ThaiPublica > คอลัมน์ > ปรับทัศนคติเพื่อการแก้ไขปัญหายาเสพติดอย่างยั่งยืน (ตอนที่ 1)

ปรับทัศนคติเพื่อการแก้ไขปัญหายาเสพติดอย่างยั่งยืน (ตอนที่ 1)

31 กรกฎาคม 2019


ณัฐเมธี สัยเวช

เมื่อครั้งที่มีโอกาสได้สัมภาษณ์ มาดามรูท ไดรฟัสส์ (Ruth Dreifuss) อดีตประธานาธิบดีหญิงคนแรกของประเทศสวิตเซอร์แลนด์ ในประเด็นประเทศสวิตเซอร์แลนด์ในยุคสมัยของเธอถึงตัดสินใจเปลี่ยนแปลงรูปแบบนโยบายในการจัดการกับยาเสพติดในลักษณะของการปราบปรามอย่างรุนแรงมาเป็นการลดความรุนแรงจากการใช้ยาเสพติด และเป็นไปจนถึงระดับที่เรียกว่าเป็นการ “อยู่ร่วมกัน” คำตอบที่ได้รับมานั้นเป็นเรื่องที่ทำให้ผมแปลกใจมากครับ

คำตอบของมาดามไดรฟัสส์ในตอนนั้นเป็นการกล่าวถึงความกังวลที่การแพร่กระจายของยาเสพติดนั้นนำมาซึ่งปัญหาทางสุขภาพแก่สังคมในวงกว้าง ไม่ว่าจะเป็นการติดเชื้อเอชไอวี โรคไวรัสตับอักเสบซี รวมถึงเรื่องที่การใช้นโยบายแบบปราบปรามอย่างรุนแรงจะยิ่งผลักให้ผู้เกี่ยวข้องกับยาเสพติดต้องหลุดออกไปอยู่ชายขอบสังคม ซึ่งเหล่านี้ล้วนเป็นการซ้ำเติมปัญหาทั้งต่อตัวผู้เกี่ยวข้องกับยาเสพติด และต่อสังคมโดยรวม

ฟังแล้วผมก็อึ้งไปเลยนะครับ คือ คุณก็คงพอจะนึกกันออกว่าผมก็โตมาในสังคมเดียวกับคุณนั่นแหละ สังคมที่แบบว่า ถ้าเสพยาแล้วเกิดปัญหาสุขภาพ มันก็เป็นเรื่องธรรมดาที่ผู้เสพยาต้องเผชิญหรือกระทั่งสมควรได้รับอยู่แล้ว เป็นการ “ทำตัวเอง” ที่สังคมไม่เห็นต้องสนใจอะไร และมันเรื่องอะไรที่สังคมจะต้องไปสนใจการทำตัวเองด้วย ก็ทำดีได้ดีทำชั่วได้ชั่ว

จากคำตอบของมาดามไดรฟัสส์ ซึ่งจะว่าไปแล้วผมก็พบกับคำตอบลักษณะนี้ในทุกครั้งที่ค้นหาบทความหรืองานวิจัยเกี่ยวกับการจัดการกับยาเพสติดในต่างประเทศนะครับ ผมคิดว่าพวกเขาก็ไม่สนใจเหมือนกันครับ แต่เป็นความไม่สนใจที่ไปไกลกว่าความไม่สนใจในบ้านเราอีก กล่าวคือ เขาไม่สนหรอกว่าคนคนหนึ่งไปทำอะไรมา แต่เขาเห็นแล้วว่าชีวิตของคนคนนั้นกำลังตกอยู่ในอันตรายด้วยการกระทำอะไรก็ตามของตนเองนั่น และความเสียหายต่อ “ชีวิต” นั่นแหละครับที่เขามองเป็นเรื่องใหญ่ที่สุด เขาก็ต้องรักษาชีวิตคนไว้

ผมคิดว่าตรงนี้เหมือนแพทย์น่ะครับ รัฐบาลของพวกเขามีทัศนคติเหมือน “แพทย์ในอุดมคติ” คือชีวิตคนไข้ต้องมาก่อน ที่อยู่ต่อหน้าคือคนป่วย คือชีวิตที่กำลังร่อยหรอและต้องได้รับการกู้คืน ไม่มีคำว่าคนดีคนไม่ดีอะไรทั้งนั้น (ก็ต้องย้ำนะครับว่า “แพทย์ในอุดมคติ” เพราะบ้านเราก็ยังมีหมอที่ไม่อยากรักษาคนที่มีความเห็นต่างทางการเมือง หรือหมอที่มองว่าความเจ็บป่วยบางอย่างนั้นเป็นการทำตัวเอง)

