วันที่ 11 ตุลาคม 2564 สมาคมเครือข่ายโกลบอลคอมแพ็กแห่งประเทศ (GCNT — Global Compact Network Thailand) ร่วมกับสหประชาชาติในประเทศไทย ได้จัดงานประชุมสุดยอดผู้นำความยั่งยืนประจำปี GCNT Forum: Thailand’s Climate Leadership Summit 2021 ภายใต้แนวคิด A New Era of Accelerated Actions ระดมพลังสมาชิก ภาคธุรกิจ ภาครัฐ และสหประชาชาติ ยกระดับความมุ่งมั่น กำหนดทางออก และค้นหาโอกาสในการรับมือกับวิกฤติจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ โดยมีพลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี เป็นประธาน และมีนายวราวุธ ศิลปอาชา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม, นางกีต้า ซับบระวาล ผู้ประสานงานสหประชาชาติประจำประเทศไทย, นายศุภชัย เจียรวนนท์ นายกสมาคมเครือข่ายโกลบอลคอมแพ็กแห่งประเทศไทย ผู้บริหารระดับสูงจากองค์กรสมาชิก GCNT 74 องค์กรในประเทศไทยจากภาคธุรกิจ ภาครัฐ ภาคประชาสังคม เข้าร่วมงาน ทางแพลตฟอร์มออนไลน์
ภายในงานได้มีการจัดเสวนาย่อยในหลายหัวข้อ โดยในหัวข้อ “Addressing the Current Situation of Climate Change in Thailand” มีผู้เข้าร่วมคือ นายเกียรติชาย ไมตรีวงษ์ ผู้อำนวยการ องค์การบริหารจัดการก๊าซเรือนกระจก (องค์การมหาชน) ดร.วิจารย์ สิมาฉายา ผู้อำนวยการ สถาบันสิ่งแวดล้อมไทย นายโมซาฮารุล อลัม Regional Coordinator, Climate Change Programme Asia and the Pacific Office, United Nations Environment Programme และมีดร.พฤฒิภา โรจน์กิตติคุณ ผู้อำนวยการสำนักประเมินและรับรองโครงการ องค์การบริหารจัดการก๊าซเรือนกระจก เป็นผู้ดำเนินการเสวนา
เอเชียแปซิฟิกเร่งมือ

นายโมซาฮารุล อลัม Regional Coordinator, Climate Change Programme Asia and the Pacific Office, United Nations Environment Programme ได้ให้ภาพรวมเป้าหมายการลดก๊าซเรือนกระจกในเอเชียแปซิฟิกว่า หลายประเทศในเอเชียแปซิฟิกได้ปรับปรุงแผนปฏิบัติการลดก๊าซเรือนกระจก(Nationally Determined Contribution — NDC) และนำเสนอแผนต่อ UNFCC โดยจาก 41 ประเทศในเอเชียแปซิฟิกมี 20 ประเทศที่นำเสนอเป้าหมายใหม่ มี 6 ประเทศที่ไม่ปรับเป้าหมายใน NDC ขึ้นเมื่อเทียบกับแผนแรกที่ส่งไปได้แก่ ออสเตรเลีย สิงคโปร์ เวียดนาม นิวซีแลนด์ อินโดนีเซีย รัสเซีย ส่วนอีก 3 ประเทศ ญี่ปุ่น ไทย และเกาหลีใต้ แม้ยังไม่ส่งแผนแต่ได้แสดงเจตจำนงที่จะปรับเป้าหมายเพิ่มขึ้น
