ThaiPublica > เกาะกระแส > ธปท.เปิดผลสำรวจ ทักษะทางการเงินคนไทยดีขึ้น แต่ยังออมไม่พอ

ธปท.เปิดผลสำรวจ ทักษะทางการเงินคนไทยดีขึ้น แต่ยังออมไม่พอ

29 ตุลาคม 2021


นางสาวนวพร มหารักขกะ ผู้ช่วยผู้ว่าการ สายบริหารความเสี่ยงองค์กร ธปท.

วันที่ 28 ตุลาคม 2564 ธนาคารแห่งประเทศไทย( ธปท.) โดยนางสาวนวพร มหารักขกะ ผู้ช่วยผู้ว่าการ สายบริหารความเสี่ยงองค์กร บรรยายสรุปเรื่อง ผลสำรวจทักษะทางการเงินของไทย ปี 2563

ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) เห็นความสำคัญของการส่งเสริมให้ประชาชนมีทักษะทางการเงินที่ดีอันจะเป็นภูมิคุ้มกันให้สามารถดูแลตนเองได้แม้ต้องเผชิญความท้าทายต่าง ๆ อาทิ หนี้สินภาคครัวเรือนที่อยู่ในระดับสูง การก้าวเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุ โดยเฉพาะสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ซึ่งส่งผลกระทบต่อภาคประชาชนและธุรกิจในวงกว้าง

ในปี 2563 ธปท. ร่วมกับสำนักงานสถิติแห่งชาติได้สำรวจระดับทักษะทางการเงินของคนไทยตามกรอบของ The Organization for Economic Co-operation and Development (OECD) เป็นครั้งที่ 8 ครอบคลุมกลุ่มตัวอย่างทุกจังหวัดทั่วประเทศ จำนวนทั้งสิ้น 11,901 ครัวเรือน เพื่อเป็นข้อมูลในการพัฒนาทักษะทางการเงินของคนไทย และสร้างภูมิคุ้มกันทางการเงินที่ดี

ธปท. ใช้ชุดคำถามมาตรฐานของ OECD ฉบับล่าสุด ปี 2561 ในการสำรวจทักษะทางการเงินของไทยปี 2563 เพื่อให้การวัดระดับทักษะทางการเงินเป็นไปตามมาตรฐานสากล และสามารถเปรียบเทียบผลสำรวจของไทยกับประเทศอื่นที่เข้าร่วมการสำรวจกับ OECD ได้ โดยได้ปรับปรุงคำถามและตัวเลือกคำตอบในหัวข้อพฤติกรรมทางการเงินของปี 2563 ให้ครอบคลุมและสอดคล้องกับบริบทปัจจุบันยิ่งขึ้น โดยยังคงการคิดคะแนนทักษะทางการเงินเช่นเดียวกับฉบับก่อนหน้า (ปี 2558) กล่าวคือมีคะแนนรวมทั้งสิ้น 21 คะแนน จากองค์ประกอบ 3 ด้าน ได้แก่ ความรู้ทางการเงิน 7 คะแนน พฤติกรรมทางการเงิน 9 คะแนน และทัศนคติทางการเงิน 5 คะแนน

ผลการสำรวจทักษะทางการเงิน1 ปี 2563 แสดงให้เห็นว่าคนไทยมีพัฒนาการระดับทักษะทางการเงินดีขึ้นอยู่ที่ร้อยละ 71.0 สูงกว่าการสำรวจครั้งก่อนในปี 2561 (ร้อยละ 66.2) และสูงกว่าค่าเฉลี่ยการสำรวจทักษะทางการเงินครั้งล่าสุดของ OECD ในปี 25632 (ร้อยละ 60.5) เมื่อพิจารณาองค์ประกอบของทักษะทางการเงินทั้ง 3 ด้าน พบว่าคนไทยมีพัฒนาการดีขึ้นในทุกด้าน

