ThaiPublica > เกาะกระแส > ธปท.ทบทวนกฏหมายล้าสมัย เริ่มรื้อ “เกณฑ์อัตราแลกเปลี่ยน” ให้เท่าทันความเสี่ยงในโลกใหม่

ธปท.ทบทวนกฏหมายล้าสมัย เริ่มรื้อ “เกณฑ์อัตราแลกเปลี่ยน” ให้เท่าทันความเสี่ยงในโลกใหม่

6 มิถุนายน 2017


ดร.วิรไท สันติประภพ ผู้ว่าการ ธนาคารแห่งประเทศไทย(ธปท.)

เมื่อวันที่ 5 มิถุนายน 2560 ดร.วิรไท สันติประภพ ผู้ว่าการ ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ได้กล่าวถึงการปฏิรูปกฎเกณฑ์ควบคุมการแลกเปลี่ยนเงินหรือ Foreign Exchange Regulation reform ซึ่งอยู่ภายใต้แนวทางการปฏิรูปกฎหมายและระเบียบในการควบคุมของ ธปท. หรือ Regulatory Guillotine และได้ริเริ่มตั้งคณะทำงานตั้งแต่เดือนธันวาคม 2559 โดยประกอบด้วยผู้เกี่ยวข้องต่างๆ ว่า

“ผมเชื่อว่าเราทุกคนคงเห็นตรงกันว่าอุปสรรคที่สำคัญที่สุดเรื่องหนึ่งสำหรับการยกระดับศักยภาพของประเทศไทย คือ กฎเกณฑ์ที่ล้าสมัย ไม่เท่าทันกับรูปแบบการบริหารธุรกิจและการบริหารความเสี่ยงในโลกใหม่ โดยเฉพาะโลกที่เทคโนโลยีกำลังเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว  ประเทศไทยมีกฎหมายและกฎเกณฑ์รวมกันมากกว่า 100,000 ฉบับ และมีใบอนุญาตมากกว่า 3,000 ประเภท จัดว่าค่อนข้างมากเมื่อเทียบกับประเทศที่พัฒนาแล้ว  และที่สำคัญ กฎเกณฑ์จำนวนไม่น้อยไม่ได้ถูกทบทวน บางกฎเกณฑ์เป็นการออกทับซ้อนของเดิมขึ้นไปเรื่อยๆ  การปฏิรูปกฎหมาย กฎเกณฑ์ เป็นเรื่องที่จำเป็นต่อการเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันของธุรกิจไทยและของประเทศ พร้อมทั้งส่งเสริมให้เกิดนวัตกรรมใหม่ๆ ได้อย่างเท่าทันการเปลี่ยนแปลงของโลกด้วย”

ดร.วิรไทกล่าวว่า ธนาคารแห่งประเทศไทยตระหนักดีว่าเราก็เป็นส่วนหนึ่งของปัญหา ที่ผ่านมามีกฎเกณฑ์จำนวนมากที่ออกโดยธนาคารแห่งประเทศไทยแล้วไม่ได้ถูกทบทวนหรือปรับปรุงอย่างจริงจัง เป็นอุปสรรคต่อการทำธุรกิจและไม่เท่าทันกับการบริหารจัดการความเสี่ยงสมัยใหม่ ธนาคารแห่งประเทศไทยจึงได้เริ่มโครงการปฏิรูปกฎหมาย กฎเกณฑ์ ที่ธนาคารแห่งประเทศไทยเราดูแลโดยเริ่มจากกฎหมายกฎเกณฑ์เกี่ยวกับการแลกเปลี่ยนเงินเป็นลำดับแรก เนื่องจากกฎหมายดังกล่าวแลกเปลี่ยนเงินเป็นกฎหมายเก่าแก่ออกใช้มาตั้งแต่ปี 2485 หลังสงครามโลกครั้งที่ 2 ซึ่งช่วงเวลานั้นเป็นช่วงที่ประเทศไทยขาดแคลนเงินตราต่างประเทศ และต่อมาในปี 2540 ประเทศไทยเกิดวิกฤติเศรษฐกิจ ทำให้จำเป็นต้องกำหนดออกกฎเกณฑ์การแลกเปลี่ยนเงินหลายอย่างเพิ่มเติมเพื่อลดความเสี่ยงจากเงินทุนไหลออก