อย่างไรก็ตามแม้ 6 ประเทศที่ไม่ได้ปรับเป้าหมายใน NDC เพิ่มขึ้น แต่ได้นำไปผนวกในยุทธศาสตร์ระยะยาวของประเทศมากขึ้น เช่น อินโดนีเซีย ที่ขยับเป้าหมายยุทธศาสตร์ขึ้นมาในปี 2060 ด้านสิงคโปร์ได้ปรับเป้าหมายการปล่อยก๊าซเรือนกระจกให้สอดคล้องกับรายงานของคณะกรรมการระหว่างรัฐบาลว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ (Intergovernmental Panel on Climate Change — IPCC)
ในกลุ่มประเทศอาเซียนนั้นเมื่อพิจารณาจากแผนที่นำเสนอ มุ่งเน้นการลดก๊าซเรือนกระจกในภาคการขนส่ง ภาคอุตสาหกรรม ภาคก่อสร้าง และภาคเกษตร โดยบรูไนตั้งเป้าลดก๊าซเรือนกระจกลง 20% สปป.ลาวตั้งเป้าลดก๊าซเรือนกระจกลง 60% มาเลเซีย 15% กัมพูชา 21%
ที่น่าสนใจใน 3 ประเทศที่ประกาศปรับเป้าหมาย NDC แต่ยังไม่นำเสนอแผน คือ ญี่ปุนที่รัฐมนตรีกระทรวงสิ่งแวดล้อมคนใหม่ตั้งเป้าใหม่ของลดก๊าซเรือนกระจกเป็น 46% ส่วนเกาหลีใต้ปรับเป้าหมายใน NDC โดยเพิ่มเป้าการลดก๊าซเรือนกระจกเป็น 40% ภายในปี 2030 นอกจากนี้หลายประเทศมีการดำเนินการอย่างเข้มแข็ง เช่น มีการลดใช้ถ่านหินในการผลิตไฟฟ้า
ปรับตัวสู่สังคมคาร์บอนต่ำ
ดร.วิจารย์ สิมาฉายา ผู้อำนวยการ สถาบันสิ่งแวดล้อมไทย กล่าวว่า ภาคธุรกิจไทยต้องปรับตัว เนื่องจากหลายประเทศให้ความสำคัญกับปัญหาการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศมากขึ้น และได้ออกมาตรการหลายอย่างที่จะมีผลกระทบต่อไทย เช่น เมื่อเร็วๆนี้สหรัฐอเมริกาได้ประกาศ ฺNet Zero Emission 2050 โดยจะใช้พลังงานสะอาด 100% ด้านสหภาพยุโรปก็มีเป้าหมายที่จะลดก๊าซเรือนกระจกในปี 2050 เช่นกัน ส่วนในเอเชีย โดยเฉพาะญี่ปุ่นก็ตั้งเป้าลดก๊าซเรือนกระจกในปี 2035 ไม่ใช่เชื้อเพลิงฟอสซิล
ดร.วิจารย์กล่าวว่าเป้าหมายการลดก๊าซเรือนกระจก หรือการเข้าสู่ความเป็นกลางทางคาร์บอนของแต่ละประเทศ มีความหลากหลาย โดยเฉพาะประเทศที่พัฒนาแล้ว จีนตั้งเป้าในปี 2060 ฟินแลนด์ตั้งเป้าปี 2035 ส่วนของไทยตั้งเป้าลดไว้ที่ปี 2065 ขณะที่ภูฐานไม่มีการปล่อยก๊าซเรือนกระจกเพราะใช้พลังงานน้ำซึ่งเป็นพลังงานสะอาด 100%
ประเทศไทยต้องให้ความสำคัญกับเป้าหมายการลดก๊าซเรือนกระจก แม้ติดอยู่ในอันดับที่ 18 ของประเทศที่ปล่อยก๊าซเรือนกระจก และมีสัดส่วนเพียง 1% ของโลกเท่านั้น เนื่องจากไทยเป็นสมาชิกประชาคมโลก ประกอบกับประเทศที่พัฒนาแล้วออกมาเคลื่อนไหว อีกทั้งไทยเป็นประเทศที่มีความเสี่ยงสูงที่จะได้รับผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศติดอันดับที่ 9 ของโลก ดังที่เห็นได้จากภาวะน้ำท่วมปี 2554 และระดับน้ำทะเลยังสูงขึ้นต่อเนื่อง