ระดับทักษะทางการเงินและองค์ประกอบ

ความรู้ทางการเงิน คะแนนเฉลี่ยด้านความรู้อยู่ที่ 4.4 คะแนน จากคะแนนเต็ม 7 คะแนน คิดเป็นร้อยละ 62.9 ซึ่งปรับตัวดีขึ้นจากปี 2561 (ร้อยละ 55.7) เนื่องจากคนไทยมีความเข้าใจเรื่องการกระจายความเสี่ยงในการลงทุน (Diversification) และความเสี่ยงและผลตอบแทน (High risk, High return) มากขึ้น ทั้งนี้ หัวข้อที่คนไทยมีความเข้าใจดีที่สุดคือ การคำนวณดอกเบี้ยสินเชื่อ และหัวข้อที่เป็นจุดอ่อนซึ่งคนไทยได้คะแนนน้อยที่สุด 3 อันดับแรก คือ การคำนวณดอกเบี้ยเงินฝากทบต้น การกระจายความเสี่ยงในการลงทุน (Diversification) และมูลค่าเงินตามเวลา และเมื่อเปรียบเทียบกับค่าเฉลี่ย OECD พบว่า คะแนนเฉลี่ยด้านความรู้ของคนไทยยังต่ำกว่าค่าเฉลี่ยของ OECD โดยเฉพาะในเรื่องนิยามเงินเฟ้อ ความเสี่ยงและผลตอบแทน (High risk, High return) และการคำนวณดอกเบี้ยสินเชื่อ

ด้านพฤติกรรมทางการเงิน คะแนนพฤติกรรมอยู่ที่ 6.4 คะแนน จากคะแนนเต็ม 9 คะแนน คิดเป็นร้อยละ 71.1 ซึ่งปรับตัวดีขึ้นจากปี 2559 (ร้อยละ 62.2) และ ปี 2561 (ร้อยละ 67.8) รวมทั้งสูงกว่าค่าเฉลี่ย OECD ค่อนข้างมาก (ร้อยละ 59.2) โดยพฤติกรรมที่คนไทยทำได้ดีที่สุด คือ การตัดสินใจทางการเงินด้วยตนเอง ส่วนหัวข้อที่คนไทยทำคะแนนได้ดีน้อยที่สุด 3 อันดับแรก คือ การเปรียบเทียบข้อมูลผลิตภัณฑ์ การบริหารจัดการเงินเพื่อหลีกเลี่ยงปัญหาเงินไม่พอใช้ และการจัดสรรเงินก่อนใช้โดยปัญหาเงินไม่พอใช้ยังเป็นหัวข้อที่คนไทยได้คะแนนต่ำกว่าค่าเฉลี่ย OECD ด้วย

เมื่อพิจารณาพัฒนาการรายข้อพบว่า ปี 2563 คนไทยมีพฤติกรรมทางการเงินดีขึ้นกว่าปี 2561 ในหลายหัวข้อ โดยมีพฤติกรรมจัดสรรเงินก่อนใช้มากขึ้น แม้จะเป็นหัวข้อที่ควรได้รับการส่งเสริมแต่มีคะแนนเพิ่มขึ้นร้อยละ 20.1 และสามารถศึกษาข้อมูลจากแหล่งที่เหมาะสมก่อนตัดสินใจเพิ่มขึ้นร้อยละ 13.6 ส่วนหัวข้อที่คะแนนปรับตัวลงมากที่สุด 2 อันดับแรก คือ การบริหารจัดการเงินเพื่อหลีกเลี่ยงปัญหาเงินไม่พอใช้ ซึ่งอาจสะท้อนผลกระทบด้านเศรษฐกิจที่ครัวเรือนเผชิญในช่วงสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 และการไตร่ตรองก่อนซื้อ โดยคะแนนปรับตัวลงร้อยละ 11.2 และ 8.2 ตามลำดับ

ด้านทัศนคติทางการเงิน คะแนนเฉลี่ยด้านทัศนคติอยู่ที่ 4.1 คะแนน จากคะแนนเต็ม 5 คะแนน คิดเป็นร้อยละ 82.0 ซึ่งปรับตัวดีขึ้นจากปี 2559 (ร้อยละ 76.0) และปี 2561 (ร้อยละ 78.0) รวมทั้งยังมีคะแนนสูงกว่าค่าเฉลี่ย OECD11 ค่อนข้างมาก (ร้อยละ 59.2) เมื่อพิจารณาเป็นรายข้อพบว่า คนไทยมีทัศนคติทางการเงินดีในทุกหัวข้อโดยเฉพาะเรื่องการคิดก่อนใช้