ตลอดเวลา 20 ปีที่ผ่านมาระบบการเงินไทยมีพัฒนาการดีขึ้นมากและฐานะด้านต่างประเทศเข้มแข็งมาโดยต่อเนื่อง ธนาคารแห่งประเทศไทยจึงได้ทบทวนกฎเกณฑ์ที่เกี่ยวกับการแลกเปลี่ยนเงินเป็นระยะ เช่น จัดทำแผนแม่บทเงินทุนเคลื่อนย้ายระหว่างประเทศในปี 2555 เพื่อผ่อนคลายกฎเกณฑ์ให้เอื้อต่อการค้า การลงทุน และการบริหารความเสี่ยงของภาคเอกชนมากขึ้น แต่การผ่อนคลายที่ผ่านมายังคงเน้นการควบคุมความเสี่ยงที่ไม่ได้คำนึงถึงต้นทุนของภาคธุรกิจ ไม่ได้คำนึงถึงขั้นตอนการดำเนินงานของภาคธุรกิจมากนัก

ดังนั้น แม้ว่าเราจะผ่อนคลายกฎเกณฑ์ที่เกี่ยวกับการแลกเปลี่ยนเงินมาเป็นระยะๆ แต่กฎเกณฑ์ที่ใช้อยู่หลายเรื่องยังล้าสมัย หลายเรื่องอาจไม่จำเป็นแล้วในปัจจุบัน และหลายเรื่องไม่สอดคล้องกับบริบทของระบบเศรษฐกิจระบบการเงินที่เปลี่ยนแปลงไป โดยเฉพาะในปัจจุบันที่ระบบเศรษฐกิจการเงินของโลกมีความผันผวนสูง เต็มไปด้วยความไม่แน่นอน ซับซ้อน และคาดการณ์ได้ยาก ซึ่งภาคธุรกิจจะต้องสามารถปรับตัวได้อย่างรวดเร็ว ต้องสามารถบริหารจัดการเกี่ยวกับการแลกเปลี่ยนเงินและอัตราแลกเปลี่ยนได้อย่างรวดเร็ว ทันการณ์

โครงการปฏิรูปกฎเกณฑ์ที่เกี่ยวกับการแลกเปลี่ยนเงินนี้จะเป็นจุดเริ่มต้นในการปฏิรูปกฎเกณฑ์หลายๆ อย่างที่อยู่ในการกำกับดูแลของธนาคารแห่งประเทศไทย เพื่อเพิ่มความสะดวกในการประกอบธุรกิจของภาคเอกชน (ease of doing business) รวมทั้งเพื่อผ่อนคลายหรือยกเลิกกฎเกณฑ์เงินทุนเคลื่อนย้ายระหว่างประเทศที่ไม่จำเป็น อย่างไรก็ดี การผ่อนคลายหรือยกเลิกกฎเกณฑ์เหล่านี้จะต้องไม่ทำให้การทำหน้าที่ดูแลเสถียรภาพทางการเงินของธนาคารแห่งประเทศไทยด้อยลง ธนาคารแห่งประเทศไทยยังจำเป็นต้องมีข้อมูลสำหรับติดตามวิเคราะห์เงินทุนเคลื่อนย้ายเพื่อประเมินผลกระทบต่อตลาดการเงิน ตลาดทุน และระบบเศรษฐกิจโดยรวม

