 คน และเป็นสิ่งที่ยังเรียกกันมาจนถึงทุกวันนี้ว่าเป็นการฆ่าตัดตอน ซึ่งปัญหาสำคัญของสิ่งที่เรียกว่าฆ่าตัดตอนนี้ หากพิจาณาเฉพาะในแง่ของการกวาดบ้างยาเสพติด ก็ทำให้สังคมตั้งคำถามขึ้นมาว่า เป็นการจัดการกับรายใหญ่ที่มีผลกระทบกับวงการค้ายาเสพติดจริงๆ หรือเป็นแค่การตัดไฟรายย่อยทิ้งแต่ต้นลม เพื่อไม่ให้กระพือโหมไปถึงรายใหญ่ตัวจริง

    การทำสงครามกับยาเสพติดจนนำไปสู่การฆ่าตัดตอนในตำนานดังกล่าวทำให้เกิดการตั้งคำถามครั้งใหญ่ทั้งในแง่สิทธิมนุษยชน (ซึ่งผู้ต้องหาเองก็ต้องได้รับ) และสัมฤทธิผลของนโยบาย

    ในส่วนของกระบวนการยุติธรรมในชั้นศาลจนถึงเรือนจำ การใช้กฎหมายที่เข้มงวดและรุนแรงมาจัดการกับยาเสพติด ก็นำมาซึ่งปัญหาการลงโทษในฐานความผิดที่ไม่ตรงกับเจตนาในการกระทำผิด เกิดการลงโทษที่รุนแรงอย่างไม่ได้สัดส่วน รวมถึงส่งผลให้เกิดปัญหาคนล้นคุก

    ก่อนจะมีการแก้ไขในปี พ.ศ. 2559 พระราชบัญญัติยาเสพติดให้โทษ พ.ศ. 2522 เคยมีความหลายประการที่ทำให้เกิดการ “ใช้ปริมาณการถือครองยาเสพติดเป็นตัวตัดสินชี้ขาดว่าเป็นการกระทำเพื่อจำหน่ายหรือไม่ แต่ไม่ได้พิจารณาถึงพฤติการณ์หรือเจตนาที่แท้จริงของผู้กระทำผิด และไม่ให้ผู้ต้องหาหรือจำเลยมีโอกาสพิสูจน์ความจริงในคดี” (อ่านเพิ่มเติมที่ ก้าวแรกสู่การคืนความยุติธรรมแก่ผู้ต้องหายาเสพติด: ว่าด้วยการแก้ไข พ.ร.บ.ยาเสพติดให้โทษ พ.ศ. 2522)

    ลักษณะแบบนั้น ทำให้เกิดคดีอย่างการนำยาเสพติดจำนวนเล็กน้อยข้ามฝั่งมาจากประเทศเพื่อนบ้าน โดยมีเจตนาเพื่อใช้เสพเอง แต่กลับต้องมีความผิดฐานนำยาเสพติดเข้ามาในราชอาณาจักรเพื่อจำหน่าย ทำให้มีระวางโทษถึงขั้นประหารชีวิต ซึ่งตรงนี้เองทำให้เกิดการลงโทษด้วยระวางโทษที่ไม่ตรงกับเจตนาในการกระทำความผิด และทำให้โทษที่ได้รับนั้นเกินสัดส่วนไปอย่างล้นพ้นยิ่ง ซึ่งผู้พิพากษาเองก็ลำบากใจ เพราะแม้ในการพิจารณาจะเห็นชัดว่าไม่ได้มีเจตนาจะนำเข้ามาเพื่อจำหน่าย แต่กฎหมายก็ไม่เปิดโอกาสให้ตีความและลงโทษเป็นอื่นได้เลย