เมื่อเปรียบเทียบคะแนนด้านทัศนคติทางการเงินในรอบสำรวจ 3 ครั้งที่ผ่านมาจะพบว่าคะแนนเฉลี่ยของคนไทยอยู่ในระดับสูงมาโดยตลอด และยังคงมีพัฒนาการดีขึ้นอย่างต่อเนื่อง โดยหัวข้อการวางแผนเพื่ออนาคตในระยะยาวเป็นหัวข้อที่มีพัฒนาการจากปี 2561 มากที่สุด กล่าวคือ มีผู้ตอบไม่เห็นด้วยอย่างมากและไม่เห็นด้วยต่อคำถาม “ใช้ชีวิตเพื่อวันนี้ ไม่ต้องวางแผนสำหรับอนาคต” เพิ่มขึ้นจาก ร้อยละ 74.5 ในปี 2561 เป็นร้อยละ 86.6 ในปี 2563 ซึ่งอาจตีความได้ว่าสถานการณ์ความไม่มั่นคงทางรายได้จากวิกฤตการณ์การแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ทาให้ประชาชนตระหนักถึงความสำคัญของการวางแผนทางการเงินในระยะยาวเพื่อให้พร้อมรับมือกับเหตุการณ์ไม่คาดฝันที่อาจเกิดขึ้นในอนาคต

Gen Y ความรู้สูงสุด

เมื่อพิจารณาระดับทักษะทางการเงินตามมิติช่วงวัยพบว่าทุกวัยมีพัฒนาการที่ดีขึ้นในทุกด้านสอดคล้องกับภาพรวมของประเทศ โดย

Gen Y มีระดับทักษะทางการเงินดีที่สุดเมื่อเทียบกับวัยอื่นเนื่องจากมีคะแนนด้านความรู้และพฤติกรรมทางการเงินสูง แต่มีคะแนนทัศนคติทางการเงินค่อนข้างน้อย รองลงมาคือ Gen X โดยทัศนคติทางการเงินเป็นหัวข้อที่มีคะแนนสูงสุดเมื่อเทียบกับช่วงวัยอื่น

Gen Z มีคะแนนทักษะทางการเงินค่อนข้างน้อย โดยมีคะแนนด้านพฤติกรรมและทัศนคติทางการเงินน้อยที่สุดในทุกช่วงวัยแต่มีพัฒนาการของระดับทักษะทางการเงินดีขึ้นมากเมื่อเทียบกับคะแนนปี 2561 โดยเฉพาะด้านความรู้และพฤติกรรมทางการเงิน และ Gen Baby Boomer ขึ้นไป มีคะแนนทักษะทางการเงินน้อยที่สุดโดยมีคะแนนด้านความรู้น้อยกว่าช่วงวัยอื่น

Gen Baby Boomer ขึ้นไป มีคะแนนทักษะทางการเงินอยู่ที่ร้อยละ 67.8 โดยด้านความรู้ทางการเงิน ช่วงวัยนี้มีคะแนนต่ำกว่าช่วงวัยอื่น ๆ โดยอยู่ที่ร้อยละ 55.3 ซึ่งมีพัฒนาการดีขึ้นในทุกหัวข้อ โดยเฉพาะหัวข้อความเสี่ยงและผลตอบแทน การกระจายความเสี่ยงในการลงทุน อย่างไรก็ดี ยังควรส่งเสริมความรู้ในทุกหัวข้ออย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะหัวข้อนิยามเงินเฟ้อ ความเสี่ยงและผลตอบแทน คำนวณดอกเบี้ยสินเชื่อ เพื่อให้ทัดเทียมกับช่วงวัยอื่น ๆ รวมถึงระดับสากล ด้านพฤติกรรมทางการเงิน ค่อนข้างต่ำอยู่ที่ร้อยละ 69.3

อย่างไรก็ดี ช่วงวัยนี้ประสบปัญหาเงินไม่พอใช้น้อยกว่าช่วงวัยอื่น และมีแนวโน้มไม่กู้เงินเมื่อประสบเหตุการณ์ดังกล่าว

ส่วนหัวข้อที่ควรได้รับการพัฒนาคือการเปรียบเทียบและศึกษาข้อมูลจากแหล่งที่เหมาะสมก่อนเลือกซื้อผลิตภัณฑ์ทางการเงิน อีกทั้งควรได้รับการส่งเสริมด้านการบริหารจัดการเงินในภาพรวม เช่น การจัดสรรเงิน การดูแลเงินของตนเองอย่างใกล้ชิด เพื่อให้สามารถดูแลตนเองได้ในช่วงหลังเกษียณอายุ ด้านทัศนคติทางการเงิน ค่อนข้างดีอยู่ที่ร้อยละ 82.5 โดยควรส่งเสริมทัศนคติด้านการวางแผนและจัดสรรเงินหลังเกษียณเพื่อให้สามารถบริหารจัดการเงินออมที่มีได้อย่างมีประสิทธิภาพ และรองรับภาระค่าใช้จ่ายต่าง ๆ ที่มักเพิ่มขึ้นตามช่วงวัย เช่น ค่ารักษาพยาบาล

