ThaiPublica > คอลัมน์ > 30 ปี ข้อตกลงสันติภาพปารีส

30 ปี ข้อตกลงสันติภาพปารีส

18 ตุลาคม 2021


กวี จงกิจถาวร

วันที่ 23 ตุลาคมจะเป็นวันครบรอบ 30 ปีของข้อตกลงสันติภาพที่กรุงปารีส (Cambodia’s Paris Peace Agreement) ที่ทำให้สงครามกลางเมืองในกัมพูชายุติลง หลังจากการประหัตประหารยืดเยื้อกันมาเป็นเวลา 13 ปี ระหว่างปี 1978-1991 ที่ทหารเวียดนามเข้ายึดกัมพูชาเพื่อขับไล่กองกำลังเขมรแดงที่ฆ่าล้างเผ่าพันธุ์คนกัมพูชามากกว่า 1.1 ล้านคน (ประเด็นนี้ละเอียดอ่อนมาก เพราะเวียดนามตอกย้ำว่า ทหารของเขาเข้าไปช่วยปลดปล่อยคนกัมพูชาให้หลุดจากเงื้อมมือของกลุ่มเขมรแดง) ทุกวันนี้ยังมีการเสาะหาและสืบสวนอย่างต่อเนื่องเกี่ยวกับเหยื่อความโหดเหี้ยมของกลุ่มเขมรแดงที่ยังหาหลักฐานไม่พบ

ประเด็นที่น่าสนใจสำหรับนักประวัติศาสตร์ก็คือ ข้อตกลงนี้ถือเป็นผลงานพหุภาคีชิ้นแรกหลังสงครามเย็นขององค์การสหประชาชาติ ทำให้เกิดสันติภาพและความสงบเรียบร้อยในภูมิภาคเอเชียอาคเนย์ ปลุก ปั้นให้อาเซียนมีพลังการทูตและชื่อเสียงพร้อมกับมีบทบาทนำในเวทีการเมืองในภูมิภาคและระหว่างประเทศ

ส่วนประเทศไทยได้รับผลดี คือ ตามชายแดนไทยกับกัมพูชาไม่มีการสู้รบ ไม่ทำให้ชาวบ้านเดือดร้อน ต้องหลบหนีภัยต่อสู้ ทำให้สายสัมพันธ์ระหว่างสองประเทศเพื่อนบ้านค่อยๆ ดีขึ้น ไม่ต้องกลัวว่าเวียดนามจะมายึดภาคอีสาน

คนทั่วๆ ไปคงลืมแล้วว่า เป็นเวลาเกือบ 30 ปีที่รัฐบาลไทยและประชาชนคนไทยต้องรับภาระในการดูแลคนกัมพูชาที่มาอพยพเข้ามาในไทยตามบริเวณชายแดนด้านตะวันออกติดกับอรัญประเทศและจังหวัดอื่นๆ กว่าผู้ลี้ภัยเกือบหนึ่งล้านคนจะสามารถหาที่พักพิงใหม่ในประเทศที่สามต้องใช้เวลานานมาก ประเทศต่างๆ ในโลกตะวันตกก็มักจะผัดวันประกันพรุ่งอยู่เรื่อยๆ แทนที่จะทำตามคำสัญญาไว้ว่าจะรับผู้ลี้ภัยเหล่านี้ (ขณะนี้ไทยยังต้องดูแลผู้ลี้ภัยชาวเมียนมาเกือบหนึ่งแสนคนที่ติดค้างคาอยู่ถึง 9 แห่งในบริเวณชายแดนไทยตั้งแต่ต้นปี 1990)

อีกหนึ่งประเด็นที่สำคัญคือการพัฒนาการเมืองในกัมพูชาในช่วงสามทศวรรษที่ผ่านมา ข้อตกลงสันติภาพกรุงปารีสบ่งชี้ชัดว่ากัมพูชาต้องพัฒนาการเมืองในแนวทางประชาธิปไตยต่อไป อย่าลืมว่าองค์การสหประชาชาติได้ลงทุนมหาศาลในการจัดตั้งองค์การบริหารชั่วคราวแห่งสหประชาชาติในกัมพูชา (United Nations Transitional Authority in Cambodia) เพื่อปฏิบัติการรักษาสันติภาพของสหประชาชาติในกัมพูชาระหว่าง 1991-1992

นับเป็นครั้งแรกที่สหประชาชาติเข้ามาจัดการการปกครองของรัฐที่เป็นเอกราชเพื่อจัดการเลือกตั้ง มีสถานีวิทยุและคุกเป็นของตนเอง และสามารถรับผิดชอบและสนับสนุนสิทธิมนุษยชนในระดับนานาชาติ อย่างไรก็ดี การเมืองในกัมพูชาปัจจุบันยังตกอยู่ในเงื้อมมือของพรรคประชาชนของนายกรัฐมนตรีฮุนเซ็น ซึ่งตอนนี้เป็นผู้นำที่อยู่ในตำแหน่งยาวนานที่สุดในอาเซียนเกือบ 38 ปี

มีนักวิชาการหลายคนตั้งข้อสังเกตว่า ข้อตกลงกรุงปารีสนั้นยังไม่จบเสร็จสิ้นสมบรูณ์อย่างที่เข้าใจกัน เพราะกระบวนการสร้างชาติในกัมพูชายังคงดำเนินต่อไปเพื่อให้ได้มาซึ่งการปกครองแบบประชาธิปไตย ต้องยอมรับว่าขณะนี้กัมพูชาไม่ได้รับการยอมรับว่าเป็นประเทศที่มีเสรีภาพและประชาธิปไตย เป็นกึ่งเผด็จการ

ปีหน้ากัมพูชาจะเป็นประธานอาเซียน พอดีเป็นช่วงที่มีการเปลี่ยนสถานภาพในภูมิรัฐศาตร์อย่างฉับพลันและค่อยข้างถี่ ทำให้ประชาคมโลกนั้นพยายามเฝ้าดูอย่างใกล้ชิดว่า กัมพูชาจะวางตัวอย่างไรในการที่จะปกป้องและรักษาผลประโยชน์ของประเทศและอาเซียน

ในปี 2012 กัมพูชาสร้างเรื่องอื้อฉาวไว้คือไม่ยอมออกแถลงการณ์รวมการประชุมประจำปีอาเซียนเนื่องจากไม่สามารถตกลงกันได้ในถ้อยแถลงเกี่ยวกับสถานการณ์ในทะเลจีนใต้ จนอาเซียนเสียศูนย์ไปพักหนึ่ง สมาชิกอาเซียนเกรงว่าประวัติศาตร์จะซ้ำรอย

กัมพูชาในฐานะเป็นประเทศเพื่อนบ้านที่เป็นคู่กัดของไทยมาช้านาน โดยเฉพาะกรณีข้อพิพาทเรื่องเขาพระวิหาร ไทยเราต้องติดตามและวิเคราะห์สถานการณ์ในประเทศนี้อย่างใกล้ชิด ทั้งพัฒนาการในประเทศและการปฎิสัมพันธ์กับต่างประเทศ เพราะจะส่งผลทั้งทางตรงและทางอ้อมต่อความมั่นคงของไทย