    หากใช้ทัศนคติที่มองตัวตนของยาเสพติดเป็นสีดำสนิท และผู้เกี่ยวข้องกับยาเสพติดก็ย่อมแปดเปื้อนสีดำสนิทนั้นด้วย หลายคนก็คงยักไหล่ด้วยรู้สึกว่า เจตนาจะเป็นอย่างไรหรือบทลงโทษจะตรงกับเจตนาหรือไม่ก็ช่างปะไร ไปยุ่งกับยาเสพติดนั้นโดนลงโทษแรงๆ ก็ถูกต้องแล้ว ทว่า ทัศนคติแบบนั้นจะเป็นภัยในระยะยาวต่อการดำรงอยู่ของกระบวนการยุติธรรม เพราะการจะใช้กฎหมายมามอบความยุติธรรมอันเป็นรากฐานของความสงบสุขในสังคมนั้น ลำพังสักแต่เอาความรุนแรงเข้าว่าคงไม่อาจทำได้ ลองนึกถึงตัวเองดูก็ได้ว่า ถ้าโดนลงโทษอย่างรุนแรงมากในเรื่องที่ตัวเองไม่ได้มีเจตนาเช่นนั้นแม้แต่นิดเดียว จะยังรู้สึกว่าก็เป็นเรื่องสมควรแล้วหรือไม่

    นอกจากนี้ กฎหมายยาเสพติดที่มีลักษณะมุ่งเน้นไปที่การจับกุมคุมขัง ก็ได้ทำให้เกิดปัญหาคนล้นคุก ผู้ต้องขังมีจำนวนมากเกินกว่าศักยภาพในการรับมือของเรือนจำ คงเช่นเดียวกับการมองยาเสพติดเป็นสีดำสนิท คือ หากมองว่าคนทำผิดต้องติดคุกก็ถูกแล้ว และการไปอยู่ในคุกก็เพื่อให้รู้จักกับความลำบากจะได้หลาบจำ การที่ผู้ต้องขังเยอะจนเกินศักยภาพในการดูแลของเรือนจำก็คงไม่ใช่เรื่องน่ากังวลอะไร แต่อันที่จริงแล้ว การมีผู้ต้องขังเยอะเกินศักยภาพของเรือนจำนั้น สิ่งที่สูญเสียไปในการนี้ก็คือทรัพยากรบุคคลที่จะเสริมสร้างผลิตผลของประเทศ ความสามารถในการฟื้นฟูผู้กระทำผิดอย่างมีประสิทธิภาพ เพื่อให้วันหนึ่งเมื่อได้กลับคืนสู่สังคมแล้วจะไม่ย้อนกลับไปกระทำผิดซ้ำอีก และนี่ควรเป็นหลักใหญ่ใจความสำคัญของมุมมองที่สังคมจะมีต่อคุก และบ่อยครั้งมักถูกหลงลืมไปหรือกระทั่งไม่เคยคิดถึงมาก่อน คือการเป็นสถานที่ฟื้นฟูความสามารถในการอยู่ร่วมกับผู้อื่นในสังคมคืนมาอีกครั้ง

    ทั้งหมดนี้คือปัญหาใหญ่ๆ ที่เกิดจากการใช้มาตรการปราปราบยาเสพติดอย่างรุนแรง และเป็นที่มาให้เกิดการทบทวนทั้งกฎหมายและทัศนคติที่มีต่อยาเสพติด อันจะนำมาซึ่งการลดทอนความเป็นอาชญกรรม เพื่อได้เกิดแนวทางใหม่ในการแก้ปัญหา และหยุดยั้งการซ้ำเติมปัญหาด้วยท่าทีแบบเดิมๆ ที่ประจักษ์ชัดแล้วว่านอกจากไม่อาจแก้ปัญหาที่ตั้งใจได้ ยังเป็นสิ่งที่ทำให้เกิดปัญหาร้ายๆ ประการอื่นต่อไปอีก

    ในตอนต่อๆ ไป จะขอนำเสนอถึงมายาคติที่มีต่อยาเสพติด การเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นในไทย และตัวอย่างการอยู่ร่วมกับยาเสพติดในต่างประเทศ ที่สุดท้ายแล้ว นอกจากไม่ได้ทำให้สังคมล่มสลายอย่างที่หลายคนมักกังวล ยังทำให้เกิดผลดีในอีกหลายมิติด้วย