Gen X มีคะแนนทักษะทางการเงินค่อนข้างดีอยู่ที่ร้อยละ 73.6 และมีด้านความรู้ทางการเงินในระดับค่อนข้างสูง อยู่ที่ร้อยละ 67.9 ซึ่งมีพัฒนาการโดยรวมดีขึ้นในทุก ๆ หัวข้อ โดยเฉพาะเรื่องการกระจายความเสี่ยงในการลงทุน ความเสี่ยงและผลตอบแทน อย่างไรก็ตาม ยังมีบางหัวข้อที่ควรส่งเสริมความรู้ให้เทียบเท่าระดับสากลโดยเฉพาะหัวข้อนิยามเงินเฟ้อ และความเสี่ยงและผลตอบแทน ด้านพฤติกรรมทางการเงิน ค่อนข้างดีอยู่ที่ ร้อยละ 72.6 ซึ่งน้อยกว่า Gen Y เพียงเล็กน้อย

โดยช่วงวัยนี้ให้ความสำคัญกับการตั้งเป้าหมายระยะยาวและมีพฤติกรรมทางการเงินในภาพรวมดี แต่มีแนวโน้มประสบปัญหาเงินไม่พอใช้ และเลือกกู้เงินเพื่อแก้ปัญหาดังกล่าวมากกว่าช่วงวัยอื่น ซึ่งอาจเป็นเพราะผลกระทบด้านเศรษฐกิจจากสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 และคนช่วงวัยนี้มักเป็นผู้รับผิดชอบด้านการเงินในมิติต่าง ๆ ของตนเองและครอบครัวจึงอาจได้รับผลกระทบโดยตรงจากเหตุการณ์ดังกล่าว

ด้านทัศนคติทางการเงิน ช่วงวัยนี้มีทัศนคติสูงกว่าวัยอื่นในทุกหัวข้อ โดยมีคะแนนอยู่ที่ร้อยละ 83.4 อย่างไรก็ดี ทัศนคติด้านการออมเงินยังเป็นหัวข้อที่สามารถพัฒนาเพิ่มเติมได้เพื่อให้พร้อมรองรับการเกษียณอายุ และค่าใช้จ่ายของครัวเรือน

Gen Y มีระดับทักษะทางการเงินอยู่ที่ร้อยละ 74.7 สูงกว่าช่วงวัยอื่น โดยเฉพาะด้านความรู้ทางการเงิน และพฤติกรรมทางการเงิน ด้านความรู้ทางการเงิน ช่วงวัยนี้มีความรู้สูงที่สุดเมื่อเทียบกับช่วงวัยอื่น อยู่ที่ร้อยละ 71.2 ซึ่งมีพัฒนาการดีขึ้นในทุก ๆ หัวข้อ โดยเฉพาะเรื่องความเสี่ยงและผลตอบแทน การกระจายความเสี่ยงในการลงทุน มูลค่าเงินตามเวลา อย่างไรก็ตาม ควรส่งเสริมความรู้เพิ่มเติมในเรื่องนิยามเงินเฟ้อให้เทียบเท่าระดับสากล

ด้านพฤติกรรมทางการเงิน มีคะแนนเฉลี่ยสูงกว่าช่วงวัยอื่น อยู่ที่ร้อยละ 73.2 โดยมีพัฒนาการเรื่องการจัดสรรเงินและการศึกษาข้อมูลจากแหล่งที่เหมาะสมก่อนเลือกซื้อผลิตภัณฑ์ทางการเงินค่อนข้างมาก ส่วนหนึ่งอาจมีสาเหตุจากคนวัยนี้มีความถนัดด้านการใช้งานเทคโนโลยีต่างๆ และนิยมศึกษาข้อมูลด้วยตนเองก่อนเลือกซื้อสินค้าและบริการ

ทั้งนี้ ควรส่งเสริมพฤติกรรมด้านการไตร่ตรองก่อนใช้จ่าย เพื่อหลีกเลี่ยงปัญหาการใช้เงินเกินตัว และก่อหนี้บริโภคโดยไม่จำเป็นในอนาคต ด้านทัศนคติทางการเงิน อยู่ที่ร้อยละ 82.3 ซึ่งรองลงมาจาก Gen x เพียงเล็กน้อย โดยคนในช่วงวัยนี้เป็นวัยที่เข้าสู่ตลาดแรงงานและเริ่มสร้างความมั่นคงในชีวิต จึงควรได้รับการส่งเสริมทัศนคติด้านการออมเงินและวางแผนระยะยาวเพื่อให้สามารถบริหารจัดการเงินได้อย่างเหมาะสม