อะไรแบบนี้แหละครับที่ทำให้ผมประหลาดใจมาก คือ ในบ้านเรา พอจะปรับเปลี่ยนนโยบายยาเสพติดให้เป็นไปในลักษณะลดความรุนแรงของการปราบปราม ก็ต้องร่ายยาวกันตั้งแต่สิทธิมนุษยชน แถมยังต้องมาเถียงกันอีกว่าผู้ใช้ยาเสพติดสมควรมีสิทธิมนุษยชนหรือไม่ ในขณะที่บ้านเขาเมืองเขา เมื่อถามถึงอะไรแบบนี้ สิทธิมนุษยชนกลับเหมือนค่าตั้งต้นสำหรับทุกสิ่งและมีให้แก่ทุกคนอยู่แล้ว พอจะขับเคลื่อนนโยบายอะไรที่เกี่ยวข้องกับยาเสพติด เขาก็มองชีวิตคนในภาพรวมเป็นหลัก และให้ความสำคัญแม้กระทั่งกับชีวิตของผู้ที่ใช้ยาเสพติด เพราะสิทธิในการมีชีวิตอยู่เป็นเรื่องใหญ่ที่สุดที่เขายึดถือกัน

พอมองอย่างนี้ เราเหมือนคนป่าบนเวทีโลกเลยนะครับ เป็นอนารยชนที่ชอบอ้างศาสนาพุทธมาบอกว่าบ้านเราเมืองเราเป็นดินแดนแห่งความเมตตากรุณา มีความเจริญทางจิตใจสูง บ่อยครั้งเราถึงขั้นเพิกเฉยต่อความเจริญทางวัตถุอย่างวิทยาศาสตร์อย่างตะวันตกที่เน้นพยานหลักฐานอันจับต้องได้ เรื่องนี้เห็นได้ชัดจากการที่เราไม่เคยสนับสนุนอย่างจริงจังให้มีการศึกษาถึงผลร้ายของยาเสพติด และผลกระทบที่จะมีต่อสังคมอย่างแท้จริง เราเอาแต่อยู่กับจินตนาการตามภาพข่าวว่าคนที่เสพยาบ้าแล้วต้องคุ้มคลั่งออกไปปีนเสาไฟ ปีนหลังคา เป็นบ้า จับคนอื่นหรือกระทั่งตนเองเป็นตัวประกัน แต่เราไม่เคยตั้งคำถามว่า การจะเสพยาบ้าแล้วเป็นไปถึงขั้นนั้นนี่ต้องเสพขนาดไหน มีปัจจัยอะไรร่วมบ้าง เราไม่ถาม แถมยังเชื่อทันทีว่า ถ้าเสพยาบ้าแล้วต้องเป็นอย่างนั้นแน่นอน

คนเสพยาบ้าในไทยมีเป็นล้านนะครับ ถ้าเสพแล้วเป็นแบบนั้นแน่นอนและทันที สิ่งที่คุณจะเจอในสังคมในตอนนี้คือ meth-zombie apocalypse คือหายนะที่สังคมเต็มไปด้วยคนคลั่งยาบ้าวิ่งพล่านไปทั่วท้องถนน ปีนเสาไฟ ไต่หลังคา ล่าคนเป็นตัวประกัน แต่มันเป็นเช่นนั้นไหม ก็ไม่นี่ครับ ต่อให้มีข่าวคนเมายาบ้าก่อเหตุทุกวัน เต็มที่ปีหนึ่งก็มีคนเมายาบ้าถึงขนาดนั้นเพียงสามร้อยกว่าคน แล้วมันเป็นสัดส่วนเท่าไหร่ต่อยาบ้านับล้านเม็ดที่มีผู้เสพอยู่ในตลาดเมืองไทยกันละครับ

นี่ผมต้องบอกใช่ไหมครับว่าผมไม่ได้กำลังบอกว่าเสพย้าบ้าไม่เป็นอะไร แต่ผมกำลังบอกว่ามันไม่จำเป็นต้อง “เป็นอะไร” อย่างที่มักจินตนาการเอาไว้กันไปทุกกรณี เมื่อกรณีที่เป็นไปถึงขนาดนั้นมีน้อย ก็หมายความว่าต้องมีปัจจัยอย่างอื่นที่มากกว่าเสพถึงจะทำให้เป็นเช่นนั้นได้