ในการดำเนินการตามโครงการปฏิรูปกฎเกณฑ์ที่เกี่ยวกับการแลกเปลี่ยนเงิน หรือที่ผ่านมาที่เราเรียกกันว่าโครงการ Regulatory Guillotine ครั้งนี้ ธนาคารแห่งประเทศไทยได้ดำเนินการร่วมกับที่ปรึกษาที่มีความเชี่ยวชาญ มีประสบการณ์ และเป็นที่ยอมรับในนานาประเทศ และที่สำคัญยิ่งได้ทำงานอย่างใกล้ชิดร่วมกับตัวแทนจากภาคเอกชนตลอด 6 เดือนที่ผ่านมา ทั้งตัวแทนจากสภาหอการค้าไทย สภาหอการค้าแห่งประเทศไทย สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย ผู้ประกอบการ ธนาคารพาณิชย์ ผู้ประกอบธุรกิจแลกเปลี่ยนเงินตราต่างประเทศ และผู้ประกอบธุรกิจโอนเงินระหว่างประเทศ รวมถึงหน่วยงานที่เกี่ยวข้องอีกหลายหน่วยงาน ที่ได้ร่วมให้ความเห็นเกี่ยวกับปัญหาอุปสรรคต่อในการดำเนินธุรกิจ และข้อเสนอแนะเพื่อปรับปรุงหลักเกณฑ์ให้ง่ายต่อการประกอบธุรกิจของภาคเอกชน การทำงานร่วมกันในครั้งนี้ เป็นตัวอย่างความร่วมมือที่สำคัญของภาครัฐและเอกชนที่สำคัญ คณะทำงานได้ร่วมกันทบทวนกฎเกณฑ์ต่างๆ อย่างครบวงจรรอบด้าน ครอบคลุมกฎเกณฑ์ทั้งหมดประมาณ 80 ฉบับ มากกว่า 18 ฉบับ ภายใต้กฎหมายควบคุมการแลกเปลี่ยนเงิน เช่น กฎเกณฑ์ที่เกี่ยวกับธุรกรรมเงินตราต่างประเทศ การค้าการลงทุนโดยตรงระหว่างประเทศ การลงทุนในหลักทรัพย์ระหว่างประเทศ และการทำธุรกรรมเงินตราต่างประเทศของรายย่อย รวมทั้งร่วมกันพิจารณาถึงกระบวนการและแนวคิดในการกำหนดหลักเกณฑ์ในอนาคตเพื่อให้เกิดความยืดหยุ่นและความสะดวกในการดำเนินการของภาคธุรกิจ และสอดคล้องกับแนวทางการบริหารความเสี่ยงในโลกยุคใหม่

ดร.วิรไทกล่าวว่า ผลจากการทบทวนกฎเกณฑ์การแลกเปลี่ยนเงินรอบนี้ ธนาคารแห่งประเทศไทยได้รับข้อเสนอแนะและแนวคิดสำคัญในการปรับปรุงหลักเกณฑ์เพื่อกำกับดูแลการโอนเงินเข้าออกระหว่างประเทศหลายประการ นอกจากข้อเสนอให้ปรับปรุงกฎเกณฑ์ต่างๆ ให้ทันสมัยแล้ว คณะทำงานได้พิจารณาถึงต้นทุนของผู้ประกอบการในการปฏิบัติตามกฎเกณฑ์ต่างๆ โดยมีเจตนาที่จะมุ่งลดต้นทุนการปฏิบัติงานเพื่อเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันกับต่างประเทศ และสนับสนุนให้เกิดนวัตกรรมทางการเงินใหม่ๆ รวมทั้งสนับสนุนให้ใช้เครื่องมืออิเล็กทรอนิกส์เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพและความสะดวกคล่องตัว สอดคล้องกับโลกยุคใหม่ที่ความก้าวหน้าทางเทคโนโลยีแบบก้าวกระโดดจะเปลี่ยนวิธีการดำเนินธุรกิจในทุกๆ มิติ คณะทำงานจึงได้ร่วมกันปรับปรุงกฎเกณฑ์ให้มีความชัดเจน โปร่งใส ง่ายต่อความเข้าใจ และสอดคล้องกับกฎระเบียบของหน่วยงานอื่นๆ ที่เกี่ยวข้องเพื่อลดความซ้ำซ้อนด้วย