Gen Z มีระดับทักษะทางการเงินที่ต่ำกว่าช่วงวัย Gen X และ Gen Y โดยอยู่ที่ร้อยละ 69.2 ด้านความรู้ทางการเงิน ช่วงวัยนี้มีความรู้ทางการเงินค่อนข้างสูง อยู่ที่ร้อยละ 66.8 โดยมีพัฒนาการดีขึ้นในทุกหัวข้อเช่นเดียวกับช่วงวัยอื่น ๆ โดยเฉพาะเรื่องมูลค่าเงินตามเวลา นิยามเงินเฟ้อ ความเสี่ยงและผลตอบแทน อย่างไรก็ตาม ควรส่งเสริมความรู้เพิ่มเติมในเรื่องความเสี่ยงและผลตอบแทน นิยามเงินเฟ้อ การกระจายความเสี่ยงในการลงทุน เพื่อเป็นพื้นฐานในการพัฒนาทักษะทางการเงินที่ดีในอนาคตต่อไป

ด้านพฤติกรรมทางการเงิน มีคะแนนเฉลี่ยอยู่ที่ร้อยละ 64.7 ซึ่งต่ำที่สุดเมื่อเทียบกับทุกช่วงวัย ในทุกหัวข้อโดยเฉพาะเรื่องการตัดสินใจทางการเงิน การจัดสรรเงิน และการเลือกวิธีออมเงินที่เหมาะสม

ช่วงวัยนี้มีพัฒนาการของคะแนนใน 3 หัวข้อดังกล่าว รวมถึงรู้จักศึกษาข้อมูลจากแหล่งที่เหมาะสมก่อนเลือกซื้อผลิตภัณฑ์ทางการเงินเพิ่มขึ้นค่อนข้างมากจากการสำรวจในครั้งก่อน (ปี 2561) ทั้งนี้ ควรสนับสนุนการพัฒนาพฤติกรรมทางการเงินในภาพรวมเพื่อเตรียมพร้อมให้บริหารจัดการเงินได้อย่างเหมาะสมเมื่อเข้าสู่วัยทำงาน ด้านทัศนคติทางการเงิน มีระดับต่ำที่สุดเมื่อเทียบกับช่วงวัยอื่นในทุกหัวข้อ อยู่ที่ร้อยละ 80.7 โดยคนในช่วงวัยนี้ส่วนใหญ่ยังไม่มีรายได้จากการทำงาน อาจมีมุมมองต่อการเงินว่าเป็นเรื่องไกลตัว ดังนั้น จึงควรส่งเสริมทัศนคติทางการเงินที่เหมาะสม ปลูกฝังวินัยการใช้จ่ายและการออม รวมถึงการตั้งเป้าหมายระยะยาวเพื่อเป็นรากฐานที่ดีในการดาเนินชีวิตในอนาคต

ทัศนคติ-แรงจูงใจในการออม

สำหรับการสำรวจทัศนคติและพฤติกรรมการออม พบว่าสัดส่วนผู้มีเงินออมในกลุ่มตัวอย่างเพิ่มขึ้นเป็นร้อยละ 74.7 ในปี 2563 (จากร้อยละ 72.0 ในปี 2561) โดยปรับตัวดีขึ้นในทุกช่วงวัย ทั้งนี้ พบว่า Gen Baby Boomer มีสัดส่วนของผู้มีเงินออมสูงที่สุดที่ร้อยละ 75.7 ตามด้วย Gen X และ Gen Y ที่ร้อยละ 74.6 และร้อยละ 73.2 ตามลำดับ ขณะที่ Gen Z มีสัดส่วนของผู้มีเงินออมน้อยที่สุด ที่ร้อยละ 56.9 อย่างไรก็ตาม ผลการสำรวจของ Gen Z อาจไม่สะท้อนภาพของผู้ที่อยู่ในช่วงอายุนี้ทั้งประเทศ