แค่นี้ก็น่าจะพอเห็นไหมครับ พอจะเห็นถึงความห่างไกลความเจริญของเราหรือไม่ ความไม่ใส่ใจในสิทธิมนุษยชน ความไม่สนใจจะเข้าใจสิ่งต่างๆ อย่างเป็นวิทยาศาสตร์ ทุกอย่างเอาง่ายเข้าว่า พอใจจะเชื่อเท่าไหนก็เอาเท่านั้น ไม่มีวัฒนธรรมการตั้งคำถามอย่างเป็นระบบอยู่ในสังคมเรา

เคยมีคนถามผมว่า เมื่ออยู่บนเวทีโลก ผู้หลักผู้ใหญ่ในบ้านเมืองเราไม่อายนานาอารยประเทศบ้างหรือ ที่สภาพการปฏิบัติต่อผู้ใช้ยาเสพติดในสังคมเรามีความล้าหลังดังที่เป็นอย่างทุกวันนี้ สิ่งที่ผมพอจะตอบได้จากการสังเกตสังคมนี้มาก็คือ จะให้รู้สึกอายอย่างไรเหล่าครับ ในเมื่อเวลาผู้คนในสังคมเราพูดว่ายาเสพติดเป็นปัญหาสังคม เราไม่ได้มองว่าเราเป็นส่วนหนึ่งและสามารถร่วมแก้ไขปัญหานั้นได้ด้วยการรู้จักตั้งคำถามอย่างเป็นระบบดังที่กล่าวไป เราพูดถึงความเป็นปัญหาสังคมในแง่ที่ว่ามันจะมีปัญหาต่อตัวเรา แต่ไม่ใช่หน้าที่อะไรของเราที่ต้องช่วยแก้ เราคิดแต่ว่าก็ให้เจ้าหน้าที่บ้านเมืองทำไปสิ ทั้งที่จริงๆ แล้วไม่มีใครต้องรับโทษประหารจากการทำผิดที่เกี่ยวข้องกับยาเสพติดแล้วนะครับ

ซึ่งนั่นหมายความว่า วันหนึ่งผู้กระทำผิดเหล่านี้ก็ต้องออกมาใช้ชีวิตในสังคมร่วมกับเราอีกนั่นแหละ ถ้าเราไม่รู้จักตั้งคำถามและหาทางแก้อย่างเป็นระบบ วันหนึ่งเราก็คงหนีความเป็นปัญหาสังคมนั่นไปไม่พ้นหรอกครับ เพราะเราเองก็ทำตัวเป็นส่วนหนึ่งของปัญหาสังคมนั่นตั้งแต่วันนี้แล้ว ด้วยวิธีการคิดของเรานั่นเอง แล้วถ้าสังคมส่วนใหญ่เป็นเช่นนี้ จะให้ผู้หลักผู้ใหญ่ในบ้านเมืองต้องรู้สึกรู้สาอะไร เขาก็ทำไปเท่าที่ทำได้ อะไรที่ทำไม่ได้ก็ปัดให้เป็นเรื่องส่วนตัวว่าผู้กระทำผิดนั้นเกินเยียวยา เป็นปัญหาที่แก้ไม่ได้ ซึ่งลักษณะความคิดแบบนี้ก็มีแพร่หลายในคนทั่วไปที่ไม่ใช่ผู้หลักผู้ใหญ่ที่ไหนเช่นกัน

บ้านเมืองเราเป็นเช่นนี้ครับ เราเคารพทุกอย่าง ศรัทธาทุกสิ่ง เคารพสถานที่ มีศรัทธาในศาสนา แต่ไม่ให้ค่าอะไรกับชีวิตมนุษย์ ยาเสพติดก็เหมือนทุกเรื่องที่การไร้ศรัทธาในชีวิตมนุษย์ด้วยกันเองคือการเริ่มต้นที่ผิด อันจะนำไปสู่การตั้งโจทย์ที่พลาด และลามเลยไปถึงการผลิตวิธีการแก้ปัญหาที่ไม่ถูกต้อง

ตอนหน้า ผมจะมาลงรายละเอียดว่า เพื่อให้แก้ปัญหายาเสพติดได้อย่างยั่งยืน เราควรต้องแก้ไขอะไรกันบ้าง