การปฏิรูปกฎเกณฑ์การแลกเปลี่ยนเงินในครั้งนี้ บางเรื่องได้ปรับเปลี่ยนหลักคิดของการทำงานภายใต้กรอบกฎหมายใหญ่ด้วย จากที่ต้องขออนุญาตทีละรายการ เป็นให้ภาคเอกชนสามารถทำธุรกรรมเงินตราต่างประเทศและบริหารความเสี่ยงได้เสรีเพิ่มขึ้นตามแนวทางการบริหารกิจการที่ดีและการควบคุมภายในที่ธุรกิจเอกชนแต่ละแห่งอาจจะกำหนดขึ้นเองภายใต้กรอบที่ธนาคารแห่งประเทศไทยได้กำหนดไว้ และการผ่อนคลายกฎเกณฑ์การแลกเปลี่ยนเงินในรอบนี้ ยังครอบคลุมถึงการลดขั้นตอนยื่นเอกสารที่ไม่จำเป็น ผ่อนคลายให้เอกชนทำธุรกรรมโดยไม่ต้องยื่นขออนุญาตต่อ ธปท. รวมทั้งเพิ่มผู้เล่นในตลาดแลกเปลี่ยนเงินตราต่างประเทศ และสนับสนุนการใช้เงินสกุลท้องถิ่นเพื่อการค้าการลงทุนกับประเทศเพื่อนบ้าน

ดร.วิรไทกล่าวต่อว่า ในการดำเนินการผ่อนคลายกฎเกณฑ์แลกเปลี่ยนเงินจากนี้ไปนั้น ธนาคารแห่งประเทศไทยจะทยอยดำเนินการเป็นลำดับ หลายเรื่องมีผลบังคับใช้ในเดือนนี้ บางเรื่องอาจใช้เวลาบ้าง เนื่องจากต้องแก้กฎเกณฑ์ที่อยู่ในอำนาจหรือเกี่ยวโยงกับอำนาจความรับผิดชอบของหน่วยงานอื่น ธนาคารแห่งประเทศไทยจะเร่งดำเนินการผ่อนคลายส่วนใหญ่ให้แล้วเสร็จภายในปี 2560 แต่อาจมีบางเรื่องที่ต้องใช้เวลาดำเนินการข้ามไปถึงปี 2561 ทั้งนี้ จากการประเมินเบื้องต้นคาดว่าการผ่อนคลายในระยะแรกนี้จะช่วยลดต้นทุนของภาคเอกชนในส่วนที่สามารถประเมินเป็นตัวเลขได้มากกว่า 1,000 ล้านบาทต่อปี ซึ่งยังไม่รวมถึงประโยชน์ทางอ้อมที่ประเมินเป็นตัวเลขได้ยาก เช่น การเพิ่มความสามารถในการแข่งขัน หรือการสร้างนวัตกรรมทางการเงิน

4 มาตรการ ลดขั้นตอน-เอกสาร เพิ่มความยืดหยุ่นบริหารความเสี่ยง

นางสาววชิรา อารมย์ดี ผู้ช่วยผู้ว่าการ สายตลาดการเงิน ธปท.

ด้านนางสาววชิรา อารมย์ดี ผู้ช่วยผู้ว่าการ สายตลาดการเงิน ธปท. กล่าวถึงมาตรการว่าเป็นก้าวใหม่ของ ธปท. ที่ปรับปรุงการกำกับดูแลจากเน้นดูแลรายธุรกรรม หรือ Transaction-Based เป็นเน้นกำกับความเสี่ยงในภาพรวม หรือ Risk-Based ซึ่งช่วยลดต้นทุนและเพิ่มประสิทธิภาพการบริหารความเสี่ยงของเอกชน โดยประกอบด้วย 4 มาตรการหลัก คือ