ผลสำรวจพบว่าแรงจูงใจสำคัญอันดับแรกในการออมเงินของทุกช่วงวัย คือ การมีเป้าหมายหรือแผนที่ชัดเจนที่จะต้องใช้เงินในอนาคต เช่น ซื้อรถ ซื้อบ้าน และทุนการศึกษาบุตร แรงจูงใจ ลำดับถัดมา คือ อัตราผลตอบแทน/อัตราดอกเบี้ยที่ได้รับจากการออมเงิน และความสะดวกสบายในการเดินทางไปใช้บริการ เช่น มีสาขาของธนาคารใกล้บ้าน จากผลข้างต้น อาจกล่าวได้ว่าการผลักดันให้ประชาชนสนใจออมเงินมากขึ้น ควรเริ่มจากการกระตุ้นให้สำรวจความต้องการของตนเองเพื่อกาหนดเป้าหมายทางการเงินที่เหมาะสมกับตนเองและมีความชัดเจน (ปัจจัยภายใน) จนนำไปสู่การวางแผนทางการเงินและลงมือปฏิบัติให้บรรลุเป้าหมาย นอกจากนี้ ควรมีการส่งเสริมความรู้เกี่ยวกับผลิตภัณฑ์ทางการเงินด้านการออมที่เหมาะสมในแต่ละช่วงวัย ควบคู่ไปกับการพัฒนาสภาพแวดล้อมทางการเงิน (ปัจจัยภายนอก) เพื่อสร้างความเข้าใจและจูงใจให้เกิดการใช้บริการผลิตภัณฑ์ทางการเงินด้านการออมอย่างต่อเนื่อง เช่น บัญชีเงินฝากประจำรายเดือนแบบปลอดภาษี ประกันแบบสะสมทรัพย์ และการพัฒนาผลิตภัณฑ์ที่หลากหลายเหมาะกับความต้องการของแต่ละกลุ่มช่วงวัย

เป้าหมายในการออมเงิน 3 อันดับแรกของคนไทย พบว่า ส่วนใหญ่ออมเงินเพื่อใช้ในยามฉุกเฉินหรือเจ็บป่วยมากที่สุดที่ร้อยละ 36.7 รองลงมาคือการออมเพื่อใช้ในยามเกษียณที่ร้อยละ 34.9 และการออมเพื่อบริหารรายรับรายจ่ายตามฤดูกาลที่ร้อยละ 9.4 ซึ่งการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 น่าจะเป็นสาเหตุที่ทำให้ประชาชนตระหนักถึงความจำเป็นของการเก็บเงินสำรองมากขึ้น

แม้ว่าการออมเพื่อใช้จ่ายในยามฉุกเฉินหรือเจ็บป่วยจะเป็นวัตถุประสงค์อันดับแรกในการออมเงินของคนไทย แต่เมื่อสอบถามว่าหากต้องหยุดงานกะทันหัน คิดว่าตนเองมีเงินออมที่จะนำมาเป็นค่าใช้จ่ายได้นานเท่าไร จากผลสำรวจพบว่า คนไทยร้อยละ 32.8 ไม่ทราบสถานะเงินออมของตนเอง (ปรับตัวดีขึ้นจากร้อยละ 44.3 ในปี 2561) และอีกร้อยละ 29.2 มีเงินออมเพื่อใช้จ่ายหากต้องหยุดงานกะทันหันน้อยกว่า 3 เดือน (เพิ่มขึ้นจากร้อยละ 23.8 ในปี 2561)

อย่างไรก็ดี มีเพียงร้อยละ 38 ที่มีเงินสำรองอยู่ได้เกิน 3 เดือนหากต้องหยุดงานกะทันหัน แสดงให้เห็นว่ายังมีความจำเป็นต้องส่งเสริมการออมให้บรรลุเป้าหมาย

เมื่อวิเคราะห์ข้อมูลเกี่ยวกับการออมเงินเพื่อเกษียณ พบว่าคนไทยคิดวางแผนทางการเงินเพื่อใช้ในยามเกษียณ และเริ่มออมแล้วร้อยละ 66.0 ในปี 2563 (ลดลงเล็กน้อยจากร้อยละ 66.4 ในปี 2561) โดยมีสัดส่วนผู้ออมได้จริงตามแผนการออมเพื่อเกษียณที่คิดไว้ร้อยละ 17.8 ในปี 2563 (ลดลงจากร้อยละ 18.6 ในปี 2561) อย่างไรก็ตาม แม้สัดส่วนของผู้ที่ออมเงินเพื่อใช้ในยามเกษียณจะลดลง แต่สัดส่วนผู้ที่ยังไม่ได้เริ่มวางแผนการออมเพื่อเกษียณลดลงเป็นร้อยละ 15.3 ในปี 2563 (จากร้อยละ 17.2 ในปี 2561) และพฤติกรรมตั้งเป้าหมายทางการเงินระยะยาวปรับตัวดีขึ้นเมื่อเทียบกับปี 2561 จึงกล่าวได้ว่า คนไทยมีความตระหนักถึงการออมเพื่อเกษียณและเริ่มมีการวางแผนเพิ่มมากขึ้น แต่สถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 อาจส่งผลกระทบต่อสภาพเศรษฐกิจและรายได้ของประชาชน ทำให้การวางแผนการเงินและ การลงมือปฏิบัติตามแผนของคนไทยเป็นไปได้ยากมากขึ้น