สำหรับศักยภาพการลดก๊าซเรือนกระจกของไทยปี 2573 ตามแผนปฏิบัติการลดก๊าซเรือนกระจก(Nationally Determined Contribution — NDC) แบ่งออกเป็นรายสาขา โดยสาขาพลังงานจะลดลง 117.66 ตันคาร์บอนไดออกไซด์เทียบเท่า สาขาขนส่งลด 35.42 ล้านตันคาร์บอนไดออกไซด์เทียบเท่า สาขากระบวนการทางอุตสาหกรรมรวมทั้งน้ำเสียในอุตสาหกรรม 2.25 ล้านตันคาร์บอนไดออกไซด์เทียบเท่า และ สาขาการจัดการขยะ 1.53 ล้านตันคาร์บอนไดออกไซด์เทียบเท่า

“ไทยก็น่าจะลดก๊าซเรือนกระจกลงได้ 156.86 ล้านตันคาร์บอนไดออกไซด์เทียบเท่า เมื่อเทียบกับเป้าหมายการลดก๊าซเรือนกระจกลง 25% หรือ 113 ล้านตัน ภายในปี 2573 ก็คิดเป็น 28% และภาคป่าไม้จะเป็นส่วนที่ต้องขับเคลื่อนต่อไป รวมทั้งเป้าหมายการลดก๊าซเรือนกระจกของไทยยังเชื่อมโยงกับเป้าหมายการพัฒนายั่งยืนอื่นๆด้วย โดยเฉพาะเป้าหมายข้อ 17 การมีส่วนร่วมของภาคส่วนต่างๆ จึงต้องมีการร่วมมือกับหน่วยงานอื่นๆด้วย”
ไทยต้องเปลี่ยนความท้าทายที่มีทั้งการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ วิกฤติเศรษฐกิจ โรคระบาดเป็นโอกาสในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจหมุนเวียน เพื่อลดปัญหาการขาดทรัพยากรธรรมชาติ ลดปัญหามลพิษ เพราะเป็นการใช้ทรัพยากรที่มีจำกัดอย่างชาญฉลาดและเกิดประโยชน์สูงสุด นำเทคโนโลยีมาใช้ กระจายรายได้ ขณะที่การสร้างการเติบโตเศรษฐกิจแนวใหม่ เศรษฐกิจหมุนเวียนช่วยเพิ่ม GDP ไม่น้อยกว่า 2 แสนล้านใน 10 ปี
สำหรับเป้าหมายขับเคลื่อนเศรษฐกิจหมุนเวียนของไทยได้แก่ ลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกไม่น้อยกว่า 1 ล้านตัน ลดการใช้ทรัพยากรลง 1 ใน 4 ของปัจจุบันและใช้หมุนเวียนให้เกิดประโยชน์สูงสุด และเพิ่ม GDP อีก 1% ด้วยเศรษฐกิจรูปแบบใหม่ โดยมีกลไกขับเคลื่อนคือ โครงการหลักและภาคส่วนที่สำคัญ เพื่อสร้างแบบอย่างความสำเร็จและขยายผล ซึ่งภาคส่วนเป้าหมาย ได้แก่ พลาสติกครบวงจร ทั้งการจัดเก็บ แยกและหมุนเวียน อุตสาหกรรมเกษตรและอาหาร และวัสดุก่อสร้าง ซึ่งจะนำไทยเข้าสู่สังคมคาร์บอนต่ำ
ใช้พลังงานหมุนเวียนให้ได้ 50%

นายเกียรติชาย ไมตรีวงษ์ ผู้อำนวยการ องค์การบริหารจัดการก๊าซเรือนกระจก กล่าวว่า ในช่วงเดือนพฤศจิกายนจะมีการนำเสนอแผนระยะยาวของการก้าวสู่ความเป็นกลางทางคาร์บอนของประเทศด้วยการลดก๊าซเรือนกระจกของประเทศลง 25% ภายในปี 2065 เข้าสู่การพิจารณาของคณะรัฐมนตรี โดยในแผนจะเน้นไปที่การเปลี่ยนรูปแบบการใช้พลังงาน ประกอบด้วย
หนึ่ง เปลี่ยนรูปแบบการผลิตไฟฟ้า ใช้ไฟฟ้าจากพลังงานใหม่ ใช้พลังงานหมุนเวียนอย่างน้อย 50%