1. ลดขั้นตอนและเอกสาร โดยจะลดขั้นตอนและต้นทุนของภาคเอกชนในการจัดทำเอกสารหรือยื่นขออนุญาต ธปท. และใช้ข้อมูลอิเล็กทรอนิกส์มากขึ้น ช่วยเพิ่มประสิทธิภาพในการทำธุรกิจและเพิ่มความสามารถในการแข่งขันของประเทศ แบ่งเป็น 4 ประเด็น

  • ผ่อนคลายหลักเกณฑ์และลดเอกสารประกอบการโอนเงินออกนอกประเทศ เช่น ผ่อนคลายให้ชำระค่าสินค้าที่ไม่ได้นำเข้าหรือที่รับมอบในประเทศแก่บุคคลในต่างประเทศ, ลดเอกสารประกอบการโอนเงินออกนอกประเทศ เช่น ยกเลิกการแสดงงบการเงินและหนังสือชี้แจงรายละเอียดกรณีส่งเงินลงทุนหรือให้กู้ยืมแก่กิจการที่ต่างประเทศ การให้แสดงหลักฐานเงินนำเข้าอื่น เช่น credit advice แทนแบบการทำธุรกรรมเงินตราต่างประเทศในการโอนเงินเพื่อชำระคืนเงินกู้ต่างประเทศ และเพิ่มทางเลือกให้ลูกค้าสามารถยื่นเอกสารประกอบการขอโอนเงินออกนอกประเทศเป็นอิเล็กทรอนิกส์ หรืออีเมล
  • ยกเลิกการกรอกแบบการทำธุรกรรมเงินตราต่างประเทศและข้อกำหนดในการประทับตราของธนาคารพาณิชย์ลงบนเอกสารประกอบการทำธุรกรรม จากเดิมที่การทำธุรกรรมตั้งแต่ 50,000 ดอลลาร์สหรัฐจะต้องกรอกแบบฟอร์ม ขณะที่ธนาคารพาณิชย์จะต้องตรวจสอบและประทับตราเอกสารทุกหน้า
  • ปรับระบบการแจ้งความประสงค์การลงทุนในต่างประเทศผ่านเว็บไซต์ ธปท. เป็นระบบตอบรับอัตโนมัติ เนื่องจากโดยหลักการของระเบียบจะเป็นเพียงการแจ้งเพื่อทราบเท่านั้น ขณะที่ระเบียบเดิมระบุให้ ธปท. ออกแบบรับทราบภายในวันเดียวกันกันแก่ผู้ประกอบการก่อน
  • ปรับระบบการออกหนังสืออนุญาตให้แก่ผู้ประกอบการผ่านธนาคารพาณิชย์ในรูปอิเล็กทรอนิกส์แทน hard copy จากเดิมที่ ธปท. จะออกหนังสืออนุญาตการทำธุรกรรมเงินตราต่างประเทศเป็น hard copy เท่านั้น

2. ยกเลิกและผ่อนคลายหลักเกณฑ์การบริหารความเสี่ยงจากอัตราแลกเปลี่ยนของภาคเอกชน เพื่อเพิ่มความคล่องตัวของภาคธุรกิจในการบริหารความเสี่ยงจากอัตราแลกเปลี่ยน และลดขั้นตอนการยื่นเอกสารและการยื่นขออนุญาตต่อ ธปท. แบ่งเป็น 3 ประเด็น