ส่วนการจัดสรรเงินออมพบว่า คนไทยมีความไม่แน่นอนในการจัดสรรเงินออมอยู่ที่ร้อยละ 40.6 และไม่สนใจเรื่องการออมเงินอยู่ที่ร้อยละ 5.7 หากพิจารณาตามมิติช่วงวัยจะพบว่าทุกช่วงวัยมีรูปแบบที่ใกล้เคียงกัน ซึ่ง Gen Z จะมีสัดส่วนของผู้ที่มีความไม่แน่นอนในการจัดสรรเงินและไม่สนใจเรื่องการออมเงินมากที่สุดคิดเป็นร้อยละ 45.9 และร้อยละ 12.8 ตามลำดับ

แม้แรงจูงใจสำคัญในการออมมาจากการมีเป้าหมายหรือแผนที่ชัดเจนที่จะต้องใช้เงินในอนาคต แต่มีเพียงร้อยละ 19.7 ที่จัดสรรเงินเพื่อออมก่อนนำเงินไปใช้จ่ายจึงอาจเป็นเหตุผลที่ทำให้เป้าหมายการออมไม่สำเร็จ

ข้อเสนอแนะเชิงนโยบายในการยกระดับทักษะทางการเงินของคนไทย

1.การส่งเสริมความรู้ทางการเงินพื้นฐานในรูปแบบที่เหมาะสมกับประชาชนแต่ละช่วงวัยผ่านช่องทางต่าง ๆ เน้นหัวข้อความรู้ที่เป็นจุดอ่อนของคนไทย ได้แก่ การคำนวณดอกเบี้ยเงินฝากทบต้น การกระจายความเสี่ยงในการลงทุน และมูลค่าเงินตามเวลา ซึ่งเป็นหลักการสาคัญของการออมและการลงทุน โดยควรเชื่อมโยงองค์ความรู้กับเหตุการณ์ในชีวิต ในรูปแบบการสื่อสารที่เข้าใจง่ายเพื่อให้ประชาชนเห็นถึงประโยชน์และสามารถนำไปปรับใช้ได้จริง รวมถึงเลือกใช้ช่องทางที่เหมาะสมกับแต่ละช่วงวัย

2.การส่งเสริมพฤติกรรมการเงินโดยมุ่งเน้นการลงมือปฏิบัติจริงเพื่อนำไปสู่การเปลี่ยนแปลง ผลสำรวจแสดงให้เห็นว่าประชาชนมีความตระหนักถึงรูปแบบพฤติกรรมทางการเงินที่เหมาะสมแล้วแต่ยังต้องส่งเสริมให้เกิดการลงมือทำอย่างสม่าเสมอเพื่อให้เกิดการปรับพฤติกรรมในระยะยาว โดยเฉพาะการบริหารรายได้ให้เพียงพอกับค่าใช้จ่าย การจัดสรรเงินเพื่อวัตถุประสงค์ต่าง ๆ รวมถึงการเปรียบเทียบและศึกษาข้อมูลก่อนเลือกซื้อผลิตภัณฑ์ทางการเงิน โดยการจะกระตุ้นให้เกิดการปฏิบัติจริงได้นั้นอาจใช้ประโยชน์จากการวิเคราะห์ข้อมูล behavioral insight รวมถึงประยุกต์ใช้ศาสตร์ต่าง ๆ เช่น เศรษฐศาสตร์พฤติกรรม Gamification เพื่อให้เข้าใจและสามารถออกแบบเครื่องมือที่เหมาะสมกับประชาชนแต่ละกลุ่ม