สอง ใช้ยานยนต์ไฟฟ้าหรือ electric vehicle(EV) แทนรถยนต์ตามนโยบาย 30:30 คือ การมีรถยนต์ไฟฟ้าอย่างน้อย 30% ภายในปี 2030 โดยจะพยายามสร้างอุตสาหกรรมใหม่ในประเทศ ซึ่งจะได้ผลสองทาง คือ ลดก๊าซเรือนประจกในประเทศและลดปัญหามลพิษฝุ่น PM 2.5
สาม เพิ่มประสิทธิภาพการใช้พลังงานให้ไม่น้อยกว่า 30% ภายในปี 2037
สี่ ปรับโครงสร้างอุตสาหกรมพลังงานเพื่อสนับสนุนการเปลี่ยนผ่านด้วยมาตรการ 4D1E ได้แก่ Decarbonization, De-regulation Decentralization, Digitalization และ Electrification
ในปี 2016 ไทยปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิ 263 ล้านตันคาร์บอนไดออกไซด์เทียบเท่า โดยมาจากภาคพลังงานถึง 253 ล้านตัน ภาคเกษตร 52 ล้านตัน ภาคตสาหกรรมหนักและการใช้ผลิตภัณฑ์ 32 ล้านตัน จากของเสีย 16 ล้านตัน แต่สามารถดูดซับคาร์บอนได้ถึง 91 ล้านตันจากการใช้ประโยชน์ที่ดิน ป่าเศรษฐกิจและป่าไม้
นายเกียรติชายกล่าวว่า ในกรณีที่ต้องให้บรรลุเป้าหมายรักษาอุณหภูมิโลกไม่ให้เพิ่มขึ้นเกินกว่า 2 องศาเซลซียส ประเทศไทยจะปล่อยก๊าซเรือนกระจกสูงสุดในปี 2030 ที่ 370 ล้านตันคาร์บอนไดออกไซด์เทียบเท่าจากนั้นจะค่อยๆลดลง และมีระดับการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิปี 2050 ที่ 200 ล้านตันคาร์บอนไดออกไซด์เทียบเท่า
สำหรับการก้าวสู่ความเป็นกลางทางคาร์บอนปี 2070 จะต้องลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกลงด้วยมาตรการเพิ่มการใช้พลังงานหมุนเวียนให้ได้ 50% ในการผลิตไฟฟ้าสำหรับโรงไฟฟ้าใหม่และต้องจำหน่ายรถยนต์ EV ให้ได้ 69% ในปี 2035
ทั้งนี้คาดว่าการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิในปี 2050 มีปริมาณ 62 ล้านตัน เพราะการปล่อยก๊าซเรือนกระจกทั้งหมด 182 ล้านตันจากภาคพลังงาน 148 ล้านตัน ภาคกระบวนการทางอุตสาหกรรมรวมทั้งน้ำเสียในอุตสาหกรรม ภาคการจัดการขยะและภาคเกษตรรวมกัน 34 ล้านตันจะมีการดูดซับออกไป 120 ล้านตัน
“อย่างไรก็ตามการลดก๊าซเรือนกระจกให้ได้ตามเป้าหมาย Net Zero Thailand ต้องใช้เวลา และเป็นเรื่องที่ท้าทายอย่างมาก ในการดำเนินการสำหรับทุกภาคส่วน และภาคพลังงานต้องดำเนินการอย่างมาก และหากเราต้องเร่งให้ได้ภายในปี 2065 ก็ต้องมีมาตรการเพิ่มเติม”
จากการประเมินร่วมกับกระทรวงพลังงาน พบว่าส่วนในภาคป่าไม้ต้องเพิ่มพื้นที่ป่าทุกรูปแบบทั้งป่าเศรษฐกิจ ป่าชุมชน ป่าไม้ถาวร พื้นที่สีเขียวในเมืองและชนบทอีกประมาณ 35% หรือ 30 ล้านไร่เพิ่มศักยภาพการดูดซับคาร์บอนให้ได้สุทธิ 120 ล้านตันคาร์บอนไดออกไซด์เทียบเท่า