  • ให้ยกเลิกสัญญาป้องกันความเสี่ยงอัตราแลกเปลี่ยนได้ทุกกรณี จากเดิมการยกเลิกสัญญาฯ ทำได้เฉพาะกรณีค่าสินค้าบริการ เงินลงทุนโดยตรง เงินกู้ เงินลงทุนในหลักทรัพย์ต่างประเทศ ขณะที่กรณีอื่นให้ยกเลิกได้ในกรณีที่มีจำนวนเงินต่ำกว่า 20,000 ดอลลาร์สหรัฐ
  • ให้บริษัทในเครือเดียวกันสามารถทำธุรกรรมเพื่อป้องกันความเสี่ยงอัตราแลกเปลี่ยนแทนกันได้ โดยไม่ต้องยื่นขออนุญาตต่อ ธปท. เป็นรายกรณี จากเดิมต้องขออนุญาตเป็นรายกรณี
  • อนุญาตให้บริษัทและบริษัทในเครือที่มีคุณสมบัติตามที่กำหนด (pilot company) สามารถทำธุรกรรมเงินตราต่างประเทศและโอนเงินออกนอกประเทศได้ โดยไม่ต้องแสดงเอกสารประกอบการทำธุรกรรมต่อธนาคารพาณิชย์ ทั้งในวันทำธุรกรรมและวันครบกำหนดส่งมอบ จากเดิมที่ต้องนำเอกสารไปแสดงต่อธนาคารพาณิชย์ในการทำธุรกรรมด้วย โดยบริษัทต้องมีคุณสมบัติ 1) ไม่ใช่ธุรกิจเกี่ยวเนื่องกับสถาบันการเงินและมีปริมาณธุรกรรมการค้าและการลงทุนระหว่างประเทศตามที่กำหนด และ 2) มีนโยบายบริหารความเสี่ยงจากอัตราแลกเปลี่ยนของบริษัทที่ชัดเจน และมีกรรมการของบริษัทหรือผู้ตรวจสอบภายนอก (external auditor) ตรวจสอบกระบวนการตามนโยบายดังกล่าว

3. เพิ่มทางเลือกซื้อขายโอนเงินรายย่อย โดยสนับสนุนความเชื่อมโยงในภูมิภาคโดยการใช้เงินสกุลท้องถิ่นเพื่อชำระค่าสินค้าของลูกค้ารายย่อยและการลงทุนกับประเทศเพื่อนบ้านและเพิ่มทางเลือกการซื้อขายโอนเงินรายย่อย แบ่งเป็น 3 ประเด็น

  • ให้ลูกค้าสามารถโอนเงินออกนอกประเทศเพื่อชำระค่าสินค้าในต่างประเทศผ่านตัวแทน  (Money Transfer Agent: MT) ได้ จากเดิมที่ MT สามารถทำธุรกรรมที่เกี่ยวข้องกับการชำระค่าเลี้ยงดูครอบครัว, การท่องเที่ยว, การศึกษา, ค่าบริการรายย่อย เท่านั้น รวมไปถึงเพิ่มวงเงินโอนออกให้มากกว่า 200,000 บาทต่อรายต่อวัน และผ่อนคลายคุณสมบัติผู้ยื่นขออนุญาต MT เช่น ทุนจดทะเบียนให้มากกว่า 100 ล้านบาทได้
  • ให้ผู้แลกเปลี่ยนเงิน (Money Changer: MC) ซื้อขายธนบัตรเงินตราต่างประเทศกับธนาคารพาณิชย์ หรือ MC ในต่างประเทศได้และให้ MC สามารถซื้อขายเงินตราต่างประเทศกับลูกค้าในรูปอิเล็กทรอนิกส์สกุลเงินตราต่างประเทศ เช่น e-money ได้ จากเดิมที่ซื้อขายเฉพาะในประเทศและให้ทำธุรกรรมได้เฉพาะการซื้อขายธนบัตรหรือเช็คแก้ผู้ที่จะเดินทางออกนอกประเทศเท่านั้น
  • ให้ธนาคารพาณิชย์ปล่อยสินเชื่อสกุลบาทให้แก่ 1) ต่างชาติ หรือ non-resident ที่เป็น “ผู้ประกอบการ” ในต่างประเทศ เพื่อการลงทุนในประเทศไทยและที่จัดตั้งในประเทศในอนุภูมิภาคลุ่มแม่น้ำโขง (GMS) เพื่อการลงทุนที่เกี่ยวข้องกับโครงสร้างพื้นฐานหรือโครงการอุตสาหกรรมในประเทศดังกล่าว ซึ่งเป็นการลงทุนที่เป็นประโยชน์ต่อประเทศไทย