3.ส่งเสริมวินัยทางการเงินเพื่อให้ประชาชนมีความพร้อมรับมือกับทุกสถานการณ์ (Financial resilience) เพื่อสนับสนุนให้ประชาชนสามารถฟื้นตัวจากผลกระทบทางเศรษฐกิจหลังวิกฤติการณ์การแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 และพร้อมรับมือกับความไม่แน่นอนในอนาคต จาเป็นต้องอาศัยการดำเนินงานอย่างบูรณาการของหน่วยงานทั้งภาครัฐและเอกชนให้ครอบคลุมประชาชนทุกกลุ่ม โดยมุ่งเน้นการส่งเสริมพฤติกรรมในด้านต่าง ๆ เช่น การติดตามสถานะทางการเงินของตนเอง การบริหารจัดการเงิน การไตร่ตรองก่อนใช้ การชาระค่าใช้จ่ายตรงเวลา การมีเงินออมเผื่อฉุกเฉิน การออมเงินในรูปแบบที่เหมาะสม และการตั้งเป้าหมายระยะยาว นอกจากนี้ ควรเร่งส่งเสริมทักษะความเข้าใจและใช้เทคโนโลยีดิจิทัล (Digital literacy) เพื่อให้ประชาชนมีความเข้าใจที่ถูกต้องเกี่ยวกับการใช้เทคโนโลยีต่าง ๆ โดยเฉพาะเทคโนโลยีทางการเงิน และรู้เท่าทันภัยทางการเงินในรูปแบบใหม่ ๆ

การดำเนินการด้านการส่งเสริมความรู้ทางการเงินของ ธปท.

1.ส่งเสริมความรู้ในวงกว้างผ่านช่องทาง online platform Facebook ของ ศคง. 1213 และ เครือข่ายพันธมิตร เช่น อสม. รวมถึงสื่อท้องถิ่น ด้วยรูปแบบที่เข้าใจง่าย สอดคล้องกับเหตุการณ์ในชีวิต ในหัวข้อเน้นประเด็นที่เป็นปัญหาการเงินเร่งด่วน เช่น การบริหารจัดการเรื่องหนี้ และประเด็นที่ควรพัฒนา/จุดอ่อน เช่น Digital Literacy ภัยการเงิน
2.ส่งเสริมให้มีการออมและวางแผนทางการเงินอย่างต่อเนื่อง โดยมีพฤติกรรมทางการเงินที่ดีอย่างยั่งยืน ผ่านการดำเนินการ 2 โครงการหลัก ได้แก่ (1) โครงการ Fin. ดี We Can Do!!! สำหรับกลุ่มนักศึกษาอาชีวะ ที่ร่วมกับสำนักงานคณะกรรมการอาชีวะศึกษา (สอศ.) จัดประกวดบนแนวคิด “ผลงานของคนอาชีวะเพื่อคนอาชีวะ” เป็นปีที่ 3 โดยมีกิจกรรมส่งเสริมความรู้ทางการเงินเพื่อกระตุกความคิดเรื่องการเงิน เพื่อให้เกิดการแลกเปลี่ยนเรียนรู้และสร้างแรงบันดาลใจ และ (2) โครงการ Fin. ดี Happy Life!!! สำหรับกลุ่มวัยทำงาน แก่ตัวแทนประจำหน่วยงาน (Fin. Trainer) เพื่อนำไปขยายผลให้แก่พนักงานในหน่วยงาน ในรูปแบบการให้ความรู้ จัดกิจกรรม และเป็นพี่เลี้ยงตลอดโครงการ
3.สนับสนุนให้ประชาชนมีความพร้อมรับมือกับทุกสถานการณ์ (Financial resilience) เช่น พัฒนาคู่มือ “รู้รอบเรื่องเงิน พร้อมเผชิญทุกวิกฤต” เผยแพร่บนเว็บไซต์ ศคง. 1213 และส่งผ่านความรู้แก่แรงงานกลุ่มเสี่ยงที่ได้รับผลกระทบจากโควิดผ่านองค์กรพันธมิตรของสมาคมภาคธุรกิจเอกชนต่าง ๆ ในรูปแบบของอินโฟกราฟิก คลิปวีดิโอ หลักสูตรอบรมออนไลน์ บทความ

ธปท. ให้ความสำคัญและดำเนินการมาอย่างต่อเนื่องในอันที่จะปลูกฝังและสร้างเสริมภูมิคุ้มกันทางการเงินแก่ประชาชนซึ่งเป็นรากฐานสำคัญของเศรษฐกิจที่ยั่งยืน

อ้างอิง
1. การสำรวจทักษะทางการเงินตามแนวทางของ OECD ประกอบด้วย 3 องค์ประกอบ ได้แก่ ความรู้ทางการเงิน พฤติกรรมทางการเงิน และทัศนคติทางการเงิน
2.เป็นคะแนนเฉลี่ยทักษะทางการเงินของ 26 ประเทศที่เข้าร่วมโครงการสำรวจทักษะทางการเงินกับ OECD ในปี 2563