4. ปรับปรุงกฎเกณฑ์ให้ประชาชน/บริษัทมีทางเลือกในการลงทุนมากขึ้น โดยเพิ่มทางเลือกในการลงทุนในหลักทรัพย์ต่างประเทศ เพื่อให้สามารถกระจายความเสี่ยงได้อย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้นและเพื่อเปิดโอกาสให้ผู้ประกอบการรายใหม่สามารถเข้ามาแข่งขันให้บริการเงินตราต่างประเทศ แบ่งเป็น 4 ประเด็น

  • ผ่อนคลายให้บุคคลรายย่อยที่มีสินทรัพย์ทางการเงินตั้งแต่ 50 ล้านบาทแต่ไม่ถึง 100 ล้านบาท สามารถลงทุนในหลักทรัพย์ต่างประเทศได้โดยไม่ผ่านตัวแทนการลงทุนในประเทศภายใต้วงเงินลงทุน (gross flow) ไม่เกิน 1 ล้านดอลลาร์สหรัฐต่อรายต่อปี จากเดิมที่ต้องลงทุนผ่านตัวแทนการลงทุนในประเทศอย่างบริษัทหลักทรัพย์ บริษัทหลักทรัพย์จัดการกองทุน และธนาคารพาณิชย์
  • ให้ใบอนุญาตประกอบธุรกิจเงินตราต่างประเทศ (FX license) แก่บริษัทหลักทรัพย์ โดยให้ซื้อขายเงินตราต่างประเทศ (quote FX) กับลูกค้าทั้งที่เป็นผู้ลงทุนไทยและต่างชาติได้ภายใต้ธุรกิจนายหน้าค้าหลักทรัพย์ (brokerage) จากเดิมที่ต้องทำกับธนาคารพาณิชย์เท่านั้น
  • เพิ่มประเภทตัวกลางอื่นๆ ที่ไม่ใช่ผู้ประกอบธุรกิจหลักทรัพย์ประเภท ก คือมีใบอนุญาติเต็มรูปแบบ (full license) หรือเทียบเท่าเท่านั้น เช่น ผู้ได้รับอนุญาตประกอบธุรกิจตราสารหนี้ (ประเภท ข) จัดการกองทุน (ประเภท ค) หน่วยลงทุน (ประเภท ง) และสัญญาซื้อขายล่วงหน้า (ประเภท ส.1) เป็นตัวกลางพาผู้ลงทุนไทยไปลงทุนในหลักทรัพย์ต่างประเทศได้
  • ให้ผู้ประกอบธุรกิจซื้อขายสัญญาล่วงหน้าในตลาด TFEX รายใหม่ๆ สามารถยื่นขอใบอนุญาตเป็น broker currency futures ได้

สำหรับกรอบเวลากฎเกณฑ์ที่จะมีผลบังคับใช้ทันทีในวันนี้ ได้แก่ การลดขั้นตอนงานด้านเอกสารและให้ยื่นเอกสารในรูปแบบอิเล็กทรอนิกส์, ให้รายย่อยสามารถโอนเงินชำระค่าสินค้าต่างประเทศผ่าน MT และให้ธนาคารพาณิชย์ปล่อยเงินกู้เงินบาทโดยตรงแก่ผู้ประกอบการในประเทศเพื่อนบ้าน และในเดือนมิถุนายน 2560 จะออกมาตรการให้ MC สามารถซื้อขายธนบัตรเงินตราต่างประเทศกับต่างประเทศได้ ขณะที่ในไตรมาสที่ 3 ของปี 2560 จะเริ่มยกเลิกแบบฟอร์มและการประทับตราแบบฟอร์มการทำธุรกรรมเงินตราต่างประเทศ, แก้ไขมาตรการที่เกี่ยวกับหลักเกณฑ์การบริหารความเสี่ยงจากอัตราแลกเปลี่ยนของภาคเอกชนทั้ง 3 ประเด็น และมาตรการที่เหลือจะออกได้ภายในสิ้นปี 2560 ยกเว้นการผ่อนคลายคุณสมบัติผู้ยื่นขออนุญาตเป็น MT จะแล้วเสร็จในสิ้นปี 2561